ฐานข้อมูล เรื่อง นครไตรตรึงษ์ เมืองโบราณ ต้นกำเนิดอาณาจักรอยุธยา
รุ่นแก้ไขเมื่อ 21:21, 20 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (→ประวัติ /ความเป็นมา/ คำบอกเล่า /ตำนาน)
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อแหล่งโบราณสถาน
1. วัดเจดีย์เจ็ดยอด 2. วัดดงอ้อย 3. วัดริมทาง 4. วัดดงมัน 5. วัดพระปรางค์
ชื่อเรียกอื่นๆ
ไม่มี
ที่ตั้ง (ที่อยู่)
เมืองไตรตรึงษ์ ตั้งอยู่บ้านวังพระธาตุ ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โดยมีพื้นที่ติดต่อ ดังต่อไปนี้ • ด้านทิศเหนือ ติดต่อกับแม่น้ำปิง • ด้านทิศใต้ ติดต่อกับบ้านมอวังพระธาตุ และถนนพหลโยธิน • ด้านทิศตะวันออก ติดต่อกับวัดวังพระธาตุและแม่น้ำปิง • ด้านทิศตะวันตก ติดต่อกับบ้านท่าเสากระโดงและแม่น้ำปิง
ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์
ละติจูดที่ 16 องศา 22 ลิปดา 31.55 พิลิปดาเหนือ ลองจิจูดที่ 99 องศา 33 ลิปดา 25.88 พิลิปดาตะวันออก
สภาพธรณีวิทยา
เมืองไตรตรึงษ์ ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง ซึ่งมีลักษณะทางธรณีสัณฐานแบบราบลุ่มแม่น้ำปิงตอนล่าง คือ ตะพักลุ่มน้ำ (ALLUVIAL TERRACE) โดยลักษณะธรณีสัณฐานเช่นนี้ พบในบริเวณทางด้านทิศตะวันออกและใต้ของจังหวัดกำแพงเพชรส่วนลักษณะทางธรณีวิทยาพบว่าเป็นตะกอนธารน้ำพา (Qa) ประกอบไปด้วย กรวด ทราย ทรายแป้ง และดินเหนียวสะสมตัวตามร่องน้ำ คันดินแม่น้ำและแอ่งน้ำท่วมถึง
หน่วยงานที่ดูแลรักษา
• กรมศิลปากรที่ 6 สุโขทัย • ราชพัสดุ ขึ้นทางกรมธนารักษ์ • อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ 2507
สถานะการขึ้นทะเบียน
เมืองไตรตรึงษ์จึงได้การประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 75 ตอนที่ 45 วันที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2501 ปัจจุบันภายในเมืองไตรตรึงษ์พบโบราณสถานแล้วจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ 1. โบราณสถานวัดดงอ้อย ละติจูด 16°22'34.7" ลองจิจูด 99°33'37.5" 2. โบราณสถานวัดเจดีย์เจ็ดยอด ละติจูด 16°22'35.7" ลองจิจูด 99°33'34.0" 3. โบราณสถานวัดริมทาง ละติจูด 16°22'36.5" ลองจิจูด 99°33'29.8" 4. โบราณสถานวัดดงมัน ละติจูด 16°22'37.8" ลองจิจูด 99°33'28.1" 5. โบราณสถานวัดพระปรางค์ ละติจูด 16°22'35.6" ลองจิจูด 99°33'24.1"
ข้อมูลทางโบราณคดี
ประวัติ /ความเป็นมา/ คำบอกเล่า /ตำนาน
จากการศึกษาจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบจากแหล่งโบราณคดีที่พบในบริเวณลุ่มแม่น้ำปิงตอนล่าง อาทิ แหล่งโบราณคดีเขากะล่อน อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร แหล่งโบราณคดีมอเสือตบ อำเภอ โกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ที่แสดงถึงพัฒนาการทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของชุมชนโบราณลุ่มแม่น้ำปิงตอนล่าง มีมาตั้งแต่ช่วงก่อนช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 หรือช่วงสมัยสุโขทัยนั่นเอง เมืองไตรตรึงษ์เป็นอีกหนึ่งชุมชนโบราณที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงตอนล่าง ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณบริเวณภาคกลางในวัฒนธรรมทวารวดี คือ ตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำ และมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 1-3 ชั้น ผังเมืองจะมีรูปร่างแตกต่างกันไป แต่มักจะขนานกับทางน้ำ เมื่อพิจารณาร่วมกับหลักฐานทางด้านเอกสารประวัติศาสตร์ อย่างตำนานจามเทวีที่กล่าวถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 พระนางจามเทวี กษัตริย์แห่งเมืองละโว้ได้อพยพผู้คนจากเมืองละโว้ ขึ้นมาเมืองหริภุญชัย โดยใช้เส้นทางแม่น้ำปิง เป็นเส้นทางคมนาคมหลัก ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานประเภทโบราณวัตถุที่พบมีความคล้ายคลึงกันกับโบราณวัตถุที่พบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ ตะเกียงดินเผา ลูกปัดแก้ว หรือ ลูกปัดหินเป็นต้น ดังนั้นการตั้งถิ่นฐานของเมืองไตรตรึงษ์เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญคือ ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์ เมืองไตรตรึงษ์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง แหล่งน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่อุปโภคและบริโภค และทำให้เกิดการใช้เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในการติดต่อและแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนภายนอก โดยเฉพาะชุมชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแผนที่ตำแหน่งเมืองไตรตรึงษ์ที่แสดงให้เห็นว่า หากเดินทางขึ้นทางทิศเหนือจะก็จะพบเมืองกำแพงเพชร เมืองนครชุมได้ หากเดินทางลงทางใต้ก็จะเจอเมืองดงแม่นางเมือง และสามารถลงไปถึงเมืองอื่นๆในบริเวณภาคกลางได้ด้วย จากการศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่พบบริเวณเมืองไตรตรึงษ์ในช่วงเวลาที่ผ่านชี้ให้เห็นว่าเมืองไตรตรึงษ์เป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยใน ๓ สมัยหลักๆ ได้แก่ สมัยก่อนสุโขทัย สมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นเมืองไตรตรึงษ์ได้กลายเป็นเมืองร้าง สมัยก่อนสุโขทัย เมืองไตรตรึงษ์เป็นอีกชุมชนโบราณที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย โดยเอกสารประเภทตำนานและพงศาวดาร อาทิ พงศาวดารโยนก ตำนานสิงหนวัติกุมาร ตำนานท้าวแสนปม ได้กล่าวถึงเมืองไตรตรึงษ์ในฐานะเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาใกล้กับเมืองกำแพงเพชรทางด้านทิศใต้ นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงโดยทางอ้อมของการมีอยู่และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมแม่น้ำปิงอย่างตำนานจามเทวี รวมทั้งยังมีข้อมูลที่ได้จากการดำเนินขุดค้นในบริเวณเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาภาชนะดินเผาก้นกลม และตะเกียงดินเผาแบบโรมัน ที่คล้ายคลึงกับที่พบที่ชุมชนโบราณบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี นอกจากนี้ยังพบ ลูกปัดหินและลูกปัดแก้วสีเหลือง ส้ม เขียว ฟ้า น้ำเงิน ดำ และสีน้ำตาลแดง แวดินเผาที่มีลักษณะคล้ายกับที่เมืองจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งสามารถเทียบเคียงอายุสมัย จากโบราณวัตถุที่มีลักษณะร่วมกันว่าอยู่ในช่วงของวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๖) จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า เมืองไตรตรึงษ์มีการอยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงสมัยก่อนสุโขทัย โดยสันนิษฐานว่ามีการเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) นั่นเอง
ภาพที่ 1 ตะเกียงดินเผาที่พบในเมืองไตรตรึงษ์ ปัจจุุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กำแพงเพชร
สมัยสุโขทัย เมืองไตรตรึงษ์ปรากฏร่องรอยของการได้รับอิทธิพลของรูปแบบของลักษณะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม ที่เป็นลักษณะเด่นของศิลปะสมัยสุโขทัย ได้แก่ วัดเจดีย์เจ็ดยอดและวัดวังพระธาตุ ที่มีเจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ นอกจากนี้ผลจากการดำเนินงานขุดค้นทางโบราณคดีที่ผ่านมา พบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาที่มีแหล่งผลิตจากสุโขทัย อาทิ เศษภาชนะดินเผาเครื่องสังคโลกแบบเชลียงเคลือบสีเขียวเฉพาะด้านในผลิตจากแหล่งเตาบ้านเกาะน้อย ราวพุทธศตวรรษที่ 19-20
