บุคคลสำคัญ ปราชญ์ชาวบ้าน แทงหยวก อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ

ประเทศไทยมีวัฒนธรรมและประเพณีอันเก่าแก่ที่สืบทอดต่อกันมานานนับหลายร้อยปี กาลเวลาอาจพัดพาให้วัฒนธรรมและประเพณีบางอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เหมาะสมกับความสะดวกส่วนบุคคล เวลาและความต้องการของสังคมไปบ้างอีกทั้งกระแสของสังคมโลกผันแปรไปตามยุคสมัย ความนิยมกระแสต่างๆจากต่างประเทศที่เข้ามาพร้อมกับเทคโนโลยีอันทันสมัย เข้ามามีบทบาททำให้ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ฯลฯ ของคนไทยเปลี่ยนไปอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากกระแสละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ที่ออกอากาศทางวิทยุโทรทัศน์ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก หัวใจของการพัฒนามรดกทางวัฒนธรรมให้ยั่งยืนนั้นคือ “การศึกษา” (education) ซึ่งความสนุกของละคร ที่ได้รับความนิยมคือการสร้างมายาคติของความสมจริงซึ่งผู้ชมในยุคสมัยใหม่สามารถเข้าถึงได้หรือมีจุดขายซึ่งโยงเข้าหาตนเอง เช่น ตัวละครที่มีนิสัยและมุมมองสมัยใหม่ แต่เข้าไปเรียนรู้และซึมซับวัฒนธรรมและศิลปะในอดีต ในขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดสังคมในอดีตให้สมจริงโดยการเน้นมิติที่หลากหลายทั้งด้านดีและด้านเสียของธรรมเนียมประเพณีและประวัติศาสตร์ (พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา, 2561) จากกระแสบุพเพสันนิวาสฟีเวอร์ทำให้คนไทยหันมาสนใจประวัติศาสตร์ ขนมธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของไทยเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทำให้หวลคิดถึงศิลปวัฒนธรรมอันดีที่บรรพบุรุษสืบทอดมายังคนรุ่นหลังเป็นจำนวนมาก บางอย่างเกือบจะสูญหายไปแล้ว

         งานศิลปหัตถกรรมการแทงหยวกเป็นงานที่มีความสวยงามมีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมเป็นงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นเป็นภูมิปัญญาที่สั่งสมมานาน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะให้ความสนใจศึกษาแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อก่อให้เกิดรายได้ในครัวเรือนและชุมชน ช่างแทงหยวกจะต้องศึกษาและพัฒนารูปแบบลวดลายอุปกรณ์ที่ใช้ในการแทงหยวก ตลอดจนวิธีการและขั้นตอนการดำเนินงานทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอทำให้ครัวเรือนและชุมชนมีความยั่งยืนต่อไป (วีระ ขำดวง, 2551 หน้า 1)  
         อำเภอพรานกระต่ายเป็นอำเภอเก่าแก่ในจังหวัดกำแพงเพชร มีภาษาถิ่นและเขตพื้นที่ติดต่อกับจังหวัดสุโขทัยซึ่งเคยเป็นราชธานี ทำให้วัฒนธรรมโบราณหลากหลายด้านปรากฏขึ้นที่อำเภอแห่งนี้ แม้แต่ศิลปะช่างสิบหมู่อย่างการแทงหยวก ก็ยังคงหลงเหลือผู้สืบสานต่อจากบรรพบุรุษ บทความนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาชีวประวัติช่างแทงหยวกและรวบรวมวิธีการทำการแทงหยวกของชาวอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ นายธรรมนูญ ยายอด

คำสำคัญ : แทงหยวก , กล้วย , พรานกระต่าย , จังหวัดกำแพงเพชร , ช่างสิบหมู่

ชีวประวัติ/ความเป็นมา

         นายธรรมนูญ  ยายอด (ชาวบ้านทั่วไปเรียก อาจารย์นูญ) เกิดเมื่อวันที่ ๒๘  พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘  ปัจจุบันอายุ ๖๓ ปี  บิดาชื่อ นายคำ ยายอด  มารดาชื่อนางมาลัย ยายอด  ทั้งบิดา-มารดาเป็นชาวพรานกระต่ายโดยกำเนิด ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วทั้งคู่ มีพี่น้องร่วมบิดา ทั้งหมด ๓ คน ซึ่งบิดาได้แต่งงานใหม่กับคุณแม่มาลัย ยายอด ซึ่งเป็นมารดาของอาจารย์นูญเนื่องจากภรรยาคนแรกได้เสียชีวิต และมีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา จำนวน ๖ คน  ซึ่งอาจารย์นูญเป็นบุตรคนที่ ๒ พี่น้องส่วนใหญ่ประกอบอาชีพค้าขายและทำเกษตรกรรม มีเพียง ๑ คนที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอคีรีมาส จังหวัดสุโขทัย) ในช่วงวัยเด็กเป็นคนที่ชื่นชอบงานที่พ่อคำ ยายอด ทำอยู่เล็งเห็นว่าเป็นงานที่รักษาวัฒนธรรมไทยและเป็นการช่วยเหลือทำนุบำรุงศาสนา อีกทั้งช่วยงานบุคคลอื่น จึงช่วยงานพ่อคำมาตลอด เมื่อครั้งศึกษาจบประถมศึกษา ๕ ตนเองหยุดการเรียน และได้ออกมาทำการเกษตรกรรม ในระหว่างนั้นเองได้ฝึกฝนการแทงหยวกหลังจากที่ตนเสร็จภารกิจจากงานการเกษตร ตกค่ำก็ใช้เวลาที่เหลือฝึกฝนการแทงหยวกโดยเริ่มจากการฝึกแทงลายพื้นฐาน คือ ลายฟันปลา ลายฟันสาม และลายฟันห้า ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๙ ตนเองได้เริ่มทำอย่างจริงจัง
         ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๑ (๑๑ พรรษา) ได้อุปสมบท ณ วัดไตรภูมิ ตำบลพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร และได้เข้าศึกษาจนสำเร็จระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๓ และนักธรรมชั้นเอก ซึ่งเป็นระดับการศึกษาทางพุทธศาสนาในประเทศไทย แผนกธรรม เป็นชั้นสูงสุดของการศึกษาระดับพื้นฐานของพระสงฆ์ สามเณรในประเทศไทย ซึ่งความสามารถในการแทงหยวกได้รับอิทธิพลมาจากบิดา คือ นายคำ ยายอด ซึ่งคุณพ่อคำได้ร่ำเรียนวิชาการแทงหยวกเมื่อครั้งอุปสมบท ณ วัดเสด็จ อำเภอเมือง  จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งในบรรดาพี่น้องของตนเองไม่มีใครสืบทอดงานจากพ่อคำเลย อาจารย์นูญด้วยความรัก ที่มีให้พ่อคำ ตั้งใจที่จะสืบทอดงานของพ่อคำ ไม่ได้คิดทำเพื่อคนอื่นตั้งใจทำให้พ่อ อุทิศกำลังกายและใจ ความรู้และความสามารถ เพื่อประโยชน์ต่อสังคม และในปี พ.ศ.๒๕๓๕ นายธรรมนูญ ยายอด สมรสกับนางจิราภรณ์ ยายอด มีบุตร ๑ คน คือ นายปรัชญา ยายอด ปัจจุบันศึกษาอยู่ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
         บรรดาลูกศิษย์ของอาจารย์นูญ มีหลายท่าน แต่ปัจจุบันได้เสียชีวิตไปหลายคน และบางคนก็อยู่ต่างอำเภอกัน คือ นายจรัญ บุญกลอน (เสียชีวิต เมษายน พ.ศ.๒๕๖๑) อาจารย์นูญกล่าวว่า ศิษย์เอกที่เก่งที่สุด เก่งกว่าตนเองเสียอีก เพราะนายจรัญเป็นความที่มีความคิดสร้างสรรค์มักชอบคิดค้นลายใหม่ๆอยู่เสมอและทำออกมาได้สวยสดงดงามเสียยิ่งว่าอาจารย์ นายวินัย ชูพันธ์ (เสียชีวิต) เป็นศิษย์ที่มีทั้งความรู้และความสามารถหลากหลายด้าน นอกจากการแทงหยวกแล้ว ยังประกอบอาชีพเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอพรานกระต่าย นายลือ (ทิดลือ อาจารย์นูญจำชื่อ-สกุลจริงไม่ได้ และเสียชีวิต) และอาจารย์เผื่อน (เจ้าอาวาสวัดไตรภูมิ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร และเสียชีวิต) 
         การแทงหยวก เป็นศิลปะที่สืบทอดจากบรรพบุรุษมาหลายร้อยปี ซึ่งเป็นการทำให้สถานที่หรือประดับประดาในแหล่งต่างๆ เราสามารถใช้การแทงหยวกได้หลากหลายประเพณีหลากหลายพิธีกรรม ไม่ว่าจะเป็น งานบวช งานแต่งงาน งานกฐิน-ผ้าป่า ประดับรถแห่ งานศพ เมรุเผาศพ ฯลฯ ไม่ว่างานมงคลหรืองานอวมงคลก็สามารถใช้การแทงหยวกประดับได้ทั้งสิ้น
         ซึ่งมีเครื่องมือ-อุปกรณ์ และวิธีการแทงหยวก ดังนี้
         กระบวนการแทงหยวกนั้น ต้องเริ่มจากการไหว้ครู เพื่อรำลึกถึงครูอาจารย์ ประกอบด้วย
             • ธูป 3 ดอก
             • เทียนขี้ผึ้ง 1 เล่ม 
             • ดอกไม้ 3 สี 
             • สุรา 1 ขวด 
             • ผ้าขาวม้า 1 ผืน 
             • เงินค่าครู 142 บาท ในส่วนของค่าแรงนั้นไม่ได้เรียกร้องแล้วแต่จะให้

