กลุ่มชาติพันธุ์ สังคมและวัฒนธรรมของไทยทรงดำ
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:20, 18 ธันวาคม 2563 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม)
กลุ่มชาติพันธุ์ สังคมและวัฒนธรรมของไทยทรงดำ : กรณีศึกษาหมู่บ้านท่าช้าง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
บทนำ
ไทดำหรือไตดำ (Black tai) เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น โซ่ง ซ่ง ไทยโซ่ง ไทยซ่ง ลาวโซ่ง ลาวซ่ง ลาวทรงดำ และ ลาวพุงดำ โดยสันนิษฐานว่าไทดำเป็นชื่อเรียกแต่แรกเริ่ม ส่วนชื่อที่เรียก “ลาวโซ่ง” และ “ไทยทรงดำ” เป็นคำเรียกคนไทดำที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ด้วยเป็นชนกลุ่มที่อพยพผ่านประเทศลาวเข้ามายังประเทศไทย ประกอบกับภาษาพูดที่ใช้มีความคล้ายคลึงกับภาษาพูดของคนลาว (กลุ่มนักศึกษาโครงการเรียนรู้ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชน, 2547) ซึ่งคำว่า “โซ่ง” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ซ่วง” ซึ่งแปลว่า กางเกง เพราะชาวไทดำนิยมนุ่งกางเกงและสวมใส่เสื้อผ้าสีดำ (สันติ, 2557) หากแต่ในการอพยพเข้าประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “ไทย” นำหน้าชื่อกลุ่มชนหรือกลุ่มภาษา เพื่อการเน้นถึงความเป็นชาติและความเป็นไทย คนไทดำที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงมักเรียกชนกลุ่มของตนเองว่า “ไทยทรงดำ” ตั้งแต่นั้นมา (จุรีวรรณ, 2554)
คำสำคัญ : ไทยทรงดำ, ไทดำ, กลุ่มชาติพันธุ์
การอพยพถิ่นฐานของกลุ่มไทยทรงดำมายังจังหวัดกำแพงเพชร
กลุ่มชาติพันธ์ไทยทรงดำ มีถิ่นฐานเดิมตั้งอยู่ที่เมืองแถน ซึ่งเดิมเป็นเมืองใหญ่ของแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันคือจังหวัดเดียนเบียนฟูของประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว ซึ่งเดิมคือแคว้นล้านช้าง ซึ่งชาวไทดำถูกต้อนอพยพโดยสมัครใจไปมาระหว่างสองอาณาจักรนี้ ครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอพยพผู้คนไทดำมายังประเทศไทย เพื่อหนีสงครามโดยอพยพผ่านลงมาทางเวียดนามตอนเหนือ ลาว และเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี และอพยพเรื่อยมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (งามพิศ, 2545) โดยอพยพให้ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยแห่งแรกที่จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นจึงกระจายการตั้งถิ่นฐานอพยพออกจากพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ไปตั้งหลักแหล่งในจังหวัดใกล้เคียงและขยายพื้นที่ออกไปไกลถึงจังหวัดเลย โดยทางเกวียนและรถไฟ นอกจากนี้ยังพบชาวไทยทรงดำที่อพยพจากจังหวัดเพชรบุรีไปอยู่ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สระบุรี ลพบุรี พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี (จุรีวรรณ, 2554) จากการสืบค้น พบว่า กลุ่มไทยทรงดำอพยพเข้าสู่จังหวัดกำแพงเพชรครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2480 -2490 โดยอพยพมาจากตำบลหัวถนน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม สามารถแสดงการอพยพย้ายถิ่นของชาวไทยทรงดำที่เข้ามายังจังหวัดกำแพงเพชร ได้ดังตารางที่ 1 (สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, 2561)
ตารางที่ 1 แสดงการอพยพของไทยทรงดำมายังจังหวัดกำแพงเพชร
ปีพุทธศักราช | อพยพจาก | อพยพไปที่ |
---|---|---|
2480 – 2490 | หัวถนน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม | อำเภอบางเลน และอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม, จังหวัดสุพรรณบุรี, จังหวัดกำแพงเพชร, จังหวัดพิจิตร |
