ฐานข้อมูล เรื่อง แกงหยวกกล้วยไข่กับเมี่ยงนครชุม พื้นดินถิ่นกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา
         อาหารประจำถิ่นประจำจังหวัดกำแพงเพชร หลายคนมักจะนึกถึงกล้วยไข่ กระยาสารท หรือแม้แต่เฉาก๊วย ซึ่งเป็นของฝากขึ้นชื่อประจำจังหวัดกำแพงเพชร แต่หากพูดถึงอาหารโบราณประจำถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน คงหนีไม่พ้นเมี่ยงนครชุมและแกงหยวกกล้วยไข่เพราะประชากรส่วนหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากภาคอีสานและภาคเหนือ จึงได้มีการนำเอาวิถีชีวิตดั้งเดิมติดตัวเมื่อย้ายถิ่นฐานมาด้วย โดยเฉพาะเมี่ยงลาว เป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมของทางภาคเหนือ เมี่ยงโดยทั่วไป นิยมกินหรืออมเพื่อความกระชุ่มกระชวยทำให้เกิดความเพลิดเพลิน นอกจากเมี่ยงแล้วเมื่อมากำแพงเพชร คนส่วนใหญ่จะนึกถึงกล้วยไข่กำแพงเพชร เนื่องจากกล้วยไข่ของจังหวัดกำแพงเพชรนั้น มีลักษณะเด่นที่ลูกเล็กกำลังดี มีกลิ่นหอมและรสชาติหวาน แขกบ้านแขกเมืองจึงนิยมนำกล้วยไข่ไปเป็นของฝาก สืบเนื่องมาจากในสมัยก่อนพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรมีการปลูกกล้วยไข่อยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อมีกล้วยสุกเป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงคิดหาวิธีที่จะนำกล้วยมาทำเป็นอาหารประเภทต่าง ๆ เพื่อให้คนในครอบครัวไม่เกิดความเบื่อหน่ายจากการรับประทานอาหารชนิดเดิมซ้ำ ๆ ก่อเกิดเป็นแกงหยวกกล้วยไข่ในปัจจุบัน เพื่อให้เข้าใจที่มาและลักษณะเฉพาะของอาหารพื้นถิ่นทั้ง 2 ชนิดผู้เขียนจึงบรรยายแยกข้อมูลออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เกี่ยวข้องกับเมี่ยงนครชุมและแกงหยวกกล้วยไข่ตามลำดับดังนี้

เนื้อหา

ข้อมูลทั่วไป เมี่ยงนครชุม

ชื่ออาหาร

         เมี่ยงคำหรือเมี่ยงลาว

ชื่อเรียกอื่น ๆ

         ข้าวตังเมี่ยงลาว

แหล่ง/ถิ่นอาหาร

         ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร

ประเภทอาหาร

         อาหารว่าง, ของทานเล่น

ผู้คิดค้น

         คุณยายบาง
1 ร้านคุณยายบาง เมี่ยงนครชุมดั้งเดิม.jpg

ภาพที่ 1 ร้านคุณยายบาง เมี่ยงนครชุมดั้งเดิม

ข้อมูลจำเพาะ

ประวัติความเป็นมา

         เมี่ยงนครชุมที่นิยมทำกันมีอยู่ 2 ลักษณะคือ เมี่ยงลาวและเมี่ยงคำ เพราะประชากรส่วนหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาจากภาคอีสานและภาคเหนือ จึงได้มีการนำเอาวิถีชีวิตดั้งเดิมติดตัวเมื่อย้ายถิ่นฐานมาด้วย
         เมี่ยงลาว เป็นอาหารอีกประเภทหนึ่งที่เป็นที่นิยมของทางภาคเหนือ เมี่ยงโดยทั่วไป นิยมกินหรืออมเพื่อความกระชุ่มกระชวยทำให้เกิดความเพลิดเพลินหรือแก้เปรี้ยวปาก ชาวเหนือส่วนใหญ่จะติดใบเมี่ยง ถ้าไม่ได้อมจะง่วงนอน หรือง่วงซึม ใบเมี่ยงทํามาจากใบชาป่า หรือใบชา นํามาหมัก เพื่อใช้กินกับเกลือหรือกินกับแคบหมู ประชาชนในสมัยโบราณถือเป็นอาหารสําหรับอมเป็นหลักในทุกผู้คนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ปัจจุบันนี้การอมใบเมี่ยงไม่นิยมกันแล้วและมีการพัฒนามาเป็นเมี่ยงที่มีไส้แตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัดแต่ละท้องถิ่น ในจังหวัดกําแพงเพชรล้วนมีร้านเมี่ยง ตามแบบฉบับกําแพงเพชรที่ไม่ซ้ำกับท้องถิ่นใด เมี่ยงจึงกลายเป็นอาหารกินเล่น ๆ ในแต่ละบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานศพ  เมี่ยงนครชุมจะถูกใช้เป็นของรับแขกในทุกงาน จนกลายเป็นประเพณีประจําเมืองกําแพงเพชรในปัจจุบันเมี่ยงนครชุม นับว่าเป็นภูมิปัญญาที่ไม่มีวันที่จะสาบสูญไปจากกําแพงเพชร เพราะชาวกําแพงเพชรส่วนใหญ่ยังนิยมกินเมี่ยงเป็นอาหารว่างกันอยู่เกือบทุกครัวเรือน 
         เมี่ยงคำ เป็นอาหารว่างที่มีมานาน พบในบทพระราชนิพนธ์ "กาพย์เห่ชมเครื่องว่าง" ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นิยมใช้เป็นอาหารสำหรับการสังสรรค์ ปิกนิกในครอบครัว หรือในหมู่เพื่อนฝูง ประกอบไปด้วยเครื่องเมี่ยงและน้ำเมี่ยง ได้แก่ มะพร้าวคั่ว กุ้งแห้ง ขิง ถั่วลิสงคั่ว หอมแดง มะนาว และพริกขี้หนู ส่วนที่เป็นน้ำเมี่ยงประกอบด้วย น้ำตาลปี๊บ น้ำปลา กะปิ กุ้งแห้งป่น ผักที่ใช้ห่อ ได้แก่ ใบทองหลาง และใบชะพลู

สรรพคุณ

         เมี่ยงลาว เป็นอาหารว่างที่จัดว่ามีความครบถ้วนของสารอาหารหลัก ได้แก่ โปรตีนจากหมูสับ กุ้งแห้งและถั่วลิสง ไขมันจากน้ำมันพืชที่ใช้ทอดและผัดไส้เมี่ยง และได้ใยอาหารจากผักอยู่บ้างเล็กน้อย การกินข้าวตังเมี่ยงลาวเป็นอาหารว่างก็จะได้สารอาหารสมดุลที่ดี 
         เมี่ยงคำ และได้ใยอาหารจากผักอยู่บ้างเล็กน้อย การกินข้าวตังเมี่ยงลาวเป็นอาหารว่างก็จะได้สารอาหารสมดุลที่ดี ดังนี้ มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสงคั่ว จัดเป็นสมุนไพรรสมัน ช่วยบำรุงไขข้อและบำรุงเส้นเอ็น ใบชะพลู ขิง หัวหอม พริก ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ป้องกันอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยย่อยอาหาร เสริมธาตุลมและธาตุไฟ มะนาวทั้งเปลือกมีรสเปรี้ยวขม ช่วยขับเสมหะ บรรเทาอาการไอช่วยให้ชุ่มคอ เสริมธาตุน้ำในร่างกาย น้ำจิ้มมีรสหวานรสเค็ม ช่วยบำรุงธาตุดิน และเมี่ยงคำยังเป็นของว่างที่ให้ใยอาหารค่อนข้างดี จึงมีประโยชน์ต่อระบบขับถ่ายของร่างกายอีกด้วย

ข้อมูลประกอบอาหาร

เครื่องปรุง

         ก. เมี่ยงลาว มีเครื่องปรุงทั้งหมด 12  ชนิดดังต่อไปนี้ 
             1. ใบผักกาดดอง   2. น้ำมันพืชสำหรับผัดผักกาดดอง   3. น้ำปลา   4. น้ำตาล   5. น้ำมะขามเปียกคั้นข้นปานกลาง   6. เนื้อหมูสับละเอียด
             7. กุ้งแห้งป่น	  8. หอมเจียว   9. กระเทียมเจียว   10 พริกขี้หนู   11. ถั่วลิสง   12. มะพร้าวคั่ว
         ดังรูปที่ 2-7
2 ผักกาดดองและน้ำมันพืช.jpg

ภาพที่ 2 ผักกาดดองและน้ำมันพืช

3 น้ำปลาและน้ำตาลทราย.jpg

ภาพที่ 3 น้ำปลาและน้ำตาลทราย

4 เตรียมมะขามเปียกและเนื้อหมูสับละเอียด.jpg

ภาพที่ 4 เตรียมมะขามเปียกและเนื้อหมูสับละเอียด

5 เตรียมกุ้งแห้งแบบป่นและหอมเจียว.jpg

ภาพที่ 5 เตรียมกุ้งแห้งแบบป่นและหอมเจียว

6 กระเทียมเจียวและพริกขี้หนู.jpg

ภาพที่ 6 กระเทียมเจียวและพริกขี้หนู

7 ถั่วลิสงคั่วและมะพร้าวคั่ว.jpg

ภาพที่ 7 ถั่วลิสงคั่วและมะพร้าวคั่ว

         ข. เมี่ยงคำ มีเครื่องปรุงทั้งหมด 6  ชนิดดังต่อไปนี้ 
             1. น้ำตาลมะพร้าว   2. น้ำเปล่า   3. ถั่วลิสงโขลก   4. กะปิ   5. น้ำปลา   6. มะพร้าวคั่ว
         ดังรูปที่ 8-10		
8 น้ำตาลมะพร้าวและน้ำเปล่า.jpg

ภาพที่ 8 น้ำตาลมะพร้าวและน้ำเปล่า

9 กะปิและน้ำปลา.jpg

ภาพที่ 9 กะปิและน้ำปลา

10 ถั่วลิสงโขลกและมะพร้าวคั่ว.jpg

ภาพที่ 10 ถั่วลิสงโขลกและมะพร้าวคั่ว

         ค. เครื่องเมี่ยง สำหรับเครื่องเมี่ยงนี้ นิยมใช้ทั้งเมี่ยงคำและเมี่ยงลาว โดยส่วนประกอบหลักๆ จะมี ใบชะพลู กุ้งแห้ง มะพร้าวซอยคั่ว ขิง หอม และพริก ลักษณะการทำส่วนใหญ่จะเน้นความสวยงามสำหรับใช้ในการแสดงสินค้า งานศิลปะและวัฒนธรรม เช่น การหั่นให้เป็นสี่เหลี่ยมลูกเต๋า ดังรูปที่ 11-13
11 ใบชะพลูและมะนาวหั่นแว่น.jpg

ภาพที่ 11 ใบชะพลูและมะนาวหั่นแว่น

12 กุ้งแห้งและขิง.jpg

ภาพที่ 12 กุ้งแห้งและขิง

13 หอมแดงและพริกขี้หนูซอย.jpg

ภาพที่ 13 หอมแดงและพริกขี้หนูซอย

ขั้นตอนการปรุง

         เมี่ยงลาวและเมี่ยงคำมีวิธีการทำที่ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยมีวิธีการทำดังนี้
         เมี่ยงลาว
             1. ผัดใบผักกาดดองกับน้ำมันให้ร้อนทั่วกัน
             2. ผสมนํ้าปลา นํ้าตาล นํ้ามะขามเปียก นำไปเคี่ยวในกระทะจนข้นและเหนียว ใส่หมู กุ้งแห้ง หอมเจียว กระเทียมเจียว ขิง ถั่วลิสง มะพร้าว เคี่ยวให้เหนียวพอปั้นได้
             3. ปั้นเป็นรูปกลมเล็ก ๆ ห่อด้วยใบผักกาด เป็นรูปกลม
             4. จัดเมี่ยงลาวเรียงให้สวยงาม โรยพริกขี้หนูสดในจาน
         เมี่ยงคำ 
             1. เคี่ยวน้ำตาลมะพร้าว กับน้ำ ไฟกลาง หมั่นคน ระวังไหม้ 
             2. เคี่ยวน้ำตาลได้ที่ อย่าให้เหนียวมาก เพราะเย็นแล้วจะเหนียวขึ้นอีก 
             3. ใส่กะปิ น้ำปลา ชิมรสตามชอบ 
             4. ใส่ ถั่วลิสงคั่วโขลก มะพร้าวคั่วโขลก คนเข้ากัน พักให้เย็น จะข้นขึ้นอีก 
             5. เตรียมเครื่องเมี่ยงให้พร้อม 

การรับประทาน

         เมี่ยงลาว นำไส้ปั้นเป็นก้อนกลม ใช้ใบผักกาดดองห่อไส้เป็นก้อนกลม ๆ แกล้มด้วย พริกขี้หนูสวน
         เมี่ยงคำ จัดใบชะพลู ใส่จานวางเครื่องปรุงทุกอย่างบนใบชะพลู ตักน้ำเมี่ยงหยอดห่อเป็นคำ ๆ ทีนี้ก็ม้วนแล้วเอาเข้าปาก

ข้อมูลการสำรวจ

วันเดือนปีที่สำรวจ

         13 ธันวาคม 2563

วันปรับปรุงข้อมูล

         19 ธันวาคม 2563

ผู้สำรวจข้อมูล

         1. นายวุฒิชัย  ตรุษลักษณ์
         2. นางสาวพินทุมาศ  กว้างปัญญา  
         3. นางสาววิรัลยุพา  กิจไพบูลย์สิน  
         4. นางสาวจุฑามาศ  ฝอยทอง  
         5. นางสาวนิลาวัลย์  จีนามูล  

คำสำคัญ

         เมี่ยงกำแพงเพชร, เมี่ยงลาว, เมี่ยงนครชุม

ข้อมูลทั่วไป แกงหยวกกล้วยไข่

ชื่ออาหาร

         แกงหยวกกล้วย

ชื่อเรียกอื่น ๆ

         แกงหยวกกล้วยไข่, แกงกล้วยไข่

แหล่ง/ถิ่นอาหาร

         ตำบลลานดอกไม้ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

ประเภทอาหาร

         อาหารคาว

ผู้คิดค้น

         ป้าเช้า คงบุญ

ข้อมูลจำเพาะ

ประวัติความเป็นมาของแกงหยวก

         "แกงหยวกกล้วย" เป็นแกงโบราณที่มีมานาน ซึ่งคนในสมัยก่อนมองเห็นความสำคัญ ของหยวกกล้วย เพราะเชื่อว่าสามารถนำมารับประทานได้ จึงนำหยวกกล้วยมาประกอบอาหาร นับแต่นั้นมาแกงหยวกกล้วย จึงเป็นที่นิยมและทำตามงานต่าง ๆ เช่น งานบุญ งานบวช แต่มีข้อยกเว้น คือไม่นิยมทำในงานศพ เพราะเชื่อว่าถ้าทำแกงหยวกกล้วยในงานศพจะทำให้ญาติที่ยังมีชีวิตอยู่มีเยื่อใยต่อศพหรือผู้ที่จากไปแล้ว เหมือนใยของหยวกกล้วยและจะทำให้ญาติที่ยังมีชีวิตตายต่อ ๆ กันด้วย "แกวหยวกกล้วย" เป็นอาหารคาวประเภท แกง เป็นแกงที่ใช้หยวกกล้วยแทนจึงมีรสเผ็ด มัน เค็มเล็กน้อย สามารถหารับประทานได้ตลอดทั้งปี
         ประวัติวามเป็นมาของแกงหยวกกล้วยไข่ ตำบลลานดอกไม้
         แกงหยวกกล้วยไข่ ตำบลลานดอกไม้สมัยก่อนในหมู่บ้านไม่มีตลาดนัด ไม่มีร้านขายของ ชาวบ้านจึงทำอาหารกินเองโดยใช้วัตถุดิบที่มีในหมู่บ้านมาประกอบอาหาร เนื่องจากกล้วยไข่เป็นทั้งอาหารและผลไม้ที่ขึ้นชื่อของจังหวัดกำแพงเพชรเพราะมีอยู่มาก ไปที่ใดในจังหวัดกำแพงเพชรก็มักจะเจอกล้วยไข่ เมื่อกล้วยไข่มีเป็นจำนวนมากชาวบ้านจึงนำกล้วยไข่มาประกอบอาหารเพื่อทำเป็นกับข้าว บางส่วนก็นำไปทำเป็นขนมหวานไว้รับประทานในครัวเรือน จากการลองนำกล้วยไข่มาทำเป็นอาหารคาว หรือแกงกล้วยไข่นั้น จึงมีการนำกล้วยไข่มาทำเป็นอาหารตั้งแต่ในสมัยนั้นเป็นต้นมา โดยนิยมนำมาทำแกงหยวกกล้วยไข่มากที่สุด เนื่องจากกล้วยไข่จะมีรสหวานตัดกับความเค็มของกะทิ กลายเป็นอาหารโบราณประจำถิ่นมาจนถึงปัจจุบัน 

สรรพคุณ

         สรรพคุณของหยวกกล้วย
         ช่วยให้ระบบขับถ่ายปัสสาวะเป็นปรกติ ล้างตับ ไต ไส้พุง สารพิษต่าง ๆ ภายในร่างกายผ่านทางปัสสาวะ ทั้งยังช่วยละลายนิ่วในไต ถุงน้ำดีและต่อมลูกหมาก หยวกกล้วย เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่หลายคนอาจไม่ค่อยนึกถึง ซึ่งแท้จริงแล้วหยวกกล้วยมีประโยชน์มากมาย และเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค เพราะหยวกกล้วย คือ ต้นกล้วยอ่อนนำมาเลาะเอาเปลือกนอกออกใช้เฉพาะแกนอ่อน ๆ หยวกกล้วย แม้จะมีวิตามินไม่มากแต่ก็ประกอบด้วยใยอาหาร นอกจากนี้ยังมีเบต้าแคโรทีน ซึ่งมีบทบาทช่วยดูดซับสิ่งสกปรกและสารพิษจากลำไส้ กระเพาะอาหารและมีธาตุเหล็กที่ช่วยกระตุ้นการผลิต ฮีโมโกลบิลในเลือดจากสภาวะโลหิตจาง นอกจากนั้น ยังช่วยบรรเทาอาการเสียดท้อง และป้องกันโรคลำไล้เป็นแผล เป็นต้น
         หยวกกล้วย ทำอะไรได้บ้าง
         หยวกกล้วย คือ แกนในสุดของต้นกล้วย เป็นส่วนที่อ่อนที่สุด หยวกที่นำมาทำแกงมาจากต้นกล้วยนางที่ยังไม่ออกปลี ออกเครือ (ออกลูก) ต้องตัดมาทั้งต้น ตัดส่วนยอดและส่วนโคนทิ้ง แล้วผ่าเลาะกาบกล้วยออกจนถึงแกนในสุด ให้เหลือเฉพาะกาบอ่อนด้านในและก่อนที่จะนำมาทำอาหาร ต้องนำมาหั่นตามขวาง หรือตามยาวเป็นชี้นขนาดพอคำ แช่น้ำให้ท่วม หยวกที่แช่นํ้าไว้เพื่อพันเอาใย เหนียว ๆ ของหยวกออกก่อนให้หมด (ใยหยวกกล้วยมีลักษณะคล้าย ๆ ใยของสายบัว) หรืออาจใช้มือค่อย ๆ ดึงหรือสาวใยออกก็ได้ เมื่อจะนำไปทำอาหารค่อยล้างให้สะอาด ทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำเพื่อนำมาทำอาหารใส่แทนผักในแกงเผ็ด แกงคั่ว แกงส้ม ต้มข่าไก่ ต้มกะทิ เป็นต้น ซึ่งหยวกกล้วยน้ำว้า คือ หยวกกล้วยที่คนนิยมนำมาปรุงอาหารมากที่สุด
         สรรพคุณของกล้วยไข่
         กล้วยไข่มีสรรพคุณมากมายทั้งในด้านการบำรุงและการรักษาโรค อาทิ ท้องผูก เสียดท้อง ป้องกันโรคซึมเศร้าและรักษาสมดุลในร่างกาย 
             1. รักษาอาการท้องผูก มีปริมาณเส้นใยและกากอาหารมากจึงช่วยในการขับถ่ายให้เป็นปกติและยังสามารถเป็นยาระบาย แก้อาการท้องผูกได้
             2. แก้อาการเสียดท้อง เนื่องจากกล้วยไข่มีสารชนิดหนึ่งซึ่งมีส่วนช่วยลดกรดตามธรรมชาติช่วยให้คลายอาการเสียดท้องได้
             3. ป้องกันโรคโลหิตจาง เนื่องจากกล้วยไข่มีธาตุเหล็กสูงจึงช่วยกระตุ้นการผลิตฮีโมโกลบินและบรรเทาภาวะโลหิตจางได้
             4. ลดอันตรายจากความดันโลหิตสูง เพราะมีสารโพแทสเซียมสูง ในขณะเดียวกันก็มีเกลือต่ำจึงจัดเป็นอาหารที่ช่วยลดความดันโลหิตสูงได้ 
             5. ป้องกันโรคซึมเศร้า จากการสำรวจจำนวนผู้ป่วยที่มีความทุกข์จากการเป็นโรคซึมเศร้าหลายคน พบว่า ผู้ป่วยมีความรู้สึกที่ดีมากขึ้นหลังจากได้รับประทานกล้วยไข่ เนื่องจากกล้วยไข่ มีโปรตีนชนิดทริปโตเฟนชึ่งเป็นสารที่เมื่อร่างกายได้รับจะถูกเปลี่ยนเป็นเซโรโทบิน ซึ่งเปรียบดั่งสาร  ที่สร้างความผ่อนคลายและช่วยปรับอารมณ์ให้ดีขึ้น
             6. ปรับสมดุลของระดับโพแทสเซียม อุดมไปด้วยสารโพแทสเซียมซึ่งมีคุณสมบัติช่วยให้การเต้นของหัวใจอยู่ในจังหวะปกติ ช่วยในการส่งออกซิเจนไปยังสมองและปรับระดับน้ำในร่างกาย ช่วงเวลาที่ร่างกายเผชิญกับความเครียดจะทำให้อัตราของ metabolic สูงขึ้น ระดับของโพแทสเซียมลดลง แต่เมื่อรับประทานกล้วยไข่เข้าไปจะทำให้ร่างกายได้รับโพแทสเซียมเพิ่มขึ้นจึงช่วยปรับสมดุลของโพแทสเซียมให้อยู่ในภาวะปกติได้
             7. ลดอันตรายจากเส้นเลือดฝอยแตก งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ได้ลงในวารสาร “The New England Journal of Medicine” ได้กล่าวว่า การรับประทานกล้วยไข่ทุกวันจะสามารถลดอันตรายที่อาจจะเกิดกับเส้นโลหิตแตก ได้ถึง 40% 
             8. ฟื้นฟูร่างกายหลังจากเลิกสูบบุหรี่ การรับประทานกล้วยไข่มีส่วนช่วยในการเลิกสูบบุหรี่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากปริมาณของวิตามินเอ วิตามินซี วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 รวมทั้งสารโพแทสเซียมและแมกนีเซียมที่อุดมอยู่ในกล้วยไข่มีส่วนช่วยทำให้ร่างกายฟื้นตัวหลังเลิกบุหรี่ได้อย่างรวดเร็ว เพราะหากร่างกายขาดนิโคตินอาจมีอาการกระวนกระวาย อารมณ์หงุดหงิดแปรปรวน แต่การรับประทานกล้วยทุกครั้งที่อยากสูบบุหรี่จะช่วยลดอาการดังกล่าวลงได้จึงช่วยให้การเลิกบุหรี่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
             9. ช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายเย็นลงได้ ในประเทศไทยมักจะแนะนำให้ผู้หญิงที่กำลังทั้งครรภ์รับประทานกล้วยไข่ทุกวันเพื่อช่วยให้ทารกมีอุณหภูมิของร่างกายที่เหมาะสม
             10. ช่วยรักษาแผลในลำไส้ กล้วยไข่ คือ อาหารที่แพทย์เลือกใช้ในการควบคุมและต้านการเกิดโรคลำไส้เป็นแผลเพราะสามารถรับประทานได้ง่าย เนื้อกล้วยมีความอ่อนนิ่มพอดี อีกทั้งกล้วยยังเป็นผลไม้ที่มีสภาพเป็นกลางจึงทำให้สามารถลดการระคายเคือง พร้อมทั้งยังช่วยเคลือบผนังลำไส้และกระเพาะอาหารได้อีกด้วย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคลำไส้เรื้อรังก็สามารถทานกล้วย เพื่อรักษาอาการได้

ข้อมูลประกอบอาหาร

เครื่องปรุงและส่วนผสม

         เครื่องปรุงเครื่องแกงหยวกกล้วยไข่ ตำบล ลานดอกไม้ จังหวัดกำแพงเพชรประกอบไปด้วยส่วนผสมหลักๆ ดังนี้
             1. หยวกกล้วยไข่  2. กะปิ  3. กุ้งแห้ง  4. เกลือ  5. กะทิ  6. น้ำเปล่า  7. หอมแดง  8. ขมิ้น  9. ถั่วเหลืองคั่ว	
ภาพที่ 1 เครื่องปรุงและส่วนผสม-vert.jpg

ภาพที่ 1 เครื่องปรุงและส่วนผสมของแกงหยวกกล้วยไข่

ขั้นตอนการทำ

         1. หั่นหยวกกล้วยเป็นชิ้นพอดีคำ สาวใยกล้วยออกและนำหยวกแช่นํ้ามะขามเปียก เพื่อป้องกันไม่ให้หยวกกล้วยมีสีคล้ำลง
ภาพที่ 2 การหั่นหยวกกล้วยและแช่น้ำมะขาม.jpg

ภาพที่ 2 การหั่นหยวกกล้วยและแช่น้ำมะขามเพื่อป้องกันไม่ให้หยวกกล้วยดำ

         2. ปั่นหรือตำปลาย่างให้ป่น 
ภาพที่ 3 ปลาย่างปั่นละเอียด.jpg

ภาพที่ 3 ปลาย่างปั่นละเอียด

         3. คั่วถั่วเหลืองให้หอมและนำถั่วเหลืองที่คั่วไปแช่น้ำ ตั้งหัวกะทิเคี่ยวพอแตกมัน ใส่พริกแกงพร้อมปลาย่างลงไป 
ภาพที่ 4 การคั่วถั่วเหลืองและการเคี่ยวกะทิ.jpg

ภาพที่ 4 การคั่วถั่วเหลืองและการเคี่ยวกะทิ

         4. เคี่ยวจนน้ำแกงเดือดเต็มที่ ใส่พริกแกง ตามด้วยหยวกกล้วยลงไป 
         5. พอเริ่มเดือดใส่ถั่วเหลืองคั่วและปลาย่างลงไป แล้วจึงเริ่มปรุงรส
ภาพที่ 5 การเคี่ยวพร้อมใส่ปลาย่าง.jpg

ภาพที่ 5 การเคี่ยวพร้อมใส่ปลาย่าง

         6. นำหางกะทิมาใส่และใส่เครื่องปรุงลงไป ใส่กล้วยไข่และนำชะอมมาใส่ในขั้นตอนสุดท้าย
ภาพที่ 6 การใส่หางกะทิ กล้วยไข่และชะอม.jpg

ภาพที่ 6 การใส่หางกะทิ กล้วยไข่และชะอม ลงไปเป็นขั้นตอนสุดท้าย

         7. พอสุกได้ที่แล้วใส่กล้วยไข่และชะอมลงไป เสิร์ฟพร้อมข้าวสวยหรือข้าวเหนียวก็ได้
ภาพที่ 7 กล้วยหยวกกล้วยไข่ พร้อมรับประทาน.jpg

ภาพที่ 7 กล้วยหยวกกล้วยไข่ พร้อมรับประทาน

การรับประทาน

         รับประทานคู่กับข้าวสวยหรือข้าวเหนียวตามต้องการ

ข้อมูลการสำรวจ

วันเดือนปีที่สำรวจ

         13 ธันวาคม 2563

วันปรับปรุงข้อมูล

         19 ธันวาคม 2563

ผู้สำรวจข้อมูล

         1. นายวุฒิชัย  ตรุษลักษณ์
         2. นางสาววรรณิกา คุ้มเณร  
         3. นายกิตติวัชน์  จันทร์เล็ก  
         4. นางสาวพัชรีวรรณ  เสื่อเนียม  
         5. นางสาวพิมพิศา  หาญอยู่  
         6. นางสาวสโรชา  ก้อนจันทร์เทศ  

คำสำคัญ

         กล้วยไข่, แกงกล้วยไข่, กำแพงเพชร