ฐานข้อมูล เรื่อง ศูนย์รวมสายพันธุ์กล้วย ณ พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

ชื่อเรียกทางการ[แก้ไข]

         ศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วย พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ

ชื่อเรียกอื่น ๆ[แก้ไข]

         -	   

ที่ตั้ง/ที่ค้นพบ[แก้ไข]

         พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ (เรือนไทย)

ที่ตั้งพิกัดทางภูมิศาสตร์[แก้ไข]

         16°29'15.4"N  99°31'27.0"E

สภาพธรณีวิทยา[แก้ไข]

         เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ดินเป็นดินร่วนปนทราย มีความอุดมสมบูรณ์สูง เหมาะแก่การเกษตรกรรมโดยเฉพาะเหมาะแก่การปลูกพืชไร่ทุกชนิด เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และโดยเฉพาะกล้วยไข่ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตกล้วยไข่ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ

ประเภททรัพยากร[แก้ไข]

         ทรัพยากรทางธรรมชาติ

สถานะการขึ้นทะเบียน[แก้ไข]

         ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน

หน่วยงานที่ดูแลรักษา[แก้ไข]

         พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ (เรือนไทย) สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

ข้อมูลจำเพาะทรัพยากรธรรมชาติ[แก้ไข]

ประวัติความเป็นมา/คำบอกเล่า/ตำนาน[แก้ไข]

         ศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วย เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
         การจัดสร้างพิพิธภัณฑถสานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ ที่มีลักษณะเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ  พระองค์ได้พระราชทานหน่อกล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า  ให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร โดยมีแนวพระราชดำริที่จะอนุรักษ์สายพันธุ์กล้วย ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีคุณประโยชน์มากมายนี้ไว้ และภายหลังก็ได้มีการนำหน่อกล้วยทั้งสองหน่อนั้น มาปลูกไว้ในพื้นที่ด้านหลังอาคารพิพิธภัณฑ์  
ภาพที่ 1 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา.jpg

ภาพที่ 1 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีได้พระราชทานหน่อกล้วยไข่ และกล้วยน้ำว้า

         ศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วยเฉลิมพระเกียรติ ในวันนี้จากต้นกล้วยสองต้นกลายมาเป็นศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วยที่มีพันธุ์กล้วยกว่า 160 สายพันธุ์ สืบเนื่องจากมีโครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยของไทยเกิดขึ้น และได้เริ่มต้นโครงการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ พ.ศ.2544 โดยพระโสภณคณาภรณ์ (สมจิตต์ อภิจิตฺโต) โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายในการรวบรวมสายพันธุ์กล้วยไว้ 200 กว่าสายพันธุ์  และได้ปลูกเปรียบเทียบศึกษา จนเหลือประมาณ 160 กว่าสายพันธุ์ นอกจากนั้นยังได้ดำเนินการเพาะและขยายพันธุ์เพื่อเผยแพร่ให้ แก่ผู้สนใจทั่วไป อันเป็นการช่วยอนุรักษ์พันธุ์กล้วยของไทยให้คงอยู่และแพร่หลายต่อไป ทั้งนี้ได้รับความช่วยเหลือ และประสานงานจากหน่วยงานราชการ และเอกชนหลายแห่ง พร้อมทั้งได้ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญด้วยกล้วยมาร่วมดำเนินการอีกหลายท่าน โดยรวมกันเป็นเครือข่าย ได้แก่ อาจารย์สมถรรถชัย ฉัตราคม ชมรมรักษ์กล้วย ศาสตราจารย์เบ็ญจมาศ ศิลาย้อย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกล้วยแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.วีระชัย ณ นคร ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์ฯ จ.เชียงใหม่ อาจารย์กัลยาณี สุวิทวัส จากสถานีวิจัยปากช่อง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และจากมหาวิทยาลัยมหิดล คณะพืชสวนฯ ศูนย์เพาะพันธุ์พืช จ.พิษณุโลก  
         ดังนั้น ศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วยฯ จึงเป็นสถานที่อีกแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งคนที่สนใจเรื่องกล้วยรวมไปถึงคนที่ชอบกินกล้วย ไม่ควรพลาดที่จะแวะมาชม เพราะจะมีกล้วยกว่า 160 สายพันธุ์ให้ชม และความน่าสนใจภายในศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วย คือ ยังมีกล้วยชื่อแปลก หน้าตาแปลก บางพันธุ์กินได้ ซึ่งบางพันธุ์กินไม่ได้ บางพันธุ์ก็ไม่มีในเมืองไทย และอีกหลายร้อยสายพันธุ์กล้วยที่เรายังไม่รู้จัก พื้นที่ส่วนแรกที่เราจะได้ชมกันใกล้ๆ นั้นก็คือกล้วยประเภทกล้วยประดับ ซึ่งก็เป็นต้นกล้วยประเภทหนึ่งที่มีรูปทรงแปลก มีดอกสวย แต่ผลกล้วยมักรสชาติไม่ดี คนจึงไม่นิยมกินกัน แต่นิยมนำมาปลูกเพื่อเป็นไม้ประดับแทน เช่น กล้วยบัวชมพู ที่ปลีกล้วยเป็นสีชมพูสวยเหมือนดอกบัว ทั้งยังชูปลีขึ้นสูงเหมือนดอกไม้ แทนที่จะห้อยลงพื้นเหมือนปลีกล้วยชนิดอื่นๆ
         ส่วน กล้วยร้อยหวี ก็เป็นกล้วยประดับอีกชนิดหนึ่งหน้าตาแปลกเสียจนคนที่ไม่เคยเห็น ถึงกับจุดธูปไหว้ขอหวยกันเลยทีเดียว แท้จริงแล้วกล้วยร้อยหวีก็เป็นกล้วยอีกสายพันธุ์หนึ่ง บางคนก็เรียกกล้วยงวงช้าง เพราะผลของกล้วยชนิดนี้ จะออกผลเป็นหวีกล้วยขนาดเล็กราวร้อยหวี แต่ละหวีมีผลประมาณ 10-15 ผล เมื่อรวมทั้งเครือก็จะมีผลเป็นพันผลเลยทีเดียว แต่ผลกล้วยชนิดนี้เล็ก และมีเมล็ดมากเสียจนไม่นิยมกิน จึงนำมาเป็นกล้วยประดับแทน จากบริเวณที่ปลูกกล้วยประดับ ในดงกล้วยนั้นมีต้นกล้วยปลูกเป็นแถวเป็นแนวยาวเป็นระเบียบ โดยต้นกล้วยเหล่านี้ก็เป็นกล้วยร้อยกว่าสายพันธุ์ ที่สามารถกินได้เกือบทั้งหมด กล้วยร้อยหวี ก็เป็นกล้วยประดับอีกชนิด โดยพันธุ์กล้วยที่น่าสนใจก็เช่น กล้วยนาคค่อม ที่จะมีผลเป็นสีแดงอมม่วง กล้วยกล้าย กล้วยผลยาวรูปทรงโค้งงอ ผลเรียงไม่เป็นระเบียบ กล้วยหลอกลิง ที่มักจะหลอกให้ลิงงุนงง เพราะกล้วยชนิดนี้เวลาออกผล จะมีกลีบใบยาวเป็นชั้นปิดเครือกล้วยไว้ จะมองเห็นก็ต่อเมื่อมองจากด้านล่างเท่านั้น พอลิงมองจากพื้นข้างล่างก็จะเห็นผลกล้วย แต่พอปีนขึ้นไปบนต้นจะไปเก็บกล้วยมากิน ก็กลับมองหาไม่เจอเสียนี่      
         นอกจากนั้นแล้ว ก็จะมีกล้วยชนิดอื่น ๆ ที่ไม่ค่อยได้เห็นกันนัก เช่น กล้วยเทพนม ที่กล้วยทั้งหวีนั้นจะประกบติดกัน มีลักษณะเหมือนฝ่ามือทั้งสองข้างมาประกบกันพนมมืออยู่ จึงเรียกกล้วยเทพนม กล้วยหอมพันธุ์ซูเปอร์แคระ เพราะต้นเล็กเตี้ยสมชื่อ อีกทั้งยังมีกล้วยพันธุ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศก็มี เช่น กล้วยทิ้งปลี กล้วยตานีดำ ที่นำเข้ามาจากประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย กล้วยบางต้นกำลังออกปลี บางต้นมีแต่ใบ และบางต้นก็กำลังมีลูกสุกเหลืองพร้อมกิน ถ้าใครไปเยี่ยมชมช่วงกล้วยสุก ก็จะได้ลิ้มรสกล้วยประเภทต่างๆ กันด้วย ดังนั้นศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วยฯ แห่งนี้ จึงเป็นเหมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ ที่นักเรียนจะได้เรียนรู้จากของจริง ได้ทั้งดู ทั้งสัมผัส และลิ้มรสชาติ และที่ตั้งของ พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ ที่ได้กล่าวถึงข้างต้นไปแล้วนั้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ สร้างขึ้นเรื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในวันที่ 9 มิ.ย. 2539 โดยตัวพิพิธภัณฑ์นั้น เป็นเรือนไทยหมู่แบบเรือนไทยภาคกลาง สร้างด้วยไม้สักทองทั้งหลัง ตั้งอยู่บนพื้นที่ 25 ไร่ด้วยกัน
         กล้วย อาจเป็นผลไม้พื้น ๆ ราคาถูก หากินได้ง่ายในสายตาของหลาย ๆ คน เรากินกล้วยกันมาตั้งแต่เด็กจนโต กินจนชินในรสชาติ จนคุ้นเคยกับผลไม้ที่ชื่อว่ากล้วย แต่มีน้อยคนที่จะรู้จักกล้วยอย่างแท้จริง หากอยากรู้จักกล้วยให้มากขึ้น ก็ต้องเดินทางมาที่จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในชื่อของเมืองกล้วยไข่ เพราะเป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อว่าปลูกกล้วยไข่ได้รสชาติดีที่สุดในประเทศ และด้วยชื่อเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเช่นนี้ จึงได้เกิดกล้วยเป็นพืชอาหารที่มีความสำคัญอยู่ในอันดับที่ 4 รองมาจาก ข้าว แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าพืชอันดับที่ 1-3 ล้วนแต่เป็นพืชไร่ แต่กล้วยเป็นผลไม้เพียงชนิดเดียวที่ได้รับความสำคัญขึ้นมาเป็นอันดับ 4 โดยแท้จริงแล้วกล้วยน่าจะเป็นอาหารชนิดแรก ๆ ของมนุษย์ยุคดึกดำบรรพ์ ควบคู่ไปกับเผือก มัน กล้วยปลูกง่ายสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่เป็นอาหาร เครื่องมือ เครื่องใช้ เส้นใยสิ่งทอ สมุนไพร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ กล้วยจึงเป็นดั่งพืชมหัศจรรย์ 
ประวัติกล้วยในประเทศไทย
         คนไทยรู้จักกล้วยกันมากับการควบคู่กับการก่อตั้งประเทศไทย เพราะประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่อยู่ทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดกล้วย จึงมีกล้วยป่า กล้วยพันธุ์ปลูกอยู่ทั่วไป และเนื่องจากกล้วยเป็นพืชที่ปลูกง่าย ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย ทั้งผล ต้น ใบ และดอก ในสมัยโบราณจึงมีการปลูกเพื่อไว้ใช้สอยภายในบ้าน ปัจจุบันกล้วยที่ปลูกมีมากมายหลายชนิด มีทั้งพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกอยู่ดั้งเดิม และพันธุ์ปลูกที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ จากการบันทึกประวัติศาสตร์ในเรื่องของกล้วยพอจะกล่าวเป็นสมัย ๆ ได้ดังนี้
         สมัยสุโขทัย
             นักประวัติศาสตร์ไทยเริ่มถือเอาสมัยอาณาจักรสุโขทัย นับตั้งแต่ พ.ศ.1781 เป็นยุคสมัยแรกของคนไทย เพราะในสมัยนั้นได้เริ่มมีอักษรไทยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช จึงเริ่มมีการบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ขึ้น และได้มีจดหมายเหตุกล่าวถึงกล้วยว่าเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ปลูกในสมัยสุโขทัย กล้วยที่รู้จักกันในสมัยสุโขทัย คือ กล้วยตานี ซึ่งเป็นกล้วยป่าชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย จีนและพม่า โดยมีการตัดใบขายทุกวัน ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่า กล้วยตานีน่าจะนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยสุโขทัยตอนต้น หรือช่วงการอพยพของคนไทยมาตั้งถิ่นฐานที่สุโขทัย
         สมัยอยุธยา
             กรุงศรีอยุธยาได้กลายมาเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรือง มีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ดีกับประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับฝรั่งเศส ดัตช์ และอังกฤษ ในสมัยนั้นพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งประเทศฝรั่งเศส ทรงส่งคณะราชทูตอัญเชิญพระราชสาส์นมาถวายพระนารายณ์มหาราช ณ กรุงศรีอยุธยา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี และเผยแพร่คริสต์ศาสนา รวมทั้งทำสัญญาสิทธิทางการค้า ประมาณปี พ.ศ.2230 เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแบร์ (Monsieur de laloubere) นักบวชนิกายซูอิต ซึ่งเป็นนักการทูตและนักเขียนที่มีชื่อเสียง ได้บันทึกสิ่งต่างๆ ที่ได้พบเห็นและนำไปเขียนเป็นหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยสมัยอยุธยาในช่วงแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสในกรุงปารีส เมื่อ พ.ศ.2336 เมอร์ซิเออร์ เดอลาลูแลร์ ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับกล้วยว่าได้เห็นมีการปลูกกล้วยงวงช้าง ซึ่งก็คือ กล้วยร้อยหวี ในปัจจุบัน และงาช้าง ซึ่งเป็นกล้วยประเภทกล้วยกล้าย นอกจากนี้ยังมีตำนานเล่ากันมาว่า มีการค้าขายกล้วยตีบอีกด้วย แสดงให้เห็นว่า ได้มีการปลูกกล้วยทั้งเพื่อความสวยงาม เพื่อบริโภคและเป็นการค้ากันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา
         สมัยรัตนโกสินทร์
             พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ซึ่งเป็นปรมาจารย์ทางด้านภาษาไทย  ได้เขียนหนังสือพรรณพฤกษากับสัตวาภิธาน เมื่อ พ.ศ.2427 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 โดยกล่าวพรรณนาถึงกล้วยชนิดต่างๆ ในสมัยนั้นด้วยกาพย์ฉบัง 16 พรรณนาถึงกล้วยชนิดต่างๆที่ปลูกในสมัยนั้นประมาณ 37 ชนิด
             แสดงให้เห็นถึงความนิยมชมชอบและมีการปลูกกล้วยกันอย่างแพร่หลายในยุคนั้น ประกอบกับในช่วงดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้เสด็จประพาสประเทศต่างๆ หลายประเทศ จึงได้มีการนำกล้วยบางชนิดเข้ามาปลูกในรัชสมัยของพระองค์ ทำให้กล้วยในสมัยนั้นมีมากชนิด อนึ่ง ในบริเวณวังสระปทุม ซึ่งเดิมเป็นที่สวนของ สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าโปรดให้มีการปลูกพืชผักและไม้ผลหลายชนิด รวมทั้งกล้วย โดยทรงนำผลผลิตต่างๆ ที่ได้มาทำสำหรับตั้งโต๊ะเสวยพระราชทานไปยังวังเจ้านายต่างๆ ส่วนที่เหลือ เช่น ใบตอง เชือกกล้วย กล้วยสุก ได้นำออกจำหน่ายเพื่อนำรายได้สำหรับเลี้ยงดูข้าราชบริพารและทะนุบำรุงวังสระปทุม
             มีหลักฐานว่าประเทศไทยเป็นแหล่งกำเนิดกล้วยที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก นับเฉพาะกล้วยกินได้ไม่รวมกล้วยป่าก็มีมากกว่า 50 ชนิด ที่รู้จักแพร่หลายก็มี กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยหักมุก กล้วยนาค กล้วยเล็บมือนาง ส่วนกล้วยชนิดอี่น ๆ ก็อาจเป็นที่รู้จักกันเพียงในท้องถิ่นเท่านั้น เช่น กล้วยนางพญา กล้วยหิน กล้วยสา กล้วยไล ทางภาคใต้ กล้วยนมสาว กล้วยหอมกะเหรี่ยง ทางภาคตะวันตก กล้วยหอมทองสั้น กล้วยนวล ทางภาคอีสาน หรือกล้วยน้ำนม กล้วยหอมจันทร์ ทางภาคเหนือ เป็นต้น บางชนิดก็เหลือเพียง ชื่อ เช่นกล้วยกรัน กล้วยกรามคชสาร กล้วยนางเงย และที่กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ก้มีอีกไม่น้อย จึงเป็นที่น่าวิตกในอนาคตคนไทยอาจจะต้องไปศึกษาค้นคว้าเรื่องราว ของกล้วยเมืองไทยจากต่างประเทศก็เป็นได้ 
            กล้วย ในประเทศไทยปัจจุบันถือว่ามี บทบาททางเศรษฐกิจมาก และนับว่าเป็นสินค้าส่งออกติดอันดับอีกประเภทหนึ่งที่สามารถโกยเม็ดเงินเข้าประเทศได้ไม่น้อย เช่น การส่งออกกล้วยไข่ไปขายยังประเทศจีน และไต้หวัน การส่งออกกล้วยหอมไปยังประเทศญี่ปุ่น หรือกล้วยน้ำว่าสามารถรับประทานผลสด หรือนำไปแปรรูปได้หลากหลาย จนเป็นที่นิยมทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

แปดสายพันธ์กล้วยที่น่าสนใจ ณ พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

         1. กล้วยไข่กำแพงเพชร (มียีโนมเป็น AA)
         ชื่อวิทยาศาสตร์ Musa (AA group) “klual khal” 
         กล้วยไข่ที่ปลูกในจังหวัดกำแพงเพชร เป็นกล้วยไข่ในสายพันธุ์ acuminate Cutivars สกุล Musa หมู่ Eumusa กลุ่ม AA มีโครโมโซม 2 ชุด ลักษณะทั่วไปของกล้วยไข่สายพันธุ์กำแพงเพชร ลักษณะกาบใบเป็นสีน้ำตาล หรือซ๊อกโกแลต ร่องก้านใบเปิด และขอบก้านใบขยายออกใบมีสีเหลืองอ่อน ไม่มีนวล ก้านเครือมีขนขนาดเล็ก รสชาติหวาน 
         แหล่งที่พบปลูก กล้วยไข่ โดยทั่วไปแต่มีหลักฐานเชื่อได้ว่าเดิมมีการนำพันธุ์กล้วยไข่มาจากเขตกรุงเทพฯ ขึ้นไปปลูกที่ตำบลตะเคียนเลื่อน จังหวัดนครสวรรค์ ราว 100 ปี มาแล้ว ต่อจากนั้นจึงได้กระจายพันธุ์ขึ้นไปปลูกเป็นจำนวนมากที่จังหวัดกำแพงเพชร ในเวลาต่อมา โดยมีลักษณะดังนี้
         ลำต้น : ขนาดกลางส่วนสูงประมาณ 2.5 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 18 -22 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวอมเหลืองมีปื้นสีน้ำตาลอ่อนทั่วไป กาบด้านในสีเขียวอ่อน ลำต้นค่อนข้างบอบบางหักล้มง่าย ให้หน่อรอบต้นจำนวนมากเพื่อไม่ให้เป็นการแย่งอาหารต้นแม่ทำให้ผลผลิตลดลง จึงต้องใช้วิธีนำมีดคม ๆ ปาดหน่อทิ้งตลอดเวลาจนกว่าใกล้จะเก็บเกี่ยวผลจึงปล่อยให้หน่อเจริญเติบโตตามปกติ 
         ใบ : ทางใบยาวประมาณ 2 เมตร ค่อนข้างตั้งแผ่นใบแคบสีเขียวอมเหลืองก้านใบสีเขียวอมเหลืองมีร่องกว้างขอบก้านใบสีน้ำตาลอ่อน โดยใบมีประสีน้ำตาลอ่อนกระจายทั่วไป 
         ปลี : ชี้ลงดิน รูปทรงกระบอกปลายแหลมค่อนข้างผอม กาลปลีด้านนอกสีม่วงแดงปลายค่อนข้างมน กาบด้านในสีแดงซีดเมื่อบานเปิดม้วนขึ้นเห็นผลกล้วยสีเขียวอ่อน กาบปลีจะค้างอยู่บนหวีกล้วย 1 - 2  วัน จึงจะหลุดไป 
         ผล : ใน 1 เครือ มี 6 – 7 หวี ๆ ละ 12 – 14 ผล ผลค่อนข้างกลม หัวท้ายมน ก้านผลสั้นเรียงตัวไม่เป็นระเบียบ ขนาดผลกว้าง 3 เซนติเมตร ยาว 8 – 10 เซนติเมตร ผลดิบสีเขียวสดเปลือกบาง ผลสุกสีเหลืองสวยเนื้อสีครีมอมส้มรสหวานกลิ่นหอม ถ้างอมจะมีกระสีน้ำตาลเล็ก ๆ ที่ผิวด้านนอก อายุตั้งแต่ปลูกด้วยหน่อถึงออกปลี 9 – 10 เดือน และอายุตั้งแต่ออกปลีถึงผลสุกประมาณ 80 วัน 
         การใช้ประโยชน์ : ผลดิบฝานทอดน้ำมันเป็นกล้วยฉาบ ทอดกรอบ ผลสุก เชื่อม บวชชี ข้าวเม่าทอด หรือรับประทานผลสุกกับกระยาสารท
2 กล้วยไข่กำแพงเพชร.jpg

