ฐานข้อมูล เรื่อง ศาลพระอิศวร เมืองกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

         จังหวัดกำแพงเพชรตั้งที่อยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ระหว่างรุ้งที่ 15 องศา 51 ลิปดา 8 ฟิลิปดาเหนือ – รุ้งที่ 16 องศา 59 ลิปดา 20 ฟิลิปดาเหนือ และระหว่างแวงที่ 98 องศา 59 ลิปดา 22 ฟิลิปดาตะวันออก – แวงที่ 100 องศา 2 ลิปดา 56 ฟิลิปดาตะวันออก เป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตภาคเหนือตอนล่าง ห่างจากกรุงเทพมหานคร 358 กิโลเมตร โดยประมาณ มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดอื่น ๆ ได้แก่ ทิศเหนือติดกับจังหวัดตาก สุโขทัย และพิษณุโลก ทิศตะวันตกติดกับจังหวัดตาก ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดพิจิตร ส่วนทิศใต้ติดกับจังหวัดนครสวรรค์ ลักษณะสภาพตามภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ลาบลุ่มของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบน ประกอบกับเป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำปิงไหลผ่านจากภาคเหนือลงสู่ที่ราบเจ้าพระยา จังหวัดกำแพงเพชรมีลักษณะภูมิอากาศค่อนข้างร้อนอุณหภูมิเฉลี่ยรายปีประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส ช่วงเดือนเมษายน จัดว่าเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ฤดูฝนมักเริ่มในปลายเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ฤดูหนาวมักเริ่มในเดือนตุลาคมไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 
         กำแพงเพชรเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ อาทิ ป่าไม้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า มีแหล่งน้ำมันดิบและ ก๊าซธรรมชาติในพื้นที่อำเภอลานกระบือ ทั้งยังมีแหล่งหินอ่อนคุณภาพดีในอำเภอพรานกระต่าย นอกจากนี้ ยังมีการค้นพบโบราณวัตถุที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ทั้งที่เป็นหินและโลหะ แสดงการมีชุมชนโบราณมาแต่ครั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และที่สำคัญดินแดนแถบนี้ยังมีภูมิหลังมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์ร่วมสมัยกับอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา และเชียงแสนล้านนา จึงมีส่วนทำให้กำแพงเพชรมีความหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรม อย่างไรก็ดี เมืองกำแพงเพชรในฐานะที่เป็นเมืองบริวารของอาณาจักรสุโขทัยจึงได้รับการรับรองจากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมเมื่อ พ.ศ.2534
ภาพที่ 1 ศาลพระอิศวร.jpg

ภาพที่ 1 ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร

ชื่อเรียก[แก้ไข]

         ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร  

ศาสนา[แก้ไข]

         ฮินดู  

ที่ตั้ง[แก้ไข]

         112 กำแพงเพชร ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์[แก้ไข]

         ละติจูด 16°29’24’N   
         ลองจิจูด 99°31’48’E 

หน่วยงานที่ดูแลรักษา[แก้ไข]

         กรมศิลปากร UNESCO	 

สถานะการขึ้นทะเบียน[แก้ไข]

         1. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม 2478
         2. ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 54 วันที่ 3 มกราคม 2480
         3. ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 85 ตอนที่ 41 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511

ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (UNESCO) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534

วัน/เดือน/ปีก่อสร้าง[แก้ไข]

         ช่วงรัชสมัยเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ตรงกับ ปีพุทธศักราช 2053 ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ 

ข้อมูลจำเพาะ[แก้ไข]

         ศาลพระอิศวร เป็นสถาปัตยกรรมโบราณประมาณอายุความเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองกำแพงเพชรมากว่า 500 ปี ตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของศาลเยาวชน จังหวัดกำแพงเพชร มีความสูงจากตำแหน่งน้ำทะเลปานกลาง 82 เมตร จัดอยู่ในกลุ่มภายในกำแพงเมืองโบราณ จากทั้ง 4 กลุ่มโบราณสถานเมืองกำแพงเพชร ซึ่งได้มีการจัดแบ่งขึ้นตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 84 ตอนที่ 51 วันที่ 7 พฤษภาคม 2511 ได้แก่ 
         กลุ่มที่ 1 กลุ่มภายในกำแพงเมือง มีโบราณสถาน 14 แห่ง เนื้อที่ 503 ไร่ 
         กลุ่มที่ 2 บริเวณอรัญญิกโบราณสถานทางด้านทิศเหนือนอกกำแพงเมือง มีโบราณสถาน 40 แห่ง เนื้อที่ 1,611 ไร่
         กลุ่มที่ 3 บริเวณนอกเมืองด้านทิศตะวันออกมีโบราณสถาน 15 แห่ง เนื้อที่ 16 ไร่ 3 งาน
         กลุ่มที่ 4 บริเวณทุ่งเศรษฐี ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง(เมืองนครชุม) มีโบราณสถาน 12 แห่งเนื้อที่ 30 ไร่ 4 งาน 
         ศาลพระอิศวรในปัจจุบัน ได้รับการบูรณะพัฒนาฟื้นฟูปรับปรุงขุดแต่งพร้อมกลุ่มโบราณาสถานเมืองกำแพงเพชร โดยได้เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2508 ในสมัยของรัฐบาลจอมพลถนอม  กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นการพัฒนาไปพร้อม ๆ กับเมืองสุโขทัยและศรีสัชนาลัย ในส่วนของเมืองกำแพงเพชรได้ดำเนินการฟื้นฟูขึ้นจำนวนทั้งสิ้น 18 แห่ง ได้แก่ ศาลพระอิศวร วัดพระธาตุ วัดพระแก้ว พระราชวัง(สระมน) ป้อมเพชร ป้อมเจ้าจันทร์  ป้อมเจ้าอินทร์ ป้อมมุมเมือง ป้อมวัดช้าง ป้อมทุ่งเศรษฐี วัดพระนอน วัดพระสี่อิริยาบถ วัดช้างรอบ วัดอาวาสใหญ่ วัดกะโลทัย วัดซุ้มกอ วัดช้าง และวัดอาวาสน้อย การพัฒนานี้ได้ดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมาโดยตลอดจนถึง ปีพ.ศ.2525 กรมศิลปากรได้บรรจุงานบูรณะปรับปรุงโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2526) โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร” และต่อเนื่องมาจนถึงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-2535) กระทั่งเสร็จสิ้นและกรมศิลปากรได้ดำเนินการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 18 เมษายน 2534 โดย สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธี 

ประวัติความเป็นมา/คำบอกเล่า/ตำนาน[แก้ไข]

         พระอิศวร หรือ พระศิวะ เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่งในบรรดาเทพเจ้าทั้งสามของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งประกอบด้วยพระศิวะ พระนารายณ์ และพระพรหม แต่ละองค์จะมีคุณลักษณะพิเศษแตกต่างกันออกไปและมีผู้นับถือองค์ใดองค์หนึ่ง ตามความเชื่อของตน
         ประวัติของพระอิศวรมีเรื่องราวพิสดารแตกต่างกันหลากหลาย เช่น ในบางตำนานกล่าวว่าพระอิศวรเป็นบุตรของพระกัศยปกับนางสุรภี บางตำนานกล่าวว่าพระอิศวรเกิดจากพระนลาฏของพระพรหม บางแห่งก็ว่าเกิดจากพระพรหมบำเพ็ญตบะเสโทไหล และได้เอาไม้ขูดที่ขนง ฉวีถลกโลหิตหยดไหลลงไปในไฟ บังเกิดเป็นเทพบุตรองค์หนึ่งขึ้นมานามว่ารุทร หรือพระศิวะนั่นเอง และที่เชื่อกันมากที่สุดก็คือตำรับที่ว่า เมื่อไฟบรรลัยกัลป์ได้เผาผลาญล้างโลกหมดสิ้นแล้ว พระเวทย์และพระธรรมได้มาประชุมกัน และสร้างพระอิศวรขึ้นมาสร้างโลก
         พระอิศวรมีรูปกายสีขาว บางตำรับก็ว่ามีกายสีแดงบ้าง สีกายดำบ้าง มีตาสามตา ตาที่สามอยู่ตรงหน้าผากและเมื่อใดที่ลืมตาดวงนี้ จะบันดาลให้เกิดไฟบรรลัยกัลป์แผดเผาทุกสิ่งที่ขวางหน้า เหนือตาที่สามเป็นรูปพระจันทร์ครึ่งซีกมีเกศามุ่นเป็นชฎารุงรัง นัยว่าเพื่อทรมานพระคงคาที่ต้องไหลผ่านตามเกศานี้ก่อนที่จะไหลมายังพิภพโลก มีประคำกะโหลกหัวคนคล้องคอ มีสังวาลเป็นงู มีศอสีนิลเนื่องจากเสวยยาพิษนาคราชคราวอสูรและเทวดาร่วมกันกวนน้ำอมฤต มีตรีศูลธนู คทายอดหัวกะโหลกเป็นอาวุธ บางครั้งก็ถือบ่วงบาศบัณเฑาะว์ และสังข์ มีโคเผือกชื่ออุศุภราช หรือนนทิเป็นพาหนะ มีชื่อเรียกมากกว่าพันชื่อตามแต่ลักษณะที่ปรากฏ เช่น นิลกัณฐ์ มเหศวร หรือปรเมศวร จันทรเศขร หรือจันทรเษกระ ภูเตศวร และฑิคัมพร ฯลฯ
         พระศิวะ (คนไทยเรียกว่า พระอิศวร) เป็นบิดาของ พระพิฆเนศ มีชายาคือ พระแม่อุมาเทวี พระศิวะทรงเป็นมหาเทพผู้เป็นใหญ่ในจักรวาล หนึ่งใน ตรีมูรติ หรือ 3 มหาเทพสูงสุดแห่งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู (พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ)
         พระองค์ทรงประทานพรวิเศษให้แก่ผู้หมั่นกระทำความดี และยึดมั่นในศีลธรรม หากผู้ใดประพฤติเพื่ออุทิศถวายแก่พระองค์แล้วปรารถนาสิ่งวิเศษใด ๆ พระองค์ก็จะประทานพรนั้น ๆ ให้ แต่เมื่อได้พรสมปรารถนาแล้ว วันหน้าหากกระทำผิดไปจากความดีงาม ผู้นั้นจะเกิดวิบัติในชีวิต พระศิวะเทพจะเป็นผู้ทำลายทันที!!
         มีความเชื่อกันว่าพระศิวะนั้น สามารถช่วยปัดเป่ารักษาเยียวยาอากาศเจ็บไข้ได้ป่วยต่างๆ ได้อย่างมหัศจรรย์นัก!! หากผู้ใดที่เจ็บป่วยหรือต้องการขอพรให้คนในครอบครัวหายเจ็บไข้ได้ป่วย
         ถ้ากระทำการบวงสรวงบูชาและขอพรจากพระศิวะ ก็มักปรากฏว่าความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นถูกปัดเป่าให้หายไปได้โดยสิ้นในเร็ววัน
         พระองค์เป็นเทพที่จะคอยขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ห่างไกล และทำให้เกิดความดีงามเป็นศิริมงคลเกิดขึ้น ผู้ที่มีความทุกข์ไม่ว่าจะเป็นในทางใด หากบวงสรวงบูชา ขอพรให้พ้นทุกข์ พระศิวะก็จะประทานพรให้ผู้นั้นได้พ้นจากห้วงแห่งความทุกข์ด้วยเช่นกัน
         พระศิวะ นั้นเป็นเทพที่จะอำนวยพรประทานความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ผู้ที่มีอาชีพเลี้ยงวัว เลี้ยงม้า หรือเลี้ยงแกะ และอาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตรทั้งปวง ก็จะมีความสำเร็จและมีความสมบูรณ์พูนสุข หากบวงสรวงบชาพระศิวะ...
         นอกจากบทบาทความสำคัญโดยรวมที่กล่าวมาแล้วนั้น อีกบทบาทหนึ่งที่เด่นชัดแยกออกไป จากบทบาทของการเป็นมหาเทพ ผู้ทรงมีพระมหากรุณา ประทานพรแก่มวลมนุษย์นั้น พระศิวะยังทรงเป็นเทพแห่งคีตา คือเป็นเทพเจ้าแห่งการดนตรี และการร่ายรำ ระบำฟ้อนอีกด้วย
         พระศิวะ ผู้เป็นพระเป็นเจ้าแห่งการทำลายล้าง พระองค์เปี่ยมไปด้วยอำนาจ พระพักตร์ของพระองค์แสดงให้เห็นว่าเป็นทั้งชาย เป็นทั้งหญิง เป็นทั้งผู้ใจดี เป็นทั้งผู้ดุร้าย จากชิ้นฝุ่นธุลี ไปจนถึงภูเขาหิมาลัย จากมดตัวเล็กๆ ไปจนถึงช้างตัวใหญ่ จากมนุษย์ไปจนถึงพระเป็นเจ้า อะไรก็ตามที่เราสามารถเห็นได้นั้น เป็นรูปแบบของพระศิวะทั้งหมด
         ใน คัมภีร์อุปนิษัท ของฮินดู การท่องคำในพระคัมภีร์ส่วนมากมีคำว่า "ศิโวมฺสวหะ" (ข้าคือศิวะ) หมายความว่า บุคคลผู้มีสติปัญญาทุกๆคน ควรพิจารณาถึงตัวเอง และสิ่งทั้งหลายของสากลโลกเป็นรูปแบบของพระศิวะทั้งสิ้น เมื่อคิดระลึกได้อย่างนี้แล้ว ผู้นั้นก็จะเข้าถึงความสุขความสงบ
กำเนิดของพระศิวะนั้น ปรากฏเป็นเรื่องที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละยุคดังนี้
ยุคพระเวท
         เรื่องก็มีอยู่ว่า พระพรหม นั้น เกิดความรำคาญอกรำคาญใจเป็นอย่างยิ่งนัก ที่พระเสโทหรือเหงื่อผุดซึมทั่วพระวรกาย และยังไหลรินย้อยลงทั่วบริเวณพระพักตร์อีกด้วย ในวันอันร้อนอ้าวเช่นนั่น พระพรหมทรงบำเพ็ญภาวนา เพิ่มตบะบารมีให้แกร่งกล้าอย่างมุ่งมั่น เมื่อรู้สึกว่าถูกรบกวนด้วยเหงื่อเช่นนั้น ก็จึงได้นำเอาไม้ไปขูดๆ ที่บริเวณพระขนงหรือคิ้ว โดยมิได้ระมัดระวังองค์นัก คมของไม้นั้นจึงได้บาดบริเวณพระขนงของพระองค์ จนกระทั่งปรากฏพระโลหิตผลุดซึมออกมา และหยาดหยดลงบนกองเพลิงเบื้องหน้าของพระองค์นั้นเอง
         ทันทีที่พระโลหิตหยาดหยดลงในเปลวเพลิง ก็พลันเกิดเป็นเทพบุตรองค์หนึ่ง จุติขึ้นมาในเปลวเพลิงนั้น ทันทีที่ถือกำเนิดขึ้นมาเบื้องหน้าพระองค์ เทพบุตรผู้งดงามองค์นี้ก็ได้ร้องไห้ พลางขอให้พระองค์ประทานนามให้แก่ตน ซึ่งพระพรหมได้ประทานให้ถึง 8 นามด้วยกันดังนี้
             ภพ สรรพ ปศุบดี อุดรเทพ มหาเทพ รุทร อิศาล อะศะนิ
         หลังจากนั้น เทพองค์นี้ก็มีชื่อเสียง เป็นที่นับถือของมนุษย์ทั่วไป โดยส่วนใหญ่แล้วบรรดามวลมนุษย์จะนับถือบูชาเทพบุตรองค์นี้ ในนามของ พระรุทร อันเป็นชื่อ หนึ่งใน 8 นาม ซึ่งนามรุทรนี้มีความหมายแปลได้ว่า ร้องไห้ สำหรับนามอื่นๆ อีก 7 นามนั้นยังไม่เป็นที่นิยมแพร่หลายเท่าไรนัก
         ว่ากันว่าพระรุทรเทพบุตรที่มีชื่ออันแปลว่าร้องไห้นี้ เป็นมหาเทพที่มีความยิ่งใหญ่เกรียงไกร มีอำนาจบารมีค่อนข้างสูงนักในยุคพระเวทนี้ และยังเป็นเทพที่มนุษย์ทุกผู้ทุกนามนิยมนับถือบูชากันอย่างจริงจัง โดยนับถือให้พระรุทรเป็นเทพผู้ทำลายล้าง คือทำลายสิ่งที่เลวร้ายให้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง แล้วให้พระพรหมสร้างสิ่งที่ดีงามขึ้นใหม่
ยุคมหากาพย์ มหาภารตะ
         ในยุคนี้มีความเชื่อกันในเรื่องกำเนิดพระศิวะว่า พระองค์นั้นทรงจุติออกมาจากพระนลาฏ หรือหน้าผากของ พระพรหม จึงเท่ากับว่า พระศิวะ ก็เป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระพรหม
ยุคไตรเภท
         คัมภีร์ในยุคนี้ได้บันทึกถึงกำเนิดพระศิวะว่า ทรงประสูติจาก พระนางสุรภี และพระบิดาก็คือ พระกัศยปะเทพบิดร
คัมภีร์พรหมมานัส
         พระศิวะเป็นเทพที่กำเนิดจาก พระประชาบดี มิได้เกิดจากพระโลหิตของ พระพรหม ดังเช่นที่มีการกล่าวไว้ในยุคพระเวท ครั้นเมื่อทรงจุติขึ้นมาแล้วเทพประชาบดีก็ถามพระโอรสว่า เหตุไฉนจึงร่ำไห้โศกาอาดูรตลอดเวลา
         พระรุทร หรือเทพบุตรโอรสของพระประชาบดีที่กำลังร่ำไห้อยู่นั้น จึงได้ทูลตอบว่า เพราะว่าพระบิดาไม่ได้ตั้งชื่อ ให้เมื่อไม่มีชื่อก็จึงเสียใจร้องไห้เช่นนั้น พระประชาบดีจึงได้ตั้งชื่อให้โอรสองค์นี้ว่า พระรุทรซึ่งหมายถึงการร้องไห้ และพระรุทรองค์นี้ในคัมภีร์พรหมนัสได้กล่าวไว้ว่า น่าจะหมายถึงองค์ศิวะนั่นเอง
         ในคัมภีร์โบราณ ที่ปรากฏอยู่ในหอวชิรญาณ ได้อธิบายถึงประวัติการกำเนิดของพระศิวะไว้ว่า เมื่อโลกได้ถูกเผาด้วยไฟบรรลัยกัลป์จนพินาศโดยสิ้นแล้วนั้น ได้มีคัมภีร์พระเวทและพระธรรมบังเกิดขึ้น และเมื่อพระเวทกับพระธรรมมาประชุมรวมกัน จึงได้บังเกิดเป็นมหาเทพองค์หนึ่งคือ พระปรเมศวร ในคัมภีร์นี้อธิบายการกำเนิดของพระศิวะว่าทรงสร้างพระองค์ขึ้นมาเอง หลังจากการทำลายล้างโลก โดยที่มิได้เป็นโอรสหรือจุติมาจากการนิรมิตสร้างสรรค์ของมหาเทพองค์ใด
ปางต่างๆของพระศิวะ
ปางจักราธนมูรติ (วิษณุวาณุครหมูรติ)
         อันเนื่องจาก พระวิษณุเทพ ได้ทำสงครามกับอสูรบนสวรรค์ และเกิดความเพลี่ยงพล้ำไม่อาจชนะฝ่ายอสูรได้ จึงได้ทำพิธีบูชาพระศิวะเทพขึ้น ซึ่งได้บูชาด้วยดอกบัววันละ 1,000 ดอกทุกวัน จนวันหนึ่งหาดอกบัวไม่ได้พระวิษณุเทพจึงควักลูกตาของตนเพื่อถวายบูชาแก่องค์ศิวะเทพ พระองค์ทรงพอพระทัยมาก จึงประทานลูกล้อ หรือ จักรหินสัญลักษณ์ของพระศิวะเทพเพื่อให้เป็นอาวุธของพระวิษณุต่อไป
ปางนนทิศานุครหมูรติ
         สรังคยานะ เกิดมาไม่มีบุตรสืบสกุล จึงไปขอพระเป็นเจ้า วิษณุเทพได้ประทานบุตรมาให้ตน ด้วยพอใจการบวงสรวงบูชาของฤาษี บันดาลอิทธิฤทธิ์ให้เด็กถือกำเนิดจากสีข้างของพระองค์ ทารกนี้รูปร่างเหมือนพระศิวะ ทรงพระราชทานนาม นนทิเกศวร นนทิเกศวรได้พรจากพระศิวะ ต่อมานนทิได้นำพิธีทรมานร่างกายบน ยอดเขามันธระ เพื่อให้เข้าถึงพระศิวะเจ้า พระศิวะเทพโปรดปรานมาก ทรงปรากฏตัวให้เห็นและรับเอาฤาษีนนทิเป็นหัวหน้ามหาดเล็กรับใช้อยู่ที่เขาไกรลาศ ทรงแต่งตั้งให้เป็นเทพบุตรนนทิเกศวร ส่วนพระชายาของเทพบุตรพระองค์นี้คือ นางสุยาศุบ้างก็ว่า เทพบุตรพระองค์นี้ตัวเป็นมนุษย์ หัวเป็นโค
ปางกิรทารชุนมูรติ 
         ท้าวอรชุน (ในมหากาพย์ภารตะ) ทำพิธีบูชาพระศิวะเพื่อขอประทานลูกธนูศักดิ์สิทธิ์ให้ตนเพื่อไปยิงอสูร ท้าวอรชุนได้บวงสรวงอยุ่ที่เขาไกรลาศ พระศิวะใช้มายาแปลงเป็นหมูป่าเข้าทำร้ายพราหมณ์หนุ่มและท้าวอรชุน พราหมณ์หนุ่มต้องการยิงหมูป่า อ้างว่าตนเห็นก่อน แต่ท้าวอรชุนไม่ยอม บอกว่าตนต่างหากที่เห็นก่อนจากนั้นทั้งคู่ก็เลยต้องเดิมพันด้วยการต่อสู้กันก่อน ไม่ว่าท้าวอรชุนจะใช้อาวุธใดก็มีอาจทำร้ายพราหมณ์หนุ่มได้ จนเมื่อท้าวอรชุนทรุดตัวลงกราบ พระศิวะพอพระทัยมอบลูกธนูวิเศษให้ไปปราบอสูร
ปางราวันนานูครหมูรติ
         ทศกัณฐ์ เจ้าเมืองลงกา หลังจากทำสงครามกับ ท้าวกุเบร ได้เสด็จผ่าน เทือกเขาหิมาลัย เห็นว่ามีทัศนียภาพอันน่ารื่นรมย์ ตั้งใจจะเข้าไปชมสถานที่ แต่เจอ นนทิเกศวร หัวหน้ามหาดเล็กของพระศิวะเทพขวางทางไว้ เพราะ เขาไกรลาศ เป็นที่ประทับของพระศิวะเทพและ พระนางปราวตี (พระแม่อุมา) ห้ามผู้ใดล่วงล้ำเข้าสู่เขตพระราชฐาน ทศกัณฐ์โกรธมาก จึงขู่อาฆาตและสาปแช่งว่า นนทิต้องสิ้นชีพด้วยน้ำมือลิง แต่นนทิเกศวรบอกว่า ทศกัณฐ์ต่างหากที่ต้องสิ้นชีพด้วยน้ำมือลิง ด้วยความโมโหอย่างถึงที่สุด ทศกัณฐ์เตรียมจะยกเขาไกรลาศขึ้นทุ่ม แค่โยกเขาด้วยอิทธิฤทธิ์เท่านั้น บรรดาเทวดาและมนุษย์ก็เดือดร้อนหนีกันจ้าละหวั่น พระนางปราวตีได้ทูลขอให้พระศิวะให้แก้สถานการณ์ ทรงใช้เท้าเหยียบที่พื้นลงเบาๆ เพื่อให้เขาไกรลาศตั้งดังเดิม และทรงปราบพยศอสูรทศกัณฐ์จนยอมศิโรราบ
ปางกาลารีมูรติ
         ฤาษีตนหนึ่ง ได้ทำพิธีบูชาสวดมนต์อ้อนวอนขอลูกกับพระศิวะเทพ พระองค์ทรงโปรดการบูชาจึงประทานลูกให้ แต่บอกว่า เด็กคนนี้จะอายุสั้น ฤาษีและภรรยาได้เลี้ยงดูลูกจนอายุ 16 ปี ลูกชายไปได้บวงสรวงต่อพระศิวะระหว่างที่ชะตาถึงฆาตประจวบเหมาะว่า เป็นช่วงที่เด็กคนนี้กำลังบูชาศิวลึงค์อยู่พอดี พระยม-กาลแห่งความตายได้เดินทางจากเมืองนรกมารับตัวเด็กหนุ่ม พระศิวะเห็นดั่งนั้นทรงพิโรธทรงปรากฏกายออกจากศิวลึงค์เข้าเตะพระยม พระยมสู้ฤทธิ์พระศิวะไม่ได้จึงหนีไปพระศิวะประทานพรให้เด็กหนุ่มมีชีวิตเป็นอมตะ
ปางกานันทกามูรติ
         ปางนี้คือปางพระศิวะทำลาย เทพเจ้าแห่งความรัก (กามเทพ) เมื่อ พระนางสตี (ชายาอีกพระองค์หนึ่งของพระศิวะ) เผาร่างตนเองไปนั้น พระศิวะเสียพระทัยมาก และเข้าสู่สมาธิเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ในที่สุดเมื่อพระนางมาจุติใหม่ โดยแบ่งภาคมาจากพระแม่ศักติ-ศิวา มาเป็นพระนางปารวตี (พระแม่อุมา) กามเทพต้องทำหน้าที่เพื่อให้พระศิวะเกิดความรัก เพื่อจะได้มีบุตรในการไปปราบอสูรชื่อ ทาราคา ในที่สุดเมื่อทุกอย่างสำเร็จ ทรงมีโอรสขึ้นมาคนหนึ่งชื่อ ขันธกุมาร (หรือ กาติเกยะ หรือ กุมารา หรือ สุภามันยะ อันเป็นพี่น้องแห่งพระพิฆเนศนั่นเอง) เพื่อไปปราบอสูรทาราคาให้สิ้น
ปางอรรธนารีศวร (ครึ่งพระศิวะ ครึ่งพระแม่อุมา)
         ปางนี้เป็นปางครึ่งหญิงครึ่งชายในรูปลักษณ์ทางประติมกรรมนั้น จะแบ่งซีก ระหว่างพระศิวะกับพระอุมา ปางนี้ได้กำเนิดขึ้นครั้งแรก ครั้งเดียว ในสมัยการสร้างจักรวาล กล่าวคือ พระพรหมได้รับภารกิจให้สร้างมนุษย์เพศชายเพียงเพศเดียว แต่เพศชายเพียงอย่างเดียวไม่มีกำลังในการขยายเผ่าพันธุ์ในโลกใด้ ครั้งจะสร้างเพศหญิงขึ้นมาก็ไม่รู้ว่าจะเอาแบบอย่างมาจากไหน พระพรหมจึงต้องบวงสรวงมหาเทวาธิเทวะ มหาเทวะ ศิวะเทพ เพื่อให้เสด็จมาแก้ปัญหาที่ค้างคาใจอยู่ พระพรหมบวงสรวงจนเป็นที่พอใจก็เลยเสด็จมา นับเป็นครั้งแรกที่มาในปางอรรธนารีศวร เพศหญิงและเพศชายที่รวมกันอยู่ในร่างเดียวกัน ทำให้พระพรหมเข้าใจในกำลังเสริมของเพศคู่นี้ อันจะนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์และชีวิตใหม่
3 พระอิศวร หรือ พระศิวะ.jpg

ภาพที่ 3 พระอิศวร หรือ พระศิวะ

         เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีหลักฐานปรากฏถึงการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาแต่ครั้งยุคก่อนประวัติศาสตร์ ยุคทวารดี กระทั่งถึงยุคประวัติศาสตร์ชาติไทยร่วมสมัยกับอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักร   กรุงศรีอยุธยา และเชียงแสนล้านนา อันเป็นยุคที่มีความรุ่งเรืองของศิลปะและพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จากโบราณสถานวัตถุต่าง ๆ ที่พบเห็นได้ในเขตเมืองกำแพงเพชรย่อมเป็นสิ่งสะท้อนได้เป็นอย่างดี คนกำแพงเพชรดั้งเดิมนั้น มีความเชื่อที่หลากหลายทั้งทางพุทธ ฮินดู และผี ไม่ต่างไปจากผู้คนในภูมิภาคอื่น ๆ เช่น คนในภาคอีสานจะเชื่อในเรื่องปู่สังกะสา ย่าสังกะสี ปู่อึ้ม ย่าเผิ้ง ปู่เยอ ย่าเยอ ผีปู่ตา ผีแถน ส่วนผู้คนทางล้านนาจะมีความเชื่อเกี่ยวกับ ผีปู่แสะ ย่าแสะ ขณะเดียวกันคนกำแพงเพชรดั้งเดิม จะมีพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น รดน้ำพระอีศวรในวันสงกรานต์ การผูกข้อมือลูกหลาน ผูกเครื่องใช้ หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยง เพื่อการให้พรในวันพระยาวัน ก็ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน 
         เมืองกำแพงเพชร มีหลักฐานปรากฏของการนับถือศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ดังมีปรากฏเทวสถานเพียงแห่งเดียวในเขตเมือง ซึ่งก็คือศาลพระอิศวรที่อยู่ในเขตพระราชวังโบราณด้านทิศตะวันออก ศาลแห่งนี้มีฐานก่อสร้างด้วยศิลาแลงมีรูปสัณฐานเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าอันเป็นลักษณะทั่วไปของสถาปัตยกรรมโบราณที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานรูปเคารพและเพื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ   จากข้อความจารึกที่พบบริเวณฐานเทวรูปพระอีศวรเมืองกำแพงเพชร ซึ่งถือว่าเป็นเทวรูปสัมฤทธิ์ที่สำคัญเนื่องจากมีการค้นพบจารึกที่เป็นการบันทึกการสร้างและเรื่องราวเหตุการณ์ต่าง ๆ ขณะนั้น มีทั้งสิ้น 3 บรรทัด ในบรรทัดที่ 1 ซึ่งระบุตรงกับ ปีพุทธศักราช 2053 ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิจารึกทั้ง 3 บรรทัดนี้ ได้ถูกแปลโดย ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสที่มีชื่อเสียงในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เดินทางมารับราชการในตำแหน่งบรรณารักษ์ใหญ่ประจำหอพระสมุดวชิรญาณ เมื่อ พ.ศ.2461 ต่อมาเปลี่ยนเป็นหอสมุดแห่งชาติ ทำให้ทราบถึงกรณียกิจที่เจ้าเมืองขณะนั้นที่ได้ดูทุกข์สุขของผู้คนในเมืองของตน ซึ่งได้ความว่า “ศักราช 1432  มะเมียนักษัตร อาทิตยพารเดือน 6 ขึ้น 14 ค่ำ ได้หัสฤกษ์เพลารุ่งแล้ว 2 นาฬิกา จึงเจ้าพรญาศรีธรรมาโศกราชประดิษฐานพระอิศวรเป็นเจ้านี้ไว้ให้ครองสัตว์สี่ตีนสองตีนในเมืองกำแพงเพชรแลช่วยเลิกศาสนาพุทธศาสตร์แลไสยศาสตร์แลพระเทพกรรมมิให้หม่นหมองให้เป็นอันหนึ่งอันเดียว แลซ่อมแปลงพระมหาธาตุแลวัดบริพารในเมือง นอกเมืองและที่แดนเหย้าเรือน ถนนทลาอันเป็นตรธานไปเถิงบางพาน ขุดแม่ไตรบางพร้อ อนึ่งย่อมขายวัวไปแก่ละว้าอันจะขายดุจก่อนนั้น ก็ห้ามมิให้ขาย อนึ่งเมื่อทำนาไซร้ย่อมข้าวพืช ข้าวในนานั้นปลูกเอง มิได้เอาข้าวในยุ้งไปหว่านไปดำทั้งหลาย อนึ่งท่อปู่พญาร่วงทำเอาน้ำไปเถิงบางพานนั้น ก็ถมหายสิ้นและเขาย่อมทำนาทางฟ้าแลหาท่อนั้นพบ กระทำท่อเอาน้ำเข้าไปเลี้ยงนา ให้เป็นนาเหมือนนาฝาย มิได้เป็นทางฟ้า อันทำทั้งนี้ถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์” 
ภาพที่ 5 จารึกฐานพระอิศวร.jpg

ภาพที่ 4 จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร

         ศักราชที่ปรากฏข้างต้นเป็นมหาศักราช ตรงกับพุทธศักราช 2053 จารึกนี้ให้ข้อมูลประวัติศาสตร์ดังนี้ เมืองกำแพงเพชรสมัยนั้นมีผู้ปกครองเมืองนามว่า พรญาศรีธรรมาโศกราช และเป็นผู้บัญชาให้สร้างปฏิมากรรมพระอีศวรองค์นี้ขึ้น เพื่อให้เป็นเทพคุ้มครองประชาชนและสิ่งมีชีวิตทั้งปวงในเมืองกำแพงเพชร ทั้งกล่าวถึงการฟื้นฟูลัทธิศาสนาที่ประชาชนเชื่อถือในเมืองกำแพงเพชรในเวลานั้น อันได้แก่ พระพุทธศาสนา ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูที่นับถือเทพเจ้าและไสยศาตร์ซึ่งหมายถึงมนตรยานหรือลัทธิตันตระและการฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างเนื่องในศาสนา กล่าวถึงการฟื้นฟูระบบชลประทานจากที่เคยมีการวางรากฐานไว้แล้วตั้งแต่สมัยสุโขทัย เพื่อสามารถทำนาปลูกข้าวได้ดีกว่าเดิม โดยไม่ต้องทำนาโดยอาศัยเพียงน้ำฝนตามฤดูกาลเท่านั้น และเมื่อฟื้นฟูระบบชลประทานแล้วย่อมต้องใช้วัวในการไถนา จึงประกาศไม่ให้ขายวัวให้กับพวกละว้าซึ่งน่าจะหมายถึงพวกลัวะซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่อยู่ตามหุบเขาในเขตจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน และเชียงใหม่ นอกจากนั้นยังกล่าวถึงการสร้างพระอิศวรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้กับพระเจ้าอยู่หัว 2 พระองค์ ซึ่งน่าจะหมายถึงพระเจ้าแผ่นดินที่ปกครองกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นองค์หนึ่ง อีกองค์หนึ่งอาจเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ล่วงลับไปแล้วก่อนหน้าองค์ปัจจุบัน หากสันนิษฐานเช่นนี้ ก็น่าจะหมายถึง สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ครองราชย์ พุทธศักราช 2034 ถึง 2072 ) และ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 3 (ครองราชย์ พุทธศักราช 2031 ถึง 2035) ตามลำดับ อนึ่งอาจวิเคราะห์ว่า องค์ที่ 2 อาจหมายถึง ผู้ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือซึ่งรวมถึงเมืองกำแพงเพชรด้วย หรือเมืองลูกหลวงของกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีเมืองหลักอยู่ที่เมืองพิษณุโลกในสมัยนั้น คือ สมเด็จพระอาทิตยเจ้าซึ่งเป็นพระราชโอรสองค์โตในสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 และโปรดฯให้ไปครองเมืองพิษณุโลกซึ่งเป็นเมืองลูกหลวงที่เคยเป็นราชธานีของกรุงศรีอยุธยาในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  
         จากข้อความจารึกที่พบบริเวณฐานพระอีศวร ทำให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์กำแพงเพชรและสุโขทัยเป็นอย่างมากส่งผลให้จารึกนี้ได้ขึ้นทะเบียนบัญชีโบราณวัตถุ ดังนี้ (1) กองหอสมุดแห่งชาติ กำหนดเป็น “กพ. 2” (2) ในหนังสือ ประชุมศิลาจารึก ภาคที่ 1 กำหนดเป็น “หลักที่ 13 จารึกบนฐานพระอิศวรจังหวัดกำแพงเพชร” ส่วนการเรียกพระนาม “อีศวระ” ปัจจุบันคนไทยได้เขียนผิดเพี้ยนไปเป็น “อิศวร” ซึ่งไม่ถูกต้อง การค้นพบจารึกวัดป่ามะม่วง พ.ศ.1904 อันเป็นหลักฐานในสมัยสุโขทัย ทำให้ทราบว่าคนสุโขทัยสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท เรียกพระศิวะว่า พระอีศวร และพระมเหศวร (จาก) พระสทาศีพ (มาจาก พระสทาศิวะ) จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด พ.ศ.1935 อาจจะเรียกพระนามพระศิวะ ว่า อีศะ และปรเมสูร น่าจะมาจาก ปรเมศวร จึงเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้น 
         ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรแต่เดิมนั้น พบว่าได้มีการประดิษฐานประติมากรรมเทวรูปสัมฤทธิ์ที่สำคัญ จำนวน 3 องค์ ได้แก่ เทวรูปพระอิศวร เทวรูปพระนารายณ์ และเทวรูปพระแม่อุมาเทวีทั้งนี้ปฏิมากรรมเทวรูปสัมฤทธิ์พระอิศวรเมืองกำแพงเพชร มีประวัติการค้นพบการสูญหายและการได้กลับคืนมาในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 จนกระทั่งได้นำกลับคืนมาสู่เมืองกำแพงเพชร เรื่องราวเหล่านี้ได้เริ่มต้นขึ้นโดยเมื่อครั้งนายแม็คคาธี นายช่างสำรวจทำแผนที่ฯมาสำรวจทำแผนที่เมืองกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2425 ได้มีบันทึกการพบเห็นเทวรูปสัมฤทธิ์พระอีศวร  ณ ศาลพระอิศวร ว่า “ตั้งอยู่ในกลางเมืองห่างบ้านพระยากำแพงเพชรเดินสักสิบมินิตเท่านั้น เทวรูปนี้ว่าเป็นที่คนนับถือว่าศักดิสิทธิ เปนที่บูชาเส้นสรวงกันอยู่”  
         อีก 2 ปีต่อมา นายรัสต์มัน (J.E. Rastmann) พ่อค้าชาวเยอรมันและเป็นเจ้าหน้าที่ตรวจการของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์วิทยาแห่งเบอร์ลิน ได้ทำการค้าขายขึ้นล่องระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองภาคเหนือ  พระยาสุจริตรักษา ผู้สำเร็จราชการเมืองตาก ได้มีรายงานบันทึกกล่าวถึงพฤติกรรมของนายรัสต์มันว่า “มาครั้งใดก็ได้เที่ยวเก็บเอาพระพุทธรูปหล่อไปครั้งละร้อยสองร้อยองค์ทุกครั้งไป ถ้าเปนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ มิสเตอรอศแมนให้ลูกจ้างตัดเอาแต่พระเศียรไป”  เมื่อนายรัสต์มันมาพบเห็นเทวรูปที่ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรเห็นว่าเป็นที่เคารพบูชาของคนในเมืองนี้ จึงอุบายแจ้งไปยังกงสุลเยอรมันประจำกรุงเทพฯ ว่า “เป็นของที่ถูกทอดทิ้งอยู่กลางป่าแล้วถ้าตนนำไปก็จะเป็นการล้างผลาญศาสนาพราหมณ์ อันจะทำให้ศาสนาของพระพุทธเจ้าเจริญขึ้น ขอให้กงศุลฯ ขอพระราชทานพระราชานุญาติจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอลเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ” ระหว่างที่รอโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอยู่นั้นปรากฏว่านายรัสต์แมนได้ลักลอบตัดพระเศียรและพระกรของเทวรูปทั้ง 3 ที่ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลนี้ส่งลงมายังกรุงเทพฯ ทว่ากงสุลเยอรมันไม่เห็นชอบด้วยจึงอายัดไว้ เรื่องราวดังกล่าวได้ปรากฏในพระราชหัตถเลขาซึ่งทรงมีไปยังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ตอนหนึ่งว่า “มาบัดนี้กงศุลเยอรมันมีหนังสือขึ้นมาถึงเทวัญ ว่าอ้ายราสแมนไปโขมยเอาหัวกับแขนเทวรูปนั้นลงมาแล้ว แต่กงศุลพูดจาดี ไม่เหนชอบในการที่ราสแมนทำ ให้ยึดเอาของที่ราสแมนเอานั้นไว้ที่ศาลกงศุล ขอให้เทวัญฤาใครลงไปดู” 
ภาพที่ 6 ภาพเทวรูป.gif

ภาพที่ 5 ภาพเทวรูปและเทวสตรีที่ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร ก่อนถูกเคลื่อนย้ายและบูรณะ

         ราวเดือนเมษายน พ.ศ.2427 ระหว่างที่กรมหมื่นพิชิตปรีชากรเสด็จฯขึ้นไปเชียงใหม่ผ่านเมืองกำแพงเพชร ได้มีหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ความตอนว่า “อนึ่งข้าพระพุทธเจ้าออกมาถึงเมืองกำแพงเพชรครั้งนี้ ได้เหนเทวรูปพระอิศวรที่มิสเตอร์ราษแมนเอาพระเศียรไปนั้นเหนเปนของประหลาดงดงามมาก หล่อด้วยทองเหลืองเนื้อหนาและลวดลายวิจิตบันจงมาก  ข้าพพุทธเจ้าได้สั่งให้พญากำแพงเพชรนำเทวรูปทองสำฤทธที่มิสเตอราษมันเอาพระเศียรไปรูปหนึ่งกับศิลาจาฤกอักษรแผ่นหนึ่งเปนของสำหรับกับพระมหาธาตุเมืองกำแพงเพชร แต่องค์พระมหาธาตุนั้นล้มทำลายเสียเมื่อครั้งแผ่นดินไหว มีผู้ยกเอาแผ่นสิลานี้มาทิ้งไว้ที่สเดจน่าเมืองกำแพงเพชร ข้าพระพุทธเจ้าเหนว่าเปนของโบราณประหลาดควรอยู่ ณ กรุงเทพฯ จึงส่งลงมาทูลเกล้าถวาย ควรมิควรสุดแล้วแต่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ”  เมื่อส่วนองค์ของเทวรูปส่งลงมายังกรุงเทพฯ จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ อธิบดีกรมช่างสิบหมู่ผู้ทรงเป็นช่างหลวงนำพระเศียรและพระหัตถ์ติดเข้ากับองค์เทวรูป พระอีศวรดังเดิม ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จประพาสต้น ณ เมืองกำแพงเพชรระหว่างวันที่ 18-27 สิงหาคม พุทธศักราช 2449 ทรงเสด็จฯมา ณ ศาลพระอีศวรเมืองกำแพงเพชรแห่งนี้ ทรงตรัสว่า “ที่นี่ ซึ่งคนเยอรมันได้มาลักรูปพระอิศวร (ที่อยู่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์) เดี๋ยวนี้ไปตามกลับมาได้ยังคงเหลือ...บัดนี้ แต่พระอุมาและพระนารายณ์ซึ่งเอาศีรษะไปเสียแล้ว” 
         ส่วนเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ที่ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีในปัจจุบัน ณ ศาลพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร ได้จำลองขึ้นในสมัยที่นายเชาวน์วัศ สุดลาภา (พ.ศ.2525-2527) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์องค์จริงปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร รูปแบบของเทวรูปพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรเป็นงานศิลปกรรมอยุธยาที่รับอิทธิพลมาจากศิลปะเขมรแบบบายนมีอายุทางโบราณคดีในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22 สมัยอยุธยาตอนต้น
ภาพที่ 7 ภาพเทวรูปพระอิศวร.jpg

ภาพที่ 6 ภาพเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์องค์จริง

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม[แก้ไข]

         ศาลพระอีศวรเป็นโบราณสถานที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นศาลหรือเทวาลัยในศาสนาฮินดู ตั้งอยู่ในเขตกำแพงเมืองโบราณกำแพงเพชร ในพื้นที่ส่วนทางทิศใต้ตอนกลางของเมือง ปัจจุบันอยู่ในเขตตัวอำเภอ เมืองกำแพงเพชรและเขตเทศบาลเมืองกำแพงเพชร ตัวศาลในปัจจุบันได้ถูกบูรณปรับแต่งให้ใกล้เคียงกับแบบสัณฐานเดิม ซึ่งมีลักษณะโครงสร้างแบบสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยศิลาแลง ยกพื้นสูง 1.5 เมตร หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เครื่องบนสันนิษฐานว่าเครื่องบนเป็นไม้ 
ภาพที่ 4 ศาลพระอิศวร.jpg

ภาพที่ 7 ศาลพระอิศวรในปัจจุบัน

ภาพที่ 3 ศาลพระอิศวร.jpg

ภาพที่ 8 ศาลพระอิศวรในปัจจุบัน

         พิทยา  คำเด่นงาม ได้ร่วมกับกรมศิลปากรทำการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2509 เพื่อบูรณะปรับแต่งด้วยการทำผังจากการขุดแต่งพบว่าศาลพระอิศวรเป็นอาคารผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ฐานชุกชีด้านบนเป็นแท่นตั้งเทวรูป จากหลักฐานพบว่าเคยเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์และพระอุมา สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา ตลอดจนทำการบูรณะและเสริมความมั่นคงศาลพระอิศวรและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ จากหลักฐานที่พบสันนิษฐานว่ามีการใช้พื้นที่ศาลพระอิศวรช่วงพุทธศตวรรษที่ 21 - 23 สมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย

วิธี/ขั้นตอน/กระบวนการในการสักการะ[แก้ไข]

         1. โต๊ะหรือแท่นบูชา สามารถประดิษฐานร่วมกับเทพองค์อื่น ๆ ได้ เช่น พระพรหม พระวิษณุศิวลึงค์ หรือครอบครัวของพระองค์ คือ พระแม่อุมา พระแม่กาลี พระแม่ทุรคา พระพิฆเนศ พระขันทกุมาร ควรปูโต๊ะหรือแท่นบูชาด้วย ผ้าสีขาว สีแดง สีเงิน โดยเฉพาะ ผ้าพิมพ์ลายหนังเสือ (หนังเสือเทียม) ท่านจะโปรดมาก แท่นหรือโต๊ะควรเป็นลายไม้ธรรมชาติ หรือทาสีด้วย สีดำสนิท สีแดง สีเงิน โดยไม่มีลายสีทอง (พระองค์ไม่โปรดสัญลักษณ์ที่สื่อถึงทองคำ เนื่องจากพระองค์ปฏิบัติโยคะอย่างสูงสุด มีความสมถะ เรียบง่าย)
         2. เครื่องสังเวย ของถวายน้ำดื่ม นมสด (จืดหรือหวาน ไม่ปรุงแต่งกลิ่นหรือสี) 
         3. ดอกไม้ สามารถใช้ดอกดาวเรือง ดอกบัว ดอกกุหลาบ ดอกไม้ป่าต่าง ๆ ทุกสี ทุกพันธุ์ กำยาน กลิ่นจันทน์ กลิ่นดอกบัว กลิ่นสมุนไพรและพรรณไม้ต่าง ๆ 
         4. ผลไม้ ควรถวายผลไม้ที่มีกลิ่นหอมโชยอ่อน ๆ รสชาติอ่อน ๆ ไม่เปรี้ยวจัด ไม่หวานจัด หรือขมจัดเกินไป ผลไม้ไม่ควรปอกเป็นคำ ๆ ควรถวายทั้งเปลือก หรือเป็นลูกๆ เช่น กล้วยทั้งหวี แต่มะพร้าวจะต้องผ่าหรือเทใส่แก้ว 
         5. ขนม เช่นเดียวกับเทพทุกองค์ คือ ถวายขนมรสหวาน มีกลิ่นหอม ห้ามถวายอาหารคาวและเนื้อสัตว์ ธัญพืช เช่น งา ลูกเดือย ข้าวตอก ใบมะตูม หญ้าคา เผือก มัน ถั่วฝัก เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าว เมล็ดบัว พริกไทย เครื่องเทศต่าง ๆ

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         2 กุมภาพันธ์ 2561

วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         -

ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]

         อาจารย์วัชรัศน์  ศรีวิริยะกิจ

คำสำคัญ (tag)[แก้ไข]

         ศาล, พระอีศวร, เมืองกำแพงเพชร, เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช
         - ศาล หมายถึง ที่สิงสถิตของเทวดา เทพารักษ์ หรือเจ้าผี เป็นต้น เช่น ศาลเทพารักษ์ศาลเจ้าศาลเจ้าแม่ทับทิม
         - พระอิศวร หมายถึง เทพเจ้าสูงสุดตามความเชื่อในศาสนาฮินดู คือ ตรีมูรติ โดยมีทั้งสิ้น 3 องค์ ได้แก่ พระอิศวรหรือพระศิวะ พระพรหม และพระวิษณุ 
         - เมืองกำแพงเพชร หมายถึง ชื่อจังหวัดกำแพงเพชรเมื่อครั้งเป็นเมืองบริวารในสมัยอาณาจักรสุโขทัย อยุธยา
         - เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช หมายถึง ผู้สร้างเทวรูปพระอิศวรสำริดและศาลพระอิศวรตามความจารึกเมื่อปีพุทธศักราช 2053