2492 | วังหยวก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ | วังน้ำ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร |
2495 | จังหวัดสุพรรณบุรี | วังน้ำ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร |
2499 | จังหวัดนครสวรรค์ | วังน้ำ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร |
2506 | อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม | หนองกระทิง อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร |
2518 | อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ | อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร |
ที่มา : (สันติ อภัยราช, 2557)
ไทยทรงดำบ้านท่าช้าง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
กลุ่มชาติพันธ์ไทยทรงดำในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น บ้านวังน้ำ บ้านหนองกระทิงและบ้านแม่ลาด ในเขตอำเภออำเภอคลองขลุง บ้านคลองแม่ลายและบ้านท่าช้าง ในเขตอำเภอคลองลาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มไทยทรงดำที่ใหญ่สุดในจังหวัดกำแพงเพชร สาเหตุการอพยพมีสาเหตุอย่างน้อยสองประการ คือ ประการแรกเนื่องจากสงครามที่ส่งผลให้ชาวไทยทรงดำถูกกว่าต้อนเข้ามาในประเทศไทย ประการที่อง เพื่อต้องการบุกเบิกพื้นที่ทำการเกษตร ประกอบอาชีพทำกิน โดยประกอบเกษตรกรรมเป็นหลัก พืชที่นิยมปลูกไว้เพื่อบริภาในครัวเรือนและเพื่อขาย ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง กระทั่งในปัจจุบันกลุ่มไทยทรงดำในหมู่บ้านท่าช้างมีจำนวนร่วม 500 หลังคาเรือน (สิริวรรณ และคณะ, 2559) และจากข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของคนในชุมชน ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้านไว้ว่า (ไพร เสนาพิทักษ์, สัมภาษณ์, 14 ธันวาคม 2560) บ้านท่าช้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2500 ยังมีสภาพป่าสมบรูณ์ มีชื่อเดิมว่า ปางยางและมีผู้คนมาจับจองที่ทำกินมาจากหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ สุโขมัย นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี พิจิตร พิษณุโลก และอุทัยธานี นี้จะเป็นคนไทยได้มาอยู่รวมกันที่บ้านท่าช้าง และได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นมีหลวงตาชื่อ ปั่น อยู่จำวัด อยู่ 3 ปี ก็ได้จากบ้านท่าช้างไป ต่อมา พ.ศ. 2504 ชาวบ้านท่าช้างก็ได้จัดที่เรียนให้เด็ก ๆ ที่ศาลาวัด และขอครูมาจากโรงเรียนคลองน้ำไหล 1 ท่าน ชื่อ ครูบัว อยู่ได้ 1 ปี ก็มีครูเก้าสอนอยู่ 3 ปี ครูสนาม 6-7 ปี ครูสำเนียงอยู่หลายปี ในด้านการปกครองเมื่อมาคนเข้าอยู่มากกำนันสุคำ ปิ่งขอด ได้ตั้งให้พ่อพา ประสิทธิเขตกิจ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดูแลลูกบ้านท่าช้างและบ้านทุ่งหญ้าคา และเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านท่าช้างตั้งแต่นั้นมา จนถึง พ.ศ. 2521 ได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ นายเสาร์ เรืองทองสุข ทำหน้าที่ 15 ปี ลำดับที่ 2 นายสังเวียน อยู่อ้าง ทำหน้าที่ 2 ปี ลำดับที่ 3 นายเทียน ประสิทธิเขตกิจ ทำหน้าที่ 10 ปี และคนปัจจุบันคือ นายไพร เสนาพิทักษ์ อยู่ในวาระ 1 สมัย ปัจจุบันเกษียณอายุ จนได้มีความคิดร่วมกับคณะกรรมการไทยทรงดำจะสืบทอดวิถีชีวิตและประเพณีไทยทรงดำ เพื่อเด็กนักเรียนบ้านท่าช้างหรอเด็กๆ และคนทั่วไปที่สนใจในวิถีชีวิตประเพณีของไทดำ อยากจะเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีดั่งเดิมของบรรพบุรุษออกสู่สังคมภายนอก บ้านท่าช้างได้เริ่มต้นวัฒนธรรมไทดำ เมื่อ พ.ศ. 2541 มีอาจารย์ริคม ฟูแก้ว ที่สอนอยู่โรงเรียนท่าช้างสมัยนั้น ต่อมา พ.ศ. 2543 ประธานไทดำ นายปี ทองเย็น ได้ของบประมาณจากประธานองค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล ในสมัยท่านสุนทร ประสิทธิเขตกิจ ซึ่งท่านก็เป็นคนท่าช้างก็ได้ร่วมกันจัดงานไทดำผ่านมาได้ทุกปี หากบางปีงบประมาณน้อยผู้คนในหมู่บ้านก็ได้ออกเรี่ยไรแล้วก็จัดงานอย่างต่อเนื่องผ่านมา 15 ปี เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2555 นี้เอง เมื่อเรามาถึงวันนี้เราได้ความรักความสามัคคีที่มากขึ้นจริง ๆ โดยมีการดำเนินงานและการปฏิบัติคือ 1) สร้างจิตสำนึกร่วมกันในวิถีชีวิตประเพณีไทดำที่เป็นหลัก 2) ต่อสืบทอดวัฒนธรรมไทดำไปสู่ครู อาจารย์ เยาวชนเด็กๆ นักเรียนบ้านท่าช้าง โดยเฉพาะเด็ก ๆ ได้เรียนภาษาไทดำ พูดและเขียนหนังสือไทดำ และคณะครูพร้อมเด็ก ๆ แต่งกายชุดไทดำทุก ๆ วันศุกร์ และ 3) ชมรมไทดำบ้านท่าช้าง ได้จับมือกับชมรมไทดำภาคเหนือ 5 จังหวัด ว่าจะร่วมกันรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีนี้ไว้ร่วมกันตลอดไป”
สังคม ประเพณีและความเชื่อของไทยทรงดำ
การแต่งกาย เสื้อไตหรือเสื้อไทผู้ชาย จะเป็นเสื้อลําลองมีขนาดใหญ่ใส่ไปงานที่ไม่มีพิธีการมากนัก ลักษณะของเสื้อจะเป็นผ้าฝ้ายสีครามเข้มหรือสีดํา คอตั้งแขนยาวทรงกระบอกผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงิน 10-19 เม็ด ดังภาพที่ 1 เสื้อก้อมผู้หญิง มีลักษณะแตกต่างจากเสื้อไตหรือเสื้อไทผู้ชายตรงที่เสื้อก้อมผู้หญิงมีลักษณะคอตั้ง ไม่มีปก แขนยาวทรงกระบอกรัดข้อมือ ติดกระดุมเงินเหมือนเสื้อของผู้ชาย ดังภาพที่ 2 โดยจะใส่กับผ้าซิ่น ลายแตงโม ลักษณะของผ้าซิ่นจะมี 3 ส่วน คือ หัวซิ่นอยู่ด้านบนสุดเป็นผ้าฝ้ายสีครามเข้ม ตัวซิ่นอยู่ตรงกลาง จะมีความหนากว่าหัวซิ่นเป็นผ้าทอลายแตงโม เวลาที่นุ่งจะทบชาย 2 ข้างมาที่ตรงกลางแล้วคาดเข็มขัดตลบลงมา ตีนซิ่นอยู่ล่างสุด เป็นผ้าทอด้วยผ้าฝ้ายเส้นหนา ดังภาพที่ 3 (ธีรยุทธ์, 2553) กระเป๋าคาดเอวของชายไทยทรงดำ กระเป๋าคาดเอวของชายไทยทรงดำจะนิยมสวมใส่กับเสื้อไท ซึ่งชายไทยทรงดำจะสามารถใส่ธนบัตร หรือเหรียญ หรือใบยาสูบในด้านหลังของกระเป๋าผ้าได้ สำหรับลวดลายที่ประดับกระเป๋าคาดเอว จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับลวดลายที่ประดับหน้าหมอนอิง ซึ่งในอดีตอาจมีการประดับกระจกเล็กๆ ลงในลวดลายของกระเป๋าคาดเอว ทว่าในปัจจุบันจะมีการประดับกระจกเพียงแค่หน้าหมอนอิงเท่านั้น ไม่นิยมใส่กระจกลงในลวดลายกระเป๋าคาดเอวของชายชาวไทยทรงดำ ดังภาพที่ 4
ภาพที่ 1 แสดงลักษณะเสื้อไตหรือเสื้อไทผู้ชาย
ภาพที่ 2 แสดงเสื้อก้อมผู้หญิง
ภาพที่ 3 แสดงลักษณะซิ่นลายแตงโม
(ที่มา : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, 2561)
ภาพที่ 4 แสดงลักษณะกระเป๋าคาดเอวของชายไทยทรงดำ
ที่อยู่อาศัย
เฮือน (เรือน) ของชาวไทยทรงดํา เรียกว่า “เรือนทรงกระดองเต่า” เพราะมีรูปทรงคลุ้มๆ รีๆ คล้ายกระดองเต่า มุงหญ้าคายาวคลุมลงมาเกือบถึงพื้นดินแทนฝาเรือน เพื่อป้องกันลม ฝน และอากาศที่หนาวเย็น ตัวเรือนยกใต้ถุนสูงเพื่อประโยชน์ในการเก็บสิ่งของเครื่องใช้ เป็นที่ประกอบการงาน เช่น ทอผ้า ตำข้าว เป็นคอกเลี้ยงสัตว์ มักมีแคร่ไว้นั่งนอนและเป็นที่รับแขกในเวลากลางวัน เสาเรือนทำด้วยไม้ทั้งต้น มีง่ามไว้สำหรับวางคาน ยอดจั่วประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขาควายไขว้กัน เรียกว่า “ขอกุด” พื้นเรือนทำด้วยไม้ไผ่ทุบเป็นชิ้นๆแผ่ออกติดกัน ภายในตัวบ้านเป็นพื้นที่โล่งแบ่งส่วนสำหรับที่นอน ครัว และเป็นส่วนที่บูชาผีเรือน เรียกว่า “กะล้อห่อง” มีชานแดดยื่นออกจากตัวบ้าน ดังภาพที่ 5
ภาพที่ 5 เรือนจำลองของชาวไทยทรงดำบ้านท่าช้าง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
ต่อมารูปแบบเรือนไทยทรงดำได้ เปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมตามยุคสมัย เนื่องจากหญ้าคาที่นำมาทำวัสดุมุงหลังคาหายาก ไม่คงทน ทั้งยังเป็นวัสดุที่ง่ายต่อการติดไฟ และเนื่องจากบ้านไทยทรงดำปลูกใกล้กันเป็นกลุ่ม หากเกิดไฟไหม้จะลุกลามไปบ้านอื่น ๆ ได้รวดเร็ว ลักษณะบ้านและวัสดุ ที่ใช้จึงเปลี่ยนเป็นไม้เนื้อแข็ง หลังคาเป็นสังกะสี มีการแบ่งกั้นห้องตามลักษณะการใช้สอย ปัจจุบันเรือนไทยทรงดำมีลักษณะผสมผสานระหว่างเรือนแบบดั้งเดิมกับเรือนสมัยใหม่ บ้างก็ใช้วัสดุผสมของปูนกับไม้ บางบ้านก็เป็นรูปทรงสมัยใหม่ไม่มีเอกลักษณ์ของไทยทรงดำอยู่เลย แต่ไม่ว่าลักษณะที่อยู่อาศัยของคนไทยทรงดำจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทุกบ้านจะมีห้องสำหรับบูชาผีเรือนซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในบ้านเป็นอย่างดี
ประเพณีและความเชื่อ
ชาวไทยทรงดำมีความเชื่อและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผีอย่างเคร่งครัด มีการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อในการนับถือผีและมีการสืบทอดการปฏิบัติเป็นประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน การปฏิบัติพิธีกรรมเกี่ยวกับการนับถือผีเป็นสิ่งที่ชาวไทยทรงดำพร้อมใจปฏิบัติหรือเข้าร่วมพิธีกรรม ถือเป็นประเพณีและหน้าที่ที่ชาวไทยทรงดำทุกคนยึดถือปฏิบัติ โดยเชื่อว่าการปฏิบัติดังกล่าวเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้นับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ยกตัวอย่างเช่น การประกอบพิธีเซ่นไหว้จะเรียกว่า เสน ชาวไทยโซ่ง พิธีกรรมการเสนอยู่หลายอย่าง เช่น เสนเฮือน เสนเรียกขวัญ เสนสะเดาะเคราะห์ เสนรับผีมด เสนฆ่าเกือด เสนเตง ฯลฯ คำว่า “เสน” เป็นภาษาไทยทรงดำ แปลว่าการเซ่นหรือการสังเวย โดยการเสนเหล่านี้เป็นวิธีจัดการกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเพื่อขจัดความกลัว และสร้างกําลังใจ การเสนทุกอย่างล้วนต้องพึ่งพาอาศัย หมอเสนเป็นเจ้าพิธีเป็นวิธีการที่มีมาก่อนรับนับถือพุทธศาสนา พิธีกรรมการเสนทุกพิธีกรรม จะทำในห้อง กะล้อห่อง เท่านั้น ยกตัวอย่างพิธีกรรมเสน เช่น พิธีเสนเฮือน คือ พิธีเซ่นผีเรือนของชาวลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ ผีเรือน ในที่นี้ หมายถึง พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ล่วงลับไปแล้วและทำพิธีอัญเชิญมาไว้บนเรือน พิธีเสนเฮือนนิยมทำกันเป็นประจำแต่ละบ้านทุกปีหรือ 2-3 ปีครั้ง เพื่อให้ผีเรือนของตนได้มารับเครื่องเซ่นไหว้จากลูกหลาน เป็นการแสดงความกตัญญู ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เชื่อกันว่าเมื่อจัดพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนแล้ว ผีเรือนจะปกป้องคุ้มครองรักษาตนและครอบครัวให้มีความสุข เจริญก้าวหน้า ทำมาค้าขึ้น พิธีเสนเฮือนกระทำเดือนใดก็ได้ ยกเว้นเดือน 9 เดือน 10 เพราะถือกันว่าผีเรือนจะไปเฝ้าเทวดา จึงไม่อยู่บ้าน โดยปกติแล้วมักทำกันในระยะที่ว่างจากงานทำนา และในเดือน 5 ไม่นิยมทำเพราะเป็นช่วงหน้าแล้ง ไม่ค่อยมีความอุดมสมบูรณ์ (ธันวดี, 2558)
ภาพที่ 6 ตัวอย่างพิธีกรรมเสนเฮือนโดยหมอเสนในห้องกะล้อห่อง