ฐานข้อมูล เรื่อง ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:23, 12 เมษายน 2565 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "=='''ข้อมูลทั่วไป'''== ศาลหลักเมืองจังหวัดกำแพงเพชร เป็...")
เนื้อหา
ข้อมูลทั่วไป
ศาลหลักเมืองจังหวัดกำแพงเพชร เป็นศาลที่เก่าแก่มานานกว่า 700 ปี สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) เชื่อกันว่าพระเจ้าวรมันต์ (เหม่) ผู้เรืองอำนาจเป็นผู้ก่อสร้างขึ้น ทำด้วยศิลาแลงรูปกลมยาวประมาณ 2 เมตร ฝังโผล่พ้นดินขึ้นมาประมาณ 1 เมตร มีรูปเศียรเทพารักษ์อยู่บนยอดศิลาแลง(สำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร, ม.ป.ป.) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังคาศาลได้พังลงมาทับเสาหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ หลังจากนั้นก็อยู่ในสภาพรกร้างมาเป็นเวลานานจนถึงปี พ.ศ. 2472 รองอำมาตย์เอกหลวงมนตรีราช (หวาน) อัยการจังหวัดกําแพงเพชรได้ริเริ่มสร้างศาลหลักเมืองขึ้นใหม่โดยเป็นศาลาทรงไทย การบูรณะ"ศาลหลักเมือง" มีเหตุการณ์ระบุว่า ในปี พ.ศ. 2488 ได้มีผู้ลักตัดเศียรเทพารักษ์ไป หลวงปริวรรตวรวิจิตร (จันทร์ เจริญชัย) ผู้ว่าราชการจังหวัดกําแพงเพชรได้ให้ทำขึ้นใหม่ด้วยดินจากยอดเขาสูงสุดของเขาหลวง ดินใจกลางโบสถ์ใจกลางเจดีย์เก่าทั้งในจังหวัดกําแพงเพชร สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลก และตาก(สำนักงานเทศบาลเมืองกำแพงเพชร, 2555) ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดกำแพงเพชร ที่ชาวจังหวัดกำแพงเพชรให้ความนับถือ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวจังหวัดกำแพงเพชรและจังหวัดใกล้เคียงมาหลายชั่วอายุคน ผู้ใดที่ประสบปัญหาอุปสรรค์ในการดำเนินชีวิต ก็มักไปบนบานศาลกล่าว ขอให้เจ้าพ่อหลักเมืองช่วยเหลือคุ้มครอง ซึ่งก็มักจะได้สมใจดังปรารถนาจนเป็นที่เลื่องลือ เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป ดังนั้น จึงมีผู้มาบนและขอแก้บนเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน จากความศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว ที่มีความเชื่อว่าการสร้างศาลหลักเมืองว่า ก่อนสร้างหลักเมืองได้ขุดหลุมกลางใจเมือง โดยทางการจะมีการป่าวประกาศหาคนชื่อ อิน จัน มั่น คง เมื่อได้บุคคลที่มีชื่อดังกล่าว จะนำบุคคลทั้งสี่คนมาไว้ที่ก้นหลุมและฝังเสาหลักเมืองลงทับร่างทั้งสี่ เพื่อให้เป็น ผีเฝ้าหลักเมืองเป็นเทพารักษ์ประจำเมือง เป็นปีศาลคุ้มครองเมือง เป็นประเพณีในการก่อสร้างเมืองทุกเมืองโดยตลอด นับว่าทั้งสี่ท่านคือ อิน จัน มั่น และคง เป็นผู้เสียสละชีวิต เพื่อมาพิทักษ์บ้านเมืองของเรา กลายมาเป็นเจ้าพ่อหลักเมืองในที่สุด เชื่อกันว่า เมืองกำแพงเพชรน่าจะสร้างพร้อมๆ กับเมืองสุโขทัยและมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง ทางทิศใต้ของสุโขทัย สังเกตได้จากแนวกำแพงสามชั้น ซึ่งเรียกว่าตรีบูรเหมือนสุโขทัยหรือร่วมสมัยกันกับสุโขทัย เจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสุโขทัย เดิมทำด้วยศิลาแลง รูปกลมยาวประมาณ 2 เมตรฝังโผล่ขึ้นดินมาประมาณหนึ่งเมตรเศษ มีรูปเศียรเทพารักษ์ อยู่บนยอดศิลาแลง เชื่อกันว่าคือเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองน่าจะร้าง เหมือนโบราณสถานทั่วไป พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นกำแพงเพชร ทรงบันทึกไว้ว่าออกจากวัด ไปที่หลักเมือง ซึ่งอยู่มุมท้ายวัดอยู่ระหว่างวัดกับวัง ทรงบันทึกเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2449 ไว้เพียงเท่านี้(สำนักงานเทศบาลเมืองกำแพงเพชร, 2555) ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะสักการะขอพรเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย ของหายอยากได้คืน รวมทั้งเสริมสิริมงคลในเรื่องความมั่นคงของชีวิต ด้วยเชื่อกันว่าศาลหลักเมืองกำแพงเพชรนั้นเป็นสิ่งที่พ้องกับความมั่นคงไม่หวั่นไหวเสริมจิตใจให้เข้มแข็ง(สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร, 2561)
ชื่อเรียก
• ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร • ศาลเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชร • พระหลักเมืองกำแพงเพชร • เจ้าหมื่นขุนศรีวรจักร
ศาสนา
• พราหมณ์ • พุทธ
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่บริเวรวัดพระแก้วมรตกับพระราชวังเดิม(สระมน) ทางออกไปประตูสะพานโคม เส้นทางไปอำเภอพรานกระต่ายและจังหวัดสุโขทัย (องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร, ม.ป.ป.) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข101 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร กำแพงเพชร 62000
ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์
ละติจูด 16.4897694 ลองจิจูด 99.5160717
หน่วยงานที่ดูแลรักษา
คณะกรรมการศาลเจ้าหลักเมืองกำแพงเพชร
สถานการณ์ขึ้นทะเบียน
ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นศาลเจ้าตามกฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้าพ.ศ.2463 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2528 โดยมีนายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชรเป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้าโดยตำแหน่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการทั่วไป และแต่งตั้งผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้า ให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจตรากิจการอันเกี่ยวกับศาลเจ้าทุกประการ(สันติ อภัยราช, 2544, หน้า 93)
วัน/เดือน/ปีก่อสร้าง
สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) เมื่อประมาณ 700 ปีก่อน
ข้อมูลจำเพาะ
ประวัติความเป็นมา
ความเป็นมาของศาลหลักเมือง ประเพณีไทยแต่โบราณมา เมื่อจะมีการสร้างเมืองใหม่ขึ้น ณ ที่ใดก็ตาม สิ่งที่จะต้องทำเป็นประการแรกก็คือ หาฤกษ์ยามอันดีสำหรับฝังเสาหลักเมือง หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการสร้างบ้านสร้างเมืองกันต่อไป ดังที่ในหนังสือรู้ รักภาษาไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน อธิบายว่า หลักเมืองถือเป็นส่วนสำคัญของเมือง โดยตั้งเสาเป็นเครื่องหมายเพื่อแสดงว่าจะสร้างเมืองที่ตรงนั้นอย่างแน่นอน เช่น หลักเมืองกรุงเทพมหานครอยู่ข้างกระทรวงกลาโหม เยื้องกับพระบรมมหาราชวัง เสาหลักเมือง หมายถึง เสาที่สร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์ของเมือง มักทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ เสาหลักเมืองถือเป็นใจของเมือง เป็นที่สถิตของเทพยดาผู้ปกปักพิทักษ์บ้านเมือง มีธรรมเนียมว่าก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลักเมืองในที่ที่เป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น เมื่อแรกสร้างกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ทรงทำพิธีตั้งเสาหลักเมืองขึ้นก่อน ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ว่า “…จึ่งดำรัสสั่งให้พระยาธรรมาธิกรณ์กับพระยาวิจิตรนาวี เป็นแม่กองคุมช่างและไพร่ ไปวัดกะที่สร้างพระนครใหม่ข้างฝั่งตะวันออก ได้ตั้งพิธียกเสาหลักเมือง เมื่อ ณ วันอาทิตย์เดือนหกขึ้นสิบค่ำ ฤกษ์เพลาย่ำรุ่งแล้ว 54 นาที…” ส่วนคำว่า ศาลหลักเมือง หมายถึง สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของเสาหลักเมืองและเป็นที่สถิตของเทพยดาผู้พิทักษ์เมืองซึ่งเรียกว่าพระเสื้อเมืองพระทรงเมือง ที่ปลายเสาหลักเมืองจะบรรจุดวงชะตาเมืองและเทวรูปที่เรียกกันว่า เจ้าพ่อหลักเมือง และมีพิธีประกาศอัญเชิญเทพเจ้าเข้าประดิษฐานในเทวรูปด้วย เพื่อให้ช่วยคุ้มครองป้องกันสรรพไพรีไม่ให้มาย่ำยีพระนครและพระราชอาณาจักร ส่วนด้านทิศเหนือของศาลก็เป็นที่ประดิษฐานเทพารักษ์ทั้งห้า คือ เจ้าพ่อหอกลอง เจ้าพ่อเจตคุปต์ พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง และพระกาฬไชยศรี ศาลหลักเมืองจึงเป็นสถานที่สิงสถิตของเทพเจ้าผู้มีมเหศักดิ์ คอยดูแลปกป้อง คุ้มครองบ้านเมืองและประชาชน (กนกวรรณ ทองตะโก, 2557) การสร้างศาลหลักเมือง ในสมัยโบราณถือว่าพิธีสร้างพระนคร หรือสร้างบ้านสร้างเมือง ต้องฝังอาถรรพ์ 4 ประตูเมือง ต้องฝังเสาหลักเมืองและเสามหาปราสาท ต้องเอาคนที่มีชีวิต ฝังในหลุมทั้งเป็น เพื่อให้เป็นผู้เฝ้าทวารมหาปราสาทบ้านเมือง ป้องกันอริราชศัตรู มิให้โรคภัยไข้เจ็บเกิดแก่เจ้าฟ้ามหากษัตริย์ผู้ครองบ้านเมือง ในการทำพิธีดังกล่าว ต้องเอาคนที่ชื่อ อิน จัน มั่น คง มาฝังลงหลุมจึงจะศักดิ์สิทธิ์ มีการดูฤกษ์ยามเพื่อค้นหาคน วิธีการก็คือ ระหว่างที่นายนครวัฒเที่ยวเรียกชื่อ อิน จัน มั่น คง ไปนั้น ใครขานรับขึ้นมาก็จะถูกนำตัวไปฝังในหลุม หลุมเสาหลักเมืองนั้นจะผูกเสาคานขนาดใหญ่ ชักขึ้นเหนือหลุมนั้นในระดับสูงพอสมควร โยงไว้ด้วยเชือกสองเส้นหัวท้าย ให้เสาหรือซุงนั้นแขวนอยู่ตามแนวนอน ส่วนเสาหลักเมืองนั้นจะถูกแขวนให้เป็นแนวตั้ง ครั้นถึงวันที่กำหนดจะกระทำการ ก็มีการเลี้ยงดูผู้เคราะห์ร้ายนั้นให้อิ่มหนำสำราญ แล้วแห่แหนนำไปที่หลุมนั้น พระเจ้าแผ่นดินก็มีรับสั่งให้บุคคลทั้งหมดนั้นเฝ้าประตูเมืองไว้ มีการแจ้งข่าวให้ประชาชนรู้กันให้ทั่ว เมื่อมีคนมาชุมนุมกันมากพอเพื่อเป็นสักขีพยาน และพอถึงเวลาตามฤกษ์ ก็จะตัดเชือกปล่อยให้เสาหล่นลงมาทับคนที่ถูกเลือกให้อยู่ในหลุมตราบชั่วนิรันดร คนโบราณเชื่อว่าผู้เคราะห์ร้ายเหล่านั้น จะกลายสภาพเป็นอารักษ์จำพวกที่เรียกว่า ผีราษฎร์ และคนธรรมดาที่ร่ำรวยก็จะใช้วิธีนี้แก่ทาสของตน เพื่อใช้ให้เป็นผีเฝ้าขุมทรัพย์ที่ตนฝังซ่อนไว้ อย่างในสมัยของพม่า การสร้างเมืองใหม่ของพม่า ลักษณะของเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยม จึงมีกำแพงกั้นสี่ด้าน แต่ละด้านมีประตูเมือง 3 ประตู รวมทั้งหมด 12 ประตูด้วยกัน การฝังอาถรรพ์ต้องใช้คนเป็นๆฝังตามประตูเมือง ประตูละ 3 คน และเฉพาะใต้พระที่นั่งในท้องพระโรงต้องฝังถึง 4 คน คนที่ถูกฝังทั้งเป็นเพื่อให้เป็นผีคอยรักษาเมืองและพระราชวังนั้น ต้องเลือกคนให้ได้ตามลักษณะที่โหรพราหมณ์กำหนด จะไม่ใช้นักโทษที่ต้องโทษประหาร แต่จะเป็นคนที่อยู่ในวัยต่างๆกัน ตั้งแต่คนที่อายุมาก จนถึงเด็กผู้หญิงและผู้ชาย ทุกคนต้องมีฐานะเป็นที่ยกย่องในกลุ่มชน และต้องเกิดตามที่โหรกำหนด ถ้าเป็นชายต้องไม่มีรอยสัก เป็นหญิงต้องไม่เจาะหู เมื่อถูกนำตัวมาก็ให้สั่งเสียร่ำราญาติพี่น้อง แล้วก็จะถูกนำตัวไปลงหลุม ญาติพี่น้องก็จะได้รับพระราชทานรางวัล หรือยศถาบรรดาศักดิ์ (สันติ อภัยราช, 2544, หน้า 91)
ภาพที่ 1 ศาลหลักเมืองกำพงเพชร
กำแพงเพชรเป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองเจริญก้าวหน้ามาแต่โบราณกาล เท่าที่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามศิลาจารึกต่างๆ ก็ปรากฏความรุ่งเรืองมาในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลิไท เคยเสด็จมาปกครองเมืองกำแพงเพชร และยังคงมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์เหลืออยู่คือ อุทยานประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน(สันติ อภัยราช, 2544, หน้า 91) ในบริเวณพระราชวังของกำแพงเพชร ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์นั้น ปรากฏมีศาลหลักเมืองอยู่ศาลหนึ่ง เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวจังหวัดกำแพงเพชร และจังหวัดใกล้เคียงมาก ศาลหลักเมืองแห่งนี้เชื่อกันว่าก่อสร้างมาแต่สมัยพระเจ้าลิไททรงปกครองเมืองกำแพงเพชรทำด้วยศิลาแลงรูปทรงกลมยาวประมาณ 2 เมตร ฝั่งโผล่ดินประมาณ 1 เมตรเศษ มีรูปเศียรเทพารักษ์โผล่อยู่บนยอดศิลาแลง ซึ่งประชาชนทั่วไปนับถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลหลักเมืองแห่งนี้มีร่องรอยปรับปรุงหลายครั้ง แต่เดิมไม่ปรากฏแน่ชัดว่าอาคารศาลหลักเมืองทำด้วยอะไรแต่เขตปริมณฑลฝังด้วยศิลาแลง 4 เหลี่ยมจัตุรัสแต่ละด้านหันเกือบจะตรงกับทิศทั้งสี่ ก่อนมีการปรับปรุงขึ้นใหม่ เท่าที่ปรากฏหลักฐาน คือ เมื่อ พ.ศ.2472 หลวงมนตรีราช ได้สร้างศาลขึ้นใหม่เป็นรูปศาลทรงไทย หันหน้าขนานไปกับถนนสาย กำแพงเพชร-พรานกระต่าย (ซึ่งไม่ตรงกับทิศทั้งสี่) ต่อมาปรากฏว่า เศียรเทพารักษ์เดิมได้สูญหายไป ในปี พ.ศ. 2488 หลวงปริวรรต วรวิจิตร (จันทร์ เจริญชัย) ข้าหลวงประจำจังหวัดสมัยนั้น ได้มอบหมายให้ นายฉกาจ กุลสุ (ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่) ปั้นเศียรเทพารักษ์ขึ้นใหม่ ด้วยดินจากยอดสูงสุดของเขาหลวง ดินจากใจกลางโบสถ์กลางเจดีย์เก่าทั้งในจังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลกและตาก ต่อมาปรากฏว่า กรมทางหลวงได้ปรับปรุงขยายถนนสายกำแพงเพชร-พรานกระต่ายให้มีระดับสูงกว่าศาลหลักเมืองเดิมเป็นอันมาก ประกอบกับตัวอาคาร ศาลหลักเมืองเดิมคับแคบ ทรุดโทรมวางทิศไม่ตรงตามหลักโหราศาสตร์ คือไม่ตรงตามทิศทั้งสี่ นายเชาวน์วัด สุดลาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร จึงได้มีการปรับปรุง ศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ (สันติ อภัยราช, 2544, หน้า 93) พ.ศ.2526 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลหลักเมือง โดย นายเชาวน์วัศ สุลดาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากศาลหลักเมืองฯ ทรุดโทรมมาก ขาดความเป็นสง่าราศี จึงมอบหมายให้ นายประมวล รุจนเสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ปรับปรุงเป็นอาคารจัตุรมุข พร้อมเขตปริมณฑลกว้าง 17.5 x 17.5 เมตร สูงจากระดับเดิมประมาณ 19 เมตร หันหน้าเข้าหาทิศทั้งสี่ถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นหินอ่อนทรายล้างสีศิลาแลง โดยใช้เงินบริจาคของชาวเมืองกำแพงเพชรทั้งสิ้น (สันติ อภัยราช, 2544, หน้า 93) พ.ศ.2527 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ประกอบพิธีเจิมเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2527 และมีพิธีเชิญหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2527 (สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกําแพงเพชร, 2561)
พิธีอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองขึ้นศาล
วันที่ 5 พฤษภาคม 2527
ก่อน 05.00 น. | จัดเครื่องสังเวยพร้อม |
05.09 น. | - บูชาแม่พระธรณี เจ้าที่ เทพารักษ์ ดวงวิญญาณพระเจ้าวรมันต์ (เหม่ ) |
- นำลูกนิมิตลงหลุม (ผวจ., รอง ผวจ., นายอำเภอ และ ป.หน.กิ่งอำเภอโปรยข้าวตอกดอกไม้) | |
05.29 น. | - ผวจ. จุดเทียนชัย รอง ผวจ.จุดเทียนบูชาเทพ |
- เริ่มพิธีบวงสรวง เทพ-พรหม (พิณพาทบรรเลงเพลงสาธุการ) | |
-เจิมเสาหลักเมือง เศียรเทพารักษ์ ผูกผ้าสี ถวายพวงมาลัยเสาหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ | |
05.45 น. | - ผวจ.จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล รับศีล |
06.01- 06.09 น. | - เชิญเสาหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์เข้าที่ (ผู้เชิญประกอบด้วย ผวจ., รอง ผวจ., นายอำเภอ และ ป.หน.กิ่งอำเภอ) พระสงฆ์สวดชยันโต พินพาท บรรเลงเพลงสาธุการ |
- อัญเชิญเทพารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครองศาลหลักเมือง | |
- ผวจ., รอง ผวจ., นายอำเภอ และ ป.หน.กิ่งอำเภอ จุดธูปบูชาเครื่องสังเวย | |
- เวียนเทียน 3 รอบ (ผู้เข้าร่วมพิธีใช้มือขวาแตะข้อศอกขวาของผู้เชิญเทียนต่อๆ กันล้อมรอบ ศาลหลักเมือง) | |
- เจ้าพิธีเป่าเทียน (พินพาทรัว 3 ลา) | |
- โปรยทาน | |
- รำบวงสรวง | |
- ลาเครื่องสังเวย | |
08.09 น. | - พระสงฆ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ |
- ถวายสังฆทาน | |
- ถวายเครื่องไทยธรรม |
(สมชาติ บุญนวน, 2527, หน้า 7)