ภาษาถิ่นจังหวัดกำแพงเพชร (พรานกระต่าย)
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:58, 22 ธันวาคม 2563 โดย Admin (คุย | มีส่วนร่วม)
เนื้อหา
บทนำ
บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับภาษาถิ่นจังหวัดกำแพงเพชร กรณีศึกษา ภาษาถิ่นพรานกระต่าย ซึ่งภาษาเป็นวัฒนธรรมระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์และไม่มีสิ่งใดที่จะทำให้มนุษย์รู้สึกเป็นพวกเดียวกันได้ดีกว่าภาษา ภาษาจึงเป็นสื่อกลางของคนที่อยู่ในชาติหรือในถิ่นฐานที่ตนอาศัยอยู่ โดยเฉพาะภาษาถิ่นจัดเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์หรือเป็นที่นิยมสื่อสารตามท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งในบทความนี้มุ่งประเด็นศึกษาภาษาถิ่นพรานกระต่าย ตามตำนานเล่าไว้ว่า “มีนายพรานเดินทางมาสำรวจเส้นทาง เพื่อไปสร้างเมืองหน้าด่านของกรุงสุโขทัย วันหนึ่งขณะที่กำลังพักแรม นายพรานได้พบกระต่ายขนสีทองสวยงามมากบริเวณหน้าถ้ำแห่งหนึ่ง และ ได้หายเข้าไปในถ้ำ ต่อมานายพราน จึงกราบบังคมทูลพระร่วงให้รับทราบ และรับอาสาจะจับกระต่ายตัวดังกล่าว และได้ใช้ความพยายามที่จะจับตั้งหลายครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จึงได้สร้างบ้านถาวรขึ้นบริเวณหน้าถ้ำเพื่อรอจับกระต่าย หลายปีต่อมาจึงมีผู้อพยพมาอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านพรานกระต่าย" ได้รับสถาปนาเป็นอำเภอครั้งแรกเมื่อปี 2438” ภาษาถิ่นพรานกระต่ายเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารตั้งแต่ยุคชุมชนดั้งเดิมที่เข้ามาตั้งรกรากก่อสร้างบ้านเมืองพรานกระต่ายโดยกลุ่มชนดังกล่าวใช้ภาษาพูดเป็นภาษาไทยถิ่นกลาง (รัชดาภรณ์ รักษ์ชน, 2550 หน้า 3) ได้จำแนกภาษาไทยออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ภาษาไทยถิ่นเหนือ ภาษาไทยถิ่นกลาง ภาษาไทยถิ่นอีสาน และภาษาไทยถิ่นใต้แต่ภาษาไทยถิ่นกลางมีความหมายเพี้ยนไปบ้างเล็กน้อย คือลักษณะเด่นของภาษาถิ่นพรานกระต่าย คือ การใช้วรรณยุกต์เอกและเสียงเอกจะเปลี่ยนเป็นเสียงจัตวา และเสียงวรรณยุกต์จัตวาจะเปลี่ยนเป็นเสียงวรรณยุกต์เอก ซึ่งสภาพทางภูมิประเทศจะไม่มีอิทธิพลต่อภาษาถิ่นพรานกระต่าย เพราะภาษาของชาวพรานกระต่ายจะกระจายออกไปแบบเครือญาติ
คำสำคัญ : ภาษาถิ่น, ภาษาพรานกระต่าย, ภาษากำแพงเพชร
พื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นพรานกระต่าย
จากการศึกษาเรื่องเอกลักษณ์ภาษาถิ่นพัฒนาการทางไทยบนถนนพระร่วง พบว่า ภาษาถิ่นพรานกระต่ายเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันอยู่ทั่วไปใน อำเภอ พรานกระต่าย และบริเวณใกล้เคียง ซึ่งใช้กันแทบทุกครัวเรือน ผู้เขียนสรุปพื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นพรานกระต่าย ดังนี้ 1. ในเขตอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ทุกหมูบ้านในอำเภอนี้พูดภาษาถิ่นพรานกระต่ายทั้งสิ้น เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนเป็นเวลานานมาแล้ว 2. ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร จะมีพื้นที่ใช้ภาษาถิ่นพรานกระต่ายสื่อสารมีจำนวนหนึ่งหมู่บ้าน ซึ่งได้แก่ หมู่บ้านน้ำดิบ 3. ในเขตอำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่ที่ใช้ภาษาถิ่นพรานกระต่ายสื่อสารมีจำนวน 2 หมู่บ้าน ซึ่งได้แก่ หมู่บ้านหนองหลวงและหมู่บ้านลานกระบือ 4. อำเภอเมือง จังหวัดตาก มีพื้นที่ใช้ภาษาถิ่นพรานกระต่ายสื่อสารมีจำนวน 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านตลุกป่าตาล บ้านบ่อไม้หว้า บ้านโป่งแดง บ้านลานสอ บ้านวังประจบ บ้านสะแกเครือ และบ้านไม้งาม 5. อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย มีพื้นที่ที่ใช้ภาษษพรานกระต่ายสื่อสารมีจำนวน 3 หมู่บ้าน ซึ่งได้แก่ หมู่บ้านคุยเสมอ หมู่บ้านชุมแสงสงครามและหมู่บ้านหนองตูม 6. อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย มีพื้นที่ที่ใช้ภาษาพรานกระต่ายสื่อสารมีจำนวน 4 หมู่บ้าน ซึ่งได้แก่ หมู่บ้านไผ่ล้อม หมู่บ้านยางซ้าย หมู่บ้านฝอย และหมู่บ้านคลองยาง 7. อำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย มีพื้นที่ที่ใช้ภาษาพรานกระต่ายสื่อสารมีจำนวน 7 หมู่บ้าน ซึ่งได้แก่ หมู่บ้านบึงสนม หมู่บ้านคุยประตู่ หมู่บ้านใหม่เจริญผล หมู่บ้านบ่อคู่ หมู่บ้านทุ่งหลวง หมู่บ้านสามพวง หมู่บ้านเขาทองผางับ และหมู่บ้านโตนด 8. อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย มีพื้นที่ที่ใช้ภาษาพรานกระต่ายสื่อสารมีจำนวน 1 หมู่บ้าน ซึ่งได้แก่ หมู่บ้านวังตะแบกเหนือ จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมการใช้ภาษาถิ่นพรานกระต่าย มีอยู่เป็นบริเวณกว้างโดยทั่วไป และมีการสืบทอดโดยตลอด
หลักการเขียนและวิธีใช้ภาษาถิ่น
จากการศึกษาเอกลักษณ์ภาษาถิ่น พัฒนาการทางไทยบนถนนพระร่วง (เทศบาลพรานกระต่าย, ม.ป.ป.) สรุปหลักการเขียนและวิธีใช้ภาษา ดังนี้ 1. ตัวพยัญชนะนั้นลำดับไว้ตามตัวอักขระคือ ก ข ฃ ค ฯลฯ จนถึง อ ฮ ไม่ได้ลำดับตามเสียง เช่น จะค้นคำ เทิน จะต้องไปหาในหมวดตัว ท: จะค้นคำเหมืองจะต้องไปหาในหมวด ห 2. สระนั้นก็ไม่ได่ลำดับตามเสียง ลำดับไว้ตามรูปสระ ดังนี้ เ แ โ ใ รูปสระที่ประสมกันหลายรูปก็จัดเรียงตามลำดับรูปสระที่อยู่ก่อนและหลังตามลำดับข้างบนนี้เหมือนกัน 3. พยัญชนะกับสระประสมกัน ลำดับพยัญชนะก่อนแล้วจึงลำดับตามรูปสระส่วนพยัญชนะที่ไม่มีสระปรากฏเป็นรูปประสมอยู่ด้วยเอาไว้ข้างหน้า เช่า ขมังข้าว ขมักน้ำ อยู่หน้า ชะโยน กง อยู่หน้า กะ ถ้าผู้ใช้เอกลักษณ์ภาษาถิ่นนี้จะพลิกดูลำดับในเล่มเสียงให้ตลอดสักตัวอักษรหนึ่ง ก็จะทราบวิธีค้นได้โดยง่าย 4. ไม้เอก,ไม้โท,ไม้ตรี,ไม้จัตวา,ไม้ไต่คู่และไม้ทัณฑฆาต เหล่านี้ไม่ได้จัดเข้าในลำดับ 5. คำที่มีความหมายคล้ายคำเดิม แต่ต้องมีคำอื่นประกอบด้วย และคำประกอบนั้นขึ้นต้นด้วยอักษรตัวอื่น มิได้ขึ้นต้นด้วยอักษรตัวเดียวกับคำเดิมเก็บเรียงในลำดับอักษรนั้นๆ เช่น ข้าวเกรก เก็บเรียงที่อักษร ข, ไม่เก็บเรียงที่ อักษร ก, ขะมุกเก็บเรียงที่อีกษร ฃ ไม่เก็บเรียงที่อักษร ม
ตัวอย่างภาษาที่เป็นพรานกระต่าย
จากการศึกษา เรื่อง เอกลักษณ์ภาษาถิ่นพรานกระต่าย (องค์การบริหารส่วนตำบลพรานกระต่าย, 2547) สรุปตัวอย่างคำภาษาพรานกระต่ายเบื้องต้น ดังนี้
ล้มกลิ้งกับพื้น | ภาษาพรานกระต่ายคือ | กลิ้งกะหลุ๋น |
ก้องดินในทุ่งนา | ภาษาพรานกระต่ายคือ | ก้อนขี้แต้ |
รถมอเตอร์ไซค์ | ภาษาพรานกระต่ายคือ | รถตามอ |
เล่นหมากเก็บ | ภาษาพรานกระต่ายคือ | เล่นหมากปากเปิด |
ตรงโน้น | ภาษาพรานกระต่ายคือ | โด๋น่ะ |
จอบขุดดิน | ภาษาพรานกระต่ายคือ | กระเบิ้งเหิ๋ง หรือกระบก |
ตุ๊กแก | ภาษาพรานกระต่ายคือ | ตอดตอ |
ลูกน้ำ | ภาษาพรานกระต่ายคือ | ตะกะเตี้ย |
เป็นหลุมเป็นบ่อ | ภาษาพรานกระต่ายคือ | กะบวกกะบั้ว |
"center"
1. ลักษณะการใช้ภาษาถิ่น (พรานกระต่าย) วัฒนธรรมการใช้ภาษา ภาษาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้เป็นภาษากลาง แต่จะมีเพี้ยนไปบ้างก็ยังพอมีเค้าเดิม การเพี้ยนไปนี้เป็นภาษาทางภาคไหน เพี้ยนมาตั้งแต่โบราณกาลแล้วดังต่อไปนี้ คือ
เสื่อ | เพี้ยนเป็น | เสือ |
ข้าวสาร | เพี้ยนเป็น | ข้าวส่าน |
หนังสือ | เพี้ยนเป็น | หนังสื่อ |
คนสวย | เพี้ยนเป็น | คนส่วย |
มั่งซิ | เพี้ยนเป็น | มั้งฮิ่ |
ไปซิวะ | เพี้ยนเป็น | ไปซั้ว |
ไปไหนเล่า | เพี้ยนเป็น | ไปเม้า |
"center"