วิถีชีวิตไทดำ: อัตลักษณ์บนฐานการพัฒนาวัฒนธรรมชุมชน

Authors

  • วาสนา อาจสาลิกรณ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

Keywords:

วัฒนธรรมชุมชน, ชุมชนไทดำ

Abstract

กลุ่มชาติพันธุ์ไทดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ใน 4 ประเทศ คือ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย  (สุธี จันทร์ศรี ออนไลน์, 2561) ไทดำ  มีชื่อเรียกต่างกัน ทั้งนี้จากสารานุกรมไทยดำล้ำค่าของกลุ่มนักศึกษา โครงการเรียนรู้ร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชน กล่าวถึงไทยดำไว้ว่า ไทยดำหรือไตดำ (Tai Dam, Black Tai) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ผู้ไทยดำ ไทยทรงดำ โซ่ง ลาวโซ่ง ไทยโซ่งจะ เรียกอย่างไรคงไม่ผิด เพราะเป็นที่เข้าใจถึงกลุ่มชนเดียวกัน กลุ่มชนชาวไทยดำมีชื่อเรียกตนเองว่า "ไต" - ผู้ไต - ผู้ไตดำ (หรือไทยดำ) ความหมายของคำว่า"ไต"คือกลุ่มชาติพันธุ์คนไทยสาขาหนึ่งที่มีความเป็นอิสระ คำว่า "ดำ" หมายถึงการแต่งกายด้วยเครื่องนุ่งห่มสีดำ ชื่อเรียกขานในนาม "ไทยดำ" จึงมีความหมายโดยรวมว่ากลุ่มชาติพันธุ์คนไทย (มนู อุดมเวช2548, http://oknation.nationtv.tv/blog/Zongdam ออนไลน์) ซึ่งถิ่นฐานเดิมของไทดำ อยู่ในแคว้นสิบสองจุไท ดังที่กล่าวได้ไว้ในพงศาวดารเมืองไลว่า “ เมืองที่พวกผู้ไทดำอยู่นั้น คือเมืองแถงหนึ่ง เมืองควายหนึ่ง เมืองตุงหนึ่ง เมืองม่วยหนึ่ง เมืองลาหนึ่ง เมืองโมะหนึ่ง เมืองหวัดหนึ่ง เมืองซางหนึ่ง รวมเป็น 8 เมือง เมืองผู้ไทขาว 4 เมือง ผู้ไทดำ 8 เมืองเป็น 12 เมือง เรียกว่าเมืองสิบสองผู้ไท บัดนี้เรียกสิบสองจุไท (http://www.promma.ac.th/supaporn/unit5/) ปัจจุบันคือจังหวัดเดียนเบียนฟู อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว หรือแคว้นล้านช้าง ทิศเหนือติดกับตอนใต้ของประเทศจีน และเชียงขวาง ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม  อพยพมาตั้งถิ่นฐานในเขตสยามหรือไทย ตั้งแต่สมัยธนบุรี จนเรื่อยมาถึงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ 5 คำเรียก “ผู้ไทดำ” มาจากชุดที่ชาวไทดำนิยมสวมใส่เสื้อและกางเกงสีดำ ซึ่งกางเกงที่ชาวไทยดำสวมนี้ จะเรียกว่า “ซ่ง” แล้วจึงเพี้ยนเป็น “ทรง” ในภายหลัง เกิดเป็นชื่อเรียกว่า “ไททรงดำ” ขณะที่บางแห่งเรียกว่า “ลาวทรงดำ” เนื่องจากเข้าใจผิดคิดว่าชาวผู้ไทยดำเป็นชาวลาวที่อพยพลงมาในคราวเดียวกัน จึงเรียกเพี้ยนไปอีกว่า “ลาวโซ่ง” ไม่ว่าใครจะเรียกอย่างไร ล้วนเป็น “ผู้ไทดำ”  (วิถีไทยดำบ้านนาป่าหนาด ,ออนไลน์ 2561)  โดยคนไทดำมีความเชื่อเรื่อง “แถน” และผีบรรพบุรุษ ประวัติศาสตร์การเข้ามาของไทดำ ถูกกวาดต้อนและอพยพเข้าสู่ประเทศไทย 3 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1  สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พุทธศักราช 2322  เกิดขึ้นจากเจ้าเมืองเวียงจันทน์ได้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสมเด็จพระยามหากษัตริย์ศึก ยกกองทัพไปเวียงจันทน์ ได้รวบรวมครอบครัวของชาวเวียงจันทน์มาอยู่ในไทยพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดเกล้าให้สร้างบ้านเรือนอยู่ที่ จังหวัดสระบุรี     จังหวัดราชบุรี และจังหวัดจันทบุรี  ครั้งที่ 2  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 พระองค์ทรงรวบรวมครอบครัว ลาวโซ่ง ลาวพวน ลาวเวียงมาประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง โดยมีสาเหตุเมืองแถง เมืองพวน แข็งข้อต่อเมืองเวียงจันทน์ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ยกกองทัพไปตีได้  ลาวโซ่ง ลาวพวน ลาวเวียง ลงมาถวายพระมหากษัตริย์ไทยที่กรุงเทพมหานคร ทรงโปรดเกล้าให้ลาวเวียงไปอยู่ที่จังหวัดสระบุรี ส่วนลาวพวนไปอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และลาวโซ่งมาอยู่ที่หมู่บ้านหนองเลา หรือ หนองลาว (หนองปรง) ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี  ครั้งที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2369 – 2371 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ทำการก่อกบฏต่อประเทศสยาม สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ยกกองทัพไปปราบเมืองแถง ได้รวบรวมครอบครัวลาวโซ่งมาไว้ที่จังหวัดเพชรบุรี ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม เนื่องจากลาวโซ่งอาศัยอยู่ที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง แต่บริเวณนั้นเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง ลาวโซ่งไม่เคยชินกับความอยู่แบบนี้ จึงอพยพมาในอำเภอเขาย้อย เพราะลักษณะภูมิประเทศคล้ายเมืองแถง มีทั้งป่า ภูเขา ลำห้วย จึงได้ตั้งบ้านเรือนหนาแน่นที่สุด ที่ตำบลหนองปรง ตำบลห้วยท่าช้าง ตำบลทับคาง ลาวโซ่งรุ่นเก่ายังไม่ลืมถิ่นฐานบ้านเดิม มีความปรารถนาจะกลับไปบ้านเกิดของตน เมื่อเดินทางไปนานๆ มีคนเจ็บคนตายไปเรื่อยๆ หลายคน พวกลูกหลานไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เพราะไม่ทราบถิ่นฐานบ้านเกิดจึงตั้งหลักอาศัยอยู่บริเวณนั้น ได้แก่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร (ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี(ออนไลน์) 2561)

Downloads

Published

2020-05-27

How to Cite

อาจสาลิกรณ์ ว. (2020). วิถีชีวิตไทดำ: อัตลักษณ์บนฐานการพัฒนาวัฒนธรรมชุมชน. วารสารสาร สื่อ ศิลป์, 2(4). Retrieved from https://acc.kpru.ac.th/journal/index.php/sarnsuesin/article/view/35