กระบวนการทำพระเครื่องพิมพ์ดิน ของ แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         พระเครื่องเป็นหนึ่งในพุทธศิลป์ที่มีคุณค่าทางจิตใจต่อผู้ที่บูชาและยังมีคุณค่าในเชิงศิลปะ และสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและวิถีชีวิตของคนไทยในแต่ละยุคสมัยพระเครื่องหลายองค์สามารถบอกเล่าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้อีกด้วย และจังหวัดกำแพงเพชรก็เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญในฐานะของการเป็นเมืองมรดกโลกที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานร่วมกับจังหวัดสุโขทัย และศรีสัชนาลัย จังหวัดกำแพงเพชรขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองกรุพระเครื่องที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย ดังคำขวัญประจำจังหวัดที่ว่า “กรุพระเครื่อง เมืองคนแกร่ง ศิลาแลงใหญ่ กล้วยไข่หวาน น้ำมันลานกระบือ เลื่องลือมรดกโลก” เนื่องด้วยมาจากการที่จังหวัดกำแพงเพชรมีพระเครื่องที่สำคัญและมีพระเครื่องที่เป็นหนึ่งในห้าของ “พระเครื่องเบญจภาคี” นั้นคือ “พระซุ้มกอ”  โดยเฉพาะพระซุ้มกอจากกรุทุ่งเศรษฐีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการสูงของคนในวงการพระเครื่อง จัดว่าเป็นพระเครื่องที่มีมูลค่ามาก มีความต้องการนิยมบูชาเป็นอันดับสองรองจาก พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ เลยก็ว่าได้

คำสำคัญ : แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม, พระเครื่อง, นครชุม

ความเป็นมาของแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม[แก้ไข]

         แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร หรือที่คนในท้องที่รู้จักกันในนาม “บ้านลุงโป้ย” มีนายสมหมาย พยอม หรือ ลุงโป้ย เป็นปราชญ์ชาวบ้าน มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญในการทำพระเครื่องพิมพ์ดินเผาที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกำแพงเพชรได้ทำการเปิดบ้านพักของตนเองและใช้พื้นที่บริเวณบ้านเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้การทำพระเครื่องพิมพ์ดินเผาด้วยวิธีการโบราณดั้งเดิม ซึ่งเป็นองค์ความรู้ท้องถิ่นที่มีอยู่ในชุมชนนครชุม แต่ปัจจุบัน นายสมหมาย พยอม ได้เสียชีวิตไปแล้วแต่ก็ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับภรรยาของตน คือนางดวงรัตน์ พยอม ในการดำเนินงานของแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่อง พิมพ์ดินเผาในนครชุมสืบต่อไป ซึ่งแหล่งเรียนรู้นี้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญมากแห่งหนึ่งในการทำพระพิมพ์ดิน ซึ่งเป็นองค์ความรู้และทุนทางศิลปวัฒนธรรมที่สืบทอดอยู่ในชุมชน และควรอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนส่งเสริม และให้ความสำคัญกับแหล่งเรียนรู้นี้ เพื่อให้คนรุ่นหลังที่สนใจศึกษาเรียนรู้ (ดวงรัตน์ พยอม. สัมภาษณ์. 25 มิถุนายน 2561) 
         แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม เป็นแหล่งเรียนรู้ที่คอยถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำพระเครื่องพิมพ์ดินเผา ด้วยกรรมวิธีโบราณแบบดั่งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาของช่างทำพระเครื่องในสมัยอดีต ให้กับผู้ที่สนใจ ทั้งคนในชุมชน นักท่องเที่ยว ทั้งไทยและชาวต่างชาติ ปัจจุบันการจะหาชมพระเครื่องของเมืองนครชุมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเสียหน่อย แต่หากว่ามาที่ แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุมแห่งนี้ก็จะได้เห็นพระเครื่องรวมถึงกระบวนการทำพระเครื่องจากตัวเจ้าของแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง แหล่งเรียนรู้การทำ พระเครื่องนครชุมแห่งนี้ เริ่มต้นมาจาก นาย สมหมาย พยอม ผู้มีถิ่นฐานอยู่ในนครชุมและได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับช่างทำพระเครื่องหรือผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่องบ่อยครั้งด้วยความที่มีใจรัก จึงศึกษาและจดจำวิธีการทำพระเครื่องจากช่างทำพระเครื่องในกำแพงเพชร แล้วนำมาทดลองทำพระซุ้มกอได้เป็นองค์แรก ในปี พ.ศ.2551 ก็ได้จัดตั้งแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุมขึ้น ในพื้นที่บริเวณบ้านพักของตนเองเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่สนใจในเรื่องวิธีการทำพระเครื่อง ซึ่งภายในแหล่งเรียนรู้ก็จะมีสมาชิกที่คอยสาธิตกระบวนการทำพระเครื่องในขั้นตอนต่างๆ ให้ได้ชม ได้ฝึกปฏิบัติการการทำพระเครื่องด้วยมือตนเอง และยังสามารถนำพระเครื่องที่ตนได้ทำเองนั้นกลับไปได้อีกด้วย
ภาพที่ 1 แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม.jpg

ภาพที่ 1 แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม

(ที่มา : ธนกิจ โคกทอง, 2561)

ขั้นตอนการพิมพ์พระเครื่องของแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม[แก้ไข]

         สำหรับการทำพระเครื่อง หรือพระพิมพ์ดินนั้น เริ่มจากการนำดินที่ได้มาทุบ แล้วหมักไว้ 1 คืน จากนั้นก็นำดินมานวดให้นิ่มพอดี ไม่แข็งหรือเหลวเกินไป ถัดมา ให้นำแป้งมาโดยที่แม่พิมพ์พระเพื่อที่เวลากดดินลง กับแม่พิมพ์แล้วดินจะได้ไม่ติดกับแม่พิมพ์ และสามารถนำดินออกมาได้ง่ายโดยแม่พิมพ์พระที่ใช้ก็ได้มาจากการจำลองจากพระเครื่องนครชุมของแท้ ที่เป็นของเก่าของแก่จึงทำให้พระพิมพ์ที่ทำออกมานั้นมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับของเก่ามากทีเดียว เมื่อกดดินลงกับแม่พิมพ์จนดินขึ้นเป็นรูปแล้ว ก็นำออกมาใส่ถาดพึ่งลมไว้ในร่มประมาณจนแห้ง และนำออกตากแดดให้แห้งสนิทต่อด้วยการนำพระไปเผาที่เตาประมาณ ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งจะต้องคอยเติมถ่าน และควบคุมไม่ให้ไฟแรงเกินไป ครบกำหนดเวลาแล้วก็นำพระออกจากเตา นำมาวางเรียงเพื่อใส่รา ใส่คราบพระ สุดท้ายให้นำใบตองแห้งของกล้วยน้ำว้ามาขัด ก็จะได้พระเครื่องนครชุมที่ดูคล้ายของเก่าแก่ พระเครื่องหรือพระพิมพ์ ที่ได้มานั้น ทำให้คนรุ่นปัจจุบันได้ศึกษาตั้งแต่ความเป็นมาตั้งแต่สมัยก่อน จนมาถึงกระบวนการทำพระในสมัยนี้ ที่ยังคงความงามตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนชาวไทย และยังเป็นการสืบสานพุทธศิลป์ที่สวยงามนี้ไว้ต่อไป โดยในปัจจุบันมีคุณดวงรัตน์ พะยอม เป็นผู้สอนและถ่ายทอดกระบวนการทำพระเครื่องพิมพ์ดินให้กับที่แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม
ภาพที่ 2 คุณดวงรัตน์ พะยอม.jpg

ภาพที่ 2 คุณดวงรัตน์ พะยอม ผู้ดูแลและถ่ายทอดองค์ความรู้การทำพระเครื่องในแหล่งเรียนรู้

(ที่มา : ธนกิจ โคกทอง, 2562)

         แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร ได้มีขั้นตอนการพิมพ์พระได้แก่การทำพระพิมพ์เล็ก และพิมพ์ใหญ่ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ (ดวงรัตน์ พยอม. สัมภาษณ์. 25 มิถุนายน 2561) ในกระบวนการทำพระเครื่องนั้นจะแบ่งขึ้นตอนการทำเอาไว้อยู่ 5 กระบวนการหลักๆ ดังนี้
             1. กระบวนการเตรียมดิน
             2. กระบวนการพิมพ์พระ
             3. กระบวนการผึ่งและตากพระ
             4. กระบวนการเผา
             5. กระบวนการใส่รายละเอียดพระ

ตารางแสดงการเปรียบเทียบขั้นตอนในการทำพระเครื่องพิมพ์ดินเผาขนาดเล็กและขนาดใหญ่[แก้ไข]

ขั้นตอนการทำพระพิมพ์เล็ก ขั้นตอนการทำพระพิมพ์ใหญ่
- ทุบดิน (หมักไว้ 1 คืน) - ทุบดิน (หมักไว้ 1 คืน)
- นำดินมานวดให้นิ่ม (ไม่เหลวหรือแข็งเกินไป) - นำดินมานวดให้นิ่ม (ไม่เหลวหรือแข็งเกินไป)
- โรยแป้งที่แม่พิมพ์พระ - โรยแป้งที่แม่พิมพ์พระ
- นำดินมากดที่แม่พิมพ์พระ - นำดินมากดที่แม่พิมพ์พระ
- นำพระออกจากแม่พิมพ์พระมาใส่ถาด - นำพระออกจากแม่พิมพ์พระมาใส่ถาด
นำพระมาผึ่งลมในร่มประมาณ 2 วัน - นำพระมาผึ่งลมในร่มให้แห้งสนิทประมาณ 15 วัน
- นำพระมาตากแดดจนแห้งสนิท - นำพระมาตากแดดจนแห้งสนิทประมาณ 3 วัน
- นำพระไปเผาที่เตา และคอยเติมถ่าน ประมาณ 24 ชั่วโมง - นำพระไปเผาที่เตา และคอยเติมถ่าน ประมาณ 24 ชั่วโมง
- นำพระออกจากเตา - นำพระออกจากเตา
- นำพระมาเรียงใส่รา และใส่คราบพระ - นำพระมาเรียงใส่รา และใส่คราบพระ
- นำใบตองแห้งมาขัดพระ (ใช้ใบตองจากต้นกล้วยน้ำว้า) - นำใบตองแห้งมาขัดพระ (ใช้ใบตองจากต้นกล้วยน้ำว้า)
         1. กระบวนการเตรียมดิน
             ในการเตรียมดินนั้นจะต้องเตรียมดินโดยการทุบดินและหมักดินทิ้งไว้อย่างน้อย 1 คืน อาจเก็บไว้โดยใส่ในถุงพลาสติกปิดให้มิดชิดไม่ให้อากาศเข้า เพราะอากาศจะทำให้ดินแห้งและไม่สามารถนำมาใช้ในการทำพระเครื่องได้ เมื่อจะนำมาใช้ในการทำพระเครื่องให้นำดินออกมาจากถุงและนำมานวดให้นิ่ม การนวดดินต้องนวดให้พอประมาณ การนวดนานเกินไปจะทำให้ดินนิ่มหรือเหลวเกินไป ถ้านวดน้อยเกินไปก็จะทำให้ดินแข็ง ลักษณะดินอ่อนดินแข็งจะใช้ในการทำพระเครื่องที่มีพิมพ์ที่แตกตางกันออกไป บางพิมพ์จะต้องการใช้ดินที่นิ่ม บางพิมพ์จะต้องการใช้ดินที่แข็ง
         2. พิมพ์พระ
             พิมพ์พระที่มีอยู่ในแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องส่วนใหญ่จะเป็นพิมพ์พระที่ได้แม่พิมพ์มาจากพระแท้ ดังนั้นความสวยงาม ความเหมือนจริงของพิมพ์จึงมีความสมบูรณ์ใกล้เคียงกับพระแท้มาก โดยพิมพ์พระแบบดั้งเดิมจะเป็นพิมพ์ดินเผา แต่ในปัจจุบันมีการใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากเรซิ่นมากขึ้น เนื่องจากทำง่ายและดูแลรักษาง่ายกว่าแม่พิมพ์ดิน
ภาพที่ 3 พิมพ์พระ.jpg

ภาพที่ 3 พิมพ์พระ

(ที่มา : ธนกิจ โคกทอง, 2561)

         3. การโรยแป้ง
             การโรยแป้งลงบนแม่พิมพ์พระก่อนจะเป็นการช่วยให้เนื้อดินไม่ติดกับไม่พิมพ์ ทำให้ตอนที่แกะดินออกจากพิมพ์ทำได้ง่ายขึ้น ยิ่งดินที่นิ่มเกินไปจะติดแม่พิมพ์ได้ง่าย ทำให้แกะออกจากพิมพ์ยาก หรือแกะออกมาแล้วมีส่วนที่เสียหาย โดยแป้งที่นำมาโรยจะให้ผ้ามาหุ้มไว้แบบลูกประคบ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานและควบคุมแป้งได้ง่ายขึ้น
ภาพที่ 4 การโรยแป้ง.jpg

ภาพที่ 4 การโรยแป้ง

(ที่มา : ธนกิจ โคกทอง, 2561)

         4. การกดพระ
             การกดพระเป็นหัวใจสำคัญในการทำพระเครื่องพิมพ์ดินเลยก็ว่าได้ การกดที่ออกแรงมากจนเกินไป จะทำให้ดินกดกับแม่พิมพ์มากเกินจนรายละเอียดที่ได้แตกไม่สวย ในทางกลับกันถ้าออกแรงกดน้อยเกินไป ดินก็จะสัมผัสกับแม่พิมพ์เพียงผิวเผินทำให้รายละเอียดที่ได้ขาดความคมชัดไป การกดพระจะเริ่มจากการวางดินที่นวดแล้วลงบนแม่พิมพ์และเริ่มกดดินจากส่วนบนไล่ลงล่าง เนื้อดินที่เหลือก็จะทำการดึงออกจากพิมพ์ ดังนั้นก่อนการกดดิน ควรกะขนาดและปริมาณของเนื้อดินที่จะกดให้พอดีกับแม่พิมพ์ด้วย เมื่อกดพระเสร็จก็จะเป็นขั้นตอน ในการดึงพระออกจากพิมพ์ โดยการใช้ดินก้อนเล็กๆแตะบริเวณด้วนหลังของพระและดึงออกมาจากแม่พิมพ์ตรงๆ เมื่อดึงขึ้นมาขอบพระ ผิวพระอาจจะมีส่วนที่บิดงอไม่สวย หรือรายละเอียดเสียไปเล็กน้อยก็ใช้วิธีการเอานิ้วจุ่มน้ำมาทำการลูบเก็บบริเวณขอบของพระให้เนียนเรียบเสมอกัน ส่วนด้านหลังพระที่ไม่เนียนเรียบก็ใช้วิธีการกระแทกพระลงกับ พื้นโต๊ะเบาๆเพื่อให้ด้านหลังนั้นเรียบเสมอกัน
ภาพที่ 5 การกดพระและดึงพระ.jpg

ภาพที่ 5 การกดพระและดึงพระออกจากแม่พิมพ์

(ที่มา : วิเชียร คุ้มยิ้ม, 2562)

         5. การตากพระ
         เมื่อดึงพระออกจากพิมพ์และตกแต่งรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นขั้นตอนของการตากพระให้แห้งโดยมีข้อห้ามคือ ห้ามนำพระที่ออกจากพิมพ์ใหม่ๆไปตากแดดเป็นอันขาดเพราะความร้อนจะทำให้ดินแห้งไวเกินไปและทำให้เกิดรอยร้าวรอยแตกได้ ให้นำพระที่ได้ตากร่มไว้ในร่มไม่ให้โดนแดดตรงๆประมาณ 2 วัน สำหรับพระพิมพ์เล็กหรือพระที่มีความหนาไม่มาก ส่วนพระพิมพ์ใหญ่หรือพระที่มีความหนามากต้องใช้เวลาในการตากลมประมาณ 15 วัน เพื่อให้ด้านในของพระแห้งสนิทจริงๆ และเหลือความชื้นน้อยที่สุดจึงค่อยนำไปตากแดดอีกประมาณ 1-3 วัน เพื่อให้พรแห้งสนิทก่อนนำไปเผา
ภาพที่ 6 การตากพระ.jpg

ภาพที่ 6 การตากพระ

(ที่มา : ธนกิจ โคกทอง, 2561)

         6. การเผาพระ
         ในการเผาพระจะใช้ระยะเวลาในการเผ่าประมาณ 24 ชั่วโมง โดยการเผาจะใช้เตาเผาแต่เติมเชื้อเพลิงหรือถ่านเป็นระยะๆ เพื่อให้ความร้อนสม่ำเสมอ พระที่ถูกความร้อนพอดีจะเป็นสีส้ม ส่วนที่โดนขี้เถ้าคลุมไว้จะกลายเป็นสีดำ ดังนั้นจึงต้องคอยดูปริมาณขี้เถ้าในเตาให้ดีด้วย พระที่ไม่แห้งสนิท หรือบางมากเกินไป เมื่อโดนความร้อนมากอาจมีการระเบิดเสียหายเกิดขึ้นได้
ภาพที่ 7 การเผาพระ.jpg

ภาพที่ 7 การเผาพระ

(ที่มา : ธนกิจ โคกทอง, 2561)

         7. การใส่รา ใส่คราบ และการขัดใบตอง
         เมื่อนำพระออกจากเตาแล้วก็เป็นขั้นตอนของการทำพรให้ดูเหมือนพระเก่าโดยมีเทคนิคในการทำให้พระดูเก่าอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอนคือ การใส่ราและการใส่คราบ และการขัดพระด้วยใบตองกล้วนน้ำว้าจะทำให้พื้นผิวของพระเป็นเงาขึ้นมา
ภาพที่ 8 การใส่รา ใส่คราบ.jpg

ภาพที่ 8 การใส่รา ใส่คราบ และการขัดใบตอง

(ที่มา : ธนกิจ โคกทอง, 2561)

สีของพระเครื่องเมืองกำแพง[แก้ไข]

         สีของพระเครื่องกำแพงเพชรมีหลายสี แต่พระเครื่องที่ปรากฏเป็นสีต่างๆนั้นน่าจะมาจากสีของว่านเกสรและผงต่าง ๆ เช่นสีแดง ของว่านดอกมะขาม สบู่เลือด และอื่น ๆ สีเหลืองของดอกไม้นานาชนิด สีดำของผงใบลานเผา สีขาวจากผงพระพุทธคุณ และ ว่านบางชนิด จึงทำให้เกิดพระเครื่องสีต่างๆขึ้น ตามแต่จะมีส่วนผสมว่านหรือเกสร หรือผงอะไรมาก ก็ดูออกเป็นสีนั้น ๆ มาก เช่น 
         สีแดง มีทั้งแดงจัด (คล้ายสีครั่ง) แดงชมพู (แดงปนขาว) แดงหม้อใหม่ (แดงปนเหลือง) แดงคล้ำ (แดงปนดำ)
         สีดำ มีทั้งดำจัด (แบบเนื้อผงใบลาน) เทาดำ (ดำปนขาว) ดำม่วง(ดำปนแดง) จะมีคล้ายสีหว้าหรือดอกมะเขือเข้ม ๆ 
         สีเหลือง มีทั้งสีเหลืองเกสรดอกไม้ (สีพิกุลแห้ง) เหลืองจำปา (เหลืองปนแดง) เหลืองอ่อนสำหรับเหลืองปนดำ ทำให้เกิดสีที่สวยงามอีกสีหนึ่งคือ สีเขียว
         สีเขียว มีทั้งสีเขียวมอย (เขียวเทาๆ) และเขียวแก่ เป็นสีของว่าน ที่ผสมลงในเนื้อดิน

บทสรุป[แก้ไข]

         กระบวนการทำพระเครื่องพิมพ์ดินที่ทำขึ้นและถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่น และกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นที่แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุมแห่งนี้ เป็นการทำขึ้นเพื่อมุ่งเน้นในเรื่องของการศึกษาและให้ความรู้มากกว่าผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจ การทำพระและกรรมวิธีในการทำพระต่างๆเป็นการทำเพื่อให้พระเครื่องดูเหมือน  พระเก่า ซึ่งอาจมีคนเข้าในผิดคิดว่าแหล่งเรียนรู้แห่งนี้สอนการทำพระปลอม แต่วัตถุประสงค์ของแหล่งเรียนรู้ต้องการเพียงเพื่อต้องการแสดงให้เห็นกรรมวิธีการโบราณ ภูมิปัญญาในการทำพระเครื่องแบบโบราณเท่านั้น