กลุ่มชาติพันธุ์ สังคมและวัฒนธรรมของไทยทรงดำ
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:22, 18 ธันวาคม 2563 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม)
กลุ่มชาติพันธุ์ สังคมและวัฒนธรรมของไทยทรงดำ : กรณีศึกษาหมู่บ้านท่าช้าง อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
บทนำ
ไทดำหรือไตดำ (Black tai) เป็นกลุ่มชาติพันธ์ที่มีชื่อเรียกหลากหลาย เช่น โซ่ง ซ่ง ไทยโซ่ง ไทยซ่ง ลาวโซ่ง ลาวซ่ง ลาวทรงดำ และ ลาวพุงดำ โดยสันนิษฐานว่าไทดำเป็นชื่อเรียกแต่แรกเริ่ม ส่วนชื่อที่เรียก “ลาวโซ่ง” และ “ไทยทรงดำ” เป็นคำเรียกคนไทดำที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ด้วยเป็นชนกลุ่มที่อพยพผ่านประเทศลาวเข้ามายังประเทศไทย ประกอบกับภาษาพูดที่ใช้มีความคล้ายคลึงกับภาษาพูดของคนลาว (กลุ่มนักศึกษาโครงการเรียนรู้ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชน, 2547) ซึ่งคำว่า “โซ่ง” สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ซ่วง” ซึ่งแปลว่า กางเกง เพราะชาวไทดำนิยมนุ่งกางเกงและสวมใส่เสื้อผ้าสีดำ (สันติ, 2557) หากแต่ ในการอพยพเข้าประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่า “ไทย” นำหน้าชื่อกลุ่มชนหรือกลุ่มภาษา เพื่อการเน้นถึงความเป็นชาติและความเป็นไทย คนไทดำที่อาศัย อยู่ในประเทศไทยจึงมักเรียกชนกลุ่มของตนเองว่า “ไทยทรงดำ” ตั้งแต่นั้นมา (จุรีวรรณ, 2554)
คำสำคัญ : ไทยทรงดำ, ไทดำ, กลุ่มชาติพันธุ์ การอพยพถิ่นฐานของกลุ่มไทยทรงดำมายังจังหวัดกำแพงเพชร
กลุ่มชาติพันธ์ไทยทรงดำ มีถิ่นฐานเดิมตั้งอยู่ที่เมืองแถน ซึ่งเดิมเป็นเมืองใหญ่ของแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันคือจังหวัดเดียนเบียนฟูของประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว ซึ่งเดิมคือแคว้นล้านช้าง ซึ่งชาวไทดำถูกต้อนอพยพโดยสมัครใจไปมาระหว่างสองอาณาจักรนี้ ครั้งสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกอพยพผู้คนไทดำมายังประเทศไทย เพื่อหนีสงคราม โดยอพยพผ่านลงมาทางเวียดนามตอนเหนือ ลาว และเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกในสมัยกรุงธนบุรี และอพยพเรื่อยมาจนถึงในสมัยรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (งามพิศ, 2545) โดยอพยพให้ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยแห่งแรกที่จังหวัดเพชรบุรี จากนั้นจึงกระจายการตั้งถิ่นฐานอพยพออกจากพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ไปตั้งหลักแหล่งในจังหวัดใกล้เคียงและขยายพื้นที่ออกไปไกลถึงจังหวัดเลย โดยทางเกวียนและรถไฟ นอกจากนี้ยังพบชาวไทยทรงดำที่อพยพจากจังหวัดเพชรบุรีไปอยู่ในจังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี สระบุรี ลพบุรี พิษณุโลก พิจิตร สุโขทัย ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี (จุรีวรรณ, 2554) จากการสืบค้น พบว่า กลุ่มไทยทรงดำอพยพเข้าสู่จังหวัดกำแพงเพชรครั้งแรกราวปี พ.ศ. 2480 -2490 โดยอพยพมาจากตำบลหัวถนน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม สามารถแสดงการอพยพย้ายถิ่นของชาวไทยทรงดำที่เข้ามายังจังหวัดกำแพงเพชร ได้ดังตารางที่ 1 (สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง, 2561)
ตารางที่ 1 แสดงการอพยพของไทยทรงดำมายังจังหวัดกำแพงเพชร
ปีพุทธศักราช | อพยพจาก | อพยพไปที่ |
---|---|---|
2480 – 2490 | หัวถนน อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม | อำเภอบางเลน และอำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม, จังหวัดสุพรรณบุรี, จังหวัดกำแพงเพชร, จังหวัดพิจิตร |
2492 | วังหยวก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ | วังน้ำ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร |
2495 | จังหวัดสุพรรณบุรี | วังน้ำ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร |
2499 | จังหวัดนครสวรรค์ | วังน้ำ อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร |
2506 | อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม | หนองกระทิง อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร |
2518 | อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ | อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร |
ที่มา : (สันติ อภัยราช, 2557)