ฐานข้อมูล เรื่อง ผมแดง คนไทยเชื้อสายเวียงจันทน์ ในจังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

ชื่อชาติพันธุ์[แก้ไข]

         คนผมแดง

ชื่อเรียกตนเอง[แก้ไข]

         คนผมแดง

ที่ตั้ง[แก้ไข]

         ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษบุรี จังหวัดกำแพงเพชร

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก[แก้ไข]

         ไอ้แดง, ไอ้หัวแดง, คนผมแดง

ภาษาที่ใช้พูดหรือเขียน[แก้ไข]

         เมื่อก่อนจะใช้ภาษาลาวในการสื่อสาร แต่ ณ ปัจจุบันก็เริ่มเปลี่ยนแปลงภาษาให้สามารถสื่อสารกับคนไทยท้องถิ่นได้ จนภาษาลาวแต่เดิมได้หายไป

ประวัติความเป็นมา[แก้ไข]

         คนผมแดง เป็นกลุ่มชนที่มีตำนานเล่าว่าอาศัยอยู่ที่เวียงจันทน์ และได้อพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อเกิดสงคราม โดยธิดาของเจ้าเมือง (ไม่ปรากฏชื่อ) ได้หนีมากับทหาร และได้นำพระพุทธรูปมาด้วย 2 องค์ คือพระจักรนารายณ์และพระนาคปรก ขณะเดินทางผู้คนล้มเจ็บป่วยตายไปเรื่อย ๆ เหลือแต่ทหารผู้ถือพระพุทธรูปทั้ง 2 องค์ และเจ้าหญิงผมสีทอง ต่อมาเจ้าหญิงผมสีทองได้เดินหลงทางไปในป่า ได้พบกับนายพรานซึ่งกำลังนั่งเนื้อ (นั่งบนต้นไม้เพื่อล่าสัตว์ในเวลากลางคืน) และได้ขอขึ้นไปอาศัยอยู่ด้วย แต่พรานป่าไม่ให้ขึ้นไปเพราะเกรงว่าจะเป็นผีโป่งปลอมตัวมา จึงปล่อยให้เจ้าหญิงอยู่ข้างล่างและจุดไฟ พอถึงรุ่งเช้าจึงรู้ว่าเป็นคนและได้เกิดความรักและเห็นอกเห็นใจกัน ต่อมาจึงได้อยู่ร่วมกันเป็นสามีภรรยาจนมีลูกหลานสืบต่อกันมา ลูกหลานที่เกิดมาจากทั้งสองมีผมสีทองออกไปจนสีแดง ซึ่งคนผมแดงได้อพยพมาอยู่ในบริเวณหมู่บ้านแสนตอ หมู่ที่ 2 ตำบลแสนตอ อำเภอขาณุวรลักษณ์บุรี จังหวัดกำแพงเพชร
1 รูปป้ายถิ่นคนผมแดง.jpg

ภาพที่ 1 รูปป้ายถิ่นคนผมแดง

ข้อมูลประชากรศาสตร์[แก้ไข]

         นายสันติ อภัยราช (ปราชญ์ชาวบ้าน) ได้กล่าวไว้ว่าต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีคนผมแดงอาศัยอยู่ประมาณ 20 ครอบครัว เมื่อ 10 ปีก่อนมีคนผมแดงกว่า 16 คน แต่ตอนนี้มีบางส่วนไปทำงานที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้นางเรณู  ปัญญาโชติ ยังบอกอีกว่า ในสมัยนี้ไม่ค่อยพบเจอคนที่มีผมสีแดงเด่นชัดสักเท่าไร เนื่องจากคนผมแดงกระจายตัวและแต่งงานกับคนจากที่ต่าง ๆ ทำให้ลักษณะสีแดงที่เด่นชัดนั้นค่อย ๆ หายไป บางคนก็มีผมสีโค้ก บางคนก็ผมสีดำแต่เวลาโดนแดดเป็นสีแดงก็มี

ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์[แก้ไข]

         พื้นที่ราบเรียบ

ลักษณะของคนผมแดง[แก้ไข]

2 รูปเปรียบเทียบคนผมแดงกับคนสีผมธรรมดา.jpg

ภาพที่ 2 รูปเปรียบเทียบคนผมแดงกับคนสีผมธรรมดา

         คนผมแดง เป็นคนธรรมดาที่มีผมสีแดงออกทอง โดยจะแดงตั้งแต่โคนผมไปจนถึงปลายเส้นผม ขนตา ขนคิ้ว ขนแขนก็แดง หรือแม้แต่หนังศีรษะก็ยังเป็นสีแดง
3 รูปผมและหนวดสีแดง.jpg

ภาพที่ 3 รูปผมและหนวดสีแดง

         แต่ก็ใช่ว่าผมจะมีสีแดงเท่ากันทุกคน บางคนแดงมากบางคนก็แดงน้อยคละกันไป และไม่ใช่ทุกคนที่จะมีผมสีแดง โดยคนที่มีผมสีแดงนั้นจะต้องมีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่งที่เป็นคนหัวแดง ลูกที่เกิดมาจึงจะเป็นคนหัวแดง บางคนพ่อแดงแม่ดำแต่ลูกก็ไม่ได้มีผมสีแดง แต่ที่แน่ ๆ เมื่อทุกคนอายุมากขึ้นแล้ว ผมที่มีสีแดงจะค่อย ๆ แปรสภาพเป็นสีน้ำตาลโค้กและกลายเป็นสีขาวเหมือนผมหงอกในที่สุด โดยสีผมจะเปลี่ยนเป็น 3 ช่วง ได้แก่
         ช่วงที่ 1 สีเริ่มต้น
             ในช่วงนี้ผมจะมีสีดำก่อน จนถึงอายุประมาณหนึ่งผมจึงจะเริ่มเปลี่ยนสี (ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วยว่าจะเปลี่ยนเมื่อไร)
4 รูปเด็กที่มีผมสีแดง.jpg

ภาพที่ 4 รูปเด็กที่มีผมสีแดง

         ช่วงที่ 2 สีแดง
             ในช่วงนี้ผมจะเปลี่ยนสภาพเป็นสีแดงออกทอง (ความเข้ม - จางนั้นขึ้นอยู่กับกรรมพันธุ์)
5 รูปคนผมแดงในวัยชราภาพ.jpg

ภาพที่ 5 รูปคนผมแดงในวัยชราภาพ

         ช่วงที่ 3 สีหงอก
             ในระยะนี้จะเป็นสีที่เปลี่ยนจากสีแดงเป็นสีที่เข้มขึ้น อาจเป็นสีแดงน้ำตาลโค้ก หรือสีดำ ก่อนที่จะแปรสภาพเป็นสีขาวหงอก

วิถีชีวิต[แก้ไข]

อาชีพ[แก้ไข]

         ค้าขาย, เกษตรกร, รับจ้างทั่วไป

ครอบครัว[แก้ไข]

         เหมือนคนไทยทั่วไปมีทั้งอยู่ด้วยกัน และแยกย้ายไปทำงานในที่ต่าง ๆ

การแต่งกาย[แก้ไข]

         เหมือนคนไทยปัจจุบัน

ที่อยู่อาศัยหรือความเป็นอยู่[แก้ไข]

         เมื่อก่อนคนที่มีผมสีแดงจะมีฐานะยากจน แต่ปัจจุบันก็ประกอบอาชีพตั้งตนได้ส่วนใหญ่จึงมีฐานะปานกลาง

ประเพณี[แก้ไข]

ความเชื่อ[แก้ไข]

         พระจักรนารายณ์ และพระนาคปรก, นายพรานและพระบาง
         ตำนานการสร้างพระบางปรากฏในพงศาวดารหลวงพระบาง ตามฉบับที่มีอยู่ในศาลาลูกขุนกล่าวว่าพระอรหันต์ชื่อจุลนาคเถรได้สร้างพระบางขึ้นในศักราช 236 ที่เมืองลังกา และได้อธิษฐานบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 5 พระองค์ ไว้ภายในพระบาง ดังนี้ มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อพระจุลนาคเถรอยู่เมืองลังกาทวีป ประกอบด้วยพระไตรปิฎกคิดจะให้พระพุทธศาสนารุ่งเรืองไปตราบเท่าถ้วนถึง 5000 พระวัสสา พระองค์จึงพิเคราะห์ด้วยเหตุจะสร้างรูปพระปฏิมากร จึงให้คนไปป่าวร้องชาวเมืองลังกาทวีปให้มาพร้อมกันแล้ว ให้ช่างปั้นรูปพระพุทธเจ้ายกพระหัตถ์ทั้งสองขึ้นห้าม เมื่อพระยากบิลพัสดุ์ พระยาโกลียยกไพร่พลมารบกันริมน้ำโรทินี ครั้นปั้นเสร็จแล้วคนทั้งหลายก็เอาเงินและทองคํา ทองแดง ทองเหลืองมาให้พระจุลนาคเถรหล่อรูปพระปฏิมากร แล้วชาวเมืองลังกาก็พากันทําสักการะบูชาต่าง ๆ พระจุลนาคเถร พระยาลังกาพร้อมกันยกเอาพระปฏิมากรขึ้นตั้งไว้ในปราสาท ขนานนามตั้งว่าพระบาง แล้วพระจุลนาคเถรจึงอัญเชิญพระบรมธาตุ 5 พระองค์ ใส่ผอบแก้วขึ้นตั้งไว้บนอาสนะทองตรงพระพักตร์พระบาง อธิษฐานว่าพระบางองค์นี้จะได้เป็นที่ไหว้ที่บูชาแก่เทพยดา มนุษย์ทั้งปวงถาวรสืบไปถึง 5000 พระวัสสา ก็ขอให้พระบรมธาตุ 5 พระองค์ เสด็จเข้าสถิตอยู่ในรูปพระบางนั้น แล้วพระบรมธาตุเสด็จเข้าอยู่ที่พระนลาตองค์ 1 อยู่ที่พระหนุองค์ 1 อยู่ที่พระอุระองค์ 1 อยู่พระหัตถ์เบื้องขวาองค์ 1 อยู่พระหัตถ์เบื้องซ้ายองค์ 1 แล้วพระบางก็ทําปาฏิหาริย์มหัศจรรย์ต่าง ๆ ได้มีการสมโภช 7 วัน 7 คืน 
         ในกาลต่อมาพระยาศรีจุลราชได้ขออัญเชิญพระบางจากพระยาสุบินราชเจ้าแผ่นดินเมืองลังกามาประดิษฐานเมืองอินทปัตนคร (กรุงกัมพูชา) ต่อมาพระเจ้าฟ้างุ้มผู้ครองเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวผู้เป็นลูกเขย จึงขออัญเชิญพระบางไปยังเมืองของตน ครั้นเมื่อเดินทางถึงนครเวียงคํา พระยาเวียงคําขออัญเชิญพระบางไว้ทําสักการะบูชาก่อน พระเจ้าฟ้างุ้มจึงพาไพร่พลไปเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว
         ในศักราช 834 (พ.ศ.2015) สมัยพระยาล่าน้ำแสนไทไตรภูวนารถ เจ้าเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ให้ท้าวพระยาไปอัญเชิญพระบางจากเมืองเวียงคํามาไว้ที่วัดเชียงกลางเมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว (เมืองหลวงพระบาง) จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่พระบางได้ประดิษฐานในอาณาจักรล้านช้าง เหตุการณ์หลังจากนี้เป็นการเล่าพระราชพงศาวดาร รวมถึงการกล่าวถึงการอัญเชิญพระบางไปประดิษฐานยังพระอารามต่าง ๆ ที่กษัตริย์ล้านช้างมีพระราชศรัทธาสร้างขึ้น
         ในศักราช 921 (พ.ศ.2102) สมัยพระไชยเชษฐาธิราช ลงมาตั้งเมืองเวียงจันทน์ มีชื่อว่าเมืองจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว แต่พระบางยังอยู่เมืองศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว จึงเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหลวงพระบางราชธานีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว ตามชื่อของพระบาง และในศักราช 1043 (พ.ศ.2224) ท้าวนองอัญเชิญพระบางลงมาเมืองเวียงจันทบุรีศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาว (เมืองเวียงจันทน์) จนกระทั่ง ถูกอัญเชิญไปกรุงธนบุรี จากตํานานหรือพระราชพงศาวดารหลวงพระบางข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความสําคัญของพระบาง ทั้งในด้านความศักดิ์สิทธิ์และระยะเวลานับร้อยปีที่พระบางประดิษฐานในอาณาจักรล้านช้าง ที่มีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์สําคัญทางประวัติศาสตร์ เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปลี่ยนชื่อเมืองตามนามของพระบาง หรือการอัญเชิญพระบางไปพร้อมกับการย้ายเมือง แสดงให้เห็นถึงฐานะของพระบางที่เป็นพระพุทธรูปสําคัญอันมีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นตัวแทนหลักชัยของอาณาจักรด้วย
         นอกจากนี้คนผมแดงในสมัยก่อนยังนับถือศาลเจ้าพ่อปู่ดำ ซึ่งเชื่อว่าเจ้าพ่อปู่ดำเป็นพรานป่าที่มีความสามารถมาก ปัจจุบันมีพิธีบวงสรวงถูกจัดขึ้นทุกปีในวันสงกรานต์และมีการเข้าทรงเพื่อทำนายความเป็นไปในหมู่บ้าน แต่พิธีก็เลือนหายไป คนผมแดงในปัจจุบันก็เปลี่ยนมาศรัทธาในหลวงพ่อโตมากขึ้น

ศาสนา[แก้ไข]

         พุทธ

ข้อมูลอื่น ๆ[แก้ไข]

แสนตอดินแดนของชาวผมแดงก่อนเปลี่ยนลดเป็นตำบล[แก้ไข]

6 รูปอาณาเขตจังหวัดกำแพงเพชร.jpg

ภาพที่ 6 รูปอาณาเขตจังหวัดกำแพงเพชร

         เมืองแสนตอเป็นชื่อเดิมของ อำเภอขาณุวรลักษบุรี ตั้งอยู่บริเวณทางใต้ลุ่มแม่น้ำปิง เป็นชุมชนโบราณเรียกว่า เมืองแสนตอ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองโบราณรุ่นเดียวกับเมืองเทพนคร เมืองไตรตรึงษ์ เมืองพาน เมืองคณฑี เมืองนครชุม เมืองชากังราว มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานในสมัยสมเด็จพระมหาจักพรรดิ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา มีบันทึกในพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐ ว่า พ.ศ.2102 สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จมาคล้องช้าง ณ เมืองแสนตอ ซึ่งขึ้นกับเมืองกำแพงเพชร ได้ช้าง 40 เชือก ชุมชนเก่าแก่ของอำเภอขาณุวรลักษบุรี คือชุมชนเขากะล่อน บริเวณบ้านป่าพุทรา เป็นชุมชนในยุคหินใหม่มีอายุประมาณ 5,000–10,000 ปี จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปีพุทธศักราช 2530 พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก อาทิ ขวานหินขัด หัวธนู กำไล ลูกปัด เศษภาชนะดินเผา จากหลักฐานดังกล่าวยืนยันได้ว่าชุมชนเมืองแสนตอเป็นเมืองเก่าแก่ก่อนประวัติศาสตร์ของจังหวัดกำแพงเพชร
         แต่เดิมอำเภอขาณุวรลักษบุรี มีฐานะเป็นกิ่งอำเภอ แยกจากอำเภอคลองขลุง มีชื่อว่า "กิ่งอำเภอแสนตอ" ที่ว่าการกิ่งอำเภอแสนตอเดิมตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิง (หน้าโรงเรียนวัดน้อยวรลักษณ์ในปัจจุบัน) เนื่องจากถูกน้ำกัดเซาะจึงย้ายมาตั้งในสถานที่ปัจจุบันนี้ “เมืองแสนตอ” เป็นเมืองโบราณหลายร้อยปี ต่อมาลดฐานะมาเป็นตำบลแสนตอ เมื่อมีการตั้งกิ่งอำเภอ ทางราชการก็นำชื่อมาตั้งเป็น “กิ่งอำเภอแสนตอ ที่เรียกว่าเมืองแสนตอเพราะมีตอจำนวนมากในแม่น้ำปิงช่วงนี้  สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นร่องลอยที่เมืองแสนตอทำดักเรือของพม่า เมื่อไปตีกรุงศรีอยุธยา หรือ บางท่านว่า มีการตัดไม้มาก เมื่อตลิ่งพังตอเหล่านั้นได้ตกลงไปในน้ำทำให้ลำน้ำปิงช่วงแสนตอ มีตอมากมาย จึงเรียกว่าเมืองแสนตอ กระทรวงมหาดไทยได้เสนอ ให้ตั้งชื่อใหม่ว่า“ กิ่งอำเภอขาณุบุรี” ซึ่งแปลได้ความว่า เมืองแสนตอ คงเดิม แต่ปรากฏว่า เมื่อกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ในปี พ.