กลุ่มชาติพันธุ์ สังคมและวัฒนธรรมของไทยทรงดำ

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         ไทดำหรือไตดำ (Black tai) เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น โซ่ง ซ่ง ไทยโซ่ง ไทยซ่ง ลาวโซ่ง ลาวซ่ง ลาวทรงดำ และ ลาวพุงดำ โดยสันนิษฐานว่าไทดำเป็นชื่อเรียกแต่แรกเริ่ม ส่วนชื่อที่เรียก “ลาวโซ่ง” และ “ไทยทรงดำ” เป็นคำเรียกคนไทดำที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ด้วยเป็นชนกลุ่มที่อพยพผ่านประเทศลาวเข้ามายังประเทศไทย ประกอบกับภาษาพูดที่ใช้มีความคล้ายคลึงกับภาษาพูดของคนลาว (กลุ่มนักศึกษาโครงการเรียนรู้ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชน, 2547) ซึ่งคำว่า “โซ่ง” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ซ่วง” ซึ่งแปลว่า กางเกง เพราะชาวไทดำนิยมนุ่งกางเกงและสวมใส่เสื้อผ้าสีดำ (สันติ, 2557) หากแต่ในการอพยพเข้าประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “ไทย” นำหน้าชื่อกลุ่มชนหรือกลุ่มภาษา เพื่อการเน้นถึงความเป็นชาติและความเป็นไทย คนไทดำที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยจึงมักเรียกชนกลุ่มของตนเองว่า “ไทยทรงดำ” ตั้งแต่นั้นมา (จุรีวรรณ, 2554)

คำสำคัญ : ไทยทรงดำ, ไทดำ, กลุ่มชาติพันธุ์

การอพยพถิ่นฐานของกลุ่มไทยทรงดำมายังจังหวัดกำแพงเพชร[แก้ไข]

         กลุ่มชาติพันธ์ไทยทรงดำ มีถิ่นฐานเดิมตั้งอยู่ที่เมืองแถน ซึ่งเดิมเป็นเมืองใหญ่ของแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันคือจังหวัดเดียนเบียนฟูของประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว ซึ่งเดิมคือแคว้นล้านช้าง ซึ่งชาวไทดำถูกต้อนอพยพโดยสมัครใจไปมาระหว่างสองอาณาจักรนี้ ครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอพยพผู้คนไทดำมายังประเทศไทย เพื่อหนีสงครามโดยอพยพผ่านลงมาทางเวียดนามตอนเหนือ ลาว และเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี และอพยพเรื่อยมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (งามพิศ, 2545) โดยอพยพให้ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยแห่งแรกที่จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นจึงกระจายการตั้งถิ่นฐานอพยพออกจากพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ไปตั้งหลักแหล่งในจังหวัดใกล้เคียงและขยายพื้นที่ออกไปไกลถึงจังหวัดเลย โดยทางเกวียนและรถไฟ นอกจากนี้ยังพบชาวไทยทรงดำที่อพยพจากจังหวัดเพชรบุรีไปอยู่ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สระบุรี ลพบุรี พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี (จุรีวรรณ, 2554) จากการสืบค้น พบว่า กลุ่มไทยทรงดำอพยพเข้าสู่จังหวัดกำแพงเพชรครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2480 -2490 โดยอพยพมาจากตำบลหัวถนน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม สามารถแสดงการอพยพย้ายถิ่นของชาวไทยทรงดำที่เข้ามายังจังหวัดกำแพงเพชร  ได้ดังตารางที่ 1 (สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, 2561)

ตารางที่ 1 แสดงการอพยพของไทยทรงดำมายังจังหวัดกำแพงเพชร

ปีพุทธศักราช อพยพจาก อพยพไปที่
2480 – 2490 หัวถนน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม อำเภอบางเลน และอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม, จังหวัดสุพรรณบุรี, จังหวัดกำแพงเพชร, จังหวัดพิจิตร
2492 วังหยวก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ วังน้ำ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
2495 จังหวัดสุพรรณบุรี วังน้ำ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
2499 จังหวัดนครสวรรค์ วังน้ำ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
2506 อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม หนองกระทิง อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร
2518 อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

ที่มา : (สันติ อภัยราช, 2557)

ไทยทรงดำบ้านท่าช้าง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร[แก้ไข]

