ฐานข้อมูล เรื่อง “กระบวนการทำพระเครื่องพิมพ์ดิน” ณ แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม

จาก KPPStudies
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:33, 19 เมษายน 2564 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย "=='''ข้อมูลทั่วไป'''== ==='''ชื่อสถานที่'''=== แหล่งเรียนรู้การ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป

ชื่อสถานที่

         แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม

ชื่อเรียกอื่น ๆ

        บ้านลุงโป้ย

ศาสนา

         ศาสนาพุทธ

ที่ตั้ง (ที่อยู่)

         หมู่ที่ 3 บ้านปากคลองใต้ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 62000

ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์

         ละติจูด (Latitude) : 16.479173
         ลองติจูด (Longitude) : 99.506302

หน่วยงานที่ดูแลรักษา

         เทศบาลเมืองกำแพงเพชร

สถานการณ์ขึ้นทะเบียน

         -

วันเดือนปีที่ก่อสร้าง

         เริ่มเปิดทำการอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘

ข้อมูลจำเพาะ

ความเป็นมาของแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม

         แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม เป็นแหล่งเรียนรู้ที่คอยถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำพระเครื่องพิมพ์ดินเผา ด้วยกรรมวิธีโบราณแบบดั่งเดิมที่สืบทอดต่อกันมาของช่างทำพระเครื่องในสมัยอดีต ให้กับผู้ที่สนใจ ทั้งคนในชุมชน นักท่องเที่ยว ทั้งไทยและชาวต่างชาติ  ปัจจุบันการจะหาชมพระเครื่องของเมืองนครชุมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากเสียหน่อย แต่หากว่ามาที่แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุมแห่งนี้ก็จะได้เห็นพระเครื่องรวมถึงกระบวนการทำพระเครื่องจากตัวเจ้าของแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเอง
         แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุมแห่งนี้ เริ่มต้นมาจาก นายสมหมาย พยอม ผู้มีถิ่นฐานอยู่ใน   นครชุมและได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่กับช่างทำพระเครื่องหรือผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่องบ่อยครั้งด้วยความที่มีใจรัก จึงศึกษาและจดจำวิธีการทำพระเครื่องจากช่างทำพระเครื่องในกำแพงเพชร แล้วนำมาทดลองทำพระซุ้มกอได้เป็นองค์แรก ในปี พ.ศ.2551 ก็ได้จัดตั้งแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุมขึ้น ในพื้นที่บริเวณบ้านพักของตนเองเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ที่สนใจในเรื่องวิธีการทำพระเครื่อง ซึ่งภายในแหล่งเรียนรู้ก็จะมีสมาชิกที่คอยสาธิตกระบวนการทำพระเครื่องในขั้นตอนต่างๆ ให้ได้ชม ได้ฝึกปฏิบัติการการทำพระเครื่องด้วยมือตนเอง และยังสามารถนำพระเครื่องที่ตนได้ทำเองนั้นกลับไปได้อีกด้วย
ภาพที่ 1 แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม.jpg

ภาพที่ 1 แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม

ขั้นตอนการพิมพ์พระเครื่องของแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม

         สำหรับการทำพระเครื่อง หรือพระพิมพ์ดินนั้น เริ่มจากการนำดินที่ได้มาทุบ แล้วหมักไว้ 1 คืน จากนั้นก็นำดินมานวดให้นิ่มพอดี ไม่แข็งหรือเหลวเกินไป ถัดมา ให้นำแป้งมาโดยที่แม่พิมพ์พระเพื่อที่เวลากดดินลงกับแม่พิมพ์แล้วดินจะได้ไม่ติดกับแม่พิมพ์ และสามารถนำดินออกมาได้ง่ายโดยแม่พิมพ์พระที่ใช้ก็ได้มาจากการจำลองจากพระเครื่องนครชุมของแท้ ที่เป็นของเก่าของแก่จึงทำให้พระพิมพ์ที่ทำออกมานั้นมีรูปร่างลักษณะคล้ายกับของเก่ามากทีเดียว เมื่อกดดินลงกับแม่พิมพ์จนดินขึ้นเป็นรูปแล้ว ก็นำออกมาใส่ถาดพึ่งลมไว้ในร่มประมาณจนแห้ง และนำออกตากแดดให้แห้งสนิทต่อด้วยการนำพระไปเผาที่เตาประมาณ ๒๔ ชั่วโมง ซึ่งจะต้องคอยเติมถ่าน และควบคุมไม่ให้ไฟแรงเกินไป ครบกำหนดเวลาแล้วก็นำพระออกจากเตา นำมาวางเรียงเพื่อใส่รา ใส่คราบพระ สุดท้ายให้นำใบตองแห้งของกล้วยน้ำว้ามาขัด ก็จะได้พระเครื่องนครชุมที่ดูคล้ายของเก่าแก่ พระเครื่องหรือพระพิมพ์ ที่ได้มานั้น ทำให้คนรุ่นปัจจุบันได้ศึกษาตั้งแต่ความเป็นมาตั้งแต่สมัยก่อน จนมาถึงกระบวนการทำพระในสมัยนี้ ที่ยังคงความงามตามภูมิปัญญาดั้งเดิมของชนชาวไทย และยังเป็นการสืบสานพุทธศิลป์ที่สวยงามนี้ไว้ต่อไป โดยในปัจจุบันมีคุณดวงรัตน์ พะยอม เป็นผู้สอนและถ่ายทอดกระบวนการทำพระเครื่องพิมพ์ดินให้กับที่แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม
ภาพที่ 2 คุณดวงรัตน์ พะยอม.jpg

ภาพที่ 2 คุณดวงรัตน์ พะยอม ผู้ดูแลและถ่ายทอดองค์ความรู้การทำพระเครื่องในแหล่งเรียนรู้

         แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร ได้มีขั้นตอนการพิมพ์พระได้แก่การทำ  พระพิมพ์เล็ก และพิมพ์ใหญ่ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 
         ในกระบวนการทำพระเครื่องนั้นจะแบ่งขึ้นตอนการทำเอาไว้อยู่ 5 กระบวนการหลักๆ ดังนี้
             1. กระบวนการเตรียมดิน
             2. กระบวนการพิมพ์พระ
             3. กระบวนการผึ่งและตากพระ
             4. กระบวนการเผา
             5. กระบวนการใส่รายละเอียดพระ

ตารางแสดงการเปรียบเทียบขั้นตอนในการทำพระเครื่องพิมพ์ดินเผาขนาดเล็กและขนาดใหญ่

ขั้นตอนการทำพระพิมพ์เล็ก ขั้นตอนการทำพระพิมพ์ใหญ่
- ทุบดิน (หมักไว้ 1 คืน) - ทุบดิน (หมักไว้ 1 คืน)
- นำดินมานวดให้นิ่ม (ไม่เหลวหรือแข็งเกินไป) - นำดินมานวดให้นิ่ม (ไม่เหลวหรือแข็งเกินไป)
- โรยแป้งที่แม่พิมพ์พระ - โรยแป้งที่แม่พิมพ์พระ
- นำดินมากดที่แม่พิมพ์พระ - นำดินมากดที่แม่พิมพ์พระ
- นำพระออกจากแม่พิมพ์พระมาใส่ถาด - นำพระออกจากแม่พิมพ์พระมาใส่ถาด
นำพระมาผึ่งลมในร่มประมาณ 2 วัน - นำพระมาผึ่งลมในร่มให้แห้งสนิทประมาณ 15 วัน
- นำพระมาตากแดดจนแห้งสนิท - นำพระมาตากแดดจนแห้งสนิทประมาณ 3 วัน
- นำพระไปเผาที่เตา และคอยเติมถ่าน ประมาณ 24 ชั่วโมง - นำพระไปเผาที่เตา และคอยเติมถ่าน ประมาณ 24 ชั่วโมง
- นำพระออกจากเตา - นำพระออกจากเตา
- นำพระมาเรียงใส่รา และใส่คราบพระ - นำพระมาเรียงใส่รา และใส่คราบพระ
- นำใบตองแห้งมาขัดพระ (ใช้ใบตองจากต้นกล้วยน้ำว้า) - นำใบตองแห้งมาขัดพระ (ใช้ใบตองจากต้นกล้วยน้ำว้า)
         1. กระบวนการเตรียมดิน
         ในการเตรียมดินนั้นจะต้องเตรียมดินโดยการทุบดินและหมักดินทิ้งไว้อย่างน้อย 1 คืน อาจเก็บไว้โดยใส่ในถุงพลาสติกปิดให้มิดชิดไม่ให้อากาศเข้า เพราะอากาศจะทำให้ดินแห้งและไม่สามารถนำมาใช้ในการทำพระเครื่องได้ เมื่อจะนำมาใช้ในการทำพระเครื่องให้นำดินออกมาจากถุงและนำมานวดให้นิ่มการนวดดินต้องนวดให้พอประมาณ การนวดนานเกินไปจะทำให้ดินนิ่มหรือเหลวเกินไป ถ้านวดน้อยเกินไปก็จะทำให้ดินแข็ง ลักษณะดินอ่อนดินแข็งจะใช้ในการทำพระเครื่องที่มีพิมพ์ที่แตกตางกันออกไป บางพิมพ์จะต้องการใช้ดินที่นิ่ม บางพิมพ์จะต้องการใช้ดินที่แข็ง
         2. พิมพ์พระ
         พิมพ์พระที่มีอยู่ในแหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องส่วนใหญ่จะเป็นพิมพ์พระที่ได้แม่พิมพ์มาจากพระแท้ ดังนั้นความสวยงาม ความเหมือนจริงของพิมพ์จึงมีความสมบูรณ์ใกล้เคียงกับพระแท้มาก โดยพิมพ์พระแบบดั้งเดิมจะเป็นพิมพ์ดินเผา แต่ในปัจจุบันมีการใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากเรซิ่นมากขึ้น เนื่องจากทำง่ายและดูแลรักษาง่ายกว่าแม่พิมพ์ดิน
ภาพที่ 3 พิมพ์พระ.jpg

