ฐานข้อมูล เรื่อง กระทงเปลือกข้าวโพด ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

         ประวัติบ้านลานดอกไม้ตก
         ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ได้รับการยกฐานะเป็น องค์การบริหารส่วนตำบล เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2539 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบลุ่ม พื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำปิง และพื้นที่ดอน ห่างจากที่ว่าการอำเภอกิ่งอำเภอโกสัมพี ประมาณ 12 กิโลเมตร ทิศเหนือติดกับตำบลเพชรชมภู ทิศใต้ติดต่อกับตำบลทรงธรรม ทิศตะวันตกติดต่อกับตำบลเพชรชมภู ทิศตะวันออกติดต่อกับแม่น้ำปิง ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลเพชรชมภู กิ่ง อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ทิศใต้ ติดกับ ตำบลทรงธรรม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ทิศตะวันออก ติดกับ แม่น้ำปิง ทิศตะวันตก ติดต่อ ตำบลเพชรชมภู กิ่งอำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร อาชีพหลัก ทำนา อาชีพเสริม ทำผลิตภัณฑ์จากกล้วย จำนวนครัวเรือนที่มีไฟฟ้า ใช้ในเขต อบต. 1,410 ครัวเรือน ถนนสายกำแพงเพชร-ตาก 20 กม.จากตัวจังหวัดกำแพงเพชรผลิตภัณฑ์ กล้วยแปรรูป, กระทงจากเปลือกข้าวโพด, ดอกไม้จันทน์จากเปลือกข้าวโพด 
         นางทวีป  เอมศิริ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 ตำบลลานดอกไม้ตกบอกว่า “ตำบลลานดอกไม้นั้นแยกกันออกเป็น 2  ตำบล เพราะว่าอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ คือ ตำบลลานดอกไม้ตก กับตำบลลานดอกไม้ออก แต่เขาเรียกตำบล ลานดอกไม้ออกกันแค่ตำบลลานดอกไม้ ซึ่งตำบลลานดอกไม้จะขึ้นเป็นของอำเภอเมือง ส่วนตำบลลานดอกไม้ตกจะขึ้นเป็นอำเภอโกสัมพีนคร” 
         จากข้างต้นสรุปได้ว่า ตำบลลานดอกไม้ในอดีตที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำปิง ได้แยกออกเป็น 2 ตำบล คือ ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร และตำบลลานดอกไม้ออกหรือตำบลลานดอกไม้  อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
         ความเป็นมาของกระทงเปลือกข้าวโพด
         การประดิษฐ์กระทง สมัยก่อนใช้วัสดุพื้นบ้านหรือตามธรรมชาติ เช่น ทำจากใบตอง หยวกกล้วยมาพับตกแต่งประดับด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และวัสดุตามธรรมชาติมาประดิษฐ์ เป็นวัสดุย่อยสลายง่าย แต่ปัจจุบันกลับนิยมใช้วัสดุโฟม ซึ่งย่อยสลายยาก ทำให้แม่น้ำลำคลองสกปรก เน่าเหม็น เกิดมลภาวะเป็นพิษ ต่อมาชาวบ้านได้เริ่มทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ โดยเริ่มจากหาเก็บเปลือกมะพร้าว ตามบ้านชาวบ้านที่ปอกทิ้ง เก็บเปลือกข้าวโพดจากชาวนาที่หักข้าวโพดไปแล้วและดอกกก หรือหญ้ากกซึ่งมักจะออกช่วงหน้าฝน โดยเริ่มเก็บตั้งแต่ช่วงต้นปี พอใกล้จะถึงเทศกาลลอยกระทง ก็จะมานั่งรวมกลุ่มกันทำกระทง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำบายศรีที่มีอยู่ มาใช้ในการพับกลีบเปลือกข้าวโพด ทำกลีบกระทงแทนใบตองสด ซึ่งมีราคาสูงและพับเปลือกข้าวโพดทำเป็นดอกไม้ ร่วมกับดอกกก ดอกหญ้ามุ้งในท้องนา นำมาตากแห้งแล้วย้อมสี นำมาประกอบกันกับฐานที่ใช้จากเปลือกลูกมะพร้าวแห้ง ตัดเป็นรูปทรงตามต้องการ เช่น ทรงกลม ทรงรี รูปทรงหัวใจ จากนั้นประดับตกแต่งให้มีสีสันที่สดใสสวยงามอีกนิดหน่อย ก็จะออกมากระทงสีสันสดใสสวยงาม จะได้กระทงทรงกลม กระทงรูปดาว รูปหัวใจ ซึ่งตอนนี้มีด้วยกันทั้งหมด 9 แบบ ถ้าจะเน้นความสวยงามสำหรับตั้งโชว์ก็จะเป็นกระทงรูปนกยูงรำแพน กระเช้าหงส์ กระทงนกคู่ ที่มีความสวยงามละเอียดอ่อน ซึ่งวัสดุที่นำมาประดิษฐ์นั้นล้วนใช้วัสดุธรรมชาติทั้งสิ้น 
         ซึ่งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์ตรงที่ว่า “เหตุผลที่เลือกทำกระทงเปลือกข้าวโพดเพราะว่าที่นี่เริ่มต้นคือ วัสดุเหลือใช้จากเปลือกข้าวโพดมีเยอะมาก เพราะที่มีส่วนใหญ่แล้วทำไร่ทำนาแล้วก็ทำข้าวโพด พอเปลือกข้าวโพดมีจำนวนเยอะมากทำให้มีปัญหา ทำให้อากาศเป็นพิษเพราะประชาชนส่วนใหญ่นั้นเผาเปลือกข้าวโพด บางที่ไปสีข้าวโพดที่ริมแม่น้ำแล้วก็ทิ้งลงในน้ำหรือกองไว้ พอลมพัดมาก็ปลิวเป็นอันตรายเวลาสัญจรตามถนน จริง ๆ แล้วการทำกระทงเปลือกข้าวโพดเกิดขึ้นเพราะภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีฝีมือจากการทำบายศรีเย็บใบตอง ซึ่งในปัจจุบันนี้ใบตองมีราคาที่แพง และหายาก พอเห็นว่าตัวเปลือกข้าวโพดนี้ลองเอามาคลี่ออกมามันมีลักษณะที่กว้าง แล้วพอพรมน้ำมันมีลักษณะที่ยืดหยุ่น เวลาพับสามารถจับจีบเป็นรูปแบบมากมาย นำดอกไม้ตากแห้งมาย้อมสีตกแต่งก็ออกมาสวย พอผู้สูงอายุเริ่มนำปราชญ์ชุมชนหรือว่าปราชญ์ชาวบ้านมาใช้ทำออกมาในรูปแบบต่าง ๆ จึงมีการถ่ายทอด ซึ่งทุกบ้านนั้นทำข้าวโพดอยู่แล้วมันมีวัสดุอยู่แล้วซึ่งเราก็ได้รับการถ่ายทอดไปทั่วตำบลลานดอกไม้ตกเลย จึงเป็นที่มาของการทำกระทงเปลือกข้าวโพดสร้างรายได้ 
         นางน้ำทิพย์  ภูรี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 และเป็นเหรัญญิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกระทงตำบลลานดอกไม้ตกเล่าว่า “คนทำกระทงเปลือกข้าวโพดคนแรกเลยคือนางทองรวม  คุณนาน กับกลุ่มเพื่อนในปี พ.ศ.2538 แต่ก่อนทำกระทงเปลือกข้าวโพดนั้นในอดีตชาวบ้านตำบลลานดอกไม้นั้นไม่ได้ทำกระทงเปลือกข้าวโพดขายเป็นอาชีพ แต่เป็นการทำกระทงถวายวัด ในแต่ละปีชาวบ้านจะช่วยกันทำกระทงใบตองเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินมาทางเที่ยวชมงานลอยกระทงแล้วนำเงินมาเข้าวัด แต่ด้วยระยะเวลาที่มันน้อยแค่ 2 – 3 วัน มันทำไม่ทันและไม่พอกับนักท่องเที่ยวเพราะกระทงทำจากใบตองสด ด้วยความที่อยากจะหาเงินเข้าวัดเยอะ ๆ ทำกระทงไว้เยอะ ๆ เลยพากันคิดหาวิธีที่จะทำเลยพากันทำกระทงใบตองแห้ง ชาวบ้านได้นำใบตองไปตากแดดให้แห้งแล้วมาทำเป็นกลีบกระทง กับเอาเปลือกมะพร้าวมาทำฐาน ใบตองพอมันแห้งก็เป็นสีนำตาลแล้วมันไม่สวยแต่มันก็ทำได้หลายใบเลยพากันไปเอาดอกหญ้าตากแห้งย้อมสีตกแต่งเอามันก็ทำได้แต่ไม่ค่อยตอบโจทย์ เลยพากันมาเห็นเปลือกข้าวโพดจากที่เกษตรกรเขาเอาข้าวโพดไปสีแล้วเหลือเปลือกมันเลยลองเอามาทำดู แล้วมันสวย โดยใช้เปลือกข้าวโพดและดอกหญ้ามาตกแต่งแตงย้อมสีให้สวยงาม ปรากฏว่าขายดีมาก คนจากต่างจังหวัดเขามาเห็นแล้วเขาซื้อ บางคนซื้อ 3 – 4 กระทง แต่ไม่ได้เอาไปลอยเอากลับไปฝากญาติเพราะมันมีสีสันที่สวยงามเหมือนมันเป็นของที่แปลกใหม่ แล้วต่อมาคนในชุมชนเลยมองเห็นว่ามันน่าจะขายได้ เลยพากันไปเรียนรู้การทำจากนางทองรวมเพื่อทำขาย ส่งไปขายให้กับญาติพี่น้องที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัดต่อมาก็มีนักธุรกิจ พวกพ่อค้าคนกลางเขามารับซื้อไปขาย ก็เลยเกิดการเรียนรู้แล้วพากันเริ่มออกแบบ จากที่มันเป็นวงกลมธรรมดาก็พากันคิดหาทำรูปใหม่ ๆ ทำเป็นนกเป็นหัวใจกันจากนั้นก็พากันทำทั้งตำบลเลย แต่ที่เริ่มโด่งดังกันสุด ๆ เลยก็คือปี พ.ศ.2550” 
         จากข้างต้น สรุปว่า ในอดีตชาวบ้านได้ทำกระทงใบตองขายแต่ไม่พอต่อความต้องการของลูกค้า และวัสดุจากใบตองนั้นอยู่ได้ไม่นานจึงคิดหาวิธีที่จะเก็บไว้ได้นานและทำได้เป็นจำนวนมาก จึงได้ลองทำกระทงจากเปลือกข้าวโพดที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรแล้วซึ่งทุกบ้านนั้นมี และได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาของชาวบ้านในการทำบายศรีมาพับกลีบเปลือกข้าวโพดและตกแต่งให้ดูสวยงาม จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชน ดังภาพที่ 1
1 กระทงเปลือกมะพร้าว.jpg

ภาพที่ 1 กระทงเปลือกข้าวโพด

         ความสำคัญของกระทงเปลือกข้าวโพด
         เอกลักษณ์กระทงเปลือกข้าวโพด คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นกระทงใบตอง ขนมปัง หรือวัสดุอื่น ๆ จะเก็บได้ไม่นาน แต่กระทงเปลือกข้าวโพดเก็บได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย และที่สำคัญน้ำหนักเบา จึงเป็นที่ต้องการของตลาดและนับเป็นการสืบสานประเพณีไทย โดยใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาตินั้น จึงถือได้ว่าเป็นกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากเก็บขึ้นมาก็สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย 
         แม้ว่ากระทงเปลือกข้าวโพดอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีการทำออกมาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2539 แต่ด้วยกระแสตอบรับที่ดีในปีที่ผ่านมา ในปีนี้จึงได้มีพ่อค้า แม่ค้าสนใจทำกระทงเปลือกข้าวโพดออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แหล่งผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดก็ต้องเป็นที่จังหวัดกำแพงเพชร เพราะมีการทำไร่ข้าวโพดจำนวนมาก จึงมีเปลือกข้าวโพดที่เป็นขยะทิ้งจำนวนมาก และด้วยเหตุนี้เองจึงได้เป็นที่มาของแนวคิดการนำเปลือกข้าวโพดวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาแปรรูป ที่ผ่านมาไม่ได้เห็นเฉพาะกระทงเท่านั้น แต่มีของแต่งบ้าน ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำจากเปลือกข้าวโพดออกมาจำหน่าย เช่น ตุ๊กตาเปลือกข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์ตรงที่ว่า “กระทงเปลือกข้าวโพด คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นกระทงใบตองจะเก็บไว้ได้ไม่นานก็เหี่ยวหรือเน่าไม่สวย แถมน้ำหนักของกระทงกาบมะพร้าวก็มีน้ำหนักเบาเวลาลูกค้ามารับใส่ถุงได้หลายอันกระทงทับกันก็ไม่ได้เสียหาย และยังทำได้ตลอดทั้งปีเพราะที่นี่ปลูกข้าวโพดเยอะ พอเอาข้าวโพดไปสีแล้วก็เอาเปลือกมาตากแห้งไม่ต้องทิ้ง” 
         นางสาวพรพรรณ  เพิ่มพิพัฒน์ (คุณแอน) หนึ่งในผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพด เล่าว่า สำหรับกระทงเปลือกข้าวโพดของเรามีฐานการผลิตอยู่ที่ บ้านอมฤต ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ถือได้ว่าเราเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มทำกระทงเปลือกข้าวโพด และทำมานานตั้งแต่ปี 2539 เริ่มแรกขายเฉพาะในพื้นที่ แต่พอทำได้ระยะหนึ่งเริ่มเข้ามาทำตลาดในกรุงเทพฯ ต่อมาได้รับความนิยมมากขึ้น มีการนำเข้ามาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต และมีผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในจังหวัดกำแพงเพชรทำจำหน่าย และส่วนใหญ่เริ่มขายในเว็บไซต์ ปัจจุบันกระทงเปลือกข้าวโพดมีขายทั่วประเทศ โดยดูแบบและสั่งซื้อกันผ่านทางเว็บไซต์ ข้อดีของกระทงเปลือกข้าวโพด คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นกระทงใบตอง ขนมปัง หรือวัสดุอื่น ๆ จะเก็บได้ไม่นาน แต่กระทงเปลือกข้าวโพดเก็บได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย และที่สำคัญน้ำหนักเบา โดยวัสดุที่นำมาทำกระทง ประกอบด้วย ฐานกระทงจะทำจากเปลือกมะพร้าว กลีบและดอกไม้กลางจะทำจากเปลือกข้าวโพด และหญ้า ซึ่งหญ้าที่ใส่ดอกไม้เป็นหญ้าจริง     ที่เราเอามาตากแดด และย้อมสีอีกครั้งหนึ่ง โดยทางกลุ่มจะคัดเลือกเปลือกข้าวโพดที่เป็นข้าวโพดพันธุ์เลี้ยงสัตว์ เพราะมีการปลูกกันมากในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของขั้นตอนการทำกระทงเปลือกข้าวโพดไม่ยาก เพราะมีการพับกลีบคล้ายกับกระทงใบตอง ดังนั้น จึงปรับรูปแบบของกระทงใบตองมาใช้กับกระทงเปลือกข้าวโพดได้ สำหรับรูปแบบของกระทงเปลือกข้าวโพด ปัจจุบันจะทำออกมาใน 4 รูปแบบหลัก คือ ทรงกลม ทรงหัวใจ ทรงดาว และทรงเรือ ส่วนรูปแบบอื่น ๆ ก็มีการคิดดัดแปลงขึ้นมาใหม่ เช่น รูปนกยูง เป็นต้น และปัจจุบันเริ่มเห็นกระทงเปลือกข้าวโพดมีสีสันมากขึ้น ซึ่งมาจากการนำเปลือกข้าวโพดมาย้อมสีให้มีสีสันต่าง ๆ แล้วแต่กลุ่มผู้ผลิตว่าจะออกแบบกระทงออกมาอย่างไร 

ชื่อเรียก[แก้ไข]

         กระทงเปลือกข้าวโพด

ชื่อเรียกอื่น ๆ[แก้ไข]

         กระทงจากซังข้าวโพด

คำอธิบาย[แก้ไข]

         เกษตรกรในตำบลลานดอกไม้มีผู้ปลูกข้าวโพดจำนวนมากหลายร้อยไร่ จึงมีการนำเปลือกข้าวโพดมาทำดอกไม้จันทน์จำหน่าย ซึ่งในหลายพื้นที่ก็มีการทำดอกไม้จันทน์เหมือน ๆ กัน จึงคิดริเริ่มดัดแปลงใช้เปลือกข้าวโพดมาทำเป็นกระทง โดยใช้ภูมิปัญญาในการทำบายศรีที่มีอยู่มาใช้ในการพับกลีบกระทง จำหน่ายในเทศกาลลอยกระทงภายในจังหวัดกำแพงเพชร ต่อมาเมื่อทำบ่อย ๆ เข้ามีความชำนาญและดัดแปลงตกแต่งให้สวยงามขึ้น จึงมีพ่อค้าจากจังหวัดอื่น ๆ มาซื้อไปขาย มีทั้งมาสั่งไว้ล่วงหน้า และ เข้ามาเลือกซื้อตอนใกล้ถึงเทศกาลลอยกระทง เมื่อมีเวลาว่างชาวบ้านจึงทยอยทำกระทงสะสมไว้เรื่อย ๆ ตามกำลังของแต่ละคน บางคนที่เป็นผู้สูงอายุก็รับทำฐานกระทงอย่างเดียว เนื่องจากลักษณะงานเหมาะกับผู้สูงอายุ สามารถทำไปเรื่อย ๆ ที่บ้านได้ ซึ่งฐานกระทงที่ว่านี้ทำมาจากเปลือกมะพร้าวซึ่งหาได้ทั่วไปในพื้นที่ นำมาฝานเป็นแป้นบาง ๆ เอาไว้ทำฐาน 
         นางอรุณี  เทียนทอง สมาชิกกลุ่มสตรีพัฒนาอาชีพกระทงเปลือกข้าวโพด เปิดเผยว่า กระทงทำจากเปลือกข้าวโพด ดอกไม้ประดับก็ใช้ดอกกก ดอกหญ้ามุ้งนำมาตากแห้งแล้วย้อมสี จากนั้นก็นำมาประกอบกันกับฐานที่ใช้เปลือกมะพร้าวแห้ง ตัดเป็นรูปทรงตามต้องการ เช่น ทรงกลม ทรงรี ทรงหัวใจ แล้วประดับตกแต่งให้มีสีสันที่สดใสสวยงามอีกนิดหน่อยก็จะได้กระทงทรงกลม กระทงรูปดาว รูปหัวใจ รูปหงส์ รูปเป็ด รูปเรือ และรูปพญานาค สีสันสดใสสวยงาม นางประสพพร  จงสวัสดิ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเพชรชมภู และเลขากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีกำแพงเพชร กล่าวว่า สมาชิกกลุ่มสตรีพัฒนาอาชีพกระทงเปลือกข้าวโพด ได้รับการสนับสนุนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีกำแพงเพชร ด้านการพัฒนารูปแบบของกระทง และจัดหาอุปกรณ์เสริม เมื่อชาวบ้านว่างก็จะมาทำกระทงสะสมไว้ตั้งแต่ต้นปี ถือเป็นอาชีพเสริมและเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว รวมถึงคนเฒ่าคนแก่ที่นี่ก็มีงานอดิเรก เช่น เย็บกลีบกระทง ตัดทรงเปลือกมะพร้าว ส่วนต้นทุนการผลิตก็ไม่แพง ราคาส่งกระทงเล็กใบละ 35บาท กระทงใหญ่ตั้งแต่ 100 -1,000 บาท โดยแต่ละปีจะมีแม่ค้าพ่อค้าสั่งซื้อนำไปขายต่อได้ราคาที่สูงกว่านี้อีก ซึ่งในปีนี้ได้ส่งกระทงให้กับลูกค้าตามจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศแล้วกว่า 20,000 ใบ โดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี กรุงเทพมหานคร มียอดสั่งซื้อมากที่สุด 

สถานที่[แก้ไข]

         บ้านเลขที่ 64 หมู่ที่ 1 ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร 62000   

วัสดุผลิตภัณฑ์[แก้ไข]

         1. เปลือกข้าวโพด ใช้ทำกลีบกระทง ดังภาพที่ 2
2 เปลือกข้าวโพด.jpg

ภาพที่ 2 เปลือกข้าวโพด

         2. เปลือกมะพร้าว ใช้ทำฐานกระทง ดังภาพที่ 3
3 เปลือกมะพร้าว.jpg

ภาพที่ 3 เปลือกมะพร้าว

         3. ดอกหญ้า ใช้ตกแต่งกระทง ดังภาพที่ 4
4 ดอกหญ้า.jpg

ภาพที่ 4 ดอกหญ้า

         4. กระดาษย่น สีต่าง ๆ ใช้ทำเป็นฐานติดกับเปลือกมะพร้าว 
         5. กาว ใช้ทายึดให้ดอกหญ้าติดกับฐาน 
         6. สีย้อมกก ใช้ย้อมเปลือกข้าวโพดและดอกหญ้าให้มีสีสันที่สวยงาม
         7. ลวดเย็บกระดาษ ใช้เย็บกระดาษย่น
         8. กรรไกร ใช้ตัดตกแต่งสิ่งที่เป็นส่วนเกินของกระทงออก
         9. ลูกแม๊ก แม่แม็ก ใช้แม็กตัวเปลือกข้าวโพดมาทำเป็นกลีบ
         10. กระบอกฉีดน้ำ ใช้ฉีดพรมบนเปลือกข้าวโพดให้อ่อนพับง่าย
         11. ด้ายขาว ใช้มัดยึดเปลือกข้าวโพดกับดอกหญ้าเวลาทำดอก

ประเภทการใช้งาน[แก้ไข]

         ใช้ในพิธีการลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 เป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยมีวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย เช่น ลอยเคราะห์บูชาพระพุทธเจ้า แต่ปัจจุบันนิยมทำเพื่อขอขมา และระลึกถึงคุณแม่พระคงคา ที่ได้อำนวยประโยชน์ต่าง ๆ แก่มนุษย์  โดยประเพณีลอยกระทงมีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยประมาณ 700 ปีมาแล้ว ประเพณีลอยกระทงได้เข้าสู่ประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีประมาณ พ.ศ. 1800 ดังปรากฏในหนังสือนางนพมาศ ผู้เป็นพระสนมเอกของพระร่วงเจ้าว่า "ครั้นวันเพ็ญเดือน 12 ข้าน้อยได้กระทำโคมลอย คิดตกแต่งให้งามประหลาดกว่าโคมสนมกำนัลทั้งปวงจึงเลือกผกาเกสรสีต่าง ๆ มาประดับเป็นรูปกระมุทกลีบบานรับแสงจันทร์ใหญ่ประมาณเท่ากงระแทะ ล้วนแต่พรรณดอกไม้ซ้อนสีสลับให้เป็นลวดลาย..." เมื่อสมเด็จพระร่วงเจ้าได้เสด็จฯทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงมีพระราชโองการฯให้จัดพิธีลอยกระทงเป็นประจำทุกปี ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองพระราชพิธีนี้จึงได้ถือปฏิบัติเป็นประจำจนกระทั่งบัดนี้ 
         ช่องทางการจัดจำหน่าย 
         จำหน่ายผ่านเพจเฟสบุ๊คและการมารับเองจากบ้านที่ทำ ขั้นต่ำที่ขายได้ในแต่ละปี 5,000 - 10,000 ใบต่อปี โดยมีขนาดหลัก ๆ สองขนาดคือ 10 นิ้ว และ 7 นิ้ว โดยขนาด 10 นิ้วราคาอยู่ที่ 30 บาท ขนาด 7 นิ้วราคา 25 บาท เป็นราคาขายของทรงกลม รูปหัวใจ และเรือ แต่ถ้าเป็นรูปนก ขนาด 10 นิ้ว อยู่ที่ราคา 60 บาท ขนาด 7 นิ้ว ราคา 40 บาทตามความยากง่ายของทรง 

กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการใช้งาน[แก้ไข]

         1. นำเปลือกมะพร้าวมาตากให้แห้ง ใช้มีดฝานให้เป็นแผ่นบาง ๆ สำหรับเป็นฐานกระทง แล้วแต่ว่าเปลือกมะพร้าวที่ฝานออกมาแล้วจะได้ออกมาในลักษณะไหน ถ้าได้มาแบบยาวก็สามารถนำมาทำฐานที่เป็นรูปเรือได้ ถ้าได้สั้นก็สามารถทำเป็นรูปวงกลม และรูปหัวใจ ดังภาพที่ 5
5 เปลือกมะพร้าวที่ตัดเป็นรูปแบบที่ต้องการแล้ว.jpg

ภาพที่ 5 เปลือกมะพร้าวที่ตัดเป็นรูปแบบที่ต้องการแล้ว

         2.การเลือกพันธุ์ข้าวโพดที่ดีจะสามารถทำให้กลีบกระทงนั้นออกมาสวยและง่ายต่อคนทำ เช่น ข้าวโพดพันธุ์ 984 จะเป็นพันธุ์ข้าวโพดที่ดีที่สุด เพราะเปลือกบาง เนียน ไม่มีรอยที่เปลือก และไม่คันจึงทำให้ทำง่าย จากนั้นนำฝักข้าวโพดมาปอกเปลือกซักสองถึงสามใบเอามีดมาควั่นตรงคั่วฝักนิดหน่อยควั่นให้รอบ ดึงตรงจุกออกก็จะได้เปลือกข้าวโพด 
         3. นำเปลือกข้าวโพดไปตากแดดสักสองวันหรือจนแห้งแล้วนำมาย้อมสีโดยสีที่ใช้นั้นจะเป็นสีย้อมกก ตราช้าง การย้อมต้องตั้งน้ำให้เดือดแล้วใส่สีลงไปคนให้ละลายเข้ากับน้ำ จากนั้นนำเปลือกข้าวโพดที่ตากไว้ ลงไปจุ่มประมาณสองถึงสามครั้งหรือจนกว่าจะได้สีที่พอใจ แล้วนำมาตากให้สีแห้ง การเก็บรักษาเปลือกข้าวโพดหลังจากย้อมสีแล้วนั้นจะไม่นำไปตากแดดหรือโดนแดดเลย จะตากภายในบ้านหรือที่ร่มปล่อยให้แห้งไปตามลมไม่อย่างนั้นสีจะซีดและไม่สวย จากนั้นนำกลับมาเพื่อทำการฉีก ก่อนฉีกเอากรรไกรมาตัดตรงปลายฝักและแกะออกทีละเปลือกแล้วจึงทำการฉีกเปลือกละสองใบ นำมาพรมน้ำนิดหน่อยเพื่อให้เปลือกนิ่มจะได้พับง่ายขึ้น ตัดเปลือกข้าวโพดให้ได้ขนาดตามที่ต้องการพับเป็นตัว(กลีบกระทง)เตรียมไว้ จำนวนตามที่ต้องการ ดังภาพที่ 6
6 เปลือกข้าวโพดที่ย้อมสีและพับเป็นกลีบแล้ว.jpg

ภาพที่ 6 เปลือกข้าวโพดที่ย้อมสีและพับเป็นกลีบแล้ว

         4. นำดอกหญ้ามาย้อมสีต่าง ๆ ก่อนนำมาย้อมดอกหญ้าต้องแห้งสนิทตากด้วยแดดจัด ๆ เท่านั้นไม่อย่างนั้นดอกหญ้าจะขึ้นรา โดยดอกหญ้าเอามาทำนั้นทำมาจากดอกกก ที่ตัวต้นกกสามารถนำไปทำเสื่อ ส่วนดอกที่คนส่วนใหญ่นำไปทิ้งก็เก็บมาตากและนำมาให้ตกแต่งกระทงให้สวยงาม
         5. นำกระดาษย่นมาทา ชุบด้วยเทียนไข เย็บกลีบกระทงเป็นรูปแบบต่าง ๆ ที่ต้องการ เช่น วงกลม วงรี รูปหัวใจ เป็นไปตามรูปที่เราต้องการหรือตามที่เราได้ตัดไว้แล้ว
        6. นำมาติดฐาน ก็คือเปลือกมะพร้าวนั่นเอง พอติดฐานเสร็จรอจนแห้งดีนำมาตกแต่งด้วยดอกกกที่เราย้อมสีและใส่ดอกไม้ที่ทำมาจากเปลือกข้าวโพด ตกแต่งให้สวยงาม
         7. กระทงที่ได้ทำเสร็จแล้วคัดคุณภาพและขนาดก่อนส่งจำหน่าย  เปลือกข้าวโพดเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะทำจากวัสดุจากธรรมชาติลดมลพิษ และมีความสวยงามแปลกตาเทคนิค ดังภาพที่ 7
7 กระทงที่ทำเสร็จแล้ว.jpg

ภาพที่ 7 กระทงที่ทำเสร็จแล้ว

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         16 กรกฎาคม 2563

วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         -

ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]

         นายวชิรวิทย์  กรรณิกา
         นางสาวสุดาพร  แทนสมบัติ
         นางสาวนิชานันท์  เอี่ยมทรัพย์

คำสำคัญ[แก้ไข]

         กระทงเปลือกข้าวโพดบ้านลานดอกไม้, บ้านลานดอกไม้, กระทงเปลือกข้าวโพด