ฐานข้อมูล เรื่อง ตานก๋วยสลาก ประเพณีโบราณของคนไทย
ไบยังการนำทาง
ไปยังการค้นหา
บรรยากาศของ “เมืองเหนือ” ชาวเมืองยังคงยึดถือวัฒนธรรม “แบบล้านนา” ทั้งทางด้านการแต่งกาย ภาษาพูด และขนมธรรมเนียมประเพณี ซึ่งมีทั้งที่มาจากความเชื่อในลัทธิถือเจ้าถือผี เช่น การส่งเคราะห์ ส่งหาบส่งกอน ส่งปู่แถนย่าแถน สืบชะตาคน สืบชะตาข้าว สืบชะตาควาย (หลังสิ้นสุดการทำงาน) ประเพณีสงกรานต์ และความเชื่อในพุทธศาสนา เช่น การทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมไปถึงประเพณีตายก๋วยสลาก หรือประเพณีถวายสลากภัตของภาคกลาง ประเพณีตานก๋วยสลาก หรือประเพณีกิ๋นข้าวสลาก เป็นประเพณีทำบุญโดยมิได้เลือกเจาะจงพระภิกษุ สามเณรรูปใดรูปหนึ่งของชาวล้านนา ลักษณะโดยทั่วไปคล้ายคลึงกับประเพณีถวายสลากภัตของชาวไทยภาคกลาง หากทางล้านนานิยมเป็นการทำบุญจตุปัจจัยถวายแด่พระสงฆ์ โดยมิต้องมีการทำบุญเป็นภัตตาหารต่าง ๆ เช่นเดียวกับภาคกลาง
เนื้อหา
ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]
ชื่อเรียก[แก้ไข]
ประเพณีตานก๋วยสลาก
ชื่อเรียกอื่น ๆ[แก้ไข]
ตานก๋วยสลาก “กิ๋นก๋วยสลาก” สลากภัต
เดือนที่จัดงาน[แก้ไข]
พฤศจิกายน
เวลาทางจันทรคติ[แก้ไข]
เดือน 11 เหนือ (คือเดือน 10 ใต้ เดือนกันยายน) และสิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือน 11)
สถานที่[แก้ไข]
ตานก๋วยสลาก จัด ณ สถานที่วัดน้ำโท้ง ต.ท่าขุนราม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร
ประเภทประเพณี[แก้ไข]
ก๋วยสลากจะมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ก๋วยน้อย และ ก๋วยใหญ่ซึ่งมีรายละเอียดแต่ละประเภทดังนี้
ภาพที่ 1 แสดงลักษณะก๋วยน้อย
1. ก๋วยน้อย เป็นก๋วยสลากสำหรับที่จะถวายทานไปให้กับผู้ที่ล่วงลับ ซึ่งไม่เพียงแต่ญาติน้องเท่านั้นอาจจะเป็นเพื่อนสนิทมิตรสหายก็ได้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงที่เราเคยรักและมีคุณต่อเราเมื่อครั้งยังมีชีวิตเช่น ช้าง ม้า วัว ควายและสุนัข เป็นต้นหรือถ้าไม่รู้ว่าจะถวายทานไปให้ใครก็ถวายทานเอาไว้ภายหน้า
ภาพที่ 2 แสดงลักษณะก๋วยใหญ่
2. ก๋วยใหญ่ เป็นก๋วยที่จัดทำขึ้นใหญ่เป็นพิเศษ บางครั้งเรียกว่า “ก๋วยโชค” ซึ่งจะบรรจุข้าวของได้มากขึ้น ถวายเป็นมหากุศลสำหรับคนที่มีกำลังศรัทธาและฐานะดี เป็นปัจจัยนับว่าได้กุศลแรง สลากที่มักจัดทำขึ้นเป็นพิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ " สลากโชค" มักทำเป็นต้นสลากที่สูงใหญ่สำหรับที่จะนำเอาวัตถุสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆผูกมัดติดกับต้นสลากเช่น ผ้าห่ม ที่นอน หมอน หม้อนึ่ง ไหข้าว หม้อแกง ถ้วย ชาม ช้อน ร่ม เครื่องนุ่งห่ม อาหาร แห้งต่างๆ และเงินที่เป็นธนบัตรชนิดต่าง ๆ ต้นสลากจะมีการประดับตกแต่งให้สวยงามกว่าสลากธรรมดาในวันตานก๋วยสลาก ชาวบ้านจะนำเส้นสลากที่ทำมาจากใบตาล หรือใบลาน โดยเขียนชื่อผู้ถวายสลาก และผู้ที่จะอุทิศส่วนกุศลไปให้ นำไปกองรวมกัน ไว้ในวิหารหน้าพระประธานเมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้วเส้นสลากจะถูกนำมาแบ่งสันปันส่วนกันไป ในหมู่ของพระสงฆ์ที่ได้นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ ส่วนหนึ่งจะถูกแบ่งให้วัดที่เป็นเจ้าภาพ ก่อนจะถึงเวลาเพล พระสงฆ์ และสามเณรก็จะนำเอาเส้นสลากไปอ่าน ซึ่งจะมีการเรียกชื่อหาเจ้าของสลากนั้น ๆ ว่านั่งอยู่ที่ใด เมื่อพบแล้วจะมีการให้ศีลให้พรมีการหยาดน้ำอุทิศ ส่วนบุญกุศลไปให้กับผู้ที่ล่วงลับเป็นเสร็จพิธี
ประวัติความเป็นมาของประเพณีตานก๋วยสลาก[แก้ไข]
ในสมัยพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้าประทับ ณ พระเชตะวันมหาวิหารนั้น วันหนึ่งนางกุมารีผู้หนึ่งได้อุ้มลูกชายวิ่งหนีนางยักขินีผู้มีเวรต่อกันหลายชาติแล้ว ติดตามมาจะทำร้ายลูกของนาง นางเห็นจวนตัวจะวิ่งหนีไปที่อื่นไม่ได้ จึงพาลูกวิ่งเข้าไปในพระเชตวัน เข้าไปในพระวิหารขณะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ นางเอาลูกน้อยวางแทบพระบาทแล้วกราบทูลว่า “ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ ขอทรงโปรดเป็นที่พึ่งแก่ลูกชายของหม่อมฉันเถิดพระเจ้าข้า” พระพุทธเจ้าหยุดพฤติกรรมที่จองเวรของนางกุมาริกา และนางยักษ์ขินีด้วยการตรัสคำสอนว่า “เวรย่อมไม่ระงับด้วยเวร เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ธรรมนี้เป็นของโบราณ” แล้วทรงให้นางทั้งสองเห็นผิดชอบชั่วดี นางยักษ์ขินีรับศีล 5 แล้วนางก็ร้องไห้สะอึกสะอื้น กราบทูลพระพุทธเจ้าว่านางไม่รู้จะไปทำมาหากินอย่างไรเพราะรักษาศีลเสียแล้ว นางกุมาริกาจึงรับอาสาจะพานางไปอยู่ด้วย นางได้รับอุปการะจากนางกุมาริกาหลายประการ นึกถึงอุปการะอยากจะตอบแทนบุญคุณ จึงเป็นผู้พยากรณ์บอกกล่าวเรื่อง อุตุนิยมวิทยา คือ บอกให้นางกุมาริกาทำนาในที่ดอนในปีฝนมาก ทำนาในที่ลุ่มในเวลาฝนแล้ง นางกุมาริกาได้ปฏิบัติตามทำให้ฐานะร่ำรวยขึ้นยิ่งกว่าคนอื่น ๆ ในระแวกนั้น คนทั้งหลายมีความสงสัยจึงมาถามหานางกุมาริกาว่าเป็นอย่างไร ได้รับคำตอบว่า นางยักษ์ขินีเป็นผู้บอกกล่าวให้ คนทั้งหลายจึงพากันไปหานางขอบอกให้อย่างเดียวกับนางกุมาริกา คนทั้งหลายได้รับอุปการะจากนางยักษ์ขินีจนมีฐานะร่ำรวยไปตาม ๆ กัน ด้วยความสำนึกในบุญคุณ จึงพากันนำเอาเครื่องอุปโภคบริโภคอาหารการกินเครื่องใช้สังเวยอยู่เป็นอันมาก ข้าวของที่สำนักนางยักษ์ขินีจึงมีมากเหลือกินเหลือใช้ นางจึงนำมาทำเป็นสลากภัตร โดยให้พระสงฆ์กระทำการจับตามเบอร์ด้วยหลักของอุปโลกนกรรม คือ ของที่ถวายมีทั้งของมีราคามาก ราคาน้อย พระสงฆ์องค์ใดได้ของมีค่าน้อยก็อย่าเสียใจ ให้ถือว่าเป็นโชคของตนดีหรือไม่ดี การถวายแบบจับสลากของนางยักษ์ขินีนี้นับเป็นครั้งแรกแห่งประเพณีทำบุญสลากภัตร หรือทานสลากในพระพุทธศาสนา ตานก๋วยสลากในภาคเหนือ คือสลากภัตในภาคกลางเป็นประเพณีเก่าแก่ในพระพุทธศาสนาของชาวล้านนาที่อพยพมาอยู่ที่บ้านน้ำโท้ง ตำบลท่าขุนราม อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร หลายชั่วอายุคนมีชื่อเรียกแตกต่างกันแต่ละท้องถิ่น คือกินก๋วยสลาก กินสลาก ตานก๋วยสลาก ตานสลากย้อมหรือสลากพระอินทร์ ซึ่งนิยมทำกันในช่วงราวปลายเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม และจะทำถี่กันมากในเดือนกันยายน เพราะถือว่าเดือนนี้จะเป็นเดือนที่ชาวบ้านจะลำบากเรื่องอาหารการกิน เพราะปลายฤดูทำนา ข้าวปลาอาหารขาดแคลน เมื่อคนทั่วไปอดอยากจึงคิดถึงผู้เป็นญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว คงไม่มีเครื่องอุปโภคบริโภคเช่นกัน จึงร่วมกันทำพิธีทำบุญทำทานโดยจัดอาหารการกิน เครื่องใช้ที่จำเป็นไปถวายแก่พระสงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้วและเป็นอานิสงส์สำหรับตนเองในโลกหน้า การทำบุญสลากภัตจะไม่จำเพาะเจาะจงจะถวายภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จึงนำสลากที่เขียนคำอุทิศในใบสลาก แล้วนำไปรวมกันให้พระภิกษุสามเณรจับสลาก หากว่าภิกษุหรือสามเณรรูปใดจับสลากได้ ก๋วยสลากหรือภาชนะที่บรรจุเครื่องไทยทานอันไหนก็จะยกถวายแก่รูปนั้น บรรยากาศ แห่งการไปถวายก๋วยสลาก นับว่าน่าชมมาก คือ พระภิกษุที่ได้สลากแล้ว จะไปนั่งยังแต่ร่มไม้ในแต่ละที่ วางสลากไว้ด้านหน้าประชาชนจะมาดูสลากของตน แล้วจะนำก๋วยถวาย พระภิกษุ พระภิกษุจะกรวดน้ำให้พรเป็นรายๆไปข้อความในสลาก จะกล่าวถึงญาติพี่น้องเจ้ากรรมนายเวรที่ล่วงลับไปแล้ว รับพรพระทุกคน นับว่าเป็นกลวิธีที่แยบยลมาก ที่ให้ประชาชน ได้ร่วมใจมาทำบุญกันอย่างล้นหลาม ส่วนสลากอุ้ม มีขนาดใหญ่ พระภิกษุต้องเดินมารับเอง ณ ที่ตั้งที่ประชาชนตั้งไว้ สลากอุ้มจะถวายวัดพระภิกษุแต่ละวัดไปส่วนสลากที่เรียกว่าสลากคุ้ม แต่ละกลุ่มบ้านจะจัดทำสลากคุ้มมาถวายพระแห่แหนกันมาเป็นสลากขนาดใหญ่ ตามธรรมเนียมจะถวายวัดที่จัดงานทั้งหมด ส่วนที่ประกอบเป็นก๋วยสลาก จะเป็นของที่จะเป็นใช้สำหรับประชาชนจริงๆ เช่นพริก เกลือ ข้าวสาร ข้าวเปลือก มะนาว ผลไม้รสเปรี้ยวรสหวาน อาหารที่พอหาได้ในหมู่บ้าน และบางก๋วยยังมีหมากพลู บุหรี่ ข้าวต้มมัด ขนมสมัยโบราณนานาชนิด บางบ้านมีฐานะ จัดให้มีเงิน ใส่มาด้วย นับว่าเป็นการรักษาวัฒนธรรมอันดีงาม สืบต่อกันมาอย่างน่าสรรเสริญ ความกตัญญูกตเวที ที่มีต่อ บรรพบุรุษ การรู้จักทำบุญให้ทาน แก่บุคลที่ไม่รู้จัก เป็นทานที่ยิ่งใหญ่มาก นับเป็นภูมิปัญญาชาวเหนือ ที่ชาวบ้านน้ำโท้ง รักษาไว้ได้อย่างงดงาม ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลง ที่มิอาจขวางกั้นได้ ประชาชนส่วนใหญ่ ทำบุญด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิได้ทำเพื่อให้เสร็จ ทุกคนอิ่มเอิบและมีความสุข อย่างที่สุด ภาพการเอื้อเฟื้อ จริงใจ ที่หายไปจากในตัวเมือง ยังปรากฎอยู่ในชนบท ที่ชัดเจน งดงามและเป็นธรรมชาติมากที่สุด เมื่อได้ชมแล้วอดที่จะปลื้มใจมิได้ว่า กำแพงเพชรเรายังมีประเพณีที่งดงามอยู่แม้มิใช่สถานที่เกิดประเพณีก็ตาม
ความสำคัญของประเพณีตานก๋วยสลาก[แก้ไข]
ประเพณีตานก๋วยสลาก หมายถึง ประเพณีถวายทานสลากภัต เป็นวิธีการถวายเครื่องไทยทานแก่พระสงฆ์วิธีหนึ่งอันเป็นที่นิยมของชาวเหนือ โดยทั่วไปจะเริ่มใน วันเพ็ญ เดือน 12 เหนือ (กันยายน) ถึงแรม 1 ค่ำ เดือนเกี๋ยงดับ (พฤศจิกายน) เมื่อทางวัดและชาวบ้านตกลงกันว่าจะจัดให้มีการกินสลาก ก่อนวันตาน ก๋วยสลาก ชาวบ้านจะจัดทำพิธีเตรียมสิ่งของเครื่องไทยทาน 1 วัน เรียกวันที่เตรียมของนี้ว่า “วันดา” ชาวบ้านจะจัดเครื่องไทยทานลงใน “ก๋วย” เป็นตระกร้าหรือชะลอมขนาดเล็กที่สานด้วยไม้ไผ่) เรียกว่า “ก๋วยสลาก” แล้วนำของไทยทานจำพวกข้าวสารอาหารแห้งบรรจุลงไป บางวัด จะจัดเครื่องไทยทานลงในหม้อดินเผา แต่ในปัจจุบันก็อาจจะมีการดัดแปลงจาก “ก๋วยสลาก” มาเป็น “ถังพลาสติก” บรรจุเครื่องไทยทานเหมือนกับที่เรานิยมใช้กันทั่วไป นอกจากนี้อาจจะมีการตกแต่งเครื่องไทยทานเป็นต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่สูงตามต้องการ นำไม้ไผ่เหลาและทำเป็นวงกลมทำเป็นชั้น ๆ อาจเป็น 3 ชั้น, 5 ชั้น, 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น แต่ละชั้นนำสิ่งของที่จะใช้เครื่องไทยทานมาผูกติดให้สวยงาม ส่วนบนสุดจะนิยมนำร่มมาเสียบไว้ และใช้ธนบัตรผูกติดตามขอบร่มตามศรัทธาของเจ้าของกัณฑ์สลาก คำว่า “ก๋วย” แปลว่า ภาชนะสาน ประเภทตะกร้าหรือชะลอม ตานก๋วยสลากจึงหมายถึงการถวายทานด้วยวิธีการจับสลากเครื่องไทยทานที่บรรจุมาในชะลอม โดยการถวายตานก๋วยสลากนี้มีจุดมุ่งหมาย 2 อย่างด้วยกันคือ อย่างหนึ่งเป็นการอุทิศให้เทพยดาและผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว และอีกอย่างหนึ่งเป็นการอุทิศไว้ให้ตนเองเมื่อล่วงลับไปในภายหน้า การถวายก๋วยสลากถือกันว่าจะได้อานิสงส์แรง เพราะเป็นการทำบุญแบบสังฆทานผู้ถวายไม่ได้เจาะจงตัวผู้รับว่าจะเป็นพระภิกษุหรือสามเณรรูปใด รูปหนึ่ง "สลาก" หมายถึง เครื่องหมายหรือวัตถุที่ใช้ในการเสี่ยงโชค เช่น สลากภัต ก็ได้แก่อาหารที่เขาถวายสงฆ์โดยเขียนชื่อเจ้าศรัทธาลงบน "เส้นสลาก" เมื่อพระภิกษุจับได้สลากของผู้ใดก็ได้รับ 'สลากภัต' ของเจ้าศรัทธานั้น การตานก๋วยสลากของชาวล้านนานิยมปฏิบัติกันตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เหนือ ถึงเดือนยี่เหนือหรือประมาณตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคมของทุกปี สาเหตุที่ถือปฏิบัติกันเช่นนี้ก็เพราะว่า เป็นช่วงที่ชาวบ้านได้ทำนากันเสร็จแล้ว ได้หยุดพักผ่อน พระสงฆ์ก็จำพรรษาอยู่วัด ไม่ได้ไปไหนและบวกกับในช่วงเวลานี้ก็มีผลไม้สุก เช่น ลำไย มะไฟ สมโอ เป็นต้นเมื่อต้นข้าวในนาเริ่มเขียวขจีชาวนาที่มีฐานะไม่ค่อยดีการดำรงชีวิตก็เริ่มขัดสนเมื่อข้าวในยุ้งก็หมดก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะมาถึง ดังนั้นการตานก๋วยสลากในช่วงนี้จึงเท่ากับว่าได้สงเคราะห์คนยากคนจนเป็นสังฆทานได้กุศลแรง ก่อนจะถึงวันตานก๋วยสลาก 1 วันเขาเรียก "วันดา" วันนี้จะเป็นวันที่ชาวบ้านได้จัดเตรียมข้าวของไม่ว่าจะเป็นของกินหรือของใช้ต่างๆ สำหรับที่จะนำมาจัดทำใส่ก๋วยสลาก และวันนี้มักจะมีญาติสนิทมิตรสหายที่อยู่ต่างบ้านมาร่วมจัดดาสลากด้วย ซึ่งถือเป็นประเพณีที่จะได้ทำบุญร่วมกัน ผู้ชายจะเป็นคนสานก๋วยสลาก สำหรับที่จะบรรจุใส่ของกินของใช้ต่าง ๆ โดยจะกรุด้วยใบตองไว้ข้างใน เมื่อใส่สิ่งของเสร็จจะรวบปากก๋วยมัดเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะมีไม้ไผ่เหลาเป็นก้านเล็ก ๆ สำหรับเสียบสตางค์, กล่องไม้ขีดไฟ, บุหรี่ เพื่อทำเป็นยอดก๋วยสลากจะมากน้อยบ้างตามแก่กำลังศรัทธาและฐานะ รูปแบบประเพณี ตานก๋วยสลากอาจแบ่งได้เป็นสามชนิด คือ 1. สลากเฉพาะวัด เรียกว่า สลากน้อย 2. สลากที่นิมนต์พระจากวัดอื่น ๆ มาร่วมพิธีด้วยเรียกว่า สลากหลวง 3. สลากที่ทำเมื่อฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาลเพื่อถวายกุศลแด่พระอินทร์ และเทพยดาต่าง ๆ เป็นการขอฝนเรียกว่าสลากขอฝน หรือสลากพระอินทร์ พิธีกรรมส่วนใหญ่ของตานก๋วยสลากแต่ละชนิดจะคล้ายคลึงกัน มีเพียงรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้นที่แตกต่างออกไปในวันดา ซึ่งเป็นวันเตรียมงาน ผู้ชายจะช่วยกันสานก๋วยไว้จำนวนหนึ่ง ส่วนฝ่ายหญิงก็จะจัดเตรียมเครื่องไทยทานที่จะบรรจุลงในถ้วย อาทิ ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ อาหาร ตลอดจนข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ตามแต่ศรัทธา ในการเตรียมเครื่องไทยทานนี้มักจะมีญาติมิตรมาขอร่วมทำบุญด้วย เรียกว่า ฮอมครัว นอกจานั้นในแต่ละก๋วยจะมียอดคือ ธนบัตรตามแต่ศรัทธาประดับไว้ด้วย ที่สำคัญก็คือเจ้าของก๋วยจะต้องเขียนชื่อของตนและคำอุทิศไว้ในใบลานหรือกระดาษเล็ก ๆ ขนาดกว้าง 12 นิ้ว เรียกว่า เส้นสลาก เมื่อได้เวลาชาวบ้านจะนำเส้นสลากนี้ไปรวมกันไว้แล้วแบ่งถวายพระภิกษุสามเณรไปโดยไม่เจาะจง จากนั้นจึงจะมีผู้ขานชื่อในเส้นสลากแต่ละเส้นดัง ๆ เจ้าของก็จะนำเอาก๋วยของตนไปถวายพระภิกษุหรือสามเณรตามสลากนั้น ๆ พระจะอ่านข้อความในเส้นสลาก และกล่าวอนุโมทนาเป็นอันเสร็จพิธี จุดเด่นของพิธีกรรม เนื่องจากการจัดพิธีตานก๋วยสลากนี้ มีจัดกันในภาคเหนือทั่วไป แต่ละแห่งแต่ละวัดก็จะมีจุดเด่นของพิธีกรรมแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปจุดเด่นที่สุดของพิธีกรรมนี้จะอยู่ที่คัวตานใหญ่ที่จัดเป็นตานกลางถวายแก่วัด ซึ่งอาจจะมีการจัดขบวนแห่คัวตานให้สวยงามเอิกเกริกและยิ่งใหญ่ด้วยขบวนฟ้อนรำต่าง ๆ ด้วยประเพณีตานก๋วยสลาก คือ การทำบุญสลากภัตรในล้านนาไทย มีเรียกชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นบางแห่งว่า “กิ๋นก๋วยสลาก” บางแห่ง “กิ๋นสลาก” บางแห่งว่า “ตานก๋วยสลาก” ในความหมายเป็นอย่างเดียวกัน สำหรับวิธีการทำบุญมีแตกต่างกันไปตามความนิยมในท้องถิ่นของตน
ภาพที่ 3 แสดงการแห่ขบวนก๋วยสลาก
ประเพณีตานก๋วยสลากในปัจจุบัน ประเพณีการ “ ทานข้าวสลาก ” หรือ “ กิ๋นก๋วยสลาก ” ตามสำเนียงพูดของเมืองเหนือนี้หมายถึงประเพณีทานสลากภัตร เป็นประเพณีที่ชาวเหนือถือสืบเนื่องมานานแล้ว การถวายก๋วยสลากจะเริ่มในราวเดือน 12 เหนือ ( คือเดือน 10 ใต้ เดือนกันยายน ) และสิ้นสุดเอาในเดือนเกี๋ยงดับ (เดือน 11 ใต้) การก๋วยสลาก (หรือบางแห่งเรียกว่า ตานข้าวสลาก) สลากภัตรของทางเมืองเหนือ ประกอบด้วย 1. สลากน้อย คือ สลากกระชุเล็ก 2. สลากก๋วยใหญ่ คือ สลากโชค สลากก๋วยเล็ก ใช้ถวายอุทิศแด่ผู้ตาย หรือทำบุญเพื่อเป็นกุศลในภายภาคหน้า ส่วน สลากก๋วยใหญ่ใช้ถวายเนมหากุศลสำหรับบุคคลผู้มีกำลังศรัทธา และร่ำรวยเงินทอง ทำถวายเพื่อเป็นปัจจัยให้มีบุญกุศลมากขึ้น พิธีถวายสลากภัตร ที่นิยมมี 3 ประการ คือ 1. สลากเอาเส้น ซึ่งประชาชนจับสลาก แล้วนำไทยทานไปถวาย 2. สลากที่พระสงฆ์จับสลากเอง 3. สลากย้อม ซึ่งนิยมทำกันในกลุ่มไทยยอง ซึ่งหญิงสาวภายในหมู่บ้านจัดถวายเป็นประเพณี ขั้นตอนประเพณีตานก๋วยสลาก ก่อนวันทำพิธี “ ทานก๋วยสลาก ” 1 วัน เรียกว่า “ วันดา ” คือเป็นวันจัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ไทยทาน พวกผู้ชายก็จะจัดการจักตอกสาน “ ก๋วย ” (ตระกร้า) ไว้หลายๆ ใบ บางครอบครัวอาจจะทำหลายสิบลูก แล้วแต่ศรัทธาและกำลังทรัพย์จะอำนวยให้ ทางฝ่ายหญิงก็จะจัดเตรียมห่อของกระจุกกระจิก เช่น ข้าวสาร พริก หอม กระเทียม เกลือ กะปิ ปลาร้า ขนมต้ม และ อาหาร เช่น ห่อหมก (ทางเหนือเรียกว่าห่อนึ่ง) ชิ้นปิ้ง (เนื้อทอด) เนื้อเค็ม หมาก เมี่ยง บุหรี่ ไม้ขีดไฟ เทียนไข สีย้อมผ้า ผลไม้ต่างๆ เครื่องใช้สอยต่างๆ ตามแต่ศรัทธาและฐานะ สิ่งของต่าง ๆ เหล่านี้จะบรรจุลงในก๋วยซึ่งกรุด้วยใบตอง หรือกระดาษสีต่างๆ เมื่อจัดการบรรจุสิ่งของต่างๆ ลงในก๋วยเรียบร้อยแล้ว ก็จะเอา “ยอด” คือ สตางค์ หรือ ธนบัตร ผูกติดไม้เรียวเสียบไว้ “ยอด” ที่ใส่นั้นไม่จำกัดว่าเท่าใด แล้วแต่กำลังทรัพย์และศรัทธา จะอำนวยให้เมื่อเตรียมสิ่งของดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อเช้าวันรุ่งขึ้นในวันทานสลาก เขาก็ใช้เด็กลูกหลานเอาเสื่อไปปูที่ลานวัด หรือตามศาลาบาตร และเอา “ก๋วยสลาก” ไปวางเรียงไว้เป็นแถวๆ ส่วนผู้เฒ่าผู้แก่ก็จะจัดเตรียมขัน (พาน) ไปวัดกันเป็นหมู่ๆ บ้างก็จูงมือลูกหลานไปด้วยส่วนพวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ ก็ไปเหมือนกัน ส่วนมากไปกันเกือบหมดทั้งครอบครัว เพราะถือว่าการทานสลากภัตรนี้มีอนิสงฆ์มาก และจะได้ช่วยกันเอา “ก๋วยสลาก” ไปถวายพระในเวลามีการเรียก “เส้นสลาก” ขออธิบายเรื่องเส้นสลากเล็กน้อย “เส้นสลาก” ที่กล่าวนี้ ผู้เป็นเจ้าของการทำ “ก๋วยสลาก” จะต้องเอาใบลานหรือกระดาษมาตัดเป็นแผ่นยาว ๆ จารึกชื่อเจ้าของไว้และบอกด้วยว่า อุทิศส่วนกุศลนั้นให้ใครบ้าง คำจารึกในเส้นสลากนั้นมักจะเขียนดังนี้ “สลากข้าวของนี้ หมายมีผู้ข้านายแก้ว นางดี ขอทานไว้กับตนตัวภายหน้า” คือ หมายถึงว่า ถวายทานไว้อุทิศส่วนกุศลไว้สำหรับตัวเองเมื่อล่วงลับไปแล้ว จะได้ไปรับเอาของไทยทานนั้นในปรโลก ซึ่งเป็นความเชื่อของพุทธศาสนิกชนทั่วไปว่า เมื่อทำบุญถวายทานไว้ในพระศาสนาแล้ว เมื่อล่วงลับดับขันธ์ไปแล้ว ก็จะได้ไปเสวยอานิสงส์ผลบุญนั้นในโลกหน้า และจะมีการอุทิศส่วนกุศลนั้นให้ญาติพี่น้อง ผู้ล่วงลับไปแล้ว เช่น ผู้ข้าหนานเสนา นางบุบ้านใต้วัด ขอทานไว้ถึงนางจันตา ผู้เป็นแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว ขอหื้อไปรอดไปถึงจิ่มเต่อฯ ” ดังนี้เป็นต้น
ภาพที่ 4 แสดงการทำเส้นสลาก
“เส้นสลาก ” ที่กล่าวนี้จะต้องเขียนไว้ให้ครบจำนวนก๋วยสลาก เมื่อชาวบ้านนำเอาก๋วยสลากไปที่วัดแล้ว ก็จะเอาสลากไปรวมกันไว้ที่หน้าพระประธานในวิหาร ซึ่งผู้รวบรวมสลากมักจะเป็นมัคนายก หรือที่เรียกกันว่า “อาจารย์” รวบรวมได้เท่าไร ก็จะเอาจำนวนพระภิกษุสามเณรที่นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ นั้น หารจำนวนสลาก และหักเหลือไว้ส่วนหนึ่งเป็นส่วนของ “พระเจ้า” ( คำว่า พระเจ้า เมืองเหนือหมายถึง พระพุทธรูปเช่น พระเจ้าเก้าตื้อ พระเจ้าทองทิพย์ ฯลฯ ) และในที่นี้ก็หมายถึงเป็นส่วนพิเศษของวัดที่ทำพิธีทานก๋วยสลากนั่นเอง สลากของ “พระเจ้า” นี้ เมื่อเสร็จจากการทำบุญแล้ว ก็จะแบ่งปันให้พระภิกษุสามเณร และเด็กวัด (ทางเมืองเหนือเรียกว่า ขะโยมวัด ) โดยทั่วถึงกัน และ “อาจารย์” หรือ มัคนายก ก็จะได้ส่วนหนึ่ง แต่เงินยอดก๋วยสลากนั้น ส่วนของ “พระเจ้า” จะต้องเป็นเงินกองกลางของวัดสำหรับใช้จ่ายในกิจของวัดต่อไป ขอเล่าถึงการแบ่ง “เส้นสลาก” ในแบบฉบับของ “ชาวบ่ะเก่า” (คนโบราณ) ให้เป็นที่เข้าใจของท่านผู้อ่านสักเล็กน้อย ในสมัยที่พวกชาวบ้านยังไม่รู้หนังสือไม่รู้จักคิดเลขอยู่นั้น การแบ่ง “ก๋วยสลาก” จะต้องตก “เส้นสลาก” เป็นกอง ๆ รวม 3 กอง กองหนึ่ง คือของ “พระเจ้า” ( คือของวัด ) ส่วนอีก 2 กองนั้น เฉลี่ยออกไปตามจำนวน พระภิกษุสามเณร ที่นิมนต์มาร่วมในงานทำบุญหากมีเศษเหลือก็มักจะปัดเป็นของพระเจ้าเสีย “เส้นสลาก” ที่แบ่งปันให้พระภิกษุสงฆ์สามเณร ที่นิมนต์มาจากวัดต่าง ๆ นั้น เมื่อพระภิกษุสามเณรได้รับส่วนแบ่งแล้ว ก็จะไปยึดเอาชัยภูมิแห่งหนึ่งในวัดและจัดการออกสลาก คือ อ่านชื่อในเส้นสลากดัง ๆ หรือให้ลูกศิษย์ (ขะโยม) ที่ไปด้วยนั้นตะโกนตามข้อความที่เขียนไว้ในเส้นสลากหรือเปลี่ยนคำสั้น ๆ เช่น ศรัทธาหนานใจยวงค์บ้านเหนือวัดมีไหนเหอ เมื่อผู้เป็นเจ้าของได้ยิน หรือมีเพื่อนบ้านใกล้เคียงยินก็จะไปบอกให้เจ้าของ “ก๋วยสลาก” ซึ่งบางรายก็จะหิ้ว “ก๋วย” ไปตามหาเส้นสลากตามลานวัด การเที่ยวหาเส้นสลากนี้ เป็นที่น่าสนุกสนานมาก พวกหนุ่ม ๆ สาว ๆ เฒ่าชะแรแก่ชรา ไม่ว่าเด็กน้อยหรือหนุ่มใหญ่ ก็จะหิ้ว “ก๋วยสลาก” ออกตามเส้นกันขวักไขว่ ทุกคนจะมีใบหน้าแช่มชื่นผ่องใส เพราะนานปีถึงจะมีการ “กิ๋นก๋วย” สักครั้ง บางวัด 3 ปี จะมีการทานสลากนี้สักครั้งหนึ่ง พวกหนุ่ม ๆ ก็จะถือโอกาสช่วยสาว ๆ หาเส้นสลากเป็นการผูกไมตรีไปด้วย เมื่อพบเส้นสลากของตนแล้ว ก็จะเอา “ก๋วยสลาก” ไปถวายพระ พระก็จะช่วยอ่านข้อความในเส้นสลากให้ฟังอีกครั้งหนึ่ง แล้วรับเอา “ก๋วยสลาก” และกล่าวอนุโมทนาให้พร แล้วก็คืนสลากนั้นให้เจ้าของสลากไปเจ้าของสลากก็นำเอาเส้นสลากนั้นไปรวมไว้ในวิหาร เมื่อเสร็จแล้ว “แก่วัด” หรือมัคนายก ก็จะเอาเส้นสลากนั้นไปเผาไฟหรือทิ้งเสีย
ภาพที่ 5 แสดงถวายก๋วยสลาก
“ตานก๋วยสลาก” “กินก๋วยสลาก” คือการทำบุญทานสลาก เป็นประเพณีสาคัญของภาคเหนือที่หมู่ญาติพี่น้องจะร่วมกันทาบุญอุทิศส่วนกุศลส่งถึงญาติผู้ล่วงลับ งานบุญตานก๋วยสลากจะเริ่มในวันเพ็ญเดือนสิบสอง (เหนือ) ประมาณเดือนกันยายนจนไปสิ้นสุดในเดือนเกี๋ยงดับ (เหนือ) ประมาณตุลาคม
ภาพที่ 6 แสดงการถวายตานก๋วยน้อย
ก่อนวันพิธีตานก๋วยสลาก 1 วัน เป็นวันดา ชาวบ้านจะช่วยกันจัดแต่งครัวทาน ผู้ชายจะร่วมกันจักตอกสานก๋วยซึ่งคือตะกร้า ในแต่ละครัวเรือนจะสานหลายใบเพื่อถวายทานให้ทั่วถ้วนวงศาคณาญาติ ฝ่ายผู้หญิงจะจัดเตรียมห่อข้าวของต่าง ๆ อาหารสุก ข้าวสาร อาหารแห้ง ของใช้ประจาวัน เครื่องใช้ไม้สอยตามแต่ศรัทธาและฐานะ บรรจุลงในก๋วยซึ่งกรุด้วยใบตองหรือกระดาษสี จากนั้นจะเอาเงินผูกไม้เสียบไว้ที่กรวยดอกไม้ เรียกว่า “ยอด” ปักประดับไว้กับก๋วยมากน้อยตามกาลังศรัทธา พอรุ่งขึ้นตอนเช้าวันตานก๋วยสลากก็จะพากันนำก๋วยสลากไปวางเรียงกันไว้ที่ลานวัดหรือศาลาทำบุญ เจ้าของก๋วยจะนากระดาษมาตัดเป็นเส้นสลากแล้วเขียนชื่อตนและคาอุทิศส่วนกุศลพร้อมทั้งชื่อผู้ที่จะอุทิศให้ และแม้กระทั่งตัวเองเมื่อยามล่วงลับลงไปแล้ว เส้นสลากต้องเขียนให้ครบจานวนก๋วยรวมกันไว้ที่หน้าองค์พระประธานมัคทายกจะรวบรวมนาไปคำนวณตามจำนวนพระเณรที่มี และหักส่วนหนึ่งไว้เป็นกองกลางของวัด เส้นสลากที่แจกจ่ายให้กับพระเณรนั้น พระเณรจะทยอยอ่านชื่อและศรัทธาอุทิศที่เขียนไว้ในเส้นสลากแต่ละเส้นให้ดังได้ยินทั่วกัน สำหรับผู้มีฐานะการเงินดีก็จะจัดทาสลากพิเศษเรียกว่า “สลากโชค” สมัยก่อนจะทำเป็นเรือนหลังเล็ก ๆ ใส่ข้าวของเครื่องใช้ หม้อ ถ้วยโถโอชาม เสื่อ หมอน ที่นอน มุ้งและอาหาร ที่รอบๆเรือนผูกไว้ด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ประดับยอดเงินมากเป็นพิเศษ บ้างก็จะเอาเครื่องประดับมีค่า สร้อยคอ เข็มขัด ใส่ลงไปด้วย แต่เมื่อถึงเวลาไม่ได้ถวายทานเครื่องประดับมีค่าไปพร้อมข้าวของอื่นในสลาก แต่ใส่ลงไปเป็นเคล็ดว่าชาติหน้าจะได้รับแต่สิ่งของเหล่านี้ เมื่อถึงยกสลากโชคไปวัดก็จะตีกลองเคาะฆ้องเป็นขบวนแห่ไปรวมจับสลากพร้อมสลากเส้นอื่น ๆ มิได้เจาะจงว่าจะถวายกับพระรูปใดเฉพาะ นอกจากนี้ยังมี “สลากย้อม” ซึ่งเป็นทานสลากจากหญิงสาวโสดที่จะเก็บหอมรอมริบไว้ตั้งแต่เริ่มเข้าวัยสาวรุ่น พอเป็นสาวเต็มตัวก็ได้เงินมากพอจะทำ สลากย้อมเป็นกิ่งไม้สูง มีร่มกางที่ปลายยอด ลาต้นมัดฟางไว้เพื่อปักไม้ ตกแต่งปัจจัยไทยทายต่าง ๆ ในอดีตนิยมกันว่า หญิงใดยังไม่ได้ทานสลากย้อมก็จะยังไม่แต่งงาน ออกเหย้าเรือน “สลากมหาชมพู” หรือบ้างก็เรียก “สลากพญาชมพู” หรือ “สลากพระอินทร์” เป็นการทานสลากในอดีต ซึ่งบัดนี้ไม่พบอีกแล้วในประเทศไทย แต่ยังพบในหมู่ชาวไตที่เชียงตุง พม่า เป็นการร่วมกันทำก๋วยสลากของหญิงสาวในหมู่บ้านหรือญาติพี่น้องสองสามหลังคาเรือน โดยจะจัดทำประดับประดาสวยงาม จัดขบวนแห่เหมือนขบวนแห่ครัวทาน คือ นำถ้วยพานดอกไม้ ธูปเทียน ขบวนฟ้อน ขบวนฆ้องกลองเป็นที่เอิกเกริกสาราญตลอดเส้นทาง แล้วจึงนาไปไว้หน้าองค์พระประธานในวิหารถวายทานแด่พระผู้จับสลากมหาชมพูนี้ได้ ผู้ถวายจะอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ เจ้ากรรมนายเวร พญาอินทร์ พญาพรหม เทวดานานา ความแตกต่างของจังหวัดกำแพงเพชร กับ จังหวัดตาก ประเพณีสลากภัต ตานข้าวสลากหรือตานก๋วยสลาก ของชาวตำบลเกาะตาล จังหวัดกำแพงเพชร การจัดงานประเพณีตานก๋วยฉลากของชาวจังหวัดกำแพงเพชรนั้นมีวัตถุประสงค์หลัก ๆ ประกอบไปด้วย 1. ประชาชนว่างเว้นจากภารกิจการทำนา 2. ผลไม้ เช่น ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ส้มเกลี้ยง กำลังสุก 3. ประชาชนหยุดพักไม่เดินทางเพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน 4. พระสงฆ์จำพรรษาอย่างพรักพร้อม 5. ได้โอกาสสงเคราะห์คนยากจน 6. ถือว่ามีอานิสงส์มาก คนทำบุญสลากมักจะมีโชคลอยมา 7. มีโอกาสหาเงินและวัตถุบำรุงวัด ระยะเวลาทำบุญทานสลากภัตหรือกิ๋นสลาก ทำกันตั้งแต่เดือน 12 เหนือเป็นเรื่อยมาจนถึงเดือนยี่เหนือ คือ ช่วงเดือน 11 - 12 ของภาคกลาง ชาวบ้านจะนำพืชผลมาถวายใส่ไว้ในก๋วยสลาก สลากภัตของชาวนาน้อย แต่ปัจจุบันนิยมใส่จานธรรมดา ซึ่งของชาวตำบล เกาะตาล จะทำกันมากก็หน้าผลไม้ เช่น หน้ามะม่วง ประมาณเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม ของทุกปี
ภาพที่ 7 แสดงนำพืชผลมาถวายใส่ไว้ในจานธรรมดา
ภาพที่ 8 แสดงนำมะม่วงสุกใส่จาน
ภาพที่ 9 แสดงนำอาหารถวายพระ
ประเพณีตานก๋วยสลาก ในเขตอำเภอซีกตะวันตกของจังหวัดตาก 5 อำเภอ คือ อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง และอำเภอบ้านตาก อำเภอเมืองตาก บางส่วนกำหนดภายในเดือนสิบ วัตถุประสงค์ 1. รักษาเป็นประเพณี เพื่อทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้วายชนม์ 2. เพื่อให้พระภิกษุสามเณร ได้มีปัจจัยของใช้พอควรในสมณเพศ 3. จัดหากองทุนและสิ่งของใช้ประจำวัด 4. เสริมสร้างความสามัคคีพร้อมเพรียงในหมู่คณะตานก๋วยสลากเป็นประเพณีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ตาย โดยการจัดของทยทานบรรจุในชะลอม (ก๋วย) ใบเล็กๆ ใบเล็กๆ ของไทยทานที่ใส่ในชะลอมจะเป็นพวกอาหาร ขนม ผลไม้หรือของใช้อื่นๆ แล้วรวบรวมนำไปถวายพระที่วัด ไม่เฉพาะเจาะจงพระผู้รับ แต่จะถวายโดยการจับฉลาก วิธีการทำและการตกแต่งก๋วยสลากของจังหวัดตาก ชะลอมสำหรับใส่ของที่จะถวายพระสงฆ์ (ก๋วยสลาก) มีลักษณะคล้ายชะลอมใส่ผลไม้ มีลำดับขั้นตอนในการทำและตกแต่งดังนี้ 1. เอาไม้ไผ่มาสานเป็นชะลอม คล้าย ๆ ชะลอมใส่ผลไม้ 2. นำใบตองมารองในก๋วย 3. นำเครื่องไทยทานใสก๋วย ดังนี้ข้าวสารอาหารแห้ง ประกอบด้วย – ข้าวสาร- กระเทียม- หอมแดง- เกลือ- ปลาร้า- ปลาแห้ง- ปลากระป๋อง- พริกแห้ง- น้ำปลาขนาดเล็ก หมาก พลู กล้วย อ้อย ปูนแดง ปูนขาว ของคาวหวาน บุหรี่ (ยาขึ่น) ไม้ขีด ดอกไม้ ธูปเทียน (สวยเตียน) เมื่อนำสิ่งของทั้งหมดใส่ในก๋วยแล้ว มัดปากก๋วยด้วยตอก แล้วนำเอาดอกไม้ธูปเทียน (สวยเตียน) เสียบไว้ข้างบน ก๋วยสลากของแท้และดั้งเดิม การทำและแต่งต้นกัลปพฤกษ์ 1. นำไม้ไผ่สูงตามต้องการทำเป็นเสาสลากของต้นกัลปพฤกษ์ 2. นำไม้ไผ่เหลาเป็นวงกลมทำเป็นชั้นๆ อาจเป็น 3 ชั้น, 5 ชั้น, 7 ชั้น หรือ 9 ชั้น แต่ส่วนมากนิยมทำเป็น 9 ชั้น 3. นำกระดาษย่นสีต่าง ๆ มาพันรอบเสาและชั้นของต้นกัลปพฤกษ์ 4. แต่ละชั้นก็นำเครื่องไทยทานมาผูกติดให้สวยงาม ปัจจุบันจะนิยมใส่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป วุ้นเส้น ถ้วย จาน ขันน้ำ ขนม แปรงฟัน ยาสีฟัน กระดาษชำระ ผงซักฟอก สบู่ แก้วน้ำ แชมพูสระผม 5. ผ้าเช็ดหน้า ผ้าขนหนู 6. ส่วนชั้นที่ 9 นำสบงมาติด 7. ส่วนชั้นที่ 1 นำเงินที่เป็นเหรียญมาห่อด้วยกระดาษเงิน กระดาษทอง แล้วนำมาห้อยไว้ 8. แล้วนำร่มคันเล็กมาติดปลายยอดสุด แล้วยังมีการผูกธนบัตรไว้ที่ขอบร่มตามศรัทธา
ภาพที่ 10 แสดงชะลอมที่ใส่สิ่งของ
การทำเส้นสลาก เส้นสลากทำจากใบตาลหรือใบลาน แล้วเขียนข้อความอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ ล่วงลับและเทวดาทั้งหลาย และเส้นสลากจะมีการทำเครื่องหมายที่แตกต่างกันออกไป ในสลากอาจจะเขียนว่า “สลากข้าวซองนี้ หมายมีผู้ข้า นาย……. นางสาว………. ขอทานไว้กับตนตัวภายหน้า” อันหมายถึง ขอทำบุญไว้กับตนเอง “ผู้ข้า…………..ขอทานไว้แก่ นาง….. ขอหื้อเป็นสุขเป็นสุขเถิด” อันหมายถึงมอบการบุญนี้เป็นอานิสงส์แด่ผู้อื่น อย่างนี้เป็นต้น พิธีกรรมในประเพณีตานก๋วยสลาก เมื่อถึงวันที่กำหนดชาวบ้านเจ้าของกัณฑ์สลาก จะจัดขบวนแห่เครื่องไทยทานเข้าวัดโดยขบวนแห่จะประกอบด้วยต้นสลาก ขบวนรถก๋วยสลาก แต่ละขบวนแห่จะมีการฟ้อนรำของศรัทธาชาวบ้านซึ่งจะมากันเป็นหมู่บ้าน เรียกว่า ศรัทธาของหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านที่จัดประเพณีนี้ขึ้น และศรัทธาหมู่บ้านอื่นที่มาร่วมงานกัณฑ์สลากแต่ละกัณฑ์จะมีเส้นสลาก เขียนข้อความอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลไปให้ผู้ที่ล่วงลับและเทวดาทั้งหลายและมีชื่อเจ้าของกัณฑ์ เส้นสลากที่เขียนจะเขียนลงในแผ่นใบตาล หรือใบลาน หรือกระดาษแข็ง เท่าจำนวนของเครื่องไทยทาน และนำเส้นสลากไปกองรวมกันยังที่กำหนดไว้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิหารหน้าพระประธาน กรรมการจะจัดแบ่งสลากออกเป็นกอง ๆ ตามจำนวนที่ พระภิกษุ สามเณร ที่นิมนต์มาร่วมพิธีและจัดแบ่งให้พระประธานด้วย ถือว่าเป็นตัวแทนของ พระพุทธเจ้าถ้ามีสลากจำนวนมาก พระภิกษุจะได้รับ 20 เส้น สามเณรได้ 10 เส้น เส้นที่เหลือสมทบถวายพระประธาน เมื่อเสร็จจากการแบ่งเส้นสลาก คณะกรรมการจะนำเส้นสลากที่แบ่งแล้วจำนวน 1 มัด ไปประเคนพระผู้อาวุโส ซึ่งเป็นประธานในพิธี ต่อจากนั้นกรรมการจึงนำเส้นสลากไปถวายพระเณรตามลำดับเมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาจบแล้ว ชาวบ้านต่างแยกย้ายกันไปนั่ง ณ ที่จัดไว้ให้ชาวบ้านเจ้าของกัณฑ์สลากต่างพากันตามหาเส้นสลากของตนที่อยู่ในมือของพระภิกษุสามเณร เมื่อพบแล้ว พระภิกษุสามเณรอ่านเส้นสลากแล้วจึงถวายของ เมื่อรับพรเสร็จรับเส้นสลากของตนไปเผา แล้วกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปหาผู้ที่ตายเป็นเสร็จพิธี สำหรับเครื่องไทยทานที่จัดทำเป็นต้นกัลปพฤกษ์ เจ้าของต้องนิมนต์พระภิกษุหรือสามเณรที่ได้เส้นสลากไปยังที่ตั้งของเครื่องไทยทานเพื่อถวายบางครั้งกัณฑ์สลากจัดทำเป็นหุ่นรูปสัตว์ต่าง ๆ เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ขนาดใกล้เคียงของจริงทำด้วยหุ่นโครงไม้ไผ่หุ้มด้วยผ้า ทาสีสันให้เหมือนสัตว์จริง การถวายมีลักษณะเช่นเดียวกับกัณฑ์สลากอื่น ๆ
ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]
วันที่ลงสำรวจ[แก้ไข]
วันจันทร์ ที่ 14 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2562 ณ หมู่บ้านน้ำโท้ง ตำบลท่าขุนราม อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]
วันพฤหัสบดี ที่ 17 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2562
ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]
1. นางสาววีรวรรณ แจ้งโม้ 2. นางสาวบุญพิทักษ์ ทรัพย์เสถียร 3. นางสาวอารียา เขียวสนั่น 4. นางสาวกาญจนา เพ็ชรคง 5. นายธนวัฒน์ จิตวงศ์ 6. นางสาวอภัสรา แสงไชยา
คำสำคัญ (Tag)[แก้ไข]
ก๋วยสลาก, ตานก๋วยสลาก, สลากภัต, กำแพงเพชร, ท่าขุนราม
ประวัติผู้ให้สัมภาษณ์[แก้ไข]
นางสาวอารีย์ มั่นคง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านน้ำโท้ง. บ้านเลขที่ 62 หมู่ 8 ต.ท่าขุนราม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โทรศัพท์. 097-9245472 นายพรมพร โกทาเมือง ผู้ใหญ่บ้านน้ำโท้ง บ้านเลขที่ 97 หมู่ 8 ต.ท่าขุนราม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โทรศัพท์. 093-2912954 นายประจวบ ชุมภู นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าขุนราม เลขที่ 999 หมู่ 6 ต.ท่าขุนราม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โทรศัพท์. 055-746500