การละเล่นผีนางกวัก ในชุมชนคลองลานพัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         ประเทศไทยประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อาศัยกระจัดกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น กลุ่มชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง ม้ง เมียน อาข่า มูเซอ ลีซู ซึ่งอาศัยกันอยู่อย่างหนาแน่นในแถบภาคเหนือตอนบน ในภาคอีสานมีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มอาศัยกระจัดกระจายอยู่ในหลายพื้นที่เช่นกัน (ศรัณย์ นักรบ, 2549) และยังพบกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆอีกมาก เช่น ภาคใต้มีชาวซาไกด์ มอแกน อูรักละโว้ย ภาคอีสานมีชาวลาวเชื้อสายต่างๆ ลาวภูไท ไท ดำ ไทลื้อ ชาวกูย ภาคกลางมีชาวจีน มอญ เขมร ลาวซัง ลาวครั่ง เป็นต้น ชาวลาวครั่งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยเดิมมีภูมิลำเนาอยู่แถบเมืองเวียงจันทน์และหลวงพระบางได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเป็นต้นมาด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงมีวัฒนธรรมที่หลากหลายมีประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มเป็นของตนเองซึ่งอาจจะแตกต่างกันไปตามบริบทของสังคมนั้นๆ ชาวลาวครั่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ปัจจุบันประกอบอาชีพที่หลากหลาย นับถือศาสนาพุทธ แต่ยังคงมีความเชื่อในเรื่องสิ่งลี้ลับ ภูตผี วิญญาณ ตลอดจนสิ่งเหนือธรรมชาติต่างๆ กล่าวอีกนัยหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์เปรียบเสมือนเป็นแรงผลักดันให้เกิดกิจกรรมทางศาสนาของมนุษย์แบบดั้งเดิม (ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย, ม.ป.ป.) การละเล่นนางกวักเป็นการละเล่นพื้นบ้านตามประเพณีอย่างหนึ่งที่สำคัญของชาวไทยเชื้อสายลาวครั่งที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติหรือภูตผีเทวดาในอดีตมีอิทธิพลมากต่อการดำรงชีวิต ซึ่งมีการนับถือผี เป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาอย่างช้านานตามแต่บรรพบุรุษ ซึ่งคำว่า “ผี” ของชาวลาวครั่งไม่ใช่ผีที่ชั่วร้ายหรือผีที่ทุกคนต้องกลัวหรือผีในทางลบแต่เป็นผี ปู่ ย่า ตา ยาย ผีป่า ที่มาช่วยปกป้องตนหรือไร่สวนของตน (ตุ๊ ทาทำนุก, การสัมภาษณ์, 26 พฤศจิกายน 2565) ซึ่งเป็นการละเล่นตามประเพณีดั้งเดิมที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของตนเองได้เป็นอย่างดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านความเชื่อระบบความเชื่อเรื่องผีถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญที่มีบทบาทและหน้าที่ที่เกี่ยวข้องผูกพันมิใช่เฉพาะแค่การแสดงออกในรูปแบบของประเพณีพิธีกรรมเพียงเท่านั้นแต่ระบบความเชื่อเรื่องผียังถือเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในมโนทัศน์ของผู้คนกลุ่มต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนกับอำนาจนอกเหนือธรรมชาติที่ทำหน้าที่ในการควบคุมพฤติกรรมและรูปแบบวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คน (เชาวน์มนัส ประภักดี, 2558) กล่าวคือ ชาวลาวครั่งมีความเชื่อว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์เทวดาจะปล่อยผีบรรพบุรุษให้ลงมารับส่วนบุญส่วนกุศลและมาเที่ยวหาเยี่ยมเยียนลูกหลานจึงได้มีการเชิญดวงวิญญาณผีบรรพบุรุษหรืออาจจะเป็นผีเร่ร่อนก็ได้ขึ้นอยู่ว่าผีตนใดจะเข้ามาสิงสถิตในตัวนางกวัก ซึ่งนางกวักนั้นเป็นการเรียกตามอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชิญดวงวิญญาณหรือผีให้เข้าสิ่งนั่นเองกล่าวคือ ผีนางกวักมีเครื่องเซ่นประกอบการละเล่นเอกลักษณ์ที่สำคัญของการละเล่นคือการร้องเพลงเพื่อเชิญผีให้เข้ามาสิงยังหุ่นนางกวัก ซึ่งมีลักษณะคล้ายหุ่นไล่กา การร้องเพลงจะร้องวนไปเรื่อย ๆ จนกว่าผีจะมาเข้ายังนางกวัก เมื่อดวงวิญญาณหรือผีเข้าสิงแล้วก็จะเริ่มการซักถามเรื่องราวต่างๆ ทั่วไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน การศึกษา การเงิน ความรัก คู่ครอง หรือ เรื่องอื่นๆ ตามความต้องการของผู้ซักถาม การละเล่นจะดำเนินไปจนกว่าจะหมดคำถาม ผู้เล่นก็จะเชิญดวงวิญญาณหรือผีที่เข้าสิงออกจากนางกวักโดยการเหวี่ยงตัวหุ่นนางกวักออกไปด้านข้างของผู้เล่นหรือผู้เชิญถือเป็นอันจบการละเล่นนางกวัก ซึ่งการละเล่นนางกวักถือเป็นการละเล่นที่ใช้เพื่อความบันเทิงเท่านั้น ปัจจุบันการละเล่นนางกวักได้ปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตของชาวลาวครั่งในพื้นที่ต่างๆ จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของกลุ่มชนแต่อาจมีรูปแบบการละเล่นที่มีความแตกต่างกันไปในรายละเอียด ทั้งนี้จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นผู้วิจัยพบว่าบ้านตำบลคลองลาน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นชุมชนเล็กๆที่ได้มีการปฏิบัติและสืบทอดการละเล่นนางด้งและนางกวักมาอย่างยาวนานตามรูปแบบดั้งเดิมมากที่สุดแห่งหนึ่งอย่างไรก็ตามบทเพลงประกอบการละเล่นนางกวัก ของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชรที่สืบทอดต่อกันมาในลักษณะปากเปล่า มิได้มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ไม่สามารถสืบทราบได้ว่ามีที่มาอย่างไร หรือใครเป็นผู้ริเริ่ม การละเล่นนางกวักนี้ เพียงแต่ทราบว่าได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่รุ่น ปู่ ย่า ตา ยาย ถึงแม้ว่าชุมชนชาวลาวครั่งยังคงมีการการละนางกวักอยู่ในปัจจุบัน แต่กระแสความนิยมในวัฒนธรรมเมืองได้เข้ามามีอิทธิพลเพิ่มมากขึ้นต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ในทุกบริบทอย่างเด่นชัด และอาจส่งผลให้การละเล่นผี นางกวักได้รับความนิยมน้อยลง และอาจสูญสิ้นไปได้ในอนาคต ผู้วิจัยได้ตระหนักถึง ประเด็นดังกล่าว จึงมีความสนใจอย่างยิ่งที่จะทำวิจัยในครั้งนี้

คำสำคัญ: การละเล่นผีนางกวัก, จังหวัดกำแพงเพชร

ความหมายของผีนางกวัก[แก้ไข]

         ความหมายของผี
         พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ได้อธิบายว่า “ผี” คือ สิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว แต่อาจจะปรากฏเหมือนมีตัวตนได้ อาจให้คุณหรือให้โทษได้ มีทั้งดีและร้าย เช่น ผีปู่ย่าตายาย ผีเรือน ผีฟ้า เรียกคนที่ตายไปแล้ว (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, ม.ป.ป.)
         ตามความเชื่อและบันเทิงคดีแต่โบราณ ผี (อังกฤษ: ghost) เป็นวิญญาณ (soul) หรือสปิริต (spirit) ของคนหรือสัตว์ที่ตาย ซึ่งสามารถปรากฏให้คนเป็นเห็นได้ ไม่ว่าจะในรูปที่มองเห็นได้หรือสำแดงออกมาในรูปอื่น รายละเอียดการปรากฏตัวของผีมีหลากหลายมากตั้งแต่การแสดงตนแบบมองไม่เห็น ปรากฏเป็นรูปร่างบอบบางที่โปร่งแสงหรือแทบมองไม่เห็น ไปจนถึงการเห็นภาพสมจริงดุจมีชีวิต (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2565)
         ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ผี คือสิ่งที่มนุษย์เชื่อว่าเป็นสภาพลึกลับ มองไม่เห็นตัว ที่สำแดงร่างกายหลอกหลอนหรือขอส่วนบุญ อาจสิงอยู่หรือท่องเที่ยวไปในที่ต่างๆได้
         ความหมายของนางกวัก
         เมื่อได้ยินคำว่า “นางกวัก” คนส่วนใหญ่จะนึกถึงตุ๊กตานางกวักนำโชคที่ตั้งอยู่บนหิ้งตามร้านค้าต่างๆ แต่สำหรับชาวไทยพวน นางกวัก หมายถึง การละเล่นพื้นบ้าน เป็นการเข้าทรง สอดคล้องกับความเชื่อเรื่องผีที่มีมาแต่โบราณ เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ (สมคิด จูมทอง, 2561)

การละเล่นผีนางกวัก[แก้ไข]

         ความเชื่อเรื่องผีนางกวักในจังหวัดกำแพงเพชร
         การละเล่น "ผีนางกวัก" ซึ่งเป็นประเพณีการละเล่นของคนอีสาน "ลาวครั่ง" ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่โบราณ และนิยมเล่นกันในข่วงสงกรานต์เดือนเมษายนทุกปี หรือในโอกาสที่ต้องการสื่อสารกับสิ่งเล้นลับต่างๆ โดยมีความเชื่อว่าการละเล่น "ผีนางกวัก" จะสามารถสื่อสารกับดวงวิญญาณของผู้ตายไปแล้วและสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ได้ จะนิยมเล่นกันในข่วงกลางคืน บริเวณทางสามแพร่ง โดยมีอุปกรณ์สำหรับการละเล่นคือ เครื่องมือสำหรับพันด้ายหรือฝ้ายที่ใช้ทอผ้า, เสื้อยืด, ไม้คานหาบน้ำ, สากตำข้าว, ขันธ์ 5 (ดอกไม้ธูปเทียน) ซึ่งต้องเป็นของแม่หม้ายที่สามีตายไปแล้วเท่านั้น โดยนำทั้งหมดมาแต่งมัดรวมกัน สมมติเป็นแขน ตกแต่งด้วยเสื้อและผ้าให้เหมือนกับหุ่นหรือตุ๊กตา ชาวบ้านเชื่อว่าการละเล่น "ผีนางกวัก" จะเป็นการเชิญผีหรือดวงวิญาณให้เข้าสิงในกวัก (อุปกรณ์ที่เตรียมไว้) โดยจะเล่นกันเพียง 2 คน จับอุปกรณ์ที่เรียกว่า "กวัก" เมื่อผู้นำได้ยกขันธ์ 5 ขึ้น พร้อมกล่าวเชิญวิญญาณให้เข้าสิงแล้ว เป็นภาษาลาวครั่ง คนอื่นๆ ก็จะนั่งล้อมวงรอบๆเคาะสากตำข้าว และปรบมือตามจังหวะ จากนั้นก็จะถามว่า "วิญญาณ" ที่เข้าสิงในกวักนี้เป็นใคร กวักก็จะโยกไปโยกมาโดยปลายของไม้จะเขียนอักษรลงพื้นดินเพื่อให้คนอื่นๆเห็นว่าเป็นใคร มาจากไหน ซึ่งหากใครอยากสื่อสารกับคนที่ตายไปแล้ว หรือญาติมิตรสหายคนในครอบครัวก็สามารถเชิญเข้ามาสิงในกวักได้ หรือจะให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ที่คนในหมู่บ้านนับถือเข้ามาสิงเพื่อที่จะสอบถามในเรื่องการทำมาหากิน เนื้อคู่ หรือบางครั้งก็จะถามเรื่องโชคลาภ หรือเรื่องส่วนตัวอื่นๆของตนเองก็ได้เช่นกัน (ไทยรัฐออนไลน์, 2564)
         ความเชื่อเรื่องผีนางกวักในจังหวัดลำพูน
         ผีที่มาลงส่วนมากจะเป็นผีผู้ชายและเป็นผีดี ไม่ดุร้าย เมื่อผีลงมาในกวักแล้ว ก็จะแสดงอาการทำให้ตัวบ่ากวักเหมือนมีชีวิต เคลื่อนไหวได้ด้วยการโยกแกว่งไกวเหมือนกับว่าผู้ที่ถือไม่ได้ออกแรงทำเอง เมื่อผีมาลงแล้วก็จะหยุดร้อง จากนั้นผู้เล่นจะตั้งคำถามเพื่อต้องการรู้ว่าผีที่มานี้เป็นใคร โดยจะตั้งคำถามว่า “เป็นน้อยหรือเป็นหนาน” (น้อยหมายถึงผู้ชายที่เคยบวชเณร ส่วนคนที่บวชพระแล้วลาสิกขาเรียกว่าหนาน) จากนั้นก็จะเชิญผีบ่ากวักดื่มน้ำหรือเหล้าตามแต่ผีต้องการ ถือเป็นการต้อนรับ วิธีการดื่มน้ำผีบ่ากวักจะใช้ปลายแขนจุ่มลงในแก้วน้ำแทนปากหรือนำน้ำไปเทรดลงบนหัวของบ่ากวัก ตำแหน่งใกล้เคียงกับปาก จากนั้นคนจับกวักจะเชิญผีฟ้อนหรือเต้นรำเพื่อความสนุกสนานก่อนเหมือนเป็นการสร้างความคุ้นเคยกันก่อน จากนั้นคนจับกวักก็จะชวนคุย ซักถามตามแต่ที่มีคนต้องการถาม เช่น เรื่องการเรียน การงาน เหตุการณ์บ้านเมือง เนื้อคู่ เป็นต้น ผีจะตอบด้วยการโยกตัว โขกพื้นและเขียนบนพื้นดิน คำตอบจะมีแค่ใช่หรือไม่ใช่ เมื่อผู้เข้าร่วมพิธีไม่มีคำถามแล้ว ผู้จับบ่ากวักจะกล่าวคำขอบคุณและขออภัยแทนผู้ถามคำถามทุกคน ที่อาจใช้คำพูดหรือกริยาไม่เหมาะสมหรือลบหลู่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากนั้นจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยไปปะพรมที่ตัวบ่ากวัก เมื่อผีบ่ากวักออกไปแล้ว บ่ากวักจะนิ่ง ผู้ถือจะรู้สึกได้ว่าบ่ากวักจะเบา ไม่หนักเหมือนตอนที่ผีเข้าประทับ การละเล่นผีบ่ากวักมักจะใช้เวลาเล่นราว 1-3 ชั่วโมงต่อครั้ง ปัจจุบัน ผู้สนใจการละเล่นผีบ่ากวักน้อยลง แม่สายคำ เขื่อนควบ ผู้เล่นผีบ่ากวักของบ้านโฮ่ง ทีความคิดเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “เมื่อก่อนเวลาเล่นผีบ่ากวักจะมีคนมาดู มีทั้งคนบ้านเรา และหนุ่มๆ ต่างบ้าน เขาจะมาทุกคืนเลย มาคุยด้วย เวลาเล่นก็สนุกดี มีเพื่อนมาหลายคนมาช่วยกันเล่น หนุ่มสาวมาเยอะจะสนุก มันจะล้อกัน แซวกัน บางทีก็ถามว่าแฟนคนนี้มาไหม ถ้ามาก็ให้โขกแรงๆ สาวก็อาย เดี๋ยวนี้มันเลือนรางหายไป ไม่ค่อยมีใครสืบสาน มันคงจะหมดสิ้นกับแม่นี่แหละ เด็กๆ มันไปร่ำไปเรียนกันหมด เดี๋ยวนี้คนดูก็มีแต่เด็กๆ พวกหนุ่มๆ ไม่ค่อยมาดูแล้ว เดี๋ยวนี้เขาไม่ค่อยเชื่อกันแล้วเรื่องผี เสียดายอยู่เหมือนกัน เราทำสืบทอดมาแต่เด็กๆ ก็คงจะไม่เอาแล้ว ไปไหนกันหมดแล้ว ยุคนี้มันยุคโทรศัพท์ ยุคก้มหน้า ไม่ดูผีแล้ว” (ปณิตา สระวาสี, 2561)
         ความเชื่อเรื่องผีนางกวักในจังหวัดนครปฐม
         การละเล่นผีนางกวักจะนิยมเล่นในช่วงสงกรานต์ ใครมีทุกข์ มีสุข ถามเรื่องงาน เรื่องความรัก เรื่องโรคภัย ไข้เจ็บ สามารถถามได้ทุกเรื่องผีนางกวักจะบอกด้วยการเคาะสากตำข้าว และเขียนลงบนทรายที่ได้เตรียมไว้ทำให้ชาวบ้านได้มีขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีความสุข การละเล่นผีนางกวักนิยมเล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ของลาวครั่งประมาณเดือนเมษายน ของทุกปี การละเล่นผีนางกวักจะเป็นการเชิญผีให้สิงในกวัก (เครื่องมือสำหรับพันด้ายหรือฝ้าย) ในการทอผ้า จากนั้นก็จะมีการถามผีนางกวักให้ทักทายในเรื่องต่างๆ มักเล่นในเวลากลางคืน หลักจากเลิกเล่นก็จะเชิญผีออกจากกวัก วันรุ่งขึ้นจึงจะเชิญมาเล่นใหม่ การละเล่นนี้จะเล่นจนถึงวันสุดท้ายของสงกรานต์ คือก่อนวันสรงน้ำพระ 1 วัน เงินที่ได้จากการละเล่นก็จะนำไปเข้าพุ่มผ้าป่าถวายวัดในการแห่ธงสงกรานต์ เริ่มต้นด้วยการเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมเมื่อได้เวลาพลบค่ำ ผู้นำการละเล่นก็ชักชวนเพื่อนบ้าน นำอุปกรณ์ทั้งหมดไปที่ทางสามแพร่ง ผู้เล่นผู้หญิงสองคนจะทำหน้าที่ถือกวักคนละด้าน ผู้นำจุดธูปเชิญผีให้มาสิง ในกวัก จากนั้นก็จะร้องเพลงเชิญนางกวัก มีการซักถามนางกวักให้ทายทักเรื่องราวต่าง ๆ เช่นการทำมาหากิน เนื้อคู่ หรือบางครั้งก็จะถามเรื่องหวย ใครประสงค์ที่จะถามก็จะต้องนำเงินใส่ลงไปในพานขันธุ์ห้าเป็นค่ากำนัล ตัวอย่างคำถาม “มื้ออื่นข้อยจะได้พบรักบ่ ถ้าพบให้นางกวักเคาะสากเด้อ” “ขอหวยสองโต เขียนลงบนดิน ให้เบิ่ง” เป็นต้น หากนางกวักจะตอบ ก็จะใช้แขนเคาะลงบนสากตำข้าว การละเล่นก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ บางครั้งก็จะมีการร้องเพลงหรือเป่าแคนให้นางกวัก ได้สนุกสนาน เต้นไปตามจังหวะ จนกว่าจะได้เวลาดึกมากแล้ว จึงเลิกเล่น ก็จะเชิญผีออกจากกวัก ด้วยการใช้นิ้วมือแหย่ลงไปในตาของกวัก ผีก็จะออกไปเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ บรรพบุรุษได้สร้างสรรค์ไว้เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี การรวมกลุ่มกันของชาวบ้านให้ได้มีกิจกรรมร่วมกัน เป็นการสร้างพลัง สร้างขวัญและกำลังใจให้กับชาวบ้าน ในการดำรงชีวิตให้มีความเข้มแข็ง ก่อให้เกิดกำลังใจในการประกอบสัมมาอาชีพ เพื่อเป็นหลักของครอบครัว ชุมชน และสังคม ต่อไป (ปนิทัศน์ มามีสุข, 2560)
         การละเล่นผีนางหวักอาจจะสามารถพบได้ในหลายๆพื้นที่ แต่ในแต่ละพื้นที่จะมีเอกลักษณ์หรือลักษณะการละเล่นผีนางกวักที่แตกต่างกัน ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า การละเล่นผีนางกวักในอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีความเชื่อว่าการละเล่นผีนางกวักจะสามารถ สื่อสารกับวิญญาณ และขอโชคลาภได้ ส่วนการละเล่นผีนางกวักในอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน มีความเชื่อว่าการละเล่นผีนางกวักจะสามารถ ช่วยในเรื่องการทำมาหากินให้ดีขึ้น สุดท้ายคือ การละเล่นผีนางกวักในอำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม มีความเชื่อว่าการละเล่นผีนางกวัก เป็นการขอบคุณเครื่องมือทำมาหากิน และเป็นการเสี่ยงทายในชีวิตเรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วยและความเป็นไปในเรื่องของธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน

การละเล่นของไทย[แก้ไข]

         ความหมายของการละเล่น
         การละเล่น หมายถึง มหรสพการแสดงต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนานรื่นเริง 
         เล่น หมายถึง ทำเพื่อสนุกหรือผ่อนคลายอารมณ์ เช่น เล่นเรือ เล่นดนตรี การแสดง เช่น เล่นโขน เล่นละคร เล่นงานเหมา สาละวน หรือหมกมุ่นอยู่กับสิ่งใด ๆ ด้วยความเพลิดเพลิน เป็นต้น เช่น เล่นกล้วยไม้ (Siamsporttalk, ม.ป.ป.)
         ความหมายการละเล่นของไทย 
         การละเล่นของไทย หมายถึง การละเล่นดั้ง เดิมของเด็กและผู้ใหญ่ เพื่อความบันเทิงใจ ทั้งที่เป็นการละเล่นที่มีกติกา หรือไม่มีกติกา ไม่มีบทร้องประกอบ หรือมีบทร้องประกอบให้จังหวะ บางทีก็มีท่าเต้น ท่ารำประกอบ เพื่อให้งดงาม และสนุกสนานยิ่งขึ้น ทั้งผู้เล่น และผู้ชมมีส่วนร่วมสนุก (ไม่ครอบคลุมไปถึงการละเล่นที่เป็นการแสดงให้ชม โดยแยกผู้เล่น และผู้ดูออกจากกัน ด้วยการจำกัดเขตผู้ดู หรือการสร้างเวทีสำหรับผู้เล่น เป็นต้น) (Plookpedia, 2560)

วัตถุประสงค์ของการละเล่น[แก้ไข]

         1. เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ในวัฒนธรรมการละเล่น 
         2. เพื่อให้ผู้เรียนได้รับความสุขสนุกสนานในขณะเล่น 
         3. เพื่อส่งเสริมผนึกกำลังในการอนุรักษ์การละเล่นท้องถิ่นให้คงสืบไป 
         4. เพื่อให้ผู้เรียนได้เปลี่ยนบรรยากาศในการเรียนรู้ด้วยตนเองจากประสบการณ์จริง

รูปแบบของการละเล่น มีกี่รูปแบบอะไรบ้าง[แก้ไข]

         เนื่องจากการละเล่นของไทยเรานั้นมีมากมายจนนึกไม่ถึง (กรมพลศึกษารวบรวมไว้ได้ถึง 1,200 ชนิด) แต่พอจะแบ่งคร่าวๆ ได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ การละเล่นกลางแจ้งและการละเล่นในร่ม และในแต่ละประเภทก็ยังแบ่งย่อยอีกเป็นการละเล่นที่มีบทร้องประกอบกับที่ไม่มีบทร้องประกอบ

การละเล่นผีนางกวัก[แก้ไข]

         ความหมายของการละเล่นผีนางกวัก
         จากคำบอกเล่ากล่าวว่า ได้เล่นสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจำความได้ ก็เห็นพ่อแม่เล่น นิยมเล่นในเทศกาลสงกรานต์เพราะเชื่อว่าเขาปล่อยผี ดังนั้นเวลาเชิญจะทำให้ผีลงมาสถิตในเวลา อันรวดเร็ว วัตถุประสงค์ของการลงผีลอบ ผีนางกวัก เพื่อเป็นการนาเอาอุปกรณ์ที่ใช้ในการทามาหากินมาเซ่นไหว้ และนำมาให้ลูกหลานได้รู้จัก เชื่อว่าเป็นการขอบคุณเครื่องมือทามาหากินด้วย ผีนางกวัก ถือว่าเป็นการเสี่ยงทาย ในชีวิตเรื่องการเจ็บไข้ไม่สบาย ให้ระมัดระวัง และความเป็นไปเรื่องของธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในหมู่บ้าน เช่น ฝนจะตกมาก น้าจะท่วม จะมีพายุ ฯลฯ ซึ่งเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีถัดไป จากคำบอกเล่าของพี่เลี้ยง กล่าวว่าในอดีตการลงผีนางกวักนั้นสามารถเล่นได้ทุกเวลา ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นเทศกาลสงกรานต์เช่น กรณีของหาย เจ็บไข้ไม่สบาย ก็จะมีการลงผีนางกวักเพื่อให้ชี้แนะ ปัจจุบันการละเล่นผีนางกวักยังคงมีการละเล่นอยู่ที่บ้านทุ่งผักกูด และเป็นการละเล่นที่ได้รับความนิยมชอบทั้ง คนในชุมชนและคนนอกชุมชน ผู้เข้าร่วมมีทั้งคนหนุ่มสาวและวัยผู้ใหญ่ สามารถส่งเสริมให้เป็นการละเล่นที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมได้เช่นเดียวกับการละเล่นผีลอบ (ณภัทร ประศาสน์ศิลป์ และ ศราวุฒิ ปิ่นทอง, 2565)
         วัตถุประสงค์ของการละเล่นผีนางกวัก
         การละเล่นนางกวัก เป็นหนึ่งในการละเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยพวนที่ยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เหลือเล่นไม่กี่จังหวัด ในพื้นที่ภาคกลางตอนล่าง 5 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ใน การศึกษาครั้งนี้มีเพียงจังหวัดสระบุรีและลพบุรีเท่านั้นที่ยังมีการละเล่นนางกวัก วัตถุประสงค์ของ การละเล่นนางกวักเพื่อการเสี่ยงทายเหมือนกับการละเล่นนางด้ง แต่การเสี่ยงทางในการละเล่น นางกวักที่นิยมคือการเสี่ยงทายเรื่องคู่ครอง “เสี่ยงซู้” การละเล่นนางกวักเป็นการละเล่นเข้าผีแต่ แตกต่างกับการละเล่นเข้าผีชนิดอื่น ๆ ตรงที่ผีจะไม่เข้าที่ตัวคนเล่น แต่จะสิงที่ตัวกวักแทน ดังนั้น นางกวักจะพูดไม่ได้จะใช้วิธีการเขียนตอบในการทายโดยมีผู้ถือกวักเป็นผู้เล่นในการจับตัวนางกวักเท่านั้น (สังวัลย์ เครือแก้ว และสมคิด จูมทอง, 2561 อ้างถึงใน อารีวรรณ หัสดิน, 2562)
         ความเชื่อของการละเล่นผีนางกวัก
         มนุษย์มีความเชื่อเพื่อผลทางจิตใจ การสร้างอุปนิสัยสุขภาพอนามัย ขนบธรรมเนียมประเพณีพิธีกรรม ต่าง ๆ คนไทยในท้องถิ่นต่าง ๆ มีความเชื่อที่สืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษด้วยกันทุกท้องถิ่น โดยแบ่งความเชื่อตามหลักเหตุผลเป็น 2 ประเภท คือ ความเชื่อที่มีเหตุผลและความเชื่อที่ไม่มีเหตุผล หากพิจารณาความเชื่อจากบุคคลที่ยึดถือ แบ่งได้ 2 ประเภท คือ ความเชื่อส่วนบุคคลและความเชื่อกลุ่ม การละเล่นผีลอบและการละเล่นผีนางกวักนั้น มีการสืบทอดมาอย่างยาวนานเป็นแหล่งสั่งสมความคิด ภูมิปัญญา ศรัทธาและความเชื่อหลายรูปแบบ เช่น ความเชื่อเรื่องบาป-บุญ ขวัญ-วิญญาณ เทวดา-ผี และสิ่งลึกลับ ได้สืบทอดความเชื่อเรื่องผีสาง ผีลอบ ผีนางกวัก เป็นพิธีการละเล่นที่สร้างขึ้นจากความเชื่อของมนุษย์โดยใช้ อุปกรณ์ทำมาหากินเป็นเครื่องแสดงออกถึงความเชื่อเรื่องผี โดยนำเอาการละเล่นผีลอบและการละเล่นผีนางกวักมาใช้ในพิธีเสี่ยงทายของหาย ทานายทายทักเรื่องฟ้าฝนที่จะตกลงมา ชี้แนะแนวทางการรักษาโรคต่าง ๆ ความเชื่อเรื่อง การละเล่นทั้งสองประเภทที่มีต่อชุมชนก็คือ เป็นการแสดงออกถึงความสามัคคี ความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน เป็นการสร้างความหวังกำลังใจในการประกอบอาชีพ ความสบายใจ ทำให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข (ณภัทร ประศาสน์ศิลป์ และ ศราวุฒิ ปิ่นทอง, 2565)

รูปแบบของการละเล่นผีนางกวัก มีกี่รูปแบบอะไรบ้าง[แก้ไข]

         1. เล่นเพื่อขอโชคลาภ
         2. เล่นเพื่อสื่อสารกับดวงวิญญาณ
         3. เล่นเพื่อทำนายฝนฟ้าอากาศ
         4. เล่นเพื่อเสี่ยงทายการเจ็บไข้ ไม่สบาย
         5. เล่นเพื่อการทำมาค้าขาย ทำมาหากิน

บทร้องในการละเล่นผีนางกวักของแต่ละพื้นที่[แก้ไข]

บทร้องในการละเล่นผีนางกวักในจังหวัดกำแพงเพชร

“ นางกวักเอย นางกวักเจ้าแม่กวัก อี่พ่อยักแย่ อี่แม่แย่ยอ คนยกคนยอ
เจ้าสูงเพียงข้าง เจ้าอวดอ้างต่ำหูกเดือนหงาย ตกดินตกทรายเดือนแจ้ง
เจ้าแอ้งแม้งนางฟ้าลงมา นางสีดาแกว่งแขนต๊องแต๊ง ต๊องแต๊ง ”

(มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, ม.ป.ป.)

บทร้องในการละเล่นผีนางกวักในจังหวัดลำพูน
รำเชิญผี ชุมชนบ้านวังหลวง หมู่ 1 ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน คนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นคนโยน หรือ “โยนก”

“นางกวักเอ๋ย นางกวักเจ้าแย๊บ แย่ะหยิ้มแย่ะ
แม่เสื้อลาย ลงมาหลายหลาย จะฝายตาผ่อ
เหน็บดอกซอมพอ ห้อยหอผะสาท นางอวดอาด
สุ่มมืดสุ่มดำ หลับฝันหัน สุดเจ๊าสุดค่ำ
ย่ำดินทราย ทไหลดินเกียง นางลงบ่าเสี้ยง
เจินนางลงมาฟ้อน บ่ากวักเจ้าแย๊บ”

รำเชิญผี บ้านเกาะทุ่งม่าน หมู่ 12 ต.ป่าพลู อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน คนในชุมชนส่วนใหญมีเชื้อสายยอง

“แหย่งแย่ะแหย่ง แหย่งเสือลาย ลงมาหลายหลาย
จักถวายต๋ำผ่อ ดอกซอมพอพอตี้หอประสาท
นางโอดอาดสุ่มมืดสุ่มดำ หลับฝันหันกุ๊เจ้ากุ๊ค่ำ
ขนดินทรายถวายลงเก้ง ลงบ่เสี้ยงต๋ามหมู่ในดง

(ปณิตา สระวาสี, 2561)

ความแตกต่างกันของบทร้อง[แก้ไข]

         ใน จ.นครปฐม ไม่มีบทร้องในการละเล่น แต่จะเป็นในรูปแบบของคำถาม

เครื่องเซ่นไหว้[แก้ไข]

         เหมือนหรือแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
         แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เนื่องจาก จ.กำแพงเพชร จะใช้เป็นขันธ์ 5 จ.ลำพูน จะใช้ขันน้ำขมิ้นส้มป่อยและดอกซอมพอหรือดอกหางนกยูง จ.นครปฐม จะใช้พานครู 

อุปกรณ์การละเล่นผีนางกวัก[แก้ไข]

         เหมือนหรือแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
         จ.กำแพงเพชร จะมีอุปกรณ์ที่ใช้คือ 
              1. กวัก ที่มีการนำไม้ไผ่มามัดติดกับกวัก สมมุติเป็นแขน ตกแต่งด้วยเสื้อและผ้าให้เหมือนกับหุ่นหรือตุ๊กตา 
              2. สากตำข้าว 
              3. ขันธ์ห้า
         จ.ลำพูน จะมีอุปกรณ์ที่ใช้คือ
              1. กวัก 
              2. ไม้ชี้ดาว 
              3. ขันน้ำขมิ้นส้มป่อย 
         จ.นครปฐม จะมีอุปกรณ์ที่ใช้คือ 
              1. กวักที่ใช้ปั่นฝ้า 
              2. สากมือสำหรับตำข้าว 2 อัน (ต้องใช้วิธีขโมยของพ่อหม้าย) 
              3. ถ้วยทองเหลือง 
              4. เงิน 6 สลึง

วิธีการละเล่น[แก้ไข]

         เหมือนหรือแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
         จ.กำแพงเพชร เริ่มต้นด้วยการเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมเมื่อได้เวลาพลบค่ำ ผู้นำการละเล่นก็ชักชวนเพื่อนบ้านนำอุปกรณ์ทั้งหมดไปที่ทางสามแพร่ง ผู้เล่นผู้หญิงสองคนจะทำหน้าที่ถือกวักคนละด้าน ผู้นำจุดธูปเชิญผีให้มาสิงในกวัก จากนั้นก็จะร้องเพลงเชิญนางกวัก จนกระทั่งกวักเริ่มเคลื่อนไหว ก็จะนำนางกวักกลับไปยังลานบ้านทุกคนนั่งล้อมวงนางกวักมีการซักถามนางกวักให้ทายทักเรื่องราวต่างๆ เช่น การทำมาหากิน ดินฟ้าอากาศ เนื้อคู่ หรือบางครั้งก็จะถามเรื่องหวยใครประสงค์ที่จะถามก็จะต้องนำเงินใส่ลงไปในพานขันธ์ห้าเป็นค่ากำนัล ตัวอย่างคำถาม มืออื่นข้อยจะได้พบคนรักบ่ ถ้าพบให้นางกวักเคาะสากเด้อ” “ข้อยมีเนื้อคู่บ่ ถ้ามีให้เคาะสาก” “ขอหวยสองโต เขียนลงบนดินให้เบิ่ง” เป็นต้น หากนางกวักจะตอบ ก็จะใช้แขนเคาะลงบนสากตำข้าการละเล่นก็จะดำเนินไปเรื่อยๆ บางครั้งก็จะมีการร้องเพลงหรือเป่าแคนให้นางกวักได้สนุกสนาเต้นไปตามจังหวะจนกว่าจะได้เวลาหรือดึกมากแล้วจึงเลิกเล่น ก็จะเชิญผีออกจากกวักด้วยการใช้นิ้วมือแหย่ลงไปในตาของกวักผีก็จะออกไป (Surangchu, 2555)
         จ.ลำพูน ผู้เล่นหรือผู้จับกวักมี 2 คน ส่วนมากเป็นผู้หญิง เนื่องจากมีความนุ่มนวล พูดจาดี เชื่อกันว่า ผีชอบและเอ็นดู ที่สำคัญต้องเป็นคนขวัญอ่อน เพราะเชื่อว่าเมื่อทำพิธีอัญเชิญดวงวิญญาณผีเข้าประทับที่ตัวบ่ากวักวิญญาณจะเข้าได้ง่ายและเร็วเมื่อผีลงมาในกวักแล้วก็จะแสดงอาการทำให้ตัวบ่ากวักเหมือนมีชีวิต เคลื่อนไหวได้ด้วยการโยกแกว่งไกวเหมือนกับว่า ผู้ที่ถือไม่ได้ออกแรงทำเอง เมื่อผีมาลงแล้วก็จะหยุดร้อง จากนั้นผู้เล่นจะตั้งคำถามเพื่อต้องการรู้ว่าผีที่มานี้เป็นใคร โดยจะตั้งคำถามว่า “เป็นน้อยหรือเป็นหนาน” (น้อย หมายถึง ผู้ชายที่เคยบวชเณร ส่วนคนที่บวชพระแล้วลาสิกขาเรียกว่า หนาน) จากนั้นก็จะเชิญผีบ่ากวักดื่มน้ำหรือเหล้าตามแต่ผีต้องการ ถือเป็นการต้อนรับ วิธีการดื่มน้ำผีบ่ากวักจะใช้ปลายแขนจุ่มลงในแก้วน้ำแทนปากหรือนำน้ำไปเทรดลงบนหัวของบ่ากวัก ตำแหน่งใกล้เคียงกับปาก จากนั้นคนจับกวักจะเชิญผีฟ้อนหรือเต้นรำเพื่อความสนุกสนานก่อนเหมือนเป็นการสร้างความคุ้นเคยกันก่อน จากนั้นคนจับกวักก็จะชวนคุย ซักถามตามแต่ที่มีคนต้องการถาม เช่น เรื่องการเรียน การงาน เหตุการณ์บ้านเมือง เนื้อคู่ เป็นต้น ผีจะตอบด้วยการโยกตัว โขกพื้นและเขียนบนพื้นดิน คำตอบจะมีแค่ใช่หรือไม่ใช่ เมื่อผู้เข้าร่วมพิธีไม่มีคำถามแล้ว ผู้จับบ่ากวักจะกล่าวคำขอบคุณและขออภัยแทนผู้ถามคำถามทุกคน ที่อาจใช้คำพูดหรือกริยาไม่เหมาะสมหรือลบหลู่โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จากนั้นจะนำน้ำขมิ้นส้มป่อยไปปะพรมที่ตัวบ่ากวัก เมื่อผีบ่ากวักออกไปแล้ว บ่ากวักจะนิ่ง ผู้ถือรู้สึกได้ว่าบ่ากวักจะเบา ไม่หนักเหมือนตอนที่ผีเข้าประทับ การละเล่นผีบ่ากวักมักจะใช้เวลาเล่นราว 1-3 ชั่วโมงต่อครั้ง (ปณิตา สระวาสี, 2561)
         จ.นครปฐม การละเล่นพื้นถิ่นของชาวลาวครั่ง มีความเกี่ยวโยงเรื่องราวมาจากวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ โดยนิยมนำการละเล่นมาเล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อความสนุกสนานของคนในชุมชน และมีความเชื่อว่าในช่วงเทศกาล ดังกล่าวผีต่าง ๆ ที่ชาวลาวครั่งให้ความเคารพนับถือจะถูกปลดปล่อยให้กลับมาพบกับ ลูกหลาน ลูกหลานจึงมีการทาบุญอุทิศส่วนบุญไปให้ การละเล่นดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้ชาวลาวครั่ง มีความ กตัญญูต่อบรรพบุรุษ มีความเชื่อว่าการเสี่ยงทายจากการละเล่นต่างๆ มีผลต่อจิตใจ ให้ต่อสู้มีกำลังใจ ให้ ระมัดระวงั ตามคำเสี่ยงทาย นอกจากนี้ยังเป็นการเชื่อมโยงให้เห็นถึงระบบความเชื่อเรื่องสิ่งเหนือธรรมชาติที่มีผลต่อสภาพจิตใจ ความเชื่อ ความศรัทธา ของกลุ่มคนหรือบุคคล การละเล่นผีลอบและการละเล่นผีนางกวักที่สืบทอดมาในปัจจุบัน ช่วยให้เห็นวิถีการดำรงชีวิตประจาวัน ของคนในชุมชน เห็นวัฒนธรรมที่ดีงามมีคุณค่าของกลุ่ม (นิวส์รีพอร์ต, 2560)

บทสรุป[แก้ไข]

         การละเล่นผีนางกวักจะมีลักษณะที่แต่ต่างจากนางกวักที่เป็นรูปปั้น ในแต่ละพื้นที่จะมีความเชื่อในการละเล่นที่แตกต่างออกกันไป บางพื้นเล่นเพื่อขอโชคลาภ เพื่อสื่อสารกับดวงวิญญาณ เพื่อทำนายฝนฟ้าอากาศ เพื่อเสี่ยงทายการเจ็บไข้ ไม่สบาย และเล่นเพื่อการทำมาค้าขาย ทำมาหากิน ส่วนในเรื่องอุปกรณ์ เครื่องเซ่นไหว้ บทที่ใช้ร้องในการละเล่น รูปแบบ และวิธีการละเล่นที่แตกต่างออกกันไป 

บรรณานุกรม[แก้ไข]

เชาวน์มนัส ประภักดี. (2558). การวิเคราะห์วาทกรรม “พม่า” ในผลงานดนตรีของหลวงวิจิตรวาทการ. ใน ปัญญา เลิศไกร (บ.ก.), การประชุมวิชาการระดับชาติและนานาชาติ “ราชภัฏวิจัย ครั้งที่ 3” (น. 40–49). มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช. 
ฐานข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทย. (ม.ป.ป.). เกี่ยวกับเรา. https://www.sac.or.th/databases/ethnic-groups/site/about
ณภัทร ประศาสน์ศิลป์ และ ศราวุฒิ ปิ่นทอง. (2565). คติความเชื่อท้องถิ่นจากมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมลายูปัตตานีผ่านการออกแบบสื่อในบริบทร่วมสมัย. วารสารกระแสวัฒนธรรม, 23(44). 47-57.
ไทยรัฐออนไลน์. (16 พฤษภาคม 2564). ชาวบ้านกำแพงเพชรเล่น "ผีนางกวัก" เชื่อสื่อวิญญาณได้ หวังขอโชคลาภ (คลิป). ไทยรัฐ. https://www.thairath.co.th/news/local/north/2093362
นิวส์รีพอร์ต. (15 เมษายน 2560). นครปฐม การเล่นผีนางกวักในงานประเพณีสงกรานต์. https://www.newsreportnakhonpathominside.com/archives/14234
ปณิตา สระวาสี. (21 กันยายน 2561). การเล่นผีบ่ากวัก. ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย. https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=130
ปนิทัศน์ มามีสุข. (15 เมษายน 2560). นครปฐม การเล่นผีนางกวักในงานประเพณีสงกรานต์. นิวส์รีพอร์ต นครปฐม อินไซด์. https://www.newsreportnakhonpathominside.com/archives/14234
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช. (ม.ป.ป.). ชาวไทยพวน. https://www.stou.ac.th/offices/rdec/nakornnayok/main/onlineexhibitions/Thaiphun/believe.html
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (11 ตุลาคม 2565). ผี. https://th.wikipedia.org/wiki/ผี
ศรัณย์ นักรบ. (2549). ดนตรีประกอบการรำแกลมอของชาวกูย. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 24(3), 107-116.
สมคิด จูมทอง. (26 กันยายน 2561). การเล่นนางกวัก ไทยพวนบ้านทราย. ฐานข้อมูลประเพณีท้องถิ่นในประเทศไทย. https://www.sac.or.th/databases/rituals/detail.php?id=134
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (ม.ป.ป.). ผี. https://dictionary.orst.go.th/
อารีวรรณ หัสดิน. (2562). การดำรงอยู่และการเปลี่ยนแปลงของการละเล่นพื้นบ้านไทยพวนในพื้นที่ภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย [วิทยานิพนธ์ปริญญาดุษฎีบัณฑิต]. DSpace JSPUI. http://ir-ithesis.swu.ac.th/dspace/bitstream/123456789/665/1/gs571150046.pdf
Longdo Dict. (ม.ป.ป.). *การละเล่น*. https://dict.longdo.com/search/*การละเล่น*
Plookpedia. (25 เมษายน 2560). ความหมายของคำว่าการละเล่นของไทย. ทรูปลูกปัญญา. https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/58006
Siamsporttalk. (ม.ป.ป.). ความหมายของการละเล่นพื้นบ้านไทย. https://www.siamsporttalk.com/th/entertainment/menus-general/471-thaiskits.html
Surangchu. (16 ตุลาคม 2555). ผีนางกวัก. กระทรวงวัฒนธรรม. http://www.m-culture.in.th/album/164110/ผีนางกวัก