ภาพที่ 2 - 3 เจดีย์วัดวังพระธาตุ และเศียรพระพุทธรูป วัดวังพระธาตุ ถ่ายในปี พ.ศ.2558
สมัยอยุธยา ชื่อเมืองไตรตรึงษ์ปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ ศิลาหลักที่ 38 หรือจารึกกฎหมายลักษณะโจร (เลขทะเบียน สท.17) ซึ่งเป็นกฎหมายอาญาในยุคแรกเริ่มที่อาณาจักรอยุธยาตราขึ้นบังคับใช้ในสุโขทัย เชลียง กำแพงเพชร ทุ่งยั้ง ปากยม และเมืองสองแคว ในปีช่วง พ.ศ.1940 ซึ่งตรงกับสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 2 พระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรสุโขทัย
โดยข้อความในจารึกได้ปรากฏชื่อเมืองไตรตรึงษ์ใน ด้านที่ 1 ในบรรทัดที่ 9 มีข้อความว่า
คำจารึก | คำอ่าน |
---|---|
“..เจ๋าเมืองตรายตริง (ษกบั) ดวยนกกปราชราชกวี | “..เจ้าเมืองไตรตรึง (ส์กับ) ด้วยนักปราชญ์ราชกวี |
(มีสกุลพ) รรณนงัลงถวายอัญชูลี (พบา | (มีสกุลพ) รรณ นั่งลงถวายอัญชุลี (พระบาท) |
เสดจในตรีมุขเสวิยบุญสุกตงักฤตย | เสด็จในตรีมุขเสวยบุญสุข ตั้งกฤตย์ |
แลวบเหิงกลายทานเสดจ…ดวยบุรีฝูงพาลแ…” | แล้วบเหิงกลาย ท่านเสด็จ…ด้วยบุรีฝูงพาล แ-” |
จากข้อความกล่าวว่าแสดงให้เห็นสถานะความเป็นชุมชนเมืองในโดยมีเจ้าเมืองไตรตรึงษ์เป็นผู้ปกครอง และยังเป็นคณะประชุม การตรากฎหมายดังกล่าวด้วย สมัยรัตนโกสินทร์ ในช่วงสมัยนี้บริเวณเมืองไตรตรึงษ์ลดบทบาทลงอย่างชัดเจน กลายเป็นเมืองที่ถูกทิ้งร้าง เมืองไตรตรึงษ์ได้ถูกกล่าวในพระราชนิพนธ์ จากการเสด็จประพาสของกษัตริย์ 2 พระองค์ ได้แก่ 1. การเสด็จประพาสเมืองเหนือในรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ได้บันทึกกล่าวถึงรัชกาลที่๔เมื่อครั้งยังทรงผนวชได้เสด็จประพาสเมืองเหนือได้เสด็จประทับที่เมืองไตรตรึงษ์โดยได้นมัสการพระธาตุตาลเอน จากบันทึกดังกล่าวทำให้ทราบว่า โบราณสถานในบริเวณเขตเมืองโบราณไตรตรึงษ์มีวัดเก่าอยู่หลายแห่งแต่ที่เป็นเจดีย์ใหญ่พอจะบรรจุพระบรมสารีริกธาตุได้นั้นน่าจะเป็น เจดีย์วัดวังพระธาตุนั้นเอง 2. การเสด็จประพาสต้นหรือการเสด็จประพาสเมืองเหนือของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ปี ร.ศ.125 หรือ พ.ศ.2449) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นการเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 โดยเสด็จประพาสต้นถึงเมืองกำแพงเพชร ระหว่างวันที่ 22-26 สิงหาคม พ.ศ.2449 และเสด็จถึงเมืองไตรตรึงษ์ในวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2449 ซึ่งทรงบันทึกภาพถ่ายและทรงมีพระราชนิพนธ์เล่าเรื่องไว้ โดยข้อมูลจากพระราชนิพนธ์ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลานั้นเมืองไตรตรึงษ์ได้กลายเป็นพื้นที่รกร้าง เต็มไปด้วยหญ้าสูง ไม่มีการเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คน และได้ปรากฏโบราณสถาน ใน 3 พื้นที่ คือ วัดวังพระธาตุ แนวกำแพงดิน-คูเมืองไตรตรึงษ์ และบริเวณภายในเมืองไตรตรึงษ์
ภาพที่ 4 ภาพถ่ายพระเจดีย์วังพระธาตุ
ภาพที่ 5 บริเวณฝั่งคูเมืองด้านนอก เมืองไตรตรึงษ์
ภาพที่ 6 ภาพถ่ายหมู่เจดีย์เจ็ดยอดในเมืองไตรตรึงษ์
นอกจากนี้ มีการสำรวจที่ได้แสดงให้เห็นว่าเมืองไตรตรึงษ์ยังคงเป็นเมืองร้าง โดยในช่วงปี พ.ศ.2496 นายธนิต อยู่โพธิ์ ได้รับการแต่งตั้งร่วมเป็นอนุกรรมการรวบรวมประวัติศาสตร์สุโขทัย โดยมีพระยาอนุมานราชธน เป็นประธานคณะอนุกรรมการและคณะกรรมการได้เข้าไปสำรวจโบราณสถานในจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชรและนครสวรรค์ โดยในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2496 ได้เข้าไปดูเมืองไตรตรึงษ์ ปรากฏว่าสภาพโบราณสถานตามภาพถ่ายจากการเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ 5 ได้ทรุดโทรมลงไปมาก