ศ.2483 ได้เพิ่มคำว่า “วรลักษณ์” ต่อท้าย จึงชื่อว่า “กิ่งอำเภอขาณุวรลักษณบุรี” คำว่า “ขาณุวรลักษณบุรี” นั้น ประกอบด้วยคำว่า ขาณุ แปลว่า ตอ คำว่า วร เป็นชื่อขุนวรลักษณ์ เจ้าเมืองแสนตอในอดีต คำว่า ลักษณ์ แปลว่า หมื่นแสน คำว่า บุรี แปลว่าเมือง เมื่อมารวมกันก็ยังมีความหมายเช่นเดิม และในปี พ.ศ.2490 กระทรวงมหาดไทย ได้ประกาศยกฐานะเป็นอำเภอและได้พิจารณาตัดพยัญชนะตัว “ณ” ออกไป จึงมีชื่อว่า   “อำเภอขาณุวรลักษบุรี” มาจนถึงทุกวันนี้ อำเภอขาณุวรลักษบุรี แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 ตำบล คือ ตำบลแสนตอ ตำบลยางสูง ตำบลระหาน ตำบลสลกบาตร ตำบลบ่อถ้ำ
         ในเดือนสิงหาคม ปีพุทธศักราช 2449 พระพุทธเจ้าหลวงได้เสด็จประพาสต้นหัวเมืองเหนือ เพื่อได้ทรงทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของอาณาประชาราษฎร์ด้วยพระเนตรของพระองค์ พระบารมีปกเกล้าชาวแสนตอ ในวันที่ 18 สิงหาคม 2449 พระองค์ทรงบันทึกจดหมายเหตุไว้ว่า “จนเวลาย่ำค่ำขึ้นที่หาดบ้านแสนตอ เดินข้ามไปวัดสว่างอารมณ์ ตำบลที่เรียกว่าแสนตอ จนเป็นชื่อเมืองขาณุ นี้มีตอมากจริง เรือได้โดนครั้งหนึ่ง เพราะเหตุที่เป็นตลิ่งพังมาก เดินตามถนนฝั่งตะวันตก แวะเก็บอะไรต่ออะไรบ้าง มาจนถึงวัดซึ่งเป็นวัดสร้างใหม่ เรียกว่าวัดหัวเมือง ต่อแต่วัดนั้นมาถึงที่ว่าการเมือง ซึ่งยังเป็นหลังคามุงแฝกอยู่ทั้งนั้น ที่จอดเรืออยู่เหนือที่ว่าการนิดหนึ่ง” พระองค์ทรงประทับแรม  ณ ที่นี้หนึ่งราตรี ชาวแสนตอมีความภาคภูมิใจมากว่า ครั้งหนึ่งพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาที่บ้านแสนตอและในวันต่อมา พระพุทธเจ้าหลวงได้บันทึกเรื่องของคนผมแดงไว้ว่าวันที่ 19 ไว้ว่า “วันนี้ตื่นสายไป แล้วพระวิเชียรพาคนผมแดงมาให้ดู อันลักษณะผมแดงนั้นเป็นผมม้า แดงอย่างอ่อนหรือเหลืองแก่ ผมที่แดงนี้มาข้างพันธุ์พ่อ ถ้าผู้หญิงไปได้ผัวผมดำ ลูกออกมาก็ผมดำไปด้วย ผมแดงนั้นเปลี่ยน 3 อย่าง แรกแดงครั้นอายุมากเข้าก็ดำหม่น ลงแก่ก็เลยขาวทีเดียว บอกพืชพันธุ์ว่า ทราบว่าตัวมาแต่เวียงจันทน์ แต่มาก่อนอนุเป็นขบถ จะได้ตั้งอยู่นานเท่าไรไม่ทราบ พูดเป็นไทยประพฤติอาการกิริยาก็เป็นไทย เฉพาะมีมากอยู่ที่เมืองขาณุ ที่กำแพงเพชรนี้มีแต่กระเส็นกระสาย”

จดหมายเหตุประพาสต้นในรัชกาลที่ 5[แก้ไข]

         พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งเสด็จประพาสต้นและพักแรมที่อำเภอขาณุวรลักษบุรี ตอนหนึ่งว่า “เวลาบ่ายสี่โมง แวะจอดถ่ายรูปหาดแล้วลงเรือชลาประพาสเที่ยวต่อไปแวะบ้านข้างฝั่งตะวันออกถึงบ้านตาแสนปม เป็นปมไปทั้งตัวแม้ไม่มีอะไรแดดเผา จึงได้ลงเรือต่อมาจนเวลา  ย่ำค่ำขึ้นที่บ้านหาดแสนตอ เดินข้ามไปวัดสว่างอารมณ์ ตำบลที่เรียกว่า แสนตอ เป็นชื่อเมืองขาณุนี้ มีตอมากจริง ๆ เรือได้โค่นครั้งหนึ่ง เพราะเหตุที่ตลิ่งพังมาก เดินตามถนนฝั่งตะวันตก แวะเก็บอะไรต่ออะไรบ้าง มาจนถึงวัดที่เป็นวัดสร้างใหม่ เรียกว่า วัดหัวเมือง ตั้งแต่วัดนั้นจนถึงที่ว่าการเมือง ซึ่งเป็นเรือนหลังคามุงแฝกทั้งนั้น ที่จอดเรืออยู่เหนือที่ว่าการนิดหนึ่ง” 
         อีกตอนหนึ่งคือ “วันที่ 19 วันนี้ตื่นสายไปแล้วพระวิเชียรพาคนผมแดงมาให้ดูอันลักษณะผมแดงนั้นเป็นผมม้าแดงอย่างอ่อนหรือเหลืองอย่างแก่ ผมที่แดงนี้มาข้างพันธุ์พ่อ ถ้าเป็นผู้หญิงไปได้ผัวผมดำลูกออกมา  ก็ผมดำไปด้วย ผมแดงนั้นเปลี่ยน 3 อย่างแรกแดงครั้นอายุมากเข้าก็ดำหม่นลง แก่ก็เลยขาวทีเดียว บอกพืชพันธุ์ว่าทราบว่าตัวแม่แต่เวียงจันทน์ แต่มาก่อนอนุเป็นขบถจะได้ตั้งอยู่ช้านานเท่าไรไม่ทราบ พูดเป็นไทย ประพฤติอาการกิริยาก็เป็นไทย เฉพาะมีมากอยู่ที่เมืองขาณุ ที่กำแพงเพชรนี้มีแต่กระเส็นกระสาย ออกเรือเวลา 3 โมงตรงเกือบ 5 โมง จึงได้ขึ้นเรือเหลือง ทำกับข้าว แวะเข้าจอดที่ ๆ ประทับร้อนเพราะระยะสั้น แต่จืดไปไม่สนุกจึงได้ไปจอดหัวหาดแม่ลาด ซึ่งมีต้นไม้ร่ม กินข้าวและถ่ายรูปเล่น ในที่นั้น แล้วเดินทางต่อมาหมายว่าจะข้ามระยะ ไปนอนคลองขลุง แต่เห็นเวลาเย็น ที่พลับพลาตำบลบางแขมนี้ทำดีตั้งอยู่ที่หาดและพลับพลาหันหน้าต้องลม จึงได้หยุด พอเวลาบ่าย 4 โมงตรง อาบน้ำ แล้วมีพวกชาวบ้านลงมาหา เล่าถึงเรื่องไปทับเงี้ยว เวลาเย็นขึ้นไปเที่ยวบนบ้านและไปที่ไร่ระยะทางเวลาวันนี้สองฝั่งน้ำ ระยะบ้านห่างลงมีป่าคั่นมาก แลดูเหมือนจะไม่จับฝั่งตะวันตก เช่น ตอนล่าง ๆ มีตะวันตกบ้างตะวันออกบ้าง เช่น บ้านบางแขมนี้ก็เป็นบ้านหมู่ใหญ่ อยู่ฝั่งตะวันออกราษฎรอยู่ข้างจะขี้ขลาด กว่าตอนข้างล่าง ไม่ใคร่รู้อะไรไม่ใคร่รู้อะไรสังเกตตามเรื่องราวที่ยืนเป็นข้อไม่ต้องทำอะไร ไม่ให้ต้องเสียอะไรมาก” 
         เมื่อคนผมแดงเข้าเฝ้า นายอ่อง (ปู่ของนางทองคำ แสนแก้ว) เล่าว่า พระพุทธเจ้าหลวง (พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5) ประสงค์จะขอไปเลี้ยง แต่นายอ่องอายุประมาณ 3 ขวบ ร้องไห้ พระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่า รอให้โตก่อน เดี๋ยวจะร้องไห้ตายเสียในวัง แล้วพระองค์พระราชทานผ้าแพรให้ผืนหนึ่ง เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายของการไปเข้าเฝ้าครั้งต่อไป แต่นายอ่อง ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้า คนผมแดงในปัจจุบันยังมีอยู่หลายครอบครัว พวกเขามีความสุขและได้รับความชื่นชมและยอมรับในทุกฝ่าย ทำให้คนผมแดงภูมิใจในชาติกำเนิดของพวกเขามาก
7 รูปต้นโพธิ์ที่วัดพรหมประดิษฐ์ในปัจจุบัน.jpg

ภาพที่ 7 รูปต้นโพธิ์ที่วัดพรหมประดิษฐ์ในปัจจุบัน

         วันที่ 18 สิงหาคม ร.ศ.125 ผ่านบ้านแม่ลาด เสด็จขึ้นที่หาดบ้านแสนตอ เมืองขาณุ เพื่อหยุดพักเสวยพระกระยาหาร (ปัจจุบันคือวัดพรหมประดิษฐ์) และได้ไปพลับพลาที่วัดน้อยวรลักษณ์
8 รูปวัดน้อยวรลักษณ์ในปัจจุบันและที่ตั้งสมัยอดีตของวัดน้อยวรลักษณ์.jpg

ภาพที่ 8 รูปวัดน้อยวรลักษณ์ในปัจจุบันและที่ตั้งสมัยอดีตของวัดน้อยวรลักษณ์

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         1 ตุลาคม 2563

วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         15 พฤศจิกายน 2563

ผู้สำรวจ[แก้ไข]

         นางสาวเกษมศรี ท้องฟ้าธำรง	
         นางสาวนริศรา  สารีดี		
         นางสาวพรศิริ  ไพรวันรักษา	
         นาวสาวเนตรชนก  ระเริงแม่เมย	

คำสำคัญ[แก้ไข]

         คนผมแดง, เวียงจันทร์, กำแพงเพชร