ภาพที่ 3 พิมพ์พระ

         3. แป้ง
         การโรยแป้งลงบนแม่พิมพ์พระก่อนจะเป็นการช่วยให้เนื้อดินไม่ติดกับไม่พิมพ์ ทำให้ตอนที่แกะดินออกจากพิมพ์ทำได้ง่ายขึ้น ยิ่งดินที่นิ่มเกินไปจะติดแม่พิมพ์ได้ง่าย ทำให้แกะออกจากพิมพ์ยาก หรือแกะออกมาแล้วมีส่วนที่เสียหาย โดยแป้งที่นำมาโรยจะให้ผ้ามาหุ้มไว้แบบลูกประคบ เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานและควบคุมแป้งได้ง่ายขึ้น
ภาพที่ 4 การโรยแป้ง.jpg

ภาพที่ 4 การโรยแป้ง

       4.การกดพระ

การกดพระเป็นหัวใจสำคัญในการทำพระเครื่องพิมพ์ดินเลยก็ว่าได้ การกดที่ออกแรงมากจนเกินไปจะทำให้ดินกดกับแม่พิมพ์มากเกินจนรายละเอียดที่ได้แตกไม่สวย ในทางกลับกันถ้าออกแรงกดน้อยเกินไป ดินก็จะสัมผัสกับแม่พิมพ์เพียงผิวเผินทำให้รายละเอียดที่ได้ขาดความคมชัดไป การกดพระจะเริ่มจากการวางดินที่นวดแล้วลงบนแม่พิมพ์และเริ่มกดดินจากส่วนบนไล่ลงล่าง เนื้อดินที่เหลือก็จะทำการดึงออกจากพิมพ์ ดังนั้นก่อนการกดดิน ควรกะขนาดและปริมาณของเนื้อดินที่จะกดให้พอดีกับแม่พิมพ์ด้วย เมื่อกดพระเสร็จก็จะเป็นขั้นตอนในการดึงพระออกจากพิมพ์ โดยการใช้ดินก้อนเล็กๆแตะบริเวณด้วนหลังของพระและดึงออกมาจากแม่พิมพ์ตรงๆ เมื่อดึงขึ้นมาขอบพระ ผิวพระอาจจะมีส่วนที่บิดงอไม่สวย หรือรายละเอียดเสียไปเล็กน้อยก็ใช้วิธีการเอานิ้วจุ่มน้ำมาทำการลูบเก็บบริเวณขอบของพระให้เนียนเรียบเสมอกัน ส่วนด้านหลังพระที่ไม่เนียนเรียบก็ใช้วิธีการกระแทกพระลงกับพื้นโต๊ะเบาๆเพื่อให้ด้านหลังนั้นเรียบเสมอกัน

ภาพที่ 5 การกดพระและดึงพระ.jpg

ภาพที่ 5 การกดพระและดึงพระออกจากแม่พิมพ์

         5. การตากพระ
         เมื่อดึงพระออกจากพิมพ์และตกแต่งรายละเอียดเรียบร้อยแล้ว ก็เป็นขึ้นตอนของการตากพระให้แห้งโดยมีข้อห้ามคือห้ามนำพระที่ออกจากพิมพ์ใหม่ๆไปตากแดดเป็นอันขาดเพราะความร้อนจะทำให้ดินแห้งไวเกินไปและทำให้เกิดรอยร้าวรอยแตกได้ ให้นำพระที่ได้ตากร่มไว้ในร่มไม่ให้โดนแดดตรงๆประมาณ 2 วันสำหรับพระพิมพ์เล็กหรือพระที่มีความหนาไม่มาก ส่วนพระพิมพ์ใหญ่หรือพระที่มีความหนามากต้องใช้เวลาในการตากลมประมาณ 15 วัน เพื่อให้ด้านในของพระแห้งสนิทจริงๆ และเหลือความชื้นน้อยที่สุดจึงค่อยนำไปตากแดดอีกประมาณ 1-3 วัน เพื่อให้พระแห้งสนิทก่อนนำไปเผา
ภาพที่ 6 การตากพระ.jpg

ภาพที่ 6 การตากพระ

         6. การเผาพระ
         ในการเผาพระจะใช้ระยะเวลาในการเผ่าประมาณ 24 ชั่วโมง โดยการเผาจะใช้เตาเผาแต่เติมเชื้อเพลิงหรือถ่านเป็นระยะๆ เพื่อให้ความร้อนสม่ำเสมอ พระที่ถูกความร้อนพอดีจะเป็นสีส้ม ส่วนที่โดนขี้เถ้าคลุมไว้จะกลายเป็นสีดำ ดังนั้นจึงต้องคอยดูปริมาณขี้เถ้าในเตาให้ดีด้วย พระที่ไม่แห้งสนิท หรือบางมากเกินไป เมื่อโดนความร้อนมากอาจมีการระเบิดเสียหายเกิดขึ้นได้
ภาพที่ 7 การเผาพระ.jpg

ภาพที่ 7 การเผาพระ

         7. การใส่รา ใส่คราบ และการขัดใบตอง
         เมื่อนำพระออกจากเตาแล้วก็เป็นขั้นตอนของการทำพรให้ดูเหมือนพระเก่า โดยมีเทคนิคในการทำให้พระดูเก่าอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอนคือการใส่รา และการใส่คราบ และการขัดพระด้วยใบตองกล้วนน้ำว้า จะทำให้พื้นผิวของพระเป็นเงาขึ้นมา
ภาพที่ 8 การใส่รา ใส่คราบ.jpg

ภาพที่ 8 การใส่รา ใส่คราบ และการขัดใบตอง

         สีของพระเครื่องเมืองกำแพง
         สีของพระเครื่องกำแพงเพชรมีหลายสี แต่พระเครื่องที่ปรากฏเป็นสีต่าง ๆนั้นน่าจะมาจากสีของว่านเกสรและผงต่าง ๆ เช่นสีแดง ของว่านดอกมะขาม สบู่เลือด และอื่น ๆ สีเหลืองของ ดอกไม้นานาชนิด สีดำ ของผงใบลานเผา สีขาวจากผงพระพุทธคุณ และ ว่านบางชนิด จึงทำให้เกิดพระเครื่องสีต่าง ๆขึ้น ตามแต่จะมีส่วนผสมว่านหรือเกสร หรือผงอะไรมาก ก็ดูออกเป็นสีนั้น ๆ มาก เช่น 
         สีแดง มีทั้งแดงจัด (คล้ายสีครั่ง) แดงชมพู (แดงปนขาว) แดงหม้อใหม่ (แดงปนเหลือง) แดงคล้ำ (แดงปนดำ)
         สีดำ มีทั้งดำจัด (แบบเนื้อผงใบลาน) เทาดำ (ดำปนขาว) ดำม่วง(ดำปนแดง) จะมีคล้ายสีหว้าหรือดอก มะเขือเข้ม ๆ 
         สีเหลือง มีทั้งสีเหลืองเกสรดอกไม้ (สีพิกุลแห้ง) เหลืองจำปา (เหลืองปนแดง) เหลืองอ่อนสำหรับเหลืองปนดำ ทำให้เกิดสีที่สวยงามอีกสีหนึ่งคือ สีเขียว
         สีเขียว มีทั้งสีเขียวมอย (เขียวเทาๆ) และเขียวแก่ เป็นสีของว่าน ที่ผสมลงในเนื้อดิน

ข้อมูลการสำรวจ

แหล่งอ้างอิง

         แหล่งการเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม

วัน เดือน ปี ที่สำรวจ

         ลงพื้นที่สำรวจเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560

วันปรับปรุงข้อมูล

         14 กุมภาพันธ์ 2562

ผู้สำรวจข้อมูล

         อาจารย์ธนกิจ  โคกทอง 

คำสำคัญ (tag)

         แหล่งเรียนรู้การทำพระเครื่องนครชุม, พระเครื่อง, นครชุม