ภาพที่ 7 - 8 ภาพถ่ายพระเจดีย์ ในวัดวังพระธาตุ และภาพลายเส้น พระเจดีย์ในป่าทึบ ในปี พ.ศ.2496
และยังมีการกล่าวถึงสภาพของเมืองไตรตรึงษ์จากการสำรวจในช่วงปี พ.ศ.2500 ของมานิต วัลลิโภดม ที่สำรวจภายในบริเวณกำแพงเมือง
ภาพที่ 9 แผนผังเมืองไตรตรึงษ์ปี พ.ศ.2501
สภาพปัจจุบัน ปัจจุบัน เมืองไตรตรึงษ์เป็นโบราณสถานสำคัญอีกแห่งของจังหวัดกำแพงเพชร โดยพื้นที่ส่วนใหญ่จะถูกใช้ในการทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกมันสำปะหลัง เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายดาวเทียมในช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๘ แสดงให้เห็นว่ามีการทำเกษตรกรรมกันอย่างต่อเนื่อง
ลักษณะสิ่งปลูกสร้าง
เป็นสถาปัตยกรรมสิ่งปลูกสร้าง ประกอบไปด้วย กำแพงคูเมือง โบราณสถาน
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรม ประกอบไปด้วย กำแพงคูเมือง โบราณสถานต่างๆ - วัดเจดีย์เจ็ดยอดเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยสุโขทัย รูปทรงของเจดีย์ประกอบด้วย ฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 4ชั้น ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ จากนั้นเป็นชั้นแว่นฟ้าย่อเหลี่ยมไม้ 22 ชั้น เรือนธาตุย่อเหลี่ยมไม้ 20 แล้วจึงเป็นส่วนที่เรียกว่าดอกบัวตูมและส่วนยอดถัดขึ้นไป - วัดพระปรางค์เปรียบเทียบสถาปัตยกรรม เจดีย์มีรูปทรงเพรียวและชะลูดมากกว่าที่เมืองสุโขทัยองค์ระฆังเล็ก และอยู่ในตำแหน่งสูงปากระฆังไม่บานหรือผายออกมาก นิยมทำฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมและฐานบัวลูกแก้วอกไก่แปดเหลี่ยมรองรับ ส่วนยอดเจดีย์ฐานล่างสุดมักเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมหรือฐานเขียง ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมและฐานบัวลูกแก้วอกไก่แปดเหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป จากนั้นเป็นมาลัยเถาที่ทำเป็นชุดบัวถลาสามชั้น เรียงลดหลั่นกันรองรับองค์ระฆัง ส่วนล่างที่เรียกว่าปากระฆังประดับรูปกลีบบัวคว่ำและบัวหงายที่เรียกว่าบัวปากระฆังได้รับอิทธิพลจากศิลปะพม่า ถัดขึ้นไปเป็นบัลลังก์ทำเป็นแท่นฐานทรงสี่เหลี่ยมรูปแบบเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่
ยุคทางโบราณคดี
• ยุคสมัยก่อนสุโขทัย • ยุคสมัยสุโขทัย • ยุคสมัยอยุธยา • ยุคสมัยรัตนโกสินทร์
สมัย/วัฒนธรรม
• สมัยก่อนสุโขทัย วัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) 100-1001 • สมัยสุโขทัย • สมัยอยุธยา • สมัยรัตนโกสินทร์
อายุทางโบราณคดี
• สมัยก่อนสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 11 – 16) 1561 ปี • สมัยสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ 19 – 20) 761 ปี • สมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 20 – 21) 661 ปี • สมัยรัตนโกสินทร์
อายุทางวิทยาศาสตร์
- ยังไม่ได้มีการดำเนินการวิทยาศาสตร์
อายุทางตำนาน
• สมัยก่อนสุโขทัย • สมัยสุโขทัย • สมัยอยุธยา • สมัยรัตนโกสินทร์
ข้อมูลการสำรวจ=
วัน /เดือน/ ปี/ ที่สำรวจ
วันที่ 10, 20, 25 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2561
วันปรับปรุงข้อมูล
-
ผู้สำรวจข้อมูล
นางสาวพิมกาญดา จันดาหัวดง
คำสำคัญ (tag)
นครไตรตรึงษ์, วัดวังพระธาตุ, ท้าวแสนปม
===ผู้ให้ข้อมูล (ชื่อ นามสกุล) /เบอร์โทรศัพท์===
นาย ภาคภูมิ อยู่พูล นักโบราณคดี อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร โทร. 0814741895