ภาพที่ 2 กล้วยไข่กำแพงเพชร

         2. กล้วยนมหมี (Musa (ABB) ‘Nom Mi’)
         กล้วยนมหมี (มียีโนมเป็น ABB) เป็นกล้วยพื้นเมืองของจังหวัดตรัง ต่อมาได้มีเกษตรกรได้นำพันธุ์ไปปลูกพร้อมทำสวนยางในจังหวัดระยอง เดิมเข้าใจว่าเป็นพันธุ์เดียวกับพม่าแหกคุกเพราะเป็นกล้วยที่มีผลขนาดใหญ่เหมือนกัน แต่ภายหลังนายสมรรถชัย ฉัตราคม อดีตประธานชมรมรักษ์กล้วย ได้ตรวจสอบพบว่าเป็นคนละพันธุ์กัน จึงได้นำมาขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจนแพร่หลายทั่วไป โดยมีลักษณะดังนี้ 
         ลำต้น : เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30 – 35 เซนติเมตร ส่วนสูงประมาณ 3.50 – 4.50 เมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวสดมีนวลเล็กน้อย กาบด้านในสีเขียวอ่อนหน่อเกิดห่างลำต้นแม่จำนวน 6 – 8 หน่อ โดยจะเป็นหน่อใบแคบสูงขึ้นมาอย่างน้อย 80  เซนติเมตร จึงจะเปลี่ยนเป็นหน่อใบกว้าง 
         ใบ : แผ่นใบกว้างทางใบยาวประมาณ 3.50 เมตร สีเขียวสดเป็นมัน ร่องใบชิดก้านใบเขียวอ่อนเปราะหักง่าย 
         ปลี : รูปทรงกระบอกปลายแหลมขนาดใหญ่ กาบปลีด้านนอกสีแดงอมม่วงด้านในสีแดงสด เมื่อบานเปิดม้วนขึ้นเห็นผลกล้วยสีเขียวอ่อนกาบปลีจะค้างอยู่บนหวีกล้วย 2 – 3 วัน จึงจะหลุดไป 
         ผล : ใน 1 เครือจะมี 6 – 8 หวี ๆ ละ 14 – 16 ผล ขนาดกว้าง 7 เซนติเมตร ยาว 20 เซนติเมตร ผลอ่อนขนาดใหญ่สีเขียวอ่อนรูปเหลี่ยมยาวเกือบเท่ากันทั้งหัวและท้าย ผลแก่สีเขียวเป็นมันปลายผลทู่เมื่อสุกสีเหลืองสดเปลือกหนา เนื้อสีขาวค่อนข้างเหนียว กลิ่นหอมคล้ายกล้วยน้ำว้า 
         อายุ : ตั้งแต่ปลุกด้วยหน่อถึงออกปลีประมาณ 10 เดือน และหลังจากออกปลีถึงผลแก่ประมาณ 100 วัน 
         การใช้ประโยชน์ : ผลดิบแก่จัดฝานทอดน้ำมันรสชาติใกล้เคียงมันฝรั่ง ผงสุกเชื่อมน้ำตาลทรายจะได้กล้วยเชื่อมสีขาวใสเป็นเงาและเหนียวนุ่มกว่ากล้วยน้ำว้า
กล้วยนมหมี.jpg
กล้วยนมหมี2.jpg

ภาพที่ 3 กล้วยนมหมี

         3. กล้วยพม่าแหกคุก Musa (ABB) ‘Phama Haek Kuk’
         กล้วยพม่าแหกคุก (มียีโนมเป็น ABB) เดิมมีการปลูกปะปนกันไปกับกล้วยน้ำว้าบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในจังหวัดอ่างทอง ภายหลังเกษตรกรไม่นิยมจึงเลิกปลูก นายสมรรถชัย ฉัตราคม อดีตประธานชมรมรักษ์กล้วยพบว่าเหลืออยู่ในสภาพใกล้สูญพันธุ์ที่อำเภอป่าโมก เมื่อปี พ.ศ. 2534 จึงได้นำพันธุ์ไปปลูกอนุรักษ์เอาไว้ นิยมขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อเพราะไม่กลายพันธุ์เหมือนวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นกล้วยที่มีขนาดใหญ่ โดยมีลักษณะดังนี้ 
         ลำต้น : เส้นผ่าศูนย์กลาง 30 – 35 เซนติเมตร ส่วนสูงประมาณ 3.50 – 5.50 เมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวสดบริเวณโคนต้นมีคล้ำมีปื้นสีน้ำตาลเข้ม หน่อเกิดห่างจากลำต้นแม่มีขนาดใหญ่จำนวน 5 – 8 หน่อ 
         ใบ : แผ่นใบกว้างทางใบยาวประมาณ 3.50 เมตร สีเขียวเข้มเป็นมัน ร่องใบชิดก้านใบสีเขียวสดแข็งแรง 
         ปลี : รูปทรงกระบอกปลายแหลมขนาดใหญ่ กาบปลีด้านนอกสีแดงอมม่วง ด้านในสีแดงสดเมื่อบานเปิดม้วนขึ้นเห็นผลกล้วยสีเขียวเข้ม กาบปลีจะค้างอยู่บนหวีกล้วย 2 – 3 วัน จึงจะแห้งหลุดไป 
         ผล : ใน 1 เครือจะมี 11 – 16 หวี ๆ ละ 14 -20 ผล ขนาดผลกว้าง 5.5 เซนติเมตร ยาว 18 เซนติเมตร ลักษณะเป็นเหลี่ยมค่อนข้างยาว ผลดิบสีเขียวจัดเป็นมัน ผลสุกสีเหลืองส้มเปลือกหนา เมื่อผลเริ่มสุกใหม่ใน 1 หวีจะมีทั้งสีเขียวของผลดิบและเหลืองของผลสุกตัดกันอย่างน่าดู เนื้อผลสีขาวค่อนข้างเหนียวงอมจัดเนื้อเละรสหวานหอม 
         อายุ : ตั้งแต่ปลูกด้วยหน่อถึงออกปลีประมาณ 15 เดือน อายุตั้งแต่ออกปลีถึงผลแก่จัด 130 วัน 
         การใช้ประโยชน์ : คล้ายกล้วยน้ำว้า เช่นรับประทานผลสุก ผลดิบกล้วยฉาบ กล้วยทอด  บวชชี หากนำมาเชื่อมจะได้กล้วยสีขาวสวยเป็นเงา
กล้วยพม่าแหกคุก.jpg
กล้วยพม่าแหกคุก2.jpg

ภาพที่ 4 กล้วยพม่าแหกคุก

         4. กล้วยนมสาว (ชื่อพ้องทองกำปั้น นมสาวหาดใหญ่ )
         กล้วยนมสาว (มียีโนมเป็น ABB) พบปลูกไม่มากนักในจังหวัดทางภาคใต้และพรมแดนไทยพม่า เช่น สงขลา กระบี่ เพชรบุรี ราชบุรี เป็นต้น โดยเฉพาะที่อำเภอสวนผึ้งที่จังหวัดราชบุรี มีสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตและรูปร่างผลใหญ่กว่า กล้วยนมสาวจากแหล่งอื่นเป็นกล้วยขนาดกลาง โดยมีลักษณะดังนี้
         ลำต้น : เส้นผ่าศูนย์กลาง 18 - 22 เซนติเมตร ส่วนสูง 2.20 – 3.00 เมตร กาบด้านนอกสีเขียวเจือน้ำตาลตอนล่างมีประน้ำตาลเข้ม ตอนบนขึ้นไปมีสีเขียวนวลมาก กาบด้านในสีเขียวเจือชมพูหน่อเกิดชิดลำต้นจำนวน 8 – 12 หน่อ 
         ใบ : ทางใบยาวแผ่นใบกว้างลู่ลงเล็กน้อยใบค่อนข้างบางสีเขียวสด  ร่องใบกว้าง  ขอบก้านสีชมพู แดง ก้านใบสีเขียวนวลโคนก้านใบมีประน้ำตาล 
         ปลี : รูปทรงกระบอกปลายแหลมชี้ลงดิน กาบด้านนอกสีแดงเจือเขียว กาบด้านในสีซีด เมื่อบานกาบปลีเปิดม้วนขึ้นเห็นผลกล้วยสีเขียวอ่อน กาบปลีจะค้างอยู่บนหวีกล้วย 2 – 3 วัน จึงจะแห้งหลุดไป หลังติดผลหวีสุดท้ายแล้ว ปลีจะมีรูปร่างป้อมขึ้น 
         ผล : ใน 1 เครือจะมี 6 – 7 หวี ๆ ละ 12 – 14  ผล ส่วนที่อำเภอสวนผึ้งพบว่า 1 เครือ จะมีถึง 16 หวี ผลมีลักษณะอ้วนป้อม ปลายผลงอน วัดส่วนกว้างที่สุด จะได้ประมาณ 4.0 – 4.2 เซนติเมตร ยาว 10.0 – 10.5 เซนติเมตร ผลดิบสีเขียวสดเป็นมัน เปลือกหนาผลสีเหลืองจัดเนื้อสีครีมอมส้มค่อนข้างแข็ง รสหวานกลิ่นหอมเฉพาะตัวคล้ายกล้ายหอมผสมกล้วยไข่ 
         อายุ : ตั้งแต่ปลูกด้วยหน่อถึงออกปลีประมาณ 8 เดือน และหลังจากออกปลีถึงผลแก่จัด 90 วัน
         การใช้ประโยชน์ : รับประทานผลสุก
กล้วยนมสาว.jpg
กล้วยนมสาว2.jpg

ภาพที่ 5 กล้วยนมสาว

         5. กล้วยซาบ้า  
         กล้วยซาบ้า (มียีโนมเป็น ABB) เป็นกล้วยพื้นเมืองของประเทศฟิลิปปินส์ ต้นที่ชมรมรักษ์กล้วยรวบรวมพันธุ์นี้ไว้ คุณมงคล ลีราภิรมณ์ ได้คัดเลือกและนำเข้าจากประเทศฟิลิปปินส์ ราว 25 ปีมาแล้ว โดยมีลักษณะดังนี้
         ลำต้น : ขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 38 - 45 เซนติเมตร สูงประมาณ 5.50 - 6.00 เมตร กาบด้านนอกสีเขียวสดเป็นมันเงา กาบด้านในสีเขียวอ่อน หน่อมีขนาดใหญ่ เกิดห่างต้นประมาณ 4 - 6 หน่อ 
         ใบ : มีขนาดใหญ่แข็งแรง แผ่นใบกว้างสีเขียวทึบ หนากว่ากล้วยน้ำว้า ก้านใบสีเขียวนวลร่องใบชิด มีปื้นสีน้ำตาลอ่อนโคนใบเล็กน้อย 
         ปลี : มีขนาดอ้วนใหญ่ประมาณ 60 เซนติเมตร กาบปลีด้านนอกสีแดงคล้ำปลายปี แหลมไม่มากนัก มีรอยเว้าที่ปลายกาบ กาบปลีด้านในสีแดงสด เมื่อบานเปิดม้วนขึ้นเช่นเดียวกับกล้วยน้ำว้าของไทย เห็นผลกล้วยสีเขียวสด ในช่วงที่ให้ผลตั้งแต่หวีที่ 1 - 4 ช่องระหว่างหวีเป็นระเบียบ แต่หลังจากนั้นจะเบียดกันแน่นชิด โดยจะติดผลราว 8 - 14 หวี ต่อจากนั้นปลีจะมีขนาดเล็กลง แต่คงรูปร่างป้อมสั้น คล้ายหัวใจเอาไว้  
         ผล : ใน 1 เครือจะมี 8 - 14 หวี ๆ ละ 17 – 19 ผล ผลดิบรูปร่างเหลี่ยมปลายผลทู่สีเขียวนวล ผลแก่ยังมีเหลี่ยมไปจนกระทั่งสุก ขนาดผลกว้าง 5.0 - 5.6 เซนติเมตร ยาว 13 – 15 เซนติเมตร เปลือกหนาสีเหลืองไพล เนื้อสีครีม ไส้เหลืองค่อนข้างเหนียว กลิ่นหอมรสหวาน  
         อายุ : ตั้งแต่ปลูกด้วยหน่อถึงออกปลีประมาณ 14 เดือน และอายุตั้งแต่ออกปลีถึงผลแก่จัด 150 วัน  
         การใช้ประโยชน์ : เหมือนกล้วยน้ำว้าของไทย เช่น ปลีนำมาประกอบอาหาร ผลดิบแก่จัดฝานทอดน้ำมันเป็นกล้วยทอดกรอบ หรือหั่นเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมเสียบไม้สลับเนื้อและสับปะรดย่างเป็นบาร์บีคิว ผลสุกทำกล้วยบวชชีได้น้ำสีขาวเพราะไม่มียาง ส่วนเนื้อกล้วยจะมีสีขาวเหลืองน่ารับประทาน ใบใช้ห่อของได้เหมือนกล้วยตานี 
กล้วยซาบ้า.jpg
กล้วยซาบ้า2.jpg

ภาพที่ 6 กล้วยซาบ้า

         6. กล้วยมาฮอย กล้วยหอม 2 เครือ (ไทย)
         กล้วยมาฮอย (มียีโนมเป็น AAA) ประเทศอินโดนีเซีย ในราวปี 2538 อาจารย์สุรัตน์ วัณโน ได้นำต้นพันธุ์เข้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ทางชมรมรักษ์กล้วยไม้ได้นำไปปลูกในแปลงรวบรวมพันธุ์จังหวัดกำแพงเพชร 
         ลำต้น : เป็นกล้วยที่มีลำต้นเตี้ยโดยมีส่วนสูงประมาณ 1.50-1.80 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นประมาณ 18 - 22 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีน้ำตาลอมแดงกาบด้านในสีแดงเจือชมพู (จัดอยู่ในกลุ่มของกล้วยหอมเขียว) 
         ใบ : ใบยาวประมาณ 120 เซนติเมตร แผ่นใบกว้างหนาสีเขียวทึบ ก้านใบสีเขียว ร่องใบเปิดมีขอบสีน้ำตาลแดง 
         ข้อสังเกต : ถ้าการเรียงซ้อนของใบเวียนไปรอบต้นเหมือนกล้วยทั่วไปมักจะให้ผลเป็นกล้วยเครือเดียว แต่ถ้าหน่อมีลักษณะค่อนข้างแบนการเรียงซ้อนของใบคล้ายกล้วยพัก แนวโน้มจะได้กล้วยที่มี 2 เครือ หรือมากกว่า 
         ปลี : รูปทรงกระบอกปลายแหลม กาบด้านนอกสีแดงเจือเขียว เมื่อบานเปิดม้วนขึ้นสำหรับกล้วยมาฮอยจะมีลักษณะการออกเครือหลายแบบ เช่น
             1. มี 1 ปลี เหมือนกล้วยปกติ และเจริญเติบโตต่อไปเป็นเครือ
             2. มีปลีพุ่งออกมาจากยอดพร้อมกัน 2 ปลี และเจริญเติบโตต่อมาเป็น 2 เครือ
             3. มี 1 ปลี เมื่อพ้นออกมาจากยอดแล้วงวงกล้วยจะแบนและแยกเป็น 2 ปลี และเจริญเติบโตต่อมาเป็น 2 เครือ
             4. มี 1 ปลี แต่เมื่อติดผลตามปกติได้ 4-5 หวี ส่วนปลายจะแยกเป็น 2 ปลี และพัฒนาติดผลไปคนละเครือ
             5. มี 1 ปลี ให้ผลเหมือนกล้วยหอมปกติจนถึงหวี จากนั้นปลีจะแยกออกเป็น 2 ปลี และเจริญเติบโตต่อไปโดยไม่ออกติดผล
             6. มีการโผล่ของปลีออกมาจากส่วนยอดจำนวนมากถึง 4-5 ปลี และสามารถพัฒนาเป็นเครือกล้วยได้ทั้งหมด 
         ผล : ใน 1 เครือ จะมีประมาณ 7 - 9 หวี ๆ ละ 14 - 16 ผล ขนาดผลกว้าง 3.8 - 4  เซนติเมตร ยาวประมาณ 16-16.5 เซนติเมตร ผลเหยียดตรงปลายผลมีจุกเล็กน้อย ผลดิบสีเขียวสด ผลแก่สีเหลืองอ่อนเปลือกหนา ถ้าบ่มในอุณหภูมิต่ำหรืออากาศหนาวเย็นเกิน 5 วัน จะได้กล้วยที่มีผิวสีเหลืองคล้ายกล้วยหอมทอง ผลสุกเนื้อสีครีม รสหวานจัด 
         อายุ : ตั้งแต่ปลูกด้วยหน่อถึงออกปลีประมาณ 8 เดือน ละตั้งแต่ออกปลีถึงผลสุกประมาณ 95 วัน 
         การใช้ประโยชน์ : ปลูกเพื่อดูความแปลกประหลาด และรับประทานผลสด
กล้วยมาฮอย.jpg
กล้วยมาฮอย2.jpg
กล้วยมาฮอย3.jpg

ภาพที่ 7 กล้วยมาฮอย กล้วยหอม 2 เครือ (ไทย)

         7. กล้วยปิซังแอมเปียง หอมชวา
         กล้วยปิซังแอมเปียง (มียีโนมเป็น AA) ประเทศอินโดนีเซีย ในชื่อ Pisang Ampaing โดยประมาณปี พ.ศ.2529 พลอากาศตรี  ฉัตรชัย  ชุตินันท์ แห่งกองทัพอากาศ ได้นำต้นพันธุ์มาจากแถบชวาใต้ของประเทศอินโดนีเซียมาปลูกที่บ้านแถบดอนเมือง และเผยแพร่ให้ชมรมรักษ์กล้วย ปลูกทดสอบเมื่อปี พ.ศ.2543 พบว่าเป็นกล้วยที่มีผิวสวยกลิ่นหอมและเนื้อแน่น จึงได้นำไปปลูกในแปลงรวบรวมพันธุ์จังหวัดกำแพงเพชร  
         ลำต้น : มีความสูงปานกลางประมาณ 2.10 - 2.30 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น ประมาณ 18 - 20 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวเจือน้ำตาลมีประสีน้ำตาลอ่อน กาบด้านในสีชมพูเจือเขียว หน่อเกิดชิดลำต้นแม่จำนวน 6-10 หน่อ  
         ใบ : ยาวปานกลาง แผ่นใบกว้าง สีเขียวสด ก้านใบสีเขียวอ่อน ร่องใบกว้างมีปีกสีแดง โคนก้านใบสีชมพู การเรียงตัวของก้านใบเกือบจะออกในแนวซ้าย-ขวา เหมือนรูปพัดกลาย ๆ (ใบช่วงบนและล่างเกือบจะอยู่ทับซ้อนกันมีเวียนเพียงเล็กน้อย) 
         ปลี : รูปทรงกระบอกปลายแหลม กาบด้านนอกสีแดง กาบด้านในสีซีด เมื่อบานเปิดม้วนขึ้นเห็นผลกล้วยสีเขียวอ่อนลักษณะของเครือจะชี้ห่างจากลำต้นเกือบขนานกับพื้นดิน คล้ายกล้วยน้ำไท หลังติดหวีสุดท้ายแล้วจึงจะค่อยโน้มลงดินและปลีจะมีรูปร่างป้อมขึ้น  
         ผล : ใน 1 เครือจะมี 4 - 7 หวี หวีละ 11 - 13 ผล ขนาดผลกว้าง 2.8-3.0 เซนติเมตร ยาว 15 - 16 เซนติเมตร มีเหลี่ยมเล็กน้อยผลค่อนข้างตรงปลายผลมีจุกไม่ชัดเจน ผลดิบสีเขียวอ่อน ผลแก่สีเขียวสด ผลสุกสีเหลืองจำปา เนื้อในสีส้มค่อนข้างกรอบ รสหวานจัดกลิ่นหอม 
         อายุ : ตั้งแต่ปลูกด้วยหน่อถึงออกปลีประมาณ 10 เดือน และอายุตั้งแต่ออกปลีถึงผลสุกประมาณ 98 วัน 
         การใช้ประโยชน์ : รับประทานผลสุก รสชาติคล้ายกล้วยไข่ แต่เนื้อแน่นกว่า
กล้วยปิซังแอมเปียง.jpg
กล้วยปิซังแอมเปียง2.jpg

