ประเพณีทอดผ้าป่าแถวของจังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         ทอดผ้าป่าเป็นประเพณีและเป็นมรดกตกทอดมาแต่สมัยพุทธกาลเมื่อครั้งที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับผ้าจีวรจากคฤหัสถ์ ให้ใช้แต่ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) เท่านั้น ชาวบ้านมักเรียกว่า ผ้าป่า เนื่องจากเป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของ ทิ้งอยู่ตามที่ต่างๆ ตามกองขยะ หรือพันห่อศพไว้และต้องนำมาซัก เย็บ ย้อมเป็นสบง จีวรหรือสังฆาฏิให้เสร็จภายในระยะเวลา 10 วัน ถ้าเกินกำหนดต้องสละผ้านับเป็นความยากลำบากแก่ภิกษุสงฆ์อย่างยิ่ง นอกจากนี้ผ้าห่อศพมักจะหาได้ยากเพราะเป็นศพคนจน ผ้าที่จะพันห่อศพ ก็ไม่ค่อยมีชาวบ้านที่มีผ้าป่าสามัคคีศรัทธาเห็นความยากลำบากของพระภิกษุจึงหาทางช่วย โดยนำผ้าไปทิ้งไว้ตามทางที่พระท่านเดินผ่านไปมาเป็นประจำ หรือทิ้งตามกองขยะ หรือนำไปห่อศพไว้ เพราะถ้าไม่ทำเช่นนี้พระภิกษุจะไม่ยอมรับผ้านั้น จึงมีผู้นิยมทำตามกันมาจนเป็นประเพณี จนกระทั่งพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุรับจีวรจากคฤหัสถ์ได้ แต่ยังทรงสรรเสริญพระสงฆ์ผู้ถือผ้าบังสุกุลอยู่ ทำให้พระภิกษุทั้งหลายประสงค์จะรับผ้าบังสุกุลจีวรอีก
         การทอดผ้าป่าจึงยังคงมีอยู่และเป็นมรดกตกทอดกันมาทุกวันนี้ แต่ได้เปลี่ยนแปลงไปดังที่เห็นในปัจจุบัน แม้จะมีผ้าไตรสำเร็จรูปขาย และชาวบ้านไม่ได้นำไปทิ้งไว้ตามป่าตามทางดังในสมัยพุทธกาล แต่ยังคงธรรมเนียมไว้บ้างโดยการนำกิ่งไม้มาปักในกระถางหรือภาชนะอื่น แล้วนำผ้าที่จะถวายผูกแขวนไว้ บางทีก็ทำเป็นโครงรูปต่างๆ ภายในใส่เครื่องบริขารหรือสิ่งที่ต้องการจะถวายพระ เช่น ทำเป็นรูปผี รูปศพต่างๆ เป็นต้น
         ฤดูกาลของการทอดผ้าป่าไม่ได้กำหนดระยะเวลาลงไปจะทอดในฤดูไหน เดือนไหน สุดแต่ชาวบ้านจะศรัทธาเลื่อมใส ส่วนใหญ่มักจะทำในระยะจวนจะออกพรรษาหรือช่วงออกพรรษาแล้ว อีกอย่างหนึ่งนิยมทำรวมกันกับขบวนกฐิน คือ เมื่อทอดกฐินเสร็จแล้วก็ทอดผ้าป่าหรือทอดตามรายทางเป็นหลายสิบวัดก็ได้
         วิธีการทอดผ้าป่านั้น เมื่อนำผ้าป่าไปถึงวัดแล้ว พึงตั้งใจถวายโดยไม่เฉพาะเจาะจง วางของไว้จะจุดธูปเทียนหรือไม่ก็ได้ ส่งอาณัติสัญญาณให้พระท่านรู้ว่ามีผ้าป่า หรือจะทำพิธีเงียบๆ เจ้าภาพจะรอดูจนกว่าพระท่านมาชักผ้าป่าหรือไม่ก็ได้ พึงถวายผ้าป่าโดยกล่าวคำถวาย
         อย่างไรก็ตามการถวายผ้าป่าโดยมากมักจะมีผ้าสำหรับพระสงฆ์อยู่ด้วยผืนหนึ่งหรือมากกว่า บางครั้งจะเห็นมีแต่เครื่องบริขารซึ่งมักมีผ้าเช็ดหน้าทำเป็นรูปชะนีแขวนอยู่ด้วย คงจะให้มีลักษณะเป็นป่า แต่เมื่อนำไปทอดมักจะหาซื้อผ้าสำหรับพระสงฆ์ด้วยเสมอ
ภาพที่ 1 บรรยากาศการทอดผ้าป่า.jpg

ภาพที่ 1 บรรยากาศการทอดผ้าป่าสามัคคี

(ที่มา : กรมศิลปากร, 2557)

         ผ้าป่ามีหลายชนิด มักเรียกตามลักษณะของผ้าป่า เช่น ผ้าป่าหางกฐิน คือ การทอดผ้าป่าหลังทอดกฐิน ผ้าป่าสามัคคี ร่วมกันเป็นหมู่คณะ หรือทำขึ้นเพื่อรวมทุนจัดสร้างถาวรวัตถุในวัด ผ้าป่าโยง มีเจ้าภาพเดียว หรือหลายเจ้าภาพ ส่วนมากบรรทุกเรือแห่ไปทางนํ้าทอดตามวัดวาอารามต่างๆ เป็นต้น ในปัจจุบันงานศพบางแห่งนิยมถวายผ้าบังสุกุลวางไว้บนหีบศพ พระสงฆ์ขึ้นมาสวดคำบาลีสั้นๆ แล้วชักผ้าไป กรรมวิธีนี้เรียกว่า ชักผ้าบังสุกุลหรือชักผ้าป่า จัดรวมเข้าในการทอดผ้าป่าตามปรกติ มีวิธีการทอดผ้าป่าที่พิเศษอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า ทอดผ้าป่าผีตาย คือ แทนที่จะเอาผ้าไตรวางไว้บนหีบศพ แต่กลับให้ศพเป็นผู้ถือผ้าไตร โดยวิธีเอาศพผูกไว้กับกระดานหก แล้วนิมนต์พระมาเหยียบกระดานหก ศพก็จะยืนขึ้นหรือลุกขึ้นนั่งก็แล้วแต่การจัดศพให้นั่งหรือยืน พระสงฆ์จะรับผ้าจากมือศพ กรรมวิธีนี้ต้องทำในป่าช้าและต้องให้พระเข้าไปรับผ้าไตรทีละรูป ส่วนญาติพี่น้องดูอยู่ห่างๆ เพื่อป้องกันคนมาขโมยผ้าไปเท่านั้น ดูน่ากลัวอยู่สักหน่อย บางแห่งไม่ใช้ศพจริงๆ แต่ทำเป็นรูปร่างให้เหมือนศพจริงๆ ซึ่งก็น่ากลัวเช่นกัน การทอดผ้าป่าแบบนี้ถือว่าได้บุญกุศลมากทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามการทอดผ้าป่าแบบผีตายนี้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงห้ามเพราะมีคนกลั่นแกล้งพระทำให้ตกใจสุดขีดจนถึงมรณภาพ
         ในปัจจุบันการทอดผ้าป่าโดยส่วนใหญ่จะเป็นการชักชวนกันเพื่อรวบรวมทุนทรัพย์สร้างสิ่งต่างๆ ได้แก่ ถาวรวัตถุในวัด ถนน โรงเรียน โรงพยาบาล และอื่นๆ (กรมศิลปากร, 2557)

อานิสงส์การทอดผ้าป่า[แก้ไข]

         เชื่อกันว่าการทำบุญทอดผ้าป่าโดยไม่เฉพาะเจาะจงผู้รับมีอานิสงส์อันแรงกล้า ดังมีเรื่องเล่าว่าเทพบุตรตนหนึ่งรู้ตัวเองว่าจะหมดบุญและจุติจากสวรรค์ มีราศรีเศร้าหมองไม่อภิรมย์ในทิพยสมบัติ จึงแสวงหาวิธีที่จะต่ออายุให้อยู่ในสรวงสวรรค์อีกนานๆ จึงไปเฝ้าพระอินทร์เล่าเรื่องความทุกข์ให้ฟังพระอินทร์แนะนำว่า ให้แสวงหาพระสงฆ์สาวกพระพุทธเจ้าที่กำลังจะออกจากนิโรธสมาบัติแล้วให้นำผ้าป่าไปถวายจะสามารถต่ออายุได้อีก เทพบุตรตนนั้นรู้ว่าวันนี้พระสารีบุตรจะออกจากนิโรธสมาบัติจึงนำผ้าทิพย์คลุกฝุ่นแล้วจำแลงตนเป็นคนยากจนนำผ้าไปพาดกิ่งไม้เฉพาะหน้าที่พระสารีบุตรจะผ่านไปมองเห็นได้ พระสารีบุตรทราบด้วยญาณว่าคนยากจนที่นำผ้ามาพาดกิ่งไม้หมายจะให้ท่านอธิษฐานนำไปตัดเย็บจีวรนั้นเป็นเทพบุตรจึงตำหนิว่าไม่ควรทำอย่างนั้นเป็นการเอาเปรียบคนยากจนที่น่าสงสารคนอื่นๆ เรื่องเล่าอีกว่า ถ้าใครได้ทำบุญกับพระสาวกที่เพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติตั้งจิตปรารถนาสิ่งใดก็จะได้สิ่งนั้น แต่ท่านจะโปรดได้เฉพาะผู้ทำบุญรายแรกเพียงรายเดียวเท่านั้น (รัตนา สวัสดิผล, 2550)

ประวัติและความเป็นมาประเพณีการทอดผ้าป่าแถวของจังหวัดกำแพงเพชร[แก้ไข]

         ประเพณีการทอดผ้าป่าแถวของจังหวัดกำแพงเพชร มีประวัติย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ยังไม่ได้มีพุทธานุญาตให้ภิกษุรับจีวรจากชาวบ้านได้ ภิกษุทั้งหลาย จึงต้องเที่ยวไปเก็บผ้าที่เจ้าของเขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าเปรอะเปื้อน ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) หรือผ้าห่อศพ ตามป่าช้า หรือตามป่าทั่วไป แล้วนำผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านั้น มาซักเย็บปะติดปะต่อกัน แล้วย้อมเป็นสบงจีวรสังฆาฏิตามต้องการ
         ด้วยเหตุนี้การทำจีวรของพระภิกษุในครั้งนั้น จึงต้องช่วยกันทำหลายรูป และการที่มีพุทธานุญาตให้คนตัดเย็บจีวรเป็นขันธ์ อย่างกระทงนาของชาวมคธ ก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาปะติดปะต่อกันนั่นเอง เวลาต่อมาชาวบ้านเห็นความยากลำบากของพระสงฆ์ แต่จะนำผ้าไปถวายโดยตรงไม่ได้เพราะยังมิได้มีพุทธานุญาต ผู้มีศรัทธาจึงนำผ้าไปทิ้งไว้ในป่าช้า และตามที่ต่างๆ ที่ไม่ไกลจากกุฏิพระภิกษุ เพื่อให้พระภิกษุไปพบเล้วนำเอาไปทำจีวรได้ตามประสงค์
         อนึ่ง ก่อนจะเกิดการ “ทิ้งผ้าตามป่า” มีตำนานพุทธศาสนาในพระธรรมบทขุททกนิกายสคถาวรรค เรื่อง นาคเพทธิดาถวายผ้าป่าแก่พระอนุรุทธเถระว่า คราวหนึ่งพระอนุรุทธเถระผู้เป็นอรหันต์เที่ยวหาบังสุกุลจีวรตามแนวป่า เดินเข้าไปในป่าด้วยใจหวังว่าจะได้พบผ้าสักผืนหนึ่ง ขณะที่พระอนุรุทธรำพึงเช่นนั้น เทพธิดานางหนึ่งซึ่งชาติก่อนเคยเป็นภรรยาของพระอนุรุทธมีศรัทธาปรารถนาจะถวายผ้าบังสุกุลแก่ท่าน จึงนำผ้าทิพย์ลงมาพาดไว้ที่ต้นไม้เตี้ยๆ ต้นหนึ่ง ระหว่างทางที่พระเถระจะเดินผ่าน เมื่อพบเหตุเช่นนั้น พระอนุรุทธแสดงความประหลาดใจ และเมื่อปรารภความถึงเจ้าของไม่มีแล้ว ท่านจึงอธิษฐานเป็นผ้าบังสุกุล การทอดผ้าป่า รวมทั้งการประดับประดาองค์ผ้าป่าด้วยกิ่งไม้ เอาผ้าทำเป็นรูปลิง ค่าง บ่าง ชะนี หรือผีเปรต ก็เป็นการอุปมาดังกล่าว
ภาพที่ 2 อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร.jpg

