ฐานข้อมูล เรื่อง ชนเผ่าลีซอ (ลีซู) ตำบลคลองลานพัฒนา

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

ชื่อชาติพันธุ์/ชุมชน/สังคม[แก้ไข]

         ลีซอ หมายถึง ผู้ใฝ่รู้แห่งชีวิต มีภาษาพูดในกลุ่มหยี (โลโล) ตระกูลธิเบต-พม่า 30% เป็นภาษาจีนฮ่อ ต้นกำเนิดของลีซูอยู่ที่ต้นน้ำสาละวิน และแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของธิเบต และทางตะวันตกเฉียงเหนือ ของมณฑลยูนนาน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ชาวลีซูได้อพยพเข้าสู่เขตประเทศไทย เมื่อประมาณปี พ.ศ.2464 กลุ่มแรกมี 4 ครอบครัว มาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชนครั้งแรกอยู่ที่บ้านห้วยส้าน อ.เมือง จ.เชียงราย ต่อมามีอีก 15 ครอบครัวอพยพตามมาด้วยในปีเดียวกัน ลีซูไม่มีภาษาเขียนของตนเอง แต่สำหรับลีซูที่นับถือเป็นคริสเตียน กลุ่มมิชชั่นนารีได้ใช้อักษรโรมันมาดัดแปลงเป็นภาษาเขียนของชนเผ่าลีซู อยู่ได้โดยประมาณ 5-6 ปี ก็มีการแยกกลุ่มไปอยู่หมู่บ้านดอยช้าง ทำมาหากินอยู่แถบ ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย

ชื่อเรียกตนเอง[แก้ไข]

         ลีซอเรียกตนเองว่า “ลีซู” (คำว่า “ลี” มาจาก “อิ๊หลี่” แปลว่า จารีต ประเพณีหรือวัฒนธรรม “ซู” แปลว่า “คน”) มีความหมายว่ากลุ่มชนที่มีขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี และความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง

ที่ตั้ง[แก้ไข]

         อำเภอคลองลานพัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร
         ลองติจูด 99.422888
         ละติจูด 16.128762

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก[แก้ไข]

         ลีซอ

ภาษาที่ใช้พูด/เขียน[แก้ไข]

         ภาษาแม่ ลีซูพูดภาษาในกลุ่มหยี (โลโล) ธิเบต – พม่า ไม่มีภาษาเขียนของตนเอง ต่อมากลุ่มมิชชั่นนารีที่เผยแพร่ศาสนาคริสต์ก็ได้นำเอาอักษรโรมันมาดัดแปลงเป็นภาษาเขียนของลีซู เช่น
สรรพนามแทนตัว
         ฉัน - งัว เธอ - นู (นา) เขา - ยี้
         คูมา - ครูผู้หญิงมา คูผะ - ครูผู้ชาย
สรรพนามเรียกเครือญาติ
         พ่อ - บ๊ะ บ่า (อา บ่า) แม่ - มะ มา (อา มา)
         ลุง - อู๊ ผะ ป้า - อู๊ มา
         ปู่ ตา - อา ปา ย่า - อาผ่อ 
         ยาย - อาผ่อ (โผ่)
         พี่ชาย - กู๊ กู พี่สาว - จี๊ จิ (อาจิ) ตามด้วยชื่อ
         น้องชาย - งึสะ น้องสาว - งึ มา
         หลานชาย - ลี๊ ป๊า หลานสาว - ลี๊ มา
         ลูกเขย - มู้ (ว) ลูกสะใภ้ ลูกสะใภ้ - สึ มา

ประวัติความเป็นมา[แก้ไข]

         ลีซอเรียกตนเองว่า “ลีซู” เป็นชาวเขาเผ่าหนึ่งที่มีภูลำเนาเดิมอยู่ที่ต้นน้ำสาละวิน และแม่น้ำโขงทางตอนเหนือของประเทศธิเบต และทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนานในประเทศจีน ได้อพยพลงมาทางใต้เนื่องจากเกิดการสู้รบกันกับชนเผ่าอื่นนับเวลาหลายศตวรรษ ลีซอได้ร่นถอยเรื่อยลงมาจนในที่สุดก็แตกกระจายกันอยู่ในเมียนมาร์ จีน อินเดีย และประเทศไทย สำหรับการอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยครั้งแรกจากการสอบถามลีซอคนเฒ่าคนแก่ที่บ้านลีซอดอยช้าง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ได้ข้อมูลว่าเข้ามาระหว่างปี พ.ศ.2462 – 2464 อพยพมาจากหมู่บ้านหนึ่งทางตอนใต้ของเมืองเชียงตุงประเทศเมียนมาร์ เข้ามาตั้งฐานอยู่ที่บ้านลีซอ ดอยช้าง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้ยังคงมีอยู่ประมาณ 80 หลังคาเรือน 

ข้อมูลประชากรศาสตร์[แก้ไข]

         การแบ่งกลุ่มลีซอแบ่งกลุ่มย่อยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ลีซูลาย กับลีซูดำ ชาวลีซูที่อยู่ในประเทศไทยเกือบทั้งหมดเป็นลีซูลาย ส่วนลีซูดำ จะอยู่ในประเทศจีน พม่า์ อินเดีย และไทย ในประเทศไทยมีชุมชนลีซูอาศัยอยู่ 9 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สุโขทัย และลำปาง ตระกูลดั้งเดิมของชาวลีซูเดิมมี 6 กลุ่ม คือ น้ำผึ้ง (เบี่ยซือวี) ไม้ (ซือผ่า) ปลา (งัวะผ่า) หมี แมลงข้าว สาลี และกัญชง ตระกูลน้ำผึ้งใหญที่สุด แตกออกเป็นอีก 3 กลุ่มย่อย มีอยู่ 9 สายตระกูลจากการแต่งงานข้ามเผ่ากับชาวจีนฮ่อ เช่น ลี ย่าง ว่าง เหยา วู เขา โฮ จู และจ้าง ในกลุ่มนี้ ย่าง และลีเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดชาวลีซูนับถือบรรพบุรุษและบูชาเทพเจ้าโดยมีผู้นำสองคน คือ ผู้นำทางด้านวัฒนธรรม (มือหมือผะ) และ ผู้ประกอบพิธีกรรม (หนี่ผะ)    
ประชากร
         ในกลางปี พ.ศ.2526 มีลีซูประมาณ 18,000 คน กระจายกันตั้งหมู่บ้านราว 110 หมู่ อยู่ในเมืองไทย เมื่อ พ.ศ.2501 สำรวจประชากรลีซูได้ประมาณ 7,500 คน คิดเป็นอัตราเพิ่ม 3.6% ต่อปี ตลอดระยะ 25 ปี ที่ผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มโดยธรรมชาต เพราะมีการอพยพเข้ามาขึ้นเรื่อยๆ ในปี 2526 นี้มีประชากรลีซูอยู่ในพม่า 250,000 และในจีนราว 500,000 คน มีหลายร้อยครอบครัวที่เข้ามาอยู่ในทางชายแดนของตะวันออกฉัยงเหนือ แต่ไม่มีอยู่ในลาว และเวียดนามเลย ลีซูในไทยนั้นอยู่ในเขตจังหวัดเชียงใหม่ราว 47% เชียงราย 23 % แม่ฮ่องสอน 19% อีก 11% กระจัดกระจายกันอยู่ใน พะเยา ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ และสุโขทัย ลีซูในเมืองไทยปัจจุบันแตกต่างไปจากชนเผ่าในตอนเหนือของพม่ามากมาย อาจเป็นเพราะได้แยกแตกตัวมาจากจีนส่วนใหญ่หลายชั่วคนแล้ว แถมยังมีการสมรสกับจีนฮ่อ จนผสมผสานกันถึงขั้นเรียกตนเองว่า ลีซูจีน ไปเลย
         ประชากรลีซูจากการสำรวจในปี พ.ศ.2540 ของสถาบันวิจัยชาวเขามี 30,940 คน 151 หมู่บ้าน 5,114 ครัวเรือน คิดเป็น 4.11% ของประชากรชาวเชาทั้งหมด อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ 23% จังหวัดเชียงราย 19% จังหจัดแม่ฮ่องสอน 11% และกระจายทั่วไปในจังหจัด พเยา ตาก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ สุโขทัย

ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์[แก้ไข]

         สภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ด้านทิศตะวันออกเป็นที่ราบ ดินร่วนปนทราย ภูเขาแต่ละลูกเชื่อมโยงติดต่อกับขุนคลองลานซึ่งเป็นจุดสูงสุดในบริเวณนี้ สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,439 เมตร สภาพป่าสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร ต้นกำเนิดของแม่น้ำหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก ไหลรวมกันลงสู่แม่น้ำปิง

วิถีชีวิต[แก้ไข]

อาชีพ[แก้ไข]

         เผ่าลีซอมีการปลูกข้าว ข้าวโพด  พืชผักและการเลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ก็มีอุตสาหกรรมในครัวเรือนเป็นอาชีพรอง เช่นการทอผ้า การเย็บปักลายผ้า การทำเครื่องประดับด้วยโลหะเงิน การต้มสุรา มีอยู่บ้างที่มีอาชีพรับจ้างเป็นครั้งครา

ครอบครัว[แก้ไข]

         ครอบครัวลีซอ โดยทั่วไปมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก บางครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย เช่น ครอบครัวที่บุตรชายแต่งงานกับหญิงสาวแล้วหญิงสาวเข้ามาอยู่ในบ้านของฝ่ายชายหรือชายเข้าไปอยู่ในครอบครัวของพ่อแม่ฝ่ายหญิง เนื่องจากต้องไปชดเชยแรงงานเป็นค่าสินสอดของฝ่ายหญิง แต่เมื่อถึงเวลาที่สมควรหรือเหมาะสม ชายหญิงที่แต่งงานกันก็จะแยกตัวไปเป็นครอบครัวใหม่ขึ้นเช่นเดียวกันกับครอบครัวของสังคมไทยเรา อย่างไรก็ตามลีซอนิยมตั้งบ้านเรือนหรือตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้กันกับญาติที่เป็นพี่เป็นน้องหรือมีแซ่สกุลเดียวกัน แซ่สกุล ของลีซอมีประมาณ 20 แซ่สกุลเศษ มีทั้งสิบเชื้อสายมาจากจีนและเป็นเป็นลีซอแท้ ๆ สำหรับที่เป็นลีซอแท้ ๆ มีน้อยกว่าแซ่สกุลที่สืบเชื้อสายมาจากจีน แต่ละแซ่สกุลเขารู้จักกันดี ไม่ว่าจะอยู่ในท้องที่จังหวัดใด มีการเคารพนับถือกันตามลำดับชั้น เมื่อเป็นแซ่สกุลเ ดียวกัน และอยู่ในกลุ่มย่อยของแซ่สกุลเดียวกัน จะเกี้ยวพาราสีหรือแต่งงานกันไม่ได้ 

การแต่งกาย[แก้ไข]

         เครื่องแต่งกายชายลีซอ 
         สวมกางเกงขากว้างยาวเลยเข่าเล็กน้อยลักษณะ สีที่นิยมคือ สีฟ้า เขียวอ่อน หรือสีอื่น ๆ (ที่เป็นสีโทนเย็น) ส่วนคนสูงอายุนิยมใช้สีดำหรือสีม่วงเข้ม เสื้อคล้ายเสื้อแจ็คเก็ต สีดำทำด้วยผ้าใยกัญชา (ในอดีต) หรือผ้ากำมะหยี่ (ในปัจจุบัน) ประดับด้วยแผ่นโลหะเงินรูปครึ่งวงกลมเย็บติดกับเสื้อเรียงเป็นแถวทั้งข้างหน้าและข้างหลัง (เสื้อกำมะหยี่นี้จะสวมเฉพาะวันปีใหม่ และวันแต่งงานของตนเองเท่านั้น) อีกทั้งนิยมสวมถุงน่องเป็นผ้าดำ และติดด้วยแถบสีสดใส
ภาพที่ 11 ชุดแต่งกายชายชนเผ่าลีซอ.jpg

ภาพที่ 1 ชุดแต่งกายชายชนเผ่าลีซอ

ที่มา: ศูนย์ชาวเขาคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพที่ 12 ชุดแต่งกายชายเผ่าลีซอ.jpg

ภาพที่ 2 ชุดแต่งกายชายเผ่าลีซอ

         เครื่องแต่งกายหญิงลีซอ 
         ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หญิงสาว หญิงแต่งงานแล้ว หรือคนชรา จะแต่งกายเหมือนกันหมด กางเกงจะเป็นสีดำยาวเลยเข่าเล็กน้อย มีเสื้อคลุมยาว นิยมสีฟ้า หรือสีโทนเย็นที่มีสีสดใส ตัวเสื้อตั้งแต่เอวลงมาจะผ่าทั้งสองข้าง แขนยาว ที่ปกคอติดแถบผ้าสีดำ ยาวประมาณ 1 คืบ ช่วงต้นแขนและหน้าอกตกแต่งด้วยผ้าหลากสีเย็บติดกันเป็นแผ่น คาดเข็มขัดซึ่งเป็นผ้าดำผืนใหญ่ กว้างขนาดฝ่ามือ หญิงนิยมโพกศีรษะ (จะใช้ผ้าโพกศีรษะเฉพาะในงานสำคัญ เช่น งานแต่งงาน ปีใหม่ ) ใช้ผ้าพันแข้งด้วยผ้าพื้นสีโทนร้อน (แดง ชมพู ม่วง) ปลายขอบล่างติดแถบผ้าหลากสีและมีลายปักที่สวยงาม เมื่อมีพิธีกรรมหรืองานฉลองก็จะสวมเสื้อกั๊กผ้ากำมะหยี่ ซึ่งประดับด้วยแผ่นโลหะเงินรูปครึ่งวงกลม และเหรียญรูปี
ภาพที่13 ชุดแต่งกายหญิงชนเผ่าลีซอ.jpg

ภาพที่ 3 ชุดแต่งกายหญิงชนเผ่าลีซอ

ภาพที่ 14 ชุดแต่งกายหญิงชนเผ่าลีซอ.jpg

ภาพที่ 4 ชุดแต่งกายหญิงชนเผ่าลีซอ

         การตกแต่ง
         ลักษณะการตกแต่งเสื้อผ้า ส่วนใหญ่เน้นประดับ ด้วยแถบริ้วผ้าสลับสีถ้าตัดและเม็ดโลหะเงิน มีการตกแต่งด้วยลายปักบ้างเล็กน้อย บริเวณช่วงต่อระหว่างผ้าคาดเอวกับพู่ห้อย และด้านข้างลายย่ามช่วงต่อกับพู่ ที่จะทิ้งชายลงมาทั้ง 2 ด้านเท่ากัน
ภาพที่ 15 ลวดลายการตกแต่งผ้า.jpg

ภาพที่ 5 ลวดลายการตกแต่งผ้า

ที่อยู่อาศัย/ความเป็นอยู่[แก้ไข]

         ลักษณะบ้านแบบคร่อมดิน
         ลักษณะของบ้านแบบปลูกคร่อมดินนั้น มักจะปลูกในพื้นดินที่เรียบเสมอกัน ส่วนวัสดุการก่อสร้างใช้ไม้ไผ่ ยกเว้นเสาบ้านที่ต้องใช้ไม้เนื้อแข็งเพื่อความมั่นคง ส่วนฝานั้นกั้นด้วยฟากแบบสานขัดแตะ ส่วนหลังคามุงด้วยหญ้าคา ตัวบ้านจะไม่มีหน้าต่างมีประตูเข้าด้านหน้าด้านเดียว ภายในค่อนข้างจะมืด ส่วนบริเวณลานบ้านด้านนอกจะเป็นที่ตั้งครก กระเดื่องสำหรับตำข้าวประจำบ้าน และหลังบ้านจะเป็นเล้าไก่หลังเล็ก ๆ สำหรับไก่ที่เลี้ยงไว้ สร้างแบบยกพื้นมีหลังคาคลุมที่นอนของไก่ และมีรังไข่ ลักษณะ และรูปแบบในการสร้างบ้านของลีซูนั้น แบบเดียวกับอาข่า เพราะคำนึงถึงประโยชนใช้สอย ดังนั้นการสร้างบ้านในลักษณะนี้กันทั้งฝน และลมหนาวได้ดี
ภาพที่ 1 บ้านชนเผ่าลีซอ.jpg

ภาพที่ 6 บ้านชนเผ่าลีซอ

         ลักษณะบ้านยกพื้น
         ปกติบ้านของลีซูโดยทั่วไปจะสร้างคร่อมดิน แต่ก็มีบางหมู่บ้านที่พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นลาดเขาพื้นที่ราบมีน้อย การปลูกสร้องบ้านจึงจำเป็นต้องยกพื้นให้ เพื่อให้เหมาะกับสภาพของพื้นที่ และใต้ถุนก็จะเป็นผลพลอยได้ซึ่งใช้ประโยรน์ได้หลายอย่าง เช่น เป็นที่ตั้งครกกระเดื่องตำข้าว ที่เก็บฝืน และที่ตั้งเล้าไก่ ส่วนหน้าบ้านก็จะเป็นที่นั่งพักผ่อน และอาบแดดช่วงเช้าในยามหน้าหนาว ส่วนบันไดทางขึ้นนั้นจะอยู่ด้านของชานด้านใน ไม่มีหน้าต่าง มีประตูเข้าออกทางเดียว บ้านลีซูโดยทั่วไปไม่มีรั้ว ปลูกโล่งๆ เรียงรายกันทั้งหมู่บ้าน
         ในการสร้างปลูกบ้านแต่ละหลังของชาวลีซูนั้นก็มีวิธีการแบบเดียวกับอาข่า ไม่ว่าจะเป็นบ้านเล็ก หรือหลังใหญ่จะสร้างเสร็จภายในวันเดียวโดยใช้เวลาช่วงเช้าถึงเย็นเท่านั้น ที่สามารถปลูกสร้างกันได้อย่างรวดเร็วนั้นก็เพราะจะช่วยกันสร้าง หรือใช้วิธีเดียวกับการลงแขกเกี่ยวข้าว ช่วยกับลงมือลงแรงพร้อมๆ กันโดยเจ้าบ้านจะเตรียมวัสดุต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้ เสา ฟาก หญ้งคา และอุปกรณ์ต่างๆ ไว้ล่วงหน้าเป็นที่เรียบร้อย พอถึงเวลาก็ลุยกันไม่เสร็จไม่เลิก ทางฝ่ายเจ้าบ้านที่เป็นสตรีก็มีหน้าที่เตรียมกับข้าว และเหล้าเลี้ยงผู้ที่มาช่วยสร้างบ้าน พิธีที่สำคัญที่จะละเลยกันไม่ได้ในการปลูกบ้าน คือการทำพิธีเสี่ยงทายอธิษฐานเสียก่อน ใช้ไม้วัดอาณาเขตที่จะปลูกบ้านสีทิศแล้ว นำข้าวสารจำนวนหนึ่งใส่ในถ้วย แล้วยกขึ้นจบอธิษฐานขออนุญาตต่อผีป่า ผีดอย ผีเจ้าที่เจ้าทาง เสร็จแล้วจึงหยิบข้าวสารโรยลงไปในหลุมขุด และเปิดดู หากเม็ดข้าวสารในหลุมยังอยู่เป็นระเบียบเหมือนเดิม ก็แสดงว่าผีเจ้าที่เจ้าทางอนุญาต ถ้าหากว่าเม็ดข้าวในหลุมเกิดกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบเหมือนกับตอนที่โรย ที่แรก แสดงว่าผีเจ้าที่เจ้าทาง ผีป่า และผีดอยท่านไม่อนุญาต
ภาพที่ 2 แบบจำลองบ้านชนเผ่าลีซอ.jpg

ภาพที่ 7 แบบจำลองบ้านชนเผ่าลีซอ

ประเพณี[แก้ไข]

ความเชื่อ[แก้ไข]

         ชาวลีซูนับถือบรรพบุรุษและบูชาเทพเจ้าโดยมีผู้นำสองคน คือ ผู้นำทางด้านวัฒนธรรม (มือหมือผะ) และ ผู้ประกอบพิธีกรรม (หนี่ผะ) ประชากร
         วันขึ้นปีใหม่ ลีซูเรียกว่า “โข่เซยี่ย” ตรงกับช่วงวันตรุษจีนบางหมู่บ้านอาจช้าหรือบางหมู่บ้านจะเร็วกว่าวัน ตรุษจีนก็ได้ เนื่องจากการนับวันของผู้นำศาสนาของหมู่บ้าน(มือหมือผะ)อาจ จะคลาดเคลื่อน วันปีใหม่มีวันสำคัญ 1-3 วัน ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะมีการฆ่าหมู ฆ่าไก่ ตำข้าวปุ๊ก และเตรียมงานสำหรับปีใหม่ ส่วนพิธีกรรมก็มีการเซ่นไหว้บูชาผีบรรพบุรุษในบ้านเรือน และศาลประจำหมู่บ้าน ก็คือ “อาปาโหม่วฮี” และมีการกินเลี้ยงฉลองเต้นรำ เต้นรำรอบๆต้นไม้ปีใหม่ของทุกหลังคาเรือน	
ภาพที่ 8 ศาลประจำหมู่บ้าน.jpg

ภาพที่ 8 ศาลประจำหมู่บ้าน

เอ้อยี่ปา
         จะมีขึ้นหลังจากปีใหม่ผ่านไปประมาณเดือนกว่าๆ พิธีนี้มีเพียง 1 วัน 1 คืนเท่านั้นจะมีการเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษในบ้านและผีบรรพบุรุษประจำหมู่บ้าน ตอนกลางคืนก็จะมีการเต้นรำกัน หน้าบ้านของผู้นำศาสนา (มือหมือผะ) จะไม่มีต้นไม้ปีใหม่ พิธีกรรมนี้ก็สำคัญมากสำหรับชาวลีซูเช่นกัน
ภาพที่ 17 เอ้อยี้ปา.jpg

ภาพที่ 9 เอ้อยี้ปา

กินข้าวโพดใหม่ ลีซูเรียกว่า“ชือแป๊ะกว๊ะ”
         วันกินข้าวโพดใหม่จะอยู่ช่วงเดือนสิงหาคมของทุกปี ตรงกับกลางเดือน 7 ของลีซู จะมีวันสำคัญอยู่ 3 วัน ในหมู่บ้านทุกคนหลังคาเรือนจะต้องหยุดทำงาน (ยกเว้นผู้ที่นับถือคริสต์) จะมีการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษในบ้านและผีประจำหมู่บ้าน พิธีกรรมนี้ทุกหลังคาเรือนจะหาของเซ่นไหว้ คือ ข้าวโพด แตงกวา อ้อย ดอกไม้ พืชผักต่างๆ และธูป เทียน และมีการสวดบทขอบคุณผีบรรพบุรุษและเทพเจ้า ที่ช่วยดูแลพืชพันธุ์ธัญญาหาร รวมถึงสัตว์เลี้ยงต่างๆ และคนในบ้านให้อยู่อย่างมีความสุขตลอดมา
ภาพที่ 18 ซือแป๊ะกว๊ย.jpg

ภาพที่ 10 ซือแป๊ะกว๊ย

วันศีล เรียกว่า“จื้อ”
         วันศีลหรือวันอยู่กรรมของลีซู จะมีขึ้นทุกๆ 15 วันในรอบการนับวันของลีซู ซึ่งการนับวันเดือนปีของลีซูนั้นนับตามปฏิทินจีน และวันศิลของลีซู คือวันที่พระจันทร์เต็มดวงและพระจันทร์มืดมิด จึงเป็นวันศีล เป็นหน้าที่ของผู้นำศาสนา ประจำหมู่บ้าน (มือหมือผะ) ที่จะประกาศให้ชาวบ้านทราบล่วงหน้า 1 วันว่า วันรุ่งขึ้นจะเป็นวันศิล บอกให้ชาวว่าห้ามใช้ของมีคม เช่น มีด ขวาน จอบ เสียม ห้ามทำงานไร่,สวน นอกจากนั้นก็ห้าม ฆ่าหมู ไก่หรือสัตว์ทุกชนิดที่มีชีวิต วันศิลจะหยุดงาน 1 วัน อยู่ที่บ้านอยู่กับครอบครัว ส่วนผู้หญิงก็เย็บผ้าปักผ้า ส่วนผู้ชายทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆที่บ้าน
ภาพที่ 19 วันศิล.jpg

ภาพที่ 11 วันศิล

เซ่นไหว้หลุมศพ ลีซูเรียกว่า“หลี่ฮีชัว”
         หลังจากปีใหม่ผ่านไปสักสองเดือนกว่าๆ พิธีนี้จะจัดขึ้น ณ สุสานหรือหลุมฝังศพ ลีซูมีการเซ่นไหว้ที่ ณ หลุมฝังศพ พิธีกรรมนี้จะทำการ 3 ครั้ง ทำทุกๆปี หลังจากนั้นเซ่นไหว้ครบ 3 ครั้งแล้ว ไม่ต้องทำแล้ว ลีซูมีความเชื่อว่าวิญญาณไปเกิดใหม่แล้ว ถ้าครอบครัวไหนอยากจะทำต่อสามารถทำได้ พิธีนี้ทำได้เฉพาะคนที่มีลูกชาย เช่น เวลาพ่อและแม่เสียชีวิตไป ลูกชายก็จะทำพิธี“หลี่ฮีชัว”ให้พ่อแม่ที่เสียไปแล้ว ถ้าครอบครัวไหนไม่มีลูกชายมีแต่ลูกสาวไม่สามารถที่จะทำได้ เพราะผู้หญิงไม่สามารถทำพิธีกรรมได้นอกจากผู้ชาย
ภาพที่ 20 เซ่นไหว้หลุมศพ.jpg

ภาพที่ 12 เซ่นไหว้หลุมศพ

ศาสนา[แก้ไข]

         ลีซอยังคงนับถือผีอยู่เป็นส่วนใหญ่ มีอยู่บ้างที่หันมานับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์ การนับถือ ผียังคงพบเห็นในหมู่บ้านโดยทั่วไป มีผีประจำหมู่บ้าน ผีบ้าน ผีเรือน ผีหลวง ผีป่า ผีน้ำหรือผีลำห้วย

ประเพณีอื่น ๆ[แก้ไข]

         1. อาหาร ลีซูมีอาหารที่จะประกอบในเทศกาล หรือเวลามีพิธีกรรมอยู่ 3 อย่าง ได้แก่ มาหวู่จ๊าจ๊า (ต้มหน่อไม้กับกระดูกหมู่) ขว๋ากีกือ (ลาบหมู) และ ขว่าลู ๆ (ทอดหมู) นอกจากนั้นลีซูยังมีการถนอมอาหารเพื่อที่จะสามารถเก็บไว้กินในยามแล้ง ได้แก่ ผักกาดดอง ผักกาดตากแห้ง ไส้กรอก หมูลนควัน ลากหอมชูดอง เป็นต้น และอาหารที่ขึ้นชื่อของลีซูอีกอย่างคือ จ้า สู่ แปะ แปะ หรือ ยำมะขือเทศ เป็นอาหารที่จะต้องมีเพื่อไปทำไร่ทำสวน
         2. งานช่างฝีมือ ลีซูถือว่าเป็นชนที่มีความเชี่ยวชาญในงานฝีมือมากชนหนึ่ง งานฝีมือที่สามารถพบเห็นได้ในชุมชน ได้แก่ ช่างจักรสาน (ตระกร้า, ไม้กวาด, เก้าอี้หวาย, กระบุง,อุปกรณ์ดักสัตว์)ช่างตีเหล็ก (จอบ มีด เสียม) ช่างตีเงิน (แผ่นโลหะเงินรูปครึ่ง, เครื่องประดับ) ช่างเย็บผ้า เป็นต้น
         3. การละเล่นพื้นบ้าน การละเล่นของชาวลีซูที่ยังคงสืบทอดกันคือ การเล่นลูกสะบ้า ลูกข่าง ไม้คะเย่ง และการใช้หน้าไม้ เป็นต้น
         4. นิทาน ตำนาน และสุภาษิต ลีซูมีนิทาน เยอะมาก มีทั้งนิทานตลกขบขัน นิทานเกี่ยวกับการประกอบอาชีพ การวางตัว มากว่า 100 เรื่อง ตำนานหรือสุภาษิตก็มีเยอะมาก ส่วนใหญ่ก่อนนอน คุณพ่อ แม่ หรือว่าย่า ยายจะมีการเล่านิทาน ตำนาน หรือสุภาษิตให้กับลูกหลานได้ฟังก่อนนอน
        5. สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในสังคมชุมชนลีซูมีสถานที่สำคัญ ๆ ได้แก่ (1) อี๊ด่ามอ ซึ่งเป็นที่ที่อำนาจศักดิ์สิทธิ์ที่ใหญ่ที่สุดอาศัยอยู่ ซึ่งมีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครองทรัยพยากรธรรมชาติในอาณาเขตของชุมชน ซึ่งรวมไปถึงพื้นที่ในการทำมาหากินด้วย และ อาปาโหม่ฮี ต้องเป็นพื้นที่ป่าที่อยู่เหนือชุมชน หรือสูงกว่าที่พักอาศัยของคนในชุมชน เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมระดับครอบครัว โดยมีผู้อาวุโสที่สุดในครอบครัวเป็นผู้ประกอบพิธี และระดับชุมชนที่มีหมือ หมือผะหรือโชโหม่วโชตี เช่นบางคนผูกขวัญไว้ที่อาปาโหม่ฮี ก็ต้องประกอบพิธีกรรมเรียกขวัญที่อาปาโหม่ฮี

ศิลปะการแสดง[แก้ไข]

         ศิลปะการแสดงที่โดดเด่นของชาวลีซอ คือ การเต้นรำ ลีซอจะมีการเต้นรำการเฉลิมฉลองด้วยการทำพิธีกรรม และจัดงานรื่นเริง เช่น งานปีใหม่ งานแต่งงาน และงานทำความสะอาดศาลเจ้าหมู่บ้าน เป็นต้น นอกจากนั้นยังมีศิลปะการแสดง เช่น การร้องเพลง มีทั้งเพลงเกี่ยวพาราสี เพลงแต่งงาน เพลงสำหรับคนตาย เพลงสำหรับลูกกำพร้า และ เพลงกล่อมเด็ก

ข้อมูลอื่น ๆ[แก้ไข]

สถานการณ์ปัจจุบันของชาติพันธุ์[แก้ไข]

         ปัจจุบันชนเผ่าลีซอของ อำเภอคลองลานพัฒนา จังหวัดกำแพงเพชร เหลือประชากรอยู่ไม่มากประมาณ 30ครัวเรือน เพราะบางครอบครัวก็ย้ายกลับแม่สอด เชียงใหม่ บางครอบครัวก็อพยพไปทำงานต่างจังหวัด

ข้อมูลอื่น ๆ[แก้ไข]

         อุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือของชนเผ่าลีซอ
ภาพที่ 3 มีดปลายแหลม ภาษาลีซอ อาณะเฌ้อะ.jpg

ภาพที่ 13 มีดปลายแหลม ภาษาลีซอ อาณะเฌ้อะ

ภาพที่ 4 ตะเกียบ ภาษาลีซอ อาจุ.jpg

ภาพที่ 14 ตะเกียบ ภาษาลีซอ อาจุ

ภาพที่ 5 แก้วไม้ไผ่ ภาษา ลีซอมะคว่า.jpg

ภาพที่ 15 แก้วไม้ไผ่ ภาษา ลีซอมะคว่า

ภาพที่ 6 เตาสามขา ภาษา ฉาจู๋.jpg

ภาพที่ 16 เตาสามขา ภาษา ฉาจู๋

ภาพที่ 7 หีบใส่ผ้า ภาษาลีซอ ลือกี.jpg

ภาพที่ 17 หีบใส่ผ้า ภาษาลีซอ ลือกี

ภาพที่ 8 ฆ้อนไม้ ภาษาลีซอ ปามุบิ.jpg

ภาพที่ 18 ฆ้อนไม้ ภาษาลีซอ ปามุบิ

ภาพที่ 9 ตะกร้าสะพายหลัง ภาษาลีซอ กาหู.jpg

ภาพที่ 19 ตะกร้าสะพายหลัง ภาษาลีซอ กาหู

ภาพที่ 10 ช้อนไม้ ภาษาลีซอ ลุกุ.jpg

ภาพที่ 20 ช้อนไม้ ภาษาลีซอ ลุกุ

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

แหล่งอ้างอิง[แก้ไข]

         ผู้นำชนเผ่าลีซอ คุณอะเบผะ สีมี่  (ผู้ให้สัมภาษณ์) ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
ผู้นำชนเผ่าลีซอ.jpg

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         วันศุกร์ ที่ 27 กันยายน พ.ศ.2562

วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         วันพฤหัสบดี ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2562

ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]

         นายวชิรวิทย์  กรรณิกา
         นางสาววนิดา  ประเสริฐกุล นักศึกษานิเทศศาสตร์ ชั้นปีที่ 3