ฐานข้อมูล เรื่อง แกงหยวกกล้วยไข่กับเมี่ยงนครชุม พื้นดินถิ่นกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
         อาหารประจำถิ่นประจำจังหวัดกำแพงเพชร หลายคนมักจะนึกถึงกล้วยไข่ กระยาสารท หรือแม้แต่เฉาก๊วย ซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัดกำแพงเพชร แต่หากพูดถึงอาหารโบราณประจำถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน คงหนีไม่พ้นเมี่ยงนครชุมและแกงหยวกกล้วยไข่เพราะประชากรส่วนหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากภาคอีสานและภาคเหนือ จึงได้มีการนำเอาวิถีชีวิตดั้งเดิมติดตัวเมื่อย้ายถิ่นฐานมาด้วย โดยเฉพาะเมี่ยงลาว เป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมของทางภาคเหนือ เมี่ยงโดยทั่วไป นิยมกินหรืออมเพื่อความกระชุ่มกระชวยทำให้เกิดความเพลิดเพลิน นอกจากเมี่ยงแล้วเมื่อมากำแพงเพชร คนส่วนใหญ่จะนึกถึงกล้วยไข่กำแพงเพชร เนื่องจากกล้วยไข่ของจังหวัดกำแพงเพชรนั้น มีลักษณะเด่นที่ลูกเล็กกำลังดี มีกลิ่นหอมและรสชาติหวาน แขกบ้านแขกเมืองจึงนิยมนำกล้วยไข่ไปเป็นของฝาก สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อนพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรมีการปลูกกล้วยไข่อยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมีกล้วยสุกเป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงคิดหาวิธีที่จะนำกล้วยมาทำเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ เพื่อให้คนในครอบครัวไม่เกิดความเบื่อหน่ายจากการรับประทานอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ ก่อเกิดเป็นแกงหยวกกล้วยไข่ในปัจจุบัน เพื่อให้เข้าใจที่มาและลักษณะเฉพาะของอาหารพื้นถิ่นทั้ง 2 ชนิดผู้เขียนจึงบรรยายแยกข้อมูลออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมี่ยงนครชุมและแกงหยวกกล้วยไข่ตามลำดับดังนี้

เนื้อหา

ข้อมูลทั่วไป เมี่ยงนครชุม[แก้ไข]

ชื่ออาหาร[แก้ไข]

         เมี่ยงคำหรือเมี่ยงลาว

ชื่อเรียกอื่น ๆ[แก้ไข]

         ข้าวตังเมี่ยงลาว

แหล่ง/ถิ่นอาหาร[แก้ไข]

         ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร

ประเภทอาหาร[แก้ไข]

         อาหารว่าง, ของทานเล่น

ผู้คิดค้น[แก้ไข]

         คุณยายบาง
1 ร้านคุณยายบาง เมี่ยงนครชุมดั้งเดิม.jpg

ภาพที่ 1 ร้านคุณยายบาง เมี่ยงนครชุมดั้งเดิม

ข้อมูลจำเพาะ[แก้ไข]

ประวัติความเป็นมา[แก้ไข]

         เมี่ยงนครชุมที่นิยมทำกันมีอยู่ 2 ลักษณะคือ เมี่ยงลาวและเมี่ยงคำ เพราะประชากรส่วนหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากภาคอีสานและภาคเหนือ จึงได้มีการนำเอาวิถีชีวิตดั้งเดิมติดตัวเมื่อย้ายถิ่นฐานมาด้วย
         เมี่ยงลาว เป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมของทางภาคเหนือ เมี่ยงโดยทั่วไป นิยมกินหรืออมเพื่อความกระชุ่มกระชวยทำให้เกิดความเพลิดเพลินหรือแก้เปรี้ยวปาก ชาวเหนือส่วนใหญ่จะติดใบเมี่ยง ถ้าไม่ได้อมจะง่วงนอน หรือง่วงซึม ใบเมี่ยงทํามาจากใบชาป่า หรือใบชา นํามาหมัก เพื่อใช้กินกับเกลือหรือกินกับแคบหมู ประชาชนในสมัยโบราณถือเป็นอาหารสําหรับอมเป็นหลักในทุกผู้คนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ปัจจุบันนี้การอมใบเมี่ยงไม่นิยมกันแล้วและมีการพัฒนามาเป็นเมี่ยงที่มีไส้แตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัดแต่ละท้องถิ่น ในจังหวัดกําแพงเพชรล้วนมีร้านเมี่ยง ตามแบบฉบับกําแพงเพชรที่ไม่ซ้ำกับท้องถิ่นใด เมี่ยงจึงกลายเป็นอาหารกินเล่น ๆ ในแต่ละบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานศพ  เมี่ยงนครชุมจะถูกใช้เป็นของรับแขกในทุกงาน จนกลายเป็นประเพณีประจําเมืองกําแพงเพชรในปัจจุบันเมี่ยงนครชุม นับว่าเป็นภูมิปัญญาที่ไม่มีวันที่จะสาบสูญไปจากกําแพงเพชร เพราะชาวกําแพงเพชรส่วนใหญ่ยังนิยมกินเมี่ยงเป็นอาหารว่างกันอยู่เกือบทุกครัวเรือน 
         เมี่ยงคำ เป็นอาหารว่างที่มีมานาน พบในบทพระราชนิพนธ์ "กาพย์เห่ชมเครื่องว่าง" ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นิยมใช้เป็นอาหารสำหรับการสังสรรค์ ปิกนิกในครอบครัว หรือในหมู่เพื่อนฝูง ประกอบไปด้วยเครื่องเมี่ยงและน้ำเมี่ยง ได้แก่ มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้ง ขิง ถั่วลิสงคั่ว หอมแดง มะนาว และพริกขี้หนู ส่วนที่เป็นน้ำเมี่ยงประกอบด้วย น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา กะปิ กุ้งแห้งป่น ผักที่ใช้ห่อ ได้แก่ ใบทองหลาง และใบชะพลู

สรรพคุณ[แก้ไข]

         เมี่ยงลาว เป็นอาหารว่างที่จัดว่ามีความครบถ้วนของสารอาหารหลัก ได้แก่ โปรตีนจากหมูสับ กุ้งแห้งและถั่วลิสง ไขมันจากน้ำมันพืชที่ใช้ทอดและผัดไส้เมี่ยง และได้ใยอาหารจากผักอยู่บ้างเล็กน้อย การกินข้าวตังเมี่ยงลาวเป็นอาหารว่างก็จะได้สารอาหารสมดุลที่ดี 
         เมี่ยงคำ และได้ใยอาหารจากผักอยู่บ้างเล็กน้อย การกินข้าวตังเมี่ยงลาวเป็นอาหารว่างก็จะได้สารอาหารสมดุลที่ดี ดังนี้ มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสงคั่ว จัดเป็นสมุนไพรรสมัน ช่วยบำรุงไขข้อและบำรุงเส้นเอ็น ใบชะพลู ขิง หัวหอม พริก ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ป้องกันอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร เสริมธาตุลมและธาตุไฟ มะนาวทั้งเปลือกมีรสเปรี้ยวขม ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอช่วยให้ชุ่มคอ เสริมธาตุน้ำในร่างกาย น้ำจิ้มมีรสหวานรสเค็ม ช่วยบำรุงธาตุดิน และเมี่ยงคำยังเป็นของว่างที่ให้ใยอาหารค่อนข้างดี จึงมีประโยชน์ต่อระบบขับถ่ายของร่างกายอีกด้วย

ข้อมูลประกอบอาหาร[แก้ไข]

เครื่องปรุง[แก้ไข]

         ก. เมี่ยงลาว มีเครื่องปรุงทั้งหมด 12  ชนิดดังต่อไปนี้ 
             1. ใบผักกาดดอง   2. น้ำมันพืชสำหรับผัดผักกาดดอง   3. น้ำปลา   4. น้ำตาล   5. น้ำมะขามเปียกคั้นข้นปานกลาง   6. เนื้อหมูสับละเอียด
             7. กุ้งแห้งป่น	  8. หอมเจียว   9. กระเทียมเจียว   10 พริกขี้หนู   11. ถั่วลิสง   12. มะพร้าวคั่ว
         ดังรูปที่ 2-7
2 ผักกาดดองและน้ำมันพืช.jpg

ภาพที่ 2 ผักกาดดองและน้ำมันพืช

3 น้ำปลาและน้ำตาลทราย.jpg

ภาพที่ 3 น้ำปลาและน้ำตาลทราย

4 เตรียมมะขามเปียกและเนื้อหมูสับละเอียด.jpg

ภาพที่ 4 เตรียมมะขามเปียกและเนื้อหมูสับละเอียด

5 เตรียมกุ้งแห้งแบบป่นและหอมเจียว.jpg

ภาพที่ 5 เตรียมกุ้งแห้งแบบป่นและหอมเจียว

6 กระเทียมเจียวและพริกขี้หนู.jpg

ภาพที่ 6 กระเทียมเจียวและพริกขี้หนู

7 ถั่วลิสงคั่วและมะพร้าวคั่ว.jpg

ภาพที่ 7 ถั่วลิสงคั่วและมะพร้าวคั่ว

         ข. เมี่ยงคำ มีเครื่องปรุงทั้งหมด 6  ชนิดดังต่อไปนี้ 
             1. น้ำตาลมะพร้าว   2. น้ำเปล่า   3. ถั่วลิสงโขลก   4. กะปิ   5. น้ำปลา   6. มะพร้าวคั่ว
         ดังรูปที่ 8-10		
8 น้ำตาลมะพร้าวและน้ำเปล่า.jpg

ภาพที่ 8 น้ำตาลมะพร้าวและน้ำเปล่า

9 กะปิและน้ำปลา.jpg

ภาพที่ 9 กะปิและน้ำปลา

10 ถั่วลิสงโขลกและมะพร้าวคั่ว.jpg

ภาพที่ 10 ถั่วลิสงโขลกและมะพร้าวคั่ว

         ค. เครื่องเมี่ยง สำหรับเครื่องเมี่ยงนี้ นิยมใช้ทั้งเมี่ยงคำและเมี่ยงลาว โดยส่วนประกอบหลักๆ จะมี ใบชะพลู กุ้งแห้ง มะพร้าวซอยคั่ว ขิง หอม และพริก ลักษณะการทำส่วนใหญ่จะเน้นความสวยงามสำหรับใช้ในการแสดงสินค้า งานศิลปะและวัฒนธรรม เช่น การหั่นให้เป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า ดังรูปที่ 11-13
11 ใบชะพลูและมะนาวหั่นแว่น.jpg

ภาพที่ 11 ใบชะพลูและมะนาวหั่นแว่น

12 กุ้งแห้งและขิง.jpg

ภาพที่ 12 กุ้งแห้งและขิง

13 หอมแดงและพริกขี้หนูซอย.jpg

ภาพที่ 13 หอมแดงและพริกขี้หนูซอย

ขั้นตอนการปรุง[แก้ไข]

         เมี่ยงลาวและเมี่ยงคำมีวิธีการทำที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยมีวิธีการทำดังนี้
         เมี่ยงลาว
             1. ผัดใบผักกาดดองกับน้ำมันให้ร้อนทั่วกัน
             2. ผสมนํ้าปลา นํ้าตาล นํ้ามะขามเปียก นำไปเคี่ยวในกระทะจนข้นและเหนียว ใส่หมู กุ้งแห้ง หอมเจียว กระเทียมเจียว ขิง ถั่วลิสง มะพร้าว เคี่ยวให้เหนียวพอปั้นได้
             3. ปั้นเป็นรูปกลมเล็ก ๆ ห่อด้วยใบผักกาด เป็นรูปกลม
             4. จัดเมี่ยงลาวเรียงให้สวยงาม โรยพริกขี้หนูสดในจาน
         เมี่ยงคำ 
             1. เคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว กับน้ำ ไฟกลาง หมั่นคน ระวังไหม้ 
             2. เคี่ยวน้ำตาลได้ที่ อย่าให้เหนียวมาก เพราะเย็นแล้วจะเหนียวขึ้นอีก 
             3. ใส่กะปิ น้ำปลา ชิมรสตามชอบ 
             4. ใส่ ถั่วลิสงคั่วโขลก มะพร้าวคั่วโขลก คนเข้ากัน พักให้เย็น จะข้นขึ้นอีก 
             5. เตรียมเครื่องเมี่ยงให้พร้อม 

การรับประทาน[แก้ไข]

         เมี่ยงลาว นำไส้ปั้นเป็นก้อนกลม ใช้ใบผักกาดดองห่อไส้เป็นก้อนกลม ๆ แกล้มด้วย พริกขี้หนูสวน
         เมี่ยงคำ จัดใบชะพลู ใส่จานวางเครื่องปรุงทุกอย่างบนใบชะพลู ตักน้ำเมี่ยงหยอดห่อเป็นคำ ๆ ทีนี้ก็ม้วนแล้วเอาเข้าปาก

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         13 ธันวาคม 2563

วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         19 ธันวาคม 2563

ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]

         1. นายวุฒิชัย  ตรุษลักษณ์
         2. นางสาวพินทุมาศ  กว้างปัญญา  
         3. นางสาววิรัลยุพา  กิจไพบูลย์สิน  
         4. นางสาวจุฑามาศ  ฝอยทอง  
         5. นางสาวนิลาวัลย์  จีนามูล  

คำสำคัญ[แก้ไข]

         เมี่ยงกำแพงเพชร, เมี่ยงลาว, เมี่ยงนครชุม

ข้อมูลทั่วไป แกงหยวกกล้วยไข่[แก้ไข]

ชื่ออาหาร[แก้ไข]

         แกงหยวกกล้วย

ชื่อเรียกอื่น ๆ[แก้ไข]

         แกงหยวกกล้วยไข่, แกงกล้วยไข่

แหล่ง/ถิ่นอาหาร[แก้ไข]

         ตำบลลานดอกไม้ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

ประเภทอาหาร[แก้ไข]

         อาหารคาว

ผู้คิดค้น[แก้ไข]

         ป้าเช้า คงบุญ

ข้อมูลจำเพาะ[แก้ไข]

ประวัติความเป็นมาของแกงหยวก[แก้ไข]

         "แกงหยวกกล้วย" เป็นแกงโบราณที่มีมานาน ซึ่งคนในสมัยก่อนมองเห็นความสำคัญ ของหยวกกล้วย เพราะเชื่อว่าสามารถนำมารับประทานได้ จึงนำหยวกกล้วยมาประกอบอาหาร นับแต่นั้นมาแกงหยวกกล้วย จึงเป็นที่นิยมและทำตามงานต่าง ๆ เช่น งานบุญ งานบวช แต่มีข้อยกเว้น คือไม่นิยมทำในงานศพ เพราะเชื่อว่าถ้าทำแกงหยวกกล้วยในงานศพจะทำให้ญาติที่ยังมีชีวิตอยู่มีเยื่อใยต่อศพหรือผู้ที่จากไปแล้ว เหมือนใยของหยวกกล้วยและจะทำให้ญาติที่ยังมีชีวิตตายต่อ ๆ กันด้วย "แกวหยวกกล้วย" เป็นอาหารคาวประเภท แกง เป็นแกงที่ใช้หยวกกล้วยแทนจึงมีรสเผ็ด มัน เค็มเล็กน้อย สามารถหารับประทานได้ตลอดทั้งปี
         ประวัติวามเป็นมาของแกงหยวกกล้วยไข่ ตำบลลานดอกไม้
         แกงหยวกกล้วยไข่ ตำบลลานดอกไม้สมัยก่อนในหมู่บ้านไม่มีตลาดนัด ไม่มีร้านขายของ ชาวบ้านจึงทำอาหารกินเองโดยใช้วัตถุดิบที่มีในหมู่บ้านมาประกอบอาหาร เนื่องจากกล้วยไข่เป็นทั้งอาหารและผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดกำแพงเพชรเพราะมีอยู่มาก ไปที่ใดในจังหวัดกำแพงเพชรก็มักจะเจอกล้วยไข่ เมื่อกล้วยไข่มีเป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงนำกล้วยไข่มาประกอบอาหารเพื่อทำเป็นกับข้าว บางส่วนก็นำไปทำเป็นขนมหวานไว้รับประทานในครัวเรือน จากการลองนำกล้วยไข่มาทำเป็นอาหารคาว หรือแกงกล้วยไข่นั้น จึงมีการนำกล้วยไข่มาทำเป็นอาหารตั้งแต่ในสมัยนั้นเป็นต้นมา โดยนิยมนำมาทำแกงหยวกกล้วยไข่มากที่สุด เนื่องจากกล้วยไข่จะมีรสหวานตัดกับความเค็มของกะทิ กลายเป็นอาหารโบราณประจำถิ่นมาจนถึงปัจจุบัน 

สรรพคุณ[แก้ไข]

         สรรพคุณของหยวกกล้วย
         ช่วยให้ระบบขับถ่ายปัสสาวะเป็นปรกติ ล้างตับ ไต ไส้พุง สารพิษต่าง ๆ ภายในร่างกายผ่านทางปัสสาวะ ทั้งยังช่วยละลายนิ่วในไต ถุงน้ำดีและต่อมลูกหมาก หยวกกล้วย เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่หลายคนอาจไม่ค่อยนึกถึง ซึ่งแท้จริงแล้วหยวกกล้วยมีประโยชน์มากมาย และเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค เพราะหยวกกล้วย คือ ต้นกล้วยอ่อนนำมาเลาะเอาเปลือกนอกออกใช้เฉพาะแกนอ่อน ๆ หยวกกล้วย แม้จะมีวิตามินไม่มากแต่ก็ประกอบด้วยใยอาหาร นอกจากนี้ยังมีเบต้าแคโรทีน ซึ่งมีบทบาทช่วยดูดซับสิ่งสกปรกและสารพิษจากลำไส้ กระเพาะอาหารและมีธาตุเหล็กที่ช่วยกระตุ้นการผลิต ฮีโมโกลบิลในเลือดจากสภาวะโลหิตจาง นอกจากนั้น ยังช่วยบรรเทาอาการเสียดท้อง และป้องกันโรคลำไล้เป็นแผล เป็นต้น
         หยวกกล้วย ทำอะไรได้บ้าง
         หยวกกล้วย คือ แกนในสุดของต้นกล้วย เป็นส่วนที่อ่อนที่สุด หยวกที่นำมาทำแกงมาจากต้นกล้วยนางที่ยังไม่ออกปลี ออกเครือ (ออกลูก) ต้องตัดมาทั้งต้น ตัดส่วนยอดและส่วนโคนทิ้ง แล้วผ่าเลาะกาบกล้วยออกจนถึงแกนในสุด ให้เหลือเฉพาะกาบอ่อนด้านในและก่อนที่จะนำมาทำอาหาร ต้องนำมาหั่นตามขวาง หรือตามยาวเป็นชี้นขนาดพอคำ แช่น้ำให้ท่วม หยวกที่แช่นํ้าไว้เพื่อพันเอาใย เหนียว ๆ ของหยวกออกก่อนให้หมด (ใยหยวกกล้วยมีลักษณะคล้าย ๆ ใยของสายบัว) หรืออาจใช้มือค่อย ๆ ดึงหรือสาวใยออกก็ได้ เมื่อจะนำไปทำอาหารค่อยล้างให้สะอาด ทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำเพื่อนำมาทำอาหารใส่แทนผักในแกงเผ็ด แกงคั่ว แกงส้ม ต้มข่าไก่ ต้มกะทิ เป็นต้น ซึ่งหยวกกล้วยน้ำว้า คือ หยวกกล้วยที่คนนิยมนำมาปรุงอาหารมากที่สุด
         สรรพคุณของกล้วยไข่
         กล้วยไข่มีสรรพคุณมากมายทั้งในด้านการบำรุงและการรักษาโรค อาทิ ท้องผูก เสียดท้อง ป้องกันโรคซึมเศร้าและรักษาสมดุลในร่างกาย 
             1. รักษาอาการท้องผูก มีปริมาณเส้นใยและกากอาหารมากจึงช่วยในการขับถ่ายให้เป็นปกติและยังสามารถเป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูกได้
             2. แก้อาการเสียดท้อง เนื่องจากกล้วยไข่มีสารชนิดหนึ่งซึ่งมีส่วนช่วยลดกรดตามธรรมชาติช่วยให้คลายอาการเสียดท้องได้
             3. ป้องกันโรคโลหิตจาง เนื่องจากกล้วยไข่มีธาตุเหล็กสูงจึงช่วยกระตุ้นการผลิตฮีโมโกลบินและบรรเทาภาวะโลหิตจางได้
             4. ลดอันตรายจากความดันโลหิตสูง เพราะมีสารโพแทสเซียมสูง ในขณะเดียวกันก็มีเกลือต่ำจึงจัดเป็นอาหารที่ช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ 
             5. ป้องกันโรคซึมเศร้า จากการสำรวจจำนวนผู้ป่วยที่มีความทุกข์จากการเป็นโรคซึมเศร้าหลายคน พบว่า ผู้ป่วยมีความรู้สึกที่ดีมากขึ้นหลังจากได้รับประทานกล้วยไข่ เนื่องจากกล้วยไข่ มีโปรตีนชนิดทริปโตเฟนชึ่งเป็นสารที่เมื่อร่างกายได้รับจะถูกเปลี่ยนเป็นเซโรโทบิน ซึ่งเปรียบดั่งสาร  ที่สร้างความผ่อนคลายและช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น
             6. ปรับสมดุลของระดับโพแทสเซียม อุดมไปด้วยสารโพแทสเซียมซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้การเต้นของหัวใจอยู่ในจังหวะปกติ ช่วยในการส่งออกซิเจนไปยังสมองและปรับระดับน้ำในร่างกาย ช่วงเวลาที่ร่างกายเผชิญกับความเครียดจะทำให้อัตราของ metabolic สูงขึ้น ระดับของโพแทสเซียมลดลง แต่เมื่อรับประทานกล้วยไข่เข้าไปจะทำให้ร่างกายได้รับโพแทสเซียมเพิ่มขึ้นจึงช่วยปรับสมดุลของโพแทสเซียมให้อยู่ในภาวะปกติได้
             7. ลดอันตรายจากเส้นเลือดฝอยแตก งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้ลงในวารสาร “The New England Journal of Medicine” ได้กล่าวว่า การรับประทานกล้วยไข่ทุกวันจะสามารถลดอันตรายที่อาจจะเกิดกับเส้นโลหิตแตก ได้ถึง 40% 
             8. ฟื้นฟูร่างกายหลังจากเลิกสูบบุหรี่ การรับประทานกล้วยไข่มีส่วนช่วยในการเลิกสูบบุหรี่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปริมาณของวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 รวมทั้งสารโพแทสเซียมและแมกนีเซียมที่อุดมอยู่ในกล้วยไข่มีส่วนช่วยทำให้ร่างกายฟื้นตัวหลังเลิกบุหรี่ได้อย่างรวดเร็ว เพราะหากร่างกายขาดนิโคตินอาจมีอาการกระวนกระวาย อารมณ์หงุดหงิดแปรปรวน แต่การรับประทานกล้วยทุกครั้งที่อยากสูบบุหรี่จะช่วยลดอาการดังกล่าวลงได้จึงช่วยให้การเลิกบุหรี่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
             9. ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นลงได้ ในประเทศไทยมักจะแนะนำให้ผู้หญิงที่กำลังทั้งครรภ์รับประทานกล้วยไข่ทุกวันเพื่อช่วยให้ทารกมีอุณหภูมิของร่างกายที่เหมาะสม
             10. ช่วยรักษาแผลในลำไส้ กล้วยไข่ คือ อาหารที่แพทย์เลือกใช้ในการควบคุมและต้านการเกิดโรคลำไส้เป็นแผลเพราะสามารถรับประทานได้ง่าย เนื้อกล้วยมีความอ่อนนิ่มพอดี อีกทั้งกล้วยยังเป็นผลไม้ที่มีสภาพเป็นกลางจึงทำให้สามารถลดการระคายเคือง พร้อมทั้งยังช่วยเคลือบผนังลำไส้และกระเพาะอาหารได้อีกด้วย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคลำไส้เรื้อรังก็สามารถทานกล้วย เพื่อรักษาอาการได้

ข้อมูลประกอบอาหาร[แก้ไข]

เครื่องปรุงและส่วนผสม[แก้ไข]

         เครื่องปรุงเครื่องแกงหยวกกล้วยไข่ ตำบล ลานดอกไม้ จังหวัดกำแพงเพชรประกอบไปด้วยส่วนผสมหลักๆ ดังนี้
             1. หยวกกล้วยไข่  2. กะปิ  3. กุ้งแห้ง  4. เกลือ  5. กะทิ  6. น้ำเปล่า  7. หอมแดง  8. ขมิ้น  9. ถั่วเหลืองคั่ว	
ภาพที่ 1 เครื่องปรุงและส่วนผสม-vert.jpg

ภาพที่ 1 เครื่องปรุงและส่วนผสมของแกงหยวกกล้วยไข่

ขั้นตอนการทำ[แก้ไข]

         1. หั่นหยวกกล้วยเป็นชิ้นพอดีคำ สาวใยกล้วยออกและนำหยวกแช่นํ้ามะขามเปียก เพื่อป้องกันไม่ให้หยวกกล้วยมีสีคล้ำลง
ภาพที่ 2 การหั่นหยวกกล้วยและแช่น้ำมะขาม.jpg

ภาพที่ 2 การหั่นหยวกกล้วยและแช่น้ำมะขามเพื่อป้องกันไม่ให้หยวกกล้วยดำ

         2. ปั่นหรือตำปลาย่างให้ป่น 
ภาพที่ 3 ปลาย่างปั่นละเอียด.jpg

ภาพที่ 3 ปลาย่างปั่นละเอียด

         3. คั่วถั่วเหลืองให้หอมและนำถั่วเหลืองที่คั่วไปแช่น้ำ ตั้งหัวกะทิเคี่ยวพอแตกมัน ใส่พริกแกงพร้อมปลาย่างลงไป 
ภาพที่ 4 การคั่วถั่วเหลืองและการเคี่ยวกะทิ.jpg

ภาพที่ 4 การคั่วถั่วเหลืองและการเคี่ยวกะทิ

         4. เคี่ยวจนน้ำแกงเดือดเต็มที่ ใส่พริกแกง ตามด้วยหยวกกล้วยลงไป 
         5. พอเริ่มเดือดใส่ถั่วเหลืองคั่วและปลาย่างลงไป แล้วจึงเริ่มปรุงรส
ภาพที่ 5 การเคี่ยวพร้อมใส่ปลาย่าง.jpg

ภาพที่ 5 การเคี่ยวพร้อมใส่ปลาย่าง

         6. นำหางกะทิมาใส่และใส่เครื่องปรุงลงไป ใส่กล้วยไข่และนำชะอมมาใส่ในขั้นตอนสุดท้าย
ภาพที่ 6 การใส่หางกะทิ กล้วยไข่และชะอม.jpg

ภาพที่ 6 การใส่หางกะทิ กล้วยไข่และชะอม ลงไปเป็นขั้นตอนสุดท้าย

         7. พอสุกได้ที่แล้วใส่กล้วยไข่และชะอมลงไป เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยหรือข้าวเหนียวก็ได้
ภาพที่ 7 กล้วยหยวกกล้วยไข่ พร้อมรับประทาน.jpg

ภาพที่ 7 กล้วยหยวกกล้วยไข่ พร้อมรับประทาน

การรับประทาน[แก้ไข]

         รับประทานคู่กับข้าวสวยหรือข้าวเหนียวตามต้องการ

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         13 ธันวาคม 2563

วันปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         19 ธันวาคม 2563

ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]

         1. นายวุฒิชัย  ตรุษลักษณ์
         2. นางสาววรรณิกา คุ้มเณร  
         3. นายกิตติวัชน์  จันทร์เล็ก  
         4. นางสาวพัชรีวรรณ  เสื่อเนียม  
         5. นางสาวพิมพิศา  หาญอยู่  
         6. นางสาวสโรชา  ก้อนจันทร์เทศ  

คำสำคัญ[แก้ไข]

         กล้วยไข่, แกงกล้วยไข่, กำแพงเพชร