ฐานข้อมูล เรื่อง เพลงพวงมาลัย

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

ชื่อการแสดง[แก้ไข]

         เพลงพวงมาลัย

ชื่อเรียกอื่น ๆ[แก้ไข]

         -

ประเภทการแสดง[แก้ไข]

         เป็นการละเล่นพื้นบ้าน ที่นิยมนำมาแสดงในโอกาสสำคัญต่าง ๆ

โอกาสที่ใช้ในการแสดง[แก้ไข]

         จากการสัมภาษณ์ ลำไย เทพสุวรรณ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 กล่าวว่า เพลงพวงมาลัยเป็นเพลงที่ร้องเล่นได้ทุกโอกาสทุกเวลา มักเล่นในงานเทศกาล งานรื่นเริง หรืองานประเพณีต่างๆ ได้แก่ สงกรานต์ งานลอยกระทง แต่งงาน งานนบพระเล่นเพลง ทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ทำบุญร้อยวัน ประเพณีลงแขกเกี่ยวข้าว และแก้บน

ผู้คิดค้น[แก้ไข]

         จากการสัมภาษณ์ ลำไย เทพสุวรรณ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 กล่าวว่าผู้เป็นแก่นนำขับร้องเพลงพวงมาลัยของในจังหวัดกำแพงเพชร คือแม่ลำพูน ทองธรรมชาติ ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถให้สัมภาษณ์ได้ เนื่องจากป่วยด้วยโรคชราภาพ 
         จากการค้นคว้าพบว่า ผู้คิดค้นเพลงพวงมาลัยนั้นไม่ทราบที่มาอย่างชัดเจน แต่พบว่ามีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น (วิบูลย์ ศรีคำจันทร์, 2537 หน้า 43-48) โดยมีรายละเอียดดังนี้
         ข้อมูลที่ได้มาจากงานวิจัยของ วิบูลย์ ศรีคำจันทร์ ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูลภาคสนามเกี่ยวกับเรื่อง "เพลงพวงมาลัย" นี้ ผู้วิจัยได้ข้อมูลมาจากวิทยากร ซึ่งเป็น พ่อเพลง แม่เพลงพวงมาลัยทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมทั้งผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่อง "เพลงพวงมาลัย" จำนวน 43 คน จึงเห็นได้ว่าวิทยากรส่วนใหญ่ จะมีความเกี่ยวพันกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นวิธีการสืบทอดของเพลงพื้นบ้านในอดีต ว่าสามารถแพร่กระจายได้อย่างไร และข้อมูลนี้เริ่มเก็บตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 ดังนั้นอายุของวิทยากรจึงต้องนับจากปีที่รวบรวมข้อมูลนี้และมีวิทยากรบางท่านได้เสียชีวิตลงหลังจากให้ข้อมูลซึ่งผู้วิจัยได้วงเล็บบอกไว้แล้วและในถิ่นที่เก็บข้อมูลภาคสนามนี้จะเรียกพ่อเพลงแม่เพลงพวงมาลัยว่าพ่อพวงแม่พวง
          1. นางตุ่ย แสงหิรัญ อายุ 81 ปีบ้านเลขที่ 4 หมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ไม่ได้เรียนหนังสือ อาชีพทำนาทำไร่ เริ่มหัดเล่นเพลงตั้งแต่เด็กโดยลักจำจากแม่ที่เป็นแม่เพลงพวงมาลัย และต้นตระกูลเล่นเพลงเก่งทุกคน มีความสามารถในการเล่นเพลงพื้นบ้านได้หลายอย่าง ที่ถนัดคือเพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย และเพลงอีแซว ปัจจุบันนี้ยังสามารถร้องได้เพราะมีความจำดี ได้หัดนักเพลงพวงมาลัยรุ่นหลังให้รู้ขนบและวิธีการโต้ตอบเพลงพวงมาลัยด้วย ทั้งยังเป็นแม่เพลงที่รู้จักกันทั่วไปในแถบอู่ทองและอำเภอใกล้เคียง ปกติจะเล่นเพลงกับนักเพลงอำเภอสวนแตง
         2. นายเขื่อน ลิ้มสุวรรณ อายุ 70 ปีบ้านเลขที่ 17 หมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี มีความสามารถในการเล่นเพลงพวงมาลัย และสวดพระมาลัยได้เล่นเพลงพวงมาลัยเป็นมาตั้งแต่รุ่นหนุ่ม โดยจำจากพ่อเพลงแม่เพลงรุ่นเก่าในหมู่บ้านอาชีพทำนาทำไร่
         3. นางจ่าฯ นักใจธรรม อายุ 76 ปีบ้านเลขที่ 55 หมู่ 1 ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เริ่มหัดเล่นเพลงมาจาก นายชิ้น วังหญ้าไซ และจำมาจากพ่อเพลงแม่เพลงในหมู่บ้าน สามารถเล่นเพลงพวงมาลัยเป็นแม่เพลงได้ ไม่ได้เรียนหนังสืออาชีพทำนาทำไร่
         4. นางพร ปทุมสูติ อายุ 54 ปีหมู่ 1 ต. จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นแม่เพลงพวงมาลัยอาชีพทำนาทำไร่
         5. นางตลับ พยาบาล อายุ 60 ปีบ้านเลขที่ 108 หมู่ 2 ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี หัดเพลงมาตั้งแต่เด็กโดยลักจำเพลงพวงมาลัย ที่เขาเล่นกันในหมู่บ้านมาฝึกร้องเอง มีความสามารถในการเล่นเพลงพื้นบ้านได้หลากหลาย อาทิ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเหม่ย เพลงชักเย่อและเพลงอื่น ๆ ที่มีเล่นในหมู่บ้านที่ถนัดคือเพลงพวงมาลัยและเป็นแม่เพลงในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังสวดพระมาลัยได้อีกด้วย อาชีพทำไร่
         6. นายบัว สังข์วรรณ อายุ 50 ปีบ้านเลขที่ 61 หมู่ 1 ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เรียนจบนักธรรมตรี และสามารถปั้นปาติโมกข์ได้ เมื่อครั้งบวชเป็นพระภิกษุ เคยเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ในปี พ.ศ.2523 อยู่ 3 ปีอาชีพทำไร่ร้องเพลงพวงมาลัยได้ตั้งแต่อายุ 16 ปีสามารถเล่นเพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงเหย่ย ที่ถนัดที่สุดคือเพลงพวงมาลัย นอกจากนี้ยังสามารถสวดพระมาลัยและทำขวัญแต่งงานทำขวัญวัวได้อีกด้วย ปัจจุบันเป็นพ่อเพลงพวงมาลัยที่มีชื่อใน ต.จรเข้สามพัน
         7.พระอาจารย์เยื้อน ทิมทอง อายุ 80 ปี (มรณภาพแล้วเมื่อ ก.ค. 2536) เป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ต.จรเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี เป็นคนหมู่ 2 ต.จรเข้สามพัน ซึ่งเป็นถิ่นที่มีการเล่นเพลงพวงมาลัยเป็นพื้นประเพณีของชุมชน ทำให้พระอาจารย์เยื้อน มีความรู้เรื่องเพลงพวงมาลัยเป็นอย่างดี 
         8. กำนันกรวย ปทุมสูติ อายุ 63 ปี หมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรีชอบเพลงพวงมาลัยมาก มีความรู้เรื่องเพลงพวงมาลัย และรู้จักพ่อเพลงแม่เพลงพวงมาลัยในละแวก อ.อู่ทองและ อ.พนมทวน เกือบทั้งหมด เมื่อมีงานที่บ้านก็มักหาเพลงพวงมาลัยมาแสดงเป็นประจำ อาชีพทำนาทำไร่และค้าขาย 
         9. นางทองมา ปทุมสูติ อายุ 63 ปี หมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี อาชีพค้าขาย ฝึกร้องเพลงพวงมาลัยมาตั้งแต่วัยรุ่น โดยฝึกจาก นางฉ่า นักใจธรรม และลักจำจากพ่อเพลง แม่เพลงรุ่นเก่า โดยจำเพลงไปท่องหน้าดำนา และฝึกร้องเล่นช่วงเวลาที่เกี่ยวข้าว สามารถเล่นเพลงพวงมาลัยและเป็นลูกคู่ได้ มีปฏิภาณดี เป็นภรรยาของกำนันกรวย ปทุมสูติ
         10. นางปทุม ปทุมสูติ อายุ 64 ปีบ้านเลขที่ 141 หมู่ 3 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี อาชีพทำไร่ สามารถเป็นลูกคู่ในการเล่นเพลงพวงมาลัยได้ฝึกจากการเล่นเพลงในหมู่บ้าน 
         11. นางพิง เป้าทอง อายุ 63 ปีหมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี อาชีพทำไร่ สามารถเป็นลูกคู่ในการเล่นเพลงพวงมาลัยได้ฝึกจากการเล่นเพลงในหมู่บ้าน 
         12. นางเคียง ปทุมสูติ อายุ 62 ปีหมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สามารถเป็นลูกคู่ในการเล่นเพลงพวงมาลัยได้ 
         13. นางระเบียบ เพชรทอง อายุ 61 ปี (เสียชีวิตเมื่อปี 2536) หมู่ 1 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สามารถร้องเพลงพื้นบ้านได้หลายชนิดและเป็นลูกคู่ในการเล่นเพลงพวงมาลัยได้ นอกจากนี้ยังรำเพลงพวงมาลัยได้สวยงามมาก อาชีพค้าขาย
         14. นางเกลียว ปทุมสูติ อายุ 59 ปีหมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สามารถเป็นลูกคู่ในการเล่นเพลงพวงมาลัยได้ อาชีพทำนาทำไร่
         15. นางเทียม ปทุมมิติ อายุ 58 ปีหมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สามารถเป็นลูกคู่ในการ เล่นเพลงพวงมาลัยได้ 
         16. นางชั้น คล้ายสุวรรณ อายุ 60 ปีหมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สามารถเป็นลูกคู่ในการเล่นเพลงได้หลายชนิด อาชีพทำไร่ 
         17. นายข้าม ศรีเพรา อายุ 70 ปีหมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรีสามารถเป็นลูกคู่ในการเล่นเพลงพวงมาลัยได้ อาชีพทำไร่
         18. นายรวย แผนสมบูรณ์ อายุ 60 ปีหมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สามารถร้องเพลงพวงมาลัยและเป็นลูกคู่ได้ 
         19. นายวิน ปทุมสูติ อายุ 42 ปีหมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี สามารถร้องเพลงพวงมาลัยและเพลงเหยียได้ อาชีพรับจ้าง
         20. นายชู คุณพันธ์ อายุ 68 ปีบ้านเลขที่ 77 หมู่ 2 ต.พนมทวน อ.พนมทาน จ.กาญจนบุรี เคยเป็นภารโรงโรงเรียนวัดบ้านทวน มีความสามารถในการเล่นเพลงพื้นบ้านได้หลายชนิด โดยได้รับความรู้เรื่องเพลงมาจากบิดา และได้เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยในการฝึกหัดและฟื้นฟูเผยแพร่เพลงพื้นบ้านพนมทวนมาโดยตลอดจน ได้รับการยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ได้รับโล่เชิดชูเกียรติในฐานศิลปินพื้นบ้านดีเด่นของภาคกลาง 
         21. นางทองเลื่อน คุณพันธ์ อายุ 68 ปีเป็นภรรยาของนายชู คุณพันธ์ มีความสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านพนมทวนได้หลายชนิด เช่นเดียวกับสามี โดยเป็นแม่เพลงเอยฟังนางสายทอง คุ้มภัย แม่เพลง ต.ดอนแสลบร้องเพลงในสมัยที่เป็นสาวรุ่น ๆ หลายครั้ง ชอบเพลงพวงมาลัยที่เล่นในเขตติดต่อกาญจนบุรีกับสุพรรณบุรีมาก
         22.	นางสายทอง โคกพร้าว อายุ 67 ปีหมู่ 8 ต.หนองรี อ.บ่อพลอย จ.กาญจนบุรี เป็นแม่เพลงพวงมาลัยและสามารถร้องเพลงพื้นบ้านได้หลายชนิดฝึกเพลงพวงมาลัยจากแม่เพลงหมู่ 2 ต.จระเข้สามพัน เดิมอยู่ ต.ดอนแสลบ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี แต่ย้ายไปทำไร่ที่ อ.บ่อพลอยซึ่งเป็นบ้านที่อยู่ปัจจุบัน
         23. นายหนัด ทองนุ่ม อายุ 76 ปีบ้านเลขที่ 158 หมู่ 15 ต.รางหวาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เป็นพ่อเพลงพวงมาลัยและสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านชนิดอื่นได้ด้วย เคยเล่นเพลงไปทั่วจังหวัดกาญจนบุรี และสุพรรณบุรีปัจจุบันเลิกเล่นแล้วเพราะเป็นโรคความดันสูง 
         24. นางผิว ทองนุ่ม อายุ 75 ปี เป็นภรรยา นายหนัด ทองนุ่ม เป็นแม่เพลงกันสามารถร้องเพลงพวงมาลัยและเพลงพื้นบ้านชนิดอื่นได้ปัจจุบันเลิกเล่นแล้วเพราะร้องไม่ไหว อาชีพทำนา 
         25. นางประเทือง รื่นสราญ อายุ 46 ปี บ้านเลขที่ 113 หมู่ 2 ต.หนองโรง อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เป็นแม่เพลงพวงมาลัยบ้านเดิมอยู่ ต.รางหวาย สามารถเล่นเพลงพวงมาลัยและเพลงเหย่ยได้ เป็นน้องสาวนายดอก รักสงวนศักดิ์ซึ่งเป็นพ่อเพลงและเป็นหัวหน้าวงเพลงพวงมาลัยคณะขวัญใจดอกรัก
         26. นางทองเพียร พอมพวนลม อายุ 66 ปีบ้านเลขที่ 17 หมู่ 5 ต.ดอนแสลบ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ฝึกเพลงพวงมาลัยมาจากบิดาโดยวิธีลักจำและนำมาฝึกเองเพราะชอบ เคยมาร้องเล่นแถว ต.จระเข้สามพัน ในงานเทศกาลบ่อย ๆ เพราะมีเพื่อนอยู่ในตำบลนั้นหรือบางครั้งไปเที่ยวงานกฐินผ้าป่าถ้ามีการเล่นเพลงพวงมาลัยก็จะร่วมเล่นด้วยปัจจุบันไม่ได้เล่นแล้วเพราะเอื้อนเสียงไม่ไหว อาชีพทำนา
         27. นายพัก กัณฑสังข์ อายุ 50 ปีบ้านเลขที่ 106 หมู่ 1 ต.ดอนแสลบ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เรียนจบ ชั้นป.4 เดิมอยู่หมู่บ้านเดียวกับป้าทองเพียร หอมทวนลมพอแต่งงานเลยย้ายมาอยู่อีกหมู่บ้านหนึ่ง บิดา มารดาเป็นพ่อเพลง แม่เพลง จึงร้องเพลงพวงมาลัยเป็นมาตั้งแต่เด็กและได้ตระเวนเล่นเพลงพวงมาลัยกับเพื่อนบ้าน แล้วแต่จะมีใครมาจ้างหรือวานไปเล่น บางครั้งก็ไปเล่นเองตามเทศกาล อาชีพทำนา
         28. นางประเทือง ทวีศรี อายุ 56 ปีบ้านเลขที่ 46 หมู่ 7 ต.ห้วยกระเจา อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เป็นน้องสาวของป้าทองเพียรหอมทวนลมแต่งงานเลยย้ายไปอยู่ต่างตำบล จำเพลงพวงมาลัยมาจากพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านและมีป้าน้อมเจริญเส็งเป็นครูช่วยฝึกให้เป็นคนที่มีความจำดีมากและปัญญาดีจึงเล่นเพลงพวงมาลัยได้เก่ง นอกจากนี้น้ำเสียงและการออกเสียงอักขระดีมาก จึงเป็นแม่เพลงที่เป็นที่นิยมของชาวบ้านใน อ.อู่ทองและ อ.พนมทวนปัจจุบันยังเล่นเพลงพวงมาลัยอยู่ อาชีพทำนา
         29. นายตอกรัก สงวนศักดิ์ อายุ 67 ปี (เสียชีวิตแล้วเมื่อปี 2535) อยู่บ้านเลขที่ 64 หมู่ 7 ต.ห้วยกระเจาอ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เรียนจบ ป.4 และนักธรรมโทเดิมอยู่ ต.รางหวายหัดเพลงมาจาก ลุงหนัด ทองนุ่ม ซึ่งเป็นญาติ สามารถเล่นเพลงพวงมาลัยได้ทั้งเป็นพ่อเพลงและเป็นหัวหน้าวงเพลงคณะขวัญใจคอกรักและเป็นครูของนางประเทือง ทวีศรีด้วยอีกคนหนึ่งด้วย
         30. นายพงั้น ศรีเงิน อายุ 73 ปีบ้านเลขที่ 4 หมู่ 17 ต.รางหวาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี หัดเพลงมาจากพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านแล้วตระเวนหาประสบการณ์กับพ่อเพลงแม่เพลงแถวอ.อู่ทองและ อ.สวนแตงจนมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเพลงพื้นบ้านสามารถร้องเพลงพื้นบ้านได้หลายชนิด ปัจจุบันไม่ได้เล่นเพลงแล้วเพราะเป็นอัมพาต 
         31. นายขวัญเมือง สังข์ทอง อายุ 75 ปี บ้านเลขที่ 74 หมู่ 8 ต.รางหวาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี หัดเพลงมาจากพ่อเพลงแม่เพลงพื้นบ้านในหมู่บ้านโดยการลักจำและมีความเชี่ยวชาญเพิ่มมากขึ้นด้วยการตระเวนไปเล่นเพลงตามที่ต่าง ๆ ในสมัยนั้นเคยมาเล่นเพลงถึงวัดป่าเลไลยก์ เป็นพ่อเพลงที่มีปฏิภาณดีมากและมีความรู้มากจากการอ่านหนังสือไตรโลก 108 และหนังสือของนักธรรมที่วัดสามารถนำความรู้ที่ได้มาค้นเพลงได้ ทำให้มีลูกศิษย์มาก เมื่อใครเล่นเพลงแล้วแพ้เขาก็จะมาให้ช่วยแก้ให้ เล่นเพลงมาตั้งแต่สมัยจอมพลป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ยังเล่นเพลงได้อยู่มีความสามารถเส้นเพลงพื้นบ้านได้หลายชนิดที่ถนัดคือเพลงพวงมาลัยและเพลงอีแซว ทำอาชีพทำนา
         32. นายอุ้ย นุ่มน้อย อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 77 หมู่ 16 ต.พรางหวาย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี หัดเพลงมาจากนายขวัญเมือง สังข์ทอง เป็นพ่อเพลงพวงมาลัยที่มีความสามารถคนหนึ่งปัจจุบันไม่ได้เล่นเพลงแล้ว อาชีพทำนา 
         33. นางน้อม เจริญเม็ง อายุ 72 ปีบ้านเลขที่ 51 หมู่ 7 ต.ห้วยกระเจา อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เดิมเป็นคนบ้านเดียวกับนางทองเพียร หอมทวนลมและเป็นครูของนางประเทือง ทวีศรี มีความสามารถเล่นลิเกโดยเป็นนางเอกลิเกในสมัยนั้น เมื่อลิเกเสื่อมความนิยมลง จึงหันมาเล่นเพลงอีแซวและเพลงพวงมาลัยปัจจุบันเลิกเล่นเพลงแล้วเพราะร้องไม่ไหวอาชีพทำนาเป็นเพื่อนกับนางตุ้ยแสงหิรัญเคยเล่นเพลงร่วมกัน
         34. นางสายทอง คุ้มภัย อายุ 76 ปีหมู่ 7 ต.ดอนแสลบ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เป็นแม่เพลงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยนิยมเล่นเพลงพื้นบ้านสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้หลายชนิด ทั้งเพลงพวงมาลัยและเพลงฉ่อยเพลงอีแซว ปัจจุบันเลิกเล่นเพลงแล้วเพราะอายุมาก 
         35. นางทวี พรหมชนะ อายุ 67 ปีบ้านเลขที่ 11 หมู่ 7 ต.ดอนแสลบ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี มีความสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้หลายชนิด ปัจจุบันยังเล่นเพลงอยู่ ไม่ได้เรียนหนังสือแต่เล่นเพลงเป็นเพราะจำมาจากพ่อเพลงแม่เพลงในหมู่บ้านจนสามารถเป็นแม่เพลงได้พี่สาวเป็นแม่เพลงพวงมาลัยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งในหมู่บ้าน
         36. นางแผด เสริมสุข อายุ 61 ปีบ้านเลขที่ 36 หมู่ 5 ต.ห้วยกระเจา อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรีสามารถเล่นเพลงพวงมาลัยได้เคยเล่นเพลงพวงมาลัยกับนางประเทืองทวีศรีเพราะหมู่บ้านอยู่ใกล้กันอาชีพทำนาทำไร่ 
         37. นายเฉิด สืบนา อายุ 71 ปีบ้านเลขที่ 43 หมู่ 2 ต.ห้วยกระเจา อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เดิมอยู่ที่ตำบลดอนแสลบบ้านเดียวกับนายพัก กัณาสังข์ และเคยเส้นเพลงร่วมกันสามารถร้องเพลงพวงมาลัยได้อาชีพทำนา
         38. นางละมุน สมบุตร อายุ 54 ปีบ้านเลขที่ 3 หมู่ 7 ต.ดอนแสลบ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ไม่ได้เรียนหนังสือเล่นเพลงเป็นเพราะจำมาจากพ่อเพลงแม่เพลงในหมู่บ้าน สามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้หลายชนิดเล่นเพลงร่วมกันกับนางทวีพรหมชนะและร้องเพลงพวงมาลัยได้เพราะมาก 
         39. นายเสน่ห์ (ปอง) เกิดโภคา อายุ 69 ปีบ้านเลขที่ 160/1 หมู่ 4 ต.ดอนแสลบ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เริ่มหัดแล่นเพลงด้วยการฝึกเล่นเพลงพวงมาลัยจากนักเพลงพวงมาลัยรุ่นเก่า เมื่อเพลงพวงมาลัยไม่เป็นที่นิยมจึงหันมาเล่นเพลงฉ่อย เพลงอีแซวกับพ่อเพลงถิ่นอื่นส่วนใหญ่จะเล่นกับพ่อเพลงแม่เพลง อ.สวนแตง จ.สุพรรณบุรี ปัจจุบันก็ยังเล่นเพลงอยู่ 
         40. นายเอื้อน ติเยาว์ อายุ 65 ปีบ้านเลขที่ 73 หมู่ 4 ต.ดอนแสลบ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี เรียนหนังสือจบ ชั้น ป.2 และเรียนหนังสือเมื่อบวชเป็นพระจนจบนักธรรมตรีมีความสามารถเล่นเพลงพื้นบ้านได้หลายชนิดที่ถนัดคือ เพลงพวงมาลัย เพลงฉ่อย เพลงอีแซวโดยเล่นเพลงร่วมกับ นายเสน่ห์เกิด โภคา และ พ่อเพลงแม่เพลง อ.สวนแตงและ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ปัจจุบันยังเล่นเพลงอยู่อาชีพทำนาและเป็นหมอยาแผนโบราณด้วย 
         41. นางงามเจริญธรรม อายุ 65 ปีบ้านเลขที่ 8 หมู่ 7 ต.ดอนแสลบ จ.กาญจนบุรีเรียนจบ ป.3 เล่นเพลงพวงมาลัยได้และเป็นลูกคู่เล่นร่วมกับนางทวี พรหมชนะ 
         42. นางเตี้ย คล้ายคลัง อายุ 64 ปีบ้านเลขที่ 9 หมู่ 7 ต.ดอนแสลบ จ.กาญจนบุรีเรียนจบชั้น ป.2 ร้องเพลงพวงมาลัยและเป็นลูกคู่ให้กับนางทวี พรหมนะ 
         43. นายสายบัวศรีดาจันทร์อายุ 67 ปีบ้านเลขที่ 136 หมู่ 1 ต.จระเข้สามพัน อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรีเรียนทางธรรมจบนักธรรมเอก เล่นดนตรีไทยได้รู้จักเพลงพื้นบ้านในถิ่นบ้านเกิดและถิ่นอื่น ๆ มากเพราะเคยไปเล่นดนตรีไทยในงานต่าง ๆ และรู้จักตัวพ่อเพลงแม่เพลงพวงมาลัยที่ยังเล่นเพลงอยู่หลายท่านอาชีพเป็นหมอแผนโบราณประจำหมู่บ้าน อ.พนมทวน และทำไร่

สถานที่ริเริ่ม/สถานที่จัดแสดง[แก้ไข]

         จากการรวบรวมข้อมูลถิ่นที่ปรากฏของเพลงพวงมาลัย พบว่า เพลงพวงมาลัยที่ใช้ร้องโต้ตอบ มีแพร่กระจายอยู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตกในเขตภาคกลางด้านตะวันตก และตอนล่าง พบในจังหวัดอ่างทอง สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี และ เพชรบุรี จากถิ่นที่ปรากฏของเพลงพวงมาลัยนี้เมื่อสำรวจดูพบว่าเป็นชุมชนไทยดั้งเดิม ที่มีมาก่อนกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อยู่ในระหว่าง พ.ศ.1600-2000 ซึ่งโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญทางศิลปะไทยสันนิษฐานจากหลักฐานทางศิลปะด้านต่าง ๆ ที่พบในบริเวณ นี้ที่เรียกว่า  "ศิลปะอู่ทอง" ยืนยันได้ว่าชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและบริเวณตั้งแต่สุโขทัยลงมาจนถึงเพชรบุรีมีศิลปะ สกุลช่างอู่ทองปรากฏอยู่ทั่วไป สกุลช่างอู่ทองนี้มีอายุเก่าแก่กว่า ศิลปะอยุธยาเกิดขึ้นก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี อันเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีชุมชนบริเวณนี้เป็นชุมชนไทยดั้งเดิม ไปหาข้อมูลเพิ่ม (วิบูลย์ ศรีคำจันทร์, 2537, หน้า 19)

ข้อมูลการแสดง[แก้ไข]

ประวัติความเป็นมา[แก้ไข]

          เพลงพวงมาลัยจะเริ่มเล่นมาตั้งแต่เมื่อใด ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดปรากฏ แต่หลักฐานจากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่าได้รับการสืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งปู่ย่าตายาย ดังที่หลายท่านที่สืบค้นเรื่องเพลงพวงมาลัยได้กล่าวไว้เช่น อเนก นาวิกมูล (เอนก นาวิกมูล, 2527, หน้า 330) ได้สอบถามแม่เพลง พ่อเพลงชาวสุพรรณบุรี ถึงการละเล่นในงานวัดป่าเลไลยก์เมื่อ 50 ปีก่อน ว่านอกจากเพลงฉ่อยเพลงอีแซว ที่เล่นกันแล้ว ก็มีเพลงพวงมาลัย และเพลงระบำบ้านไร่ ซึ่งเพลงทั้งสองชนิดนี้ดูจะเก่ายิ่งกว่าเพลงฉ่อย เพลงอีแซว และเป็นเพลงที่เล่นกันแพร่หลายมาก ในบริเวณภาคกลาง มักร้องเล่นยามตรุษสงกรานต์เป็นต้น แต่ไม่ค่อยมีใครนำมาร้องเป็นอาชีพ
         ผู้เขียนได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ ลำไย เทพสุวรรณ อายุ 86 ปี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 พบว่า เพลงพวงมาลัยมีความเหมือนกันตรง คือไม่ทราบถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน และต่างกันตรงที่กำแพงเพชรไม่ใช่ต้นกำเนิดของเพลงพวงมาลัย แต่มีประวัติอยู่ในกำแพงเพชรมานานมากกว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นการนำมาจากครูพักลักจำ และสืบทอดมาจากพ่อเพลงแม่เพลงในพื้นที่ภาคกลาง
        นอกจากนี้เพลงพวงมาลัย คำนวณตามอายุ ของพ่อเพลง แม่เพลง ตามหลักแบบเพลงพื้นบ้านโบราณจากการศึกษาของ เอนก นาวิกมูล เรื่อง เพลงนอกศตวรรษ ได้คำนวณตามอายุของ แม่เพลง พ่อเพลงผู้ให้ข้อมูล ได้อนุมานอายุของเพลงชนิดนี้ว่าน่าจะเป็นเพลงเก่าที่มีอายุนับร้อยปีซึ่งก็ตรงกับที่บันทึกไว้ในหนังสือ "วัฒนธรรมไทย" ที่กล่าวถึงประวัติของเพลงพวงมาลัยว่า "เป็นการละเล่นพื้นเมืองอย่างหนึ่งที่มีมาแต่โบราณ  ตามทางสืบค้นได้ความว่ามีการเล่นกันมากกว่า 100 ปี" และสุกัญญา สุจฉายา ได้กล่าวไว้ในประวัติของเพลงอีแซวว่า “เพลงอีแซวมีกำเนิดในสมัยเดียวกับเพลงเหย่ยของกาญจนบุรีคือราว ๆ 60 ปี โดยมีเพลงพวงมาลัยเป็นต้นแบบของเพลงทั้งสอง เพลงพวงมาลัยจึงน่าจะมีอายุร่วมร้อยปีหรือมากกว่านั้น และจากการที่ผู้วิจัยได้สืบสาวถึงประวัติความเป็นมาของเพลงพวงมาลัย ในพื้นที่ที่เก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนามพบว่า ส่วนใหญ่ต้นตระกูล  รุ่นปู่ย่าตายายของพ่อเพลงแม่เพลงจะเล่นเพลงเป็น และได้รับการสืบทอดต่อ ๆ กันมาถึงรุ่นพ่อเพลงแม่เพลงซึ่งมีอายุตั้งแต่ 50-80 ปีบางท่านจดจำมาจาก พ่อเพลง แม่เพลง ในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียง มาฝึกร้องเล่นจนมีความชำนาญการสืบทอดต่อ ๆ กันมานี้จึงเป็นการยืนยัน "ความเก่า" ของเพลงพวงมาลัยได้เป็นอย่างดี   ซึ่งประวัติของเพลงพวงมาลัยนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในเนื้อร้องของเพลงพวงมาลัยหลายสำนวนดังนี้ 

เอ่อระเหยลอยมา

ลอยมาก็ลอยไป (ลูกคู่รับ 1 ครั้ง)

มันกรุดมันกรานต์มันเป็นงานของหลวง

ก็เล่นกัน แต่พวงมาลัยมา

แต่ปู่ย่าตายาย

มีกันมาหลายปีเอย (ลูกคู่รับ 2 ครั้ง)

(เพลงพวงมาลัยสำนวนที่ 5/1 ทวี พรหมชนะ อ้างถึงใน วิบูลย์ ศรีคำจันทร์, 2537)

เรื่องราวทั้งหลายแม่สมัยโบราณ มันก็มีมานานแล้วพี่น้องไทย
ยามกรุดสงกรานต์ แต่เป็นงานปี แต่พอสิ้นเดือนสี่เรียกว่ามีใหม่
ยามกรุดสงกรานต์มันเป็นงานหลวง เขาก็เล่นกัน แต่พวงมาลัย ..

(เพลงพวงมาลัยสำนวนที่ 3/78 ขวัญเมือง สังข์ทอง อ้างถึงใน วิบูลย์ ศรีคำจันทร์, 2537)

         จากเนื้อร้องของเพลงพวงมาลัยที่ยกมาเป็นตัวอย่างนั้น จะเห็นได้ว่าการเล่นเพลงชนิดนี้ได้รับการสืบทอดมา แต่โบราณ และเป็นเพลงที่นิยมเล่นกันในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ ซึ่งถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย แต่โบราณ มีเทศกาลเฉลิมฉลองดังปรากฏอยู่ในพระราชกำหนดกฎมณเฑียรบาลครั้งกรุงศรีอยุธยา เป็นโบราณมงคลราชพิธีซึ่งพระมหากษัตริย์ได้ทรงกระทำเป็นพิธีการประจำพระนครทำเพื่อจะให้เป็นสิริมงคลแก่พระนคร และพระเจ้าแผ่นดินพระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการตลอดจนประชาราษฎรทั้งปวงและได้รับการสืบทอดมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งมาเปลี่ยนใช้วันที่ 1 มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่เมื่อสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนประเพณีสงกรานต์ยังคงไว้ตามเดิม และได้รับการสืบทอดจนมาถึงปัจจุบันโดยประชาชนส่วนใหญ่ยังถือว่าตรุษสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอยู่ ชาวบ้านยังถือว่าเป็น "งานหลวง” ซึ่ง" เขาก็เล่นกัน แต่พวงมาลัย "ดังที่กล่าวไว้ในเพลงซึ่งถ้านับจากประเพณีตรุษสงกรานต์ที่ได้รับการสืบทอดมา ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเพลงพวงมาลัยเกิดขึ้นในช่วงใดช่วงหนึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยา หรือ กรุงรัตนโกสินทร์ เพลงชนิดนี้ก็เป็นเพลงที่เก่าแก่เพลงหนึ่ง แต่แปลกที่ไม่มีการกล่าวถึงหรือมีการบันทึกถึงเพลงชนิดนี้เลยในวรรณคดีลายลักษณ์ ทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา และ กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือ ในหนังสือเพลงพื้นเมือง (วิบูลย์ ศรีคำจันทร์, 2537, หน้า 19)
         จากข้อมูลข้างต้นผู้เขียนสรุปได้ว่า เพลงพวงมาลัยมีการเล่นกันมากกว่า 100 ปี ซึ่งมักถูกสืบทอดกันมาจากต้นตระกูลที่เคยมีปู่ย่าตายายเป็นพ่อเพลง แม่เพลงมาก่อน จนมาถึงรุ่นพ่อเพลงแม่เพลงที่มีอายุตั้งแต่ 50-80 ปี บ้างคนจำมาจาก พ่อเพลง แม่เพลง ในหมู่บ้านหรือหมู่บ้านใกล้เคียง และนำมาฝึกร้องเล่นจนมีความชำนาญการสืบทอดต่อ ๆ กันมา โดยคาดว่าถูกบันทึกไว้ในเนื้อร้องของเพลงพวงมาลัย

อุปกรณ์ประกอบ[แก้ไข]

         จากการสัมภาษณ์ พบว่า อุปกรณ์ในการเล่นเพลงพวงมาลัยนั้นไม่มี ยกเว้นถ้าหากมีการไหว้ครูจะมี 2 องค์ประกอบ คือ
         1. การไหว้ครูต้องใช้พาน ประกอบด้วยธูป 3 ดอก เทียน 1 เล่ม ดอกไม้ 3 สี บุหรี่ 1 ซอง เหล้าขาว 1 ขวด และเงินค่ายกครู 12 บาท มักทำเฉพาะงานใหญ่ๆ ที่เป็นพิธีและมีผู้ชมมากๆเท่านั้น 
         2. ในงานประเพณีทั่วไปจะร้องยกครูด้วยปากเปล่า ในลักษณะบอกเล่าหรือระลึกถึงพระคุณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือให้มาช่วยคุ้มครอง และขอให้ร้องเพลงได้คล่อง ส่วนใหญ่มักร้องเล่นไปเลย 
ภาพที่ 1 การไหว้ครู.jpg

ภาพที่ 1 การไหว้ครู (วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี, 2559)

ขั้นตอน/วิธี/กระบวนการ[แก้ไข]

         วิธีเล่นการเล่นเพลงพวงมาลัยนั้น นิยมตั้งเป็นวงแบ่งเป็น ฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง อยู่กันฝ่ายละครึ่งวงกลม แต่ละฝ่ายจะมีพ่อเพลงแม่เพลง ข้างละ 1 คนและมีลูกคู่เท่าไรก็ได้แล้วแต่วงเล็กหรือวงใหญ่ แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 3 คนเป็นอย่างน้อย การเล่นมีวิธีเล่นดังนี้เริ่มเล่นถ้ามีการไหว้ครูทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง จะนั่งลงเป็นรูปครึ่งวงกลมแล้วฝ่ายชายจะร้องไหว้ครูก่อน เมื่อฝ่ายชายร้องไหว้ครูจบฝ่ายหญิงจะร้องไหว้ครูจนจบการร้องไหว้ครูจะร้องเช่นเดียวเหมือนกับบททั่วไป มีลูกคู่คอยปรบมือให้จังหวะ และรองรับเมื่อไหว้ครูเสร็จ ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะลุกขึ้นยืน ตั้งวงเป็นรูปวงกลมตามเดิมแล้วร้องเพลงพวงมาลัย ไปตามลำดับขั้นที่เล่น ดังภาพที่ 2                    
ภาพที่ 2 รูปตั้งวงร้องเพลงพวงมาลัย.jpg

ภาพที่ 2 รูปตั้งวงร้องเพลงพวงมาลัย (ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก, 2561)

         ถ้าเป็นการไหว้ครูปากเปล่าโดยไม่มีอุปกรณ์ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายจะยืนในที่ของตนแล้วฝ่ายชายจะขึ้นเพลงไหว้ครูก่อนแล้วฝ่ายหญิงจึงร้องไหว้ครู เมื่อทั้งสองฝ่ายร้องไหว้ครูเสร็จก็จะร้องเล่นเพลงเลยหรือในกรณีที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีครูแต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่มีครูก็จะให้ฝ่ายที่มีครูร้องไหว้ครูก่อนจึงเริ่มเล่นเรื่อง แต่ปกติการเล่นเพลงพวงมาลัยมักเริ่มที่บทเกริ่นก่อนเพราะผู้เล่นไม่นิยมไหว้ครู การเกริ่นฝ่ายชายจะร้องเกริ่นเรียกหรือเชิญให้ฝ่ายหญิงออกมาเล่นการร้องเกริ่นจะร้องจนกว่าฝ่ายหญิงจะออกมาเล่นหรือออกมาร้องแก้ ฝ่ายใดร้องก็ต้องออกมารออยู่กลางวง เมื่อฝ่ายชายร้องจบลงก็จะกลับมายืนที่ฝ่ายตนและลูกคู่ร้องรับจนลงเพลงเรียบร้อยแล้วฝ่ายหญิงจึงร้องแก้ การร้องจะผลัดกันร้องฝ่ายละครั้งทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชายจะร้องแก้กันไปมาตามลำดับขั้นจนเลิกเล่นส่วนลูกคู่จะเป็นผู้คอยปรบมือให้จังหวะขณะที่ทั้งสองฝ่ายร้องเล่นกันอยู่นั้นลูกคู่หรือผู้ฟังสามารถเข้าไปร่ายรำในวงได้ปกติจะมีผู้เล่น”ครั้งละ 1 คู่สลับกันไปตลอดจนเลิกเส้น แต่ปัจจุบันลูกคู่จะออกไปรำกลางวงครั้งละหลายคู่คล้ายรวงผู้ร้องหรือพ่อเพลงแม่เพลงเดิมจะมีหลายคนและคอยผลัดเปลี่ยนร้องแก้กันและร้องรับบาทขึ้นกับบาทลง
         พ่อเพลงแม่เพลงคนใดมีความสามารถก็ร้องแก้กันไปหากร้องแก้ไม่ได้ก็จะถอยออกมาให้ผู้อื่นที่มีความสามารถกว่าเข้าไปร้องแทนซึ่งเนื้อเรื่องจะยังคงต่อเนื่องกัน แต่ปัจจุบันผู้เล่นส่วนใหญ่มักร้องคนเดียวยืนพื้นหากมีพ่อเพลงแม่เพลงคนอื่นเข้ามาช่วยร้องเนื้อหาก็จะไม่ต่อเนื่องกันหรือเปลี่ยนเรื่องไปเลยเช่นเพลงพวงมาลัยสำนวนที่ 4 ในการร้องแก้กันนั้นผู้เล่นจะต้องร้องตามเพลงของอีกฝ่ายหนึ่งก่อนแล้วจึงร้องแก้เนื้อหาของเพลงที่ตามนั้นเมื่อร้องแก้เนื้อหาที่อีกฝ่ายหนึ่งร้องเอาไว้แล้วก็จะร้องเนื้อหาใหม่ต่อเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งใช้ร้องแก้การตามเราลงนั้นก็คือการเนื้อหาสำคัญที่ฝ่ายหนึ่งร้องไว้และตนจะต้องร้องแก้เพื่อให้เนื้อหาต่อเนื่องกัน
ภาพที่ 3 ผู้แสดงร้องแก้กันตามเพลงของอีกฝ่าย.jpg

ภาพที่ 3 ผู้แสดงร้องแก้กันตามเพลงของอีกฝ่าย (มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ, ม.ป.ป.)

ท่าการแสดงจำเพาะ[แก้ไข]

         -

ข้อมูลผู้แสดง[แก้ไข]

เพศผู้แสดง[แก้ไข]

         เป็นการแสดงในโอกาสสำคัญต่าง ๆ มีผู้แสดงทั้งชาย และหญิง ออกมาร้องรำทำเพลงกันเป็นคู่

จำนวนผู้แสดง[แก้ไข]

         ประกอบด้วยผู้เล่น 2 ฝ่าย คือฝ่ายชาย และฝ่ายหญิง แต่ละฝ่ายจะมีผู้ร้องนำเรียกว่า พ่อเพลงแม่เพลง (พ่อพวง แม่พวง) ฝ่ายละ 1 คนและมีลูกคู่คอยช่วยร้องรับ ร้องกระทุ่งพร้อมทั้งปรบมือให้จังหวะฝ่ายละเท่าไรก็ได้ไม่ จำกัดจำนวน แต่อย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่าฝ่ายละ 3 คน

ลักษณะผู้แสดง[แก้ไข]

         ผู้เล่นจะต้องมีความสามารถในการจำเนื้อร้อง และเป็นผู้เล่นที่มาด้วยความสมัครใจของแต่ละฝ่าย ส่วนผู้เล่นที่เป็นลูกคู่นั้นจะต้องปรบมือให้จังหวะเพื่อให้ผู้ร้อง ร้องได้ถูกต้องตามจังหวะและทำนอง ถ้าหากปรบมือไม่เป็น หรือ ไม่ถูกจังหวะผู้ร้องนำก็ไม่สามารถร้องต่อได้ การเล่นเพลงก็จะล่ม
ภาพที่ 3 ผู้แสดงร้องแก้กันตามเพลงของอีกฝ่าย.jpg

ภาพที่ 4 ผู้แสดงร้องแก้กันตามเพลงของอีกฝ่าย (มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ, ม.ป.ป.)

ภาพที่ 5 ลักษณะผู้แสดง.jpg

ภาพที่ 5 ลักษณะผู้แสดง (วิทยาลัยนาฏศิลปะสุพรรณบุรี, 2559, ออนไลน์)

การแต่งกายผู้แสดง/เครื่องประดับ[แก้ไข]

         เนื่องจากเพลงพวงมาลัยไม่ใช่เพลงอาชีพ การเล่นเป็นไปด้วยความสมัครใจของผู้เล่นแต่ละฝ่าย ซึ่งมักจะไม่ได้มีการเตรียมตัวล่วงหน้า ดังนั้นการแต่งกายจึงเป็นไปตามสมัยนิยม และเป็นไปตามสถานการณ์หรือโอกาสที่เล่น นั้นๆ เช่นถ้าเล่นในทุ่งนาในการเก็บเกี่ยวข้าว ก็จะใช้ชุดทำงานอยู่นั้นเล่น แต่ถ้าเล่นยามเทศกาลหรือประเพณีต่างๆ ผู้เล่นจะแต่งกายตามความนิยมของแต่ละถิ่นแต่ละสมัย เดิมทีการแต่งกายของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมีลักษณะดังนี้  
         ผู้เล่นฝ่ายชายจะนุ่งโจงกระเบนด้วยผ้าไหม หรือผ้าม่วง แล้วแต่ฐานะของผู้เล่น สวมเสื้อมิสกรีคอกลมสีขาว ติดกระดุมหน้า 3 เม็ด มีผ้าขาวม้าคาดพุง และใส่เครื่องประดับ ได้แก่ สร้อยคอ แหวน สร้อยข้อมือ ตุ้มหูระย้า 1 ข้าง และถ้าผู้เล่นมีฐานะดีจะใส่สังวาลไขว้แบบลิเก ซึ่งปัจจุบันถ้ามีการหาไปเล่นในงานที่เป็นพิธีรีตองผู้ร้องนำฝ่ายชาย ก็จะนุ่งโจงกระเบนชนิดชายธงและสวมเสื้อ "มิสกรี" คอกลมสีขาว และทับด้วยผ้าขาวม้า เครื่องประดับแล้วแต่ฐานะของผู้เล่น แต่ถ้าเล่นในงานประเพณีทั่วไปจะแต่งกายตามสมัยนิยม คือนุ่งกางเกงและสวมเสื้อธรรมดา
         ผู้เล่นฝ่ายหญิงทั้งในอดีต และปัจจุบันจะแต่งกายคล้ายคลึงกัน คือสวมเสื้อคอกระเช้า (ชนิดคอถักลูกไม้หรือเสื้อโป่งเป็นเสื้อคอกระเช้าชนิดหนึ่งมีแขนเล็ก) นุ่งโจงกระเบนผ้าไหม ทับเสื้อแล้วคาดด้วยเข็มขัดมีผ้าสไบเฉียง เครื่องประดับมี ต่างหูระย้า แหวน สร้อยข้อมือ สร้อยคอ และกำไลข้อเท้า ถ้าเล่นในงานที่เป็นพิธี ผู้เล่นจะแต่งกายเหมือนกันทุกคน

ข้อมูลเพลง/ดนตรี[แก้ไข]

เพลงที่ใช้ในการแสดง[แก้ไข]

         เพลงพวงมาลัย มีรูปแบบที่เฉพาะตัว คือจะขึ้นด้วย “เอ่อกระเลยลอยไป ลอยมา” และลงท้ายด้วย “เอย” โดยในการแสดงส่วนใหญ่จะใช้การปรบมือจากผู้แสดงคนอื่นๆ เพี่อให้ดูมีความครึกครื้นมากยิ่งขึ้น แต่ในบางครั้งจะมีการใช้เครื่องดนตรีบางชนิดมาช่วยให้จังหวะ เช่น กลองยาว เป็นต้น

เนื้อร้อง/ทำนอง[แก้ไข]

         จากการสัมภาษณ์ ลำไย เทพสุวรรณ (การสัมภาษณ์, 14 ตุลาคม 2564) พบว่า เพลงพวงมาลัยที่จังหวัดกำแพงเพชร ไม่มีผู้แต่งที่แน่ชัด โดยส่วนใหญ่จะจำมาจากการครูพักลักจำหรือสืบทอดกันมาจากปู่ย่า ตายาย ที่เป็นพ่อเพลงแม่เพลงภายในหมู่บ้าน (ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก, 2561)
ท่อนที่ 1   
         คู่ที่ 1 ชายร้อง	 
         (สร้อย) ชาย เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อกระเลยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย	
         ชาย เจ้าฉุยฉายเอย เจ้าเยื้องย่างกรายกระเดียดกระทาย กระทัดรัด มือหนึ่งก็เด็ดใบบอน มือหนึ่งก็ช้อนปลากัด แม่อุ่นเรือนเพื่อนรัก รักเสมอในเอย........
         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย
         คู่ที่ 2 หญิงร้อง	 
         (สร้อย) หญิง เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย
         หญิง พ่อพวงมาลัย พี่อย่าโศกีว่าน้องไม่รัก ถ้าแขนพี่ตก น้องจะยกใส่ตัก พ่ออุ่นเรือนเพื่อนรัก รักเสมอในเอย (ซ้ำ)
         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย 
ท่อนที่ 2
         (สร้อย) หญิง เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย
         หญิง เจ้าพวงมะโหดเอย พี่อย่าถือโกรธว่าน้องไม่รัก ไม่ใช่ลูกอ่อนจะมานอนหนุนตัก (ซ้ำ) พ่ออุ่นเรือนเพื่อนรัก รักเสมอใจเอย
         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย
         (สร้อย) ชาย เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อกระเลยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย
         ชาย เจ้าแขนอ่อนเอย เอาแขนไปซ่อนเอย ไว้ที่นอนของใครเอย เวลากลางคืน เจ้าสะอื้อร้องไห้ รำพึงรำพลอยรำเสียหน่อยเดียวเอย (ซ้ำ) 
         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย
ท่อนที่ 3
         (สร้อย) ชาย เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อกระเลยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย 
         ชาย เจ้าดอกมณฑาเอย แม่หน้ามน รับรักพี่สักคน จะเป็นไร เอยน้องจะให้พี่ฉุด หรือให้มาขอเอย ให้รับบอกพี่มาไว ๆ เอย (ซ้ำ)
         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย
         (สร้อย) หญิง เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย
         หญิง เจ้าดอกมะลิลาเอย คำว่ารักน้องขอพักไว้ก่อนเอย จะว่าแสนงอนเอยนั่นไม่ได้ ถ้าพี่จะฉุดก็มาฉุด ระวังสะดุดตอเอย (ซ้ำ)
         (สร้อย) หญิง เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย
ท่อนที่ 4
         (สร้อย) ชาย เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อกระเลยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย
         ชาย เจ้าดอกรักเอย เอ่อระเหยลอยมา พี่รักจริงเอย พี่จึงได้มา ไม่ว่าแดดกล้าเอย ทางไกลเอย (ซ้ำ)
         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย
         (สร้อย) หญิง เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย
         หญิง เจ้าดอกปีบเอย อย่ามารักน้องเลยเอย นะพ่อเตยต้นเตี้ย ถ้าพี่มีเมียเอย แล้วน้องจะทำอย่างไรเอย หรือพี่มีแกลบ มีรำ พี่จะเอาน้องไปเลี้ยงเอย ขอรับไว้เพียงน้องชายเอย (ซ้ำ)
         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย
ท่อน 5
         (สร้อย) ชาย เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อกระเลยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย
         ชาย เจ้าดอกรักเร่เอย เอยลุยหล่มมาหา จระเข้วางคลอง เสือนอนขวางหน้า พี่ยังอุตส่าห์มาหาจนได้เอย (ซ้ำ) 
         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจพี่จะขาดแล้วเอย 
         (สร้อย) หญิง เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย
         หญิง เจ้าการะเกดเอย พี่ขี่ม้าเทศ จะไปท้ายวัด ชักกริชแดงๆ จะออกมาแทงฝรั่ง เมียห้ามก็ไม่ฟัง สุดกำลังของเมียเอย (ซ้ำ)
         (สร้อย) ลูกคู่ เจ้าพวงมาลัยเอย เอ่อระเหยลอยไป ลอยมา สักเมื่อไหร่จะได้เห็นหน้า เจ้าพวงมาลัยใจน้องจะขาดแล้วเอย
จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เพลงพวงมาลัยเป็นเพลงเก่าแก่เพลงหนึ่งและเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เนื่องจากเป็นเพลงที่นิยมเล่นในภาคกลาง ใช้เป็นเพลงร้องโต้ตอบเกี้ยวพาราสีกันในกลุ่มหนุ่มสาว เพลงพวงมาลัย ไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจน ซึ่งเพลงพวงมาลัยเป็นเพลงที่ร้องเล่นได้ทุกโอกาส ทุกเวลามักเล่นในงานเทศกาล เช่น งานสงกรานต์ งานลอยกระทง งานขึ้นบ้านใหม่ งานนบพระเล่นเพลง เป็นต้น และไม่มีใครนำเพลงพวงมาลัยมาร้องเป็นอาชีพ เพลงพวงมาลัยแต่ละแห่งมีความเหมือนกัน คือไม่ทราบถึงแหล่งที่มาอย่างชัดเจน และต่างกันตรงที่กำแพงเพชรไม่ใช่ต้นกำเนิดของเพลงพวงมาลัย แต่มีประวัติอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชรมานานมากกว่า 10 ปี ซึ่งเป็นการครูพักลักจำ และสืบทอดมาจากพ่อเพลงแม่เพลงในพื้นที่ภาคกลาง และนำมาฝึกร้องเล่นจนมีความชำนาญการสืบทอดต่อ ๆ กันมา (วิบูลย์ ศรีคำจันทร์, 2537 หน้า 46)

ผู้แต่งเพลง เนื้อร้อง/ทำนอง[แก้ไข]

         จากการสัมภาษณ์ป้าลำไย เทพสุวรรณ อายุ 86 ผู้เป็นแม่เพลงคนปัจจุบัน กล่าวว่าเพลงพวงมาลัยที่จังหวัดกำแพงเพชร ไม่มีผู้แต่งที่แน่ชัด โดยส่วนใหญ่จะนำมาจากการครูพักลักจำหรือสืบทอดกันมาจาก ปู่ ย่า ตา ยาย ที่เป็นพ่อเพลงแม่เพลงภายในหมูบ้าน 

เครื่องดนตรีประกอบ[แก้ไข]

         จากการสัมภาษณ์ ป้าลำไย เทพสุวรรณ ในการแสดงเพลงพวงมาลัยในแต่ละครั้ง มักใช้กลองยาวเป็นเครื่องดนตรีเพียงอย่างเดียว และใช้การปรบมือเพื่อให้จังหวะเท่านั้น

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

แหล่งอ้างอิง[แก้ไข]

ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก. (2561). เพลงพวงมาลัย. เข้าถึงได้จาก https://arit.kpru.ac.th/ap2/local/?nu=pages&page_id=120&code_db=610004&code_type=01
มูลนิธิโครงการสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ. (ม.ป.ป.). ประเภทของเพลงพื้นบ้าน. เข้าถึงได้จาก https://www.saranukromthai.or.th/sub/book/book.php?book=34&chap=2&page=t34-2-infodetail04.html
วิบูลย์ ศรีคำจันทร์. (2537). เพลงพวงมาลัย : การศึกษาเชิงวิเคราะห์. (วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษามหาบัณฑิต). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
วิทยาลัยนาฏศิลปสุพรรณบุรี. (2559). เพลงพวงมาลัย อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี. เข้าถึงได้จาก http://cdasp72000.blogspot.com/  
เอนก  นาวิกมูล. (2527). เพลงนอกศตวรรษ. (พิมพ์ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ: บริษัท ธรรมสาร จำกัด. 

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         วันที่ 15 สิงหาคม 2564

วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         วันที่ 2 พฤศจิกายน 2564

ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]

         อาจารย์อรัญญารัตน์  ศรีสุพัฒนะกุล อาจารย์โปรแกรมวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร
         บริพัทร ภู่เขียว และ พงศกรณ์ วงษ์อ่อง นักศึกษาโปรแกรมวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร

คำสำคัญ[แก้ไข]

         เพลงพวงมาลัย, ความเป็นมาของเพลงพวงมาลัย, เพลงพวงมาลัยจังหวัดกำแพงเพชร