ฐานข้อมูล เรื่อง ระบำชากังราว

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

ชื่อการแสดง[แก้ไข]

         ระบำชากังราว

ชื่อเรียกอื่น ๆ[แก้ไข]

         -

ประเภทการแสดง[แก้ไข]

         1. ระบำแบบดั้งเดิมหรือระบำมาตรฐาน ได้แก่ ระบำที่ฝึกหัดกันเพื่อให้เป็นแบบมาตรฐานที่มีมาแต่ครั้งโบราณ เช่น ระบำสี่บท หรือบางครั้งเรียกว่า "ระบำใหญ่" ต่อมามีผู้ประดิษฐ์ระบำซึ่งเลียนแบบระบำสี่บทขึ้นอีกหลายชุด และถือว่าเป็นระบำมาตรฐานที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เช่น ระบำย่องหงิด ระบำดาวดึงส์ ระบำกฤดาภินิหาร ฯลฯ การแต่งกายประเภทระบำมาตรฐาน ส่วนใหญ่จะแต่งกายในลักษณะที่เรียกว่า "ยืนเครื่อง"
         2. ระบำปรับปรุง หมายถึงระบำที่ได้ปรับปรุงขึ้นใหม่ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ในโอกาสต่างๆ แยกได้เป็น
             - ปรับปรุงจากแบบมาตรฐาน หมายถึงระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นโดยยึดแบบและลีลา ตลอดจนความสวยงามในด้านระบำไว้ท่าทางลีลาที่สำคัญยังคงไว้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้งามขึ้น หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่ที่นำไปแสดง
             - ปรับปรุงจากพื้นบ้าน หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์สร้างสรรค์ขึ้นจากแนวทางความเป็นอยู่ของคนพื้นบ้าน การทำมาหากิน ขนบธรรมเนียมประเพณี ในแต่ละท้องถิ่นมาแสดงออกในรูประบำ เพื่อเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นของตน เช่น เซ้งบั้งไฟ เต้นกำรำเคียว ระบำงอบ ระบำกะลา รองเง็ง ฯลฯ
             - ปรับปรุงจากท่าทางของสัตว์ หมายถึงระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ตามลักษณะลีลาท่าทางของสัตว์ชนิดต่าง ๆ บางครั้งอาจนำมาใช้ประกอบการแสดงโขน ละคร บางครั้งก็นำมาใช้เป็นการแสดงเบ็ดเตล็ด เช่น ระบำนกยูง ระบำนกเขา ระบำมฤครำเริง ระบำบันเทิงกาสร เป็นต้น
             - ปรับปรุงตามเหตุการณ์ต่างๆ หมายถึง ระบำที่คิดประดิษฐ์ขึ้นใช้ตามโอกาสที่เหมาะสม เช่น ระบำพระประทีป ระบำโคมไฟ ประดิษฐ์ขึ้นใช้แสดงในวันนักขัตฤกษ์ เป็นต้น
         ระบำประเภทปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ ลักษณะท่ารำจะไม่ตามตัวมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ ตัวบุคคล ตลอดจนฝีมือ และความสามารถของผู้ประดิษฐ์ท่าระบำ รำ หมายถึง การแสดงที่มุ่งความงามของการร่ายรำ หรือการแสดงลีลาท่าทางของผู้รำหมายถึงการแสดงนาฏศิลป์ที่จำนวนมากกว่า 2 คน ความมุ่งหมายของการแสดงงอยู่ที่ความงามที่มีความพร้อมเพรียงในการแสดงชนเผ่า หมายถึงชาติพันธุ์ทึ่มีอยู่ในพื้นที่อำเภอคลองลาน

โอกาสที่ใช้ในการแสดง[แก้ไข]

         -

ผู้คิดค้น[แก้ไข]

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์เยาวลักษณ์  ใจวิสุทธิ์หรรษา

สถานที่ริเริ่ม/สถานที่จัดแสดง[แก้ไข]

         -

ข้อมูลการแสดง[แก้ไข]

ประวัติความเป็นมา[แก้ไข]

         จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองเก่าที่นับว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยทวารวดี เป็นที่ตั้งของเมืองโบราณหลายเมือง เช่น เมืองชากังราว เมืองนครชุม เมืองไตรตรึงษ์ เมืองเทพนครและเมืองคณฑี นอกจากนี้เมืองกำแพงเพชร ยังเป็นเมืองที่สองที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ครองเมือง  มีบรรดาศักดิ์เป็น  “พระยา- วชิรปราการ” ต่อมาในปีพ.ศ.2459  ได้เปลี่ยนเมืองกำแพงเพชรเป็นจังหวัดกำแพงเพชร ตามประวัติศาสตร์กล่าวว่า กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวง เดิมเรียกชื่อว่า “เมืองชากังราว” และมีเมืองบริวารรายล้อมอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เมืองไตรตรึงษ์ เมืองเทพนคร ฯลฯ การที่กำแพงเพชรเป็นเมืองหน้าด่านรับศึกสงครามในอดีตอยู่เสมอ จึงเป็นเมืองยุทธศาสตร์ มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มากมาย เช่น กำแพงเมือง คูเมือง ป้อมปราการ วัดโบราณ มีหลักฐานให้สันนิษฐานว่า เดิมเคยเป็นที่ตั้งของเมือง 2 เมือง คือ เมืองชากังราวและเมืองนครชุม โดยเมืองชากังราวสร้างขึ้นก่อน ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง พระเจ้าเลอไท กษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์สุโขทัยเป็นผู้สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.1890 ต่อมาสมัยพระเจ้าลิไท กษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัยได้สร้างเมืองใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันตกของลำน้ำปิงคือ “เมืองนครชุม” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงบันทึกเรื่องกำแพงเมืองไว้ว่า  “เป็นกำแพงเมืองที่เก่าแก่ มั่นคง ยังมีความสมบูรณ์มาก และเชื่อว่าสวยงามที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันจังหวัดกำแพงเพชรเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่ง เพราะมีโบราณสถานเก่าแก่  ซึ่งก่อสร้างด้วยศิลาแลงหลายแห่งรวมอยู่ใน “อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร” ที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2534
         รูปแบบการสร้างสรรค์
         การสร้างสรรค์งานด้านนาฏศิลป์เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ที่สามารถสะท้อนปรัชญา แนวคิด บ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่นหรือท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน แต่การสร้างสรรค์งานด้านนาฏศิลป์ก็ต้องมีรูปแบบที่บรมครูด้านนาฏศิลป์ได้วางรากฐานไว้อย่างประณีตงดงาม มีขนบปฏิบัติที่ต้องนำมาเป็นมาตรฐานการสร้างงาน เช่น องค์ประกอบของการแสดงแต่ละประเภท ระบำ รำ ฟ้อนหรืองานสร้างสรรค์ศิลปะการแสดงด้านอื่น ๆ  ซึ่งมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับความมุ่งหมายของผู้สร้างผลงาน  จะโดยจุดมุ่งหมายเพื่อความงานด้านใดก็ตาม งานที่สร้างสรรค์ขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อวงการนาฏศิลป์ต่อไป
         นาฏศิลป์ไทย บรมครูด้านนาฏศิลป์ได้ให้ความหมายอยู่หลายประเด็น แต่โดยความหมายรวมคือ การร่ายรำของโขน ละคร ระบำ รำ ฟ้อน เป็นการเคลื่อนไหวของร่างกายอย่างอ่อนช้อย ประณีต งดงาม มีแบบแผน นาฏศิลป์ไทยยังมีบทบาทมากมายในสังคม  การดำเนินชีวิตของมนุษย์บางโอกาสมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของมนุษย์  โดยนำการแสดงนาฏศิลป์มาใช้ประกอบงานในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานมงคล งานอวมงคล หรือตามโอกาสที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการสร้างความสามัคคีในชุมชน  ในท้องถิ่นและสามารถบ่งบอกความเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและของชาติได้อย่างเด่นชัด
         ระชำชากังราว มีแนวความคิดการประดิษฐ์โดยนำท่ารำจากบรมครูด้านนาฏศิลป์นำมาเป็นต้นแบบในการสร้างชุดการแสดง เช่น การนำท่ารำมาจากท่ารำในรำแม่บท ท่ารำที่นำมาจากเพลงช้า-เพลงเร็ว และการคิดประดิษฐ์ท่ารำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นใหม่ มาเรียงท่ารำให้เกิดความงาม ความประณีตเป็นเอกลักษณ์เฉพาะชุดการแสดง และสามารถนำไปใช้แสดงเป็นชุดการแสดงประจำถิ่นจังหวัดกำแพงเพชร 
         องค์ประกอบของการแสดง	
             - เพลง
             - ท่ารำ 
             - เครื่องแต่งกาย
             - การแปรรูปแถว
             - นักแสดง
             - นักดนตรีบรรเลงประกอบการแสดง
         การสร้างสรรค์ระบำทุกชุดการแสดง สิ่งสำคัญที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ คือ เรื่องเพลงประกอบการแสดง ระบำชากังราว ผู้ประพันธ์ครั้งแรก อาจารย์ศิริชัยชาญ ฟักจำรูญ ขณะนั้นท่านเป็นผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์กรุงเทพ ได้ประพันธ์ทำนองเพลงขึ้นใหม่ ให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะระบำชากังราว บรรเลงเพลงโดยใช้วงมโหรีโบราณ สำหรับเครื่องแต่งกายได้นำรูปแบบโดยการถอดแบบและออกแบบมาจากรูปั้นเทวสตรี ที่ปรากฏในพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร และออกแบบให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของการแสดงชุดระบำชากังราว ดังรายละเอียดที่จะได้กล่าวไว้ในบทนี้
         จะเห็นได้ว่าระบำชากังราว เป็นการแสดงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยมีเอกลักษณ์เฉพาะ เพลงได้แต่งขึ้นใหม่  ตั้งชื่อเพลงใหม่ว่า เพลงชากังราว ตามชื่อเรียกขานเมืองเก่ากำแพงเพชรว่าเมืองชากังราว ทำนองเพลงเลียนทำนองเพลงนางนาคเป็นพื้นแต่มีความแตกต่าง ฟังแล้วไพเราะเป็นเพลงอัตรา 2 ชั้น และชั้นเดียว  ท่วงทำนองช่วงช้าอัตราจังหวะ 2 ชั้น และบรรเลงต่อด้วยเพลงชั้นเดียว ในปัจจุบันใช้วงมโหรีโบราณมีเสียง  ซอสามสายและกระจับปี่ ทำให้ทำนองเพลงมีความอ่อนหวานไพเราะจับใจ	

อุปกรณ์ประกอบ[แก้ไข]

         -

ขั้นตอน/วิธี/กระบวนการ[แก้ไข]

         ด้านวิชาการ  
         ได้นำใช้เป็นหลักสูตรท้องถิ่นวิชานาฏศิลป์และถ่ายทอดความรู้ให้กับครูนาฏศิลป์ในเขตพื้นที่จังหวักำแพงเพชร
         ด้านงานวิจัย
         การนำการแสดงระบำชากังราวไปต่อยอดการวิจัยการจัดทำของที่ระลึกโดยการนำไปทำรูปภาพนูนต่ำและการทำตุ๊กตาระบำชากังราวเพื่อเป็นของที่ระลึกประจำจังหวัดกำแพงเพชร กลายเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์โดยมีอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรเป็นแหล่งโบราณสถานที่สำคัญ ทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากองค์การ UNESCO ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 และนอกจากนี้จังหวัดกำแพงเพชรยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย เช่น อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองลาน และอุทยานแห่งชาติ คลองวังเจ้า รวมถึงมีเทศกาลและงานประเพณีประจำปีที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป  ได้แก่ งานประเพณีนพพระ-เล่นเพลง  งานประเพณีสารทไทยกล้วยไข่เมืองกำแพงเพชร ทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากมายที่เดินทางมาเยี่ยมชมในแต่ละปีจึงได้ทำการศึกษาเพื่อพัฒนาสินค้าที่ระลึกของจังหวัดกำแพงเพชร “ระบำชากังราว”เป็นสินค้าที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชรได้ และได้ข้อสรุปจากการศึกษาว่า ตุ๊กตาระบำชากังราว ควรจัดทำให้เป็นสินค้าที่ระลึกชนิดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร จากผลการศึกษาดังกล่าว ทำให้คณะผู้วิจัยสนใจที่จะพัฒนาสินค้าที่ระลึกตุ๊กตาระบำชากังราวสู่สินค้าที่ระลึกเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดกำแพงเพชร โดยวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการผลิตงานเพื่อเป็นการพัฒนาสินค้าที่ระลึกของจังหวัดกำแพงเพชร ประโยชน์ที่ได้รับ เป็นของที่ระลึกที่เป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย และจังหวัดกำแพงเพชร เป็นการพัฒนาสินค้าที่ระลึกของจังหวัดกำแพงเพชร เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดกำแพงเพชร	

ท่าการแสดงจำเพาะ[แก้ไข]

         ท่ารำ การแสดงระบำชากังราวเป็นการแสดงที่ไม่มีเนื้อร้องการสื่อภาษาท่ารำจึงมีความยากในการสร้างสรรค์ผลงาน แนวคิดในการประดิษฐ์ท่ารำเนื่องจากแนวคิดหลักเพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชรท่ารำต้องมีเอกลักษณ์ประจำถิ่นและโดดเด่นจึงนำท่ารำหลักมากจากพุทธลีลาต่าง ๆ และนำท่ารำทีมีลักษณะที่สวยงามที่บรมครูด้านนาฏศิลป์ได้สร้างสรรค์ไว้ด้วยความประณีต มาเรียงร้อยท่ารำให้สอดคล้อง ลักษณะการใช้ท่ารำในการแสดงระบำชากังราว มีหลายท่ารำย่อย เช่น ท่ารำ ชะนีร่ายไม้  ท่าปางลีลา ท่าปางประทานพร ปฏิบัติท่ารำสลับกัน 8 จังหวะ นับเป็น 1 ท่าใหญ่ ในการออกแบบท่ารำ การเคลื่อนไหวในการแสดงต้องนิ่มนวล สง่างาม เพราะท่ารำหลักที่นำมาใช้ในการสร้างผลงานคือ ท่าเปิดโลก ท่าสัตยาธิษฐาน ท่าประทานพร ท่าลีลา  และนำท่ารำที่นำภาษาท่า จากเพลงแม่บทที่บรมครูทางด้านนาฏศิลป์ได้สร้างสรรค์ไว้ นำมาใช้ประกอบการประดิษฐ์ท่ารำเช่น ท่าอำไพ ท่าภมรเคล้า ท่านางนอน ท่าบัวชูฝัก ท่าพรหมสี่หน้า มาเรียงร้อยเชื่อมโยงกับท่ารำหลักในการออกแบบท่ารำให้เกิดความงามตามลักษณะการประดิษฐ์ท่ารำด้านนาฏศิลป์ไทย
         การออกแบบท่ารำ ได้นำภาษาท่าทางของนาฏศิลป์ไทยมาใช้ในการประดิษฐ์ท่ารำและได้แนวคิดการนำท่าทางจากพุทธลีลาที่เป็นลักษณะเด่น เช่น ท่าปางลีลา ปางประทานพร  ปางเปิดโลก นำมาคิดประดิษฐ์เป็นนาฏลีลาท่ารำที่สวยงาม ดังภาพที่ 1 และ 2 โดยชุดการแสดงระบำชากังราวมีท่ารำประกอบ ดังนี้ 
ท่ารำ.jpg

ภาพที่ 1 การออกแบบท่ารำ

         และท่ารำที่นำมาจากแม่ท่าในเพลงแม่บท  ประกอบด้วย
ท่ารำ2.jpg
ท่าพรมสี่หน้า.jpg

ภาพที่ 2 การออกแบบท่ารำ(ต่อ)

ข้อมูลผู้แสดง[แก้ไข]

เพศผู้แสดง[แก้ไข]

         ใช้ผู้แสดง 9 ตัว สามารถแสดงได 7 คน 9 คน 5 คน 3 คน

จำนวนผู้แสดง[แก้ไข]

         จำนวนนักแสดง ลักษณะการแสดงใช้ผู้แสดง 9 ตัว มีการตั้งซุ้มเพื่อให้เกิดความงามตามหลักของการจัดรูปแบบแถวของการแสดง สามารถแสดงได 7 คน 9 คน 5 คน 3 คน จำเป็นต้องเป็นเลขคี่เนื่องจากการแสดงมีตัวกลาง

ลักษณะผู้แสดง[แก้ไข]

         -

การแต่งกายผู่แสดง/เครื่องประดับ[แก้ไข]

         เครื่องแต่งกาย ออกแบบโดยโดยได้แนวคิดจากจากรูปปั้นเทวสตรี เลขที่ประจำวัตถุ 339/2513 ที่ปรากฏในพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร และแกะลายออกแบบลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้งจนครั้งล่าสุดได้นำเสนอผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ให้คำแนะนำ และได้นำมาใช้ในการแสดงออกแบบเครื่องแต่งกายโดย นายรุ่งธรรม ศรีวรรธนศิลป์ ครูเชี่ยวชาญด้านประณีตศิลป์ วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร  เครื่องประได้ศึกษาจากรูปปั้นของช้างรอบที่ปรากฏในวัดช้างรอบอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรประกอบไปด้วยกรองคอ ต้นแขน และข้อมือ ศิราภรณ์สวมศีรษะนักแสดงได้แกะรูปแบบมาจากเครื่องปั้นดินเผารูปนางรำ เลขประจำวัตถุ 352/2513  ที่ปรากฏในพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร ผู้ออกแบบเครื่องประดับคนแรกคืออาจารย์ชนานันท์ ช่างเรียน และเครื่องแต่งกายระบำชากังราว ออกแบบเครื่องแต่งกายโดยอาจารย์รุ่งธรรม ธรรมปิยานันท์  อาจารย์ผู้สอนประจำวิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ดังภาพที่ 3 
ภาพที่ 2 เครื่องแต่งกายระบำชากังราว.jpg

ภาพที่ 3 เครื่องแต่งกายระบำชากังราว

ข้อมูลเพลง/ดนตรี[แก้ไข]

เพลงที่ใช้ในการแสดง[แก้ไข]

         เพลงประกอบการแสดง แต่งขึ้นใหม่โดยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและศึกษาข้อมูลเพลงในยุคสุโขทัยผู้เชี่ยวชาญได้ประพันธ์ขึ้นโดยใช้เพลงนางนาคเป็นพื้น และประพันธ์ทำนองใหม่เพื่อเป็นเพลงระบำชากังราวโดยเฉพาะผู้ประพันธ์คืออาจารย์ศิริชัยชาญ ฟักจำรูญ บันทึกเสียงครั้งแรก คือ อาจารย์ปฐมรัตน์ ถิ่นธรณี

เนื้อร้อง/ทำนอง[แก้ไข]

         การบรรจุเพลงโดย ดร.ศิริชัยชาญ ฟักจำรูญ  อดีตผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลป์ ในขณะนั้น ตำแหน่งก่อนเกษียณอายุราชการ คือ อธิบดีกรมศิลปากร

เพลงระบำชากังราว

ท่อน 1

---- ---ซฺ ---ลฺ -ทฺ-ด -รดท -ด-- รดลด -ร-ม-
---- ---- -ร-ม -ฟ-ซ -ลซฟ -ซ-- ลซลรํ -ดํ-ล
--ดํดํ รํดํลดํ --ลล ดํลซล --ซซ ลซมซ --มม ซมรม
---ซ ---ดํ -ท-ล -ซ-ม --ซฺลฺ ดรมซ มรดร มซ-ด

ท่อน 2

ซซซซ (ซซซซ) ดดดด (ดดดด) ดํดํดํดํ (ดํดํดํดํ) ทลซล ทดํรํมํ
---ดํ ---ล ---ซ ---ม ---ร ---ม ลซมซ ลซดํล
--ดํดํ รํดํลดํ --ลล ดํลซล --ซซ ลซมซ --มม ซมรม
---ซ ---ดํ -ท-ล -ซ-ม --ซฺลฺ ดรมซ มรดร มซ-ด

ชั้นเดียว/ท่อน 1

-ดดด -ซฺ-ด รดซฺด -ร-ม --รม ฟซฟซ ลซลรํ -ดํ-ล
--ดํดํ รํดํลดํ --ลล ดํลซล --ซซ ลซมซ --มม ซมรม

ท่อน 2

-ดดด -ซ-ดํ รํดํซด -รํ-มํ --ดํล ซมซม --รม ซลซล
--มํรํ ดํลํดํลํ --ดํล ซมซม --ซฺลฺ ดรมซ มรดร มซ-ด

ผู้แต่งเพลง เนื้อร้อง/ทำนอง[แก้ไข]

         -

เครื่องดนตรีประกอบ[แก้ไข]

วงดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงชุด “ระบำชากังราว” ใช้วงปี่พาทย์

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         30 เมษายน 2561

วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         -

ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์เยาวลักษณ์  ใจวิสุทธิ์หรรษา

คำสำคัญ(tag)[แก้ไข]

         ระบำชากังราว เป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่เพื่อให้เกิดเป็นการแสดงประจำจังหวัดกำแพงเพชร เป็นการสืบสานพัฒนาศิลปะด้านการแสดงให้เกิดระบำชุดใหม่ เพื่อนำไปใช้ในการแสดงเผยแพร่วัฒนธรรมในประเทศและต่างประเทศ แสดงรับแขกบ้านแขกเมืองหรือในโอกาสต่างๆ และเพื่อส่งเสริม การท่องเที่ยวของจังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากมีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างสรรค์ผลงาน จึงต้องคำนึงถึงเอกลักษณ์ของจังหวัดกำแพงเพชร ผู้สร้างสรรค์จึงได้ศึกษาและรวบรวมจากหนังสือ เอกสาร วารสาร งานวิจัย แหล่งข้อมูลในพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านนาฏศิลป์ดนตรีไทย ศึกษารูปแบบแนวคิดการสร้างสรรค์ผลงานด้านนาฏศิลป์นำมาเป็นข้อมูลในการสร้างสรรค์ผลงานนี้