         กลุ่มชาติพันธ์ไทยทรงดำในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น บ้านวังน้ำ  บ้านหนองกระทิงและบ้านแม่ลาด ในเขตอำเภออำเภอคลองขลุง บ้านคลองแม่ลายและบ้านท่าช้าง ในเขตอำเภอคลองลาน ซึ่งถือเป็นกลุ่มไทยทรงดำที่ใหญ่สุดในจังหวัดกำแพงเพชร สาเหตุการอพยพมีสาเหตุอย่างน้อยสองประการ คือ ประการแรกเนื่องจากสงครามที่ส่งผลให้ชาวไทยทรงดำถูกกว่าต้อนเข้ามาในประเทศไทย ประการที่อง เพื่อต้องการบุกเบิกพื้นที่ทำการเกษตร ประกอบอาชีพทำกิน โดยประกอบเกษตรกรรมเป็นหลัก พืชที่นิยมปลูกไว้เพื่อบริภาในครัวเรือนและเพื่อขาย ได้แก่ ข้าว ข้าวโพด และมันสำปะหลัง กระทั่งในปัจจุบันกลุ่มไทยทรงดำในหมู่บ้านท่าช้างมีจำนวนร่วม 500 หลังคาเรือน (สิริวรรณ และคณะ, 2559) และจากข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของคนในชุมชน ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานของหมู่บ้านไว้ว่า (ไพร เสนาพิทักษ์, สัมภาษณ์, 14 ธันวาคม 2560)
         บ้านท่าช้างเมื่อประมาณ พ.ศ.2500 ยังมีสภาพป่าสมบรูณ์ มีชื่อเดิมว่า ปางยางและมีผู้คนมาจับจองที่ทำกินมาจากหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ สุโขมัย นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี พิจิตร พิษณุโลก และอุทัยธานี นี้จะเป็นคนไทยได้มาอยู่รวมกันที่บ้านท่าช้าง และได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นมีหลวงตาชื่อ ปั่น อยู่จำวัด  อยู่ 3 ปี ก็ได้จากบ้านท่าช้างไป ต่อมา พ.ศ. 2504 ชาวบ้านท่าช้างก็ได้จัดที่เรียนให้เด็ก ๆ ที่ศาลาวัด และขอครูมาจากโรงเรียนคลองน้ำไหล 1 ท่าน ชื่อ ครูบัว อยู่ได้ 1 ปี ก็มีครูเก้าสอนอยู่ 3 ปี ครูสนาม 6-7 ปี ครูสำเนียงอยู่หลายปี
         ในด้านการปกครองเมื่อมาคนเข้าอยู่มากกำนันสุคำ  ปิ่งขอด ได้ตั้งให้พ่อพา ประสิทธิเขตกิจ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดูแลลูกบ้านท่าช้างและบ้านทุ่งหญ้าคา และเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านท่าช้างตั้งแต่นั้นมา จนถึง พ.ศ. 2521 ได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ นายเสาร์  เรืองทองสุข ทำหน้าที่ 15 ปี ลำดับที่ 2 นายสังเวียน อยู่อ้าง ทำหน้าที่ 2 ปี ลำดับที่ 3 นายเทียน  ประสิทธิเขตกิจ ทำหน้าที่ 10 ปี และคนปัจจุบันคือ นายไพร  เสนาพิทักษ์ อยู่ในวาระ 1 สมัย ปัจจุบันเกษียณอายุ จนได้มีความคิดร่วมกับคณะกรรมการไทยทรงดำจะสืบทอดวิถีชีวิตและประเพณีไทยทรงดำ เพื่อเด็กนักเรียนบ้านท่าช้างหรอเด็กๆ และคนทั่วไปที่สนใจในวิถีชีวิตประเพณีของไทดำ อยากจะเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีดั่งเดิมของบรรพบุรุษออกสู่สังคมภายนอก
         บ้านท่าช้างได้เริ่มต้นวัฒนธรรมไทดำ เมื่อ พ.ศ. 2541 มีอาจารย์ริคม  ฟูแก้ว ที่สอนอยู่โรงเรียนท่าช้างสมัยนั้น ต่อมา พ.ศ. 2543 ประธานไทดำ นายปี  ทองเย็น ได้ของบประมาณจากประธานองค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล ในสมัยท่านสุนทร ประสิทธิเขตกิจ ซึ่งท่านก็เป็นคนท่าช้างก็ได้ร่วมกันจัดงานไทดำผ่านมาได้ทุกปี หากบางปีงบประมาณน้อยผู้คนในหมู่บ้านก็ได้ออกเรี่ยไรแล้วก็จัดงานอย่างต่อเนื่องผ่านมา 15 ปี เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2555 นี้เอง เมื่อเรามาถึงวันนี้เราได้ความรักความสามัคคีที่มากขึ้นจริง ๆ โดยมีการดำเนินงานและการปฏิบัติคือ 1) สร้างจิตสำนึกร่วมกันในวิถีชีวิตประเพณีไทดำที่เป็นหลัก 2) ต่อสืบทอดวัฒนธรรมไทดำไปสู่ครู อาจารย์ เยาวชนเด็กๆ นักเรียนบ้านท่าช้าง โดยเฉพาะเด็ก ๆ ได้เรียนภาษาไทดำ พูดและเขียนหนังสือไทดำ และคณะครูพร้อมเด็ก ๆ แต่งกายชุดไทดำทุก ๆ วันศุกร์ และ 3) ชมรมไทดำบ้านท่าช้าง ได้จับมือกับชมรมไทดำภาคเหนือ 5 จังหวัด ว่าจะร่วมกันรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีนี้ไว้ร่วมกันตลอดไป”

สังคม ประเพณีและความเชื่อของไทยทรงดำ[แก้ไข]

         การแต่งกาย
         เสื้อไตหรือเสื้อไทผู้ชาย จะเป็นเสื้อลําลองมีขนาดใหญ่ใส่ไปงานที่ไม่มีพิธีการมากนัก ลักษณะของเสื้อจะเป็นผ้าฝ้ายสีครามเข้มหรือสีดํา คอตั้งแขนยาวทรงกระบอกผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงิน 10-19 เม็ด ดังภาพที่ 1
         เสื้อก้อมผู้หญิง มีลักษณะแตกต่างจากเสื้อไตหรือเสื้อไทผู้ชายตรงที่เสื้อก้อมผู้หญิงมีลักษณะคอตั้ง ไม่มีปก แขนยาวทรงกระบอกรัดข้อมือ ติดกระดุมเงินเหมือนเสื้อของผู้ชาย ดังภาพที่ 2 โดยจะใส่กับผ้าซิ่น ลายแตงโม ลักษณะของผ้าซิ่นจะมี 3 ส่วน คือ หัวซิ่นอยู่ด้านบนสุดเป็นผ้าฝ้ายสีครามเข้ม ตัวซิ่นอยู่ตรงกลาง จะมีความหนากว่าหัวซิ่นเป็นผ้าทอลายแตงโม เวลาที่นุ่งจะทบชาย 2 ข้างมาที่ตรงกลางแล้วคาดเข็มขัดตลบลงมา ตีนซิ่นอยู่ล่างสุด เป็นผ้าทอด้วยผ้าฝ้ายเส้นหนา ดังภาพที่ 3 (ธีรยุทธ์, 2553)
         กระเป๋าคาดเอวของชายไทยทรงดำ กระเป๋าคาดเอวของชายไทยทรงดำจะนิยมสวมใส่กับเสื้อไท ซึ่งชายไทยทรงดำจะสามารถใส่ธนบัตร หรือเหรียญ หรือใบยาสูบในด้านหลังของกระเป๋าผ้าได้ สำหรับลวดลายที่ประดับกระเป๋าคาดเอว จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับลวดลายที่ประดับหน้าหมอนอิง ซึ่งในอดีตอาจมีการประดับกระจกเล็กๆ ลงในลวดลายของกระเป๋าคาดเอว ทว่าในปัจจุบันจะมีการประดับกระจกเพียงแค่หน้าหมอนอิงเท่านั้น ไม่นิยมใส่กระจกลงในลวดลายกระเป๋าคาดเอวของชายชาวไทยทรงดำ ดังภาพที่ 4
ภาพที่ 1 เสื้อใตผู้ชาย.jpg

ภาพที่ 1 แสดงลักษณะเสื้อไตหรือเสื้อไทผู้ชาย

ภาพที่ 2 เสื้อก้อมผู้หญิง.jpg

ภาพที่ 2 แสดงเสื้อก้อมผู้หญิง

ภาพที่ 3 ผ้าซิ่น.jpg

ภาพที่ 3 แสดงลักษณะซิ่นลายแตงโม

(ที่มา : สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, 2561)

ภาพที่ 4 กระเป๋าคาดเอว.jpg

ภาพที่ 4 แสดงลักษณะกระเป๋าคาดเอวของชายไทยทรงดำ

ที่อยู่อาศัย[แก้ไข]

         เฮือน (เรือน) ของชาวไทยทรงดํา เรียกว่า “เรือนทรงกระดองเต่า” เพราะมีรูปทรงคลุ้มๆ รีๆ คล้ายกระดองเต่า มุงหญ้าคายาวคลุมลงมาเกือบถึงพื้นดินแทนฝาเรือน เพื่อป้องกันลม ฝน และอากาศที่หนาวเย็น ตัวเรือนยกใต้ถุนสูงเพื่อประโยชน์ในการเก็บสิ่งของเครื่องใช้ เป็นที่ประกอบการงาน เช่น ทอผ้า ตำข้าว  เป็นคอกเลี้ยงสัตว์ มักมีแคร่ไว้นั่งนอนและเป็นที่รับแขกในเวลากลางวัน เสาเรือนทำด้วยไม้ทั้งต้น มีง่ามไว้สำหรับวางคาน ยอดจั่วประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขาควายไขว้กัน เรียกว่า “ขอกุด” พื้นเรือนทำด้วยไม้ไผ่ทุบเป็นชิ้นๆแผ่ออกติดกัน ภายในตัวบ้านเป็นพื้นที่โล่งแบ่งส่วนสำหรับที่นอน ครัว และเป็นส่วนที่บูชาผีเรือน เรียกว่า “กะล้อห่อง” มีชานแดดยื่นออกจากตัวบ้าน ดังภาพที่ 5
ภาพที่ 5 เรือนจำ.jpg

ภาพที่ 5 เรือนจำลองของชาวไทยทรงดำบ้านท่าช้าง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

         ต่อมารูปแบบเรือนไทยทรงดำได้ เปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมตามยุคสมัย เนื่องจากหญ้าคาที่นำมาทำวัสดุมุงหลังคาหายาก ไม่คงทน ทั้งยังเป็นวัสดุที่ง่ายต่อการติดไฟ และเนื่องจากบ้านไทยทรงดำปลูกใกล้กันเป็นกลุ่ม หากเกิดไฟไหม้จะลุกลามไปบ้านอื่น ๆ ได้รวดเร็ว ลักษณะบ้านและวัสดุ  ที่ใช้จึงเปลี่ยนเป็นไม้เนื้อแข็ง หลังคาเป็นสังกะสี มีการแบ่งกั้นห้องตามลักษณะการใช้สอย ปัจจุบันเรือนไทยทรงดำมีลักษณะผสมผสานระหว่างเรือนแบบดั้งเดิมกับเรือนสมัยใหม่ บ้างก็ใช้วัสดุผสมของปูนกับไม้ บางบ้านก็เป็นรูปทรงสมัยใหม่ไม่มีเอกลักษณ์ของไทยทรงดำอยู่เลย แต่ไม่ว่าลักษณะที่อยู่อาศัยของคนไทยทรงดำจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทุกบ้านจะมีห้องสำหรับบูชาผีเรือนซึ่งเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในบ้านเป็นอย่างดี

ประเพณีและความเชื่อ[แก้ไข]

         ชาวไทยทรงดำมีความเชื่อและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผีอย่างเคร่งครัด มีการประกอบพิธีกรรมเกี่ยวกับความเชื่อในการนับถือผีและมีการสืบทอดการปฏิบัติเป็นประเพณีมาจนถึงปัจจุบัน การปฏิบัติพิธีกรรมเกี่ยวกับการนับถือผีเป็นสิ่งที่ชาวไทยทรงดำพร้อมใจปฏิบัติหรือเข้าร่วมพิธีกรรม ถือเป็นประเพณีและหน้าที่ที่ชาวไทยทรงดำทุกคนยึดถือปฏิบัติ โดยเชื่อว่าการปฏิบัติดังกล่าวเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้นับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ไทยทรงดำ ยกตัวอย่างเช่น การประกอบพิธีเซ่นไหว้จะเรียกว่า เสน ชาวไทยโซ่ง
         พิธีกรรมการเสนอยู่หลายอย่าง เช่น เสนเฮือน เสนเรียกขวัญ เสนสะเดาะเคราะห์ เสนรับผีมด เสนฆ่าเกือด เสนเตง ฯลฯ 
         คำว่า “เสน” เป็นภาษาไทยทรงดำ แปลว่าการเซ่นหรือการสังเวย โดยการเสนเหล่านี้เป็นวิธีจัดการกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเพื่อขจัดความกลัว และสร้างกําลังใจ การเสนทุกอย่างล้วนต้องพึ่งพาอาศัยหมอเสนเป็นเจ้าพิธีเป็นวิธีการที่มีมาก่อนรับนับถือพุทธศาสนา พิธีกรรมการเสนทุกพิธีกรรม จะทำในห้องกะล้อห่อง เท่านั้น
         ยกตัวอย่างพิธีกรรมเสน เช่น พิธีเสนเฮือน คือ พิธีเซ่นผีเรือนของชาวลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ ผีเรือน ในที่นี้ หมายถึง พ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ผู้ล่วงลับไปแล้วและทำพิธีอัญเชิญมาไว้บนเรือน พิธีเสนเฮือนนิยมทำกันเป็นประจำแต่ละบ้านทุกปีหรือ 2-3 ปีครั้ง เพื่อให้ผีเรือนของตนได้มารับเครื่องเซ่นไหว้จากลูกหลาน เป็นการแสดงความกตัญญู ระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เชื่อกันว่าเมื่อจัดพิธีเซ่นไหว้ผีเรือนแล้ว ผีเรือนจะปกป้องคุ้มครองรักษาตนและครอบครัวให้มีความสุข เจริญก้าวหน้า ทำมาค้าขึ้น พิธีเสนเฮือนกระทำเดือนใดก็ได้ ยกเว้นเดือน 9 เดือน 10 เพราะถือกันว่าผีเรือนจะไปเฝ้าเทวดา จึงไม่อยู่บ้าน โดยปกติแล้วมักทำกันในระยะที่ว่างจากงานทำนา และในเดือน 5 ไม่นิยมทำเพราะเป็นช่วงหน้าแล้ง ไม่ค่อยมีความอุดมสมบูรณ์ (ธันวดี, 2558)
ภาพที่ 6 ตัวอย่างพิธีกรรม.jpg

ภาพที่ 6 ตัวอย่างพิธีกรรมเสนเฮือนโดยหมอเสนในห้องกะล้อห่อง

         ประเภทของการเสนที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิต
         การเสนเป็นการแสดงถึงความกตัญญูของลูกหลานที่มีต่อปู่ย่าตายาย ผู้รู้ได้จัดแบ่งประเภทการเสนต่างกันมากบ้างน้อยบ้างไม่เท่ากัน ทั้งนี้เป็นเพราะในแต่ละท้องถิ่นการจัดพิธีเสนเป็นไปตามความเชื่อถือที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นการเฉพาะเรื่อง เฉพาะกรณี ยกตัวอย่างเช่น (กานต์ทิตา, 2558)
         1. เสนเรียกขวัญหรือเสนขึ้นเสื้อ เป็นการเสนเพื่อให้ผู้ที่กําลังเจ็บป่วยให้หายจากอาการป่วยไข้และเพื่อให้ผีหรือเทวดาช่วยนำขวัญผู้ป่วยที่ตกหาย ณ ที่ใดให้กลับมาสู่ตัว
         2. เสนรับผีมด เป็นพิธีเสนให้ผีแม่มด หมายถึง หมอหญิงที่ทําพิธี หรือที่เรียกว่า “ครูมด” มาอยู่ด้วย เป็นพิธีการรับมอบหรือครอบครูแก่ผู้รับหน้าที่เป็นแม่มดคนใหม่ หลังจากที่คนเดิมได้สอนความรู้ในเรื่องพิธีการแก่แม่มดคนนั้นแล้ว
         3. เสนฆ่าเกือด คือ พิธีฆ่าแม่เดิมของเด็กเมื่อแรกเกิด เพราะแม่เดิมจะคอยติดตามเด็กที่เกิดมาทําให้เด็กคนนั้นเจ็บป่วย แล้วก็ตาย จึงต้องทําพิธีเสนฆ่าแม่เดิม เด็กคนนั้นจึงจะมาสุขภาพแข็งแรงปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
         4. เสนกวัดไกว หรือ เสนกวัดกว้าย เป็นพิธีเสนปัดกวาดให้สิ่งที่ชั่วร้ายออกไปจากเรือนพิธีปัดรังควานเนื่องจากบ้านนั้นมีคนตายจึงเรียกว่า เฮือนฮ้าย เมื่อจัดศพผู้ตายไปแล้ว ต้องจัดพิธีเสนกวัดกว้ายหลังจากเผาศพไปแล้ว 1 เดือน โดยการเชิญแม่มดมาทําพิธีไล่สิ่งร้ายออกไปจากบ้านเรือให้บ้านบริสุทธ์ พ้นจากเคราะห์และจากและจากทุกข์โศก
         5. เสนปาดตง หรือ เสนป้าดตง คือ การนําเครื่องเซ่นไหว้ไปให้ผีเรือนของตนกินทุก 10 วัน ที่ห้องกะล้อห่อง วันที่จัด ป้าดตง เรียกว่า มื้อ เวนตง เป็นการเซ่นไหว้อย่างธรรมดา ต่างกับพิธีเสนและพิธีเซ่นป้าดตงข้าวใหม่
         พิธีแปงขวัญ
         การแปงขวัญ หรือ การเรียกขวัญ คือ การเรียกขวัญของตนเองให้กลับคืนมา โดยการจัดทําพิธีอ้อนวอนแถนหรือผู้เป็นใหญ่ในเมืองฟ้า ให้ปล่อยขวัญกลับคืนมา มีการไถ่ขวัญด้วยสิ่งแลกเปลี่ยน การขับกลอนเทวดาด้วยเครื่องดนตรีและการไต่ถามด้วยการนับเมล็ดข้าวสารหรือทอดไม้คว่ําหงาย เป็นต้น ชาวไทยทรงดํามีความเชื่อว่า ผีขวัญเป็นผีที่อยู่ในร่างกายของแต่ละคนเป็นมิ่งขวัญของเรือนร่างประดุจดังพี่เลี้ยงของร่างกาย ตัวอย่างผีขวัญ เช่น เด็กเล็ก ๆ ปวดหัว ตัวร้อนนอเป็นไข่ ฝันละเมอไม่ได้สติขณะที่ป่วย หรือเกิดอาการตกใจ จนทําให้ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อไปเช่นนี้ก็หมายความว่าผีขวัญลองลอยไปในที่ต่างๆ นอนหลับฝันไม่ดีแสดงว่าผีขวัญไม่อยู่กับตัวเที่ยวเตร่ไปโดยไม่รู้ที่อยู่ในกรณีเช่นนี้ผู้นั้นจะต้องเรียกขวัญเพื่อให้กลับคืนมาอยู่กับตัวเหมือนเดิม

การแบ่งขวัญแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

         1) แปงเด็ก เครื่องพิธีได้แก่ข้าวสุกปากหม้อ ไข่ต้ม โดยหมอขวัญทําพิธีเรียกขวัญให้กลับมาอยู่ในตัวเด็ก จบแล้วใช้เส้นด้ายผูกข้อมือ และให้กินข้าวกับไข่ต้มในปานขวัญนั้น
         2) แปงขวัญคนโสดหรือคนทั่วไป เครื่องพิธีได้แก่ข้าวสุกปากหม้อ ไก่ต้ม 1 ตัว เหล้า 1 ขวด พิธีกรรมคล้ายการแปงขวัญเด็ก
         3) แปงขวัญผู้สูงอายุ เครื่องพิธีได้แก่ข้าวสุกปากหม้อ หัวหมูต้มสุก 1 หัว เหล้า 1 ขวด หมากพลูบุหรี่ใส่ปานขวัญ ผู้ทำพิธีต้องเป็นผู้ได้เรียนรู้การแปงขวัญเรียกว่าต้องมีครูอาจาร จึงจะทําพิธีได้
         ขั้นตอนการแปงขวัญ
         พิธีจะเริ่มตอนเย็น ประมาณ 16.00 น. เป็นต้นไป ผู้จะเข้าพิธีแปงขวัญนั่งต่อหน้าผู้ทําพิธี ญาติพี่น้องนั่งล้อมวงห่างๆ หมอขวัญเป็นได้ทั้งชายและหญิง หมอขวัญจะถือห่อเสื้อผ้าของผู้เข้าพิธีสะพายถุงหลา ถุงหลามีสิ่งต่อไปนี้คือ ห่อข้าว 10 ห่อ ห่อปลา 9 ห่อ และห่อไก่ ส่วนมืออีกข้างหนึ่งถือสวิง 1 ปาก และมืออีกข้างหนึ่งถือไต้ที่จุดไฟหรือท่อนฟืนที่จุดไฟ จากนั้นหมอขวัญจะกล่าวเรียกขวัญให้มาอยู่กับตัวผู้เข้าพิธีถ้าขวัญหายหรือ ขวัญหนีไปจากที่ใด เมื่อขวัญเข้ามาถึง หมอขวัญจะมอบห่อเสื้อผ้าให้กับผู้ทําพิธีนั้น แล้วผูกด้ายที่ข้อมือ หลังจากนั้นจัดเลี้ยงอาหารแก่ญาติที่มาร่วมพิธีเป็นเสร็จพิธีแปงขวัญ
ภาพที่ 7 หมอขวัญซ้อนขวัญ.jpg

ภาพที่ 7 (ก) หมอขวัญช้อนขวัญที่หน้าบ้าน

ภาพที่ 7 หมอขวัญทำพิธี.jpg

ภาพที่ 7 (ข) หมอขวัญทำพิธีเชิญขวัญ

ภาพที่ 7 หมอขวัญทำพิธีแปงขวัญ.jpg

ภาพที่ 7 (ค) หมอขวัญมอบเหล้า มอบเสื้อผ้า และผูกข้อมือให้ผู้เข้าพิธี

         พิธีแต่งงาน
         การแต่งงาน หรือเรียกว่า งานกินดอง หรือ งานกินหลอง หมายความว่า งานเลี้ยงเพื่อความเกี่ยวดองเป็นญาติกัน ชายหนุ่มหญิงสาวเมื่อมีความรักใคร่ชอบพอถึงขั้นแต่งงานกัน ฝ่ายชายก็จะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอหญิงสาวจากพ่อแม่ฝ่ายหญิง เรียกว่า ไปโอ้โลม สิ่งของที่เตรียมไป คือ ห่อหมากพลูบุหรี่ 2 ชุด พร้อมทั้งหญิงสาว 2 คน ซึ่งเป็นผู้ถือหอหมากพลูนั้น ทั้งเท่าแก่ และหญิงสาวต้องสวมใส่เสื้อฮีให้เรียบร้อยถูกต้องตามประเพณี ถ้าเจรจาตกลง ก็จะนัดหมายทําการหมั้น หรือจะนัดหมายแต่งงานกันก็ได้
         ขั้นตอนการแต่งงาน การแต่งงานแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน คือ ส่อง สู่ สา ส่ง 
         1) ขั้นส่องหรือขั้นหมั้น เมื่อทําพิธีเสร็จแล้ว ฝ่ายชายจะไปเยี่ยมฝ่ายหญิงได้เป็นครั้งคราว เรียกว่า “ไปหยามห่อมะปู” คือ ไปเยี่ยมเยียนห่อหมากพลูของหมั้นของฟากที่บ้านหญิง หรือวิธีการไปพบกับคนรัก
         2) ขั้นสู่ คือ การที่ฝ่ายชายไปมาหาสู่ฝ่ายหญิง
         3) ขั้นสา คือ ฝ่ายชายไปทํางานรับใช้อยู่บ้านฝ่ายหญิงเป็นเวลา 1-5 ปี กรณีที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงจะไม่เรียกสินสอดทองหมั้น ฝ่ายชายจึงต้องไปอาสาทํางานรับใช้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นการทดแทน
         4) ขั้นส่ง คือ พิธีส่งตัวเจ้าสาวให้เจ้าบ่าวในวันแต่งงาน
         การไหว้พ่อแม่เจ้าสาว เมื่อเจ้าบ่าวไหว้พ่อแม่เจ้าสาว ผู้นําไหว้เจ้าบ่าวจะกล่าวนําว่า “องปอ เอ นอ ข้อยผู้ลุข่มต้าว แอวไหว้เฮา เอาแฝบ เจ้าเป็นปอข้อยนา” แปลว่า ท่านพ่อ ข้าพเจ้าผู้ลูกมาคุกเข่าท้าวเอวไหว้ด้วยความเคารพ ต่อไปนี้ท่านเป็นพ่อแม่เจ้าของข้าพเจ้าแล้ว พ่อแม่ของเจ้าสาวก็จะกล่าวให้ศีลให้พรว่า ขอให้อายุมั่นขวัญยืน ทํามาค้าขึ้นมีเงินทองะเป็นผัวเมียกันมั่นคง มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง ฝ่ายเจ้าบ่าวกล่าวรับ อุ้มให้หัวปัว (พร) ใส่เกล้า จะอยู่กันจนแก่เฒ่า
         พิธีงานศพ
         ไทยทรงดําถือว่าการตายเป็นเรื่องสําคัญมาก เมื่อมีการตาย ญาติพี่น้องผีเดียวกันจะหยุดทํางานทุกอย่าง เพื่อเป็นการไว้ทุกข์ และช่วยกันจัดการเกี่ยวกับประเพณีงานศพนั้น เรียกว่า “กําบ้าน กําเมือง” และถือเป็นความโศกเศร้าจนกว่าจะนําศพไปเผาแล้วจึงจะมีการทํางานปกติได้ ไทยทรงดํามีความเชื่อถือบรรพบุรุษอย่างเคร่งครัดมีความเชื่อว่าคนตายเป็นผีแล้วสามารถให้คุณให้โทษแก่แก่สามีภรรยา หรือบุตรธิดา ญาติพี่น้องได้ พ่อแม่ตายไปแล้วจึงต้องเป็นผีประจําบ้าน เรียกว่าผีบ้านผีเรือน จดชื่อไว้ในบัญชีประจําบ้านเรียกว่า ปับผีเรือน แต่ละครั้งที่มีการเซ่นไหว้เพื่อเลี้ยงผีเรือน ต้องอ่านปับผีเรือนเรียกให้มารับเครื่องเซ่นนั้นที่ละชื่อ ผีที่จะเชิญ  ต้องเป็นผีที่ตายดีคือ เจ็บป่วยไข้ตาย แก่หมดอายุและตายในบ้านส่วนผีที่ตายนอกบ้าน หรือ ตายเพราะอุบัติเหตุต่างๆ เรียกว่าผีตายโหง จึงไม่มีรายชื่อที่ปับผีเรือน
         ตามประเพณีดั้งเดิมไม่มีพิธีกรรมทางพุทธศาสนา  เมื่อมีคนตายก็จะนำศพไปเผาที่ป่าช้า บรรดาญาติพี่น้อง เพื่อนบ้านจะพากันนุ่งดำไปบ้านคนตายร้องห่มร้องไห้ไว้อาลัย สมัยก่อนจะตั้งศพไว้เพียง 1 คืน ต่อมาได้เปลี่ยนแปลงไปอาจตั้งศพไว้ 2 – 3 คืน ตามฐานะ มีการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรมเทศน์แจง ทอดผ้าบังสุกุล ฯลฯ เป็นต้น วันเคลื่อนศพไปเผาจะมีพิธีบอกทางผู้ตายโดยหมอพิธีเรียกว่า “เขือย” เขือยจะทำพิธีบอกทางเพื่อให้วิญญาณผู้ตายเดินทางกลับไปบ้านเกิดเมืองนอน คือ เมืองแถน ได้ถูกต้อง พอเขือยบอกทางเสร็จให้ยกหีบศพหันขวางกับขื่อบ้าน จากนั้นเป็นพิธีช้อนขวัญ ให้ลูกหลานเดินรอบศพจากซ้ายไปขวา 3 รอบ แล้วเดินออกตรงทางออก ระหว่างเดินออกตรงทางออกจะมีหญิงชราถือสวิง ซึ่งภายในสวิงมีเสื้อผ้าของลูกหลานที่เดินวน เดินทำท่าช้อนไปมาเพื่อช้อนขวัญของผู้ที่เดินรอบไม่ให้หนีเตลิดไปตามผู้ตาย เมื่อเดินครบจะมีญาติผู้ใหญ่ยืนคอยรอรับเป็นแถวอยู่ 2 ข้างทาง ต่างจับมือถือแขนฉุดออกจากการเดินวนเป็นการรับขวัญให้มาอยู่กับตน แล้วหยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน ตอนบ่ายเคลื่อนศพไปป่าแฮว (ป่าช้า) หรือฌาปนสถาน

บทสรุป[แก้ไข]

         จากการศึกษาค้นคว้า และสอบถามข้อมูลจากคนในชุมชนไทยทรงดำบ้านท่าช้าง ตำบลคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ทำให้ทราบว่าการดำรงความเป็นปึกแผ่นของสังคมชาวไทยทรงดำให้มีกรอบของจารีตประเพณีที่เป็นแบบแผนในการจัดระเบียบที่ถูกต้องดีงามในวิถีชีวิตอยู่ที่เรื่องของประเพณีที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อในการนับถือผี เป็นความเชื่อแบบวิญญาณนิยมที่มีอิทธิพลสำคัญต่อประเพณีทั้งที่เป็นรูปธรรมและที่เป็นสัญลักษณ์แทนแนวความคิดแบบนามธรรม ซึ่งความเชื่อเรื่องผีและความเชื่อเรื่องขวัญ แสดงออกผ่านทางพิธีกรรมในรอบชีวิตตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย จากความเชื่อที่ว่าผีแถนเป็นผู้สร้างมนุษย์ และให้มีขวัญของแต่ละคน ความเชื่อและพิธีกรรมทำให้ชุมชนไทยทรงดำยังคงดำรงอยู่หากแต่พิธีกรรมบางอย่าง ที่สืบทอดมาตั้งแต่อดีต ถูกสังคมสมัยใหม่เข้ามาแทนที่สังคมในแบบเก่า เมื่อเด็กรุ่นใหม่ใส่ใจน้อยลงและคนเฒ่าก็เริ่มหย่อนยานในเรื่องของประเพณี ประกอบกับชีวิตที่ต้องแข่งขันในการประกอบอาชีพ ต้องการรายได้ที่มากกว่าเป็นสภาพสังคมที่ไม่ใช่ชีวิตแบบสมัยโบราณ โดยปัจจุบันมีกลุ่มคณะกรรมการประเพณีและวัฒนธรรมไทยทรงดำของชุมชนที่ยังคงพยายามดำรงและรักษาขนบประเพณีไว้ให้ดำรงอยู่เพื่อสืบทอดไปยังรุ่นลูกหลานต่อไปอย่างยั่งยืน