อุปกรณ์ในการแทงหยวก

         มีดสำหรับแทงหยวก เป็นเครื่องมือหลัก ช่างแต่ละคนจะมีมีดแทงหยวกเป็นของส่วนตัว ซึ่งอาจารย์นูญมีมีดแทงหยวกของตนเอง 2 ชุดและยังเก็บมีดของพ่อคำ  ยายอด เก็บไว้ระลึกถึงและใช้ในการไหว้ครูทุกครั้งที่ทำการแทงหยวก 
         ตอก เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับประกอบเข้าเป็นส่วนต่างๆ ซึ่งตอกที่ใช้จะมีหลายขนาด เนื่องจากการประกอบเข้าแต่ละส่วนของหยวกเข้าหลายรูปแบบ
         ต้นกล้วยตานี ที่ต้องกล้วยตานีเพราะไม่แตกง่าย ปัจจุบันต้นกล้วยตานีหายากและมีขนาดไม่เหมาะสมสำหรับใช้งานแต่ก็ยังพอหาได้ หาไม่มากล้วยตานีแล้วสามารถใช้ต้นกล้วยน้ำว้าแทน โดยไม่ว่าจะเป็นกล้วยตานีหรือกล้วยน้ำว้า หลักการคือ ต้องเป็นต้นกล้วยสาว ต้นกล้วยที่ยังไม่มีเครือหรือยังไม่ออกหวีกล้วย ต้นกล้วยจะอ่อนแทงลวดลายได้ง่ายและงดงาม 
         กระดาษสี ใช้สำหรับรองรับลวดลายต้นกล้วยให้ปรากฏชัดเจนและตัดเพื่อตกแต่งให้มีสีสันสวยงามมากขึ้น กระดาษสีจะต้องมีทักษะในการตัดให้ชำนาญจะออกมางดงาม
         ขั้นตอนในการแทงหยวกและประกอบเข้าส่วนเป็นลายชุดนั้น มี  3  ขั้นตอน ดังนี้
             1. ขั้นเตรียมหยวกกล้วย  
             2. ขั้นแทงลวดลายลงบนหยวก  
             3. ขั้นประกอบเป็นลายชุด
ภาพที่ 1 นายธรรมนูญ.jpg

ภาพที่ 1 นายธรรมนูญ ยายอด ช่างแทงหยวก ชาวพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร