ฐานข้อมูล เรื่อง หลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธิน กำแพงเพชร
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:54, 22 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม)
ศาสนสถานและสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อเรียก
พระศรีสรรเพชญ์ หรือ หลวงปู่ศรีสรรเพชญ์
ศาสนา
ศาสนาพุทธ
ที่ตั้ง
ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าหรือสี่แยกต้นโพธิ์ ประมาณ 3 กิโลเมตร
ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์
ละติจูด : 16.52672 ลองติจูด : 99.51757 สภาพพื้นดินเป็นดินลูกรัง มีป่าไม้ขึ้นอยู่เป็นสภาพป่าโปร่งบางพื้นที่เป็นพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอยไม่ถาวร เนื่องจากสภาพดินเป็นดินลูกรัง ผลผลิตไม่ได้ผล การคมนาคมเดิมเป็นถนนลูกรังจากกำแพงเพชรผ่านไปอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร การคมนาคมยังไม่สะดวก ประชาชนยังไม่นิยมเข้าไปประกอบอาชีพ เนื่องจากสภาพพื้นดินไม่อำนวยต่อการประกอบการเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ในเมืองยังไม่มีหมู่บ้านอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และยังมีโจรผู้ร้ายสร้างความเดือนร้อนอยู่เนืองๆ จึงทำให้เป็นพื้นที่รกร้างและว่างเปล่า
หน่วยงานที่ดูแลรักษา
วัดศรีโยธิน หมู่บ้านศรีโยธิน ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
สถานะการขึ้นทะเบียน
-
วัน/เดือน/ปีก่อสร้าง
วัดศรีโยธิน ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2520 พระศรีสรรเพชญ์ ก่อนสร้างเมื่อ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2525
ข้อมูลจำเพาะ
ประวัติความเป็นมา/คำบอกเล่า/ตำนาน
ประวัติ “วัดศรีโยธิน” ที่ตั้งของวัด ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าหรือสี่แยกต้นโพธิ์ ประมาณ 3 กิโลเมตร สภาพพื้นดินเป็นดินลูกรัง มีป่าไม้ขึ้นอยู่เป็นสภาพป่าโปร่งบางพื้นที่เป็นพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอยไม่ถาวร เนื่องจากสภาพดินเป็นดินลูกรัง ผลผลิตไม่ได้ผล การคมนาคมเดิมเป็นถนนลูกรังจากกำแพงเพชรผ่านไปอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร การคมนาคมยังไม่สะดวก ประชาชนยังไม่นิยมเข้าไปประกอบอาชีพ เนื่องจากสภาพพื้นดินไม่อำนวยต่อการประกอบการเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่ พักอาศัยอยู่ในเมืองยังไม่มีหมู่บ้านอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งและยังมีโจรผู้ร้ายสร้างความเดือนร้อนอยู่เนือง ๆ จึงทำให้เป็นพื้นที่รกร้างและว่างเปล่า ต่อมา ร.อ.ทำนอง โยธินธนสมบัติ เป็นผู้มองเห็นการณ์ไกลเนื่องจากเป็นข้าราชการ รับราชการมานาน เห็นว่าต่อไปในอนาคตข้างหน้าจะต้องมีความเจริญ จึงได้ซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมทำการปลูกมะม่วง มะขามหวาน เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวไร่ แล้วทำการตัดถนนแยกจากถนนสายกำแพงเพชร-พรานกระต่ายไปทางทิศตะวันออกจัดสรรที่ดินเป็นแปลงสำหรับที่อยู่อาศัยแบ่งขายในราคาถูก ผู้ใดยากจนไม่มีเงินก็ยกให้อยู่อาศัยโดยไม่คิดมูลค่าก็มีทั้งนี้เพื่อต้องการให้ประชาชนเข้ามาอยู่อาศัย และขอจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นโดยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า“หมู่บ้านศรีโยธิน” โดยใช้ชื่อนามสกุลตัวหน้าของตนเป็นชื่อหมู่บ้านจนถึงปัจจุบันนี้ พ.ศ.2520 ร.อ.ทำนอง เห็นว่ามีประชากรเข้ามาอยู่อาศัยพอสมควรแล้ว จึงคิดที่จะสร้างวัดให้ประชาชนทำบุญสร้างกุศล ประกอบกับที่ตนเองมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและเคยสร้างวัดมาก่อนจึงได้ยกที่ดินของตนเอง จำนวน 30 ไร่เพื่อทำการสร้างวัดขึ้นพอที่คณะสงฆ์พาประชาชนประกอบศาสนกิจได้ และนิมนต์พระ มาจำพรรษาและเปลี่ยนหมุนเวียนไป พ.ศ.2530 เริ่มดำเนินการก่อสร้างวิหารหลวงปู่พระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่เป็นเนื้อศิลาแลง สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนต้นอายุประมาณ 1,000 ปี โดย ร.อ.ทำนอง เป็นผู้สละทรัพย์ของตนเอง เพื่อสร้างจนหมด ถึงขนาดต้องเอาหลักฐานที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้เพื่อมาสร้างวัด ต่อมาได้ญาติ พี่น้อง และผู้มีจิตศรัทธาร่วมสร้างทั้งจากกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี กำแพงเพชรและจังหวัดอื่น ๆ มากมายที่จะกล่าวถึงได้มาร่วมกันบริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้าง โดยจำลองแบบให้คล้ายกับวัดพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลก พ.ศ.2535 ร.อ.ทำนอง ผู้ได้ลงทุนลงแรงและตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะสร้างวัดให้สำเร็จได้ จนได้เห็นว่า การพัฒนาวัดดำเนินไปอย่างล่าช้า จึงตัดสินใจอุปสมบท (หลวงพ่อทำนองคุณงกโร) เพื่อสะดวกในการสร้างวัด และเผยแพร่พระศาสนาอย่างเต็มกำลังและได้นำทรัพย์สินส่วนตัวมาพัฒนาวัด พร้อมกันนี้ก็มุ่งเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสู่ประชาชน เพื่อให้รู้จักการดำเนินชีวิตที่ดี รู้จักใช้หลักธรรมในการแก้ปัญหาชีวิต ปัจจุบัน วัดศรีโยธิน ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชรกับหมู่บ้านศรีโยธิน ในอนาคตประชาชนและชุมชน สร้างบ้านเรือนหนาแน่นเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน มีถนนลาดยาง กำแพงเพชร-สุโขทัย แยกเข้าวัดศรีโยธินได้สะดวก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาวัดให้ทันต่อความเจริญที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางจังหวัดกำแพงเพชรจึงแต่งตั้งให้ วัดศรีโยธินเป็นวัดวิปัสสนากรรมฐานประจำจังหวัด แต่ทั้งนี้ ทางวัดยังขาดศาสนสถานที่จำเป็นหลายอย่าง ได้แก่ ศาลาการเปรียญ จำนวน 1 หลัง เพื่อประกอบศาสนกิจและการประชุมอบรมของส่วนราชการต่าง ๆ และการปฏิบัติธรรม เพื่อรองรับการบวชศีลจารินี ปฏิบัติกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเมื่อปี พ.ศ.2542 ได้บวชศีลจารินีเป็นรุ่นที่ 1 และบังเกิดผลดีมีประชาชนให้ความสนใจบวชปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากและมีข้อบกพร่องและปัญหาเรื่องที่พักอาศัยยังไม่เพียงพอ ในปีนี้จึงได้สร้างศาลาปฏิบัติธรรมขึ้น 1 หลัง เพื่อสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกให้แก่ท่านที่มาปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ศาสนิกชนสืบต่อไป
ภาพที่ 1 หลวงพ่อศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธิน
วัดศรีโยธิน อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร หลวงปู่ศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธิน เป็นพระพุทธรูปโกลนศิลาแลงที่ใหญ่ที่สุด ในจังหวัดกำแพงเพชร อาจจะใหญ่ที่สุดในประเทศไทยหรือในโลกก็ได้ พระพุทธศิลป์สมัยสุโขทัย หมวดกำแพงเพชรหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปะ กำแพงเพชรปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ หน้าตักขนาดใหญ่ กว่า 6 เมตร พระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ขมวดพระเกศา เป็นก้นหอย พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายสังฆาฏิเป็นลายเขี้ยวตะขาบ มีผู้สังเกตว่าพระพักตร์หลวงปู่จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และอารมณ์ของผู้เข้ามากราบขอพร อาจจะยิ้ม ดุหรือเมตตา เศร้า นับว่าแปลกมาก มีสังวาลเป็นพุทะรัตนะที่งดงาม ที่มีรูปแมงป่องยักษ์เป็นสัญลักษณ์ประจำองค์หลวงปู่ พระปลัดสุพิน สุชีโว พระเลขาเจ้าอาวาสวัดศรีโยธิน ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของวัดศรีโยธินว่าเป็นวัดที่สร้างโดย ร.อ.ทำนอง โยธินธนสมบัติ ต่อมาท่านได้บวชและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส นาม หลวงพ่อทำนอง คุณังกะโร (พระครูวุฒิวชิรสาสน์) เมื่อท่านสร้างวัดท่านนิมิตว่า มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งมาเข้านิมิตและจะมาช่วยสร้างวัด เมื่อท่านตื่นขึ้นก็ไปเที่ยวหาพระตามนิมิตและพบพระพุทธรูปโกลนศิลาแลง ขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร จมดินอยู่บริเวณหลังฌาปนสถานของเทศบาลในลักษณะ ฝังดินอยู่ ได้ทำพิธีอัญเชิญขึ้นมามีชิ้นส่วนหลายชิ้นตามหลักการสร้างพระโกลนศิลาแลงขนาดใหญ่ เมื่ออัญเชิญขึ้นมาเกิดพายุใหญ่ ลมหมุนมืดครึ้มไปทั่วบริเวณ ได้ยกขึ้นมาพบแมงป่องจำนวนมากอยู่ใต้ฐานพระยกมาประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดศรีโยธินได้ตกแต่งให้เป็นองค์พระที่งดงาม เดิมเรียกกันว่าหลวงพ่อศิลาแลง ภายหลังขนานนามท่านว่าหลวงปู่ศรีสรรเพชญ์ เมื่อนำผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีมาตรวจสอบพบว่าหลวงปู่ศรีสรรเพชญ์องค์นี้ สันนิษฐานว่าจะเป็นพระพุทธรูปที่วัดพระแก้วภายในกำแพงเมืองกำแพงเพชรที่ถูกเคลื่อนย้ายไปและนำไปซ่อนไว้ ที่พบพระและไม่สามารถนำไปได้ด้วยเหตุผลหลายประการ เมื่อหลวงพ่อทำนองมาพบและนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในโบสถ์วัดศรีโยธินเกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดมหัศจรรย์หลายประการ ต่อมามีผู้โชคดีจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลที่นำเงินที่ได้มาส่วนหนึ่งมาสร้างวัดทำให้วัดศรีโยธินเจริญอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นความเชื่อของผู้คนในยุคสมัย หลวงปู่ศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธินจึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งหนึ่งที่พบในเมืองกำแพงเพชร หลวงปู่พระศรีสรรเพชญ์เป็นพระพุทธรูปโบราณเนื้อศิลาแลง สร้างสมัยใดไม่ปรากฏแต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสมัยสุโขทัยยุคต้น ซึ่งมีอายุประมาณ 1,000 ปี ขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดศรีโยธิน มีความเป็นมาดังนี้ เมื่อวันเพ็ญเดือน 11 พ.ศ.2525 เป็นวันพระออกพรรษา มีผู้ใจบุญได้มาทำบุญตักบาตรหลายท่าน บางท่านก็มีรักษาศีลอุโบสถ โดยนอนค้างที่วัดศรีโยธินในจำนวนนี้มี ร.อ.ทำนอง ได้มารักษาศีลและนอนค้างที่วัดตอนเย็นหลังจากทำวัตรสวดมนต์เย็นแล้วก็มีการสนทนาธรรมกันในเรื่องหนึ่งที่คุยกันปรากฏว่าวันนี้เป็นวันพระออกพรรษาแล้วพรุ่งนี้พระที่จำพรรษาอยู่ก็จะกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมหมดแล้วจะไปหาพระที่ไหนมาเฝ้าวัดให้เพราะวัดของเราสร้างใหม่อยู่ในป่าพระที่ไหนจะมาอยู่ให้ เมื่อพูดคุยกันแล้วก็ไม่มีใครคิดอะไรต่างก็หาที่หลับนอนพักผ่อน ในขณะที่นอนพักผ่อนอยู่นั้น ร.อ.ทำนอง ก็ฝันไปว่ามีพระสงฆ์รูปหนึ่ง แก่ชรามาก หนังย่น ผิวคล้ำ มานั่งที่ศาลาที่คณะรักษาศีลอุโบสถนอนอยู่ โดยที่ผู้ฝันไม่รู้ท่านมาจากไหนอย่างไร เมื่อท่านมานั่งแล้วยังยกมือขึ้นแล้วบอกว่าโยมไม่ต้องวิตกฉันจะมาเฝ้าวัดให้มาช่วยสร้างวัดสร้างบ้านเมืองช่วยให้สะดวกเจริญ เมื่อผู้ฝันทราบครั้งแรกไม่ค่อยเชื่อถือไม่เลื่อมใสเพราะเคยหาพระมาเฝ้าวัดมากต่อมากแล้วไม่ได้ดีสักหนแต่ก็จำใจพูดไปว่าหลวงพ่อแก่แล้วจะมาสร้างวัดไหวหรือ อย่างดีก็พอเฝ้าวัดได้เท่านั้น ท่านพูดขึ้นว่า ไหวซิ ถ้ามาแล้วก็จะหนุ่มขึ้นผู้ฝันจึงตอบไปว่าคนแก่แล้วจะให้หนุ่มได้อย่างไร หลวงพ่อมียาดีหรือท่านบอกว่ามีผู้ฝันก็รบเร้าท่านให้บอกยา ท่านก็บอกให้และบอกว่ายานี้กินเข้าไปแล้วมันไม่หนุ่มเหมือนคนหนุ่มทั้งหลายนะแต่แข็งแรงทำงานไหว ในตอนพูดคุยกัน ผู้ฝันสนใจมากอยากจะได้ท่านมาอยู่ด้วยจึงถามท่านว่า หลวงพ่ออยู่ที่ไหน ชื่ออะไร ผม จะไปรับท่านมา ท่านก็ไม่อยากจะบอก เมื่อทนผู้ฝันรบเร้าไม่ไหว ท่านก็บอกให้ว่าท่านชื่อพระศรีสรรเพชญ์ อยู่องค์เดียวมานานแล้วทางตะวันออกของเมืองกำแพงเพชร เมื่อสนทนากันแล้วไม่ว่าท่านกับผู้ฝันไปกันอย่างไร ท่านจะไปทางไหนผู้ฝันไม่ทราบ ต่อมาเมื่อถึงตอนตี 5 ทุกคนได้ลุกจากที่นอนเตรียมที่จะไปทำวัตรเช้า ก่อนทำวัตรเมื่อพระรวมกันที่ศาลาครบแล้ว ผู้ฝันก็ได้เล่าเรื่องนิมิตให้ทุกคนฟัง และทุกคนก็บอกว่าฝันดีจะมีโชค เมื่อทำวัตรสวดมนต์แล้ว ก็ทำบุญตักบาตรกันเพราะเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เมื่อทำบุญเช้าเสร็จแล้ว พระทุกรูปต่างก็กลับภูมิลำเนาเดิมกันหมด เนื่องจากที่วัดไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน เมื่อพระต่างกลับภูมิลำเนาหมดแล้วที่วัดก็ไม่มีผู้ใดจะเฝ้าวัด ผู้ฝันจึงจัดการจ้างคนมานอนเฝ้าวัดต่อไป ขณะที่จ้างคนมานอนเฝ้า วันนั้น ผู้ฝันก็คิดถึงคำพูดที่พูดกัน และใบหน้าของท่านเสมอ ๆ จึงอยากไปพบท่าน จนสุดความสามารถที่จะไปติดตามพบท่านได้เพราะไปถามใคร ๆ ก็ไม่รู้จักชื่อและที่อยู่กันทั้งนั้น แต่ผู้ฝันก็ไม่วายที่จะอดนึกถึงท่านได้จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปบ้านเพื่อไปพบพระครูรูปหนึ่งที่ชอบกัน ท่านอยู่ที่บุคคโลเมื่อไปถึงก็เล่าความฝันให้ท่านฟังทั้งหมด เมื่อท่านทราบแล้วก็บอกว่า โยมฉันทำนายฝันไม่เป็นฝันแปลกดี ฉันจะพาไปพบอาจารย์ของฉันแล้วกัน ท่านได้ทำนายฝันแม่นมาก ท่านพาผู้ฝันไปที่วัดสามปลื้มไปพบสมเด็จวัดสามปลื้มเล่าความฝันให้ท่านฟัง ท่านทราบแล้วบอกว่าโชคดีมากฝันดีที่วัดที่บ้านแถวถิ่นจะเจริญรุ่งเรืองกลับไปนี้ให้ไปรับท่านตามที่ฝันนะ แล้วผู้ฝันก็กลับบ้านกำแพงเพชรด้วยความมืดมนไม่รู้จะไปทางไหน ไม่ถามใครอีกเพราะไม่รู้จะถามใครแล้ว แต่จิตใจก็ยังพะวงคิดอยู่เสมอ อยู่มาวันหนึ่ง จึงได้ชวนนายไฉนไปเที่ยวในเมืองเพื่อหาอาหารทานกัน ขณะนั้นที่วัดคูยางกำลังสร้างเมรุ แต่แปลกเมรุที่สร้างขึ้นเป็นเมรุแฝดคือในปล่องเดียวกันนั้นมีเต่าคู่คือแฝดจึงเข้าไปดู เมื่อดูเมรุแล้วก็เตรียมจะกลับกัน เผอิญสายตามองไปพบต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งยังไม่ทราบว่าต้นอะไร แต่ตรงยอดต้นนั้นแกว่งไกวไปรอบ ๆ ส่วนกิ่งอื่น ๆ ไม่ไหวติงเลยแม้แต่น้อยขณะนั้นเวลาร่วม 11.00 น. ไม่มีลมเลยจึงได้ชวนนายไฉนเข้าไปดู แต่นายไฉนบอกว่าน่าแปลกทำไมจึงหมุนอยู่กิ่งเดียวกิ่งอื่น ๆ ทำไมไม่หมุนด้วย จึงไปดูกันแต่นายไฉนค้านบอกว่าแก่แล้วเดินไม่ไหวเพราะป่ารกมากมีกอไผ่หนามทุกชนิด รวมทั้งต้นหมามุ้ยก็มาก แต่โดยที่อยากเห็นจึงบอกนายไฉนว่าให้ตามผมไป ผมจะเป็นผู้แหวกป่าเองให้ตามมาโชคดีถ้าเราจะจับชะนีได้ เพราะต้องเป็นชะนีหรือลิงแน่แต่พอไปถึงใกล้ ๆ กิ่งไม่ก็เงียบไม่ไหวติง แต่อย่างใด เมื่อเดินอ้อมไปก็พบเนินดินใหญ่ซึ่งป่ารกมากเมื่อขึ้นไปถึงเนินดินแล้วก็พอดีไปเหยียบตรงไหล่ของท่านเข้าสะดุดเท้าพอดีจึงก้มลงแหวกหมู่หญ้าดูจนพบเศียรและไหล่ของท่านอยู่ในท่าตะแคงเอียงเล็กน้อย โผล่ดินขึ้นมาไม่มากนัก เมื่อแรกพบเห็นท่านเหมือนกับใจถูกไฟฟ้าช็อตวูบร้อนผ่าวไปทั้งตัว และดีใจมากเหมือนได้พบกับตอนที่ฝัน พร้อมกับกำชับนายไฉนว่าอย่าไปบอกใครเป็นอันขาด ให้ปิดไว้ก่อน แล้วคิดว่าทำอย่างไรจึงจะรับท่านมาได้ ต่อมาได้พยายามหาบุคคลอื่นที่แข็งแรงไปช่วยกันขุดอยู่ 3 วันจึงสำเร็จ นายเสา หมอมา และบุคคลอื่นรวม 8 คน