ฐานข้อมูล เรื่อง หลวงพ่อพระศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธิน กำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

ชื่อเรียก[แก้ไข]

         พระศรีสรรเพชญ์ หรือ หลวงปู่ศรีสรรเพชญ์

ศาสนา[แก้ไข]

         ศาสนาพุทธ

ที่ตั้ง[แก้ไข]

         ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าหรือสี่แยกต้นโพธิ์ ประมาณ 3 กิโลเมตร 

ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์[แก้ไข]

         ละติจูด : 16.52672 
         ลองติจูด : 99.51757
         สภาพพื้นดินเป็นดินลูกรัง มีป่าไม้ขึ้นอยู่เป็นสภาพป่าโปร่งบางพื้นที่เป็นพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอยไม่ถาวร เนื่องจากสภาพดินเป็นดินลูกรัง ผลผลิตไม่ได้ผล การคมนาคมเดิมเป็นถนนลูกรังจากกำแพงเพชรผ่านไปอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร การคมนาคมยังไม่สะดวก ประชาชนยังไม่นิยมเข้าไปประกอบอาชีพ เนื่องจากสภาพพื้นดินไม่อำนวยต่อการประกอบการเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่พักอาศัยอยู่ในเมืองยังไม่มีหมู่บ้านอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่ง และยังมีโจรผู้ร้ายสร้างความเดือนร้อนอยู่เนืองๆ จึงทำให้เป็นพื้นที่รกร้างและว่างเปล่า

หน่วยงานที่ดูแลรักษา[แก้ไข]

         วัดศรีโยธิน หมู่บ้านศรีโยธิน ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

สถานะการขึ้นทะเบียน[แก้ไข]

         -

วัน/เดือน/ปีก่อสร้าง[แก้ไข]

         วัดศรีโยธิน ก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.2520
         พระศรีสรรเพชญ์ ก่อนสร้างเมื่อ 26 พฤศจิกายน พ.ศ.2525

ข้อมูลจำเพาะ[แก้ไข]

ประวัติความเป็นมา/คำบอกเล่า/ตำนาน[แก้ไข]

         ประวัติ “วัดศรีโยธิน”
         ที่ตั้งของวัด ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งอยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดหลังเก่าหรือสี่แยกต้นโพธิ์ ประมาณ 3 กิโลเมตร สภาพพื้นดินเป็นดินลูกรัง มีป่าไม้ขึ้นอยู่เป็นสภาพป่าโปร่งบางพื้นที่เป็นพื้นที่ทำไร่เลื่อนลอยไม่ถาวร เนื่องจากสภาพดินเป็นดินลูกรัง ผลผลิตไม่ได้ผล การคมนาคมเดิมเป็นถนนลูกรังจากกำแพงเพชรผ่านไปอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร การคมนาคมยังไม่สะดวก ประชาชนยังไม่นิยมเข้าไปประกอบอาชีพ เนื่องจากสภาพพื้นดินไม่อำนวยต่อการประกอบการเกษตร ประชาชนส่วนใหญ่ พักอาศัยอยู่ในเมืองยังไม่มีหมู่บ้านอยู่อาศัยเป็นหลักแหล่งและยังมีโจรผู้ร้ายสร้างความเดือนร้อนอยู่เนือง ๆ จึงทำให้เป็นพื้นที่รกร้างและว่างเปล่า
         ต่อมา ร.อ.ทำนอง โยธินธนสมบัติ เป็นผู้มองเห็นการณ์ไกลเนื่องจากเป็นข้าราชการ รับราชการมานาน เห็นว่าต่อไปในอนาคตข้างหน้าจะต้องมีความเจริญ จึงได้ซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมทำการปลูกมะม่วง มะขามหวาน เพื่อเป็นตัวอย่างแก่ชาวไร่ แล้วทำการตัดถนนแยกจากถนนสายกำแพงเพชร-พรานกระต่ายไปทางทิศตะวันออกจัดสรรที่ดินเป็นแปลงสำหรับที่อยู่อาศัยแบ่งขายในราคาถูก ผู้ใดยากจนไม่มีเงินก็ยกให้อยู่อาศัยโดยไม่คิดมูลค่าก็มีทั้งนี้เพื่อต้องการให้ประชาชนเข้ามาอยู่อาศัย และขอจัดตั้งหมู่บ้านขึ้นโดยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า“หมู่บ้านศรีโยธิน” โดยใช้ชื่อนามสกุลตัวหน้าของตนเป็นชื่อหมู่บ้านจนถึงปัจจุบันนี้
         พ.ศ.2520 ร.อ.ทำนอง เห็นว่ามีประชากรเข้ามาอยู่อาศัยพอสมควรแล้ว จึงคิดที่จะสร้างวัดให้ประชาชนทำบุญสร้างกุศล ประกอบกับที่ตนเองมีจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและเคยสร้างวัดมาก่อนจึงได้ยกที่ดินของตนเอง จำนวน 30 ไร่เพื่อทำการสร้างวัดขึ้นพอที่คณะสงฆ์พาประชาชนประกอบศาสนกิจได้ และนิมนต์พระ มาจำพรรษาและเปลี่ยนหมุนเวียนไป
         พ.ศ.2530 เริ่มดำเนินการก่อสร้างวิหารหลวงปู่พระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่เป็นเนื้อศิลาแลง สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนต้นอายุประมาณ 1,000 ปี โดย ร.อ.ทำนอง เป็นผู้สละทรัพย์ของตนเอง เพื่อสร้างจนหมด ถึงขนาดต้องเอาหลักฐานที่ดินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้เพื่อมาสร้างวัด ต่อมาได้ญาติ พี่น้อง และผู้มีจิตศรัทธาร่วมสร้างทั้งจากกรุงเทพฯ สมุทรปราการ ชลบุรี กำแพงเพชรและจังหวัดอื่น ๆ มากมายที่จะกล่าวถึงได้มาร่วมกันบริจาคทรัพย์สมทบทุนสร้าง โดยจำลองแบบให้คล้ายกับวัดพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลก 
        พ.ศ.2535 ร.อ.ทำนอง ผู้ได้ลงทุนลงแรงและตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะสร้างวัดให้สำเร็จได้ จนได้เห็นว่า การพัฒนาวัดดำเนินไปอย่างล่าช้า จึงตัดสินใจอุปสมบท (หลวงพ่อทำนองคุณงกโร) เพื่อสะดวกในการสร้างวัด และเผยแพร่พระศาสนาอย่างเต็มกำลังและได้นำทรัพย์สินส่วนตัวมาพัฒนาวัด พร้อมกันนี้ก็มุ่งเผยแพร่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าสู่ประชาชน เพื่อให้รู้จักการดำเนินชีวิตที่ดี รู้จักใช้หลักธรรมในการแก้ปัญหาชีวิต
         ปัจจุบัน วัดศรีโยธิน ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างศูนย์ราชการจังหวัดกำแพงเพชรกับหมู่บ้านศรีโยธิน ในอนาคตประชาชนและชุมชน สร้างบ้านเรือนหนาแน่นเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน มีถนนลาดยาง กำแพงเพชร-สุโขทัย แยกเข้าวัดศรีโยธินได้สะดวก จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาวัดให้ทันต่อความเจริญที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทางจังหวัดกำแพงเพชรจึงแต่งตั้งให้ วัดศรีโยธินเป็นวัดวิปัสสนากรรมฐานประจำจังหวัด	
         แต่ทั้งนี้ ทางวัดยังขาดศาสนสถานที่จำเป็นหลายอย่าง ได้แก่ ศาลาการเปรียญ จำนวน 1 หลัง เพื่อประกอบศาสนกิจและการประชุมอบรมของส่วนราชการต่าง ๆ และการปฏิบัติธรรม เพื่อรองรับการบวชศีลจารินี ปฏิบัติกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานเมื่อปี พ.ศ.2542 ได้บวชศีลจารินีเป็นรุ่นที่ 1 และบังเกิดผลดีมีประชาชนให้ความสนใจบวชปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมากและมีข้อบกพร่องและปัญหาเรื่องที่พักอาศัยยังไม่เพียงพอ ในปีนี้จึงได้สร้างศาลาปฏิบัติธรรมขึ้น 1 หลัง เพื่อสนองความต้องการและอำนวยความสะดวกให้แก่ท่านที่มาปฏิบัติธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ศาสนิกชนสืบต่อไป 
1 หลวงพ่อศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธิน.jpg

