ประเพณีทอดผ้าป่าแถวของจังหวัดกำแพงเพชร
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:49, 23 ธันวาคม 2563 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม)
บทนำ
ทอดผ้าป่าเป็นประเพณีและเป็นมรดกตกทอดมาแต่สมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้าจีวรจากคฤหัสถ์ ให้ใช้แต่ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) เท่านั้น ชาวบ้านมักเรียกว่า ผ้าป่า เนื่องจากเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ ทิ้งอยู่ตามที่ต่างๆ ตามกองขยะ หรือพันห่อศพไว้และต้องนำมาซัก เย็บ ย้อมเป็นสบง จีวรหรือสังฆาฏิให้เสร็จภายในระยะเวลา 10 วัน ถ้าเกินกำหนดต้องสละผ้านับเป็นความยากลำบากแก่ภิกษุสงฆ์อย่างยิ่ง นอกจากนี้ผ้าห่อศพมักจะหาได้ยากเพราะเป็นศพคนจน ผ้าที่จะพันห่อศพ ก็ไม่ค่อยมีชาวบ้านที่มีผ้าป่าสามัคคีศรัทธาเห็นความยากลำบากของพระภิกษุจึงหาทางช่วย โดยนำผ้าไปทิ้งไว้ตามทางที่พระท่านเดินผ่านไปมาเป็นประจำ หรือทิ้งตามกองขยะ หรือนำไปห่อศพไว้ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้พระภิกษุจะไม่ยอมรับผ้านั้น จึงมีผู้นิยมทำตามกันมาจนเป็นประเพณี จนกระทั่งพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับจีวรจากคฤหัสถ์ได้ แต่ยังทรงสรรเสริญพระสงฆ์ผู้ถือผ้าบังสุกุลอยู่ ทำให้พระภิกษุทั้งหลายประสงค์จะรับผ้าบังสุกุลจีวรอีก การทอดผ้าป่าจึงยังคงมีอยู่และเป็นมรดกตกทอดกันมาทุกวันนี้ แต่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังที่เห็นในปัจจุบัน แม้จะมีผ้าไตรสำเร็จรูปขาย และชาวบ้านไม่ได้นำไปทิ้งไว้ตามป่าตามทางดังในสมัยพุทธกาล แต่ยังคงธรรมเนียมไว้บ้างโดยการนำกิ่งไม้มาปักในกระถางหรือภาชนะอื่น แล้วนำผ้าที่จะถวายผูกแขวนไว้ บางทีก็ทำเป็นโครงรูปต่างๆ ภายในใส่เครื่องบริขารหรือสิ่งที่ต้องการจะถวายพระ เช่น ทำเป็นรูปผี รูปศพต่างๆ เป็นต้น ฤดูกาลของการทอดผ้าป่าไม่ได้กำหนดระยะเวลาลงไปจะทอดในฤดูไหน เดือนไหน สุดแต่ชาวบ้านจะศรัทธาเลื่อมใส ส่วนใหญ่มักจะทำในระยะจวนจะออกพรรษาหรือช่วงออกพรรษาแล้ว อีกอย่างหนึ่งนิยมทำรวมกันกับขบวนกฐิน คือ เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็ทอดผ้าป่าหรือทอดตามรายทางเป็นหลายสิบวัดก็ได้ วิธีการทอดผ้าป่านั้น เมื่อนำผ้าป่าไปถึงวัดแล้ว พึงตั้งใจถวายโดยไม่เฉพาะเจาะจง วางของไว้จะจุดธูปเทียนหรือไม่ก็ได้ ส่งอาณัติสัญญาณให้พระท่านรู้ว่ามีผ้าป่า หรือจะทำพิธีเงียบๆ เจ้าภาพจะรอดูจนกว่าพระท่านมาชักผ้าป่าหรือไม่ก็ได้ พึงถวายผ้าป่าโดยกล่าวคำถวาย อย่างไรก็ตามการถวายผ้าป่าโดยมากมักจะมีผ้าสำหรับพระสงฆ์อยู่ด้วยผืนหนึ่งหรือมากกว่า บางครั้งจะเห็นมีแต่เครื่องบริขารซึ่งมักมีผ้าเช็ดหน้าทำเป็นรูปชะนีแขวนอยู่ด้วย คงจะให้มีลักษณะเป็นป่า แต่เมื่อนำไปทอดมักจะหาซื้อผ้าสำหรับพระสงฆ์ด้วยเสมอ
ภาพที่ 1 บรรยากาศการทอดผ้าป่าสามัคคี
(ที่มา : กรมศิลปากร, 2557)
ผ้าป่ามีหลายชนิด มักเรียกตามลักษณะของผ้าป่า เช่น ผ้าป่าหางกฐิน คือ การทอดผ้าป่าหลังทอดกฐิน ผ้าป่าสามัคคี ร่วมกันเป็นหมู่คณะ หรือทำขึ้นเพื่อรวมทุนจัดสร้างถาวรวัตถุในวัด ผ้าป่าโยง มีเจ้าภาพเดียว หรือหลายเจ้าภาพ ส่วนมากบรรทุกเรือแห่ไปทางนํ้าทอดตามวัดวาอารามต่างๆ เป็นต้น ในปัจจุบันงานศพบางแห่งนิยมถวายผ้าบังสุกุลวางไว้บนหีบศพ พระสงฆ์ขึ้นมาสวดคำบาลีสั้นๆ แล้วชักผ้าไป กรรมวิธีนี้เรียกว่า ชักผ้าบังสุกุลหรือชักผ้าป่า จัดรวมเข้าในการทอดผ้าป่าตามปรกติ มีวิธีการทอดผ้าป่าที่พิเศษอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า ทอดผ้าป่าผีตาย คือ แทนที่จะเอาผ้าไตรวางไว้บนหีบศพ แต่กลับให้ศพเป็นผู้ถือผ้าไตร โดยวิธีเอาศพผูกไว้กับกระดานหก แล้วนิมนต์พระมาเหยียบกระดานหก ศพก็จะยืนขึ้นหรือลุกขึ้นนั่งก็แล้วแต่การจัดศพให้นั่งหรือยืน พระสงฆ์จะรับผ้าจากมือศพ กรรมวิธีนี้ต้องทำในป่าช้าและต้องให้พระเข้าไปรับผ้าไตรทีละรูป ส่วนญาติพี่น้องดูอยู่ห่างๆ เพื่อป้องกันคนมาขโมยผ้าไปเท่านั้น ดูน่ากลัวอยู่สักหน่อย บางแห่งไม่ใช้ศพจริงๆ แต่ทำเป็นรูปร่างให้เหมือนศพจริงๆ ซึ่งก็น่ากลัวเช่นกัน การทอดผ้าป่าแบบนี้ถือว่าได้บุญกุศลมากทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามการทอดผ้าป่าแบบผีตายนี้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงห้ามเพราะมีคนกลั่นแกล้งพระทำให้ตกใจสุดขีดจนถึงมรณภาพ ในปัจจุบันการทอดผ้าป่าโดยส่วนใหญ่จะเป็นการชักชวนกันเพื่อรวบรวมทุนทรัพย์สร้างสิ่งต่างๆ ได้แก่ ถาวรวัตถุในวัด ถนน โรงเรียน โรงพยาบาล และอื่นๆ (กรมศิลปากร, 2557)
อานิสงส์การทอดผ้าป่า
เชื่อกันว่าการทำบุญทอดผ้าป่าโดยไม่เฉพาะเจาะจงผู้รับมีอานิสงส์อันแรงกล้า ดังมีเรื่องเล่าว่าเทพบุตรตนหนึ่งรู้ตัวเองว่าจะหมดบุญและจุติจากสวรรค์ มีราศรีเศร้าหมองไม่อภิรมย์ในทิพยสมบัติ จึงแสวงหาวิธีที่จะต่ออายุให้อยู่ในสรวงสวรรค์อีกนานๆ จึงไปเฝ้าพระอินทร์เล่าเรื่องความทุกข์ให้ฟังพระอินทร์แนะนำว่า ให้แสวงหาพระสงฆ์สาวกพระพุทธเจ้าที่กำลังจะออกจากนิโรธสมาบัติแล้วให้นำผ้าป่าไปถวายจะสามารถต่ออายุได้อีก เทพบุตรตนนั้นรู้ว่าวันนี้พระสารีบุตรจะออกจากนิโรธสมาบัติจึงนำผ้าทิพย์คลุกฝุ่นแล้วจำแลงตนเป็นคนยากจนนำผ้าไปพาดกิ่งไม้เฉพาะหน้าที่พระสารีบุตรจะผ่านไปมองเห็นได้ พระสารีบุตรทราบด้วยญาณว่าคนยากจนที่นำผ้ามาพาดกิ่งไม้หมายจะให้ท่านอธิษฐานนำไปตัดเย็บจีวรนั้นเป็นเทพบุตรจึงตำหนิว่าไม่ควรทำอย่างนั้นเป็นการเอาเปรียบคนยากจนที่น่าสงสารคนอื่นๆ เรื่องเล่าอีกว่า ถ้าใครได้ทำบุญกับพระสาวกที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติตั้งจิตปรารถนาสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น แต่ท่านจะโปรดได้เฉพาะผู้ทำบุญรายแรกเพียงรายเดียวเท่านั้น (รัตนา สวัสดิผล, 2550)
ประวัติและความเป็นมาประเพณีการทอดผ้าป่าแถวของจังหวัดกำแพงเพชร
ประเพณีการทอดผ้าป่าแถวของจังหวัดกำแพงเพชร มีประวัติย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ยังไม่ได้มีพุทธานุญาตให้ภิกษุรับจีวรจากชาวบ้านได้ ภิกษุทั้งหลาย จึงต้องเที่ยวไปเก็บผ้าที่เจ้าของเขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าเปรอะเปื้อน ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) หรือผ้าห่อศพ ตามป่าช้า หรือตามป่าทั่วไป แล้วนำผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านั้น มาซักเย็บปะติดปะต่อกัน แล้วย้อมเป็นสบงจีวรสังฆาฏิตามต้องการ ด้วยเหตุนี้การทำจีวรของพระภิกษุในครั้งนั้น จึงต้องช่วยกันทำหลายรูป และการที่มีพุทธานุญาตให้คนตัดเย็บจีวรเป็นขันธ์ อย่างกระทงนาของชาวมคธ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาปะติดปะต่อกันนั่นเอง เวลาต่อมาชาวบ้านเห็นความยากลำบากของพระสงฆ์ แต่จะนำผ้าไปถวายโดยตรงไม่ได้เพราะยังมิได้มีพุทธานุญาต ผู้มีศรัทธาจึงนำผ้าไปทิ้งไว้ในป่าช้า และตามที่ต่างๆ ที่ไม่ไกลจากกุฏิพระภิกษุ เพื่อให้พระภิกษุไปพบเล้วนำเอาไปทำจีวรได้ตามประสงค์ อนึ่ง ก่อนจะเกิดการ “ทิ้งผ้าตามป่า” มีตำนานพุทธศาสนาในพระธรรมบทขุททกนิกายสคถาวรรค เรื่อง นาคเพทธิดาถวายผ้าป่าแก่พระอนุรุทธเถระว่า คราวหนึ่งพระอนุรุทธเถระผู้เป็นอรหันต์เที่ยวหาบังสุกุลจีวรตามแนวป่า เดินเข้าไปในป่าด้วยใจหวังว่าจะได้พบผ้าสักผืนหนึ่ง ขณะที่พระอนุรุทธรำพึงเช่นนั้น เทพธิดานางหนึ่งซึ่งชาติก่อนเคยเป็นภรรยาของพระอนุรุทธมีศรัทธาปรารถนาจะถวายผ้าบังสุกุลแก่ท่าน จึงนำผ้าทิพย์ลงมาพาดไว้ที่ต้นไม้เตี้ยๆ ต้นหนึ่ง ระหว่างทางที่พระเถระจะเดินผ่าน เมื่อพบเหตุเช่นนั้น พระอนุรุทธแสดงความประหลาดใจ และเมื่อปรารภความถึงเจ้าของไม่มีแล้ว ท่านจึงอธิษฐานเป็นผ้าบังสุกุล การทอดผ้าป่า รวมทั้งการประดับประดาองค์ผ้าป่าด้วยกิ่งไม้ เอาผ้าทำเป็นรูปลิง ค่าง บ่าง ชะนี หรือผีเปรต ก็เป็นการอุปมาดังกล่าว
ภาพที่ 2 อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
(ที่มา : สันติ อภัยราช, 2540)
ภาพที่ 3 ประเพณีทอดผ้าป่าแถว ณ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
(ที่มา : สันติ อภัยราช, 2540)