แต่ก่อนจะลงมือก็จุดธูปเทียนบอกนิมนต์ท่าน พอจะลงมือขุดครั้งแรกไม่มีใครลงมือขุดก่อน เพราะกลัวจะมีอันเป็นไป คณะขุดจึงยกให้ผู้กองเป็นผู้ลงมือขุดก่อน เพราะเป็นผู้ฝันตกลงผู้ฝันต้องขุดเป็นคนแรก เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ขณะที่ยกจอบขึ้นครั้นจะลงดิน ได้มีแมลงป่องช้างตัวเท่าปูนาขาวโผล่ขึ้นมายกก้ามปูหางขึ้นผู้ขุดก็หยุดจอบ แล้วก็บอกว่าไป ๆ หลวงพ่อท่านบอกให้มารับท่านไปอยู่ที่วัดขอให้หลีกไป แมลงป่องช้างตัวใหญ่สีขาวนั้นก็เดินเข้าป่าหายไป จึงทำการขุดกันได้โดยสะดวกขณะที่ขุดเอาท่านขึ้นมานั้นลักษณะท่านสมบูรณ์ 80% แต่ขุดจอบทำชะแรงไปถูกเอาองค์ท่านทำให้เกิดแตกบิ่นผุพังไปก็มาก เพราะลักษณะศิลาแลงจมดินอยู่นาน ๆ จะเกิดการอ่อนตัวยุ่ย จึงให้ช่างซ่อมแซมดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การขนย้ายเนื่องจากท่านหลวงปู่ท่านเป็นองค์ใหญ่ หน้าตัก 6 เมตร เนื้อศิลาแลงทั้งองค์น้ำหนักมากจำเป็นต้องใช้รถยกและรถบรรทุกคันใหญ่จึงจะไหว ร.อ.ทำนองจึงไปหานายกวย ศิลาหลัก ซึ่งมีเครื่องมือที่ทำการได้ นายกวยบอกว่าจะทำบุญด้วย แต่ขอค่าน้ำมันและค่าแรงคนงาน 2,000 บาท แต่ ร.อ.ทำนองไม่มีเงินมีเงินอยู่ 70 บาทจึงขอผลัดไปหาเงินก่อนสัก 3 วันแล้วก็ไปหาเงินที่นายสุวรรณ เล่าความให้ฟังที่ต้องการเงิน นายสุวรรณบอกว่า เงินไม่มีให้ไปหาคุณหยี เมื่อไปหาคุณหยีแล้วก็เล่าให้ฟังคุณหยีบอกว่าการย้ายพระพุทธรูปนี้อย่ามาเกี่ยวข้องกับฉันเลยฉันไม่เอาด้วยหรอก เพราะครั้งหนึ่งบิดาของฉันไปหว่านแหหาปลาไปได้พระพุทธรูปเศียรขาดนำมาบ้านมาจัดการซ่อมเศียรแล้ว ทำให้พ่อทอดผ้าป่าถวายเท่าอายุหรือทำบุญอุทิศให้อย่างอื่น ๆ อีกหลายอย่างพ่อฉันไม่หายฉันไม่เล่นด้วย ร.อ.ทำนอง บอกว่าที่มานี้ไม่ได้ให้คุณเล่นด้วยแต่จะมาขอกู้เงินไปให้ค่ารถบรรทุกพระให้นายกวยเจ้าของรถ เพราะเขาจะเอา 2,000 บาท คุณหยีบอกว่าเงินไม่ต้องกู้จะหาให้แต่ฉันไม่รับรู้ด้วย ขณะนี้ยังไม่มีเงินให้กลับไปบอกนายกวยซึ่งเป็นคนชอบพอกันว่าหยีจะจัดการให้เอง เมื่อนำความไปบอกให้นายกวยทราบแล้วก็ตกลงนัดกันที่จะบรรทุกหลวงพ่อมาที่วัด แต่มานึกขึ้นว่าการที่จะนำหลวงพ่อซึ่งใหญ่มากไปตามเส้นทางซึ่งผ่านสถานที่ราชการ หลายหน่วยงานคงจะเป็นการไม่ดีหรือไม่เหมาะสมจึงไปติดต่อกับหน่วยกรมศิลปากรจังหวัดกำแพงเพชร ได้คำตอบว่าถ้าเป็นพระพุทธรูปเคลื่อนย้ายไม่ได้ แต่นี้ไม่ใช่พระพุทธรูปเป็นแค่เพียงแกนในของพระซึ่งไม่ใช่พระพุทธรูป ประกอบกับทางวัดศรีโยธินไม่มีพระพุทธรูปบูชาจึงจำเป็นที่จะต้องเอาแกนในที่ชำรุดแตกหักไปเพื่อซ่อมแซมไว้กราบไหว้บูชาเพื่อเป็นหลักทางใจ ครั้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 เวลา 12.00 น. เริ่มลงมือทำการขนย้ายจนกระทั่งเวลาบ่าย 5 โมงเย็น จึงจัดการขึ้นรถบรรทุกได้เรียบร้อยแล้วก็มีคนโจษขานกันว่าเขาขุดพระกำลังเอาขึ้นรถคณะศรัทธาตลาดแผงลอยจังหวัดกำแพงเพชรได้ปิดการขายของแห่กันมาดูกันแน่นเป็นประวัติการณ์เมื่อมาเห็นแล้วต่างก็อนุโมทนาบริจาคทรัพย์ทำบุญได้เงินถึง 3,000 บาท เป็นอันว่าค่าจ้างรถบรรทุกพอและยังได้เงินเกินไว้ทำอย่างอื่นอีกพอนิมนต์องค์ท่านมาถึงวัดศรีโยธินเวลานั้นประมาณ 18.00 น. พอจัดการนำองค์ลงจากรถเรียบร้อยพอดีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คันรถปิกอัพมาถึงวัดแจ้งว่ามีผู้แจ้งว่ามีคนนำพระพุทธรูปมาจึงมาสอบถามและชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบแล้วก็กลับไป หลังจากนั้น ร.อ.ทำนองก็จัดการ ทำปะรำพิธีขึ้นโดยหาผ้าจีวรเก่ามามุงทำหลังคา นัดหมายกับผู้มีจิตศรัทธาทั่วไปร่วมกันสวดมนต์พระพุทธคุณ คืนละ 108 จบมีกำหนด 4 คืนแบ่งสวดกันคืนละ 50 คนเป็นอย่างน้อยโดยใช้เทียนเป็นแสงสว่าง ตอนนั้นที่วัดยังไม่มีไฟฟ้าใช้และนัดหมายกันว่าเมื่อสวดครบ 4 คืนแล้วจะทำบุญตักบาตรกันเพื่อเป็นการสมโภช พอสวดไปถึงคืนที่ 4 ก็เกิดประหลาดมีแสงสว่างพุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้ายาวจนชาวบ้านแตกตื่นหนังสือพิมพ์ลงข่าวไปทั่วจนทำให้ประชาชนมากราบนมัสการกันทั่วประเทศ บางท่านก็มาขอน้ำมนต์รักษาโรคต่าง ๆ บางท่านก็มาขอโชคลาภ สมความปรารถนาไปก็ไม่น้อย ต่อมาเมื่อทำบุญเสร็จแล้ว ร.อ.ทำนองก็หาช่างมาซ่อมแซมบูรณะให้สมบูรณ์ดี ตกลงมอบให้หลวงพ่อเรียบเป็นผู้ปฏิสังขรณ์โดยเตรียมเครื่องสูบน้ำแปลงขัดถูรวมคนมาช่วยกันขัดเอาดินและรากหญ้าออกจากองค์ท่าน โดยหลวงพ่อเรียบเป็นผู้จัดให้มีคนยืนประมาณ 10 คนเศษ ร.อ.ทำนองจึงพูดขึ้นลอย ๆ ว่า หลวงพ่อขอเลขท้ายรางวัลที่ 1 ที่ออก 3 ตัวหน่อยจะได้เอามาสร้างวัดวิหาร หลวงพ่อเรียบเอ่ยขึ้นว่า นี่โยมประสาทดีหรือเปล่า ร.อ.ทำนอง ตอบว่า ผมไม่บ้านะ แต่ขอหวยหลวงพ่อ แต่ทุก ๆ คนก็หัวเราะกันท่าน เชื่อไหมครับ ต่อมาอีกประมาณ 10 นาทีเศษ ร.อ.ทำนองเห็นเลขขึ้นที่แก้มของท่านด้านซ้ายเป็นเลขใหญ่และเป็นตัวนูน เลขที่เห็นคือ 085 ต่อมา อีก 3 วันหวยเลขท้ายรางวัลที่ออก 085 ตรง ๆ มีผู้โชคดีถูกกันหลายท่าน แต่ ร.อ.ทำนองไม่ถูกเพราะไม่ได้ซื้อ ต่อจากนั้นผู้คนหลั่งไหลกันมาขอโชคไม่ขาดสายจนได้เงินสร้างวิหารไม้ชั่วคราวไว้ให้ท่านประดิษฐาน (ในการซ่อมแซมครั้งนั้น หลวงพ่อเรียบทำการไม่เสร็จเพราะทำเท่าไรก็ไม่ได้ มีคนบอกว่าบวงสรวงไม่ถูก แต่จริง ๆ จะเป็นอย่างใดไม่ทราบได้) เมื่อก่อแท่นเสร็จก็นิมนต์ท่านขึ้นสู่บัลลังก์ทั้ง ๆ ที่องค์ยังไม่สมบูรณ์ดี วันยกขึ้นบังลังก์คือวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2536 เวลา 15.41 น. โดยใช้รถขององค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำแพงเพชร ประชาชนมาประมาณ 700 คน ใช้ด้ายสายสิญจน์ 3 สายโยง ผู้คนที่มาในงานต่างก็ถือสายสิญจน์โยงกันเกือบทุกคน พอรถยกองค์ท่านขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณเลยสะดือก็มองเห็นแมงป่องช้างตัวใหญ่สีขาวจำนวน 3 ตัวอยู่ใต้ฐานที่ท่านนั่งอยู่จากนั้นก็เกิดพายุหมุนจนใบไม้และฝุ่นตลบอบอวนไปทั่วบริเวณทั้ง ๆ ที่ก่อนจะยกท่านขึ้นนั้น ไม่มีวี่แววจะมีลมเลย ขณะที่คนแตกตื่นลมนั้น ด้ายสายสิญจน์ที่โยงหายหมด จนกระทั่งนายลิ่ม ขุนพิทักษ์ พัสดีเรือนจำ จังหวัดกำแพงเพชร ต้องเข้ามาพูดบอกกล่าวในเครื่องขยายเสียงว่าตัวท่านบวชเรียนมาร่วม 10 ปีไม่เคยเห็นอภินิหารอย่างนี้มาก่อนเลย และคนอื่นก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อนเช่นกัน เมื่อท่านได้เข้าที่เรียบร้อยแล้วจึงได้ติดต่อช่างถวิลที่จังหวัดนครสวรรค์ซ่อมแซมดังที่ปรากฏอยู่ เมื่อเสร็จแล้วคณะศรัทธาได้จัดพิธีทำบุญกันอีก ตอนนี้นอกจากสีแสงท่านออกให้ชาวบ้านได้ชมบารมีแล้วโดยเฉพาะวันพระ 15 ค่ำจะมีแสงสว่างราว ๆ 5 นาทีก็หายเป็นอยู่อย่างนี้ถึง 2 พรรษา มีผู้คนมาพิสูจน์กันมากมายจนเป็นที่เล่าลือกันไปทั่วทุกสารทิศ จึงมีผู้มากราบไหว้ไม่ขาด นอกจากนี้ยังมีผู้มาบนบานสานกล่าวท่านในทางขอหวยให้ทวงถามหนี้ได้ ให้หางาน เข้างานได้อีกมากมาย การสร้างคุณงามความดีนั้น ทำไปเถิดถึงจะไม่เห็นผลเร็วในชาตินี้ ก็จะเป็นกุศลตามส่งไปชาติหน้าเปรียบเหมือนเราสะสมเตรียมอาหารไว้สำหรับเดินทางไปในถิ่นกันดารไม่ต้องกลัวความตายหรือไปขอส่วนบุญของใคร ๆ ใครทำใครได้ เราต้องทำเองเหมือนกับเราทานข้าวเราทานเองเราก็อิ่มเอง คนอื่นจะทานแทนเราแล้ว ก็อิ่มแทนเรานั้นไม่ได้ นี้คือตัวจะต้องสร้างกุศลด้วยตนเอง ทรัพย์สิน บริวารเอาไปด้วยไม่ได้ มีแต่ผลบุญบาปเท่านั้นที่กระทำไว้ จะต้องติดตามไปทุกภพทุกชาติ โกลนพระพุทธรูป โกลนพระพุทธรูปคือ 1. เกลาไว้ ทำเป็นรูปเลา ๆ ไว้ เช่น โกลนไม้ โกลนเรือ 2. การขึ้นรูปวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นไม้ ดิน อิฐ หิน ปูน ศิลาแลง ด้วยการถาก เกลา หรือปั้นอย่างคร่าว ๆ ก่อนตกแต่งให้สมบูรณ์ต่อไป
ภาพที่ 2 ตัวอย่างลักษณะโกลนพระพุทธรูปสมัยทวารวดี
พระศรีสรรเพชญ์ ที่มาชื่อพระศรีสรรเพชญ์ พระพุทธรูปในวัดศรีโยธินที่ค้นพบมาจากวัดพระน้อย (หรือวัดคูยางในปัจจุบัน) ชาวบ้านศรีโยธินต่างขานนามว่าพระศรีสรรเพชญ์ตั้งแต่สมัยที่ค้นพบพระพุทธรูป แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้ตั้งชื่อพระศรีสรรเพชญ์แต่ก็ได้เรียกขานนามพระศรีสรรเพชญ์มาจนถึงปัจจุบัน ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง วัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือวัดพระศรีสรรเพชญ เป็นวัดหลวงในพระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมศึกษาความงามทางประวัติศาสตร์ที่ยังเหลือเอาไว้ในสถานที่แห่งนี้ วัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือ วัดพระศรีสรรเพชญ เป็นอดีตวัดหลวงประจำพระราชวังโบราณอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตรในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สร้างชึ้นราวปี พ.ศ.1991 โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
ภาพที่ 3 วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา
วัดพระศรีสรรเพชญ์มีจุดที่น่าสนใจที่สำคัญคือ เจดีย์ทรงลังกาจำนวนสามองค์ที่วางตัวเรียงยาวตลอดทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของวัด สร้างขึ้นเป็นองค์แรกทางฝั่งตะวันออก เมื่อปี พ.ศ.2035 โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พระราชบิดา) ต่อมาในปี พ.ศ.2042 ก็ทรงให้สร้างเจดีย์ องค์ต่อมา (องค์กลาง) ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2) และเจดีย์ฝั่งตะวันตกของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ก็ทรงสร้างเจดีย์อีกองค์ในฝั่งทิศตะวันตกให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระราชบิดา รวมเป็นสามองค์ตามปัจจุบัน ข้อสันนิษฐาน ข้อสันนิษฐานที่ 1 พระศรีสรรเพชญ์ที่ต่างเล่าว่าค้นพบมาจากวัดพระน้อย (หรือวัดคูยางในปัจจุบัน) อาจไม่ได้ค้นพบที่วัดพระน้อยเพราะว่าวัดพระน้อยในอดีตมีพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรซึ่งองค์พระใหญ่กว่าพื้นที่วัดพอสมควร เหตุที่ถูกขุดค้นพบจึงไม่สมเหตุสมผลที่จะอยู่ในพื้นที่วัดพระน้อยได้ ข้อสันนิษฐานที่ 2 พระศรีสรรเพชญ์อาจจะถูกขโมยมาจากวัดพระแก้วในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร แต่ด้วยองค์พระที่ค่อยข้างมีขนาดใหญ่มาก ทำให้เคลื่อนย้ายไม่ได้สะดวกมากและเป็นที่ผิดสังเกตของผู้คนโดยทั่วไป จึงทิ้งไว้ที่วัดพระน้อย (หรือวัดคูยางในปัจจุบัน) ข้อสันนิษฐานที่ 3 ตามที่เล่าขานกันมาว่าพระศรีสรรเพชญ์อยู่ในสมัยสุโขทัยตอนต้น มีอายุราว 1,000 ปี อาจไม่เป็นความจริง เพราะศิลาแลงพึ่งถูกคิดค้นมาสร้างองค์พระในสมัยอยุธยาและลักษณะองค์พระนั้นคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยามากกว่า ซึ่งมีอายุแค่ราว 200 กว่าปีเท่านั้น วัดพระแก้ว อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
ภาพที่ 4 วัดพระแก้ว ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
เป็นวัดอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางเมือง เช่นเดียวกับวัดมหาธาตุสุโขทัยและวัดศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยาเป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาสไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา สิ่งก่อสร้างภายในวัดเรียงเป็นแนวยาวตามแกนตะวันออกขนานกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีขนาดใหญ่บนฐานมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปประธานถัดมาเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ฐานมีสิงห์รอบจำนวน 20 ตัว วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสามองค์ และตอนท้ายสุดเป็นเจดีย์ทรงระฆังประดับช้างปูนปั้นที่ฐานโดยรอบจำนวน 32 เชือก