ภาพที่ 1 หลวงพ่อศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธิน

         วัดศรีโยธิน อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
         หลวงปู่ศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธิน เป็นพระพุทธรูปโกลนศิลาแลงที่ใหญ่ที่สุด ในจังหวัดกำแพงเพชร อาจจะใหญ่ที่สุดในประเทศไทยหรือในโลกก็ได้ พระพุทธศิลป์สมัยสุโขทัย หมวดกำแพงเพชรหรืออาจเรียกได้ว่าเป็นศิลปะ กำแพงเพชรปางมารวิชัยขัดสมาธิราบ หน้าตักขนาดใหญ่ กว่า 6 เมตร พระรัศมีเป็นเปลวเพลิง ขมวดพระเกศา เป็นก้นหอย พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระอังสาใหญ่ บั้นพระองค์เล็ก ครองสังฆาฏิยาวลงมาจรดพระนาภี ปลายสังฆาฏิเป็นลายเขี้ยวตะขาบ มีผู้สังเกตว่าพระพักตร์หลวงปู่จะเปลี่ยนไปตามสถานการณ์และอารมณ์ของผู้เข้ามากราบขอพร อาจจะยิ้ม ดุหรือเมตตา เศร้า นับว่าแปลกมาก  มีสังวาลเป็นพุทะรัตนะที่งดงาม ที่มีรูปแมงป่องยักษ์เป็นสัญลักษณ์ประจำองค์หลวงปู่ 
         พระปลัดสุพิน สุชีโว พระเลขาเจ้าอาวาสวัดศรีโยธิน ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ได้เล่าถึงประวัติความเป็นมาของวัดศรีโยธินว่าเป็นวัดที่สร้างโดย ร.อ.ทำนอง โยธินธนสมบัติ ต่อมาท่านได้บวชและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส นาม หลวงพ่อทำนอง คุณังกะโร (พระครูวุฒิวชิรสาสน์) เมื่อท่านสร้างวัดท่านนิมิตว่า มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งมาเข้านิมิตและจะมาช่วยสร้างวัด เมื่อท่านตื่นขึ้นก็ไปเที่ยวหาพระตามนิมิตและพบพระพุทธรูปโกลนศิลาแลง ขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร จมดินอยู่บริเวณหลังฌาปนสถานของเทศบาลในลักษณะ  ฝังดินอยู่ ได้ทำพิธีอัญเชิญขึ้นมามีชิ้นส่วนหลายชิ้นตามหลักการสร้างพระโกลนศิลาแลงขนาดใหญ่  เมื่ออัญเชิญขึ้นมาเกิดพายุใหญ่ ลมหมุนมืดครึ้มไปทั่วบริเวณ ได้ยกขึ้นมาพบแมงป่องจำนวนมากอยู่ใต้ฐานพระยกมาประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดศรีโยธินได้ตกแต่งให้เป็นองค์พระที่งดงาม เดิมเรียกกันว่าหลวงพ่อศิลาแลง ภายหลังขนานนามท่านว่าหลวงปู่ศรีสรรเพชญ์ เมื่อนำผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดีมาตรวจสอบพบว่าหลวงปู่ศรีสรรเพชญ์องค์นี้ สันนิษฐานว่าจะเป็นพระพุทธรูปที่วัดพระแก้วภายในกำแพงเมืองกำแพงเพชรที่ถูกเคลื่อนย้ายไปและนำไปซ่อนไว้ ที่พบพระและไม่สามารถนำไปได้ด้วยเหตุผลหลายประการ เมื่อหลวงพ่อทำนองมาพบและนำไปประดิษฐานเป็นพระประธานในโบสถ์วัดศรีโยธินเกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดมหัศจรรย์หลายประการ  ต่อมามีผู้โชคดีจากการถูกสลากกินแบ่งรัฐบาลที่นำเงินที่ได้มาส่วนหนึ่งมาสร้างวัดทำให้วัดศรีโยธินเจริญอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นความเชื่อของผู้คนในยุคสมัย หลวงปู่ศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธินจึงเป็นสิ่งมหัศจรรย์สิ่งหนึ่งที่พบในเมืองกำแพงเพชร
         หลวงปู่พระศรีสรรเพชญ์เป็นพระพุทธรูปโบราณเนื้อศิลาแลง สร้างสมัยใดไม่ปรากฏแต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสมัยสุโขทัยยุคต้น ซึ่งมีอายุประมาณ 1,000 ปี ขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดศรีโยธิน มีความเป็นมาดังนี้
         เมื่อวันเพ็ญเดือน 11 พ.ศ.2525 เป็นวันพระออกพรรษา มีผู้ใจบุญได้มาทำบุญตักบาตรหลายท่าน บางท่านก็มีรักษาศีลอุโบสถ โดยนอนค้างที่วัดศรีโยธินในจำนวนนี้มี ร.อ.ทำนอง ได้มารักษาศีลและนอนค้างที่วัดตอนเย็นหลังจากทำวัตรสวดมนต์เย็นแล้วก็มีการสนทนาธรรมกันในเรื่องหนึ่งที่คุยกันปรากฏว่าวันนี้เป็นวันพระออกพรรษาแล้วพรุ่งนี้พระที่จำพรรษาอยู่ก็จะกลับสู่ภูมิลำเนาเดิมหมดแล้วจะไปหาพระที่ไหนมาเฝ้าวัดให้เพราะวัดของเราสร้างใหม่อยู่ในป่าพระที่ไหนจะมาอยู่ให้  เมื่อพูดคุยกันแล้วก็ไม่มีใครคิดอะไรต่างก็หาที่หลับนอนพักผ่อน  ในขณะที่นอนพักผ่อนอยู่นั้น ร.อ.ทำนอง ก็ฝันไปว่ามีพระสงฆ์รูปหนึ่ง แก่ชรามาก หนังย่น ผิวคล้ำ มานั่งที่ศาลาที่คณะรักษาศีลอุโบสถนอนอยู่ โดยที่ผู้ฝันไม่รู้ท่านมาจากไหนอย่างไร
         เมื่อท่านมานั่งแล้วยังยกมือขึ้นแล้วบอกว่าโยมไม่ต้องวิตกฉันจะมาเฝ้าวัดให้มาช่วยสร้างวัดสร้างบ้านเมืองช่วยให้สะดวกเจริญ เมื่อผู้ฝันทราบครั้งแรกไม่ค่อยเชื่อถือไม่เลื่อมใสเพราะเคยหาพระมาเฝ้าวัดมากต่อมากแล้วไม่ได้ดีสักหนแต่ก็จำใจพูดไปว่าหลวงพ่อแก่แล้วจะมาสร้างวัดไหวหรือ อย่างดีก็พอเฝ้าวัดได้เท่านั้น ท่านพูดขึ้นว่า ไหวซิ ถ้ามาแล้วก็จะหนุ่มขึ้นผู้ฝันจึงตอบไปว่าคนแก่แล้วจะให้หนุ่มได้อย่างไร หลวงพ่อมียาดีหรือท่านบอกว่ามีผู้ฝันก็รบเร้าท่านให้บอกยา ท่านก็บอกให้และบอกว่ายานี้กินเข้าไปแล้วมันไม่หนุ่มเหมือนคนหนุ่มทั้งหลายนะแต่แข็งแรงทำงานไหว
         ในตอนพูดคุยกัน ผู้ฝันสนใจมากอยากจะได้ท่านมาอยู่ด้วยจึงถามท่านว่า หลวงพ่ออยู่ที่ไหน ชื่ออะไร ผม จะไปรับท่านมา ท่านก็ไม่อยากจะบอก เมื่อทนผู้ฝันรบเร้าไม่ไหว ท่านก็บอกให้ว่าท่านชื่อพระศรีสรรเพชญ์ อยู่องค์เดียวมานานแล้วทางตะวันออกของเมืองกำแพงเพชร เมื่อสนทนากันแล้วไม่ว่าท่านกับผู้ฝันไปกันอย่างไร ท่านจะไปทางไหนผู้ฝันไม่ทราบ ต่อมาเมื่อถึงตอนตี 5 ทุกคนได้ลุกจากที่นอนเตรียมที่จะไปทำวัตรเช้า ก่อนทำวัตรเมื่อพระรวมกันที่ศาลาครบแล้ว ผู้ฝันก็ได้เล่าเรื่องนิมิตให้ทุกคนฟัง และทุกคนก็บอกว่าฝันดีจะมีโชค เมื่อทำวัตรสวดมนต์แล้ว ก็ทำบุญตักบาตรกันเพราะเป็นวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 เมื่อทำบุญเช้าเสร็จแล้ว พระทุกรูปต่างก็กลับภูมิลำเนาเดิมกันหมด เนื่องจากที่วัดไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าภาพทอดกฐิน 
         เมื่อพระต่างกลับภูมิลำเนาหมดแล้วที่วัดก็ไม่มีผู้ใดจะเฝ้าวัด ผู้ฝันจึงจัดการจ้างคนมานอนเฝ้าวัดต่อไป ขณะที่จ้างคนมานอนเฝ้า วันนั้น ผู้ฝันก็คิดถึงคำพูดที่พูดกัน และใบหน้าของท่านเสมอ ๆ จึงอยากไปพบท่าน จนสุดความสามารถที่จะไปติดตามพบท่านได้เพราะไปถามใคร ๆ ก็ไม่รู้จักชื่อและที่อยู่กันทั้งนั้น แต่ผู้ฝันก็ไม่วายที่จะอดนึกถึงท่านได้จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปบ้านเพื่อไปพบพระครูรูปหนึ่งที่ชอบกัน ท่านอยู่ที่บุคคโลเมื่อไปถึงก็เล่าความฝันให้ท่านฟังทั้งหมด เมื่อท่านทราบแล้วก็บอกว่า โยมฉันทำนายฝันไม่เป็นฝันแปลกดี ฉันจะพาไปพบอาจารย์ของฉันแล้วกัน ท่านได้ทำนายฝันแม่นมาก ท่านพาผู้ฝันไปที่วัดสามปลื้มไปพบสมเด็จวัดสามปลื้มเล่าความฝันให้ท่านฟัง ท่านทราบแล้วบอกว่าโชคดีมากฝันดีที่วัดที่บ้านแถวถิ่นจะเจริญรุ่งเรืองกลับไปนี้ให้ไปรับท่านตามที่ฝันนะ แล้วผู้ฝันก็กลับบ้านกำแพงเพชรด้วยความมืดมนไม่รู้จะไปทางไหน ไม่ถามใครอีกเพราะไม่รู้จะถามใครแล้ว แต่จิตใจก็ยังพะวงคิดอยู่เสมอ อยู่มาวันหนึ่ง จึงได้ชวนนายไฉนไปเที่ยวในเมืองเพื่อหาอาหารทานกัน ขณะนั้นที่วัดคูยางกำลังสร้างเมรุ แต่แปลกเมรุที่สร้างขึ้นเป็นเมรุแฝดคือในปล่องเดียวกันนั้นมีเต่าคู่คือแฝดจึงเข้าไปดู เมื่อดูเมรุแล้วก็เตรียมจะกลับกัน เผอิญสายตามองไปพบต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่งยังไม่ทราบว่าต้นอะไร แต่ตรงยอดต้นนั้นแกว่งไกวไปรอบ ๆ ส่วนกิ่งอื่น ๆ ไม่ไหวติงเลยแม้แต่น้อยขณะนั้นเวลาร่วม 11.00 น. ไม่มีลมเลยจึงได้ชวนนายไฉนเข้าไปดู แต่นายไฉนบอกว่าน่าแปลกทำไมจึงหมุนอยู่กิ่งเดียวกิ่งอื่น ๆ ทำไมไม่หมุนด้วย จึงไปดูกันแต่นายไฉนค้านบอกว่าแก่แล้วเดินไม่ไหวเพราะป่ารกมากมีกอไผ่หนามทุกชนิด รวมทั้งต้นหมามุ้ยก็มาก แต่โดยที่อยากเห็นจึงบอกนายไฉนว่าให้ตามผมไป ผมจะเป็นผู้แหวกป่าเองให้ตามมาโชคดีถ้าเราจะจับชะนีได้ เพราะต้องเป็นชะนีหรือลิงแน่แต่พอไปถึงใกล้ ๆ กิ่งไม่ก็เงียบไม่ไหวติง  แต่อย่างใด เมื่อเดินอ้อมไปก็พบเนินดินใหญ่ซึ่งป่ารกมากเมื่อขึ้นไปถึงเนินดินแล้วก็พอดีไปเหยียบตรงไหล่ของท่านเข้าสะดุดเท้าพอดีจึงก้มลงแหวกหมู่หญ้าดูจนพบเศียรและไหล่ของท่านอยู่ในท่าตะแคงเอียงเล็กน้อย โผล่ดินขึ้นมาไม่มากนัก เมื่อแรกพบเห็นท่านเหมือนกับใจถูกไฟฟ้าช็อตวูบร้อนผ่าวไปทั้งตัว และดีใจมากเหมือนได้พบกับตอนที่ฝัน พร้อมกับกำชับนายไฉนว่าอย่าไปบอกใครเป็นอันขาด ให้ปิดไว้ก่อน แล้วคิดว่าทำอย่างไรจึงจะรับท่านมาได้ ต่อมาได้พยายามหาบุคคลอื่นที่แข็งแรงไปช่วยกันขุดอยู่ 3 วันจึงสำเร็จ นายเสา หมอมา และบุคคลอื่นรวม 8 คน แต่ก่อนจะลงมือก็จุดธูปเทียนบอกนิมนต์ท่าน พอจะลงมือขุดครั้งแรกไม่มีใครลงมือขุดก่อน เพราะกลัวจะมีอันเป็นไป
         คณะขุดจึงยกให้ผู้กองเป็นผู้ลงมือขุดก่อน เพราะเป็นผู้ฝันตกลงผู้ฝันต้องขุดเป็นคนแรก เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง ขณะที่ยกจอบขึ้นครั้นจะลงดิน ได้มีแมลงป่องช้างตัวเท่าปูนาขาวโผล่ขึ้นมายกก้ามปูหางขึ้นผู้ขุดก็หยุดจอบ แล้วก็บอกว่าไป ๆ หลวงพ่อท่านบอกให้มารับท่านไปอยู่ที่วัดขอให้หลีกไป แมลงป่องช้างตัวใหญ่สีขาวนั้นก็เดินเข้าป่าหายไป จึงทำการขุดกันได้โดยสะดวกขณะที่ขุดเอาท่านขึ้นมานั้นลักษณะท่านสมบูรณ์ 80% แต่ขุดจอบทำชะแรงไปถูกเอาองค์ท่านทำให้เกิดแตกบิ่นผุพังไปก็มาก เพราะลักษณะศิลาแลงจมดินอยู่นาน ๆ จะเกิดการอ่อนตัวยุ่ย จึงให้ช่างซ่อมแซมดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
