ฐานข้อมูล เรื่อง ดาบโบราณเมืองกำแพง

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

ชื่อเรียกทางการ[แก้ไข]

         พระแสงราชศัสตรา

ชื่อเรียกอื่น ๆ[แก้ไข]

         ดาบพระแสง, พระแสง, ดาบประจำเมือง

ที่ตั้งแหล่งค้นพบ[แก้ไข]

         ตระกูลพญากำแพง

ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์[แก้ไข]

         ละติจูด 16.555109
         ลองติจูด 99.510983

หน่วยงานที่ดูแลรักษา[แก้ไข]

         กรมศิลปากรประจำเมืองกำแพงเพชร

ผู้ค้นพบ[แก้ไข]

         พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1

สถานะการขึ้นทะเบียน[แก้ไข]

         มรดกประจำจังหวัดกำแพงเพชร

สถานการเก็บรักษา[แก้ไข]

         คลังจังหวัดกำแพงเพชร

ข้อมูลทางโบราณคดี[แก้ไข]

ประวัติและความเป็นมา[แก้ไข]

         จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองเก่าที่นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเจริญรุ่งเรืองมา ตั้งแต่สมัยทวารวดี เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมืองเช่น เมืองชากังราว นครชุม ไตรตรึงษ์ เทพนคร และเมืองคณฑี นอกจากนี้เมืองกำแพงเพชรยังเป็นเมืองที่สองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ครองเมือง มีบรรดาศักดิ์เป็น "พระยาวชิรปราการ" ต่อมาในปี พ.ศ.2459 ได้เปลี่ยนเมืองกำแพงเพชรเป็นจังหวัดกำแพงเพชร ตามประวัติศาสตร์ กล่าวว่า กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงเดิมเรียกชื่อว่า "เมืองชากังราว" และมีเมืองบริวารรายล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ไตรตรึงษ์ เทพนคร ฯลฯ การที่กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกสงครามในอดีตอยู่เสมอ จึงมีหลักฐานปรากฎอยู่มากมาย เช่น กำแพงเมือง คูเมือง ป้อมปราการ จากหลักฐานดังกล่าวจึงสันนิษฐานว่า จังหวัดกำแพงเพชรเดิมเคยเป็นที่ตั้งของเมือง 2 เมืองคือ เมืองชากังราว และเมืองนครชุม  เนื่องจากเป็นเมืองหน้าด่านในฐานะเมืองลูกหลวงและมีการรับศึกสงครามอยู่เสมอ ในการสงครามย่อมจะต้องมีอาวุธคู่กาย โดยอาวุธก็จะมีความแตกต่างในการใช้งานหลายรูปแบบตามความถนัดและการฝึกฝนของทหารแต่ละคน อาทิ ทวน หอก ดาบ ธนู หลาว เป็นต้น แต่อาวุธที่เห็นในสนามรบได้บ่อยที่สุดนั้น ก็คือดาบ การใช้ดาบเป็นอีกหนึ่งอาวุธที่เป็นส่วนสำคัญในการทำศึกสงคราม เนื่องจากเป็นอาวุธที่มีความคล่องตัวและพกพาสะดวก ทั้งนี้ดาบต่อสู้นั้นเรียกได้ว่ามีหลากหลายประเภท หลากหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ความเชื่อ แนวคิดของแต่ละเมือง นอกจากนี้ดาบไม่ใช่เพียงเป็นสิ่งที่นำมาต่อสู้เพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถใช้ประโยชน์ในทางด้านอื่น ๆ ซึ่งวัตถุประสงค์ในการใช้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเมื่อเทียบจากดาบทั่วไป ดาบที่กล่าวถึงนั้นมีแสงญานุภาพมากกว่าการรบในสงคราม นำมาซึ่งเกียรติยศ เป็นดาบคู่บ้านคู่เมือง ซึ่งเรียกขานกันในนาม พระแสงราชศัสตรา ประจำเมืองกำแพงเพชร ซึ่งดาบเล่มนี้เป็นดาบฝักทองลงยาที่งดงาม มีความเชื่อกันว่าเป็นดาบวิเศษ แสดงถึงพระราชอำนาจสูงสุดของพระมหากษัตริย์  ในการปกครองบ้านเมือง
ภาพที่ 1 พระแสงราชศัสตราเมืองกำแพงเพชร.jpg

ภาพที่ 1 พระแสงราชศัสตราเมืองกำแพงเพชร (พระยากำแพงเพชร, 2557)

         ในสมัยนั้น รวมทั้งเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์ในกรณีย์ที่ทรงพระราชทานสิทธิ์แก่ขุนนาง ข้าราชการที่ใช้อำนาจแทนพระองค์ ในการปฏิบัติราชการแทนพระองค์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีศึกสงครามหลวงพิพิธอภัย (หวล) ผู้ถวายพระแสงราชศัสตรา แด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2449 เดิมเป็นดาบประจำตระกูลเจ้าเมืองกำแพงเพชร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระราชทานแก่พระยากำแพงเพชร(นุช) เป็นบำเหน็จเมื่อครั้งไปราชการทัพ หลวงพิพิธอภัย(หวล) บุตรพระยากำแพงเพชร(อ้น) นำฝักดาบทองประจำตระกูลทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2449 พระองค์ทรงรับและพระราชทานให้เป็นพระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร โดยพระยาวิเชียรปราการ ผู้ว่าราชการเมืองกําแพงเพชร เป็นผู้รับพระราชทาน นับเป็นความโชคดีของชาวกำแพงเพชร รวมถึงทายาทพระยากำแพงเพชรตลอดจนชาวไทยทุกคนที่ เรื่องราวของพระแสงราชศัสตราองค์นี้มีการบันทึกไว้อย่างดีในพระนิพนธ์ “เสด็จประพาสต้น” ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ดังนี้
         “วันที่ 26 หมายจะยังไม่ตื่นแต่หมาเข้าไปปลุก 2 โมงเศษกินข้าวแล้วออกไปแจกของ ให้ผู้ที่มาเลี้ยงดูและรับผู้หญิงผู้ชาย หลวงพิพิธอภัยผู้ช่วย ซึ่งเป็นบุตรพระยากำแพง(อ้น) นำดาบฝักทอง ซึ่งพระพุทธยอดฟ้าพระราชทานพระยากำแพง(นุช) เป็นบำเหน็จมือ เมื่อไปทัพแขก แล้วตกมาแก่พระยากำแพง(นาค) ซึ่งเป็นสามีแพง บุตรีพระยากำแพง(นุช) และแพงภรรยาได้เป็นผู้ว่าราชการเมืองกำแพงต่อมา 4 คน คือพระยากำแพง(บัว) พระยากำแพง(เถื่อน) พระยากำแพง(น้อย) พระยากำแพง(เกิด) ได้รับดาบเล่มนี้ต่อ ๆ กันมา ครั้งพระยากำแพง(เกิด) ถึงอนิจกรรม ผู้อื่นนอกจากตระกูลนี้มาเป็นพระยากำแพงหลายคน ดาบตกอยู่แก่นายอ้นบุตรพระยากำแพง(เกิด) ซึ่งเป็นบิดาหลวงพิพิธอภัย ภายหลังนายอ้นได้เป็นพระยากำแพง ครั้นพระยากำแพง อ้นถึงแก่กรรม ดาบจึงตกอยู่กับหลวงพิพิธอภัยบุตรผู้นำมาให้นี้ พิเคราะห์ดูก็เห็นจะเป็นดาบพระราชทานจริง เห็นว่าเมืองกำแพงเพชร ยังไม่มีพระแสงสำหรับเมืองเช่นแควใหญ่ ไม่ได้เตรียมมา จึงได้มอบดาบเล่มนี้เป็นพระแสงสำหรับเมืองให้ผู้ว่าราชการรักษาไว้สำหรับใช้ในการพระราชพิธี แล้วถ่ายรูปพวกตระกูลเมืองกำแพงที่มาหาตั้งต้นคือท่านผู้หญิงทรัพย์ ภรรยาพระยากำแพง(เกิด) อายุ 93 ปีจอ เห็นจะเป็นปีจอ ฉอศก จุลศักราช 1176 ยังสบายแจ่มใส พูดจาไม่หลง เดินได้เป็นต้น กับลูกที่มา 2 คนคือผึ้ง ซึ่งเป็นภรรยาพระพล(เหลี่ยม) อายุ 73 ปี ลูกคนสุดชื่อ ภู่ เคยไปทำราชการในวังครั้งรัชกาลที่ 4 แล้วมาเป็นภรรยาพระยารามรณรงค์(หรุ่น)อายุ 64 ปี หลานหญิงชื่อหลาบเป็นภรรยาหลวงแพ่ง อายุ 64 ปี หลานหญิงชื่อเพื่อนเป็นภรรยาพระพล อายุ 46 ปี หลานหญิงชื่อพัน ภรรยาหลวงพิพิธ อายุ 44 ปี"
         จากวิทยานิพนธ์เรื่อง เสด็จประพาสต้น ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ได้มีการกล่าวถึงดาบพระแรงราชศัสตราไว้ ได้มีการบรรยายถึงเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดาบเล่มนี้โดยตรงอีกทั้งยังมีการบรรยายถึงความเป็นมาของดาบอย่างชัดเจน ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าพระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชรสำหรับใช้ในพระราชพิธีสำคัญพระแสงราชศัสตราประจำเมืองนี้มีธรรมเนียมออกใช้ในวโรกาสที่สำคัญดังนี้ 
         1. อัญเชิญพระแสงราชศัสตราในพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ในมณฑลพิธีเมื่อเสร็จพิธีอัญเชิญไปประดิษฐานดังเดิม
         2. เมื่อพระเจ้าอยู่หัวทรงประทับแรม ณ เมืองนั้นถวายพระแสงราชศัสตราทรงรับรักษาไว้และพระราชทานคืนเมื่อเสด็จกลับ 
         3. ทูลเกล้าฯถวายพระแสงราชศัสตราประจำเมืองเมื่อคราเสด็จเยี่ยมราษฎรเมื่อเสด็จกลับจะพระราชทานคืนตามธรรมเนียมน่าเสียดายที่พระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชรที่หาค่ามิได้นี้มิได้มีบทบาทดังกล่าวในพระราชพิธีเลยแต่เราชาวกำแพงเพชรก็ภูมิใจในดาบฟักทองพระราชทานเล่มนี้เป็นที่สุดและให้ประชาชนได้รับรู้ทั่วกันว่าดาบฟักทองเล่มนี้เป็นสมบัติแห่งแผ่นดินกำแพงเพชรที่ได้รับพระราชทานจากสองมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ขอให้ชาวกำแพงเพชรทุกผู้ช่วยกันพิทักษ์ให้ดาบวิเศษนี้อยู่คู่แผ่นดินกำแพงเพชรตลอดไป
ภาพที่ 2 พระยารามณรงค์สงครามและหลวงพิพิธอภัย.jpg

ภาพที่ 2 พระยารามณรงค์สงครามและหลวงพิพิธอภัย (สันติ อภัยราช, 2544)

         เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ขึ้นครองราชย์ ประสงค์จะไปตีปัตตานี ส่งราชวังบวรไปพร้อมกับมหาดเล็ก พระยากำแพงนุชหรือนายนุชไปปัตตานีไปรบชนะพระบาทสมเด็จ-พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) พระราชทานพระแสงราชศัสตราดาบฝักทองให้ และเมืองกำแพงเพชรให้พร้อมภรรยา 1 คน ดาบด้ามทองคำ ใบเป็นเหล็กกล้า ตามประวัติสามารถทำคนที่มีศัสตราคมฟันได้ แทงได้ คาดเดาว่าอาจจะเป็นดาบทางลาวทางเหนือทางล้านนา โดยที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า-จุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ไปตีได้มา เมื่อเจ้าเมืองกำแพงเพชรเป็นเจ้าของดาบมาเรื่อย ๆ พระยารามไม่ได้เป็นเจ้าเมืองกำแพงเพชรแล้ว ดาบจึงตกเป็นของลูกหลานของเจ้าเมืองตระกูลพระยากำแพงเก่าไม่ได้เป็นผู้ปกครองเมืองกำแพงแล้ว พระยากำแพงองค์ใหม่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของดาบ จึงถวายคืนแก่พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 5 และทรงพิจารณาแล้วว่าเป็นดาบแท้จริง จึงพระทานคืนเป็นดาบพระแสงประจำเมืองกำแพง ดาบเล่มนี้เป็นเพียงดาบพระแสงประจำตระกูล ดาบมีหน้าที่แสดงอาญาสิทธิ์เหนือเมือง เป็นกุญแจเพื่อถวาย แก่กษัตริย์ยามเสด็จมาเยี่ยมเยือนเมือง พอเสด็จกลับจึงคืนเพื่อเป็นดาบประจำเมืองกำแพง (สันติ อภัยราช, การสัมภาษณ์, 3 กันยายน 2564)

ยุคทางโบราณคดี[แก้ไข]

         ยุคเหล็ก (2,500 – 1,500 ปีมาแล้ว) เป็นช่วงเวลาที่มนุษย์รู้จักนำเหล็กมาทำเป็นเครื่องมือเครื่องใช้  ซึ่งมีคุณภาพดีแข็งแกร่งกว่าสำริด  การดำรงชีวิตด้วยการเกษตรกรรม  มีการติดต่อค้าขายระหว่างชุมชนต่างๆ (Google Site, ม.ป.ป.)

สมัยวัฒนธรรม[แก้ไข]

         ในสมัยรัตนโกสินทร์หลังจากปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ ในปี พ.ศ. 2325 แล้ว สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกทรงใช้พระนามว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” และได้ย้ายราชธานีจาก กรุงธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งตรงข้าม และตั้งชื่อราชธานีใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานคร” พร้อมๆกับการสถาปนาราชวงศ์จักรีขึ้นมา (บ้านจอมยุทธ, 2543)
         ต่อมา พระองค์ทรงนำแบบแผนต่าง ๆ ของอยุธยามาใช้รวมทั้งอัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญมาไว้ที่กรุงเทพฯทรงระดมช่างฝีมือซึ่งหลงเหลืออยู่ในเวลานั้นมาสร้างพระราชวังและพระอารามที่ยิ่งใหญ่คือวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือวัดพระแก้วทั้งทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมทรงรวบรวมตำราจากหัวเมืองต่าง ๆ ที่รอดพ้นจากการถูกเผามาเก็บไว้ที่กรุงเทพฯ
         ช่วงนี้สยามยังผจญกับศึกสงครามรอบด้านพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงรบชนะมาหลายศึกสงคราม และมักจะมีของติดไม้ติดมือกลับมาด้วย ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ท่านยึดครองมาได้คือดาบพระแสงราชศัสตรา ทรงได้เก็บรักษาไว้ในคลังสมบัติส่วนพระองค์ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกประสงค์ทำศึกสงครามกับเมืองปัตตานีซึ่งมีพระยากำแพงเพชร(นุช) เป็นแม่ทัพหลักในศึกครั้งนี้ ด้วยความสามารถและยุทธวิธีอันชาญฉลาดพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกก็สามารถตีทัพเมืองปัตตานีจนแตกพ่ายสำเร็จ พระองค์พระราชทานดาบพระแสงราชศัสตราเป็นดาบประจำตระกูลแก่พระยากำแพงเพชร(นุช) เป็นการบำเหน็จเมื่อครั้งไปราชการทัพ

อายุทางโบราณคดี[แก้ไข]

         ไม่ปรากฎปี

อายุทางวิทยาศาสตร์[แก้ไข]

         ไม่ปรากฎปี

อายุทางตำนาน[แก้ไข]

         300 ปี

ประเภทของแหล่งโบราณวัตถุ[แก้ไข]

ศัสตราวุธ/อาวุธ
         อาวุธ หมายถึง เครื่องมือที่ใช้ในการทำร้าย ทำลาย ป้องกัน ต่อสู้ หรือฆ่า เช่น ก้อนหิน ไม้คมแฝก มีด ปืน ระเบิด.
         ศัสตราวุธ มาจากคำภาษาสันสกฤตว่า ศสฺตฺร (อ่านว่า สัด-ตฺระ) แปลว่า เครื่องฟันแทง กับคำว่า อาวุธ. คำว่า ศัสตราวุธ จึงหมายถึงของมีคม เครื่องฟันแทง และอาวุธต่าง ๆ ที่ใช้ในการล่า ประหาร ทำร้ายร่างกาย ป้องกัน หรือต่อสู้ กับฝ่ายตรงข้าม เช่น มีด ดาบ หอก ง้าว ธนู. คำว่า ศัสตราวุธ ใช้ในวรรณคดี เช่น ศัสตราวุธอรินทร์  ฤๅถูก องค์เอย. และอาจใช้เป็นคำราชาศัพท์ว่า ราชศัสตราวุธ.
         คำว่า ศัสตราวุธ หมายถึง อาวุธที่ใช้ในการรบ เป็นอาวุธที่ร้ายแรง มีอำนาจการทำลายล้างสูง รวมทั้งปืนผาหน้าไม้ที่เป็นเครื่องทำลายล้างศัตรู. ส่วนคำว่า อาวุธ มีความหมายกว้างกว่า รวมถึง อาวุธทั้งที่มีคมและไม่มีคม และรวมถึงสติปัญญาหรือสิ่งอื่นที่สามารถใช้ทำลายล้างผู้อื่นได้ด้วย. คำว่า ศัสตราวุธ บางคนใช้ว่า ศาสตราวุธ (สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2554)

ข้อมูลจำเพาะวัตถุโบราณ[แก้ไข]

คำอธิบาย/ลักษณะ/รูปพรรณ[แก้ไข]

ดาบประจำเมือง
         สำหรับประวัติความเป็นมาของพระแสงราชศัสตราองค์นี้ มีความแตกต่างจากพระแสงราชศัสตราประจำเมืองอื่น ๆ ดังได้กล่าวว่าเป็น“หนึ่งในสยาม”ด้วยความแตกต่างที่โดดเด่นคือ 
         1. มิใช่ดาบที่สร้างไว้เพื่อพระราชทานโดยตรงแต่เป็นถึงดาบประจำพระองค์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมบรมราชจักรีวงศ์ โดยจะทรงเหน็บไว้ข้างพระวรกายขณะออกศึกทุกครั้ง เพื่อใช้ฟันหรือแทงในยามที่ข้าศึกเข้ามาประชิดตัว
         2. เป็นพระแสงราชศัสตรา หนึ่งเดียวที่มีการบันทึกเรื่องราวความเป็นมาให้เป็นประวัติศาสตร์ที่อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา จากพระนิพนธ์ เรื่อง เสด็จประพาสต้น ของสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และหนังสือเล่มนี้นับว่าเป็นบันทึกช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างเป็นหลักเป็นฐาน
         3. เป็นพระแสงราชศัสตราที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับพระมหาราชโดยตรงถึง 3 พระองค์คือ
             ก. พระแสงนี้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชรัชกาลที่ 1 ทรงพระราชทานให้แด่พระยารามรณรงค์สงครามฯ(นุช)
             ข. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระปิยมหาราช ทรงรับพระแสงราชศัสตราองค์นี้จาก หลวงพิพิธอภัย(หวล)และทรงพิเคราะห์อย่างถ้วนถี่แล้วมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าเป็นพระแสงดาบของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจริง และได้พระราชทานพระแสงดาบองค์นี้ คืนให้จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อใช้ในการพระราชพิธีสำหรับเมือง โดยพระยาวชิรปราการ ในขณะนั้นเป็นผู้ว่าราชการเป็นผู้รับพระราชทาน ดังนั้น นับว่าเป็นเพียง 1 เดียวที่เป็นทั้งพระแสงดาบประจำพระองค์และเป็นพระแสงราชศัสตราประจำจังหวัด
             ค. พระมหาราชพระองค์ที่ 3 คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช ที่ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้บูรณะซ่อมพระแสงราชศัสตราองค์นี้ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2550ลักษณะของดาบก็ยังมิใช่ดาบที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีอีกด้วย ปัจจุบันพระแสงราชศัสตราประจำเมืองกำแพงเพชร ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี ณ คลังจังหวัดกำแพงเพชร โดยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2546 นายกฤช อาทิตย์แก้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ได้อัญเชิญพระแสงราชศัสตรา ร่วมพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณของข้าราชการ และวันที่ 5 ธันวาคม 2546 พิธีถวายพระพรชัยมงคล ณ หอประชุมศาลากลาง จ.กำแพงเพชร และในวันที่ 29 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 ทางจังหวัดโดยนายวิทยา ผิวผ่อง ได้ถือโอกาส อันเป็นปีมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช จึงจัดให้มีการสมโภชพระแสงราชศัสตราขึ้น ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร เพื่อเปิดโอกาสให้บรรดาข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนได้ชื่นชมพระบารมีของพระแสงราชศัสตรา ทองคำ สมบัติล้ำค่าองค์นี้อย่างใกล้ชิด
             ลักษณะของพระแสงของเมืองกำแพงเพชรองค์นี้ น้อยคนนักที่จะได้เห็นของจริง ลักษณะจะมีความยาว 88.5 เซนติเมตร มีด้ามเป็นเป็นทองคำยาวถึง 39.5 เซนติเมตร ตัวฝักทำด้วยไม้เนื้อหอม ไม่ทราบว่าเป็นไม้อะไร แต่คุณสมชาย ตติยวัฒนสิริ นายช่างประณีตศิลป (พิเศษเฉพาะตัว) ผู้อนุรักษ์กล่าวว่าเป็นเนื้อไม้พิเศษเพราะมีน้ำหนักเบามากและมีกลิ่นหอม หุ้มฝักไม้หอมด้วยทองคำ ตัวฝักยาว 49 เซนติเมตร (พระยากำแพงเพชร, 2557)

วัสดุผลิตภัณฑ์และประเภทการใช้งาน[แก้ไข]

         ดาบไทยในอดีตที่ผ่านมาถูกสร้างขึ้นมาร่วมกับศาสตราวุธอื่นๆ เช่น หอก ทวน เป็นต้น เพื่อใช้ในการรบป้องกันชาติบ้านเมืองจากศัตรูผู้รุกราน ใช้ในการรบเพื่อขยายอาณาเขตดินแดน กระทั่งใช้ในการรบเพื่อกอบกู้เอกราชของชาติ หรือมีไว้เพื่อป้องกันตัวเอง นับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ลพบุรี อยุธยาเรื่อยมาจนถึงยุครัตนโกสินทร์ มีช่างตีดาบฝีมือดีเกิดขึ้นทุกยุคสมัย รูปแบบของดาบในแต่ละยุคจึงแตกต่างกันไปตามความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือกองทัพเพื่อใช้ในการรบและรองลงมาคือ คนชาวบ้านทั่วไปที่มีไว้เพื่อป้องกันตัว ดาบพระแสงราชศัสตรานั้นมีการพิจารณาจากรูปพรรณของตัวดาบว่ามีลักษณะเป็นดาบของล้านนา คนล้านนา มักมีดาบประจำกาย เพื่อใช้ในโอกาสต่างๆ ดาบล้านนามีหลายชนิดแบ่งแยกตามลักษณะปลายดาบ เช่น ปลายบัว ปลายใบข้าวใบคา ซึ่งเป็นลักษณะของดาบทางภาคเหนือตอนบน จึงไปสอดคล้องกับหนังสือวิถีศาสตราและการให้สัมภาษณ์ของ อาจารย์สันติ อภัยราช (การสัมภาษณ์, 3 กันยายน 2564) ที่มีการกล่าวถึงลักษณะของดาบว่ามีองค์ประกอบเหมือนดาบทางภาคเหนือซึ่งรวมไปถึงจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีลักษณะที่กล่าวถึงคือ มีฝักเป็นทองคำ ด้ามจับเป็นไม้หอม ส่วนเล่มดาบเป็นเหล็กกล้าหรือเหล็กน้ำพี้ ทั้งนี้การรวบรวมข้อมูลจึงเป็นส่วนของดาบล้านนา โดยดาบล้านนาหรือที่เรียกว่าดาบเมืองนั้นมีลักษณะเฉพาะแตกต่างไปจากดาบไทย ดาบญี่ปุ่น หรือดาบของชนชาติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของใบดาบก็ดี ลักษณะของฝักดาบก็ดี ลักษณะของเหล็กที่ใช้ตีเป็นใบดาบก็ดี ทั้งหมดนั้นจะส่งผลต่อการใช้งาน ซึ่งหากได้ศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้งแล้ว เราอาจจะได้องค์ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์จากการศึกษาดาบก็เป็นได้
         เนื่องจากในอดีตกาล ผู้คนในดินแดนล้านนาตลอดจนดินแดนที่อยู่เหนือขึ้นไป เช่น เชียงตุง สิบสองปันนา ล้วนแต่มีการไปมาติดต่อกันเป็นประจำ แต่ละพื้นที่มีลักษณะทางภูมิศาสตร์และธรณีวิทยาที่แตกต่างกันไป จึงทำให้มีของดีของงามไม่เหมือนกัน เหมือนกับวัสดุที่ใช้ทำดาบก็เช่นกัน ดังมีคำกล่าวว่า “เหล็กดี เหล็กเมืองหนอง” หมายถึง เหล็กที่ดีมีคุณภาพสำหรับตีเป็นใบดาบ ต้องเป็นเหล็กจากเมืองหนองหรือหนองอินเล ประเทศพม่า ซึ่งก็คือพื้นที่ของกลุ่มชาวไทใหญ่หรือรัฐฉานในปัจจุบันนั่นเอง 
         ดาบล้านนามีเอกลักษณ์ ลักษณะการใช้งาน และสามารถแบ่งประเภทดาบได้ดังนี้
         ประเภทของดาบ ครูธนชัย  มณีวรรณ์ แบ่งประเภทของดาบตามยุคสมัยได้ ดังนี้
             1) ดาบสู้ศึกสงคราม คือ ดาบที่ใช้สู้รบในศึกสงคราม มีความแข็งแรง ทนทาน แต่ไม่ยาวใหญ่มากเหมือนในปัจจุบัน เพราะต้องการความแข็งแรงในการเข้าปะทะ
             2) ดาบใช้งาน คือ ดาบที่นำมาใช้งานจริง ๆ นอกเหนือจากการใช้งานในศึกสงคราม ดาบประเภทนี้ พบได้ทั่วไปในอดีต ไม่ว่าจะเป็นดาบที่พ่อค้าวัวต่าง ม้าต่างใช้พกพาเวลาเดินทางไปค้าขายก็จะมีไว้เพื่อป้องกันตัว หรือมีไว้กับบ้านเรือนเพื่อใช้ป้องกันตัว ข่มขวัญให้โจรผู้ร้ายครั่นคร้าม หรือจะเป็นดาบชะตาที่เป็นดาบประจำตัวของผู้ชายในอดีต รวมไปถึงการใช้งานสารพัดประโยชน์ เช่น ใช้ไปดายหญ้า ฟันต้นไม้ ฯลฯ
             ดาบที่เป็นที่รู้จักและสนใจกันมากในกลุ่มของดาบใช้งานคือ ดาบชะตา เป็นดาบประจำตัวของชายหนุ่มชาวล้านนาในอดีต ผู้ชายชาวล้านนามักจะมีดาบประจำตัวเพื่อเป็นสิ่งเสริมมงคลชีวิต
             ดาบชะตานั้นจะมีลักษณะปลายดาบ ความยาว สี ของเชือกดาบแตกต่างกันไป ตามแต่ดวงชะตาของเจ้าของ ซึ่งจะมีโฉลกดาบกำกับไว้เพื่อเลือกความยาวดาบที่ดีต่อคนเป็นเจ้าของ
             3) ดาบของที่ระลึก เมื่อถึงยุคที่การท่องเที่ยวเริ่มได้รับความนิยม ดาบจริงนั้นไม่สามารถพกพาไปไหนมาไหนได้เพราะถือเป็นอาวุธ อีกทั้งความนิยมในการสร้างดาบชะตาก็แทบจะหมดไปแล้ว จึงเกิดการสร้างดาบของที่ระลึกขึ้นมา
             ดาบที่ระลึกนี้ทำจากเหล็กและไม้เหมือนดาบจริง แต่ฝีมือในการสร้างดาบนั้นค่อนข้างหยาบ ไม่ประณีต อย่างไรก็ตาม ดาบในกลุ่มนี้ก็ยังมีความสำคัญต่อกลุ่มของคนทรงเจ้าหรือที่เรียกว่า ม้าขี่ ในพิธีฟ้อนผี กลุ่มคนทรงก็จะใช้ดาบเหล่านี้ในการฟ้อน
         ส่วนทัศนะของครูพรชัย ตุ้ยดงนั้นเห็นว่าสามารถแบ่งประเภทดาบเป็น 3 ประเภท คล้ายๆ กับทัศนะของครูธนชัย คือ
         1. ดาบยศ คือ ดาบที่ใช้ประกอบบรรดาศักดิ์ของชนชั้นปกครอง มีทั้งใช้ออกรบได้และประกอบฐานะเจ้าผู้ปกครองแคว้นและอาณาจักรนั้น ๆ ดาบยศมักประดับด้วยเงิน ทอง นาค อัญมณี งา และของมีค่าต่าง ๆ ด้วยฝีมืออันประณีตสวยงาม มักพบใช้ในงานราชาภิเษกและโองการแช่งน้ำ (พิธีดื่มน้ำสาบานของเสนาอำมาตย์) การบวงสรวงเทวดาอารักษ์เมือง เป็นต้น
         2. ดาบชะตา คือ ดาบที่พลเรือนใช้ทั่วไปมีทั้งหวายล้วนและประกอบปลอกเงิน ปลอกทองแดง สำริด เขา งา ใช้ในศึกสงครามและในพิธีต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น พิธีขึ้นบ้านใหม่  แต่งงาน งานศพ เป็นต้น
         3. ดาบใช้ คือ ดาบที่เหมาะสำหรับใช้งานเฉพาะ เช่น เดินทางไกล ค้าขาย ใส่ขันครู หรือใช้ฟ้อน มีทั้งดาบจำลองและดาบใช้จริง อาจไม่ต้องอิงโฉลก แต่ให้เหมาะกับงาน มักจะมีขนาดเท่ากับดาบที่ใช้ในการรบจริง ๆ (เทศบาลตำบลน้ำแพร่พัฒนา, 2556)
         อาวุธสกุลช่างล้านนาหรือดินแดนภาคเหนือของไทยในปัจจุบัน ในอดีตชาวสยามหมายรวมดินแดนแห่งนี้เป็นหัวเมืองลาวเช่นเดียวกับล้านช้างล้านนามีประวัติศาสตร์ความเป็นมากว่า 700 ปี เคยมีความรุ่งเรืองมากในช่วงสมัยราชวงศ์มังราย (พ.ศ.2439-2303) ก่อนที่จะตกเป็นประเทศราชของพม่าเป็นเวลากว่า 200 ปีต่อมาช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ล้านนาได้เข้ามาเป็นประเทศราชของสยามจนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 ผลจากการปฏิรูปการปกครองทำให้ล้านนากลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐสยามโดยสมบูรณ์สืบเนื่องมาจนถึงยุคปัจจุบันเนื่องจากล้านนาเคยอยู่ในสภาพ“เมืองร้าง” ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 25 จากศึกสงครามกับพม่าปรากฏการณ์“เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” หรือการทำสงครามกวาดต้อนไพร่พลจากดินแดนใกล้เคียงอาทิ เชียงตุง เมืองยองสิบสองปันนาหัวเมืองไทใหญ่ ฯลฯ โดยผู้นำล้านนายุคนั้นนับเป็นการฟื้นฟูบ้านเมืองขึ้นมาอีกครั้งมูลเหตุดังกล่าวทำให้ล้านนาเต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายต่างชาติพันธุ์ไม่ว่าจะเป็นไทใหญ่ ลื้อยอง ภายใต้ปฏิสัมพันธ์ที่ผู้คนเหล่านี้มีต่อกันกระบวนการหลอมหลวมจนกลายมาเป็น“คนเมือง”นับเป็นปรากฏการณ์ทางประวัติศาสตร์ร่วมที่สำคัญของผู้คนและสังคมในดินแดนแห่งนี้ ดังที่กล่าวมา ศาสตราวุธอันเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในล้านนาจึงแตกต่างหลากหลายไปตามชาติพันธุ์ต่างๆทั้งในเขตพื้นราบและกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงบ่อยครั้งที่อาวุธปรากฏลักษณะแบบสกุลช่างล้านช้างและสกุลช่างภาคกลางรวมอยู่ด้วยกระทั่งอาจกล่าวได้ว่ากรณีของล้านนาเป็นเรื่องยากที่จะหาเอกลักษณ์อันแท้จริงของอาวุธในดินแดนแห่งนี้ 
ภาพที่ 3 ดาบล้านนาสกุลช่างไท (1).jpg

ภาพที่ 3 ดาบล้านนาสกุลช่างไท [1] (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาสกุลช่างไท [1] สกุลช่างไทหรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่าสกุลช่างไตใช้เรียกขานงานช่างแถบภาคเหนือของไทย (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 95) ดาบล้านนาบางเล่ม มีลักษณะผสมผสานระหว่างดาบของคนไทในเขตพื้นราบกับกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง ดังเช่นดาบเล่มนี้ที่มีใบแบบดาบเมืองซึ่งเป็นที่นิยมในแถบเมืองเชียงราย เชียงแสน และดินแดนสามเหลี่ยมทองคำ ในส่วนของด้ามดาบหุ้มด้วยแผ่นเงินและทองแดงปลายด้ามเป็นหัวบัวขนาดใหญ่ ฝักดาบเป็นหลูบเงินรัดด้วยวงแหวนเงินจํานวนมาก ต่างไปจากดาบลาวที่มัก หลูบเงินแบบเกลี้ยงทั้งเล่ม ทั้งนี้จำนวนวงแหวนเป็นตัวเลขมงคลที่ถูกโฉลกกับผู้ใช้ ปลายฝักดาบมีการประดับประดาด้วยลวดลายเส้นเงินขด ซึ่งเป็นลักษณะความนิยมของเย้าและมูเซอ 
         นอกจากนี้ข้อสังเกตประการหนึ่งของดาบที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูงคือ เมื่อเก็บดาบเข้าฝักแล้วมักเหลือพื้นที่ความยาวระหว่างใบดาบกับตัวฟัก กล่าวคือ ฝักดาบมักจะมีความยาวกว่าใบดาบ ดังจะเห็นได้จากดาบเล่มนี้ด้วยเช่นกัน สิ่งนี้จึงอาจแสดงถึงค่านิยมเรื่องการประดับดาบให้สวยงามของผู้ใช้มากกว่าให้คุณค่าในเรื่องรูปทรง และโครงสร้างของใบดาบซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกเก็บอยู่ในฝัก 
ภาพที่ 4 ดาบล้านนาสกุลช่างไท (2).jpg

ภาพที่ 4 ดาบล้านนาสกุลช่างไท [2] (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาสกุลช่างไท [2] ดาบลักษณะนี้พบแถบเมืองเชียงราย เชียงแสน รวมไปถึงลาวตอนบน โดยภาพรวมมีความคล้ายคลึงกับดาบล้านนาสกุลช่างไท [1] กล่าวคือ เป็นดาบที่ผสมผสานระหว่างดาบของคนไทในเขตพื้นราบกับกลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง นอกจากนี้ที่ใบดาบยังปรากฏลักษณะเฉพาะแบบดาบสกุลช่างล้านช้างนั่นคือ แนวกระดูกดาบบริเวณสันดาป ด้ามดาบถูกหุ้มด้วยแผ่นเงินมีหัวบัวขนาดใหญ่ที่ท้ายด้าม ฝักดาบเป็นหลูบเงินรัดด้วยวงแหวนเงินและลวดลายประดับประดาด้วยเส้นเงินขด ซึ่งเป็นลักษณะที่นิมยมของเย้าและมูเซอ (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 97)
ภาพที่ 5 ดาบล้านนาสกุลช่างลื้อ.jpg

ภาพที่ 5 ดาบล้านนาสกุลช่างลื้อ (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาสกุลช่างลื้อ ดาบลักษณะนี้พบมากแถบเมืองลำปาง เป็นดาบสกุลช่างลื้อซึ่งมีจุดสังเกตอยู่ที่บริเวณหน้าบ่าของดาบที่มักจะเก็บงานได้ไม่ละเอียดนัก ทั้งนี้เนื่องจากคนลื้อมักใช้ดาบในการหั่น ตัด และประกอบกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันตลอดเวลา กั่นดาบ จึงต้องมีขนาดใหญ่เพื่อความแข็งแรง ด้วยเหตุนี้ที่หน้าบ่าของดาบจึงมักพบรอยกระเดิดจากการใช้งานอยู่เสมอ ดาบเล่มนี้เป็นการหลูบเงินทั้งเล่ม ทั้งนี้หากมีการขัดทำความสะอาดแล้วจะได้สีออกแดงเหมือนนาก ด้ามดาบมีการประดับวงแหวนเงิน ใช้เชือกหรือหวายมัดเพื่อให้จับถือได้ถนัดมือ เป็นดาบที่สามัญชนใช้กันทั่วไป (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 99)
ภาพที่ 6 ดาบล้านนาสกุลช่างล้านนาตอนล่าง.jpg

ภาพที่ 6 ดาบล้านนาสกุลช่างล้านนาตอนล่าง (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาสกุลช่างล้านนาตอนล่าง เป็นดาบที่มีความยาวเป็นพิเศษ พบการกระจายตัวตั้งแต่เมืองลำปางลงมาจนถึงเมืองตาก สุโขทัย พิษณุโลก กำแพงเพชร อันเป็นเขตวงปริมณฑลทางอำนาจของกรุงเทพฯ ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ บางครั้งยังพบดาบลักษณะนี้กระจายตัวไปถึงชายขอบดินแดนล้านนาต่อเนื่องกับล้านช้างด้วย
         ลักษณะสำคัญคือ ใบคาบที่เป็นรูปทรงแบบดาบไทยภาคกลาง สะท้อนการได้รับอิทธิพลดาบสกุลช่างอยุธยา ใบดาบเล่มนี้ยังมีปรากฏลายหยักคลื่นบริเวณใกล้ปลายคมและคอของสันดาบ สันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์ของ “นาค” สัตว์มงคลของคนล้านนา ทั้งนี้หากเป็นในเขตวัฒนธรรมฮินดู-พุทธที่เคร่งครัดกว่าเช่นลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สัญลักษณ์นี้อาจตีความได้เป็น “วัชระ” อาวุธของพระอินทร์ 
         ในส่วนของด้ามดาบเป็นการหุ้มเงินประดับวงแหวนเงิน ฝักดาบเป็นหลูบเงินเกลี้ยงทั้งฝัก บางครั้งพบว่า มีการหลูบคำ (หุ้มทองคำ) ด้วย เนื่องจากเป็นดาบที่มีความยาว รูปทรงสง่างาม ตามลักษณะนี้จึงมักใช้เป็นเครื่องประดับยศเจ้านาย โดยเฉพาะกลุ่มเจ้านายล้านนาในช่วงราวต้นพุทธศตวรรษที่ 25 สำหรับดาบเล่มนี้สันนิษฐานว่ามีอายุราว 150 ปี (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 101)
ภาพที่ 7 ดาบล้านนาสกุลช่างไทใหญ่.jpg

ภาพที่ 7 ดาบล้านนาสกุลช่างไทใหญ่ (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาสกุลช่างไทใหญ่ เป็นดาบสกุลช่างไทใหญ่ที่มีพื้นที่การกระจายตัวอยู่ในดินแดนล้านนาอย่างกว้างขวางและอาจมีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ อย่างไรก็ตามเอกลักษณ์ร่วมของคาบสกุลช่างนี้อยู่ที่ใบดาบที่มีปลายโค้งมนเรียกกันว่า“ ปลายบัว” อาจเป็นเพราะรูปทรงละม้ายดอกบัว ซึ่งบางทฤษฎีที่กล่าวว่า“ปลายบัว” เป็นคำที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า “ปลายปัว” และคำว่า“ บัว” หมายถึง งูใหญ่ หรือพญานาค จึงน่าจะหมายถึง ดาบที่มีลักษณะคล้ายงู 
         ลักษณะสันดาบของกลุ่มไทใหญ่มีหลายรูปแบบทั้งแบบที่ผายออกเป็นหน้าจั่ว สันโค้งมนเล็กน้อยหรือแบบเรียบ ๆ ก็มี สำหรับดาบเล่มนี้มีสันดาปแบบโค้งมน ด้ามดาบประกอบขึ้นจากงาช้าง รูปทรงหน้าตัด มีการหุ้มเงินประดับด้วยวงแหวนเงินในรูปแบบที่เรียบง่าย ในส่วนของฝักเป็นหลูบเงินรัดด้วยวงแหวน ประดับประดาด้วยลวดลายเฉพาะซึ่งอาจเป็นลวดลายมงคล ลายยันต์ หรือทำขึ้นตามจินตนาการของช่างก็เป็นได้
         ดาบเล่มนี้มีอายุราว 50 ปี แม้จะไม่เก่าแก่นัก หากแต่ก็สะท้อนวัฒนธรรมการใช้ดาบในวิถีชีวิตของกลุ่มคนไทในล้านนาและดินแดนใกล้เคียงเช่นรัฐฉานของพม่าที่สูญหายไปช้ากว่าพื้นที่อื่น ๆ (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 103)
ภาพที่ 8 ดาบล้านนาทรงหน้าจรด.jpg

ภาพที่ 8 ดาบล้านนาทรงหน้าจรด (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาทรงหน้าจรด ดาบล้านนาบางเล่มมีลักษณะผสมผสานกันจนไม่สามารถระบุสกุลช่างอย่างหนึ่งอย่างใดได้อย่างชัดเจน ดังเช่นดาบที่พบที่เชียงใหม่เล่มนี้ ลักษณะใบดาบเป็นทรง “หน้าจรต” หรือ“หัวปลาหลด” ตามขนบดาบไทยภาคกลางที่ใบดาบปรากฏลายหยักคลื่น หรือลายนาค ซึ่งอาจตีความได้ถึงสัญลักษณ์ “วัชระ” ด้ามดาบเป็นงาช้างประดับเงินหากพิจารณาอย่างเผิน ๆ ดูคล้ายคลึงกับ “ด้ามพริก” แบบล้านช้างสกุลช่างจำปาสัก โดยที่อาจมีความเกี่ยวข้องกันทางใดทางหนึ่งหรือเป็นเรื่องบังเอิญก็เป็นได้ 
         ดาบลักษณะนี้เป็นดาบที่พบทั่วไปทั้งในเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน ถือเป็นดาบที่ใช้กันทั่วไปของคนล้านนา การที่ดาบมีการกระจายตัวอย่างกว้างขวางอาจเป็นเพราะดาบได้เดินทางตามเส้นทางการค้าของผู้คนสมัยโบราณ (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 105)

ดาบล้านนาที่นิยมในหมู่พ่อค้ามาจนถึงช่วงทศวรรษ 2500

ภาพที่ 9 ดาบล้านนาที่นิยมในหมู่พ่อค้ามาจนถึงช่วงทศวรรษ 2500.jpg

ภาพที่ 9 ดาบล้านนาที่นิยมในหมู่พ่อค้ามาจนถึงช่วงทศวรรษ 2500 (ปริญญา สัญญะเดช, 2554)

         ดาบล้านนาที่นิยมในหมู่พ่อค้ามาจนถึงช่วงทศวรรษ 2500 ดาบลักษณะนี้เชื่อว่าดีโดยกลุ่มช่างไทใหญ่เมืองเชียงใหม่ เป็นดาบที่พบเห็นได้ทั่วไป มีขนาดกะทัดรัดไม่ยาวนัก ถือเป็นดาบที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในดินแดนล้านนาต่อเนื่องเข้ามาจนถึงภาคกลางตอนบน  แถบเมืองนครสวรรค์ ชัยนาท สาเหตุที่การกระจายตัวของดาบลักษณะนี้เป็นไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามแนวทิศเหนือ-ใต้ นั้น สันนิษฐานว่า เป็นผลจากเส้นทางการค้าทางน้ำตามสายน้ำปิง-แม่น้ำเจ้าพระยา ในยุคก่อนที่ทางรถไฟจะตัดขึ้นไปถึงเชียงใหม่ (พ.ศ.2464) นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการค้าระหว่างล้านนากับเมาะละแหม่งของพม่าในยุคที่การทำไม้สักยังรุ่งเรือง ด้วยขนาดของดาบที่กะทัดรัดพกพาสะดวกเหมาะกับการเป็นอาวุธติดกาย ดาบจึงเดินทางมาพร้อมกับการค้า พบการใช้งานของดาบลักษณะนี้ต่อเนื่องมาจนกระทั่งทศวรรษ 2480-2500 
         ดาบเล่มนี้มีปรากฏตัวเลข 1938 อยู่ที่ท้ายด้ามดาบ ซึ่งอาจตีความได้ว่าเป็นเลขมงคลของผู้เป็นเจ้าของหรืออาจเกี่ยวข้องกับปีคริสตศักราช เนื่องจากดาบลักษณะนี้เคยใช้กันอยู่ในกลุ่มพ่อค้าข้ามพรมแดนในช่วงสมัยอาณานิคม (ปริญญา  สัญญะเดช, 2554, หน้า 107)

กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการใช้งาน[แก้ไข]

         การตีดาบของไทยก็ได้รับความนิยมอย่างมากมาตั้งแต่สมัยโบราณ เพราะไทยเป็นประเทศแรกที่ทำการตีดาบ ซึ่งการตีดาบนั้นก็จะแตกต่างกันออกไป เพราะในสมัยก่อนประเทศไทยตีดาบเพื่อเป็นอาวุธในการปกป้องประเทศ รบกับข้าศึก และยังใช้เพื่อการทำอาชีพอีกด้วย เพราะในสมัยก่อนนั้นเราใช้ดาบในการเอาไว้ตัดผักต่าง ๆ และยังได้ใช้ประโยชน์ต่าง ๆ จากดาบอีกด้วย และยังมีการรับจ้างตีดาบเป็นอาชีพในสมัยก่อนอย่างมากด้วย (Yearoftheblacksmith, 2560) 
         ซึ่งดาบในสมัยก่อนนั้นได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะว่าดาบของแต่ละเมืองนั้นจะมีรูปทรงการออกแบบที่ต่างกันออกไป ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพหลักๆของคนในสมัยนั้นเลยก็ว่าได้ นอกจากนั้นแล้วเรายังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างอีกด้วยในสมัยนั้น เพราะถ้าบ้านใครมีดาบนั้นถือว่าตัดอะไรก็ได้และยังสามารถป้องกันตัวอริราชศัตรูได่ ในสมัยก่อนการตีดาบให้มีความคมและออกมาเงางามได้นั้น ต้องมีเหล็กที่ดีและสามารถทนทานกับการตีได้ในแต่ละครั้ง และต้องมีช่างตีดาบที่เก่งเพราะถ้าได้ช่างตีดาบที่เก่งแล้ว ไม่ว่าดาบจะเป็นอะไรหรือวัสดุจะดีแค่ไหนก็จะได้ดาบที่ดีออกมา แต่ถ้าได้ช่างที่ไม่มีฝีมือมาตี ดาบนั้นก็เหมือนดาบที่ไม่มีคุณภาพนั้นเอง 
         กระบวนการทำดาบเป็นส่วนสำคัญที่จะรังสรรค์อาวุธออกมาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ โดยต้องมีวัตถุดิบในการประกอบแต่ละส่วนให้เกิดเป็นรูปร่างของดาบขึ้นมาได้ ตามประวัติที่มีการกล่าวถึงวัสดุของดาบพระแสงราชศัสตรา ที่มีส่วนประกอบแต่ละส่วนดังนี้ ฝักดาบเป็นทองคำแท้ ส่วนด้ามดาบเป็นเหล็กกล้าหรือเหล็กน้ำพี้ ซึ่งเหล็กน้ำพี้ เป็นบ่อแร่ที่ข้างในเป็นแร่เหล็กกล้าที่มีโครงสร้างระดับโมเลกุลที่ประกอบด้วยธาตุคาร์บอนหลากหลาย ทำให้เมื่อนำมาเผาและตีทำมีดจะได้มีดที่แข็งแกร่งทนทานกว่าที่ทำจากแร่เหล็กทั่ว ๆ ไป ภาควิชาวิศวกรรมโลหการ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีแห่งประเทศไทยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกรมวิทยาศาสตร์ทหารบก ได้เคยนำตัวอย่างสินแร่จากจากบ่อพระแสงและบ่อพระขรรค์ไปทำการทดลองเพื่อวิเคราะห์หาคุณสมบัติต่าง ๆ ด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ พบว่า (เทศบาลตำบลน้ำแร่พัฒนา, 2556) แร่เหล็กน้ำพี้มีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่หาได้ยาก เป็นแร่เหล็กที่มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตัว มีความแข็งและเหนียวเป็นพิเศษ มีคุณลักษณะอ่อนในแข็งนอก 
         วิธีการทำดาบเหล็กน้ำพี้นั้น มีขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็น่าศึกษาไว้เพราะเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาชนรุ่นก่อนไว้ด้วย ขั้นตอนการทำดาบเหล็กน้ำพี้มีดังนี้คือ
         1. นำแร่เหล็กน้ำพี้ไปทำเป็นรูปร่างที่ต้องการเสียก่อนด้วยวิธีการเรียกกันว่าผนึกดาบน้ำพี้ โดยช่างเองจะเป็นผู้กำหนดรูปทรงและน้ำหนักว่าควรจะมีรูปทรงและน้ำหนักประมาณเท่าไหร่ ซึ่งต้องใช้ความชำนาญและการคำนวณจากประสบการณ์ของช่าง แต่สำหรับบางเล่มที่ผู้มาสั่งทำอาจจะกำหนดน้ำหนักตามต้องการให้ทำก็ได้ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
         2. เมื่อได้เหล็กน้ำพี้ผนึกเป็นรูปทรงตามต้องการแล้วก็จะนำไปเผาให้เหล็กแดงและร้อนด้วยเตาเผา จากนั้นก็จะนำออกมาตีขณะที่ยังร้อนและแดงอยู่ ในขั้นตอนของการตีใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงและใช้ช่างในการทำดาบน้ำพี้แต่ละเล่ม 2 ถึง 3 คน
         3. ขั้นตอนต่อมาคือการตกแต่งให้สวยงามด้วยการขัดด้วยตะไบหรือเครื่องเจียร ให้เกิดความคมแวววาวและสวยงาม  ขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมง
         4. ขั้นตอนต่อมาคือการลงลายตัวดาบเหล็กน้ำพี้และอาจจะเป็นการลงอัคระคาถาต่างๆ ให้เกิดความขลังตามความเชื่อด้วย แต่ถ้าลูกค้าต้องการให้ใส่ลายที่ยากขึ้นก็ย่อมได้ โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลาอย่างต่ำครึ่งชั่วโมงขึ้นกับความยากง่ายของลวดลาย
         5. ขั้นตอนสุดท้ายจะเป็นการขัดเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยสวยงามอีกครั้ง แล้วจึงนำไปรมดำก็จะได้ดาบเหล็กน้ำพี้ที่เป็นเอกลักษณ์สวยงามและมีคุณค่าตามที่ได้ทำกันมาแต่โบราณ
         ดาบเหล็กน้ำพี้นั้นมีแหล่งการทำอยู่จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งมีแหล่งแร่น้ำพี้อยู่ที่นี่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ทำจากเหล็กน้ำพี้ 100% บริสุทธิ์ ซึ่งมีขนาดและราคาแตกต่างออกไป อีกทั้งยังมีมีดเหล็กน้ำพี้เป็นสินค้าอีกอย่างที่ทำขายด้วย (Yearoftheblacksmith, 2560)

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

แหล่งอ้างอิง[แก้ไข]

เทศบาลตำบลน้ำแพร่พัฒนา. (2556). ดาบล้านนา1. เข้าถึงได้จาก http://www.namphrae.go.th/tips.php?id=69
บ้านจอมยุทธ. (2543). สมัยรัตนโกสินทร์. เข้าถึงได้จาก https://www.baanjomyut.com/76province/rattanakhosin.html 
ปริญญา สัญญะเดช. (2554). วิถีศาสตรา: ปริศนา ศรัทธา และอาคมแห่งอาวุธไทย. กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พระยากำแพงเพชร. (2557, 24 สิงหาคม). พระแสงศัสตรา มรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่า. [Facebook]. เข้าถึงได้จาก https://m.facebook.com/193823697384574/posts/531644820269125/
สันติ อภัยราช. (2544). ตามเสด็จประพาสต้น พระพุทธเจ้าหลวง ณ เมืองกำแพง. กำแพงเพชร : หจก.ศรีสวัสดิ์การพิมพ์.
สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2554). อาวุธ-ศัสตราวุธ-ศาสตราวุธ. เข้าถึงได้จาก http://legacy.orst.go.th/?knowledges=อาวุธ-ศัสตราวุธ-ศาสตราวุ
Google Site. (ม.ป.ป.). หน่วยที่ 1 เวลาและยุคสมัยประวัติศาสตร์. เข้าถึงได้จาก https://sites.google.com/a/saharaj.ac.th/kroowalaiporn/hnwy-thi-1-wela-laea-yukh-smay- 
          prawatisastrtmpl=%2Fsystem%2Fapp%2Ftemplates%2Fprint%2F&showPrintDialog=1	
Yearoftheblacksmith. (2560). การตีดาบของประเทศไทย. เข้าถึงได้จาก https://www.yearoftheblacksmith.com/การตีดาบของประเทศไทยแล/        
----------. (2560). วิธีการและขั้นตอนการทำดาบเหล็กน้ำพี้. เข้าถึงได้จาก https://www.yearoftheblacksmith.com/วิธีการและขั้นตอนการทำ/

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         วันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2564

ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]

         อาจารย์วนัสนันท์  นุชนารถ, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธูรำไพ  ประภัสสร, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภโชคชัย  นันทศรี, อาจารย์ ดร.พิมพ์นารา  บรรจง และอาจารย์ธนธรณ์  แจ้งโม้ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
         ธีรภัทร์  เสริมศรี, สโรชา  เอี่ยมต่อ และธนาศักดิ์  วงศ์ชมพู นักศึกษาโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

คำสำคัญ (tag)[แก้ไข]

         ดาบพระแสง, ดาบโบราณ, พระแสงราชศัสตรา