ภาพที่ 5 พระประธานที่อยู่ในวัดพระแก้ว
ลักษณะทางสถาปัตยกรรม
หลวงปู่พระศรีสรรเพชญ์ เป็นพระพุทธรูปโบราณเนื้อโกลนศิลาแลง คือพระพุทธรูปไม่มีหน้า ขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ในการสร้างพุทธรูปจึงต้องสร้างชิ้นส่วนของพระพุทธรูปแยกชิ้นกัน เป็นส่วนพระเศียร ส่วนตัว แขนและฐาน แล้วนำมาประกอบกันเป็นองค์พระ ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสมัยสุโขทัยยุคต้น ซึ่งมีอายุประมาณ 1,000 ปี แต่ในการสร้างวัดศรีโยธินจึงได้อัญเชิญพระศรีสรรเพชญ์ มาประดิษฐานที่วัดจึงได้มีการนำช่างมาตกแต่งพระพุทธรูป โดยการเอาเนื้อศิลาแลงมาทำให้ป่นแล้วนำมาฉาบ ตามองค์พระแล้วทำการใส่หน้าตาให้พระศรีสรรเพชญ์ให้ดูสวยงามและแตกต่าง เราจึงไม่สามารถเห็นองค์ตามแบบเดิมได้ ในปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหาร วัดศรีโยธิน หมู่บ้านศรีโยธิน
ภาพที่ 6 หลังพระวิหารวัดศรีสรรเพชญ์
ภาพที่ 7 ฐานพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธินที่ยังคงเห็นเป็นเนื้อศิลาแลง
บุคคลที่เกี่ยวข้อง
ทำนอง โยธินธนสมบัติ หรือหลวงพ่อทำนอง คุณังกะโร (เจ้าอาวาสวัดศรีโยธิน) พระปลัดสุพิน สุชีโว (พระลูกวัด) อาจารย์สันติ อภัยราช (นักปราญ์เมืองกำแพงเพชร) นายอุดร เดชประเสริฐ (ชาวบ้านวัดศรีโยธิน)
วิธี/ขั้นตอน/กระบวนการในการสักการะ
บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน • ธูป 3 ดอก • เทียน 1 เล่ม • ดอกไม้ ตั้งนะโม 3 จบ อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ 1 ครั้ง) สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ 1 ครั้ง) สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ 1 ครั้ง) คำบูชา อิมินา สักกาเรนะ สิริโยธินวะนารามะวิหาร สุปะติฎฐิตัง สรสัพพะวิชะญะพุทธะปะฎิมัง อะภิปูชะยามิ สัพพะพุทธานุภาเวนะ อะโรโค เจวะ ทีฆายุโก จะ สุขิโต ลาโก จะ ยะโย สัพพะโสตถี โหมิ สัพพะทา
ข้อมูลการสำรวจ
แหล่งอ้างอิง
อาจารย์สันติ อภัยราช (นักปราญ์เมืองกำแพงเพชร) นายอุดร เดชประเสริฐ (ชาวบ้านวัดศรีโยธิน) (หนังสือพระศรีสรรเพชญ์, 2550, หน้า 1-8) (หนังสือคู่มือทำวัตรเช้า-เย็น เมตตาพรหมวิหารภาวนา, 2555, หน้า 2-3,5-7)
วันเดือนปีที่สำรวจ
03 สิงหาคม พ.ศ.2563 23 กันยายน พ.ศ.2563 24 กันยายน พ.ศ.2563 01 ตุลาคม พ.ศ.2563 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2563
วันปรับปรุงข้อมูล
28 สิงหาคม พ.ศ.2563 24 กันยายน พ.ศ.2563 01 ตุลาคม พ.ศ.2563 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2563
ผู้สำรวจ
นางสาวยุชิตา กันหามิ่ง นางสาวเบญจมาศ ผิวขาว นางสาววนิดา ประเสริฐกุล
คำสำคัญ
พระศรีสรรเพชญ์, หรือ หลวงปู่ศรีสรรเพชญ์, วัดศรีโยธิน,หลวงพ่อทำนอง, บ้านศรีโยธิน
บทสรุป
จากการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลพระศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธิน ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พบว่า เรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกเล่าขานต่อกันมานั้น อาจจะผิดเพี้ยนหรือมีข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถทำให้ชาวบ้านวัดศรีโยธินเสื่อมศรัทธาในพระศรีสรรเพชญ์ได้ ในปัจจุบันชาวบ้านยังคงเข้าวัดทำบุญและเคารพกราบไหว้บูชาพระศรีสรรเพชญ์เช่นเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน