ประเพณีการแห่พระด้วยเกวียน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ในบริบทการใช้ประเพณีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนในท้องถิ่น

Authors

  • จิรัฎฐ์ เพ็งแดง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

Abstract

การวิจัย เรื่อง ประเพณีการแห่พระด้วยเกวียน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ในบริบทการใช้ประเพณีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนในท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) เพื่อทราบประวัติ และ ความเป็นมาของประเพณีการแห่พระด้วยเกวียน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร 2) เพื่อทราบถึงขั้นตอนการจัดประเพณีแห่พระด้วยเกวียน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร 3) เพื่อทราบความเชื่อของประเพณีการแห่พระด้วยเกวียน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร 4) เพื่อทราบแนวคิดการส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนในท้องถิ่นโดยใช้ประเพณีการแห่พระด้วยเกวียน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้กรอบการวิเคราะห์ทางคติชนวิทยา โดยประยุกต์จากทฤษฎีโครงสร้าง-หน้าที่ และทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว โดยข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์ผู้บอกภาษา และเอกสารเกี่ยวกับประเพณีแห่พระด้วยเกวียน

ผลการวิจัยพบว่า ประเพณีแห่พระด้วยเกวียนเป็นประเพณีที่มีความเก่าแก่ที่สืบทอดต่อกันมาไม่ต่ำกว่า 300 ปี ของอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากมีหลักฐานการปลูกบ้านแปลงเมืองของชาวอำเภอลานกระบือ ในบริเวณวัดแก้วสุริย์ฉาย อีกทั้งยังมีหลักฐานเป็นประติมากรรมภาพนูนต่ำที่แสดงถึงประเพณีแห่พระด้วยเกวียนที่ติดอยู่บริเวณกำแพงวัด ขั้นตอนการจัดประเพณีแห่พระด้วยเกวียนนั้น จะเริ่มจากการที่ให้คนในชุมชนจัดตกแต่งเกวียนที่จะใช้ในการแห่พระร่วมกัน ในวันที่ 15 เมษายน จะมีการทำบุญตักบาตร ก่อเจดีย์ทราย ในช่วงสายจะมีการรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ  เพื่อความเป็นสิริมงคลของตนเองและคนในครอบครัว ต่อมาในวันที่ 16 เมษายน ช่วงเช้าจะเป็น การทำบุญตักบาตร ในช่วงสายจะเริ่มพิธีขบวนแห่พระด้วยเกวียน ซึ่งการจัดประเพณีนี้ล้วนเกิดจากแนวคิด และความเชื่อของคนในอดีตว่า จะส่งผลให้คนในชุมชนเกิดความรักและความสามัคคี อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าการทำบุญในประเพณีแห่พระด้วยเกวียนนั้นผลบุญที่ได้รับจะย้อนกลับมาอย่างไม่หมดสิ้นดั่งล้อเกวียนที่หมุนวนอย่างไม่มีวันจบ และเนื่องจากนโยบายการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของคณะรัฐบาลไทย ผู้วิจัยจึงได้ศึกษาแนวคิดในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนในท้องถิ่น  โดยทั้ง 3 ช่วงอายุมีแนวคิดในการส่งเสริม  การท่องเที่ยวแบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่ พัฒนาด้านเศรษฐกิจ, พัฒนาด้านการท่องเที่ยว, และพัฒนาด้านประชาสัมพันธ์ โดยช่วงวัยรุ่น (18-24 ปี) มุ่งเน้นที่จะให้มีการปรับปรุงสถานที่ และรูปแบบการจัดงานให้สวยงาม ตระการตา นอกจากนี้ ยังเสนอแนวคิดในการประชาสัมพันธ์ในสื่อออนไลน์, ในช่วงวัยผู้ใหญ่หรือวัยทำงาน (25-50 ปี) มุ่งเน้นที่การเพิ่มรายได้ของคนในท้องถิ่น อาจจะเปิดร้านของฝาก เช่น แบบหุ่นจำลองประเพณี การปรับทัศนียภาพปรับระยะเวลาในการจัดงานให้มากยิ่งขึ้น และจัดงานต่อเนื่องทุกปี รวมถึงการประชาสัมพันธ์ในสื่อออนไลน์ และสื่อทีวี เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในอำเภอลานกระบือมากยิ่งขึ้น, และวัยผู้สูงอายุ (50 ปีขึ้นไป) มุ่งเน้นที่การเพิ่มรายได้ของคนในชุมชน การปรับทัศนียภาพ หรือปรับรูปแบบการจัดงานประเพณีแห่พระด้วยเกวียนให้น่าดึงดูด ปรับเพิ่มระยะเวลาในการจัดงานให้มากยิ่งขึ้น และจัดงานต่อเนื่องทุกปี รวมถึงการประชาสัมพันธ์ในสื่อข่าว และการบอกต่อ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวใน อำเภอลานกระบือมากยิ่งขึ้น

Downloads

Published

2021-06-12

How to Cite

เพ็งแดง จ. (2021). ประเพณีการแห่พระด้วยเกวียน อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร ในบริบทการใช้ประเพณีเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของคนในท้องถิ่น. วารสารสาร สื่อ ศิลป์, 3(6). Retrieved from https://acc.kpru.ac.th/journal/index.php/sarnsuesin/article/view/14