ภาพที่ 2 อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

(ที่มา : สันติ อภัยราช, 2540)

ภาพที่ 3 ประเพณีทอดผ้าผ่าแถว.jpg

ภาพที่ 3 ประเพณีทอดผ้าป่าแถว ณ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

(ที่มา : สันติ อภัยราช, 2540)

กิจกรรมและพิธี[แก้ไข]

         เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ชาวบ้านแต่ละครัวเรือนจะจัดหากิ่งไม้ 1 กิ่ง เทียนไขหรือเทียนขี้ผึ้งก็ได้ 1 ดอก และ ผ้า 1 ผืน จะเป็นผ้าสบง หรือจัดให้ครบไตรจีวรเลยก็ได้ หรืออาจจะใช้ผ้าอื่นๆ เช่น ผ้าห่ม หรือ ผ้าเช็ดตัวก็ได้ ของสามอย่างอันได้แก่ กิ่งไม้ เทียน และผ้านี้นับว่าสำคัญที่สุด ขาดมิได้
         สำหรับการทอดผ้าป่าแถวนอกจากของ 3 อย่างแล้ว ก็จะจัดเครื่องไทยทานธรรมตามกำลังศรัทธา และทุนทรัพย์ เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ บริขารของใช้ต่างๆ ที่จำเป็นแก่พระภิกษุสงฆ์ บรรจุในชะลอม กระชุ กระบุงหรือภาชนะอื่นๆ ที่เห็นสมควร บางรายอาจจะตกแต่งภาชนะบรรจุบริขารต่างๆ เหล่านั้นเป็นรูปวิจิตรบรรจงมากมายหลายแบบ ทำเป็นรูปช้างบ้าง รูปศพผีตายบ้างก็มีบางรายเอาผ้าเช็ดหน้าหรือผ้าขนหนูผืนเล็กพับเป็นรูปชะนีห้อยไว้ที่กิ่งไม้ด้วย บางรายเอาธนบัตรห้อยประดับเพิ่มเข้าไปอีกก็มีส่วนทางวัดก็จะจัดเตรียมสถานที่ จัดทำสลากรายนามพระภิกษุทั้งวัด รวมทั้งจากพระวัดอื่นๆ ที่นิมนต์มาร่วมด้วย นอกจากนั้นยังร่วมกับกรรมการวัดและชาวบ้านที่มีฐานะดี จัดหามหรสพต่างๆ เช่นลิเก ภาพยนตร์ ดนตรี ฯลฯ มาเตรียมไว้แสดงในค่ำคืนนั้นด้วย ครั้นตกกลางคืน เริ่มตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป ชาวบ้านนำองค์ผ้าป่าแถวที่เตรียมไว้มาจัดแจงปักกิ่งไม้ของตนลงในบริเวณลานวัดที่จัดไว้ ให้เป็นแถวเป็นระเบียบเรียบร้อย เสร็จแล้วเอาผ้าพาดไว้   บนกิ่งไม้ เอาเครื่องไทยธรรมวางไว้ใต้กิ่งไม้ เมื่อตั้งแถวผ้าป่าเรียบร้อยแล้ว อาจเตรียมตัวไปชมมหรสพต่างๆ เป็นการฆ่าเวลาเสียก่อนพอถึงเวลาอันสมควร ทายกวัดจะป่าวร้องให้เจ้าของผ้าป่าไปจับสลากรายนามพระภิกษุเมื่อได้รับรายนามพระภิกษุแล้ว เจ้าของผ้าป่าจะเอามากลัดติดไว้กับผ้าที่ห้อยอยู่บนกิ่งไม้ของตน   แล้วจุดเทียนปักไว้ใกล้ๆ ผ้าให้พอมองเห็นสลากนามพระภิกษุมาชักผ้าของตน
         ถึงตอนนี้ลูกศิษย์พระจะจุดเทียน มาเที่ยวส่องหาชื่อพระอาจารย์ตน เพื่อจะจำไว้ว่าได้ผ้าป่ากี่กอง และอยู่ตรงไหนบ้างเมื่อเวลาชักผ้าจะได้นำอาจารย์ของตนไปถูก ส่วนพระบางรูปที่ไม่มีลูกศิษย์ก็ต้องรอให้ถึงเวลาชักผ้า แล้วเดินมาหาเอาเอง
         พิธีชักผ้าป่าก็จะเริ่มเวลาประมาณ 21.00-22.00 น. เมื่อได้เวลาทายกจะเคาะระฆังเป็นสัญญาณนิมนต์พระ มหรสพจะหยุดชั่วคราว ประชาชนที่มาในงานจะอยู่ในความสงบสำรวม พระภิกษุทุกรูปจะครองจีวรมือถือตาลปัตรเดินตามแสงเทียนของลูกศิษย์ ออกไปชักผ้าตามรายนามของท่าน ตามวิธีที่พุทธศาสนาบัญญัติไว้ มองดูเหลืองอร่ามเต็มลานวัดเบื้องล่าง ท่ามกลางแสงเดือนเพ็ญเหลือง ลอยทรงกลดอันสวยงามอยู่บนฟ้าเบื้องสูงยิ่งนักโดยเฉพาะการทอดผ้าป่าแถวที่วัดบาง และวัดพระบรมธาตุนั้น ทุกปีจะมีกองผ้าป่ามาตั้งมากมายมหาศาล จนลานวัดอันกว้างใหญ่ดูแคบลงทันที พระภิกษุทุกรูปรวมทั้งพระที่ได้รับนิมนต์มาจากวัดใกล้เคียง ต่างได้รับถวายผ้าป่ากันรูปละหลายกอง จนขนเครื่องไทยธรรมกลับวัดแทบไม่ไหว หลังจากพระภิกษุชักผ้าป่าเรียบรอยแล้ว ลูกศิษย์จะขนเครื่องไทยธรรมกลับกุฏิหรือกลับวัด ส่วนพระภิกษุทุกรูปจะไปนั่งรวมกันเป็นระเบียบ ณ ที่ที่ทางวัดจัดไว้ แล้วให้ศีลเจริญพระพุทธมนต์ อวยชัยให้พร อนุโมทนาแก่ผู้บริจาคผ้าป่า เป็นเสร็จพิธีทอดผ้าป่าสิ้นเสียงพระสงฆ์ มหรสพต่างๆ จะแสดงต่อทันที ถึงตอนนี้ชาวบ้านบางกลุ่มจะเตร็ดเตร่ไปเลือกชมมหรสพที่ตนพอใจ แต่บางกลุ่มก็จะเดินออกจากวัดไปหน้าเมืองสู่ริมแม่น้ำปิง และชักชวนกันลอยกระทงลงบนสายน้ำ โดยคนกำแพงเพชรรุ่นเก่าถือคติในการลอยกระทงว่า เพื่อสักการบูชาแด่พระมหาเถรอุปคุตเจ้าซึ่งสถิต ณ ใจกลางทะเลหลวง อันแปลกไปจากคติของท้องถิ่นต่างๆ บ้าง แต่ในปัจจุบันคตินี้คงเลือนไปแล้ว จะเห็นว่าประเพณีการทอดผ้าป่าแถวของกำแพงเพชรนั้น แปลกกว่าการทอดผ้าป่าธรรมดา หรือการทอดผ้าป่าในท้องถิ่นอื่นๆ ด้วยเหตุว่า ทำกันมาเป็นประเพณีโดยมีต้องนัดหมาย หากพร้อมใจกันนำมาทอดในวันลอยกระทง มีผลทำให้มีคนมาร่วมงานเป็นอันมาก เพราะได้รับความสนุกสนานบันเทิงไปพร้อมกันด้วย และทำให้วันลอยกระทงในท้องถิ่นนี้มีความหมายยิ่งขึ้น

ความสำคัญของประเพณี[แก้ไข]

         เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนจะได้ถวายเครื่องนุ่งห่มและไทยธรรม เป็นเครื่องบูชาแด่พระสงฆ์ก่อนจะทำพิธีลอยกระทงบูชาพระพุทธบาทตามคติความเชื่อแต่โบราณ ในอดีต เนื่องจากในเขตชุมชนเมืองกำแพงเพชร มีวัดสำคัญ 3 วัด คือ วัดบาง วัดคูยาง วัดเสด็จ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการจัดพิธีบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ชาวเมืองจึงนัดหมายกันประกอบพิธีบุญใหญ่หมุนเวียนกันไปตามวัดทั้ง 3 วัด เมื่อกำหนดประกอบพิธีบุญใหญ่ในวัดใด ก็จะนิมนต์พระสงฆ์จากวัดอื่นอีก 2 วัดมาร่วมประกอบพิธีกันในคราวเดียว
         แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชาวเมืองกำแพงเพชรในการจัดการให้เกิดความสะดวกแก่การประกอบพิธีบุญร่วมกัน และส่วนของความสนุกสนานก็นับว่าเป็นกุศโลบายนำเด็กและเยาวชนให้รู้จักและสืบทอดประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นต่อไป
         การอนุรักษ์ โดยการปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าแก่นสาระและความสำคัญของ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ สร้างจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้น เพื่อแสดงสภาพชีวิตและความเป็นมาของชุมชน อันจะสร้างความรู้และความภูมิใจในชุมชนท้องถิ่นด้วย
ภาพที่ 4 การทอดผ้าป่าแถว.jpg

ภาพที่ 4 การทอดผ้าป่าแถว ณ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

(ที่มา : สันติ อภัยราช, 2540)

แนวทางในการอนุรักษ์ประเพณีผ้าป่าแถว[แก้ไข]

         ประเพณี วัฒนธรรม และภูมิปัญญาของสังคมไทยเราก็มีหลายอย่างนะค่ะ แล้วแต่ละอย่างก็อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน แต่ทว่าปัจจุบัน สิ่งต่างๆเหล่านี้กับเลือนหายไปพร้อมกับมีเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาแทนที่ จึงทำให้ผู้คนไม่เห็นความสำคัญ เราก็เป็นคนไทยคนหนึ่งที่ไม่อยากให้ประเพณีเหล่านั้นสูญหาย แต่วิธีอนุรักษ์ก็มีหลายๆอย่างแตกต่างกันออกไปนะ เช่น
         1. การค้นคว้าวิจัยควรศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลภูมิปัญญาของไทยในด้านต่างๆ ของท้องถิ่น จังหวัด ภูมิภาค และประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิปัญญาที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น มุ่งศึกษาให้รู้ความเป็นมาในอดีต และสภาพการณ์ในปัจจุบัน
         2. การอนุรักษ์ โดยการปลุกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าแก่นสาระและความสำคัญของภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมตามประเพณีและวัฒนธรรมต่างๆ สร้างจิตสำนึกของความเป็นคนท้องถิ่นนั้นๆ ที่จะต้องร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น รวมทั้งสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นหรือพิพิธภัณฑ์ชุมชนขึ้น เพื่อแสดงสภาพชีวิตและความเป็นมาของชุมชน อันจะสร้างความรู้และความภูมิใจในชุมชนท้องถิ่นด้วย
         3. การฟื้นฟู โดยการเลือกสรรภูมิปัญญาที่กำลังสูญหาย หรือที่สูญหายไปแล้วมาทำให้มีคุณค่าและมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในท้องถิ่น โดยเฉพาะพื้นฐานทางจริยธรรม คุณธรรม และค่านิยม
         4. การพัฒนา ควรริเริ่มสร้างสรรค์และปรับปรุงภูมิปัญญาให้เหมาะสมกับยุคสมัยและเกิดประโยชน์ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยใช้ภูมิปัญญาเป็นพื้นฐานในการรวมกลุ่มการพัฒนาอาชีพควรนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาช่วยเพื่อต่อยอดใช้ในการผลิต การตลาด และการบริหาร ตลอดจนการป้องกันและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ภาพที่ 5 การทอดผ้าป่าแถว.jpg

ภาพที่ 5 บรรยากาศการทอดผ้าป่าแถว ณ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

(ที่มา : สันติ อภัยราช, 2540)

         5. การถ่ายทอด โดยการนำภูมิปัญญาที่ผ่านมาเลือกสรรกลั่นกรองด้วยเหตุและผลอย่างรอบคอบและรอบด้าน แล้วไปถ่ายทอดให้คนในสังคมได้รับรู้ เกิดความเข้าใจ ตระหนักในคุณค่า คุณประโยชน์และปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม โดยผ่านสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา และการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ 
         6. ส่งเสริมกิจกรรม โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายการสืบสานและพัฒนาภูมิปัญญาของชุมชนต่างๆ เพื่อจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง
         7. การเผยแพร่แลกเปลี่ยน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง โดยให้มีการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ด้วยสื่อและวิธีการต่างๆ อย่างกว้างขวาง รวมทั้งกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
         8. การเสริมสร้างปราชญ์ท้องถิ่น โดยการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน ผู้ดำเนินงานให้มีโอกาสแสดงศักยภาพด้านภูมิปัญญา ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ มีการยกย่องประกาศเกียรติคุณในลักษณะต่างๆ

บทสรุป[แก้ไข]

         ประเพณีการทอดผ้าป่าแถวของจังหวัดกำแพงเพชร มีประวัติย้อนไปถึงสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ยังไม่ได้มีพุทธานุญาตให้ภิกษุรับจีวรจากชาวบ้านได้ ภิกษุทั้งหลาย จึงต้องเที่ยวไปเก็บผ้าที่เจ้าของเขาทิ้งแล้ว เช่น ผ้าเปรอะเปื้อน ผ้าบังสุกุล (ผ้าเปื้อนฝุ่น) หรือผ้าห่อศพ ตามป่าช้า หรือตามป่าทั่วไป แล้วนำผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหล่านั้น มาซักเย็บปะติดปะต่อกัน
         ในอดีต กระทำเฉพาะในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 (วันลอยกระทง) ณ วัดบาง ปัจจุบัน กระทำในวันขึ้น15 ค่ำ เดือน 12 (วันลอยกระทง)  ณ วัดบาง และในงานประเพณีนบพระเล่นเพลง  ณ วัดพระแก้ว อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร สำหรับการทอดผ้าป่าแถวนอกจากของ 3 อย่างแล้ว ก็จะจัดเครื่องไทยทานธรรมตามกำลังศรัทธาและทุนทรัพย์ เช่น ข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ บริขารของใช้ต่างๆ ที่จำเป็นแก่พระภิกษุสงฆ์ บรรจุในชะลอม กระชุ กระบุงหรือภาชนะอื่นๆ
         แสดงถึงความสามัคคีและความพร้อมเพรียงเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชาวเมืองกำแพงเพชรในการจัดการให้เกิดความสะดวกแก่การประกอบพิธีบุญร่วมกัน และส่วนของความสนุกสนานก็นับว่าเป็นกุศโลบายนำเด็กและเยาวชนให้รู้จักและสืบทอดประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นต่อไป