ฐานข้อมูล เรื่อง ตำนานท้าวแสนปม

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

ชื่อวรรณกรรม[แก้ไข]

         ท้าวแสนปม

ผู้แต่ง[แก้ไข]

         ท้าวแสนปมนี้เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 พระองค์ทรงวิจารณ์เรื่องท้าวแสนปมไว้ในหนังสือบทละครที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ว่า ตำนานเรื่องท้าวแสนปมนี้จะต้องมีมูลความจริง เพราะอย่างน้อยศักราชที่ทรงทิวงคตเป็นของจริงแน่นอน แต่มีผู้เล่าต่อๆกันมาภายหลัง เล่าไปในทางปาฏิหาริย์จนเหลือเชื่อ                  
         ได้จับแต่งขึ้นในระหว่างเมื่อเดินทางกลับจากเจดีย์พระนเรศวร แขวงเมืองสุพรรณบุรีไปบ้านโป่ง แขวงเมืองราชบุรี วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม ต้นร่างแล้วเสร็จ ในวันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์และได้เกลากล่อมสืบมาอีกแล้วเสร็จบริบูรณ์ เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2456 และได้มีการจัดพิมพ์เผยแพร่ในปีเดียวกัน

สถานที่ค้นพบวรรณกรรม[แก้ไข]

         หอสมุดแห่งชาติ กาญจณาภิเษก สงขลา จากหนังสือเรื่อง ประวัติสำนักงานพระคลังข้างทีและบทละครเรื่องท้าวแสนปม

ลักษณะคำประพันธ์[แก้ไข]

         เป็นลักษณะของวรรณกรรมประเภท คำกลอนบทละคร กลอนบทละคร ตามความหมายของพจนานุกรมไทย หมายถึง กลอนที่แต่งสำหรับการขับร้อง ไม่บังคับคำตายตัวในวรรค อาจมีวรรคละ 6-8 คำ (พยางค์)
         ลักษณะของกลอนบทละคร มีดังนี้
         1. กลอนบทละครใช้คำในวรรคหนึ่งได้ตั้งแต่ 6-8 คำ แต่ที่นิยมกันมักเป็น 6 หรือ 7 คำ เพราะเข้าจังหวะและทำนองร้องได้ดีกว่า
         2. สัมผัสให้ถือหลักเกณฑ์ของกลอนสุภาพเป็นหลัก
         3. เสียงวรรณยุกต์ที่นิยมท้ายวรรคของกลอนสุภาพดังได้กล่าวมาแล้วนั้นไม่เคร่งครัดตามระเบียบนัก เพราะต้องอาศัยทำนองร้องและปี่พาทย์เป็นสำคัญ
         4. วรรคแรกหรือวรรคสดับของกลอนบทละคร นิยมใช้คำนำ หรือคำขึ้นต้นเพื่อขึ้นความใหม่หรือเปลี่ยนทำนองร้องใหม่ คำนำนี้บางทีใช้ 2 พยางค์ หรือ 3 พยางค์ หรือ 4 พยางค์ แต่ต้องนับเป็นหนึ่งวรรคเต็ม เช่น “เมื่อนั้น” “บัดนั้น” หรือ “มาจะกล่าวบทไป” เป็นต้น
         5. ความยาวของกลอนบทละครแต่ละตอนไม่จำกัดขึ้นอยู่กับเนื้อความ มีตั้งแต่ 2 บาท หรือ 2 คำกลอน หรือ 2 คำ เป็นต้นไป เมื่อจบแต่ละตอน ผู้แต่งก็จะบอกจำนวนบาทไว้ข้างท้าย และกำกับด้วยทำนองเพลงหน้าพาทย์ ส่วนทำนองเพลงร้องจะกำกับไว้ตอนต้น ตัวอย่าง เช่น
ช้า
๏ เมื่อนั้น องค์พระชินเสนผู้รุ่งฟ้า
เป็นโอรสยศยงทรงศักดา แห่งจอมอาณาศรีวิไชย
ทรงฤทธิ์กำแหงแรงรณ ประชาชนนิยมหาน้อยไม่
แต่ยุพราชนั้นไซร้ ยังมิได้มีคู่อยู่ครอง
ฯ 4 คำ ฯ

ฉันทลักษณ์[แก้ไข]

         - กลอนแปด
กลอนสุภาพ.jpg
         กลอนสุภาพ เป็นกลอนประเภทหนึ่ง ซึ่งลักษณะคำประพันธ์ของภาษาไทย ที่เรียบเรียงเข้าเป็นคณะ ใช้ถ้อยคำและทำนองเรียบๆ ซึ่งนับได้ว่ากลอนสุภาพเป็นกลอนหลักของกลอนทั้งหมด เพราะเป็นพื้นฐานของกลอนหลายชนิด หากเข้าใจกลอนสุภาพ ก็สามารถเข้าใจกลอนอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น คำประพันธ์ ที่ต่อท้ายว่า "สุภาพ" นับว่าเป็นคำประพันธ์ที่แสดงลักษณะเป็นไทยแท้ ด้วยมีข้อบังคับในเรื่อง "รูปวรรณยุกต์" ในกลอนสุภาพนอกจากมีบังคับเสียงสระเป็นแบบแผนเช่นกลอนปกติแล้ว ยังบังคับรูปวรรณยุกต์เพิ่ม จึงมีข้อจำกัดทั้งรูปและเสียงวรรณยุกต์ เป็นการแสดงไหวพริบปฏิภาณและความแตกฉานในการใช้ภาษาไทยของผู้แต่งให้เด่นชัดยิ่งขึ้นคำประพันธ์กลอนสุภาพนิยมเล่นกันมากตั้งแต่สมัยอยุธยา จวบจนถึงปัจจุบัน ในต้นรัตนโกสินทร์นั้นงานกลอนสุภาพเด่นชัดในรัชกาลที่ 2 ซึ่งเฟื่องฟูถึงขนาดมีการแข่งขันต่อกลอนสด กลอนกระทู้ 
         ตลอดรัชสมัยมีผลงานออกมามากมาย เช่น กลอนโขน กลอนนิทาน กลอนละคร กลอนตำราวัดโพธิ์ เป็นต้น บทพระราชนิพนธ์เรื่อง เงาะป่า ก็เกิดขึ้นในยุคนี้ ยังมีกวีท่านอื่นที่มีชื่อเสียง เช่น สุนทรภู่ เป็นต้น และในสมัยรัชกาลที่ 6 ก็มีปราชญ์กวีทางกลอนสุภาพที่สำคัญหลายท่านเช่นกัน 
         กลอนสุภาพ คือ กลอนที่ใช้ถ้อยคำ และทำนองเรียบ ๆ แบ่งออกเป็น 4 ชนิด คือ 
         1. กลอน 6 เป็นกลอนที่ใช้ในหนึ่งบทมี 2 คำกลอน หนึ่งคำกลอนมี 2 วรรค ทุกวรรคมี 6 คำ (การเรียกชื่อกลอน 6 จึงมาจากจำนวนคำในวรรค) ในหนึ่งบทมี 4 วรรค คือ วรรคสดับ วรรครับ วรรครอง วรรคส่ง
         2. กลอน 7 เป็นกลอนที่ใช้ในหนึ่งบทมี 2 คำกลอน หนึ่งคำกลอนมี 2 วรรค ทุกวรรคมี 7 คำ เรียกชื่อกลอน 7 ตามจำนวนคำ ในแต่ละวรรค ลักษณะสัมผัสก็จะคล้ายกับกลอน 6
         3. กลอน 8 เป็นกลอนที่ใช้ในหนึ่งบทมี 2 คำกลอน หนึ่งคำกลอนมี 2 วรรค ทุกวรรคมี 8 คำ ลักษณะสัมผัสเหมือนกลอน 6 และ 7
         4. กลอน 9 เป็นกลอนที่ใช้ในหนึ่งบทมี 2 คำกลอน หนึ่งคำกลอนมี 2 วรรค ทุกวรรคมี 9 คำ ลักษณะสัมผัสเหมือนกลอน 6, 7 และ 8
ตัวอย่างกลอนสุภาพ
         กลอนสุภาพพึงจำมีกำหนด       กลอนหนึ่งบทสี่วรรคกรองอักษร 
วรรคละแปดพยางค์นับศัพท์สุนทร       อาจยิ่งหย่อนเจ็ดหรือเก้าเข้าหลักการ    
         ห้าแห่งคำคล้องจองต้องสัมผัส  สลับจัดรับรองส่งประสงค์สมาน 
เสียงสูงต่ำต้องเรียงเยี่ยงโบราณ          เป็นกลอนกานท์ครบครันฉันท์นี้เอย 
กฎสัมผัส
         พยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 1 สัมผัสกับพยางค์ที่ 3 หรือ 5 ในวรรคที่ 2พยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 2 สัมผัสกับพยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 3 และสัมผัสกับพยางค์ที่ 3 หรือ 5 ในวรรคที่ 4  สัมผัสระหว่างบทพยางค์สุดท้ายของบทต้น สัมผัสกับพยางค์สุดท้ายของวรรคที่ 2 ของบทถัดไป
         สัมผัสในกลอนสุภาพจะมีความไพเราะยิ่งขึ้นไป นอกเหนือจากการสัมผัสตามสัมผัสบังคับแล้วยังต้องมีสัมผัสในที่เป็น สัมผัสสระและสัมผัสอักษร อีกด้วยจึงจะเป็นบทกลอนที่ไพเราะ เสียงวรรณยุกต์ คือ การบังคับเสียงท้ายวรรคของบทร้อยกรองโดยเฉพาะบทร้อยกรองประเภทกลอน อันที่จริงไม่ถึงกับเป็นการบังคับที่เคร่งครัดแต่ก็เป็นความนิยมโดยทั่วไปทางการแต่งบทร้อยกรอง
         เสียงท้ายวรรคของกลอน
             วรรคสดับ นิยมใช้เสียงวรรณยุกต์ทุกเสียง
             วรรครับ นิยมใช้เสียงวรรณยุกต์เอก โท และจัตวา
             วรรครอง นิยมใช้เสียงวรรณยุกต์สามัญ และ ตรี
             วรรคส่ง นิยมใช้เสียงวรรณยุกต์สามัญ และตรี
         - โครงสี่สุภาพ
โครงสี่สุภาพ.jpg
         ข้อบังคับของโคลงสี่สุภาพ (สังเกตจากแผนผัง)
             1. บทหนึ่งมี 4 บรรทัด
             2. วรรคหน้าของทุกบรรทัด มี 5 พยางค์ วรรคหลังของบรรทัดที่ 1-3 มี 2 พยางค์ บรรทัดที่ 4 มี 4 พยางค์ สามารถท่องจำนวนพยางค์ได้ดังนี้
                  ห้า - สอง (สร้อย 2 พยางค์ มักลงท้ายด้วย นา แฮ เฮย เพื่อรับคำ ต่อคำ เชื่อมคำ)
                  ห้า - สอง
                  ห้า - สอง (สร้อย 2 พยางค์ มักลงท้ายด้วย นา แฮ เฮย เพื่อรับคำ ต่อคำ เชื่อมคำ)
                  ห้า – สี่ (หากจะให้เกิดความไพเราะในการอ่านนิยมลงเสียงจัตวา)
             3. มีตำแหน่งสัมผัสตามเส้นโยง
             4. บังคับรูปวรรณยุกต์ เอก 7 โท 4 ตามตำแหน่งในแผนผัง
                 คำเอกคำโท หมายถึง พยางค์ที่บังคับด้วยรูปวรรณยุกต์เอก และรูปวรรณยุกต์โท กำกับอยู่ในคำนั้น โดยมีลักษณะบังคับไว้ดังนี้
                 คำเอก ได้แก่ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์เอกบังคับ เช่น ล่า เก่า ก่อน น่า ว่าย ไม่ ฯลฯ
                 และให้รวมถึงคำตายทั้งหมดไม่ว่าจะมีเสียงวรรณยุกต์ใดก็ตาม เช่น ปะ พบ รึ ขัด ชิด (ในโคลงและร่ายใช้ คำตาย แทนคำเอกได้)
                 คำตาย คือ
                     1. คำที่ประสมสระเสียงสั้นแม่ ก กา (ไม่มีตัวสะกด) เช่นกะ ทิ สิ นะ ขรุ ขระ เละ เปรี๊ยะ เลอะ โป๊ะ ฯลฯ
                     2. คำที่สะกดด้วยแม่ กก กบ กด เช่น เลข วัด สารท โจทย์ วิทย์ ศิษย์ มาก โชค ลาภ ฯลฯ
                 คำโท ได้แก่ พยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์โทบังคับ ไม่ว่าจะเป็นเสียงวรรณยุกต์ใดก็ตาม เช่น ข้า ล้ม เศร้า ค้าน
                 คำเอก คำโท ใช้ในการแต่งคำประพันธ์ประเภท “โคลง” และ “ร่าย”และถือว่าเป็นข้อบังคับของ   ฉันทลักษณ์ที่สำคัญมาก ถึงกับยอมให้เอาคำที่ไม่เคยใช้รูปเอก รูปโท แปลงมาใช้เอก และ โท ได้ เช่น เล่น นำมาเขียนใช้เป็น เหล้น ได้ เรียกว่า “โทโทษ” ห้าม ข้อน นำมาเขียนเป็น ฮ่าม ค่อน เรียกว่า “เอกโทษ” เอกโทษและโทโทษ นำมาใช้แก้ปัญหาได้ แต่ในปัจจุบันไม่นิยมใช้เอกโทษและโทโทษ
             5. กรณีที่ไม่สามารถหาพยางค์ที่มีรูปวรรณยุกต์ตามต้องการได้ให้ใช้ เอกโทษ และ โทโทษ หากแต่งโคลงสี่สุภาพ ตามกระทู้หรือตามหัวข้อเรื่อง จะเรียกโคลงนั้นว่า โคลงกระทู้ โดยผู้แต่งจะเขียนกระทู้แยกออกมาด้านข้าง หากแยกออกมา 1 พยางค์ เรียกว่า กระทู้ 1 คำหากแยกออกมา 2 พยางค์ เรียกว่า กระทู้ 2 คำ