ภาพที่ 8 กล้วยปิซังแอมเปียง หอมชวา

         8. กล้วยเล็บช้างกุด (Musa (BBB) ‘Lep Chang Kut’)
         กล้วยเล็บช้างกุด (มียีโนมเป็น BBB) ส่วนใหญ่จะพบทางภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไป โดยที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร ซึ่งเรียกว่ากล้วยโกะ  เกษตรกรบอกเล่าให้ฟังว่า ทหารญี่ปุ่นนำมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาวบ้ายนิยมนำย่างกินกับกาแฟร้อนตอนเช้า ๆ และแหล่งที่พบอีกแห่งหนึ่งคือที่ อำเภอนาแห้ง จังหวัดเลย ชาวบ้านเรียกว่า ตีบกุ บอกเล่าในทำนองเดียวกันว่าทหารญี่ปุ่นนำเข้ามานานแล้ว แต่อย่างไรก็ตามกล้วยเล็บช้างกุดนี้น่าจะมีกำเนิดมาจากการผสมกันเองของกล้วยตานีและได้กล้วยลูกผสมที่ไม่มีเมล็ดขึ้นมา
         ลำต้น : เป็นกล้วยที่มี ลำต้น ค่อนข้างสูงโดยมีส่วนสูงประมาณ 3.80 –  4.00 เมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 25 - 28 เซนติเมตร กาบลำต้นด้านนอกสีเขียวอมเหลือง บริเวณโคนมีปื้นสีม่วงและนวลจับ กาบด้านในสีเขียวอ่อน หน่อเกิดห่างลำต้นแม่ จำนวน 4 – 6 หน่อ หน่ออ่อนสีเขียวเจือม่วงมีลักษณะโคนค่อนข้างแบนคล้ายกล้วยเทพรสมาก
         ใบ : ทางใบยาวประมาณ 3 เมตร แผ่นใบกว้างไม่มากนักสีเขียวเข้มท้องใบมีนวล ก้านใบสีเขียวอมเหลืองร่องใบชิดมีขอบสีม่วงดำ
         ปลี : ก้านงวงค่อนข้างสั้นชี้ออกห่างลำต้น ปลีรูปทรงกระบอกปลายทู่ กาบปลีสีแดงอมม่วงบานเปิดขึ้นเล็กน้อยพอมองเห็นลูกกล้วยขนาดใหญ่ปลายผลทู่สีเขียวหม่น กาบปลีจะแห้งค้างอยู่บนหวีกล้วย
         ผล : ใน 1 เครือมี 6 – 7 หวี ๆ ละ 14 – 16 ผล รูปร่างป้อมสั้นเบียดกันแน่นในแต่ละหวี ผลมีขนาดกว้าง 5 เซนติเมตร ยาวเฉพาะผล 8 เซนติเมตร และก้านผลอีก 2 เซนติเมตร เมื่อดิบสีเขียวหม่น ผลสุกสีเหลืองเข้มเปลือกหนา เนื้อสีครีมค่อนข้างเหนียว รสหวานจัด
         อายุ : ตั้งแต่ปลูกด้วยหน่อถึงออกปลี 10 เดือน และอายุตั้งแต่ออกปลีถึงผลสุก 140 วัน
         การใช้ประโยชน์ : ผลห่ามปิ้ง ย่าง ต้ม บวชชี ได้เนื้อเหนียวแน่นอร่อยน่ารับประทาน ผลสุก รับประทานสด ข้าวต้มมัด ขนมกล้วย
9 กล้วยเล็บช้างกุด.jpg
9 กล้วยเล็บช้างกุด2.jpg
9 กล้วยเล็บช้างกุด3.jpg

ภาพที่ 9 กล้วยกล้วยเล็บช้างกุด

รายชื่อกล้วย ศูนย์รวบรวมสายพันธุ์กล้วย พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ (เรือนไทย) (สำรวจปี 2559)

1. กลุ่มกล้วยน้ำว้า
1. กล้วยน้ำว้าค่อม 2. กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง 3. กล้วยน้ำว้าดง 4. กล้วยน้ำว้ายักษ์ 5. กล้วยน้ำว้านวลจันทร์
6. กล้วยน้ำว้าทองมาเอง 7. กล้วยน้ำว้าดำ 8. กล้วยน้ำว้าปากช่อง50 9. กล้วยน้ำว้าเงิน 10. กล้วยน้ำว้ายักษ์ (กาญจนบุรี)
2. กลุ่มกล้วยหักมุก
1. กล้วยหักมุกสวน 2. กล้วยหักมุกส้ม 3. กล้วยหักมุกเขียว
4. กล้วยหักมุกทอง 5. กล้วยหักมุกพม่า 6. กล้วยหักมุกนวล 7. กล้วยราชาปุริ, หักมุกแขก
3. กลุ่มกล้วยนาก 
1. กล้วยนากไทย 2. กล้วยนากค่อม 3. กล้วยนากยักษ์ทองผาภูมิ
4. กล้วยครั่ง 5. กล้วยกุ้งเขียว 6. กล้วยสายน้ำผึ้ง
7. กล้วยกุ้งเขียวค่อม 8. กล้วยตาโหลน 9. กล้วยทองเสา
4. กลุ่มกล้วยหอม
1. กล้วยหอมซุปเปอร์แคระ 2. กล้วยหอมทูม๊อค 3. กล้วยหอมอัฟริกา 4. กล้วยหอมเสียนเจียนเชียว 5. กล้วยมาฮวย 6. กล้วยหอมแกรนเนนด์
7. กล้วยหอมไฮเกท 8. กล้วยหอมเขียวค่อม 9. กล้วยหอมทองอยุธยา 10. กล้วยหอมทองกาบดำ 11. กล้วยหอมกระเหรี่ยง 12. กล้วยหอมปิซังอัมบน
13. กล้วยหอมเขียวต้นสูง 14. กล้วยหอมลามัท 15. กล้วยเงาะ 16. กล้วยหอมไต้หวัน 17. กล้วยหอมทองปอก 18. กล้วยหอมน้ำผึ้ง
19. กล้วยมัน 20.กล้วยหอมโปรย (ปิแซตะรอ) 21. กล้วยหอมศรีสระเกษ 22. กล้วยหอมพระประแดง 23. กล้วยหอมภูพาน 24. กล้วยหอมคอคด
5. กลุ่มกล้วยไข่
1. กล้วยไข่พระตะบอง, ไข่โนนสูง 2. กล้วยไข่กำแพงเพชร 3. กล้วยไข่ดำ 4. กล้วยตะกุ่ย
5. กล้วยไข่สวนผึ้ง 6. กล้วยไข่โบราณ 7. กล้วยรักษา 8. กล้วยไข่จีน
6. กลุ่มกล้วยเปรี้ยว
1. กล้วยลังกา 2. กล้วยทองเงย 3. กล้วยลังกานครสวรรค์
4. กล้วยทองส้ม 5. กล้วยกรู 6. กล้วยทองแขก
7. กลุ่มกล้วยเปลือกหนา
1. กล้วยพม่าแหกคุก 2. กล้วยนมหมี 3. กล้วยหิน 4. กล้วยโอกินาวา โรบัสต้า
5. กล้วยซาบ้า ฟิลิปปินส์ 6. กล้วยกล้วยเทพรส, ทิพรส,ปลีหาย 7. กล้วยตีบคำ 8. กล้วยนางกลายสุรินทร์
9. กล้วยสามเดือนพิจิตร 10. กล้วยนิ้วมือนาง 11. กล้วยกล้วยตีบมุกดาหาร 12. กล้วยเล็บช้างกุด
13. กล้วยน้ำเชียงราย 14.กล้วยหวานทับแม้ว 15. กล้วยป่าดอยปุย 16. กล้วยฮอนดูรัส
17. กล้วยอร่อย 18.กล้วยตีบยา 19. ซาบ้า (ต้นลาย)
8. กลุ่มกล้วยน้ำ
1. กล้วยน้ำไท 2. กล้วยน้ำฝาด 3. กล้วยน้ำนม
4. กล้วยน้ำนมแขก 5. กล้วยน้ำนมเชียงใหม่ 6. กล้วยทองโฮ๊ะ
9. กลุ่มกล้วยพิเศษ 
1. กล้วยกล้าย 2. กล้วยงาช้าง 3. กล้วยกาไน 4. กล้วยขนุน 5. กล้วยเทพพนม 6. กล้วยนางพญา
7. กล้วยจี่ 8. กล้วยแส้ม้า 9. กล้วยแลนดี้ 10. กล้วยนิ้วนางรำ 11. กล้วยกรัน 12. กล้วยนีพูแวน
13. กล้วยเนื้อทอง 14. กล้วยแดงฮาวาย 15. กล้วยคอแข็ง 16. กล้วยนมแพะ 17. กล้วยสาวกระทืบหอ 18. ปิชังปาปาน
19. กล้วยนิ้วจระเข้ (อัมพวา) 20.กล้วยปิซังแอมเปียง 21. กล้วยเข็ม 22. กล้วยโรส 23. กล้วยปิซังซูซู 24. กล้วยกอกหมาก
25. กล้วยนิ้วพญาสาระวิน 26. กล้วยมาแนงก์ 27. กล้วยไข่ทองร่วง 28. กล้วยน้ำโว้ 29. กล้วยน้ำนมราชสีห์ 30. ลูกใส้ดำ 31. กล้วยแปซิฟิกแพลนเทน
10. กลุ่มกล้วยหอมผลสั้น
1. กล้วยหอมผลสั้น 2. กล้วยตำนวล 3. กล้วยเขียวปากช่อง
4. กล้วยขมบุรีรัมย์ 5. กล้วยแซรอ 6. กล้วยตีนเต่า
7. กล้วยหอมทิพย์นครสวรรค์ 8. กล้วยนมนาง 9. กล้วยสา
11. กลุ่มกล้วยหอมพิเศษ
1. กล้วยเล็บมือนาง 2. กล้วยหอมจำปา 3. กล้วยนมสาว 4. กล้วยทองดอกหมาก
5. กล้วยน้ำหมาก 6. กล้วยทองกำปั้น 7. กล้วยหอมจันทร์
12. กลุ่มกล้วยตานี
1. กล้วยตานีสุโขทัย 2. กล้วยตานีอิสาน 3. กล้วยตานีเหนือ 4. กล้วยตานีใต้
5. กล้วยตานีลูกนวล 6. กล้วยตานี (อ.สุทธิพันธ์) 7. กล้วยตานีดำ 8. กล้วยตานีกิ่วจันทร์
13. กลุ่มกล้วยประดับและกล้วยป่า
1. กล้วยป่าปลีเหลือง 2. กล้วยป่าปลีส้ม 3. กล้วยป่าดอยมูเซอร์ 4. กล้วยป่าระยอง 5. กล้วยป่ากาญจนบุรี
6. กล้วยป่าปลีเหลืองแม่ริม 7. กล้วยป่าปลีตั้ง (บางหิน) 8. กล้วยป่าปลีส้ม (นาคราช) 9. กล้วยเสือพราน 10. กล้วยโทน
11. กล้วยบัวหลวง 12. กล้วยบัวสีส้ม 13. กล้วยบัวชมพู 14. กล้วยบัวสีแดงกำมะหยี่ 15. กล้วยคุณหมิง 16. กล้วยร้อยปลี
17. กล้วยร้อยหวี 18. กล้วยด่างฟลอริด้า 19. กล้วยฟลาว่า 20. บัวส้มกลีบซ้อน (สวนนงนุช) 21. กล้วยป่าปลีม่วง (บปัทม์) 22. กล้วยป่า Royal Pink สีชมพู (สวนนงนุช)
         สาเหตุสำคัญที่น่าจะทำให้กล้วยไทยหลายชนิดสูญพันธุ์ ได้แก่
         1. กล้วยบางชนิดรสชาติไม่อร่อย เช่น เปรี้ยว จืด เนื้อเละ ฯลฯ ไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค เมื่อปลูกแล้วขายไม่ได้ก็เปลี่ยนไปปลูกกล้วยที่ตลาดต้องการแทน เข้าทำนองกล้วยดีไล่กล้วยเลว
         2. จากการพัฒนาของชุมชนทำให้พื้นที่ปลูกเปลี่ยนสภาพไป เช่น สวนกลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรม หมู่บ้านจัดสรร หรือแม้กระทั้งน้ำเสีย และมลภาวะก็มีส่วนเร่งให้แหล่งปลูกกล้วยหลายแห่งอยู่ในภาวะอันตราย
         3. ภัยธรรมชาติ ถึงแม้ว่ากล้วยจะมีความทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศเป็นอย่างดี แต่ในบางครั้งการเกิดภัยธรรมชาติติดต่อกันเป็นเวลานาน เช่นน้ำท่วมใหญ่ ก็ทำให้กล้วยหลายชนิดสูญพันธุ์ได้
         4. มีเหลืออยู่น้อยต้น การขยายพันธุ์ช้า ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูง ตัวอย่างเช่น กล้วยพม่าแหกคุกของจังหวัดอ่างทอง หรือกล้วยงาช้างแถบจังหวัดนนทบุรี เป็นต้น
         5. เกิดความสับสนหรือเข้าใจผิดในการเรียกชื่อ เพราะบางชนิดไม่มีการจัดทำข้อมูลแสดงลักษณะของต้น ใบ ผล และชื่อพ้องเอาไว้จึงอาจมีผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เรียกชื่อใหม่ตามความเข้าใจของตน (ในกรณีนี้ถือว่าพันธุ์กล้วยสูญแต่ชื่อ)

อายุทรัพยากร[แก้ไข]

         18 ปี (ตั้งแต่ปี 2544)

ข้อมูลจำเพาะทางวิทยาศาสตร์[แก้ไข]

         หลังปี ค.ศ.1955 นักวิชาการได้จำแนกพันธุ์กล้วยตามพันธุกรรมโดยใช้จีโนมของกล้วยเป็นตัวกำหนดในการแยกพันธุ์ กล้วยที่นิยมบริโภคกันในปัจจุบันมีบรรพบุรุษเพียง 2 ชนิด คือ กล้วยป่า และกล้วยตานี กล้วยที่มีต้นกำเนิดจากกล้วยป่ามีจีโนมเป็น AA กล้วยที่มีต้นกำเนิดจากกล้วยตานีมีจีโนมเป็น BB ส่วนกล้วยที่เกิดจากลูกผสมของกล้วยทั้ง 2 ชนิดจะมีจีโนมแตกต่างกันไป และใช้ลักษณะทางสัณฐานวิทยารวมทั้งหมด 15 ลักษณะ มาเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา คือ สีของกาบใบ ร่องของกาบใบ ก้านช่อดอก ก้านดอก ออวุล ไหล่ของกาบปลี การม้วนของกาบปลี รูปร่างของกาบปลี ปลายของกาบปลี การซีดของกาบปลี รอยแผลของกาบปลี กลีบรวมเดี่ยว สีของดอกเพศผู้ สีของยอดเกสรเพศเมีย และสีของกาบปลี

ทรัพยากรแวดล้อม[แก้ไข]

         - 

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         ปี 2559

วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         -

ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]

         นางชนิกา  ศรีวรรธนศิลป์
         นางจันทนา  คุ้มกล่ำ

คำสำคัญ (tag)[แก้ไข]

         - ศูนย์รวบรวมข้อมูลสายพันธุ์กล้วย
         - สายพันธุ์กล้วยในจังหวัดกำแพงเพชร
         - พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรเฉลิมพระเกียรติ