ฐานข้อมูล เรื่อง ลูกปัดแก้วทวารวดี เมืองกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

เนื้อหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

ชื่อเรียกทางการ[แก้ไข]

         ลูกปัดเเก้ว

ชื่อเรียกอื่น ๆ[แก้ไข]

         ลูกปัดเเก้ว, ลูกปัดทวารวดี

ที่ตั้งแหล่งค้นพบ[แก้ไข]

         1. วัดไตรตรึงษ์ (วัดเจ็ดยอด) ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร
         2. ตำบลหัวถนน อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
         3. อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร
         4. แหล่งโบราณคดีบ้านหนองกอง ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์[แก้ไข]

         ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงตอนล่างที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณบริเวณภาคกลางในวัฒนธรรมทวารวดี คือ ตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 1-3 ชั้น ผังเมืองจะมีรูปร่างแตกต่างกันไป แต่มักจะขนานกับทางน้ำ

หน่วยงานที่ดูแลรักษา[แก้ไข]

         พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

ผู้ค้นพบ[แก้ไข]

         -

สถานการขึ้นทะเบียน[แก้ไข]

         ศิลปากร

สถานที่เก็บรักษา[แก้ไข]

         พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร

ข้อมูลทางโบราณคดี[แก้ไข]

ประวัติความเป็นมา/คำบอกเล่า/ตำนาน[แก้ไข]

         ลูกปัดเเก้ว เป็นเรื่องราวของวัตถุที่มีลักษณะเป็นเม็ด มีหลายรูปทรง เจาะรูเพื่อใช้ร้อยเข้าไปในเส้นด้ายหรือเชือก ซึ่งเป็นวัสดุที่ทนและไม่ขาดง่าย ลูกปัดเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นและใช้เมื่อหลายพันและหลายหมื่นปีมาแล้ว  มนุษย์ในสมัยแรกๆ  ทำลูกปัดจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น กระดูกสัตว์ เขี้ยว เปลือกหอย เมล็ดพืช เปลือกไม้ ยางไม้ ต่อมามนุษย์ทำลูกปัดจากวัสดุที่ทำขึ้นเอง เช่น ดินเผา แก้ว สำริด ทอง เป็นต้น ลูกปัดถูกใช้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการขุดพบลูกปัดมากมายในแหล่งอารายธรรมเก่าแก่ทั้งหลาย ลูกโบราณที่ขุดพบนั้นทำมาจากวัสดุต่าง ๆ
         ลูกปัดเกิดพร้อมพัฒนาการของมนุษย์ในทุกๆมุมโลก ลูกปัดจำนวนมากมายบอกเล่าถึงรสนิยม ความเชื่อ ภูมิปัญญา ศิลปะ กระบวนการผลิต เส้นทางการค้า เศรษฐกิจ อายุหรือสมัยที่ผลิตและอาจสื่อถึงนัยยะการเมืองอีกด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ลูกปัดเป็นมากกว่าเครื่องประดับหรือเครื่องรางของขลังตามความเชื่อของมนุษย์ ความสำคัญของลูกปัดโบราณ รองอธิบดีกรมศิลปากร เขมชาติ เทพไชย กล่าวว่า “การค้นพบลูกปัดโบราณนั้นคนทั่วไปอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่นี่คือหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้หลายเรื่อง อาทิ เส้นทางการค้าโบราณ ที่ทำให้รู้ว่าในอดีตมีการเชื่อมโยงกัน เพราะลูกปัดมีทุกทวีป ลูกปัด เป็นเครื่องบ่งบอกถึงอารยธรรมโบราณ ลูกปัดเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญที่เชื่อมโยงยุคสมัย และช่วยเปิดมุมมองด้าน การสร้างสรรค์ศิลปะที่ส่งผลถึงโลกในยุคปัจจุบันให้นักโบราณคดีได้รับทราบ ลูกปัดโบราณเม็ดหนึ่งมีเรื่องราวมากมายให้ค้นหา ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การผลิต การค้า และวิถีชีวิตของผู้คนยุคโบราณ ดังนั้นเมื่อค้นพบแล้วก็ไม่ควรจะสูญหายไป ลูกปัดโบราณ วัตถุโบราณทุกชิ้น สำหรับนักโบราณคดี ในทางโบราณคดีถือว่ามีคุณค่าทุกชิ้น เพราะเปรียบเสมือนเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เสมือนหนังสือเล่มหนึ่งที่บอกเรื่องราว เสมือนตำราการเรียนรู้เล่มโตที่ให้เราได้ศึกษาแง่มุมต่าง ๆ ดังนั้น ทุกชิ้นที่ค้นพบล้วนแล้วแต่มีคุณค่าสูงมาก ๆ จนไม่สามารถประเมินค่าออกมาเป็นตัวเงินได้
         ลูกปัดโบราณจะไม่ใช่เพียงของเก่าเม็ดเล็ก ๆ ที่มีคุณค่าในแง่ของความเก่าเท่านั้น แต่มันมีคุณค่ามาก ลูกปัดเม็ดเล็กที่เดินทางผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน  มีเรื่องราวมากมายแอบแฝงอยู่ ทำให้เราได้ศึกษาเรียนรู้อดีต ลูกปัดโบราณช่วยในการเชื่อมโยงภาพของการติดต่อสื่อสารกันระหว่างชุมชนในอดีตจากแหล่งที่ขุดค้นพบจากข้อมูลแวดล้อม ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
         ลูกปัดเป็นเครื่องประดับที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกมาทุกยุคทุกสมัย การค้นคว้าเรื่องราวของลูกปัดนั้นเชื่อว่ามีมายาวนานนับหมื่นปี ซึ่งลูกปัดในยุคนั้นทำมาจากเมล็ดพืช กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และหินที่มีรูอยู่แล้วตามธรรมชาติ เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการมากขึ้น การทำลูกปัดก็ซับซ้อนขึ้น สวยงาม แปลกตาเพิ่มขึ้น  เช่นการตกแต่งลวดลายลงไปบนเนื้อหินมีค่า เช่น อาเกตและคาร์เนเลียน ที่ถูกเรียกว่า เอตช์คาร์เนเลียนของอินเดีย และซีบีทของทิเบต เมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว เชื่อว่ามีการผลิตลูกปัดแก้วเพื่อทดแทนลูกปัดจากหินมีค่า เช่น อาเกตและคาร์เนเลียนที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ซึ่งหินเหล่านี้เริ่มหายากและราคาแพง ทำให้ผู้คนในยุคนโบราณใช้ลูกปัดแก้วที่ถูกผลิตขึ้นมา สวมใส่แทนลูกปัดที่ทำจากหินมีค่า
         ก่อนมาเป็นลูกปัดแก้วที่แท้จริงนั้น พบหลักฐานการใช้แก้วหรือการผลิตแก้ว นับว่ามีอายุการค้นพบเท่ากับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ซึ่งมีประวัติความเป็นมา และการพัฒนาควบคู่กันไป เป็นที่เข้าใจกันว่า เมื่อประมาณ 75,000 ปี มาแล้ว มนุษย์ได้รู้จักนำแก้วธรรมชาติที่เกิดจากภูเขาไฟ ที่เรียกว่า obsidian นำมาทำเป็นหัวธนู หรืออาวุธต่าง ๆ ต่อมาประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ได้ค้นพบวิธีการผลิตแก้วโดยบังเอิญ ได้มีบันทึกกล่าวไว้ว่าชาวฟีนิเชียนได้ขนดินประสิวมาจากอียิปต์ ขณะเตรียมอาหารอยู่บนชายหาดริมแม่น้ำบีลัส ได้นำก้อนดินประสิวมาใช้แทนก้อนหินเพื่อทำเป็นฐานเตาไฟ เมื่อถูกความร้อน ก้อนดินประสิวเกิดการลุกไหม้และหลอมละลายผสมกับทรายในบริเวณนั้น  เกิดของเหลวใสไหลออกมาซึ่งก็คือ แก้ว ส่วนในอียิปต์พบลูกปัดที่มีลักษณะกึ่งเคลือบ-กึ่งแก้วอายุประมาณ 6,000 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งสันนิษฐานว่าพัฒนามาจากการผลิตแกวน้ำเคลือบหรือฟายองซ์(Faience)ซึ่งมีลักษณะเหมือนแก้ว  โดยนำมาเคลือบลูกปัดดินเผา แต่ฟายองซ์นั้นผลิตในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าแก้ว และต่อมาจึงได้พัฒนาเป็นแก้วที่แท้จริง
         ลูกปัดสีต่าง ๆ นี้อายุไม่ต่ำกว่า 500 – 1,000 ปีขึ้นไปในยุคทวาราวดี ศรีวิชัย ซึ่งคนโบราณได้สรรหาหินสีต่าง ๆ และหินแก้วศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่หายากยิ่งมาฝน กลึง เจาะ ทำเป็นลูกปัดคล้องคอและข้อมือ เพื่อป้องกันปัดเป่าภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น บันดาลโชคลาภ สวมใส่เพื่อเป็นสิริมงคล เป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น ยิ่งผู้ใดทำบุญเป็นเนืองนิตย์ ผู้นั้นก็จะพบแต่ความสุข ความเจริญ จากเคราะห์ร้ายก็จะกลายเป็นดี ข้าวของเงินทองไหลมาเทมา ผู้ใดมีลูกปัดอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าสีใดก็ตาม (มี 20 สี) ให้บูชาด้วย ธูป 5 ดอก น้ำ 1 แก้ว พวงมาลัยมะลิ 1 พวง ตักบาตรและกรวดน้ำอุทิศบุญให้กับเจ้าของเดิมบ่อย ๆ แล้วท่านจะเป็น ผู้โชคดี (ควรเก็บไว้ในที่สูงเพราะเป็นของศักดิ์สิทธิ์มีเทพคุ้มครอง) ถ้าท่านรักลูกปัด ลูกปัดก็จะรักและคุ้มครองให้โชคทุกท่าน
         ฉะนั้นในการจำแนกลูกปัดจึงมีหลายรูปแบบต่างๆหลายสี และมีความหมายแตกต่างกันไปดังนี้ 
             1. ลายนกยุง จะมีหลายสีเรียกอีกอย่างว่า สีนานาชาติจะทำการสิ่งใดจะสำเร็จผลทุกอย่าง
ภาพที่ 1 ลายนกยูง.jpg

ภาพที่ 1 ลายนกยูง

             2. ทวาหัวเทียน ที่หัวท้ายจะมีสีดำ ขาว น้ำตาล อยู่ยงคงกระพัน มีสติปัญญาดี
ภาพที่ 2 ทวาหัวเทียน.jpg

ภาพที่ 2 ทวาหัวเทียน

             3. ลูกยอน้ำทิพย์ มีหลายสี มีตารอบด้าน รู้เหตุการณ์ข้างหน้า ค้าขายดี
ภาพที่ 3 ลูกยอน้ำทิพย์.jpg

ภาพที่ 3 ลูกยอน้ำทิพย์

             4. อำพันทอง เงิน การงาน การค้า ทำให้เงินไหลมาไม่ขาดสาย
ภาพที่ 4 อำพันทอง.jpg

ภาพที่ 4 อำพันทอง

             5. หยกเขียว อยู่ร่มเย็นเป็นสุข สุขกายและใจ เป็นมหามงคลเพิ่มพูน
ภาพที่ 5 หยกเขียว.jpg

ภาพที่ 5 หยกเขียว

             6. หยกเหลือง เมตตามหานิยม ค้าขายดี
ภาพที่ 6 หยกเหลือง.jpg

ภาพที่ 6 หยกเหลือง

             7. หยกขาว สีสะอาด ทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไข้ ดูไม่แก่ สดใส อายุยืน
ภาพที่ 7 หยกขาว.jpg

ภาพที่ 7 หยกขาว

             8. ฟ้าแก่ ฟ้าอ่อน ฟ้าสวิง ร่ำรวยเงินทองพร้อมญาติมิตรการงานและการค้าดี
ภาพที่ 8 .jpg

ภาพที่ 8 ฟ้าแก่ ฟ้าอ่อน ฟ้าสวิง

             9. เหลืองตองอ่อน เสน่ห์แรงคนรักใคร่ คนรักซื่อตรง
ภาพที่ 9 เหลืองตองอ่อน.jpg

ภาพที่ 9 เหลืองตองอ่อน

             10. น้ำเงินเนื้อกษัตริย์ สีไพรินมีอำนาจวาสนา
ภาพที่ 10 น้ำเงินเนื้อกษัตริย์.jpg

ภาพที่ 10 น้ำเงินเนื้อกษัตริย์

             11. ดำทึบ เสริมโชคลาภ กันภัย มนต์ดำ ผีสาง และผู้ที่คิดร้ายต่อเรา
ภาพที่ 11 ดำทึบ.jpg

ภาพที่ 11 ดำทึบ

             12. ส้ม หรือส้มเงินแสนคือเรืองแสง ส่องสว่าง นึกคิดสิ่งใดสมความปรารถนาเป็นแสนเป็นล้าน
ภาพที่ 12 ส้ม หรือส้มเงินแสนคือเรือง.jpg

ภาพที่ 12 ส้มหรือส้มเงินแสนคือเรืองแสง

             13. ส้มมันปู มีเงินทองคงกระพัน กันพิษสัตว์ร้าย
ภาพที่ 13 ส้มมันปู.jpg

ภาพที่ 13 ส้มมันปู

             14. สีแดงอิฐ แคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพันป้องกันภัยอันตรายต่างๆ
ภาพที่ 14 สีแดงอิฐ.jpg

ภาพที่ 14 สีแดงอิฐ

             15. แดง มีโชคลาภ มีอำนาจบารมี  บริวารเกรง
ภาพที่ 15 แดง.jpg

ภาพที่ 15 แดง

             16. ม่วง คนเมตตา มหานิยม คนรักใคร่ นำทรัพย์สินมาให้มีคนอุปถัมภ์ตลอด ช่วยเสริมบารมี
ภาพที่ 16 ม่วง.jpg

ภาพที่ 16 ม่วง

             17. สีน้ำผึ้ง ให้มีวาสนา สุขกายใจ สดชื่น มีเสน่ห์งามตา
ภาพที่ 17 สีน้ำผึ้ง.jpg

ภาพที่ 17 สีน้ำผึ้ง

             18. แสลน ป้องกันภัย อุบัติเหตุ มีเสน่ห์ บริวารรักใคร่ซื่อสัตย์
ภาพที่ 18 แสลน.jpg

ภาพที่ 18 แสลน

             19. เขี้ยวหนุมาน แก้วสารพัดนึก นึกคิดสิ่งใดได้ดั่งใจสมความปรารถนาทุกประการ
ภาพที่ 19 เขี้ยวหนุมาน.jpg

ภาพที่ 19 เขี้ยวหนุมาน

             20. อิฐใส้ดำ, อิฐหน้าดำ ป้องกันปืน ดาบ หลาว แหลน ธนู หน้าไม้และอาวุธต่างๆ อยู่ยงคงกะพัน
ภาพที่ 20 อิฐไส้ดำ , อิฐหน้าดำ.jpg

ภาพที่ 20 อิฐไส้ดำ , อิฐหน้าดำ

         สร้อยลูกปัดทราวาดีเส้นรวมลูกปัดหายากต่าง ๆ ไว้เป็นคู่ด้วยความใกล้เคียงและสีสันสวยงาม ด้วยองค์ประกอบดังนี้
             1. คู่ชมพู่ฟ้า
             2. ทวาส้มเหลี่ยม
             3. ก้านผักบุ้งเขียวฟ้าขนาดใกล้เคียงกัน
             4. ทวาวุ้นน้ำตาล-เทา
             5. อิบส้ม-อิฐแดง
             6. กระดุมฟ้า-น้ำเงินกบัตริย์
             7. แสลน
             8. อิฐส้ม-อิฐแดงราชสีห์
             9. น้ำค้าง-อำพัน
             10. น้ำส้มกลมคาร์นิเลี่ยนหัวเขา
             11. แสลนขาวดำ
             12. น้ำผึ้งกานผักบุ้ง
         มีคำแนะนำอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับการบูชา หากผู้ใดทำบุญอธิษฐานเป็นเนืองนิตย์ ผู้นั้นจะไม่ยากจนเข็ญใจ ไม่ไร้ทรัพย์อับปัญญา ไม่ว่าจะมีลูกปัดทวารวดีสีใดก็ตามให้เคารพสักการะด้วย ธูป เทียน ดอกไม้ และใส่บาตร กรวดน้ำให้ดวงวิญญาณของผู้ที่เป็นเจ้าของ การบูชา ให้บูชาดังนี้
             ธูป 5 ดอก
             พวงมาลัยมะลิสด
             น้ำสะอาด 1 แก้ว
         ทำก่อนนอนทุกคืน แล้วอธิษฐานเอาตามความปรารถนาจะเป็นผล การทำบุญตักบาตรทุกวันก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น อย่าลืมกรวดน้ำนึกถึงดวงวิญญาณของเจ้าของลูกปัดด้วย
การดูแลรักษาลูกปัดสมัยทวาราวดี
         1. ควรวางลูกปัดไว้ที่สูง
         2. ควรชำระล้างด้วยน้ำเย็นให้ไหลผ่านลูกปัดเพื่อให้เกิดพลังเย็น
         3. ระวังอย่ากระทบอะไรแรงๆเนื่องจากลูกปัดมีอายุมากเปราะบางแตกง่าย
         4. ทาลูกปัดด้วยน้ำมันจันหรือน้ำมันมะพร้าวรักษาผิวลูกปัดให้สวยสดไสอยู่เสมอ
คำอธิษฐาษฐานบูชาลูกปัดโบราณ
         ให้นึกถึงชื่อ-นามสกุล ของเรา ว่าขอรับลูกปัดนี้จงมาอยู่กับกายและใจ และอำนาจ อานุภาพของลูกปัด จงช่วยปกป้อง คุ้มครองตัวเราให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ และขอให้ตัวเราจงอยู่เย็นเป็นสุขมีโชคลาภเงินทองไหลมาเทมาสมดังความปรารถนาทุกประการ
         ถ้าท่านผู้ใดมีอยู่จะเป็นสีใดชนิดใดก็ตาม ให้บูชาด้วยธูปเทียน ดอกไม้ ใส่บาตร และกรวดน้ำให้ดวงวิญญาณของผู้เป็นเจ้าของ การบูชา ให้บูชาดังนี้ มีธูป 5 ดอก พวงมาลัยมะลิสด น้ำ 1 แก้ว ก่อนนอนทุกคืนให้เราตั้งจิตแล้ว อธิษฐานเอาตามความปรารถนาที่ควรจะได้จะเป็นตามวาสนาของตนเอง หารว่าเราต้องการทำบุญตักบาตร ให้นำข้าวสวยปากหม้อ ไข่ต้ม 2 ใบ กล้วยน้ำว้าหรือกล้วยหอม 9 ผล ตักบาตรทุกครั้งที่ประสบความสำเร็จด้วยจะยิ่งดี และกรวดน้ำนึกถึงวิญญาณของเจ้าของลูกปัดด้วยจะยิ่งดียิ่งๆขึ้น

ยุคทางโบราณคดี[แก้ไข]

         1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์
             1. ยุคการตั้งถิ่นฐานและทำการเพาะปลูก ประมาณ 5,500-6,500 กว่าปี 
             2.ยุคทวาราวดี ศรีวิชัยอายุไม่ต่ำกว่า 500 – 1,000 ปีขึ้นไป
         2. ในเมืองกำแพงเพชร
             1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาน 200-1500 ปีมาแล้ว

สมัย/ วัฒนธรรม[แก้ไข]

         สมัยก่อนประวัติศาสตร์
         บทบาทและหน้าที่ของลูกปัดโบราณ
             1. ใช้เป็นเครื่องประดับที่บอกถึงสถานภาพทางสังคมของผู้ใส่
             2. ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง ป้องกันคุ้มครองจากภัยอันตรายต่างๆรวมทั้งให้โชคลาภด้วย
             3. แสดงถึงความเชื่อ พิธีกรรม วัฒนธรรมของคนในสมัยนั้น
             4. ใช้ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของที่มีคุณค่าแทนเงินตราได้
             5. ใช้เป็นสัญลักษณ์ในการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับชนเผ่าอื่น
             6. ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
         จากการศึกษาลูกปัดในทางโบราณคดี น่าเชื่อได้ว่า ลูกปัดนอกจากจะใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว ยังเป็นเครื่องราง ของขลัง เป็นเครื่องมือสำหรับแลกเปลี่ยน ซื้อ ขาย แทนเงินตรา และอาจมีเหตุผลอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเสน่ห์ของลูกปัดโบราณที่ให้นักโบราณคดีทำการค้นคว้าศึกษาข้อมูลเรื่องราวของลูกปัดโบราณต่อไป

อายุทางโบราณคดี[แก้ไข]

         สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (อายุประมาณ 2000 – 1500 ปีมาแล้ว)

อายุทางวิทยาศาสตร์[แก้ไข]

         -

อายุทางตำนาน[แก้ไข]

         พุทธศตวรรษที่ 13-15

ประเภทของแหล่งโบราณคดี[แก้ไข]

         โบราณวัตถุ

ข้อมูลจำเพาะวัตถุโบราณ[แก้ไข]

คำอธิบาย/ลักษณะ/รูปพรรณ[แก้ไข]

         ลูกปัด มีลักษณะเป็นเม็ด มีหลายรูปทรง เจาะรูเพื่อใช้ร้อยเข้าไปในเส้นด้ายหรือเชือก ซึ่งเป็นวัสดุที่ทนและไม่ขาดง่าย 
         รูปทรงลูกปัดทวารวดี
             1. แผ่นกลมบาง
             2. แท่งแก้วแบบยาว
             3. รูปกลมแบบ
             4. สี่เหลี่ยม
             5. หกเหลี่ยม
             6. แบบขอบยัก
             7. แปดเหลี่ยม
         มนุษย์ในสมัยแรกๆ  ทำลูกปัดจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น กระดูกสัตว์ เขี้ยว เปลือกหอย เมล็ดพืช เปลือกไม้ ยางไม้ ต่อมามนุษย์ทำลูกปัดจากวัสดุที่ทำขึ้นเอง เช่น ดินเผา แก้ว สำริด ทอง

วัสดุผลิตภัณฑ์[แก้ไข]

         วัตถุดิบที่ใช้ทำลูกปัดโบราณ จากหลักฐานที่มีข้อมูลแยกได้ดังนี้ 
         1. กระดูก เปลือกหอย ซึ่งรวมทั้ง เขา งา ปะการัง เขี้ยว และฟัน เปลือกหอย จัดได้ว่าจัดได้ว่าเป็นวัตถุดิบที่เก่าแก่ ซึ่งคนภาคใต้ในสมัยโบราณรู้จักนำมาทำเป็นเครื่องประดับและลูกปัด โดยนำเปลือกหอยมาขัดฝน เจาะรู เพื่อใช้ร้อยประดับ พบในแหล่งโบราณคดีเช่น ถ้ำเขาหินตก ถ้ำสุวรรณคูหา ถ้ำปากอม และถ้ำเบื้องแบบส่วนกระดูก ฟัน เขี้ยว และเขาสัตว์ มีการพบร่องรอยการขัดฝนทำเป็นเครื่องประดับในรูปของจี้ ห้อยแขวน หรือลูกปัดทรงกระบอก ที่พบหลักฐานในแหล่งโบราณคดีชุมชนโบราณพุนพิน (เขาศรีวิชัย) เครื่องประดับที่ทำด้วยงาช้างพบที่ชุมชนโบราณคลองท่อม ปะการังพบที่ชุมชนโบราณสทิงพระ โดยนำมาตัดเป็นแท่งๆ แต่ยังไม่พบหลักฐานการนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ
         2. หิน-แร่ประกอบหิน ตามหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคใต้ พบว่ามีการใช้หินเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องประดับ มี 2 รูปแบบคือ นำมาขัดฝนเป็นกำไล และเม็ดลูกปัด หินที่ใช้ทำมักจะเป็นหินสีเทาดำที่ง่ายต่อการขัดฝน เช่น หินแอนดิไซด์ หินชนวน หินดินดาน และ แร่ประกอบหินตระกูลควอตซ์ สีขาวขุ่น รวมทั้งอำพัน และชาร์ต เมื่อมาถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ มีแร่ประกอบหินที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบอีกหลายชนิด เช่น พลอย ทับทิม อำพัน แก้วตาแมว ที่มีในชุมชน ส่วนหินคาร์เนเลี่ยนและควอตซ์แก้วผลึก เป็นวัตถุดิบที่นำมาจากดินแดนอื่นเช่นอินเดีย ยังมีหิน-แร่ประกิบหินเช่นพวกพลอยม่วงหรืออะเมทิสต์ ควอตซ์ที่มีลายในเนื้อ เช่น อะเกตหรือโอนิกซ์แร่ประกอบหินสีเขียว เช่น เพรส เนไฟรต์ เซอร์เพนทีน ควอตซ์สีน้ำผึ้ง เช่น ซิทรีน ควอตซ์เนื้อละเอียด แจสเพอร์เนื้อสีแดง โอปอเนื้อวาวแบบเทียนไข หรือยางสน และออบซิเดี่ยน คล้ายแก้วสีดำ วัตถุดิบที่เป็นหิน-แร่ประกอบหิน ใช้ทำเครื่องประดับในสมัยแรกเริ่มในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กำไล หัวแหวน ตุ้มหู แหวน หรือ จี้สำหรับห้อยคอ แต่ที่พบมากที่สุดคือ ลูกปัด 
         3. ดินเผา – แก้วหลอม ดินเผาที่ใช้ทำเครื่องประดับของคนโบราณในภาคใต้ พบหลักฐานน้อยมาก ส่วนใหญ่ จะพบเป๋นวุตถุขนาดเล็กๆ เช่น ลูกกระสุน แว และ ตุ้มถ่วงแห เป็นส่วนมาก มักจะเป็นดินเนื้อละเอียดและเผาแกร่ง ส่วนลูกปัดแก้วหลอม ทำเป็นเครื่องประดับในรูปแบบ กำไล ตุ้มหู แหวน หัวแหวน จี้ และลูกปัด สามารถทำลูกปัดให้มีสีและลวดลายต่างๆคล้ายเนื้อหิน และลวดลายใหม่ๆขึ้นอีกด้วย 
         4. โลหะหลอม เครื่องประดับที่ทำจากโลหะหลอมทำมาจาก ทอง ทองแดง เงิน ตะกั่ว ดีบุก เหล็กรวมถึงโลหะผสมอีกชนิดหนึ่งคือ สำริด ลูกปัดที่ทำจากทอง พบในหลายแหล่งโบราณในภาคใต้ เช่น แหล่งชุมชนโบราณคลองท่อม,แหล่งชุมชนโบราณท่าชนะ,แหล่งชุมชนโบราณสามแก้ว,แหล่งชุมชนตะกั่วป่า แหล่งชุมชนโบราณไชยาฯลฯ เครื่องประดับทำด้วยทองที่พบอยู่ในรูปแบบของแหวน จี้ ตุ้มหู และ เม็ดลูกปัด ส่วนเงินพบน้อยมาก ตะกั่วและสำริด เป็นโลหะที่นิยมมาทำเป็นเครื่องประดับในรูปแบบของตุ้มหู แหวน ลูกปัด และ ลูกกระพรวน นอกจากนี้ยังพบแม่พิมพ์หินทราย สำหรับหล่อตุ้มหูสำริดด้วย ส่วนเหล็กที่ทำเป็นเครื่องประดับพบจากแหล่งชุมชนโบราณท่าเรือเรียกว่า ลูกปัดฮีมาไทต์รูปทรงกระบอก

ประเภทการใช้งาน[แก้ไข]

         1. ใช้เป็นเครื่องประดับ โดยร้อยเชือกหรือวัสดุอื่นๆ อบเป็นพวงติดกันผูกไว้ที่ข้อมือ เป็นสายพันรอบเอว และร้อยคล้องคอ เจาะติดจมูก ใส่เป็นต่างหู พันไว้รอบศีรษะ ร้อยไว้รอบผม แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น และบางครั้งใช้เป็นเครื่องบอกฐานะทางสังคมของคนโบราณ
         2. ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง บางครั้งใช้ประกอบพิธีกรรมเพราะในความหมายของคำว่า ลูกปัดในภาษาไทยอาจหมายถึง ปัดรังควาน หรือ ปัดเสนียด จัญไร หรือสิ่งชั่วร้าย เมื่อเทียบกับความหมายในภาษาอังกฤษ คำว่า BEAD มาจากคำว่า BEDE ในสมัยกลางแปลว่า การสวดมนต์ ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับพิธีกรรมทางพราหมณ์และพุทธสายมหายาน เช่นเดียวกับในธิเบต
         3. ใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาโรคบางอย่างได้ ในทวีปยุโรป เชื่อกันว่าลูกปัดช่วยถนอม สายตา ลูกปัดอำพันใช้แก้โรคปวดท้องได้ 
         4. ใช้แทนเงินตรา ในการแลกเปลี่ยนทางการค้าเพราะลูกปัดมีขนาดที่เหมาะสม ง่ายต่อ การนำติดตังไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้าในทวีปเอเซีย ยุโรป และแอฟริกา พบลูกปัดจำนวนมากอยู่ร่วมกับสินค้าอื่น ๆ โดยเฉพาะในยุคที่มนุษย์เริ่มมีความสัมพันธ์ทางการค้า
         ลักษณะและการใช้สอยลูกปัด
             1. ใช้แขวนที่คอ
             2. ใช้ผูกข้อมือ
             3. ใช้ผูกรอบสะโพก
             4. ใช้เป็นต่างหู
             5. ใช้ประดับศีรษะร้อยกับเส้นผม
             6. ใช้ผูกข้อเท้า
             7. ใช้ประดับขนตา

กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการใช้งาน[แก้ไข]

         แหล่งผลิตลูกปัดแก้วโบราณที่สำคัญมีอยู่ 3 แหล่ง 
         อียิปต์ (Egyptian)
             ก่อนมีลูกปัดแก้วที่แท้จริงนั้นมีการผลิตลูกปัดจากดินเผาที่มีส่วนผสมของทรายควอทซ์แล้วนำมาเคลือบสีซึ่งดูเหมือนแก้วแต่ไม่ใส ลูกปัดประเภทนี้เรียกว่า ลูกปัดแบบเคลือบน้ำสีหรือแก้วน้ำเคลือบ  ซึ่งมีมาก่อนลูกปัดแก้ว ซึ่งสันนิษฐานว่าอาจเริ่มทำกันในเมโสโปเตเมียและอียิปต์เมื่อประมาณ 6,000 ปีมาแล้ว ในอียิปต์ได้พบวัตถุที่ทำจากแก้วจริง ๆ คือ ลูกปัดแก้ว มีอายุ ประมาณ 4,000 กว่าปีมาแล้ว  ประมาณราชวงศ์ที่ 7 และ 8 ของอียิปต์โบราณ โดยแก้วที่ทำขึ้นมานั้น นำมาขูด เกลากับหินเพื่อทำเป็นลูกปัด และทำเป็นเครื่องประดับอื่นๆ  ที่ช่างโบราณพยายามใช้แก้วผลิตเป็นเครื่องประดับเลียนแบบหินมีค่าซึ่งหายากและมีราคาแพงมากขึ้น โดยมีความเชื่อว่าลูกปัดสีน้ำเงินและสีฟ้าจะช่วยป้องกันอันตรายต่างๆได้  ต่อมาการทำลูกปัดแก้วได้แพร่หลายและเป็นที่นิยมไปยังดินแดนอื่นๆ
        โรมัน (Roman)
             ลูกปัดแก้วในสมัยโรมันมีหลายรูปแบบรวมทั้งลูกปัดมีตา(eye beads) หรือแบบที่สันฐานกลมสีน้ำเงินเข้มแล้วแต้มด้วยรูปวงกลมหลายวงด้วยสีขาว สีฟ้า และน้ำเงินคล้ายรูปตาเป็นชั้น ๆ (stratified eye beads)และแบบโมเสก(mosaic) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในช่วงประมาณ 2,100-1,900 ปีมาแล้ว ซึ่งลูกปัดแก้วมีตาของโรมันได้แพร่หลายและเป็นที่นิยมในกลุ่มประเทศอิสลามในเวลาต่อมา กล่าวได้ว่าเมื่อ 2,000 กว่าปีมาแล้วชาวโรมันมีลูกปัดแก้วใช้กันอย่างแพร่หลาย และในสมัยนี้เทคนิคการเป่าแก้วเป็นที่รู้จักกันดีและได้สร้างความทันสมัยให้กับอุตสาหกรรมการผลิตลูกปัดแก้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแพร่หลายมากยิ่งขึ้น
         กลุ่มประเทศอิสลามในตะวันออกกลาง (Islamic influenced Eastern Midditeranian)
             โดยศิลปะอิสลามเริ่มเมื่อประมาณ 1,400 ปีมาแล้ว  ชาวมุสลิมโบราณเป็นนักเดินเรือที่ส่งหินอาเกตจากเอเชียตะวันตกไปเมืองซาอุดิอาระเบีย และไคโรกับอเล็กซานเดรีย เรือขนสินค้าของมุสลิมยังขนลูกปัดแก้วไปถึงแอฟริกา นอกจากนี้ยังขนวัตถุดิบที่นำไปทำลูกปัดจากอินเดียไปยังจีน ซึ่งจีนได้นำวัตถุดิบเหล่านี้ไปทำลูกปัดและส่งขายอีกทีหนึ่ง ลูกปัดแก้วมีตาเป็นลูกปัดแก้วที่มีชื่อเสียงของชาวมุสลิม โดยเชื่อว่าการมีหลายดวงตาจะคอยป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ ให้ผู้ที่สวมใส่
         ลูกปัดโบราณที่ค้นพบในประเทศไทย 
             ในประเทศไทยมีการค้นพบลูกปัดโบราณหลายแห่ง  ทุกภูมิภาคในประเทศไทยโดยแบ่งออกเป็นช่วงต่างๆ ได้ดังนี้
             ยุคการตั้งถิ่นฐานและทำการเพาะปลูก เมื่อประมาณ 5,500-6,500 กว่าปีมาแล้ว เริ่มมีหลักฐานของการใช้ลูกปัดที่ทำจากกระดูก หอยและหินในรูปแบบธรรมดาและเหมือนกันทั่วไป เช่น ที่ถ้ำทะลุ จังหวัดกาญจนบุรี และถ้ำเบื้องแบบ ถ้ำปากอม จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เมื่อมนุษย์มีพัฒนาการทางด้านวัฒนธรรมที่ซับซ้อนมากขึ้นเมื่อประมาณ 3,000-4,000 ปีมาแล้ว มีหลักฐานของการทำและใช้ลูกปัดควบคู่ไปกับความเชื่อ เห็นได้จากการฝังศพของหญิงและชายรวมทั้งเด็กในสมัยนั้นพร้อมไปกับลูกปัดและเครื่องตกแต่งอื่นๆมีหลักฐานปรากฏหลายแห่งเช่นที่บ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี ที่โคกพนมดี อำเภอพนัสนิคม จังหวัดชลบุรี ที่โคกพนมดีนี้พบลูกปัดที่ทำเป็นแผ่นกลมบางๆจากเปลือกหอย หรือกระดูกที่ทำเป็นรูปตัว”H”และ”I” นอกจากนี้มีการขุดพบลูกปัดหอยแบบเดียวกันที่ห้วยใหญ่ในบริเวณเขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งแสดงว่ามีการติดต่อกันระหว่างสองชุมชนที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลกับที่อยู่ลึกเข้าไป
ลูกปัด.jpg

ภาพที่ 21 ลูกปัดหอยที่ทำเป็นแผ่นกลมบาง ๆ จากแหล่งโบราณคดีโคกพนมดี จังหวัดชลบุรี

             ยุคโลหะ เมื่อประมาณ 2,000-3,500 ปีมาแล้ว ในยุคนี้ของทุกภาคในประเทศไทยโดยเฉพาะในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลูกปัดได้พัฒนาไปไกลเห็นได้จากลูกปัดที่ทำจากหินหลายประเภท และตามมาด้วยลูกปัดแก้วที่ถูกส่งเข้ามาจากดินแดนโพ้นทะเลทั้งทางด้านตะวันตกและตะวันออก อาจกล่าวได้ว่าลูกปัดในยุคโลหะในประเทศไทยนี้มีความหลากหลายเป็นอย่างมาก และถูกส่งมาจากที่ไกล นอกจากนี้ยังพบลูกปัดที่ยังทำไม่เสร็จดี ไม่ว่าจะเป็นการเจาะรูหรือขัดผิวให้เรียบและเป็นวาว สันนิษฐานว่าอาจมีการทำลูกปัดในประเทศไทย ส่วนแหล่งที่มาของวัตถุดิบ เช่น หินคาร์เนเลียนนั้นอาจมาจากภาคกลาง เช่น จังหวัดลพบุรี เป็นต้น
ลูกปัดแก้ว.jpg

ภาพที่ 22 ลูกปัดแก้วสันนิษฐานว่าทำขึ้นเองจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี

แท่งแก้วมีรู.jpg

ภาพที่ 23 แท่งแก้วมีรูอาจยังไม่ได้นำไปตัดทำลูกปัด ไม่ทราบแหล่งที่พบในประเทศไทย

             แหล่งโบราณคดียุคโลหะที่น่าสนใจและเป็นที่รู้จักกันดีจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือคือที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ลูกปัดที่พบที่นี่มีทั้งหินคาร์เนเลียนและอาเกต แก้วเป็นแท่งรูปยาวที่เจาะรู ลูกปัดแก้วแผ่นกลมๆเล็กๆสีส้ม  และลูกปัดแก้วโดยเฉพาะที่เป็นสีน้ำเงินอมฟ้าและเขียว ซึ่งไม่พบที่อื่นจึงทำให้สันนิษฐานว่าอาจทำขึ้นเองที่บ้านเชียงเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ยังพบลูกปัดที่ทำด้วยทองคำที่มีอายุประมาณ 1,700 ปีมาแล้ว เช่นที่โนนอุโลกซึ่งมีอายุระหว่าง 1,700-2,300 ปีมาแล้ว แหล่งชุมชนยุคเหล็กสมัยก่อนประวัติศาสตร์นี้ตั้งอยู่ในแอ่งโคราช บริเวณลุ่มแม่น้ำมูลตอนล่าง นอกจากลูกปัดทองคำแล้วที่โนนอุโลกนี้ยังพบลูกปัดหินคาร์เนเลียนและอาเกต  รวมทั้งแบบที่เป็นแผ่นที่ใช้เป็นจี้ห้อยคอ และลูกปัดประเภทอื่นๆที่ทำด้วยแก้ว ฟันเสือและหอยซึ่งพบในหลุมฝังศพ
             ยุคหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 1,500 – 2,000 ปีมาแล้ว มีหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านดอนตาเพชร จังหวัดกาญจนบุรี พบลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยนอาเกตหลายรูปแบบ รวมทั้งที่เป็นรูปสิงโตซึ่งสันนิษฐานว่ามาจากอินเดีย  ส่วนที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี พบลูกปัดหลายรูปแบบ เช่น รูปมะกอก รูปคล้ายสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน รูปกลม รูปกรวยฐานซ้อน รูปพระจันทร์เสี้ยว รูปทรงกลมมีตาเป็นดวงๆและรูปทรงกระบอกที่มีลวดลายสีต่างๆเป็นลายสลับสี
             ในระหว่าง 1,500 -1,900 ปีมาแล้วมีเมืองท่าโบราณที่เขาสามแก้ว จังหวัดชุมพร ที่มีหลักฐานของการค้ากับดินแดนโพ้นทะเล ทั้งทางตะวันตกและตะวันออก มีการพบลูกปัดหินอาเกต ควอทซ์ คาร์นีเลียนเเอทช์-คาร์นีเลียน บ้างก็มีการจารึกลงไปบนลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน รูปแท่งปริซึมสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 0.9 X 045 ซม. ภาษาสันสกฤต ผู้เชี่ยวชาญภาษาโบราณได้อ่านว่า “อขิทโร”แปลว่า”แข็งแรง ไม่อ่อนแอ” นอกจากนี้ยังพบลูกปัดทองคำ หินที่ยังไม่ได้ทำลูกปัด และลูกปัดหินที่ยังไม่ได้เจาะรู ซึ่งบอกถึงการค้าวัตถุดิบซึ่งจะเอามาทำลูกปัด
              แหล่งที่สำคัญอีกแหล่งในภาคใต้คือที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จ.กระบี่ ที่พบลูกปัดประเภทเดียวกับที่เขาสามแก้ว และนอกเหนือไปจากนั้นยังพบตราอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤตจากอินเดียใต้ ลูกปัดแก้วที่เขียนเส้นสีรูปหน้าคน และแผ่นหินคาร์เนเลียนที่มีรูปสลักผู้หญิงศิลปะแบบโรมัน ซึ่งสันนิษฐานว่าถูกส่งเข้ามาจากแถบเมดิเตอร์เรเนียนกับพ่อค้าในสมัยนั้น นอกจากนี้ก็พบลูกปัดแก้วและหินที่มีขั้วสีต่างๆซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่เคยขุดพบในแหล่งโบราณคดีวิรัมปัตตะนัม ฝั่งตะวันออกใกล้เมืองปอนดิเชรีของอินเดีย เมื่อประมาณ 1,000 กว่าปีมาแล้วมีเมืองท่าเกิดขึ้นในภาคใต้หลายแห่ง นอกจากที่คลองท่อมแล้วก็ยังมีทางฝั่งตะวันตกของทะเลอันดามันที่เกาะคอเขา จังหวัดพังงา และทางฝั่งตะวันออกของอ่าวไทยที่อำเภอท่าชนะ และแหลมโพธิ์ อำเภอไชยา  จังหวัดสุราษฎร์ธานีและที่สทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่พบลูกปัดหิน เช่น แอมะธีสต์ ลูกปัดแก้วเป็นตา ลูกปัดแก้วรูปฟักทอง ลูกปัดแก้วหลายสีผสมกัน และลูกปัดแก้วที่มีขั้วซึ่งเหมือนกับที่พบที่ออกแก้วใกล้ปากแม่น้ำโขงทางใต้ของเวียดนาม  นอกจากนี้ก็มีลูกปัดแก้วแบบเกลียวซึ่งสันนิษฐานว่าจะมาจากจีน
              ยุคประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 1,500 ปีมาแล้วดินแดนในประเทศไทยนับตั้งแต่ จังหวัดสุโขทัย หรือภาคเหนือตอนล่างลงมาถึงภาคกลาง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ มีหลักฐานของศิลปวัฒนธรรมที่เรียกว่า “ทวารวดี” ซึ่งมีอายุในระหว่างพุทธศตวรรษที่11- 16 เช่น ประติมากรรม พระพุทธรูป เครื่องปั้นดินเผาเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังพบลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยน อะเกต ควอทซ์ ทองคำ และลูกปัดแก้ว โดยเฉพาะที่มีขนาดเล็กๆหลายๆสีแบบที่เรียกกันว่า “ลูกปัดทวารวดี” หรือลูกปัดลมสินค้า
              หลังสมัยศิลปวัฒนธรรมทวารวดีลูกปัดทั้งหินและแก้วแบบที่พบในสมัยทวารวดีและก่อนๆได้ค่อยๆหายไป  การค้าลูกปัดระหว่างชุมชนในดินแดนประเทศไทยโบราณกับทางตะวันตกและอินเดียได้ค่อยๆลดลง ซึ่งสาเหตุอาจมาจากหลายปัจจัย แต่การติดต่อค้าขายกับจีนยังดำเนินต่อไป มีสินค้าจีนเข้ามายังดินแดนประเทศไทยมากมาย  เช่น เครื่องปั้นดินเผา ที่อำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ พบเครื่องถ้วยชามของจีนและของไทย รวมทั้งลูกปัดแก้วซึ่งต่างกับของที่พบในสมัยศิลปวัฒนธรรมทวารวดีที่ฝังลงไปพร้อมกับศพ  ลูกปัดเหล่านี้ยังไม่ทราบที่มาอย่างชัดเจน  แต่สันนิษฐานว่าอาจมาจากประเทศจีน
         ควนลูกปัด: แหล่งผลิตลูกปัดโบราณที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
             แหล่งโบราณคดีที่น่าสนใจที่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมในการทำลูกปัดโบราณที่ใหญ่ที่สุด และพบลูกปัดโบราณเป็นจำนวนมากเท่าที่เคยพบมาในประเทศไทยคือ ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ ลูกปัดที่พบ ณ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ มักพบอยู่ทั่วไปบนผิวดิน โดยเฉพาะเวลาฝนตกฉะหน้าดินออกจะพบลูกปัดชนิดต่างๆปรากฏอยู่ทั่วไปเป็นจำนวนมาก แต่ปัจจุบันลูกปัดโบราณได้รับความนิยมอย่างสูงในการนำมาทำเครื่องประดับ มีการลักลอบขุดและซื้อขายลูกปัดโบราณ จำนวนลูกปัดจึงเหลือเพียงเล็กน้อย
             ลูกปัดที่พบที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม มีหลายรูปแบบและทำจากวัสดุต่างๆกัน เช่น ทองคำ ดีบุก ดินผา แก้วรูปทรงต่าง ๆ รวมทั้งลูกปัดที่ทำเป็นรูปหน้าคนซึ่งไม่เคยพบที่แห่งใดในประเทศไทยนอกจากที่คลองท่อม โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ดังนี้
             1. ลูกปัดพื้นเมืองหรือผลิตขึ้นเอง เนื่องจากได้พบหลักฐานหลายอย่างที่ทำให้เชื่อได้ว่าลูกปัดบางชนิดผลิตขึ้นที่ควนลูกปัดเอง แต่วัตถุดิบที่ใช้ทำนั้นอาจได้มาจากต่างประเทศหรือภายในประเทศเอง เนื่องจากได้พบเศษหินแร่ที่สวยงามชนิดเดียวกับที่ใช้ทำลูกปัดที่ยังคงทิ้งรอยชัดเจนว่าถูกสกัดออกไปทำลูกปัด รวมทั้งเศษก้อนแก้วซึ่งเป็นแก้วชนิดเดียวกับที่ใช้ทำลูกปัดแก้ว เป็นจำนวนมากปะปนอยู่กับลูกปัดที่ทำสำเร็จแล้ว นอกจากนี้ยังได้พบลูกปัดที่ทำสำเร็จแล้ว ลูกปัดที่ยังทำไม่เสร็จเรียบร้อยเป็นจำนวนมาก คือทำเป็นรูปร่างมีการเจาะรูเพียงครึ่งเม็ด และยังได้พบลูกปัดแก้วที่ทำติดต่อกันเป็นแถวยาวๆยังไม่มีการเจาะรู รวมทั้งลูกปัดที่ทำแล้วใช้งานไม่ได้ถูกนำกลับไปหลอมรวมกันใหม่ ถ้าหากเป็นของที่ทำมาจากแหล่งอื่นนั้น ก็น่าจะทำสำเร็จเรียบร้อยแล้ว
             2. ลูกปัดที่มาจากต่างประเทศ ลูกปัดเหล่านี้คงถูกนำมาจากภายนอก โดยการค้าขายแลกเปลี่ยนกับพ่อค้าต่างชาติเริ่มตั้งแต่พ่อค้าแถบเอเชียกลาง พ่อค้าชาวอินเดียและพ่อค้าชาวจีน ทำให้ลูกปัดจากต่างประเทศเหล่านี้เข้ามาในดินแดนภาคใต้ของไทย ลูกปัดจากต่างประเทศเหล่านี้สามารถนำไปปรึกษาเปรียบเทียบกับลูกปัดที่พบที่แหล่งโบราณคดีอื่นๆ เช่นที่ เกาะคอเขา จ.พังงา เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรีและเมืองออกแก้ว ประเทศเวียดนาม สันนิษฐานว่าคงจะเป็นลูกปัดที่นำมาจากประเทศกลุ่มอาหรับและประเทศอินเดีย จำนวนของลูกปัดมากมายและรูปแบบต่างๆของลูกปัดที่พบที่แหล่งโบราณคดีควนลูกปัด อ.คลองถ่อม จ.กระบี่ เป็นหลักฐานสำคัญยิ่งทำให้ทราบว่าควนลูกปัดแห่งนี้ เมื่อประมาณราวๆ พุทธศตวรรษที่ 10-12 (กำหนดอายุโดยการศึกษาเปรียบเทียบกับแหล่งโบราณคดีอื่นๆที่พบหลักฐานทางโบราณคดีเหมือนกัน เช่น ที่อู่ทองสุพรรณบุรี และที่เมืองออกแก้วในประเทศเวียดนาม) เป็นแหล่งอุตสาหกกรมในการทำลูกปัดโบราณที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยพบในประเทศไทย และลูกปัดเหล่านี้คงถูกส่งไปเป็นสินค้าให้แก่ชุมชนอื่นๆในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และในระยะเวลาเดียวกันนั้น ชุมชนโบราณแห่งนี้คงจะมีความสัมพันธ์ติดต่อกับประเทศอินเดียกลุ่มประเทศอาหรับ ชุมชนโบราณสมัยแรกประวัติศาสตร์ ในประเทศไทยไปจนถึงเมืองออกแก้วในประเทศเวียดนาม ในฐานะที่เป็นเมืองท่าชายฝั่งหรือที่พักสินค้าที่สำคัญแห่งหึ่งบนฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมลายู ซึ่งตั้งอยู่บนเส้นทางคมนาคมระหว่างอินเดียภาคใต้ ภาคเหนือกับดินแดนแถบเอเชียอาคเนย์
         แหล่งค้นพบลูกปัดโบราณในจังหวัดกำแพงเพชร
             เมืองไตรตรึงษ์เป็นอีกหนึ่งชุมชนโบราณที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงตอนล่างที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณบริเวณภาคกลางในวัฒนธรรมทวารวดี คือ ตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 1-3 ชั้น ผังเมืองจะมีรูปร่างแตกต่างกันไป แต่มักจะขนานกับทางน้ำ เมื่อพิจารณาร่วมกับหลักฐานทางด้านเอกสารประวัติศาสตร์อย่างตำนานจามเทวีที่กล่าวถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 พระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งเมืองละโว้ได้อพยพผู้คนจากเมืองละโว้ขึ้นมาเมืองหริภุญชัย โดยใช้เส้นทางแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานประเภทโบราณวัตถุที่พบมีความคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุที่พบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ ตะเกียงดินเผา ลูกปัดแก้ว หรือ ลูกปัดหิน เป็นต้น 
             ดังนั้น การตั้งถิ่นฐานของเมืองไตรตรึงษ์เกิดขึ้นจากปัจจัยสำคัญ คือ ปัจจัยทางด้านภูมิศาสตร์เมืองไตรตรึงษ์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง แหล่งน้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่อุปโภคบริโภค จึงทำให้เกิดการใช้เส้นทางน้ำเป็นเส้นทางคมนาคมหลักในการติดต่อและแลกเปลี่ยนสินค้ากับชุมชนภายนอก โดยเฉพาะชุมชนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นแผนที่ตำแหน่งเมืองไตรตรึงษ์ที่แสดงให้เห็นว่า หากเดินทางขึ้นทางทิศเหนือจะก็จะพบเมืองกำแพงเพชรเมืองนครชุมได้ หากเดินทางลงทางใต้ก็จะเจอเมืองดงแม่นางเมืองและสามารถลงไปถึงเมืองอื่นๆในบริเวณภาคกลางได้ด้วย จากการศึกษาและวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่พบบริเวณเมืองไตรตรึงษ์ในช่วงเวลาที่ผ่านชี้ให้เห็นว่าเมืองไตรตรึงษ์เป็นชุมชนที่มีการอยู่อาศัยใน 3 สมัยหลัก ๆ ได้แก่ สมัยก่อนสุโขทัย สมัยสุโขทัย และสมัยอยุธยา ส่วนในสมัยรัตนโกสินทร์นั้นเมืองไตรตรึงษ์ได้กลายเป็นเมืองร้าง ดังต่อไปนี้
             เมืองไตรตรึงษ์ เป็นอีกชุมชนโบราณที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย โดยเอกสารประเภทตำนานและพงศาวดาร อาทิ พงศาวดารโยนก ตำนานสิงหนวัติกุมาร ตำนานท้าวแสนปม ได้กล่าวถึง เมืองไตรตรึงษ์ในฐานะเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาใกล้กับเมืองกำแพงเพชรทางด้านทิศใต้ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงโดยทางอ้อมของการมีอยู่และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมแม่น้ำปิงอย่างตำนานจามเทวี รวมทั้งยังมีข้อมูลที่ได้จากการดำเนินขุดค้นในบริเวณเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ภาชนะดินเผาก้นกลม และตะเกียงดินเผาแบบโรมันที่คล้ายคลึงกับที่พบที่ชุมชนโบราณบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี นอกจากนี้ยังพบลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว สีเหลือง ส้ม เขียว ฟ้า น้ำเงิน ดำ และสีน้ำตาลแดง ดินเผาที่มีลักษณะคล้ายกับที่เมืองจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งสามารถเทียบเคียงอายุสมัยจากโบราณวัตถุที่มีลักษณะร่วมกันว่าอยู่ในช่วงของวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า เมืองไตรตรึงษ์มีการอยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงสมัยก่อนสุโขทัย โดยสันนิษฐานว่ามีการเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16)
          เทคนิคและวิธีการทำลูกปัดแก้วในสมัยโบราณ แยกได้ดังนี้ 
              1. วิธีพัน การทำลูกปัดวิธีพัน ทำโดยการนำแท่งแก้วมาลนไฟที่ส่วนปลายจนเหลวตัวแล้วนำไปพันรอบแกนเส้นโลหะเหล็กหรือทองแดง เมื่อพันรอบแล้วก็ตัดส่วนที่เกินออกแล้วนำแกนเส้นลวดที่พันแก้วทับอยู่ไปลนไฟอีกทีโดยหมุนไปรอบๆจนกว่าผิวแก้วที่เป็นรอบต่อนั้นจะเสมอกัน ซึ่งในเส้นลวดเส้นหนึ่งอาจจะนำแก้วเหลวมาพันรอบๆหลายๆลูกก็ได้ หลังจากนำไปลนไฟจนได้ที่แล้วก็นำมาปล่อยวาให้เย็น แกนเส้นลวดก็จะหดตัวมากกว่าตัวแก้ว ซึ่งจะทำให้ลูกปัดที่ติดอยู่ออกง่าย และลูกปัดก็จะมีความกว้างเท่ากับแกนเส้นลวดนั้นๆ 
              2. วิธียืด การทำลูกปัดแก้วแบบยืด ทำโดยการนำก้อนแก้วที่เข้าเผาจนร้อนแดงออกมาโดยใช้แท่งเหล็กจิ้มออกมา จากนั้นนำแท่งเหล็กอีกแท่งหนึ่งมาจิ้มที่ก้นแก้วจนร้อนนั้นแล้วจึงตัดก้อนแก้วนั้นให้เป็นรูปกรวยหรือพันให้เป็นรูปกลม โดยให้มีช่องที่ติดฟองอากาศขนาดใหญ่อยู่ภายใน ยืดก้อนแก้วออกเป็นหลอดยาว แล้วตัดออกเป็นชิ้นเล็กๆตามต้องการโดยไม่ต้องเจาะรู เพราะช่องฟองอากาศก็เป็นรูลูกปัดอยู่แล้ว และปล่อยให้เย็น ลูกปัดก็จะแข็งตัวขึ้น ที่ขอบรอบรูลูกปัดยังมีความคมอยู่ก็ปัดให้ลบคม การขัดขอบรอบรูลูกปัดด้วยวิธีง่ายๆและรวดเร็วคือ การนำลูกปัดจำนวนมากใส่ลงในถังกลมที่ผสมทรายหยาบ แล้วหมุนถังไปรอบๆเพื่อให้ตัวเม็ดทรายทำหน้าที่ขัดผิวแก้ว ที่คมของลูกปัดให้เสมอกัน แต่ถ้าหมุนถังนานๆก็อาจจะทำให้รูปร่างของลูกปัดเปลี่ยนแปลงไปได้ กรรมวิธีทำลูกปัดแบบยืดนี้อาจเพิ่มเติมสีสันลวดลายได้คือ นำเส้นแก้วที่ยังอ่อนตัวจากความร้อนมาวาทาบบนก้อนแก้ว โดยวางสลับสีกันแล้วยืดออก ก็จะได้หลอดแก้วที่มีลายเป็นเส้นยาวตามสีที่วางไว้ ลูกปัดที่สลับสีแบบนี้เรียกว่า Striped Bead แต่ถ้าหากนำมาพันทับกันเป็นชั้นๆ เช่น ทาบกัน 5 ชั้นหรือ 6 ชั้น ชั้นละสี เมื่อยืดออกแล้วนำไปตัดก็จะได้ ลูกปัดที่มีสีสลับกันเรียกว่า โรเซทท์ (Rosette) 
              3. วิธีพับ การทำลูกปัดแก้วแบบนี้ ทำโดยการนำแท่งแก้วที่ยาวและแบนมาลนไฟให้อ่อนตัว แล้วนำมาพันรอบแกนเส้นลวดเหมือนกันกับแบบพัน โดยจะเห็นรอยต่อตรงที่พับชนกันจะเป็นเส้นขนานกับรูลูกปัด ลูกปัดแบบพับนี้จะพบที่ประเทศอียิปต์และประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นลูกปัดเมื่อราว 2,000 ปีมาแล้ว 
              4. วิธีกด การทำลูกปัดแก้วแบบนี้ ทำได้ในขณะที่แก้วยังอ่อนตัว ซึ่งสามารถทำลูกปัดรูปร่างต่างๆได้ทั้ง สี่เหลี่ยม กลม กลมแบน แบนขอบหยัก หกเหลี่ยม หรือ แปดเหลี่ยมเป็นต้น 
              5. วิธีขดให้เป็นเกลียว วิธีนี้พบครั้งแรกในแบบของอียิปต์โบราณและของโรมัน โดยนำแท่งแก้วที่กำลังอ่อนตัวมาพันรอบๆแกนเส้นลวด โดยขอให้เป็นเกลี่ยวแล้วตัดออกเป็นชิ้นเล็กๆ 
              6. วิธีหยอดและใช้มือเจาะรู การทำวิธีนี้ ทำโดยหยอดแก้วหลอมจากแท่งแก้วลงบนจานดินเผาเป็นเม็ดๆ แล้วใช้ตะปู ลวด หรือของแหลม เจาะรูลงไปในขณะที่หยอดแก้วยังอ่อนตัวอยู่ ซึ่งจะพบมากในอินเดีย 
              7. วิธีอบ วิธีนี้ทำโดยเอาแก้วสีมาบดให้เป็นผง อาจจะใช้ขวดแก้วสีต่างๆที่แตกแล้วมาบดก็ได้ วิธีทำคล้ายการทำลูกปัด Faience ของอียิปต์โบราณ โดยการนำเอาแท่งไม้ที่มีความกว้างของเส้นผ่าศูนย์กลางราว 1 กระเบียด เจาะรูเข้าไปในก้อนดินเหนียวประมาณครึ่งนิ้วแล้วนำกิ่งไม้ขนาดเท่าก้านไม้ขีดกดลงไปตรงกลางของรูที่เจาะครั้งแรก แล้วเทผงแก้วสีต่างๆลงไปในรู สลับสีตามความต้องการ จากนั้นนำเอาก้อนดินเหนียวไปอบในกลางแจ้ง จะทำให้ผงแก้วละลาย และปล่อยทิ้งไว้ให้แก้วเย็นและแข็งตัว ก้านไม้ตรงกลางจะหลุดออกเป็นรูลูกปัด

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         วันที่ 19 เดือน กันยายน พ.ศ.2562 
         วันที่ 6, 9 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2562

วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         วันที่ 17 เดือน ตุลาคม พ.ศ.2562

ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]

         ผศ.ดร.พธูรำไพ  ประภัสสร
         นางสาวรัชนีกร  บำรุงศรี

คำสำคัญ (tag)[แก้ไข]

         ลูกปัดเเก้ว, ลูกปัดทวารวดี