ประวัติวรรมกรรม[แก้ไข]

ตำนานที่ 1[แก้ไข]

         เมื่อราวจุลศักราช 550 พ.ศ.1731 มีพระเจ้าแผ่นดินไทยองค์หนึ่ง เป็นเชื่อวงศ์ของพระเจ้าพรหมมหาราช ทรงพระนามว่าท้าวไชยศิริ (ซึ่งเป็นชื่อมีใช้อยู่ดื่นๆ ข้างมัธยมประเทศ) ทรงครองเมืองฝางอยู่ ได้ถูกข้าศึกจากรามัญประเทศยกมาตีเมือง ท้าวไชยศิริสู้ไม่ได้จึงหนีลงมาข้างใต้ พบพวกไทยที่อพยพลงมาแต่ก่อนแล้วและตั้งอยู่ตำบลแพรก พวกไทยเหล่านั้นหาเจ้านายเป็นขุนครองมิได้ ทั้งตั้งอยู่ในภูมิที่กลางระหว่างราชอาณาเขตสุโขทัยกับอู่ทอง จึงเป็นการห่างไกลราชธานีทั้งสองแห่ง รู้สึกว้าเหว่จึงอัญเชิญพระเจ้าไชยศิริขึ้นเป็นขุนเหนือตน ท้าวไชยศิริจึงสร้างราชธานีขึ้นใหม่ เรียกนามว่านครไตรตรึงษ์ พระเจ้าไชยศิริครองนครไตรตรึงษ์อยู่จนทรงทิวงคต แล้วเชื้อพระวงศ์ได้ครองราชย์สมบัติสืบมาอีก 4 ชั่ว
         ท้าวไตรตรึงษ์ชั่วที่ 4 มีราชธิดาองค์หนึ่ง ชื่อว่านางอุษามีรูปงดงามมาก กิตติศัพท์เล่าลือระบือไปในเมืองต่าง ๆ ทราบถึงเจ้านครศรีวิไชย จึงใช้ทูตไปทาบทามเพื่อขอนางนั้นเป็นมเหสีแห่งพระชินเสนราชโอรสผู้เป็นยุพราช แต่ท้าวไตรตรึงษ์ไม่มีราชโอรสก็ปรารถนาจะให้เขยมาเป็นกษัตริย์ครองเมืองสืบไป จึงตอบว่า ถ้าท้าวศรีวิไชยยอมเป็นเมืองขึ้นจึงจะยกพระธิดาให้ ท้าวศรีวิไชยก็ไม่ยอมจึงงดกันไป
         ครั้นเมื่อราว ปีฉลู จุลศักราช 675 พ.ศ.1853 พระชินเสนมีความปรารถนาจะเห็นตัวนางธิดาไตรตรึงษ์ จึงลาพระราชบิดาไปยังเมืองไตรตรึงษ์ ครั้นว่าจะตรงเข้าไปก็เห็นว่าไม่สะดวก ด้วยพระบิดาและท้าวไตรตรึงษ์ผิดใจกันอยู่ จึงใช้อุบายแปลงตัวเป็นยาจกเอาฝุ่นและเขม่าทาตัวให้เปื้อนเปรอะ เอารงค์แต้มตัวให้ดูประหนึ่งว่าเป็นปมปุ่มทั่วไปทั้งตัว แล้วก็เข้าไปในเมืองไตรตรึงษ์ ไปอาสารับใช้ผู้เฝ้าสวนหลวงอยู่เพื่อหาช่องทางดูตัวนาง
         อยู่มาวันหนึ่ง นางธิดาไตรตรึงษ์ออกไปประพาสสวนหลวง (ซึ่งเทียบดูตามที่เคยเห็นๆ อยู่ตามเมืองโบราณมักอยู่นอกกำแพงเมือง เช่น สวนมะม่วงที่กรุงสุโขทัย และสวนหลวงที่กรุงเก่านั้นดูเป็นตัวอย่าง) พระชินเสนไปเที่ยวเดินเก็บผลหมากรากไม้และผักหญ้าอยู่ จึงได้เห็นตัวนางก็มีความรัก จึงเข้าไปหาและนำผักถวาย ฝ่ายนางสังเกตดูเห็นพระชินเสนเห็นได้ว่าไม่ใช่ไพร่จริง เพราะประการหนึ่งมิได้ไหว้ อีกประการหนึ่งตาจ้องดูไม่หลบเลย นางให้ข้าหลวงซักดู พระชินเสนก็ให้การแต่เพียงว่าชื่อนายแสนปม แต่ไม่บอกว่ามาแต่ไหนหรือเป็นลูกเต้าเหล่าใครเลย นางอุษานึกในใจว่าต้องเป็นคนมีตระกูลแปลงตัวมาเป็นแน่แท้ ครั้นจะพูดจาอะไรต่อไปก็ไม่ถนัดจึงสั่งนายแสนปมว่าต่อไปให้หมั่นเก็บผักส่งเข้าไปในวัง แล้วนางก็กลับเข้าวัง
         ฝ่ายพระชินเสนกลับไปถึงที่พักแล้ว ไตร่ตรองดูเห็นท่าทางว่านางจะมีความรักใคร่บ้าง แต่ยังไม่แน่ใจแท้  จึงใช้อุบายเอาเหล็กแหลมจารเป็นหนังสือบนมะเขือ เป็นถ้อยคำเกี้ยวเลียบเคียงเป็นนัย ๆ แล้วนำมะเขือกับผักอื่นๆ ส่งไปให้นาง ฝ่ายนางอุษาได้เห็นหนังสือนั้นแล้ว ก็เขียนหนังสือตอบใส่ห่อหมากฝากไปให้นายแสนปม พระชินเสนได้รับหนังสือตอบ เข้าใจได้ดีว่านางสมัครรักใคร่ในตนเป็นแน่แล้ว จึงเข้าไปหานางที่ในวัง (การที่จะเข้าวังในสมัยโน้น ไม่เป็นการยากเย็นปานใด เพราะวังคงจะไม่มีกำแพงมีแต่รั้วไม้อย่างบ้านเรือนคนๆ เราเท่านั้น และราชมนเฑียรและตำหนักก็คงเป็นเรือนฝากระดานทั้งนั้น ไม่เป็นเรือนสูงปานใด) ต่อนั้นมาก็คงจะได้พบปะได้เสียอีก ที่สวนเป็นพื้น และวิธีมีหนังสือเขียนบนมะเขือ จึงเกิดปรากฏขึ้นว่านางนั้นโปรดเสวยมะเขือนัก
         อยู่มาได้สักหน่อย ก็คงมีเหตุอย่างหนึ่งขึ้นเช่นพระบิดาประชวร เป็นต้น พระชินเสนต้องรีบกลับไปนครศรีวิไชย เป็นอันยังมิทันที่จะตระเตรียมลักพานางไปด้วย และคั้นเมื่อชินเสนกลับไปถึงนครก็คงจะเลยมีข้อข้องขัดบังเกิดขึ้น เช่น พระบิดาโปรดให้เป็นผู้ช่วยว่าราชการ เป็นต้น จึงเป็นอันยังไม่มีโอกาสที่จะจัดการไปรับนาง (ถ้าไม่มีเหตุเช่นกล่าวมาแล้วนี้คงไม่ทิ้งไว้จนมีลูก คงต้องรีบจัดการพานางหนีเสียก่อนจะมีครรภ์แก่จนปิดไม่มิดแล้วเป็นแน่)
         ครั้น ณ วันที่ 2 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ปีขาลจุลศักราช 676 พ.ศ.1857 พระราชธิดาท้าวไตรตรึงษ์ประสูติโอรสองค์หนึ่ง ซึ่งโหรทำนายตามดวงชะตาว่าจะได้เป็นพระยามหากษัตริย์ทรงเดชานุภาพใหญ่ยิ่ง ท้าวไตรตรึงษ์ผู้เป็นตาจึงอยากจะใคร่ทราบว่าใครเป็นบิดาแห่งหลานนั้น ถามพระธิดาก็ไม่ให้การอย่างไรทั้งสิ้น ถามพวกข้าหลวงก็ไม่มีใครรู้เรื่องอะไรหมด คงเป็นแต่โจษกันว่าตั้งแต่ได้เสวยมะเขือซึ่งนายแสนปมถวายแล้วก็ทรงครรภ์ ดังนี้ท้าวไตรตรึงษ์ทรงไตร่ตรองดูก็คิดเห็นว่า ผู้ชายถ้าไม่เป็นคนดีที่ไหนจะบังอาจลอบรักสมัครสังวาสกับพระธิดาเช่นนั้นได้ เพราะฉะนั้นถ้าแม้รู้ตัวแล้วว่าใครเป็นผัวนาง และถ้าเป็นผู้ที่พอจะสมควรกันก็จะได้เลยผสมผเสอภิเษกให้เป็นคู่ครองกันเสียทีเดียว แต่ติดขัดข้อที่พระธิดาไม่ยอมบอกตัวผู้เป็นผัวนั้นเลย จึงต้องคิดเบี่ยงบ่ายหาอุบายที่จะได้รู้ตัวผัวแห่งนางนั้นโดย ปรึกษากับมหาราชครูเป็นที่ตกลงพร้อมกันว่าให้ป่าวประกาศว่าให้ เมื่อถึงกำหนดวันนั้นๆ บรรดาทวยลูกเจ้าขุนมูลนายและทวยราษฎรมาพร้อมกันยังหน้าพระลาน ให้ถือขนมนมเนยติดมือมา แล้วก็จะทรงอธิษฐานว่าถ้าผู้ใดเป็นบิดาพระกุมาร ขอให้พระกุมารรับของจากมือผู้นั้น ท้าวไตรตรึงษ์จะได้ยกพระธิดาอภิเษกให้แก่ผู้ที่เป็นพระบิดาพระหลาน (ที่คิดอุบายเช่นนี้ก็โดยเชื่อว่านางธิดานั้น อย่างไรๆ ก็คงจะไม่ยอมให้ลูกรับของจากมือผู้อื่นนอกจากผัวของตน เพราะถ้ากุมารรับของคนอื่นก็ต้องไปจะต้องเป็นเมียของเขาอื่นนั้น ที่ไหนจะปลงใจยอมไปได้) กิตติศัพท์คำประกาศแห่งท้าวไตรตรึงษ์นี้ ทราบถึงพระชินเสนจึงให้เตรียมลี้พลสกลโยธาเป็นทัพใหญ่ตั้งพระทัยว่าอย่างไรๆ ก็จะต้องรับนางผู้เป็นชายามาให้จงได้ จึงต้องเตรียมกำลังไปเพื่อรบได้ที่เดียว พอใกล้นครไตรตรึงษ์ก็สั่งให้ทัพหยุดพักอยู่แล้วสั่งให้อุบายแก่ขุนพลไว้เสร็จแล้ว พระชินเสนจึงแปลงเป็นนายแสนปมถือข้าวเย็นก้อนหนึ่งไปเข้ายังพระลาน
         ครั้นถึงเวลากำหนด ท้าวไตรตรึงษ์ก็ออกยังหน้าพระลาน ให้เชิญพระนัดดาออกมา และพระองค์ทรงตั้งสัตยาธิษฐานแล้วก็ให้อุ้มพระนัดดาไปเที่ยวดูคน พระกุมารก็ไม่รับของๆ ใครสักคนเดียว จนกระทั่งนายแสนปมชูก้อนข้าวเย็นให้จึงได้รับ (ซึ่งไม่เป็นการอัศจรรย์อันใด เพราะนางนมคงจะได้รับคำสั่งมาชัดเจนแล้วว่าให้รับแต่ของจากมือนายแสนปมคนเดียวเท่านั้น)
         ท้าวไตรตรึงษ์เห็นหลานรับก้อนข้าวเย็นของนายแสนปม เป็นการผิดคาดคะเนทั้งรู้สึกอับอายแก่ธารกำนัล ว่าพระธิดาเล่นชู้กับคนเลวเช่นนั้น ก็มีความโกรธขับพระธิดาออกจากพระนครทันที ทั้งด่าว่านายแสนปมต่าง ๆ นายแสนปมจึงกล่าวว่า ถึงขับไล่ก็ไม่วิตก เมืองจะสร้างอยู่เองใหม่สักเท่านี้ก็ได้ ทั้งไม่มีความเกรงกลัวใคร เพราะพอตีอินทเภรีขึ้นรี้พลก็จะมีมาเหมือนน้ำมหาสมุทร ท้าวไตรตรึงษ์สำคัญว่า นายแสนปมพูดอวดดีจึงท้าให้ตีกลอง แสนปมก็ตีกลองขึ้น 3 ลา ขณะนั้นขุนพลแห่งนครศรีวิไชยได้ยินเสียงกลอง ก็ให้พลโห่ร้องขึ้นตามที่พระชินเสนตรัสสั่งไว้ (กลองอินเภรีนี้ ตามความเข้าใจกันว่าเป็นกลองใบใหญ่ แท้จริงเป็นกลองขนาดย่อม ซึ่งใช้นำกระบวนพลและตีให้สัญญาณในการทัพ ข้าพเจ้าได้เคยเห็นกลองเช่นนี้ ซึ่งเข้าใช้ตีกระบวนมื่อเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์แห่งข้าพเจ้าเมืองเชียงใหม่ แต่โดยเหตุที่มีชื่อว่าอินทเภรี ผู้แต่งเรื่องแสนปมจึงเหมาว่าเป็นกลองของพระอินทร์มาให้ และเมื่อเป็นกลองพระอินทร์เช่นนี้ จึงนิมิตได้ทั้งพลและพัสดุ แท้จริงพระชินเสนคงตีอินทเภรีเพื่อเป็นสัญญาณเท่านั้น)
         ครั้นเมื่อพระชินเสนตีอินทเภรีขึ้น และพลก็โห่ร้องก้องกึกขึ้นเช่นนี้แล้ว ท้าวไตรตรึงษ์ก็คงจะตกใจตะลึง หมดท่ามิรู้ที่จะทำประการใดต่อไป แลเห็นถนัดว่าเสียท่าเขาแล้ว ก็ได้แต่ทำยอมเท่านั้น และถึงแม้ว่าจะวิงวอนงอนง้อพระชินเสนให้อยู่ เขาก็คงไม่อยู่ เพราะดูถูกพ่อของเขาไว้ยังได้ด่าว่าตัวเขาเองอีก พระชินเสนก็คงเป็นอันได้รับนางละบุตรกลับไปนครศรีวิไชย
         ต่อไปนี้ ในตำนานมีกล่าวว่าท้าวแสนปมได้สร้างเทพนครขึ้นและขึ้นเสวยราชย์ในนครนั้น เมื่อปีมะแม จุลศักราช 681 (พ.ศ.1862) ฉะนี้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าจะเป็นการเข้าใจผิดด้วยเรื่องนามนคร คือเข้าใจว่าเทพนครเป็นนามเมืองๆหนึ่ง และโดยที่ยังไม่พบนามเทพนครมาก่อนนั้น จึงเข้าใจเอาว่าคงเป็นเมืองซึ่งสร้างขึ้นใหม่ด้วยอำนาจอินทเภรี แต่ถ้าพิจารณาดูแล้วก็จะเป็นไดว่าข้อนี้ไม่มีหลักฐานอันใดเลย เพราะตัวเมืองนั้นได้พยายามค้นมานักแล้ว ไม่พบเลย และยังแลไม่เห็นว่าจะสร้างลงที่ไหนได้ แต่ตรงกันข้ามมีข้อที่จะยกเอามาเถียงได้ถึง 2 ข้อ ว่าเมืองเทพนครไม่ใช่เมืองที่สร้างขึ้นใหม่ คือข้อ 1 ท้าวแสนปมเมื่อขึ้นครองราชย์สมบัติในเทพนครนั้น ทรงพระนามว่าพระเจ้าศิริไชยเชียงแสน เพราะฉะนั้นควรสันนิษฐานว่าได้ทรงราชย์ในเมืองศิริไชยดังได้อธิบายมาแล้ว ข้อ 2 คำว่าเทพนครนี้ สังเกตว่าเป็นนามเรียกเมืองหลวง ไม่เป็นชื่อจำกัดสำหรับเมืองใดโดยเฉพาะ เช่น กรุงเก่าก็เรียกว่า “กรุงเทพมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยา” และบางกอกก็เรียกว่า “กรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทรมหินทราโยธยา” ดังนี้เป็นตัวอย่าง แต่ฝ่ายผู้แต่งตำนานแสนปมหาได้กำหนดข้อนี้ไม่ จึงแต่งไปโดยหลงเชื่อในทางปาฏิหาริย์อันจำเดิม แต่การหลงว่า “อินทเภรี” เป็นกลองที่พระอินทร์นำมาให้แล้วก็เพลินต่อมา ถึงแม้ว่าจะยอมกล่าวตามตำนานเทพนครเป็นเมืองซึ่งท้าวแสนปมสร้างขึ้นใหม่ ก็มีข้อควรฉงนอยู่ในตัวแล้ว คือตามตำนานนั้นว่า ครั้นปีจุลศักราช 681 ท้าวแสนปมได้สร้างเทพนครเสร็จแล้ว ขึ้นทรงราชย์ในนครนั้น ก็เป็นถึง 5 ปีภายหลังสมภพเจ้าอู่ทอง ซึ่งถ้ามีบุญญาธิการนิมิตเมืองได้จะรอรั้งอยู่ทำไมจนถึงปานนั้น ทำไมไม่รีบจัดการสร้างเสียแต่ทีแรก จึงน่าสันนิษฐานว่า แท้จริงนั้นพระชินเสน รับนางไปจากไตรตรึงษ์แล้วก็กลับไปอยู่นครศรีวิไชยไปในตำแหน่งพระยุพราชตามเดิม จนเมื่อปีจุลศักราช 681 พระราชบิดาทิวงคตลง พระชินเสนจึงได้ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบสันตติวงศ์เป็นพระเจ้าศรีวิไชยสืบมา
         ส่วนข้อที่พระโอรสแห่งท้าวชินเสนมีนามปรากฏว่าเจ้าอู่ทองหรือพระเจ้าอู่ทองนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่าน่าจะมีพระนามเช่นนั้น เพราะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินในเมืองอู่ทองนั้นเอง ไม่ใช่เพราะพระบิดาทำเปลทองให้นอนอย่างเช่นที่กล่าวมาในตำนาน อันเป็นความเข้าใจผิดเนื่องมาจากความรู้ตื้นไม่รู้จักเมืองอู่ทองละหลงไปในทางปาฏิหาริย์แห่งอินทเภรีนั้นจนเพลินไปดังอธิบายมาแล้ว ส่วนเหตุที่พระโอรสแห่งพระเจ้านครศรีวิไชย ได้ไปเป็นพระเจ้าอู่ทองขึ้นนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่าไปเป็นราชบุตรเขยแล้วเลยได้ครองนคร ซึ่งคิดๆไปก็น่าจะเป็นได้ เพราะนครศรีวิไชยกับอู่ทองก็อยู่ระยะใกล้ ๆ กัน เดินทางไปอย่างสบาย ๆ เพียง 4 วันก็ถึง ทั้งข้าพเจ้ายังเชื่อต่อไปอีกว่า กษัตริย์ทั้งสองนครจะเป็นญาติกันอยู่แล้ว คือเป็นเชื้อวงศ์เดียวกันแต่อยู่ต่างนคร อย่างเช่นเจ้าเชียงใหม่ เจ้าลำพูน เจ้าลำปาง ซึ่งเป็นเชื้อวงศ์พระเจ้ากาวิละทั้ง 3 สกุล ดังนี้เป็นตัวอย่าง กษัตริย์อู่ทองและศรีวิไชยนั้นคงเป็นเชื้อวงศ์กษัตริย์ ซึ่งได้อพยพลงมาข้างเหนือเมื่อสิ้นสมัยพระเจ้าอนุรุธเมืองรามัญแล้ว แต่เมื่อลงมาถึงทางใต้นี้แล้ว จะได้แยกกันตั้งราชธานีขึ้นเป็นสองแห่งพร้อมกัน ทั้งที่อู่ทองและศรีวิไชย หรือว่าในชั้นต้นจะได้ตั้งราชธานีขึ้นแห่งเดียวก่อน แล้วภายหลังรู้สึกว่าอาณาเขตกว้างขวางเกินที่จะแผ่อาณาเขตให้ทั่วถึงตลอดได้จากธานีเดียว จึงแยกออกเป็น 2 แคว้นและแคว้นไหนจะเป็นแคว้นหลวงเดิมนั้น หาหลักฐานอันใดประกอบความสันนิษฐานมิได้ จึงต้องยุติไว้ก่อน
         ตามตำนานแสนปมกล่าวว่า ท้าวศิริไชยเชียงแสนอยู่ในราชสมบัติ 25 ปี ทิวงคตเมื่อปีวอก จุลศักราช 706 (พ.ศ.1887) เจ้าอู่ทองจึงได้ขึ้นครองราชย์สมบัติในเทพนครสืบพระวงศ์ต่อมา ข้อนี้กรมพระดำรงทรงพระดำริว่า จะแปลว่าขึ้นเสวยราชย์ในเมืองอู่ทองในปีนั้น แต่ข้าพเจ้าเห็นว่าในตำนานกล่าวไว้ชัดเจนว่า ปีจุลศักราช 706 นั้น พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนทิวงคต เจ้าอู่ทองผู้เป็นเจ้าโอรสจึงได้สืบราชสมบัติต่อพระราชบิดา ดังนี้ ดูของเขาก็เป็นกิจลักษณะอยู่ พิจารณาดูเทียบศักราชปรากฏว่าในปีนั้นพระเจ้าอู่ทองมีพระชันษาถึง 30 แล้วข้าพเจ้าจึงเห็นว่าน่าจะสันนิษฐานว่า เมื่อท้าวชินเสนทิวงคตนั้นพระโอรสได้เป็นราชบุตรเขยท้าวอู่ทองอยู่นานแล้ว บางทีจะตั้ง 10 ปีก็ได้ และอาจที่จะได้ครองเมืองอู่ทองแต่ก่อนเมื่อท้าวชินเสนทิวงคตแล้วก็ได้ ต่อเมื่อถึงปีจุลศักราช 706 ท้าวชินเสนทิวงคตลงแล้ว พระเจ้าอู่ทองจึงได้รับราชสมบัติในนครศรีวิไชยด้วย แต่เมื่อได้รับราชสมบัติในนครศรีวิไชยนี้ พระเจ้าอู่ทองจะทรงรู้สึกว่าตั้งราชธานีอยู่ที่อู่ทองสะดวกกว่าจึงเลยคงเสด็จอยู่ที่นั้นต่อไปและส่วนแคว้นศรีวิไชยก็เป็นอันยกไปรวมเข้าในราชอาณาจักรอันเดียวกัน เพราะฉะนี้ชื่อเมืองศรีวิไชยจึงมิได้ปรากฏอยู่ในจำพวกเมืองประเทศราช เมื่อพระเจ้าอู่ทองได้ทรงอาณาจักรเป็นขุนหลวงแห่งพระนครศรีอยุธยา
         พระเจ้าอู่ทองนั้น เป็นอันตกลงกันแน่แล้วว่าจะเรียกพระนามตามเมือง แต่ส่วนพระนามของพระองค์เองมีว่ากระไร ไม่ปรากฏว่าได้เคยมีใครได้เดาไว้แห่งใดเลย เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าขอเดาไว้ในที่นี้ว่า ชื่อพระราม (คือเจ้าราม) โดยอาศัยเกณฑ์พระนามเมื่อทรงราชย์นั้นเอง คือเมื่อขึ้นทรงราชย์ในกรุงศรีอยุธยานั้น ชีพ่อพราหมณ์ถวายพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าเข้าใจว่าพราหมณ์คงจะได้ขนานพระนามจากพระนามเดิมของพระองค์นั้นเอง มีตัวอย่างเช่น พระร่วงเมืองละโว้ เมื่อขึ้นทรงราชย์ในกรุงสุโขทัย พราหมณ์ก็ถวายพระนามว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  อันเป็นพระนามผูกขึ้นจากคำว่า “ร่วง” หรือ “รุ่ง”  ซึ่งเป็นพระนามเดิมนั้นเองดังนี้  จริงอยู่ในพระราชพงศาวดารมีคำอธิบายในเรื่องพระรามรามาธิบดีไว้ว่า “เหมือนด้วยพระนามสมเด็จพระรามนารายณ์อวตารอันผ่านกรุงศรีอยุธยาแต่การก่อนนั้น” แต่พระนครศรีอยุธยาได้มีมาแล้วแต่ก่อนที่พระเจ้าอู่ทองจะไปสร้างพระนครทวาราวดีขึ้นแล้ว เหตุไฉนจึงไม่ปรากฏเลยว่า ได้เคยมีพระเจ้าแผ่นดินในนครพระนามนั้นซึ่งทรงพระนามว่ารามาธิบดี กับยังมีข้อควรสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ บึงซึ่งอยู่ในกลางพระนครทวาราวดีนั้น เดิมก็เรียกว่าหนองโสน แต่ต่อมาเรียกกันว่าบึงพระราม และเรียกกันอยู่จนทุกวันนี้ บึงนี้จะได้เปลี่ยนชื่อจากหนองโสนเป็นบึงพระรามเมื่อใดหาหลักฐานมิได้ คงมีหลักฐานอยู่แต่ในส่วนวัดซึ่งตั้งอยู่ริมหนองนั้น คือมีกล่าวไว้ในต้นแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถว่า “ที่ถวายพระเพลิงสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่สร้างกรุงนั้นให้สถาปนาพระมหาธาตุและพระวิหารเป็นอาราม” ในนามชื่อวัดพระราม จึงสันนิษฐานกันว่าบึงนั้นจะได้เรียกนามไปตามวัดแต่ข้าพเจ้าจะใคร่สันนิษฐานตรงกันข้ามว่าวัดเรียกตามบึง และบึงนั้นเปลี่ยนจากหนองโสนเป็นบึงพระราม เพราะเป็นที่ซึ่งขุนหลวงรามได้ทรงเลือกเป็นที่ตั้งพระนครนั้นเอง
         ความเห็นของข้าพเจ้าในเรื่องเท้าแสนปมและสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 มีอยู่เช่นนี้ นักเลงโบราณคดีจะวินิจฉัยอย่างไรก็แล้วแต่จะเห็นสมควร

ตำนานที่ 2[แก้ไข]

         เรื่องท้าวแสนปมเป็นเรื่องหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ได้อ่านแล้วมักรู้สึกว่าเหลือที่จะเชื่อได้ เพราะเหตุการณ์ที่เป็นไปในเรื่องนั้นเต็มไปด้วยปาฏิหาริย์ อันคนเราในสมัยนี้มักรู้สึกตนว่ามีความรู้มากเกินที่จะเชื่อได้เสียแล้ว เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครใฝ่ใจนึกถึงเรื่องท้าวแสนปม พอได้อ่านแล้วก็ทิ้งไม่ไปพิจารนาต่อไปทีเดียว โดยเห็นว่าเสียเวลาเปล่าในการที่จะใช้ความคิดเพื่อพิจารนาเรื่องเช่นนี้
         แต่ที่แท้จริงนั้นถ้าคิดไปสักหน่อยก็จะรู้สึกได้ว่าอันที่จริงควรที่จะอยากรู้ต่อไปอยู่บ้างว่าในเรื่องท้าวแสนปมนั้น จะมีความจริงอยู่เพียงไร เพราะท้าวแสนปมนี้ไม่ใช่คนอื่นไกลเลย เป็นพระบิดาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพทวาราวดี จะว่าไม่เป็นคนสำคัญอย่างไรได้ เว้นเสียแต่ว่าจะไม่เชื่อว่าสมเด็จพระรามาธิบดีเป็นลูกท้าวแสนปมอยู่แล้วก็คงจะต้องอยากรู้ว่าท้าวแสนปมนั้นแท้จริงคือใคร และเรื่องราวของท่านผู้นี้จะมีมูลความจริงอยู่มากน้อยเพียงใด
         ข้าพเจ้าอยู่ในคนจำนวนพวกซึ่งพอใจจะเชื่อว่า เรื่องราวเเห่งอัจฉริยบุคคล อันมีปรากฏอยู่ในตำราต่างๆ โดยมากไม่ใช่ผูกแต่งขึ้นลอยๆ เป็นนิยายเล่าเล่น โดยมากย่อมมีความจริงเป็นเค้าอยู่บ้าง เช่น เรื่อง พระร่วงส่วยน้ำ กับขอมดำดิน ซึ่งข้าพระเจ้าได้อธิบายมาเรื่องหนึ่งแล้วนั้น เป็นต้น ชนิดหนึ่ง อีกชนิดหนึ่งเป็นเรื่องซึ่งไทยเราได้มาจากมัธยมประเทศ อย่างเช่น เรื่องพญากงส์พญาพาณ ซึ่งเดินจากมัธยมประเทศไม่ใช่แต่ทางทางทิศตะวันออกทั้งทางทิศตะวันตกก็ได้เดินไป ดังปรากฏอยู่ในเรื่อง “เอดิโปส” (Ebipos) ในหนังสือโยนก(คริ้ก) เป็นต้น ส่วนเรื่องท้าวแสนปมนี้ สังเกตดูเค้าไม่เป็นเรื่องซึ่งมาจากต่างประเทศ เช่นเรื่อง พญากงส์พญาพาณ เพราะฉะนั้น จึงควรพยายามหาหลักฐานในเมืองเรานี้เองก็พอได้บ้าง เพียงพอที่จะให้ข้าพเจ้าลองสันนิษฐานเรื่องได้ตามที่คาดคะเนว่าจะเป็นจริงอย่างไร
         แต่ก่อนที่จะแสดงตามคำสันนิษฐานของข้าพเจ้าเอง ควรที่จะนำเรื่องตำนานแสนปมมาเล่าไว้เป็นสังเขป ตามข้อความที่มีมาในต้นหนังสือพระราชพงศาวดารของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตแล้ว และอธิบายทางวิจารณ์ซึ่งได้ดำเนินมาเป็นลำดับ จนจับเค้าหลักฐานได้พอที่จะสันนิษฐานได้นั้นด้วย แล้วจึงจะได้แสดงเรื่องตามความสันนิษฐานของข้าพเจ้าเองสืบไป หวังใจว่าดังนี้จะเป็นหนทางที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายดีกว่าทางอื่นวิจารณ์
         เรื่องท้าวแสนปมตามตำนานมีมาเช่นนี้ ทำให้เป็นที่น่าจะนึกอยู่ว่า คงต้องมีมูลความจริงอยู่บ้าง และอย่างน้อยศักราชปีทิวงคตนั้น ก็มีเป็นของแน่นอนอยู่อย่างหนึ่งแล้ว เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ แท้จริงข้าพเจ้าได้นึกถึงอยู่นานแล้ว แต่ยังมิได้เอาใจใส่ไตร่ตรองให้ลึกซึ้งปานใดนัก จนเมื่อวันที่24 มกราคม พุทธศักราช 2456 ข้าพเจ้าได้ไปถึงเมืองอู่ทอง จึงเกิดโจษกันขึ้นถึงพระเจ้าอู่ทอง องค์ซึ่งภายหลังได้ทรงสถาปนากรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาขึ้น ณ ตำบลหนองโสนนั้น ว่าสกุลของพระองค์นั้นเป็นมาอย่างไร
         นักเลงโบราณคดีซึ่งอยู่ด้วยกัน ณ ที่นั้น มีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระดำรงราชานุภาพ กับพระยาโบราณราชธานินทร์ เป็นอาทิ พร้อมด้วยตัวข้าพเจ้าลงความเห็นพร้อมกันว่า ไม่ใช่กำเนิดในวงค์กษัตริย์เมืองอู่ทองเป็นแน่ เพราะบรรดาหนังสือตำนานต่างๆ ที่มีกล่าวถึงสมเด็จพระรามาธิบดีย่อมกล่าวไว้ต่างๆกัน คือว่าเป็นโอรสนายแสนปม ซึ่งภายหลังได้เป็นพระราขาครองเทพนคร ทรงพระนามว่าพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนดังนี้อย่างหนึ่ง  อีกในหนึ่งคือพงศาวดารเหนือว่าเป็นลูกโชติกเศรษฐี ซึ่งอาณาประชาราษฎร์ได้พร้อมกันอัญเชิญขึ้นทรงราชย์ในเทพนคร เป็นปัญหาจะควรเชื่ออย่างไหน หรือจะไม่เชื่อทั้งสองอย่าง จึงมีข้อควรวิจารณ์ อยู่ดังต่อไปนี้
         1. ส่วนที่ว่าสมเด็จพระรามาธิบดีเป็นลูกโชติกเศรษฐีนั้นไม่ได้เชื่อเพราะถ้าเป็นลูกเศรษฐีไฉนจะได้รับเชิญขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะจัดว่ามีอภินิหารอะไรพิเศษอย่างที่กล่าวในส่วนพระร่วงนั้นก็หามิได้
         2. ควรเชื่อข้างเป็นลูกท้าวศิริไชยเชียงแสนมากกว่าและญัตติกันต่อไปว่าท้าวศิริไชยเชียงแสนนั้นคงได้ทรงราชย์ในนครศิริไชยหรือศริวิไชย (คือที่เรียกนครปฐมบัดนี้) จึงได้มีนามว่าพระเจ้าศิริไชย ซึ่งถูกต้องตามแบบแผนโบราณอันใช้กันมาจนทุกวันนี้ เช่นเรียกเจ้าแก้ว นวรัฐ ว่า “เจ้าเชียงใหม่” ดังนี้เป็นตัวอย่าง
         3. คราวนี้มีปัญหาว่า พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนเองนั้นเป็นลูกเต้าเหล่าใครอันเป็นปัญหาที่ตอบยากอยู่ข้อที่ว่าเป็นตาขี้ปมคนสามัญอยู่คนหนี่งแล้วอยู่ดี ๆ จะเกิดมีบุญญาธิการขึ้นมาจนได้เป็นพระยามหากษัตริย์นั้นดูเป็นการพ้นวิสัยที่จะเป็นไปได้ แม้แต่พระร่วงซึ่งกล่าวว่ามิอิทธิฤทธิ์จนได้เป็นพระเจ้ากรุงสุโขทัยนั้นก็มิใช่คนสามัญ เป็นพ่อเมืองละโว้ ซึ่งนับว่าเป็นเจ้าอยู่แล้ว ดังข้าพเจ้าได้อธิบาย มาแล้วในเรื่อง “ขอมดำดิน” ของข้าพเจ้านั้น
         4. นามแห่งท้าวแสนปม ซึ่งมีอยู่ว่าพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนนั้น ทำให้มีผู้อยากใครตอบว่า ท้าวแสนปมเป็นกษัตริย์วงศ์เชียงแสนหรือเชียงรา แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว ก็จะแลเห็นข้อคัดค้านอยู่สองสถาน คือ สถานที่หนึ่ง แม้ในตำนานแสนปมในต้นพระราชพงศาวดารกรุงเก่านั้นเอง ก็มิได้กล่าวว่าแสนเป็นเชื้อวงศ์กษัตริย์เชียงแสนหรือเชียงราย เป็นแต่เป็นผู้ได้นางธิดาท้าวไตรตรึงษ์ ซึ่งกล่าวว่าเป็นกษัตริย์เชียงแสนต่างหาก เหตุไฉนจึงจะเอาชื่อแห่งวงศ์ฝ่ายเมียไปใช้เรียกตัวเอง ไม่มีมูลอันใดเลย สถานที่สอง ตามตำนานโยนก มีข้อความปรากฏอยู่ชัดว่า ขุนเม็งรายเป็นผู้สร้างเมืองเชียงรายขึ้นเป็นราชธานี และได้อยู่ที่นั้นก่อนแล้วจึงได้มาตีเมืองหริกุญไชย แล้วจึงได้สร้างนครเชียงใหม่ ขุนเม็งรายนี้ตามจดหมายเหตุของโหรว่า สมภพ เมื่อ ณ วัน 1 แรม 9 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ จุลศักราช 600 พุทธศักราช 1871 และสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อปีวอก จุลศักราช 658 พุทธศักราช 1839 จึงเอาเชียงใหม่เป็นราชธานี จนทิวงคต ขุนไชยสงครามลูกขุนเม็งรายจึงกลับไปอยู่ที่เมืองเชียงรายตามเดิม ส่วนเมืองเชียงแสนนั้นตามตำนานโยนกว่า เมื่อจุลศักราช 689 พุทธศักราช 1870 เจ้าแสนภู (หลานขุนเม็งราย) ได้ราชสมบัติต่อขุนไชยสงครามผู้เป็นพระบิดา ขุนแสนภูได้ไปสร้างเมืองเชียงแสนขึ้นเป็นราชธานี และขุนแสนภูนี้ทิวงคตเมื่อจุลศักราช 969
         สรุปรวมความว่าเมืองเชียงรายนั้น ขุนเม็งรายได้สร้างขึ้นในระหว่างจุลศักราช 640 พ.ศ.1821 (ซึ่งเป็นเวลาที่ขุนเม็งรายมีนามปรากฏขึ้นแล้ว) กับจุลศักราช 658 พ.ศ.1839 ซึ่งเป็นปีสร้างนครเชียงใหม่ ส่วนเมืองเชียงแสนนั้น ขุนแสนภูได้สร้างขึ้นระหว่างจุลศักราช 689 พ.ศ.1870 กับจุลศักราช 696 พ.ศ.1877 แต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ซึ่งเรียกกันว่าพระเจจ้าอู่ทองนั้น ในจดหมายเหตุของโหรนั้น สมภพเมื่อ ณ วันที่ 2 ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 8 ปีขาล จุลศักราช 676 พ.ศ.1857 เพราะฉะนั้นพระเจ้าศิริไชยเชียงแสนจะเป็นเชื้อวงศ์เชียงแสน อันเป็นเมืองที่สร้างขึ้นภายหลังปีสมภพแห่งพระโอรสย่อมไม่ได้อยู่เอง ส่วนข้อที่ว่าจะเป็นเชื้อวงศ์เชียงรายก็ไม่ถนัดแหมือนกัน เพราะในตำนานโยนก มีข้อความปรากฏชัดเจนอยู่ว่าขุนเม็งรายผู้สร้างเมืองเชียงรายนั้นมีลูกหลานกี่คนและได้ครองเมืองใด ๆ บ้าง
         5. เมื่อพิจารณาดูได้ความดังกล่าวแล้วข้างบนนี้ จึงญัตติกันว่า พระเจ้าศิริไชยเชียงแสนไม่ใช่เชื้อพระวงศ์เชียงแสนเชียงรายเป็นแน่ แต่ถ้าเช่นนั้นเหตุใดจึงมีคำว่าเชียงแสนอยู่ในชื่อเล่า ข้อนี้จะหาสิ่งใดเป็นพยานหลักฐานตอบก็หาไม่ กรมพระดำรงกับพระยาโบราณขอให้ข้าพเจ้าลองค้นหานามบุคคลซึ่งใช้ดื่นๆ อันมีสำเนียงคล้าย ๆ เชียงแสน ข้าพเจ้าค้นพบนามหนึ่งซึ่งใกล้พอประมาณคือ “ชินเสน” อันเป็นนามที่พบบ่อย ๆ ในหนังสือสันสกฤต และนามว่าชินเสนนี้ ถ้าหากจะเพี้ยนเป็น”เชียงแสน”ไปก็อาจเป็นไปได้ เพราะเป็นคนซึ่งเกิดภายหลังนาน และไม่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องเมืองเชียงแสน รู้แต่ว่าเป็นเมืองโบราณอันหนึ่ง ซึ่งเป็นราชธานีเท่านั้น จึงเหมาให้วงศ์สมเด็จพระรามาธิบดีมาจากที่นั้น เป็นอันไปโดยความรู้ตื้นเท่านั้น จึงตกลงเป็นอันญัตติว่า ท้าวแสนปมนั้นเป็นเจ้านายเชื้อกษัตริย์นครศิริไชยและบางทีจะชื่อชินเสน แต่ข้อนี้ไม่ยืนยัน ถ้าใครหาหลักฐานมาคัดค้านเพียงพอว่ามิได้ชื่อชินเสน ข้าพเจ้าก็จะยอมถอนความสันนิษฐานอันนี้โดยทันที
         6. เป็นญัตติกันว่าแล้วว่า ข้างฝ่ายพระบิดาสมเด็จพระรามาธิบดี เป็นเชื้อวงศ์ศิริไชย หรือศรีวิไชย ก็ส่วนข้างฝ่ายพระมารดานั้นจะเป็นเชื้อใดเล่า ข้าพเจ้าตอบว่า ข้าพเจ้าเชื่อตามข้อความในพระราชพงศาวดารสังเขปของกรมสมเด็จพระปรมานุชิต ซึ่งกล่าวยุติต้องกันกับตำนานโยนก และซึ่งข้าพเจ้าได้นำมาลงไว้ข้างหน้านี้โดยสังเขปแล้ว ขาพเจ้าสมัครจะเชื่อว่า พระมารดาพระเจ้าอู่ทองเป็นราชธิดาแห่งท้าวไตรตรึงษ์ ผู้เป็นเชื้อวงศ์พระยาผู้ที่หนีรามัญลงมาจากเมืองฝางนั้นเอง ส่วนกรมพระดำรงในชั้นต้นทรงท้วงว่าเมืองไตรตรึงษ์นั้นหาไม่พบ เพราะฉะนั้นทรงสันนิษฐานตามนามแห่งศิริไชยเชียงแสนว่า วงศ์พระยาฝางนั้นจะได้ครองเมืองศรีวิชียนี้เอง และพระเจ้าอู่ทองก็ได้กำเนิดในวงศ์นั้นเอง แต่ถ้าเช่นนั้นเรื่องแสนปมจะมีมาอย่างไร ถ้าพระเจ้าอู่ทองได้กำเนิดมาเป็นปรกติมิได้มีเหตุการณ์แปลกประหลาด เหตุไฉนจึงมีเรื่องแปลกประหลาดเช่นเรื่องแสนปมนี้ขึ้น มีข้อที่ยังเถียงกันอยู่ในชั้นต้นเช่นนี้ จึงขออธิบายความเห็นทั้ง 2 ฝ่ายดังต่อไปนี้
         กรมพระดำรงได้ทรงแสดงความเห็นไว้ในเรื่องเมืองไตรตรึงษ์นั้นว่า  ตามที่กล่าวในหนังสือพงศาวดารย่อ ว่าพระยาฝางแพ้แก่หาราชเมืองสตอง แล้วจึงกวาดครอบครัวชาวเมืองอพยพหนีข้าศึกลงมาตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองแปบ อันเป็นเมืองเก่าร้างอยู่คนละฟากกับเมืองกำแพงเพชรนั้น พระองค์ทรงพิเคราะห์ดูเห็นว่า ธรรมดาการสงครามถ้าพ่ายแพ้เสียบ้านเมืองแก่ข้าศึกก็มักจะได้แต่หนีเอาตัวรอด ที่จะอพยพไพร่บ้านพลเมืองหนีด้วยในเวลาข้าศึกอยู่ในชานพระนครนั้นดูจะยากอยู่ ตั้งแต่เมืองฝางลงมาเมืองกำแพงเพชรทางไกลมากมิใช่น้อย ถ้าพระยานั้นได้เสียพระนครแก่ข้าศึกน่าจะหนีมาแต่กับสมัครพรรคพวก อย่างครั้งพระเจ้ากรุงธนบุรีหนีพม่าลงไปเมืองชลบุรี ลงมาอยู่กับพวกไทย ที่ลงมาตั้งอยู่ก่อนแล้ว พวกไทยเห็นเป็นเจ้านายจึงยกพระฝางนั้นขึ้นเป็นขุนในหมู่ตน ตามพระดำริของพระดำรงในตอนนี้ ข้าพเจ้าเห็นด้วยทุกประการ
         ส่วนราชธานีที่ว่าพระยาฝางได้ครองนั้น กรมพระดำรงทรงพระดำริว่า จะมิได้อยู่ที่เมืองแปบที่อยู่ในแขวงเมืองกำแพงเพชรนั้นแห่งเดียว ทรงพระดำริว่าน่าจะได้ครอบครองพระนครศรีวิไชยหรือศิริไชย เพราะประการที่ 1 เจ้าผู้ที่อพยพจากเมืองฝางนั้นมีนามปรากฏว่าไชยศิริ ประการที่ 2 ตามหนังสือเก่าที่อ้างว่าต้นวงศ์พระเจ้าอู่ทองอพยพลงมาพบเมืองร้าง จึงตั้งเป็นราชธานีนั้น เมืองนครปฐมในเวลานั้น ก็เป็นเมืองร้างมาเกือบ 100 ปี ตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอนุรุธมาตีกวาดต้อนผู้คนเอาไป ประการที่ 3 ตามเนื้อความในพระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า พระเจ้าอู่ทองเป็นราชบุตรเขย แล้วได้ครองเมือง เมืองอู่ทองกับเมืองนครปฐมอยู่ใกล้กันไปมาสะดวก อาจรู้จักมักคุ้นไปมาหากันได้ง่ายกว่าเมืองเทพนครที่ว่าอยู่ใต้เมืองกำแพงเพชรอยู่มาหน่อยหนึ่ง ซึ่งต้องเดินทางตั้ง 10 วันจึงจะถึงเมืองอู่ทอง ประการที่ 4 เมืองต้นวงศ์พระเจ้าอู่ทองอพยพลงมา ว่ามาเมื่อ พ.ศ.1731 มาครองเมืองสืบพระวงศ์กันต่อมาถึง 160 ปีนั้น ได้เกิดราชอาณาจักรสุโขทัยขึ้นแล้วและกษัตริย์วงศ์พระร่วงได้สร้างเมืองนครปุที่ตรงเมืองกำแพงเพชรขึ้นเป็นราชธานี ฝ่ายตะวันตกริมแม่น้ำพิง พวกต้นวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองถ้าจะได้ครองราชสมบัติอยู่ในแขวงกำแพงเพชร เมื่อก่อนพระร่วงตั้งอาณาจักรนั้นเป็นได้ แต่เมื่อพระร่วงได้ตั้งอาณาจักรขึ้นแล้ว จะครองราชสมบัติซ้อนกันอยู่กับพระร่วงได้อย่างไร ด้วยเหตุเหล่านี้ กรมพระดำรงจึงทรงพระดำริว่า ที่กล่าวในพระราชพงศาวดารย่อของกรมสมเด็จพระปรมานุชิตว่าต้นวงศ์ของพระเจ้าอู่ทองครองราชสมบัติอยู่ในเมืองแปบ แขวงเมืองกำแพงเพชรตลอดมาจนพระเจ้าอู่ทองสมภพนั้นเห็นจะไม่ถูก  ที่จริงน่าจะลงมาอยู่ถึงนครปฐม ถ้าไม่ใช่ในชั่วแรก ก็ย้ายมาในชั่วหลัง
         ดำริของกรมพระดำรงเช่นนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นพ้องด้วยหลายประการ แต่ที่ข้าพเจ้ายังมีความเห็นแตกต่างกับพระดำริของท่านบ้างก็มี ดังจะกล่าวได้ต่อไปนี้
         ข้อที่ 1 ที่ว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นเชื้อกษัตริย์นครศิริไชยนั้นข้าพเจ้าเห็นด้วย แต่เชื่อว่าเป็นข้างฝ่ายพระบิดาคือท้าวแสนปมนั้นเอง แต่ข้างฝ่ายพระมารดาเป็นเชื้อกษัตริย์นครไตรตรึงษ์
         ข้อที่ 2 ข้าพเจ้ายังไม่เห็นด้วยในข้อที่ว่าวงศ์กษัตริย์ที่ได้หนีจากเมืองฝางนั้น จะได้ลงมาถึงนครปฐม หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือว่า เมืองไตรตรึงษ์มีจริง ไม่ใช่เหลว และไม่ใช่เมืองเดียวกับนครปฐม
         ข้อที่ 3 ที่ว่าเมืองไตรตรึงษ์จะไปตั้งติดอยู่กับเมืองกำแพงเพชรไม่ได้นั้น ข้าพเจ้ายอมว่าไม่ได้ เพราะพวกพระร่วงคงไม่ยอมให้ตั้งอยู่ แต่การที่จะตั้งนครปฐมนั้น ข้าพเจ้าเห็นจะมีข้อขัดข้องอยู่ เพราะพระยาฝางนั้นเสียนครหนีลงมาไม่มีกำลังวังชาอะไร เพราะฉะนั้นเมืองที่จะตั้งขึ้นก็คงเป็นเมืองย่อมๆ คงไม่มาเลือกตั้งขึ้น ณ ที่เมืองร้างอันเป็นนครราชธานีใหญ่โตมาแต่ก่อนอย่างเช่นนครปฐมนี้ ทั้งเป็นที่อยู่ใกล้อาณาเขตอู่ทองซึ่งเขาก็อาจไม่ยอมให้อยู่เหมือนกัน
         ข้อที่ 4 ถ้าจะถามให้ข้าพเจ้าชี้ว่านครไตรตรึงษ์นั้นอยู่ที่ไหน ข้าพเจ้าจะต้องเริ่มด้วยตอบว่าไม่ใช่อยู่ที่ตรงข้ามฟากน้ำกับเมืองกำแพงเพชร เพราะที่นั้นไม่มีข้อมูลว่าเป็นเมืองเลย ทั้งเป็นที่ใกล้เมืองกำแพงเพชรเกินที่เขาจะยอมให้ตั้งอยู่ได้ เพราะฉะนั้นต้องขยับลงมาตามลำน้ำพิงและแควน้อย ก็มาพบเมืองเข้าเมืองหนึ่ง ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่ารูปพอจะชี้เป็นไตรตรึงษ์ได้ คือเมืองสรรค์ อันตั้งอยู่ในที่อันเป็นชัยภูมิดีอยู่เพราะอยู่ริมฝั่งน้ำ เดี๋ยวนี้ก็ยังมีกำแพงและโบราณสถานและวัตถุอยู่เป็นอันมากพอดูได้ นับว่าเป็นเมืองมั่นคงอยู่ นามแห่งเมืองก็ดูลงรอยกัน คือเดิมอาจเรียกว่านครไตรตรึงษ์ แล้วภายหลังบางทีจะมีเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องขยับขยายเมือง แล้วจึงเปลี่ยนนามเรียกเป็นสรรค์ อย่างเช่นเมืองอู่ทอง เมื่อขุนหลวงพงั่วย้ายลงมาตั้งใหม่ก็เรียกนามว่าสุพรรณบุรี เพื่อให้สังเกตเห็นว่าเป็นคนละเมือง แต่ชื่อก็แปลได้ความอันเดียวกันฉะนั้น ข้อนี้กรมพระดำรงทรงรับรองด้วยแล้ว
         แต่ถ้าจะเอาแต่เพียงนามอันคล้ายกันเท่านั้น เป็นเกณฑ์เพื่อชี้ว่านครไตรตรึงษ์คือเมืองสรรค์ บางทีนักเลงโบราณคดีจะยังไม่เห็นเพียงพอ ข้าพเจ้าขอชี้แจงต่อไปว่าในพระราชพงศาวดารกรุงเก่ามีข้อความปรากฏอยู่ว่า เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีขึ้นเสวยราชย์ในกรุงทวาราวดีนั้น มีเมืองประเทศราชย์ขึ้น 16 เมือง ส่วนเมืองสรรค์หาได้มีอยู่ด้วยไม่ และเมื่อพิจารณาดูว่าเมืองใหญ่ๆ เช่นเมืองสุพรรณบุรีและลพบุรีก็ไม่มีเหมือนกันฉะนี้ ก็พอสันนิษฐานได้ว่า เมืองใดที่นับว่าได้รวมอยู่ในราชอาณาจักรของพระเจ้าอู่ทองแล้วเป็นอันไม่มีชื่ออยู่ในหมู่ประเทศราช เพราะฉะนั้นการที่เมืองสรรค์ไม่มีชื่ออยู่ในหมู่ประเทศราช  ก็อาจเป็นเพราะเป็นเมืองของตาพระเจ้าอู่ทองจึงนับว่าอยู่ในอาณาเขตแล้ว ทั้งต่อมาปรากฏในพระราชพงศาวดารว่าเมืองสรรค์เป็นเมืองลูกหลวงมีเจ้านายไปครอง เช่นเจ้าญี่พระยาเป็นตัวอย่างอีกประการหนึ่งมีความที่ปรากฏอยู่แน่นอนอีกว่าเมื่อสมเด็จพระเจ้ารามาธิบดีวิวาทกับสุโขทัยได้ขึ้นไปยึดเมืองสรรค์ไว้ก่อเพื่อเป็นเมืองหน้าด่าน ดูก็เป็นข้อควรอ้างเป็นพยานได้อีกสถานหนึ่ง
         อนึ่งในคำจารึกหลักศิลาของพ่อขุนรามกำแหง นามนครไตรตรึงษ์นั้นหามีไม่ ซึ่งอาจจะทำให้นักเลงโบราณคดีบางคนหยิบยกมาอ้างเป็นพยานว่านครไตรตรึงษ์นั้นไม่เคยมีเป็นเมืองทีเดียว แต่ถ้ากล่าวเช่นนั้น ข้าพเจ้าจะต้องตอบว่า นามเมืองตามที่เราเรียกๆกันอยู่ กาลบัดนี้ก็ไม่มีอีกหลายเมือง เพาระในคำจารึกนั้นเรียกเมืองผิดกับที่เรียกกันอยู่ ณ บัดนี้เป็นอันมาก เช่นเรียกเมืองพิษณุโลกว่า “สระหลวง” และเมืองโอฆบุรี(พิษณุโลกฝั่งตะวันออก) ว่า “สองแคว” ดังนี้เป็นต้น ส่วนเมืองสรรค์นั้นในศิลาจารึกเรียกว่าเมืองแพรก
         ข้อที่ 5 ตามพระดำริของกรมพระดำรง ซึ่งทรงแสดงไว้ในคำอธิบายเหตุการณ์เมื่อก่อนสร้างกรุงศรีอยุธยา อันมีอยู่หน้าหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานั้น เป็นเรื่องอันไม่มีสาระควรวินิจฉัยทีเดียว คือไม่ทรงเชื่อเรื่องท้าวแสนปมนั้นทีเดียว ทรงเชื่อว่าพระเจ้าอู่ทองทรงสมภพมาโดยปรกติในพระราชวงศ์แห่งกษัตริย์เมืองฝาง แต่ข้าพเจ้าได้ไตร่ตรองอยู่ช้านานแล้ว เห็นว่าเรื่องท้าวแสนปมนั้น ดูมีข้อความวิจิตรพิสดารมากเกินกว่าที่จะผูกขึ้นเป็นนิยายเฉย ๆ ข้าพเจ้าสมัครจะเชื่อว่าเรื่องนั้นมีมูลความจริงอยู่ แต่หากผู้เล่าภายหลังไม่มีความรู้ลึกซึ้งปานใด ทั้งใจยังชอบไปในทางปาฏิหาริย์แล้ว จึงเล่าเป็นไปทางปาฏิหาริย์มากไป จนเหลือที่จะเชื่อได้ แต่ถ้าพิจารณาใช้ความสันนิษฐานเข้าบ้าง ก็พอแลเห็นทางอันน่าเชื่อได้ อย่างเช่นเรื่องพระร่วงซึ่งได้ไปครองเมืองสุโขทัย ข้าพเจ้าได้ลองอธิบายเรื่องหนึ่งแล้วก็ดูมีผู้เห็นด้วยกับข้าพเจ้าเป็นอันมาก จึงทำให้ข้าพเจ้าทะนงนึกอธิบายเรื่องท้าวแสนปมบ้าง ได้แสดงความเห็นแก่กรมพระดำรง และพระยาโบราณราชธานินทร์ ท่านทั้งสองรับรองว่าชอบกลอยู่บ้าง ข้าพเจ้าจึงกล้านำมาแสดง ณ ที่นี้ดังต่อไปนี้

ตำนานที่ 3[แก้ไข]

         พื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรในปัจจุบัน นอกจากเคยเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณ เช่น ชากังราว นครชุม ยังมีอีกเมืองหนึ่งคือเมืองไตรตรึงษ์  ชื่อเมืองไตรตรึงษ์ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 38 เรียกว่าศิลาจารึก กล่าวไว้ว่า พระเจ้าไชยศิริเชียงแสนหนีพม่ามาจากเชียงราย เป็นผู้สร้างเมืองไตรตรึงษ์ เมื่อประมาณ พ.ศ.1500 จากซากกำแพงเมืองที่ยังปรากฏเห็น พบว่าตัวเมืองไตรตรึงษ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานกับแม่น้ำปิง ขนาดกว้างประมาณ 450 เมตร ยาวประมาณ 800 เมตร มีทางเข้าสู่เมือง 2 ทาง
         ภายในกำแพงเมืองมีโบราณสถานทางศาสนาหลายแห่ง วัดสำคัญในกำแพงเมืองมี 2 วัด คือวัดเจ็ดยอด และวัดพระปรางค์ ภายนอกกำแพงเมืองทางด้านทิศใต้มีวัดขนาดใหญ่เรียกว่า วัดวังพระธาตุ ที่วัดนี้มีเจดีย์ทรงไทยหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เป็นเจดีย์หลัก รอบๆ มีเจดีย์รายทั้ง 5 ทิศ ขุดค้นทางโบราณคดีพบลูกปัดหินสีภายในบริเวณวัด ตะเกียงโบราณแบบโรมัน และชิ้นเครื่องเคลือบลายครามขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไป  ทุกวันนี้เมืองไตรตรึงษ์อยู่ที่บ้านวังพระธาตุ ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองกำแพงเพชร
         นอกจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว ไตรตรึงษ์ยังมีตำนานเล่าขาน ที่อิงกับประวัติศาสตร์ถึงกำเนิดของอาณาจักรอยุธยา นั่นคือตำนานเรื่อง 'ท้าวแสนปม'เรื่องราวโดยย่อมีว่า เจ้าเมืองไตรตรึงษ์ มีพระธิดาผู้ทรงสิริโฉม และที่ใกล้เมืองไตรตรึงษ์นี้มีชายคนหนึ่งซึ่งร่างกายเต็มไปด้วยปุ่มปม ชาวบ้านเรียกเขาว่า แสนปม มีอาชีพปลูกผัก มาวันหนึ่งเทวดาดลใจให้พระธิดานึกอยากเสวยมะเขือ นางข้าหลวงพบมะเขือในสวนของแสนปมลูกใหญ่อวบ จึงซื้อไปถวาย หลังจากพระราชธิดาเสวยมะเขือของแสนปมได้ไม่นานก็เกิดตั้งครรภ์ขึ้น ท้าวไตรตรึงษ์รู้สึกอับอายขายหน้า พยายามสอบถามอย่างไรพระธิดาก็ไม่ยอมบอกว่าใครคือพ่อของเด็ก ครั้นเมื่อพระกุมารเติบโตพอรู้ความ ท้าวไตรตรึงษ์จึงประกาศให้ขุนนางและเหล่าราษฎรทั้งหลายนำของกินเข้ามาในวัง หากพระกุมารยอมกินของผู้ใดผู้นั้นจะได้เป็นเขยหลวง บรรดาผู้ชายทุกคน พากันมาเสี่ยงทายเป็นบิดาของพระราชโอรส แต่พระราชโอรสไม่ได้คลานไปหาใครเลย เจ้าเมืองจึงให้เสนาไปตามแสนปม ซึ่งยังไม่ได้มาเสี่ยงทาย แสนปมจึงมาเข้าเฝ้า พร้อมทั้งถือก้อนข้าวเย็นมา 1 ก้อน เมื่อมาถึงจึงอธิษฐาน และยื่นก้อนข้าวเย็นให้ พระราชโอรสก็คลานเข้ามาหา
         ท้าวไตรตรึงษ์ทรงกริ้ว ที่พระธิดาไปได้กับคนชั้นไพร่อัปลักษณ์ จึงขับไล่ออกจากวัง แสนปมพาพระธิดากับพระกุมารเดินทางเข้าไปหาที่อยู่ใหม่ ร้อนถึงพระอินทร์ต้องแปลงเป็นลิงนำกลองวิเศษมามอบให้ กลองนี้อยากได้อะไรก็ตีเอาตามได้ดังสารพัดนึก แสนปมอธิษฐานให้ปุ่มปมตามตัวหายไปแล้วตีกลองวิเศษ ร่างก็กลับเป็นชายรูปงาม จึงตีกลองขอบ้านเมืองขึ้นมาเมืองหนึ่ง ให้ชื่อว่า เมืองเทพนคร และสถาปนาตัวเองเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ทรงพระนามว่าท้าวแสนปม ปกครองไพร่ฟ้าด้วยความสงบสุข ท้าวแสนปมใช้ทองคำมาทำเป็นอู่(เปล)ให้พระโอรส และตั้งชื่อพระโอรสว่า 'อู่ทอง' ต่อมาพระเจ้าอู่ทองจึงย้ายเมืองมาสร้างกรุงศรีอยุธยา จากความเชื่อมโยงดังกล่าว ทำให้นักประวัติศาสตร์บางท่าน เรียกชื่อราชวงศ์อู่ทอง อีกชื่อว่าราชวงศ์เชียงรายละเว้นจากเรื่องราวในตำนาน ปัจจุบันแนวคิดที่ว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นเชื้อสายราชวงศ์เชียงราย ยังคงเป็นหนึ่งในหลายแนวคิดเรื่องที่มาของพระองค์ และก็ยังไม่ถูกตัดออกไป จึงพอจะอนุมานได้ทางหนึ่งว่า เมืองไตรตรึงษ์คือต้นทางแห่งกรุงศรีอยุธยานั่นเอง
         ตำนานของนครไตรตรึงษ์ อีกเรื่องหนึ่ง เล่าว่า เจ้านครองค์นี้มีพระธิดา นามว่า อุษา มีรูปโฉมงดงามล่ำลือไปถึงเมืองศิริไชยเชียงแสน เจ้าชายชินเสนจึงปลอมตนเป็นชายอัปลักษณ์ เนื้อตัวมีปุ่มปมขึ้นเต็มไปหมด แล้วเข้าไปขออาศัยอยู่กับตายายที่เฝ้าอุทยานท้ายวังนครไตรตรึงษ์ได้ชื่อเรียกว่า "แสนปม"วันหนึ่งนางอุษาออกมาชมสวน แสนปมแอบมาดูนางแล้วเกิดความรักจึงนำผักที่ปลูกไว้ไปถวาย เมื่อนางอุษาเห็นแสนปมก็นึกรักเช่นเดียวกัน จึงให้พี่เลี้ยงนำหมากไปให้เป็นของตอบแทน แสนปมได้สลักมะเขือเป็นสารเกี้ยวพาราสีนางแล้วส่งไปถวายอีก นางอุษาก็ตอบสารในทีรับรักใส่ในห่อหมากแล้วฝากมาให้แก่แสนปม แสนปมจึงทราบว่านางก็รักตนเช่นเดียวกัน คืนหนึ่งแสนปมลอบเข้าไปหานางในวัง แล้วทั้งสองก็ได้อยู่ร่วมกันโดยไม่มีใครทราบเรื่องจนกระทั่งนางอุษาตั้งครรภ์
         ต่อมาแสนปมได้ทราบข่าวว่าพระเจ้าศิริชัยเชียงแสนประชวรหนัก จึงเดินทางกลับบ้านเมืองโดยไม่ทราบว่านางอุษาตั้งครรภ์ เวลาผ่านไปนางอุษาให้กำเนิดกุมารหน้าตาน่ารัก ยังความทุกข์ใจมาให้แก่เจ้านครไตรตรึงษ์ยิ่งนัก เพราะนางอุษาไม่ยอมบอกความจริง เจ้านครไตรตรึงษ์จึงหาวิธีที่จะให้รู้แน่ว่าใครเป็นบิดาของกุมาร จึงป่าวประกาศให้เจ้าเมืองต่างๆ รวมทั้งทวยราษฎร์มาพร้อมกันที่หน้าพระลานพร้อมทั้งให้นำขนมนมเนยติดมือมาด้วย ถ้ากุมารรับขนมจากมือผู้ใดก็ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นบิดาของกุมารและจะได้อภิเษกกับนางอุษา
         พระชินเสนได้ข่าวก็เตรียมลี้พลมา ตั้งพระทัยจะอภิเษกกับนางอุษาให้ได้ แล้วปลอมตัวเป็นแสนปมพร้อมทั้งนำข้าวเย็นมาก้อนหนึ่งเพื่อให้กุมารเลือก ครั้นถึงเวลาที่กำหนดจึงให้กุมารเลือกขนมจากบรรดาผู้ที่นำมา ปรากฎว่ากุมารรับข้าวเย็นจากแสนปมไปเคี้ยวกินอย่างเอร็ดอร่อย ท้าวไตรตรึงษ์รู้สึกอับอายอย่างมากด้วยความโกรธจึงขับไล่นางอุษาออกจากเมืองโดยทันที แสนปมจึงแสดงตนให้รู้ว่าตนเองคือ พระชินเสน แล้วพานางอุษาและกุมารเดินทางกลับอาณาจักรศิริไชยเชียงแสนและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขกุมารองค์นี้กล่าวว่ามีผู้นำอู่ทองคำมาถวาย จึงได้นามว่าอู่ทอง ต่อมาได้สร้างเมืองทวารวดีศรีอยุธยา และขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาบริเวณวัดวังพระธาตุ  ด้านหน้าวัดมีศาลของท้าวแสนปมและในบริเวณวัด มีรูปปั้นท้าวแสนปม ที่คนทั่วไปให้ความเคารพนับถือ ในฐานะเป็นตำนานของท้าวแสนปม ผู้สร้างเมืองเทพนคร ฝั่งตรงกันข้ามกับนครไตรตรึงษ์ มีตำนานเล่าขานกันมาช้านาน
         นอกจากคำเล่าขานของชาวบ้านแล้วท้าวแสนปมตามตำนานในต้นพระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ว่าในจุลศักราช 681 พ.ศ.1862 ท้าวแสนปม ได้ไปสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองเทพนครและขึ้นครองราชย์สมบัติในเมืองเทพนคร ทรงพระนามว่าพระเจ้าสิริชัยเชียงแสนครองราชย์สมบัติ 25 ปี สวรรคตเมื่อจุลศักราช 706 พ.ศ.1887 ทรงมีพระราชโอรสทรงพระนามว่าพระเจ้าอู่ทองได้ชื่อเช่นนี้ เพราะพระราชบิดานำทองคำมาทำเป็นอู่ให้นอน จึงขนานนามพระองค์ว่าพระเจ้าอู่ทองหลังพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงและทรงพระนามว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1

เนื้อเรื่องย่อท้าวแสนปม[แก้ไข]

         กล่าวถึงเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งท้าวไตรตรึงษ์ชั่วที่ มีราชธิดาองค์หนึ่ง ชื่อว่านางอุษามีรูปงดงามมาก กิตติศัพท์เล่าลือระบือไปในเมืองต่าง ๆ ทราบถึงเจ้านครศรีวิไชย จึงใช้ฑูตไปทาบทามเพื่อขอนางนั้นเป็นมเหสีแห่งพระชินเสนราชโอรสผู้เป็นยุพราช แต่ท้าวไตรตรึงษ์ไม่มีราชโอรสก็ปรารถนาจะให้เขย มาเป็นกษัตริย์ครองเมืองสืบไป จึงตอบว่าถ้าท้าวศรีวิไชยยอมเป็นเมืองขึ้นจึงจะยกพระธิดาให้ ท้าวศรีวิไชยก็ไม่ยอมจึงงดกันไป
         กาลต่อมาพระชินเสนมีความปรารถนาจะเห็นตัวพระธิดาของท้าวไตรตรึงษ์ จึงลาพระราชบิดาไปยังเมืองไตรตรึงษ์ ครั้นว่าจะเข้าไปตรง ๆ ก็เห็นว่าไม่สะดวก ด้วยพระบิดาและท้าวไตรตรึงษ์ผิดใจกันอยู่ จึงใช้อุบายแปลงตัวเป็นยาจกเอาฝุ่นและเขม่าทาตัวให้เปื้อนเปรอะ เอารงค์แต้มตัวให้ดูประหนึ่งว่าเป็นปมปุ่มทั่วไปทั้งตัว นุ่งห่มให้ปอน ใช้ชื่อว่าแสนปม แล้วก็เข้าไปในเมืองไตรตรึงษ์โดยไปอาสารับใช้ผู้เฝ้าสวนหลวงอยู่เพื่อหาช่องทางดูตัวนางอุษา
         อยู่มาวันหนึ่ง นางอุษา ออกไปประพาสสวนหลวง ส่วนแสนปมไปเที่ยวเดินเก็บผลหมากรากไม้และผักหญ้าอยู่ จึงได้เห็นตัวนางก็เกิดความรัก จึงเข้าไปหาและนำผักไปถวาย ฝ่ายนางอุษาสังเกตดูนายแสนปมเห็นว่าไม่ใช่ไพร่จริง เพราะประการหนึ่ง มิได้ไหว้ตน อีกประการหนึ่งนั้น นายแสนปมตาจ้องดูนางไม่หลบเลย นางจึงให้ข้าหลวงซักดู ก็ได้ความแต่เพียงว่าชื่อนายแสนปมแต่ไม่บอกว่ามาแต่ไหน หรือเป็นลูกเต้าเหล่าใคร นางอุษานึกในใจว่าต้องเป็นคนมีตระกูลแปลงตัวมาเป็นแน่แท้ ครั้นจะพูดจาอะไรต่อไปก็ไม่ถนัดจึงสั่งนายแสนปมว่าต่อไปให้หมั่นเก็บผักส่งเข้าไปในวัง แล้วนางก็กลับเข้าวังฝ่ายพระชินเสนไตร่ตรองจากท่าทางของนางก็รู้ว่า นางมีใจตอบ จึงใช้อุบายเอาเหล็กแหลมจารเป็นหนังสือบนมะเขือเป็นถ้อยคำเกี้ยวเลียบเคียงเป็นนัย ๆ แล้วนำมะเขือกับผักอื่นๆ ส่งไปให้นาง ฝ่ายนางอุษาได้เห็นหนังสือนั้นแล้ว ก็เขียนหนังสือตอบใส่ห่อหมากฝากไปให้
         นายแสนปม พระชินเสนได้รับหนังสือตอบก็เข้าใจได้ดีว่านางสมัครรักใคร่ในตนแน่แล้วมีความบอกเป็นนัย จึงเข้าไปหานางที่ในวังต่อจากนั้นก็นัดพบปะได้เสียกันโดยวิธีมีหนังสือเขียนบนมะเขือในการติดต่อนัดแนะ จึงเกิดปรากฏขึ้นว่านางอุษานั้นโปรดเสวยมะเขือนัก ต่อมาพระชินเสนต้องรีบกลับไปนครศรีวิชัยอันเนื่องมาจากพระบิดาป่วย จึงมิทันพานางไปด้วย ต่อจากนั้นก็มีข้อข้องขัดบังเกิดขึ้นจึงเป็นอันยังไม่มีโอกาสที่จะจัดการไปรับนางอุษา จนนางประสูติโอรสโหรทำนายตามดวงชะตาว่าพระโอรสของนางจะได้เป็นพระยามหากษัตริย์ทรงเดชานุภาพใหญ่ยิ่ง ท้าวไตรตรึงษ์ผู้เป็นตา จึงอยากจะใคร่ทราบว่าใครเป็นบิดาของหลาน เพราะถามพระธิดาก็ไม่ให้การอย่างไรทั้งสิ้น ถามพวกข้าหลวงก็ไม่มีใครรู้เรื่องอะไร จงเป็นแต่โจษกันว่าตั้งแต่ได้เสวยมะเขือซึ่งนายแสนปมถวายแล้วก็ทรงครรภ์ ท้าวไตรตรึงษ์ทรงไตร่ตรองเห็นว่า ผู้ชายถ้าไม่เป็นคนดีที่ไหนจะบังอาจลอบรักสมัครสังวาสกับพระธิดาได้ถ้ารู้ตัวและเห็นว่าเป็นผู้ที่สมควรกันก็จะได้อภิเษกให้เป็นคู่ครองกัน จึงคิดหาอุบายที่จะได้รู้ตัวผัวแห่งนางอุษา โดยให้ป่าวประกาศบรรดาทวยลูกเจ้าขุนมูลนายและทวยราษฎรมาพร้อมกัน ให้ถือขนมนมเนยติดมือมาแล้วก็ทรงอธิษฐานว่า ถ้าผู้ใดเป็นบิดาพระกุมาร ขอให้พระกุมารรับของจากมือผู้นั้น แล้วท้าวไตรตรึงษ์จะได้ยกพระธิดาอภิเษกให้ ที่คิดอุบายเช่นนี้ก็โดยเชื่อว่าธิดานั้น อย่างไรก็คงจะไม่ยอมให้ลูกรับของจากมือผู้อื่นนอกจากผัวของตน เพราะถ้ากุมารรับของคนอื่น นางก็ต้องตกไปเป็นเมียของคนอื่น ที่ไหนจะปลงใจยอมได้ความทราบถึงพระชินเสนจึงจัดทัพใหญ่ตั้งพระทัยจะต้องรับนางผู้เป็นชายามาให้จงได้ จึงต้องเตรียมกำลังเพื่อรบได้ที่เดียว พอใกล้นครไตรตรึงษ์ก็สั่งให้ทัพหยุดพัก และสั่งให้อุบายแก่ขุนพลไว้แล้วพระชินเสนจึงแปลงเป็นนายแสนปมถือข้าวเย็นก้อนหนึ่งไปยังพระลาน ครั้นถึงเวลากำหนดท้าวไตรตรึงษ์จึงกระทำการตามอุบายที่ออกไว้ พระกุมารก็ไม่รับของใครสักคนเดียว จนกระทั่งนายแสนปมชูก้อนข้าวเย็นให้จึงได้รับ (พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงอธิบายว่า ไม่เป็นการอัศจรรย์ เพราะนางนมคงจะได้รับคำสั่งมาชัดเจนแล้วว่าให้รับแต่ของจากมือนายแสนปมคนเดียวเท่านั้น)
         ท้าวไตรตรึงษ์เห็นเช่นนั้น รู้สึกอับอายเพราะคิดว่าพระธิดาเล่นชู้กับคนเลวต่ำชาติ จึงขับพระธิดาออกจากพระนคร ทั้งด่าว่านายแสนปมต่าง ๆ นานา นายแสนปมจึงกล่าวว่าถึงขับไล่ก็ไม่วิตก เมืองจะสร้างอยู่เองได้สักเมืองไตรตรึงษ์ก็ได้ ทั้งไม่มีความเกรงกลัวใคร เพราะถ้าตนตีอินทเภรีขึ้น ลี้พลก็จะมีมาเหมือนน้ำมหาสมุทร ท้าวไตรตรึงษ์สำคัญว่า นายแสนปมพูดอวดดีจึงท้าให้ตีกลอง แสนปมก็ตีกลองขึ้นสามลา กองทัพที่ได้เตรียมอุบายกันไว้นอกเมือง ก็โห่ร้องขึ้น ท้าวไตรตรึงษ์ตกใจและรู้ว่าเป็นทัพของพระชินเสนซึ่งปลอมตัวมา มิรู้ที่จะทำประการใด ครั้นจะวิงวอนงอนง้อพระชินเสนให้อยู่ เขาก็คงไม่อยู่เพราะดูถูกพ่อของเขาไว้ พระชินเสนจึงได้รับนางอุษาและพระราชโอรสกลับไปนครศรีวิชัย (ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นกลอนบทละครจับตั้งแต่พระชินเสนทูลลาพระบิดาไปดูตัวนางอุษาในเมืองไตรตรึงษ์ จึงได้นางกลับมาศรีวิไชยแล้วก็จบ)

คำกลอนบทละคร[แก้ไข]

         ท้าวแสนปม ได้จับแต่งขึ้นในระหว่างเมื่อเดินทางกลับจากเจดีย์พระนเรศวร แขวงเมืองสุพรรณบุรีไปบ้านโป่ง แขวงเมืองราชบุรีวันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม ต้นร่างแล้วเสร็จ ณ วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์และได้เกลากล่อมสืบมาอีกแล้วเสร็จบริบูรณ์ ณ วันพฤหัสบดีที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2456
กลอนตอนที่ 1-1.jpg
กลอนตอนที่ 1-2.jpg
กลอนตอนที่ 1 3.jpg
กลอนตอนที่ 1 4.jpg
กลอนตอนที่ 1 5.jpg
กลอนตอนที่ 1 6.jpg
กลอนตอนที่ 1 7.jpg
กลอนตอนที่ 1 8.jpg
กลอนตอนที่ 1 9.jpg
กลอนตอนที่ 1 10.jpg
กลอนตอนที่ 1 11.jpg
กลอนตอนที่ 1 12.jpg
กลอนตอนที่ 1 13.jpg
กลอนตอนที่ 1 14.jpg
เจรจา
         ท้าวไตรตรึงษ์ : นี่แน่มหาราชครู  บัดนี้กูมีความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง  เพราะลูกหญิงของกูนั้นถามเท่าใดไม่ยอมให้การ  กูซักถามนางพี่เลี้ยงนงคราญและข้าหลวงทั้งปวงหมด ก็ไม่ได้ความปรากฏเป็นประโยชน์อันใดนักหนา คงได้ความแต่เพียงว่ามีผู้นำมะเขือผลใหญ่มาให้ลูกกู อยู่มาได้ไม่ช้าเจ้าอุษาก็ทรงครรภ์ คณานางต่างโจษกันว่าเป็นการอัศจรรย์นักเลยกล่าวต่อไปว่า เทวาสุรารักษ์บันดาลให้กุมารมาเกิด แล้วโหรดูดวงชะตาก็ว่าเป็นผู้ประเสริฐเลิศบุรุษรัตน์ พยากรณ์ว่าจะเป็นพระยามหากษัตริย์ทรงอานุภาพอันยิ่งใหญ่ ก็บัดนี้ทำไฉน จะได้รู้ว่าใครเป็นบิดาแห่งกุมารราชครูเป็นผู้ชำนิชำนาญรอบรู้ในไตรเพทมีปัญญาอย่างวิเศษกว่าใครๆ จะเห็นควรทำฉันใด  จึ่งจะได้รู้พ่อแห่งหลานชาย  ขอจงได้แถลงแจ้งอุบายให้เราฟังบ้างสักที
         พระมหาราชครู : ขอเดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม ข้อพระองค์นี้ย่อมจะมีจิตจงรักภักดี ขอพระราชทานกราบบังคมทูลพระภูมีตามปัญญาอันน้อย  แม้พลั้งพลาดขาดเกินถ้อยขอพระราชทานอภัยขอพระองค์ผู้ทรงไผทจงมีพระราชบัญชาให้ป่าวประกาศบรรดาลูกเจ้าลูกขุนและประชาชนและ  ท้าวพระยามนตราผู้ประศาสน์เมืองใกล้เคียงขัณฑ์ให้มาจงพร้อมกันภายในปลายปีหน้า ให้มีขัชโภชนาถือติดมาพร้อมพรั่ง  ให้มาเฉพาะหน้าที่พระนั่งวังสถานแล้วจึ่งให้อุ้มพระกุมารรออกมาสู่มาคมนั้นขอพระองค์ทรงธรรม์ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าแม้พระกุมารเป็นโอรสแห่งผู้ใด จงรับของของผู้นั้นไซร้ไปเสวยให้ปรากฏดังนี้ พระองค์ทรงยศก็จะทรงทราบตัวผู้เป็นบิตุรงค์  ต่อนั้นไปก็สุดแต่พระประสงค์พระผ่านเผ้าควรมิควรสุดแท้แต่จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ขอเดชะฯ
กลอน 15.jpg
         (คราวนี้มีกระบวนท้าวพระยาสามนตราชยกไปไตรตรึกษ์หน้าพาทย์ต่างๆ ตามภาษา เลือกเอาแต่พอจะเชื่อได้ว่าไปมาถึงกันได้ในสมัยโน้นกระบวนออกเป็นลำดับคือ 1.ญี่ปุ่น 2.จีน 3.ชวา 4.ญวน 5.ขอม 6.นครศรีธรรมราช 7.ม่าน (พม่า) 8.ลานนาไทย เมื่อกระบวนออกครบแล้วหน้าพาทย์เชิดกระบวนพร้อมกันรอบหนึ่ง แล้วหายเข้าโรง)
กลอน 16.jpg
เจรจา
         ขุนอิทรเดชะ :  ขอเดชะพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อมด้วยมีข่าวป่าวประกาศมาจากนครไตรตรึงษ์  ถึงท้าวพระยาสามนตราชให้รู้ทั่วกัน  ด้วยขุนหอคำผู้ทรงไตรตรึงษ์บุรี  มีพระราชนัดดาอันสมภพแด่พระธิดาท่าน  แต่ใครเป็นบิดาพระกุมารหาปรากฏไม่  ขุนหอคำองค์นั้นไซร้จึ่งให้ป่าวประกาศขอเชิญท้าวพระยาสามนตราชไปพร้อมกัน  ชุมนุม  ณ วังแห่งขุนนั้นภายในกำหนดสิ้นปี และต่างองค์ต่างให้มีขัชโภชนาถือติดมือไปในเวลาเข้าไปยังหน้าที่นั่งขุนหอคำเธอจึ่งจะตั้งสัตยาธิษฐาน แม้ใครเป็นบิดากุมารผู้นัดดาขอให้กุมารรับโภชนาจากมือผู้นั้น แล้วจึ่งจะจัดให้ครองกันกับพระบุตรี จะจัดแจงแต่งมงคลพิธีโดยถี่ถ้วน ควรมิควรสุดแท้แต่จะทรงกรุณา โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม  ขอเดชะฯ
กลอน 17.jpg
กลอน 18.jpg

วันเดือนปีที่ประพันธ์[แก้ไข]

         สมัยรัชกาลที่ 6 วันพฤหัสบดีที่ 29 มกราคม พ.ศ.2456

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         วันที่ 21 ตุลาคม 2562

ผู้สำรวจ[แก้ไข]

         อ.ยุชิตา  กันหามิ่ง
         นายจักรกฤษณ์  ศุกร์ดี

คำสำคัญ (TAG)[แก้ไข]

         ตำนานท้าวแสนปม, นครไตรตรึงษ์