         การขนย้ายเนื่องจากท่านหลวงปู่ท่านเป็นองค์ใหญ่ หน้าตัก 6 เมตร เนื้อศิลาแลงทั้งองค์น้ำหนักมากจำเป็นต้องใช้รถยกและรถบรรทุกคันใหญ่จึงจะไหว ร.อ.ทำนองจึงไปหานายกวย ศิลาหลัก ซึ่งมีเครื่องมือที่ทำการได้ นายกวยบอกว่าจะทำบุญด้วย แต่ขอค่าน้ำมันและค่าแรงคนงาน 2,000 บาท แต่ ร.อ.ทำนองไม่มีเงินมีเงินอยู่ 70 บาทจึงขอผลัดไปหาเงินก่อนสัก 3 วันแล้วก็ไปหาเงินที่นายสุวรรณ เล่าความให้ฟังที่ต้องการเงิน นายสุวรรณบอกว่า เงินไม่มีให้ไปหาคุณหยี เมื่อไปหาคุณหยีแล้วก็เล่าให้ฟังคุณหยีบอกว่าการย้ายพระพุทธรูปนี้อย่ามาเกี่ยวข้องกับฉันเลยฉันไม่เอาด้วยหรอก  เพราะครั้งหนึ่งบิดาของฉันไปหว่านแหหาปลาไปได้พระพุทธรูปเศียรขาดนำมาบ้านมาจัดการซ่อมเศียรแล้ว ทำให้พ่อทอดผ้าป่าถวายเท่าอายุหรือทำบุญอุทิศให้อย่างอื่น ๆ อีกหลายอย่างพ่อฉันไม่หายฉันไม่เล่นด้วย ร.อ.ทำนอง บอกว่าที่มานี้ไม่ได้ให้คุณเล่นด้วยแต่จะมาขอกู้เงินไปให้ค่ารถบรรทุกพระให้นายกวยเจ้าของรถ เพราะเขาจะเอา 2,000 บาท คุณหยีบอกว่าเงินไม่ต้องกู้จะหาให้แต่ฉันไม่รับรู้ด้วย ขณะนี้ยังไม่มีเงินให้กลับไปบอกนายกวยซึ่งเป็นคนชอบพอกันว่าหยีจะจัดการให้เอง เมื่อนำความไปบอกให้นายกวยทราบแล้วก็ตกลงนัดกันที่จะบรรทุกหลวงพ่อมาที่วัด แต่มานึกขึ้นว่าการที่จะนำหลวงพ่อซึ่งใหญ่มากไปตามเส้นทางซึ่งผ่านสถานที่ราชการ หลายหน่วยงานคงจะเป็นการไม่ดีหรือไม่เหมาะสมจึงไปติดต่อกับหน่วยกรมศิลปากรจังหวัดกำแพงเพชร ได้คำตอบว่าถ้าเป็นพระพุทธรูปเคลื่อนย้ายไม่ได้ แต่นี้ไม่ใช่พระพุทธรูปเป็นแค่เพียงแกนในของพระซึ่งไม่ใช่พระพุทธรูป ประกอบกับทางวัดศรีโยธินไม่มีพระพุทธรูปบูชาจึงจำเป็นที่จะต้องเอาแกนในที่ชำรุดแตกหักไปเพื่อซ่อมแซมไว้กราบไหว้บูชาเพื่อเป็นหลักทางใจ ครั้นเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 เวลา 12.00 น. เริ่มลงมือทำการขนย้ายจนกระทั่งเวลาบ่าย 5 โมงเย็น จึงจัดการขึ้นรถบรรทุกได้เรียบร้อยแล้วก็มีคนโจษขานกันว่าเขาขุดพระกำลังเอาขึ้นรถคณะศรัทธาตลาดแผงลอยจังหวัดกำแพงเพชรได้ปิดการขายของแห่กันมาดูกันแน่นเป็นประวัติการณ์เมื่อมาเห็นแล้วต่างก็อนุโมทนาบริจาคทรัพย์ทำบุญได้เงินถึง 3,000 บาท เป็นอันว่าค่าจ้างรถบรรทุกพอและยังได้เงินเกินไว้ทำอย่างอื่นอีกพอนิมนต์องค์ท่านมาถึงวัดศรีโยธินเวลานั้นประมาณ 18.00 น. 
         พอจัดการนำองค์ลงจากรถเรียบร้อยพอดีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 คันรถปิกอัพมาถึงวัดแจ้งว่ามีผู้แจ้งว่ามีคนนำพระพุทธรูปมาจึงมาสอบถามและชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทราบแล้วก็กลับไป  หลังจากนั้น ร.อ.ทำนองก็จัดการ ทำปะรำพิธีขึ้นโดยหาผ้าจีวรเก่ามามุงทำหลังคา นัดหมายกับผู้มีจิตศรัทธาทั่วไปร่วมกันสวดมนต์พระพุทธคุณ คืนละ 108 จบมีกำหนด 4 คืนแบ่งสวดกันคืนละ 50 คนเป็นอย่างน้อยโดยใช้เทียนเป็นแสงสว่าง ตอนนั้นที่วัดยังไม่มีไฟฟ้าใช้และนัดหมายกันว่าเมื่อสวดครบ 4 คืนแล้วจะทำบุญตักบาตรกันเพื่อเป็นการสมโภช พอสวดไปถึงคืนที่ 4 ก็เกิดประหลาดมีแสงสว่างพุ่งขึ้นไปบนท้องฟ้ายาวจนชาวบ้านแตกตื่นหนังสือพิมพ์ลงข่าวไปทั่วจนทำให้ประชาชนมากราบนมัสการกันทั่วประเทศ บางท่านก็มาขอน้ำมนต์รักษาโรคต่าง ๆ บางท่านก็มาขอโชคลาภ          สมความปรารถนาไปก็ไม่น้อย ต่อมาเมื่อทำบุญเสร็จแล้ว ร.อ.ทำนองก็หาช่างมาซ่อมแซมบูรณะให้สมบูรณ์ดี ตกลงมอบให้หลวงพ่อเรียบเป็นผู้ปฏิสังขรณ์โดยเตรียมเครื่องสูบน้ำแปลงขัดถูรวมคนมาช่วยกันขัดเอาดินและรากหญ้าออกจากองค์ท่าน โดยหลวงพ่อเรียบเป็นผู้จัดให้มีคนยืนประมาณ 10 คนเศษ ร.อ.ทำนองจึงพูดขึ้นลอย ๆ ว่า หลวงพ่อขอเลขท้ายรางวัลที่ 1 ที่ออก 3 ตัวหน่อยจะได้เอามาสร้างวัดวิหาร หลวงพ่อเรียบเอ่ยขึ้นว่า นี่โยมประสาทดีหรือเปล่า ร.อ.ทำนอง ตอบว่า ผมไม่บ้านะ แต่ขอหวยหลวงพ่อ แต่ทุก ๆ คนก็หัวเราะกันท่าน เชื่อไหมครับ ต่อมาอีกประมาณ 10 นาทีเศษ ร.อ.ทำนองเห็นเลขขึ้นที่แก้มของท่านด้านซ้ายเป็นเลขใหญ่และเป็นตัวนูน เลขที่เห็นคือ 085 ต่อมา อีก 3 วันหวยเลขท้ายรางวัลที่ออก 085 ตรง ๆ มีผู้โชคดีถูกกันหลายท่าน แต่ ร.อ.ทำนองไม่ถูกเพราะไม่ได้ซื้อ ต่อจากนั้นผู้คนหลั่งไหลกันมาขอโชคไม่ขาดสายจนได้เงินสร้างวิหารไม้ชั่วคราวไว้ให้ท่านประดิษฐาน (ในการซ่อมแซมครั้งนั้น หลวงพ่อเรียบทำการไม่เสร็จเพราะทำเท่าไรก็ไม่ได้ มีคนบอกว่าบวงสรวงไม่ถูก แต่จริง ๆ จะเป็นอย่างใดไม่ทราบได้) 
         เมื่อก่อแท่นเสร็จก็นิมนต์ท่านขึ้นสู่บัลลังก์ทั้ง ๆ ที่องค์ยังไม่สมบูรณ์ดี วันยกขึ้นบังลังก์คือวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ.2536 เวลา 15.41 น. โดยใช้รถขององค์การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำแพงเพชร ประชาชนมาประมาณ 700 คน ใช้ด้ายสายสิญจน์ 3 สายโยง ผู้คนที่มาในงานต่างก็ถือสายสิญจน์โยงกันเกือบทุกคน พอรถยกองค์ท่านขึ้นสูงจากพื้นดินประมาณเลยสะดือก็มองเห็นแมงป่องช้างตัวใหญ่สีขาวจำนวน 3 ตัวอยู่ใต้ฐานที่ท่านนั่งอยู่จากนั้นก็เกิดพายุหมุนจนใบไม้และฝุ่นตลบอบอวนไปทั่วบริเวณทั้ง ๆ ที่ก่อนจะยกท่านขึ้นนั้น ไม่มีวี่แววจะมีลมเลย ขณะที่คนแตกตื่นลมนั้น ด้ายสายสิญจน์ที่โยงหายหมด จนกระทั่งนายลิ่ม ขุนพิทักษ์ พัสดีเรือนจำ จังหวัดกำแพงเพชร ต้องเข้ามาพูดบอกกล่าวในเครื่องขยายเสียงว่าตัวท่านบวชเรียนมาร่วม 10 ปีไม่เคยเห็นอภินิหารอย่างนี้มาก่อนเลย และคนอื่นก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยพบเห็นที่ใดมาก่อนเช่นกัน  เมื่อท่านได้เข้าที่เรียบร้อยแล้วจึงได้ติดต่อช่างถวิลที่จังหวัดนครสวรรค์ซ่อมแซมดังที่ปรากฏอยู่ เมื่อเสร็จแล้วคณะศรัทธาได้จัดพิธีทำบุญกันอีก
         ตอนนี้นอกจากสีแสงท่านออกให้ชาวบ้านได้ชมบารมีแล้วโดยเฉพาะวันพระ 15 ค่ำจะมีแสงสว่างราว ๆ 5 นาทีก็หายเป็นอยู่อย่างนี้ถึง 2 พรรษา มีผู้คนมาพิสูจน์กันมากมายจนเป็นที่เล่าลือกันไปทั่วทุกสารทิศ จึงมีผู้มากราบไหว้ไม่ขาด นอกจากนี้ยังมีผู้มาบนบานสานกล่าวท่านในทางขอหวยให้ทวงถามหนี้ได้ ให้หางาน เข้างานได้อีกมากมาย การสร้างคุณงามความดีนั้น ทำไปเถิดถึงจะไม่เห็นผลเร็วในชาตินี้ ก็จะเป็นกุศลตามส่งไปชาติหน้าเปรียบเหมือนเราสะสมเตรียมอาหารไว้สำหรับเดินทางไปในถิ่นกันดารไม่ต้องกลัวความตายหรือไปขอส่วนบุญของใคร ๆ ใครทำใครได้ เราต้องทำเองเหมือนกับเราทานข้าวเราทานเองเราก็อิ่มเอง คนอื่นจะทานแทนเราแล้ว ก็อิ่มแทนเรานั้นไม่ได้ นี้คือตัวจะต้องสร้างกุศลด้วยตนเอง ทรัพย์สิน บริวารเอาไปด้วยไม่ได้ มีแต่ผลบุญบาปเท่านั้นที่กระทำไว้ จะต้องติดตามไปทุกภพทุกชาติ 
         โกลนพระพุทธรูป โกลนพระพุทธรูปคือ
             1. เกลาไว้ ทำเป็นรูปเลา ๆ ไว้ เช่น โกลนไม้ โกลนเรือ
             2. การขึ้นรูปวัตถุหรือสิ่งก่อสร้างที่เป็นไม้ ดิน อิฐ หิน ปูน ศิลาแลง ด้วยการถาก เกลา หรือปั้นอย่างคร่าว ๆ ก่อนตกแต่งให้สมบูรณ์ต่อไป
2 ตัวอย่างลักษณะโกลนพระพุทธรูปสมัยทวารวดี.jpg

ภาพที่ 2 ตัวอย่างลักษณะโกลนพระพุทธรูปสมัยทวารวดี

         พระศรีสรรเพชญ์
         ที่มาชื่อพระศรีสรรเพชญ์
             พระพุทธรูปในวัดศรีโยธินที่ค้นพบมาจากวัดพระน้อย (หรือวัดคูยางในปัจจุบัน) ชาวบ้านศรีโยธินต่างขานนามว่าพระศรีสรรเพชญ์ตั้งแต่สมัยที่ค้นพบพระพุทธรูป แต่ไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นผู้ตั้งชื่อพระศรีสรรเพชญ์แต่ก็ได้เรียกขานนามพระศรีสรรเพชญ์มาจนถึงปัจจุบัน
         ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
             วัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือวัดพระศรีสรรเพชญ เป็นวัดหลวงในพระราชวังโบราณ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา อีกทั้งยังเป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาเที่ยวชมศึกษาความงามทางประวัติศาสตร์ที่ยังเหลือเอาไว้ในสถานที่แห่งนี้
         วัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือ วัดพระศรีสรรเพชญ เป็นอดีตวัดหลวงประจำพระราชวังโบราณอยุธยา ตั้งอยู่ที่ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทางทิศเหนือของวิหารพระมงคลบพิตรในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา สร้างชึ้นราวปี พ.ศ.1991 โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
3 วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา.jpg

ภาพที่ 3 วัดพระศรีสรรเพชญ์ อยุธยา

             วัดพระศรีสรรเพชญ์มีจุดที่น่าสนใจที่สำคัญคือ เจดีย์ทรงลังกาจำนวนสามองค์ที่วางตัวเรียงยาวตลอดทิศตะวันออกและทิศตะวันตกของวัด สร้างขึ้นเป็นองค์แรกทางฝั่งตะวันออก เมื่อปี พ.ศ.2035 โดยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 เพื่อบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พระราชบิดา) ต่อมาในปี พ.ศ.2042 ก็ทรงให้สร้างเจดีย์ องค์ต่อมา (องค์กลาง) ของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (พระเชษฐาต่างพระมารดาของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2) และเจดีย์ฝั่งตะวันตกของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 ก็ทรงสร้างเจดีย์อีกองค์ในฝั่งทิศตะวันตกให้สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 พระราชบิดา รวมเป็นสามองค์ตามปัจจุบัน
         ข้อสันนิษฐาน
         ข้อสันนิษฐานที่ 1 พระศรีสรรเพชญ์ที่ต่างเล่าว่าค้นพบมาจากวัดพระน้อย (หรือวัดคูยางในปัจจุบัน) อาจไม่ได้ค้นพบที่วัดพระน้อยเพราะว่าวัดพระน้อยในอดีตมีพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรซึ่งองค์พระใหญ่กว่าพื้นที่วัดพอสมควร เหตุที่ถูกขุดค้นพบจึงไม่สมเหตุสมผลที่จะอยู่ในพื้นที่วัดพระน้อยได้
         ข้อสันนิษฐานที่ 2 พระศรีสรรเพชญ์อาจจะถูกขโมยมาจากวัดพระแก้วในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร แต่ด้วยองค์พระที่ค่อยข้างมีขนาดใหญ่มาก ทำให้เคลื่อนย้ายไม่ได้สะดวกมากและเป็นที่ผิดสังเกตของผู้คนโดยทั่วไป จึงทิ้งไว้ที่วัดพระน้อย (หรือวัดคูยางในปัจจุบัน)
         ข้อสันนิษฐานที่ 3 ตามที่เล่าขานกันมาว่าพระศรีสรรเพชญ์อยู่ในสมัยสุโขทัยตอนต้น มีอายุราว 1,000 ปี อาจไม่เป็นความจริง เพราะศิลาแลงพึ่งถูกคิดค้นมาสร้างองค์พระในสมัยอยุธยาและลักษณะองค์พระนั้นคล้ายคลึงกับสมัยอยุธยามากกว่า ซึ่งมีอายุแค่ราว 200 กว่าปีเท่านั้น
         วัดพระแก้ว อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร
4 วัดพระแก้ว ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร.jpg

ภาพที่ 4 วัดพระแก้ว ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

         เป็นวัดอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ ตั้งอยู่กลางเมือง เช่นเดียวกับวัดมหาธาตุสุโขทัยและวัดศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยาเป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาสไม่มีพระภิกษุสงฆ์จำพรรษา สิ่งก่อสร้างภายในวัดเรียงเป็นแนวยาวตามแกนตะวันออกขนานกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีขนาดใหญ่บนฐานมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปประธานถัดมาเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ฐานมีสิงห์รอบจำนวน 20 ตัว วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสามองค์ และตอนท้ายสุดเป็นเจดีย์ทรงระฆังประดับช้างปูนปั้นที่ฐานโดยรอบจำนวน 32 เชือก
5 พระประธานที่อยู่ในวัดพระแก้ว.jpg

ภาพที่ 5 พระประธานที่อยู่ในวัดพระแก้ว

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม[แก้ไข]

         หลวงปู่พระศรีสรรเพชญ์ เป็นพระพุทธรูปโบราณเนื้อโกลนศิลาแลง คือพระพุทธรูปไม่มีหน้า ขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ในการสร้างพุทธรูปจึงต้องสร้างชิ้นส่วนของพระพุทธรูปแยกชิ้นกัน เป็นส่วนพระเศียร ส่วนตัว แขนและฐาน แล้วนำมาประกอบกันเป็นองค์พระ ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสมัยสุโขทัยยุคต้น ซึ่งมีอายุประมาณ 1,000 ปี แต่ในการสร้างวัดศรีโยธินจึงได้อัญเชิญพระศรีสรรเพชญ์ มาประดิษฐานที่วัดจึงได้มีการนำช่างมาตกแต่งพระพุทธรูป โดยการเอาเนื้อศิลาแลงมาทำให้ป่นแล้วนำมาฉาบ ตามองค์พระแล้วทำการใส่หน้าตาให้พระศรีสรรเพชญ์ให้ดูสวยงามและแตกต่าง เราจึงไม่สามารถเห็นองค์ตามแบบเดิมได้ ในปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวิหาร วัดศรีโยธิน หมู่บ้านศรีโยธิน
6 หลังพระวิหารวัดศรีสรรเพชญ์.jpg

ภาพที่ 6 หลังพระวิหารวัดศรีสรรเพชญ์

7 ฐานพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์.jpg

ภาพที่ 7 ฐานพระพุทธรูปพระศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธินที่ยังคงเห็นเป็นเนื้อศิลาแลง

บุคคลที่เกี่ยวข้อง[แก้ไข]

         ทำนอง  โยธินธนสมบัติ หรือหลวงพ่อทำนอง คุณังกะโร  (เจ้าอาวาสวัดศรีโยธิน)
         พระปลัดสุพิน  สุชีโว  (พระลูกวัด)
         อาจารย์สันติ  อภัยราช (นักปราญ์เมืองกำแพงเพชร)
         นายอุดร  เดชประเสริฐ (ชาวบ้านวัดศรีโยธิน)

วิธี/ขั้นตอน/กระบวนการในการสักการะ[แก้ไข]

         บูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน
             • ธูป 3 ดอก
             • เทียน 1 เล่ม
             • ดอกไม้
             ตั้งนะโม 3 จบ 
             อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวันตัง อะภิวาเทมิ (กราบ 1 ครั้ง)
             สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ (กราบ 1 ครั้ง)
             สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆัง นะมามิ (กราบ 1 ครั้ง)
         คำบูชา
             อิมินา สักกาเรนะ สิริโยธินวะนารามะวิหาร สุปะติฎฐิตัง สรสัพพะวิชะญะพุทธะปะฎิมัง
             อะภิปูชะยามิ สัพพะพุทธานุภาเวนะ อะโรโค เจวะ ทีฆายุโก จะ สุขิโต ลาโก จะ ยะโย
             สัพพะโสตถี โหมิ สัพพะทา

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

แหล่งอ้างอิง[แก้ไข]

         อาจารย์สันติ อภัยราช (นักปราญ์เมืองกำแพงเพชร)
         นายอุดร เดชประเสริฐ (ชาวบ้านวัดศรีโยธิน)
         (หนังสือพระศรีสรรเพชญ์, 2550, หน้า 1-8)
         (หนังสือคู่มือทำวัตรเช้า-เย็น เมตตาพรหมวิหารภาวนา, 2555, หน้า 2-3,5-7)

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         03 สิงหาคม พ.ศ.2563
         23 กันยายน พ.ศ.2563
         24 กันยายน พ.ศ.2563
         01 ตุลาคม พ.ศ.2563
         11 พฤศจิกายน พ.ศ.2563

วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         28 สิงหาคม พ.ศ.2563
         24 กันยายน พ.ศ.2563
         01 ตุลาคม พ.ศ.2563
         15 พฤศจิกายน พ.ศ.2563

ผู้สำรวจ[แก้ไข]

         นางสาวยุชิตา  กันหามิ่ง
         นางสาวเบญจมาศ  ผิวขาว
         นางสาววนิดา  ประเสริฐกุล 

คำสำคัญ[แก้ไข]

         พระศรีสรรเพชญ์, หรือ หลวงปู่ศรีสรรเพชญ์, วัดศรีโยธิน,หลวงพ่อทำนอง, บ้านศรีโยธิน

บทสรุป[แก้ไข]

         จากการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลพระศรีสรรเพชญ์ วัดศรีโยธิน ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พบว่า เรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกเล่าขานต่อกันมานั้น อาจจะผิดเพี้ยนหรือมีข้อสันนิษฐานเพิ่มเติมขึ้นมา แต่ก็ไม่สามารถทำให้ชาวบ้านวัดศรีโยธินเสื่อมศรัทธาในพระศรีสรรเพชญ์ได้ ในปัจจุบันชาวบ้านยังคงเข้าวัดทำบุญและเคารพกราบไหว้บูชาพระศรีสรรเพชญ์เช่นเดิมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน