ฐานข้อมูล เรื่อง ไทยทรงดำวังยาง กำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

         อำเภอคลองขลุง เป็นอำเภอที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอำเภอเมืองกำแพงเพชร มีพื้นที่ 783.332 ตร.กม. มีจำนวนประชากร 71,358 คน สำรวจเมื่อ พ.ศ.2561 อำเภอคลองขลุงได้แบ่งเขตการปกครองย่อยออกเป็น 10 ตำบล 101 หมู่บ้าน ได้แก่
             1. ตำบลคลองขลุง
             2. ตำบลท่ามะเขือ
             3. ตำบลท่าพุทรา
             4. ตำบลแม่ลาด								
             5. ตำบลวังยาง	 								
             6. ตำบลวังแขม 
             7. ตำบลหัวถนน 
             8. ตำบลวังไทร  
             9. ตำบลวังบัว 
             10. ตำบลคลองสมบูรณ์ 
ภาพที่ 1 แผนที่อำเภอคลองขลุง.jpg

ภาพที่ 1 แผนที่อำเภอคลองขลุงและการแบ่งเขตการปกคลองย่อย 10 ตำบล

         ตำบลวังยาง เป็นเขตการปกครองย่อยจากทั้งหมด 10 ตำบลของอำเภอคลองขลุง โดยประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่บ้านท่าตะคร้อ, หมู่บ้านน้อย, หมู่บ้านคลองยาง, หมู่บ้านเกาะพร้าว, หมู่บ้านวังยาง, หมู่บ้านวังตะล่อม, หมู่บ้านหนองโสน, หมู่บ้านวังน้ำ, หมู่บ้านนิคม, หมู่บ้านแม่น้ำกงจีน 
         บ้านวังน้ำ เป็นหมู่บ้านที่อยู่ในส่วนปกครองย่อยของตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง โดยในอดีตมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่มมีน้ำท่าบริบูรณ์เป็นอย่างดี ด้วยมีลำคลองไหลผ่านกลางหมู่บ้าน มีถนนหนทางที่เดินทางสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก ลักษณะเช่นนี้จึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งในตั้งชุมชนและประกอบอาชีพต่าง ๆ โดยเฉพาะเกษตรกรรม จากการที่มีปัจจัยเกื้อหนุนต่อการประกอบอาชีพทำให้มีผู้คนหลากหลายเข้ามาจับจองพื้นที่เพื่ออยู่อาศัยและประกอบอาชีพตามความรู้ตามความถนัด ชาวไทยทรงดำบ้านวังน้ำ เป็นกลุ่มชนหนึ่งที่ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนในหมู่บ้านแห่งนี้โดยอพยพมาจากหลายจังหวัดด้วยกัน ทั้งยังได้นำพาวัฒนธรรมดั้งเดิมแต่ครั้งบรรพกาล ที่บรรพบุรุษได้มีการกระทำสืบต่อเนื่องกันมา สานต่อลงในหมู่บ้านแห่งนี้และปฏิบัติกันมาอย่างเคร่งครัดตามความเชื่อดั้งเดิมอีกด้วย 

ชื่อชาติพันธุ์/ชุมชน/สังคม[แก้ไข]

         ไทยทรงดำบ้านวังน้ำ

ชื่อเรียกตนเอง[แก้ไข]

         ไทยทรงดำ ลาวโซ่ง ไทดำ 

ที่ตั้ง[แก้ไข]

         หมู่ 4 บ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร 

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก[แก้ไข]

         ไทยทรงดำ ไทดำ ลาวโซ่ง ไทยโซ่ง โซ่ง

ภาษาที่ใช้พูด/เขียน[แก้ไข]

         ภาษาที่ใช้เพื่อการสื่อสารเป็นหลักทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนคือภาษาไทย ลองลงมาเป็น ภาษาโซ่งซึ่งมักใช้ในการสื่อสารในกลุ่มชาติพันธุ์ตนเอง 

ประวัติความเป็นมาของบ้านวังน้ำและไทยทรงดำ[แก้ไข]

         บ้านวังน้ำหรือหมู่บ้านวังน้ำ ได้ตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2492 ตั้งอยู่หมู่ 4 ตำบลวังยาง   อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร มีพื้นที่ทั้งหมด 6,047 ไร่ โดยพื้นที่ของหมู่บ้านได้เชื่อมต่อกับพื้นที่ส่วนปกครองย่อยต่าง ๆ ดังนี้ ทิศเหนือติดกับหมู่ 2 บ้านวังตะล่อม  ทิศใต้ติดกับหมู่ 3 บ้าน หนองโสน ทิศตะวันออกติดกับ หมู่ 4 บ้านบึงลาดเขต ต.วังแขม ทิศตะวันตกติดกับหมู่ 7 บ้านนิคมใหม่ ระยะทางจากหมู่บ้านวังน้ำถึงตัวจังหวัดกำแพงเพชร 60 กิโลเมตร ระยะทางจากหมู่บ้านวังน้ำถึงอำเภอคลองขลุง 9 กิโลเมตร บ้านวังน้ำมีลักษณะสภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเป็นที่ราบลุ่ม มีคลองวังน้ำไหลผ่านกลางหมู่บ้านยาวตลอดหัวจรดท้ายหมู่บ้าน บ้านวังน้ำมี 3 ฤดูกาล ฤดูร้อนอากาศจะร้อนและแห้งแล้ง เริ่มตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ – เมษายน  ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม และฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ ของทุกปีบ้านวังน้ำ มีครัวเรือนทั้งหมด 198 ครัวเรือน  มีประชากรทั้งหมด 946 คน แบ่งออกเป็นประชากร เพศชาย 463 คน คิดเป็นร้อยละ 48.94 และเป็นประชากร เพศหญิง 483 คิดเป็นร้อยล่ะ 51.06 
         เหตุผลที่เรียกว่าบ้านวังน้ำ เพราะเนื่องจากในอดีตหมู่บ้านแห่งนี้ มีลำคลองสำคัญ คือ  “คลองเลียบตะลุง” ไหลผ่านกลางหมู่บ้านและมีน้ำไหลผ่านอยู่ตลอด ครั้นเมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำก็จะไหล่บ่าท่วมอยู่ทั้งสองฟากฝั่งรวมทั้งพื้นที่ทั่วไป เนื่องจากมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ราบลุ่ม ทำให้การสัญจรไปมาไม่สะดวก นายแอ  แซ่รอ ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นและชาวบ้านจึงได้ร่วมใจกันตั้งชื่อหมู่บ้านแห่งนี้ขึ้นมาว่า “บ้านวังน้ำ” อันเป็นผลมาจากการมีน้ำหลากมาอยู่เป็นประจำนั่นเอง ปัจจุบันหมู่บ้านวังน้ำได้รับพัฒนาถนนหนทางจนไม่เหลือพื้นที่ที่เป็นวังน้ำให้เห็นแล้ว ประชากรในหมู่บ้านแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นการอพยพมาจากจังหวัดนครสวรรค์ สุพรรณบุรี และชัยนาท โดยมาตั้งอยู่ 2 ฝั่งคลองจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ ภาษาที่ใช้สื่อสาร คือ ภาษาไทยและภาษาโซ่ง ไทยทรงดำบ้านวังน้ำนับถือศาสนาพุทธ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาทำไร่ ผู้ใหญ่บ้าน/กำนันตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือ นายแอ  แซ่รอ, นายสมบูรณ์  โอรักษ์, นายพรม  หะนาท, นายลวน  สิงห์รอ และนายอำนวย อินทนู  
         มีวัดวังน้ำสามัคคี เป็นวัดประจำหมู่บ้าน เป็นศูนย์รวมจิตใจและใช้เป็นสถานที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และจัดกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนบ้านวังน้ำ เป็นโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญของหมู่บ้าน พิธีสำคัญของคนไทยทรงดำ ได้แก่ พิธีการไหว้ผีบรรพบุรุษ พิธีเสนเรือน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้อยู่ดีมีสุข เจริญก้าวหน้า เช่นเดียวกันกับการไหว้บรรพบุรุษของคนจีนนั่นเอง ตลอดจนประเพณีทางพุทธศาสนา และ เทศกาลต่าง ๆ ส่วนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่น่าสนใจ ได้แก่ การใช้น้ำมันรักษาเรื่องกระดูก
         ไทยทรงดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่พูดภาษาตระกูลไท เป็นชนชาติไทยสาขาหนึ่งเรียกว่า  พวกผู้ไท ซึ่งแบ่งออกตามลักษณะสีของเครื่องแต่งกาย เช่น ผู้ไทขาว, ผู้ไทแดง และผู้ไทดำ เป็นต้น ผู้ไทดำนิยมแต่งกายด้วยสีดำ จึงเรียกว่าไทยทรงดำ หรือ เรียกได้หลายชื่อเช่น โซ่ง, ซ่ง, ไทยโซ่ง, ไทยซ่ง, ลาวโซ่ง, ลาวซ่ง, ลาวทรงดำ และ ลาวพุงดำ ส่วนคำว่า “โซ่ง” มีข้อสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากคำว่า “ซ่วง” ซึ่งแปลว่า กางเกง เพราะเนื่องจากชาวไทยทรงดำนิยมนุ่งกางเกงทั้งชายและหญิง คนไทยและลาวพวนจึงเรียกว่า “ลาวซ่วง” ซึ่งหมายถึงลาวนุ่งกางเกง ต่อมาเพี้ยนเป็น ลาวโซ่ง เหตุที่เรียกไทยทรงดำว่า “ลาวโซ่ง” เพราะคำว่า “ลาว” เป็นคำที่คนไทยทั่วไปใช้เรียกคนที่อพยพมาจากถิ่นอื่น แต่ชาวไทยทรงดำถือตนเองว่าเป็นชนชาติไทย จึงเป็นที่มาและการตั้งถิ่นฐาน การเข้ามาของไทยทรงดำในประเทศไทยนั้น เกิดจากผลพวงของสงครามสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) มาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทำให้ลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ ถูกกวาดต้อนกวาดครัวมาอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรีเป็นอันมาก ในระยะแรกนั้นชาวไทยทรงดำได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย (สมัยพระเจ้าตากสินและรัชกาลที่ 1) ต่อมาในระยะที่สอง (สมัยรัชกาลที่ 3) โปรดฯ ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม ลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ จึงมาตั้งถิ่นฐานที่ท่าแร้ง     เมื่อปี พ.ศ. 2378 - 2381 ก่อนที่ชาวไทยมุสลิมท่าแร้งจะถูกกวาดครัวเข้ามาภายหลัง ไทยมุสลิมหรือ  ที่เรียกว่า “แขกท่าแร้ง” มาสู่เพชรบุรีในลักษณะถูกกวาดครัวเข้ามาอยู่ ณ เมืองเพชรบุรีในราวปี พ.ศ. 2328 เนื่องด้วยเหตุผลทางสงครามเช่นกัน สงครามครั้งนั้น พวกลาวพวนหรือไทยพวน พวกลาวเวียง หรือไทยเวียง ซึ่งเป็นชนชาติไทยด้วยสาขาหนึ่ง ก็ได้ถูกกวาดครัวมาด้วยกัน เพชรบุรีจึงประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า  “สามลาว” อันได้แก่ ลาวโซ่ง ลาวพวน และ ลาวเวียง
         ธรรมชาติของไทยทรงดำหรือลาวโซ่ง ชอบภูมิศาสตร์การอยู่อาศัยในลักษณะที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง ชอบลักษณะภูมิประเทศป่าเขาเสมือนถิ่นดั้งเดิมของตน ลาวโซ่งกลุ่มนี้ไม่ชอบภูมิประเทศที่ท่าแร้ง เพราะมีลักษณะเป็นที่โล่งเกินไป จึงได้รวมกันอพยพย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมา ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่สะพานยี่หน ทุ่งเฟื้อ วังตะโก บ้านสามเรือน เวียงคอย เขาย้อย ตามลำดับ ลาวโซ่งนิยม ปลูกบ้านที่มีลักษณะเป็นแบบเฉพาะของตนเอง คือแบบหลังคาไม่มีจั่ว หลังคายกอกไก่สูง มุงด้วยตับ  ต้นกกไม่ใช้ตับจาก รูปหลังคาลาดคุ่มเป็นรูปคล้ายกระโจม คลุมลงมาต่ำเตี้ยจรดฝา ดูไกล ๆ จะดู เหมือนไม่มีฝาบ้าน เพราะเนื่องจากหลังคาคลุมมิดจนมองไม่เห็น บ้านโซ่งจะไม่มีหน้าต่าง เนื่องจาก โซ่งมาจากเวียดนามและลาว อยู่ตามเทือกเขา มีอากาศหนาวเย็นจึงไม่นิยมมีหน้าต่างให้ลมโกรก  พื้นบ้านมักปูด้วยฟากไม้ไผ่ รองพื้นด้วยหนังสัตว์ นิยมทำใต้ถุนบ้านยกสูงเพื่อใช้ใต้ถุนบ้านเป็นที่เลี้ยงสัตว์
         การก่อสร้างพระนครคีรีที่เป็นพระราชวังบนเขาของจังหวัดเพชรบุรี ในระยะแรกที่ เครื่องจักรกล เครื่องทุนแรงยังไม่มี การแผ้วถางปรับสภาพยอดเขาทั้งสามยอดให้รานราบมีทางขึ้นลงเชื่อมต่อกัน  การลำเลียงอุปกรณ์เพื่อการก่อสร้างจำเป็นต้องใช้แรงงานขั้นพื้นฐานจำนวนมาก ครั้งนั้น พระเจ้ายาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ซึ่งดำรงตำแหน่งพระสมุหกลาโหม ในฐานะแม่กองงานใหญ่ ในการก่อสร้างพระราชวังบนเขา มีทั้งอำนาจทางทหารกำลังไพร่พลในการควบคุมดูแลโซ่งที่ได้กวาดครัวมาไว้ที่เพชรบุรี สมัยรัชกาลที่ 3 (พ.ศ.2378 - พ.ศ.2381) ได้อพยพมาจากท่าแร้งโดย ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่เชิงเขากิ่ว สะพานยี่หน เวียงคอย วังตะโก ซึ่งอยู่ใกล้กับเขาสมน จึงถูกกำหนดเกณฑ์มาเพื่อใช้เป็นแรงงาน สำหรับก่อสร้างพระราชวังในครั้งนี้ ตั้งแต่ พ.ศ.2401 - พ.ศ.2405 เป็นต้นมา ทุกเช้าจรดเย็นแรงงานโซ่งมักนิยมนุ่งกางเกง (ซ่วง) สีดำ สวมเสื้อก้อมย้อมสีครามดำ เดินออกจากหมู่บ้านสะพานยี่หนมุ่งตรงไปยังเขาสมน นับวัน นับเดือน นับปี เป็นไปด้วยความซื่อสัตย์และจงรักภักดีต่อหน้าที่ จวบจนกระทั่งเมื่อพระราชวังบนเขาพระนครคีรีสำเร็จ ได้เป็นที่แปรพระราชฐาน ทรงงาน รับรองพระราชอาคันตุกะต่างประเทศ และเป็นที่พักผ่อนส่วนพระองค์แล้ว พระบาทสมเด็จพระจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บุตรหลานเจ้าเมืองและคหบดีที่มีชื่อ มารับ ราชการเป็นมหาดเล็กและโปรดเกล้าฯ ให้คัดเลือกโซ่งมาเป็นเด็กชาด้วย เนื่องจากทรงเห็นความดี ความชอบจากการที่โซ่งมาเป็นแรงงานก่อสร้าง ช่วงก่อสร้างพระราชวังพระนครคีรีก็ทำด้วยความอดทน นับว่าไทยทรงดำมีบทบาทอยู่มากในการสร้างพระราชวังแห่งนี้แม้ว่าจะเป็นเพียงแรงงานก็ตาม
         ไทยทรงดำหรือไทดำ เดิมทีเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลไท ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไท คือเมืองเดียนเบียนฟู (Dien Bien Phu) หรือ เดี่ยนเบียนฝู (Điện Biên Phủ) (ชื่อเดิม : แถง) เป็นเมืองหนึ่งในจังหวัดเดี่ยนเบียน ยู่ในแถบแม่น้ำดำ (Black R.) และแม่น้ำแดง (Red R.) ปัจจุบันไทดำที่เวียดนามอาศัยอยู่หนาแน่นในจังหวัดซอนลา และไลโจว (เมืองแถง) หรือเดียนเบียนฟู (ตำแหน่งในวงกลม) ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเวียนนามมีเขตติดต่อกับลาวในปัจจุบัน ห่างจากกรุงฮานอยประมาณ 200 กิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวไทดำและมีชาวไทขาวซึ่งมีภาษาอยู่ในตระกูลไท-กะได เช่นเดียวกับไทยสยาม นิยมสร้างบ้านตามบริเวณริมน้ำ ประกอบอาชีพทำนาทำไร่ เมืองแห่งนี้เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงเนื่องจากเป็นที่รบยุทธการที่เดียนเบียนฟูระหว่างฝรั่งเศสกับเวียดมินห์ เมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.1954
ภาพที่ 2 แผนที่ประเทศเวียดนาม.jpg

ภาพที่ 2 แผนที่ประเทศเวียดนาม

         เมืองเบียนเดียนฟูตั้งอยู่ในแถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ไทยโซ่งมีชื่อเดิมเรียกกันว่า ไทดำหรือผู้ไทดำ (Black Tai) เพราะนิยมใส่เสื้อดำล้วน ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มคนไทยที่อยู่ใกล้เคียงกัน เช่น ไทขาวหรือผู้ไทขาว (White Tai) นิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาว และไทแดง หรือผู้ไทแดง (Red Tai) ชอบใช้สีแดงขลิบและตกแต่งชายเสื้อสีดำเป็นต้น คนไทยภาคกลางมักจะเรียกกันว่า ลาวทรง ดำ และเหตุที่เรียกเช่นนี้เพราะเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกันกับลาว
ภาพที่ 3 ชาวไทดำในเวียดนาม เมืองเดียนเบียนฟู.jpg

ภาพที่ 3 ชาวไทดำในเวียดนาม เมืองเดียนเบียนฟู

         ชาวไทยทรงดำที่บ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันยังคงมีวิถีชีวิตที่คงความเป็นอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างเคร่งครัดตามแบบอย่างดั้งเดิม ไทยทรงดำบ้าน  วังน้ำได้มีการจัดงานประเพณีไทยทรงดำประจำปี ซึ่งจัดขึ้นภายในบริเวณวัดวังน้ำสามัคคีสามัคคี โดยมีชาวไทยทรงดำทุกภาคหลายจังหวัดได้เดินทางมาร่วมงานประเพณีนี้กันเป็นประจำทุกปี เพราะถือว่าเป็นการส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่รวมทั้งผู้คนทั่วไปได้ทราบถึงวัฒนธรรมประเพณีที่เก่าแก่ผ่านการสืบทอดมาหลายชั่วคนตลอดจนมีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมชุมชนที่โดดเด่นมีอัตลักษณ์ของความเป็นชาติพันธุ์ไทยทรงดำ งานประเพณีดังกล่าวจะเริ่มจากภาคเช้าร่วมกันรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ตามประเพณีอันดีงามของไทยในช่วงเวลานั้นคือประเพณีสงกรานต์ และในส่วนภาคค่ำก็มีการละเล่นรำเซิ้งของชนเผ่าชาวไทยทรงดำ

ข้อมูลประชากรศาสตร์[แก้ไข]

         ประชากรบ้านวังน้ำ มีครัวเรือนทั้งหมด 198 ครัวเรือน  มีประชากรทั้งหมด 946 คน แบ่งออกเป็นประชากร เพศชาย 463 คน คิดเป็นร้อยละ 48.94 และเป็นประชากร เพศหญิง 483 คิดเป็นร้อยล่ะ 51.06  
ช่วงอายุประชากร จำนวนเพศชาย (คน) จำนวนเพศหญิง (คน) จำนวนรวม (คน) ร้อยละ
อายุน้อยกว่า 1 ปี 10 4 14 1.48
1 ปี ถึง 10 ปี 54 57 111 11.73
11 ปี ถึง 30 ปี 125 130 255 26.96
31 ปี ถึง 50 ปี 147 148 295 31.18
51 ปี ถึง 80 ปี 121 134 255 26.96
81 ปี ถึง 90 ปี 6 10 16 1.69
มากกว่า 90 ปี 0 0 0 0
รวมทั้งหมด 463 483 946 100

ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์[แก้ไข]

         บ้านวังน้ำ หมู่ 4 ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร อยู่ในพิกัด ละติดจูดที่ 16°13'35.6"N  ลองติจูดที่ 99°47'50.8"E 

วิถีชีวิต[แก้ไข]

อาชีพ[แก้ไข]

         การประกอบอาชีพของไทยทรงดำบ้านวังน้ำปัจจุบันมีความหลากหลาย โดยข้อมูลความจำเป็นระดับหมู่บ้าน (จปฐ.) ปี 2561 จำแนกได้ดังนี้
อาชีพ เพศชาย(คน) เพศหญิง(คน) รวม
กำลังศึกษา 72 76 148
ไม่มีอาชีพ 18 27 45
เกษตร-ทำนา 133 109 242
เกษตร-ทำไร่ 1 0 1
เกษตร-ทำสวน 1 0 1
เกษตร-ประมง 0 0 0
เกษตร-ปศุสัตว์ 0 0 0
พนักงาน-รับราชการ 1 4 5
พนักงาน-รัฐวิสาหกิจ 0 0 0
พนักงานบริษัท 0 0 0
รับจ้างทั่วไป 60 76 136
ค้าขาย 6 17 23
ธุรกิจส่วนตัว 0 1 1
อาชีพอื่น ๆ 10 16 26
รวม 302 326 628
         ข้อมูลความจำเป็นระดับหมู่บ้าน (จปฐ.) ปี 2561 ** หมายเหตุจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่จริงจากการสำรวจอาจไม่เท่ากับจำนวนประชากรที่มีอยู่ในทะเบียนราษฎร์ 

ครอบครัว[แก้ไข]

ไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ครอบครัวจะมีขนาดกลางถึงใหญ่ คือประกอบไปด้วย พ่อ แม่ ลูก ปู่ย่าหรือตายาย ส่วนใหญ่เมื่อบุตรสาวแต่งงานแล้วมักจะแยกครัวเรือนออกไป เว้นแต่ผู้ชายจะต้องอยู่บ้านพ่อแม่เพื่อสืบวัฒนธรรมต่อไป เว้นแต่มีลูกชายหลายคนแต่จะต้องมีเพียง 1 คนที่อยู่ดูแลบ้านที่เป็นสถานที่ดูแลเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ส่วนคนอื่นจะแยกครอบครัวออกไปหรือยังอยู่ร่วมด้วยก็มีเช่นกัน

การแต่งกาย[แก้ไข]

         วัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชาวไทดำก็คือการแต่งกาย เนื่องด้วยชาวไทดำนิยมแต่งกายด้วยผ้าสีดำจึงได้เรียกว่าไทดำหรือไทยทรงดำนั่งเอง อย่างไรก็ดี เสื้อผ้าสำหรับการแต่งกายของชายหญิงจะ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เสื้อผ้าสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน และ เสื้อผ้าสำหรับใส่ในงานประเพณี หรืองานบุญต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทั้งชายและหญิงมักนิยมใช้ผ้าฝ้ายทอมือย้อมครามเข้ม สำหรับเสื้อผ้าที่ใส่ในพิธีกรรมจะจัดทำขึ้นเป็นพิเศษ เสื้อผ้าเหล่านี้ ได้แก่
         1. เสื้อก้อม  ผู้หญิงไทยทรงดำ มักนิยมทำทรงผมปั้นเกล้ายกสูงเสียบเกล้าผมด้วยปิ่นปักผมเงินรูปตัว U ปลายแหลมและสวม “เสื้อก้อม” ทอจากฝ้ายเป็นเสื้อไม่มีคอกลมแขนทรงกระบอก ติดกระดุมเงินทรงดอกผักบุ้งถี่หลายเม็ด เสื้อก้อมเป็นเสื้อสำหรับใส่ทำนาหรือไปกินเสน มีลักษณะเป็นเสื้อคอตั้ง ติดกระดุมที่คอ แขนยาว ตัวเสื้อยาวถึงสะโพก ด้านข้างทำเป็นซองจะงอยอยู่ในตัวเสื้อ ตรงเอวติดสาบเสื้อ เว้นตรงสาบเสื้อเหนือเอวประมาณ 2 นิ้ว ติดกระดุม 13 เม็ด หรือ 15-19 เม็ด       เสื้อก้อมเป็นเครื่องนุ่งห่มที่มีทั้งหญิงและชาย เสื้อก้อมผู้หญิงจะมีรูปร่างและสีคล้ายคลึงกับของผู้ชายมีส่วนที่แตกต่าง คือ แขนทรงกระบอกรัดมือข้อมือเพื่อให้การสวมใส่แนบลำตัว จึงตัดเย็บต่อแขนติดกับลำตัว ต่อชนตะเข็บตรง ๆ ไม่เว้าและมีผ้าแทรกใต้รักแร้ ส่วนเสื้อก้อมผู้ชาย เป็นเสื้อคอตั้งไม่มีปก แขนเสื้อต่อตรงไปถึงปลายแขนโดยใช้ผ้าทบสองชั้น ให้เป็นรูปทรงกระบอกยาวถึงข้อมือ การต่อแขนเสื้อไม่ตัดผ้าให้โค้ง แต่มีวิธีทำแขนให้กว้างโดยแทรกผ้ารูปสี่เหลี่ยมไว้ใต้รักแร้ ทำให้โคนแขนเสื้อใหญ่ขึ้น ซึ่งทำให้สะดวกในการสวมใส่และการเคลื่อนไหว บริเวณชายเสื้อด้านข้างลำตัวทั้งสองข้างแทรกด้วยผ้ารูปสามเหลี่ยมตั้งแต่เอวถึงสะโพกและติดกระดุมเงินยอดแหลมดำแขนยาวทรงกระบอกแคบผ่าหน้าตลอด ติดกระดุมเงินมียอดแหลมประมาณ 10 – 15 เม็ด (วิลาวัลย์  ปานทองและคนอื่นๆ, 2551, 24-25) 







2. ผ้าซิ่น เป็นผ้านุ่งลายแตงโมและเป็นลายยอดนิยมของไทยทรงดำ ส่วนใหญ่มีสีกรมท่าเข้มจัดจนถึงสีดำ ย้อมด้วยสีจากต้นฮ้อมและนิล ลายแตงโมจะมีลักษณะเป็นเส้นแถบยาวสีขาวตัดกับสีครามเข้มหรือสีดำ การใช้ผ้าซิ่นเป็นเอกลักษณ์ของหญิงไทยทรงดำในอดีตดั้งเดิม จะนุ่งผ้าที่ทอกันขึ้นมาใช้เองตั้งแต่อดีตถึงยุคปัจจุบัน ทุกครัวเรือนผู้หญิงจะเป็นผู้ทอผ้าขึ้นมาใช้เอง เป็นผ้าฝ้ายทอมือประกอบไปด้วยเชิงบนซิ่นเป็น "หัวซิ่น" "ตัวซิ่น" เชิงล่างซึ่งเป็น "ตีนซิ่น" ย้อมคราม จนเป็นสีครามเข้มเกือบดำ นำมาทอสลับลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของลาวโซ่ง ผู้หญิงในชีวิตประขำวันจะนุ่งซิ่น "ลายแตงโม" หรือ "ลายชะโด" ลักษณะเฉพาะของผ้าลายแตงโม แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือหัวซิ่น จะเป็นสีครามไม่มีลวดลายกว้าง 12 นิ้ว   ส่วนที่ 2 จะเป็นลายโดยใช้เทคนิคการทอขัด แต่พิเศษที่ว่าเป็นฝ้ายแกมไหม คือ ใช้ไหมสีแดงเป็นเส้นยืน ทอเส้นพุ่งด้วยฝ้ายสีครามสลับสีผ้าอ่อนเป็นทางเล็ก ๆ คล้ายลายบนผลแตงโม เวลาทอเสร็จจะมองไม่เห็นไหมสีแดงเลย ส่วนที่ 3 กว้างประมาณ 1 ฟุต มีลวดลายสีขาวสองสามริ้ว เย็บติดเป็นตีนซิ่น ถ้าสามีตายต้องเลาะตีนซิ่นนี้ออกเพื่อไว้ทุกข์










3. เสื้อฮี ไทยทรงดำทั้งหญิงและชาย นอกจากจะมีเสื้อก้อมที่เป็นเสื้อสวมใส่ในเวลาโอกาสต่าง ๆ แล้ว ก็ยังมีเสื้ออีกแบบหนึ่งที่ถือเป็นเสื้อสำคัญและเป็นเสื้อที่จำเป็นต่อวิถีชีวิตในวาระโอกาสต่าง ๆ ก็คือ “เสื้อฮี”เสื้อฮี หรือเสื้อยาวเป็นเสื้อพิธี ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีดำหรือครามเข้ม มีคอกลมและติดกระดุม 2 เม็ด เรียกว่า กระดุมนมแมว ตัวเสื้อมีความยาวถึงสะโพก ใต้รักแร้เย็บด้วยผ้าไหมเป็นลวดลายสีต่าง ๆ โดยมีเพียง 4 สีเท่านั้น คือ สีแดง สีเขียว สีขาว สีส้ม ชายเสื้อฮีจะมีการตกแต่งด้วยลวดลายและไม่มีลวดลาย ด้านที่ไม่มีลวดลายจะสวมใส่ในเวลาไปงานต่าง ๆ ส่วนด้านที่มีลวดลายไม่นิยมสวมใส่ แต่จะเอามาคลุมโลงศพในเวลาที่ตายแล้ว ด้วยเหตุนี้ ชาวไทยทรงดำจึงต้องมีเสื้อฮีประจำตัวเอง เพื่อใช้ในงานพิธีต่าง ๆ เช่น แต่งงาน ทำขวัญ งานศพ เสนเรือน เป็นต้น เสื้อฮีของผู้ชายและผู้หญิงจะมีความคล้ายคลึงกัน เพียงแต่เสื้อของผู้หญิงจะมีการทำจีบย่น 2 แห่ง เพื่อทำให้คอตั้งขึ้นเรียกว่า แอ่วแหนบ จะนิยมทำด้วยผ้าแพรดำ ด้านในบริเวณรอยต่อตะเข็บจะปิดด้วยผ้าหลายสีเป็นแนวยาวให้ดูเรียบร้อย นิยมปักลายดอกแก้ว ลายดอกผักแว่น ลายดอกพิกุล ลายตานกแก้ว ลายหมาย่ำ ลายผีเสื้อ และลายหน้าเสือ (วิลาวัลย์ ปานทองและคนอื่นๆ, 2551, 24-25)








4. เสื้อต๊ก เป็นเสื้อที่ใช้สวมใส่ในงานศพ เฉพาะบุตรผู้ตายที่เป็นสายเลือดเดียวกันในครอบครัวเท่านั้น เป็นเสื้อที่ทำมาจากผ้าฝ้ายดิบสีขาว (คล้ายคลึงกับของคนจีนที่ใส่ในงานพิธีกงเต๊ก) โดยจะตัดเย็บไม่ปราณีตให้มากนัก เพราะจะใส่เวลาที่มีบุคคลในครอบครัวเสียชีวิตเท่านั้น ลักษณะเสื้อจะเป็นแบบคอวี มีแขน เสื้อต๊กจะไม่มีลวดลาย รูปแบบเสื้อของชายและหญิงจะเหมือนกัน






5. เสื้อไท เป็นเสื้อที่ใส่ไปเที่ยวไปเกี้ยวสาว หรือไปร่วมงานในพิธีต่าง ๆ ที่ตนเองไม่ได้ไปเกี่ยวดองเป็นลูกหลานหรือเขย เป็นเสื้อขนาดใหญ่หรือเป็นเสื้อแบบลำลองก็ว่าได้ ตัดเย็บและย้อมด้วยสีครามเข้ม แขนทรงกระบอกผ่าหน้าตลอด และติดกระดุมเรียงเม็ดเต็มรูปแบบ ประมาณ 27 เม็ด เรียกว่า 3 ซุ้ม รองลงมาคือ 23 และ 21 ใครติดกระดุมถี่ถือว่าเป็นคนที่เรียบร้อยมีระเบียบในชีวิต 6. ส้วงก้อม และ ส้วงฮี หรือเรียกอีกอย่างว่ากางเกงขาสั้น ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีครามเข้ม ไม่มีการต่อขอบเพิ่ม มีความยาวประมาณหัวเข่าบริเวณเอวจะเป็นส่วนกว้าง เวลานั่งจะทบผ้าไว้ด้านหน้าส้วงก้อมไม่นิยมทำลวดลายเป็นผ้านุ่งที่ทอแบบเรียบ ส้วงฮี หรือเรียกอีกอย่างว่ากางเกงขายาว ตัดเย็บด้วยผ้าฝ้ายสีครามเข้ม บริเวณเอวตัดเย็บเป็นผ้าผืนเดียวกัน ไม่มีการต่อผ้ามีความยาวถึงข้อเท้า ไม่นิยมทำลวดลายเป็นผ้านุ่งที่ใช้สวมใส่ในงานที่เป็นพิธีการ เช่น พิธีสืบผี พิธีแต่งงาน ในกรณีงานศพจะนุ่งส้วงฮีและสวมเสื้อฮีไปร่วมงานของญาติที่เป็นพี่น้องตระกูลเดียวกัน เรียกว่าผีเดียวกัน (วิลาวัลย์ ปานทองและคนอื่นๆ, 2551, 27)








1.2.4. ที่อยู่อาศัย/ความเป็นอยู่ บ้านไทยทรงดำบ้านวังน้ำปัจจุบันนิยมในรูปแบบการผสมผสานระหว่างปูนกับไม้ บางบ้านก็เป็นรูปทรงสมัยใหม่ไม่มีเอกลักษณ์ของไทยทรงดำอยู่เลย อย่างไรก็ดีไม่ว่าลักษณะที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทุกบ้านจะต้องมีห้องสำหรับบูชาผีเรือน นับเป็นความน่าเสียดายว่าลักษณะที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มไทยทรงดำแท้ ๆ กำลังจะสูญหายไป เฮือน (เรือน) ไทยทรงดำแบบดั้งเดิมมักนิยมปลูกบ้านที่มีลักษณะเป็นแบบเฉพาะของตนเอง คือแบบหลังคาไม่มีจั่ว หลังคายกอกไก่สูงมุงด้วยตับต้นกกไม่ใช้ตับจาก รูปหลังคาลาดคุ่มเป็นรูปคล้ายกระโจม คลุมลงมาต่ำเตี้ยจรดฝา ดูไกล ๆ จะดูเหมือนไม่มีฝาบ้าน เพราะเนื่องจากหลังคาคลุมมิดจนมองไม่เห็น บ้านโซ่งจะไม่มีหน้าต่าง เนื่องจาก โซ่งมาจากเวียดนามและลาว อยู่ตามเทือกเขา มีอากาศหนาวเย็นจึงไม่นิยมมีหน้าต่างให้ลมโกรก พื้นบ้านมักปูด้วยฟากไม้ไผ่ รองพื้นด้วยหนังสัตว์ นิยมทำใต้ถุนบ้านยกสูงเพื่อใช้ใต้ถุนบ้านเป็นที่เลี้ยงสัตว์ แต่บางพื้นที่ก็มีเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม คือ มีหลังคาทรงโค้งรูปกระดองเต่า มุงหญ้าคายาวคลุมลงมาเกือบถึงพื้นดินแทนฝาเรือน นอกจากนี้การยกใต้ถุนสูงก็เพื่อประโยชน์ในการเก็บสิ่งของเครื่องใช้ ไว้เป็นที่ประกอบการงาน เช่น ทอผ้า ตำข้าว มักมีแคร่ไว้นั่งนอนและเป็นที่รับแขกในเวลากลางวัน เสาเรือนทำด้วยไม้ทั้งต้น มีง่ามไว้สำหรับวางคาน ยอดจั่วประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขาควายไขว้กัน เรียกว่า “ขอกุด” ถึงแม้ว่าบ้านไทยทรงดำบ้านวังน้ำในปัจจุบัน จะนิยมมาใช้รูปแบบการผสมผสานระหว่างปูนกับไม้ บางบ้านก็เป็นรูปทรงสมัยใหม่ไม่เหลือเค้าโครงความเอกลักษณ์ของไทยทรงดำอยู่เลยก็ตามที แต่ทว่าลักษณะที่อยู่อาศัยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทุกบ้านนั้นจะต้องมีห้องสำหรับบูชาผีเรือนแทบทั้งสิ้น















อย่างไรก็ตาม นับเป็นความน่าเสียดายอย่างหนึ่งที่ว่า ลักษณะที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มไทยทรงดำแท้ ๆ กำลังจะสูญหายไป เฮือน (เรือน) ไทยทรงดำ มักนิยมทำให้ภายในตัวบ้านเป็นพื้นที่โล่งแล้วจัดแบ่งเป็นส่วนสำหรับที่นอน ครัว และเป็นส่วนที่ใช้สำหรับเซ่นไหว้บูชาผีเรือนโดยกั้นเป็นห้อง เรียกว่า “กะล้อห่อง” นอกจากนี้นิยมทำชานบ้านยื่นออกจากตัวบ้าน มีบันไดขึ้นเรือน 2 ทาง มียุ้งข้าวที่สร้างเป็นเรือนยกเสาสูงไว้ข้างที่พักอาศัย ไทยทรงดำจะปลูกบ้านอยู่ใกล้ ๆ กัน ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการที่ผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ จนกระทั่งต่อมารูปแบบเรือนไทยทรงดำได้เปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมตามยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นวัสดุที่เป็นหญ้าคาที่นำมามุงหลังคาจะเริ่มหายาก นอกจากจะไม่คงทนแล้ว ยังเป็นวัสดุที่ง่ายต่อการติดไฟ เนื่องจากบ้านไทดำปลูกใกล้กันเป็นกลุ่ม หากเกิดไฟไหม้จะลุกลามไปบ้านอื่น ๆ ได้รวดเร็ว ลักษณะบ้านและวัสดุที่ใช้ได้เปลี่ยนมาเป็นไม้เนื้อแข็ง หลังคามีทั้งที่เป็นสังกะสีและกระเบื้องมุงหลังคา รวมทั้งการแบ่งกั้นห้องตามลักษณะการใช้สอยอย่างเรือนไทยทรงดำดั้งเดิม ก็ได้มีลักษณะผสมผสานระหว่างเรือนแบบดั้งเดิมกับเรือนสมัยใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นวัสดุผสมระหว่างปูนกับไม้ บางบ้านก็ยังคงมีลักษณะของการมีใต้ถุนบ้านเพื่อประกอบกิจกรรมอื่น ๆ ก็ยังคงมีอยู่ หากแต่ไม่มีการเลี้ยงสัตว์ใต้ถุนเรือน แล้ว









1.3 ประเพณี 1.3.1. ความเชื่อ ชาวไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ปัจจุบันยังคงมีการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมที่ทำกันมาแต่ ครั้งบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น กันอย่างเคร่งครัด เพราะไทยทรงดำเชื่อว่า หากกระทำตามแบบอย่าง บรรพบุรุษที่ได้สอนสั่งกันมานั้น จะช่วยให้เกิดความสมบูรณ์พูนสุขในครอบครัวทำมาหากินกันได้อย่าง เจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะพิธีเสนเรือน พิธีปาดตง พิธีขึ้นบ้านใหม่ เป็นพิธีที่ถือว่ามีอิทธิพลอย่างสูงต่อการดำเนินชีวิต ภายใต้วัฒนธรรมไทยทรงดำ เนื่องเป็นพิธีที่แสดงออกถึงความนอบน้อมความเคารพบรรพบุรุษไทยทรงดำในยุคสมัยบรรพบุรุษ ก่อนและเข้ามาสู่ประเทศไทยนั้น ต่างนับถือเอา “ศาสนาแถน” เป็น เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยในเวียดนามก็มี “เมืองแถน” ซึ่งหมายถึงเมืองที่นับถือศาสนาแถนหรือเทพแถนนั่นเอง แต่ภายหลังได้ถูกเปลี่ยนชื่อไปเป็นเมือง “เดียนเบียนฟู”ชาวไทดำหรือไทยทรงดำเชื่อว่า แถน เป็นเทวดาที่อยู่บนฟ้ามีอำนาจเหนือมนุษย์ สามารถดลบันดาลให้เกิดสิ่งดีและสิ่งร้ายขึ้นได้ เพื่อให้เกิดสิ่งดีมนุษย์จะต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามความประสงค์ของแถน เพื่อให้แถนเกิดความเมตตาและบันดาลความสุข แถนในความเชื่อของชาวไทยทรงดำนั้นมีมากมายเหมือนกันกับความเชื่อเรื่องแถนของไทดำในประเทศเวียดนาม พิธีกรรมทางความเชื่อของชาวไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ยังคงมี การสืบสานตามความเชื่อดั้งเดิมไว้เป็นอย่างดี ครั้นเมื่อถึงวาระโอกาสต่าง ๆ ก็กระทำกันในแต่ละ ครอบครัว ได้แก่ พิธีเสนเรือน พิธีนี้เป็นการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ผีเรือน โดยจะนำเครื่องเซ่นไหว้ใส่ถาดตั้งวางไว้มุมเสาหนึ่งของบ้าน โดยมีการฆ่าหมูตัวผู้ 1 ตัวเพื่อนำมาเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ พี่ น้อง ที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยมีหมอเสนทำพิธีเรียกชื่อให้มากินของเซ่นไหว้เมื่อทำแล้วเชื่อว่าจะอยู่เย็นเป็นสุข ความเจริญจะเกิดกับครอบครัว โดยเสนเรือนจะทำสามปีต่อ 1ครั้ง













พิธีเสนเรือนจะเริ่มจากเจ้าภาพจะเชิญผู้ประกอบพิธีคือ “หมอเสน” มาเป็นผู้ประกอบพิธีเสนเรือน พร้อมกับแจ้งญาติพี่น้อง ให้ทราบกำหนดวันทำพิธีไหว้ผีเรือน หรือเสนเรือน และต้องตระเตรียมเครื่องใช้ในการทำพิธีให้เรียบร้อย ได้แก่ เสื้อฮี-ส้วงฮี สำหรับเจ้าภาพสวมใส่ขณะทำพิธีเสนเรือน ปานเผือน (ภาชนะคล้ายกระจาดขนาดใหญ่ บรรจุอาหารเครื่องเซ่นผีเรือน) ปานข้าว (ภาชนะใส่อาหารในหม้อเสน) ตั่งก๋า (เก้าอี้หรือม้านั่งสำหรับหมอเสนนั่งทำพิธีในห้องผีเรือน) และอาหารที่เป็นเครื่องเซ่นต่าง ๆ อาทิ หมูจุ๊บ (เนื้อหมู เครื่องในหมูยำ) แกงไก่กับหน่อไม้ดอง เนื้อหมูดิบ ซี่โครงหมู ไส้หมู ข้าวต้มผัดใส่กล้วย มันเทศต้ม เผือกต้ม อ้อย ขนม ผลไม้ต่าง ๆ ตามฤดูกาล ข้าวเหนียวนึ่ง 7 ห่อ ตะเกียบ 7 คู่ หมากพลู บุหรี่ และเหล้าเป็นต้น เมื่อได้เวลาเซ่นไหว้ผีเรือน เจ้าภาพจะจัดเครื่องเซ่นต่าง ๆ บรรจุลงในปานเผือนที่เตรียมไว้ และยกเข้าไปวางไว้ในห้องผีเรือนที่เรียกว่า “กะล่อห่อง” ซึ่งเป็นสถานที่ทำพิธี หมอเสนจะเริ่มเซ่นไหว้ ด้วยการเรียกหรือกล่าวเชิญบรรดาผีเรือนที่เป็นบรรพบุรุษของเจ้าภาพ โดยเรียกชื่อบรรพบุรุษตามบัญชีรายชื่อ ที่เจ้าภาพจดร่วมกันไว้ในสมุดผีเรือน เรียกว่า “ปั๊บผีเรือน” หรือ “ปั๊บ” จนครบทุกรายชื่อเป็นจำนวน 3 ครั้ง โดยในแต่ละครั้ง หมอเสนจะใช้ตะเกียบคีบหมูกับขนมทิ้งลงไปในช่องเล็ก ๆ ข้างขวาห้องผีเรือนทีละครั้ง จากนั้นจึงเซ่นเหล้าแก่ผีเรือนอีก 2 ครั้ง เพราะการเซ่นเหล้าเป็นสิ่งสำคัญอันไม่อาจขาดหรืองดเสียได้ เพื่อให้ผีเรือนได้กินอาหารและดื่มเหล้าอย่างอุดมสมบูรณ์ หลังจากเซ่นไหว้ผีเรือนเรียบร้อยแล้ว หมอเสนจะทำพิธีเสี่ยงทายให้แก่เจ้าภาพเรียกว่า “ส่องไก่” ด้วยการพิจารณาลักษณะของตีนไก่ในแกงหน่อไม้เปรี้ยวที่เจ้าภาพนำมาให้และจัดทำนาย ในลักษณะดังกล่าวคือหากตีนไก่หงิกงอแสดงว่า ไม่ดีจะมีเรื่องร้าย เกิดขึ้นอันได้แก่การเจ็บป่วย การตาย หรือการทำมาหากินประสบปัญหาต่าง ๆ เป็นต้น แต่ถ้าตีนไก่เหยียดตรง แสดงว่าทุกคนในครอบครัวของเจ้าภาพจะประสบแต่ความสุขความเจริญต่อจากนั้น เจ้าภาพจะทำพิธีขอบคุณหมอเสนที่มาช่วยทำพิธีเสนเรือน ให้แก่ครอบครัวของตนเรียกว่า "ฟายหมอ" แล้วจึงเลี้ยงอาหารแขกที่มาช่วยงานเป็นอันเสร็จพิธี (ไทยทรงดำ บ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง กำแพงเพชร, 2562, ออนไลน์) พิธีขึ้นบ้านใหม่ ไทยทรงดำเมื่อปลูกเรือนใหม่ก็จะทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ มักทำเวลาบ่ายหลังจาก 15.00 น. ล่วงไปแล้ว หมอพิธีจะมาข่มขวง คือข่มสิ่งเลวร้าย ไล่สิ่งที่ไม่ดีออกไปให้หมด ผีร้ายออกจากไม้ไปอยู่ที่อื่น แล้วจึงเอาผีขึ้นบ้าน หมอจะเรียกขึ้น จะมีหาบ ที่นอน หมอน มุ้ง สิ่งที่เป็นมงคลขึ้นมาไว้ในห้อง ของใช้จำเป็นห้ามขาด เช่น เงิน ทอง น้ำ เกลือ ไปไว้ในห้องผีเรือน(ไทยทรงดำ บ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง กำแพงเพชร, 2562, ออนไลน์)









อย่างไรก็ดี หนุ่มสาวไทยทรงดำรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้ อาจมีความห่างไกลจากวัฒนธรรมด้านความเชื่อตามอย่างบรรพบุรุษ ด้วยเหตุจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่มีต่ออิทธิพลความคิดไม่ว่าจะการศึกษา ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี สภาพการงาน ล้วนแต่ทำให้ห่างไกลจากความเชื่อดั้งเดิมได้ทั้งสิ้น นอกจากแต่ละครัวเรือนได้มีการปลูกฝังให้เห็นถึงความสำคัญของประเพณีในแง่ของคุณค่าที่ควรดำรงไว้

1.3.2. ศาสนา พุทธ 1.3.3. ประเพณีอื่น ๆ พิธีงานแต่งงาน เมื่อหนุ่มสาวไทยทรงดำได้ตกลงปลงใจต่อกันแล้ว จะส่งผู้ใหญ่ไปสู่ขอซึ่งเรียกว่าไป “ส่อง” หรือส่องขันหมากน้อย ซึ่งมีความหมายเท่ากับการหมั้นโดยจัดหมากพลูใส่กะเหล็บ ผู้ต้าวใช้ 4 กะเหล็บ ผู้น้อย 2 กะเหล็บ ซึ่งฝ่ายหญิงจะนำไปแจกญาติของตน เดือนที่ไม่นิยมแต่งงาน คือเดือน 5 สำหรับวันต้องไม่ใช้วันเวนตงของฝ่ายหญิง (วันเวนตงคือวันเลี้ยงผีประจำบ้าน) วันแต่งงานเจ้าบ่าว เจ้าสาวต้องใส่เสื้อฮี ผู้ต้าวมีเพื่อนเจ้าบ่าว เจ้าสาวจำนวน 6 - 8 คน ผู้น้อยใช้ 2 - 4 คน ชุดเจ้าบ่าวต่างจากชุดเพื่อนเจ้าบ่าวต้องใส่เสื้อฮีทุกคน เฉพาะเจ้าบ่าวต้องสวมหมวกงอบ สะพายย่ามแดงบ่าขวา สะพายฝักมีดบ่าซ้าย ซึ่งให้ความหมายว่ามีความขยันทำมาหากินแข็งแรง การแต่งงานมี ขั้นตอน 4 ขั้นตอน คือ ส่อง สู่ สา ส่ง ขั้นส่อง คือ การไปจีบสาวสอดส่องด้วยตนเองว่าสาวใดถูกใจ มักจะใช้ในโอกาสการเล่นการละเล่นพื้นบ้านหรืองานประเพณีต่าง ๆ ขั้นสู่ คือ ฝ่ายชายหมายตาว่าจะ ให้หญิงนั้นเป็นคู่ครอง ก็จะให้ผู้ใหญ่ไปเจรจาสู่ขอจากพ่อแม่ของสาว ซึ่งต้องใช้ขันหมากพลูและเงิน ทองไปมอบให้ฝ่ายหญิง ขั้นสา คือ ฝ่ายชายที่ได้ทำการสู่ขอสาวแล้วนั้นเป็นผู้ที่ยากจนมีเงินทองน้อย หรือทางฝ่ายหญิงไม่มีพี่น้องฝ่ายชายจึงช่วยทำงานให้กับพ่อแม่ ฝ่ายชายจะต้องนำตัวเองมาอาสา ทำงานรับใช้พ่อแม่ฝ่ายหญิงเป็นการทดแทน บางรายใช้เวลาเป็นปี ในระยะนี้ชายและหญิงอาจอยู่กิน ฉันสามีภรรยาได้ด้วยเป็นบางรายเท่านั้น กรณีที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงไม่เรียกสินสอดทองหมั้น สา คือ อาสา โดยฝ่ายชายต้องอยู่บ้านฝ่ายหญิง เพื่อช่วยทำมาหากิน ตามแต่จะกำหนดเวลาไว้ว่ากี่ปี แล้วจึงนำฝ่าย หญิงนำไปสู่บ้านของตนซึ่งจะต้องทำพิธีแต่งเข้าผี โดยฝ่ายหญิงออกจากผีเรือนของฝ่ายตนไปฝากเนื้อฝากตัวให้ผีเรือนฝ่ายชายปกป้องคุ้มครองถือว่าเป็นการออกเรือนของหนุ่มสาว ขั้นส่ง คือ งานเลี้ยงฉลองเพื่อส่งตัวเจ้าสาวไปยังบ้านเจ้าบ่าวเรียกว่านัดมื้อส่ง บรรดาญาติทั้งสองฝ่ายจะทำการเลี้ยงฉลองกันและกันทั้งสองฝ่าย งานส่งมักจะเป็นพิธีสำคัญในการแต่งงานตามประเพณีไทย ไทดำทั่ว ๆ ไป แต่ต้องใช้หมอพิธีดำเนินการเช่นเดียวกับประเพณีอื่น ๆ ในการส่งตัวเจ้าสาวนั้น หมอพิธีจะต้องทำขวัญบ่าวสาวที่บ้านหนุ่มก่อนที่จะเข้าเรือนหอด้วยการทำขวัญแต่งงานส่วนใหญ่ คือการสอนให้รู้จักประพฤติปฏิบัติตนให้กับชายหญิงที่จะมีชีวิตร่วมกันในการครองเรือนเป็นสำคัญ พิธีศพ เมื่อผู้ตายเกิดขึ้นในไทยทรงดำบ้านเจ้าของบ้านยิงปืนขึ้นฟ้า เพื่อส่งวิญญาณผู้ตายไปที่ชอบ ความเป็นจริงคือแจ้งเพื่อนบ้านให้รู้ว่ามีการตายเกิดขึ้นเมื่อผู้ชราเสียชีวิตในบ้านบรรดาญาติพี่น้องในหมู่บ้านนั้นจะหยุดทำงานและมาชุมนุมแสดงความเสียใจ ศพจะตั้งไว้ในบ้าน หลังจากได้ทำความสะอาดและสวมเสื้อฮีประจำตัวให้และบรรจุโลงเรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะนำศพไปยังป่าช้า (แฮ่ว) หรือวัดเพื่อทำการเผา เช้าวันรุ่งขึ้นจึงทำการเก็บกระดูกหมอพิธีจะนำกระดูกบรรจุลงในภาชนะดินเผามีฝาปิดเพื่อฝังลงใต้ถุนบ้านที่สร้างขึ้นอย่างหยาบ ๆ เพื่ออุทิศให้ศพ เช่น เสื้อผ้าที่ตัดเย็บเป็นตัวแล้ว เสื้อฮีและผ้าทอเป็นผืน ๆ แขวนไว้บนเสาหลวงสร้างเรือนแก้วและเสายอดเป็นปลีดอกไม้ให้ จากนั้นที่บ้านของผู้ตายจะทำพิธีล้างเรือนให้เรือนสะอาด เขาเชื่อกันว่าเรือนที่มีคนตายจะเป็นเรือนที่ไม่สะอาด จึงต้องให้แม่มดมาทำพิธีรับเคราะห์และปล่อยไป รุ่งขึ้นจึงทำพิธีเชิญวิญญาณผู้ตายเข้าบ้านเพื่อเป็น ผีเรือนประจำบ้านต่อไป







1.3.4. ศิลปะการแสดง ไทยทรงดำบ้านวังน้ำ ยังคงจัดงานการละเล่นในงานสำคัญประจำปีของชุมชนไทดำบ้านวังน้ำ โดยมีการ “เล่นคอน-ฟ้อนแคน” “ขับไทดำ”ขับร้องเพลงพื้นบ้านไทดำและฟ้อนไทดำเพื่อสร้างความบันเทิงและความสามัคคี เชื่อมสัมพันธ์ของคนในชุมชน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมรื่นเริงที่จัดมาอย่างต่อเนื่องทุกปีที่บ้านวังน้ำแห่งนี้








1.4 ข้อมูลอื่น ๆ 1.4.1. สถานการณ์ปัจจุบันของชาติพันธุ์ .............. 1.4.2. ข้อมูลอื่น ๆ ............. 1.5 ข้อมูลการสำรวจ 1.5.1. แหล่งอ้างอิง ชุมชนบ้านวังน้ำ. (2561). ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี. กำแพงเพชร : สำนักงาน เทศบาลตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง.

เที่ยวไหนต่อ. โฮมสเตย์ไทยทรงดำ บ้านวังน้ำ. Retrieved : 11 May 2019, From   https://www.touronthai.com/travelguide/placeinfo.php?id=148240  

ไทยทรงดำ บ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง กำแพงเพชร. ไทยทรงดำ บ้านวังน้ำ ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง กำแพงเพชร.Retrieved : 3 May 2019, From http://www.sunti-apairach.com/letter/index.php?topic=1043.0;wap2 ไทยทรงดำ. วัฒนธรรมการแต่งกาย. Retrieved : 10 May 2019, From https://sites.google.com/site/thiythrngda/wathnthrrm-kar-taeng-kay วัฒนธรรมไทยทรงดำ. ประเพณีปาดตง. Retrieved : 13 May 2019, From https://sites.google.com/site/praphenithiythrngda/house-1 วัฒนธรรมไทยทรงดำ. พิธีงานศพไทยทรงดำ. Retrieved : 13 May 2019, From https://sites.google.com/site/praphenithiythrngda/project1 เปิดโลก UNSEEN เวียดนาม. ไทดำ เดียนเบียนฟู เมืองแห่งชนชาติไท. Retrieved : 18 April 2019, From http://unseenvietnam.blogspot.com/2016/03/blog- post_37.html วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. เดียนเบียนฟู. Retrieved : 11 พฤษภาคม 2562, From https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B9 วิลาวัลย์ ปานทอง และคนอื่นๆ. (2551). ภาษาและวัฒนธรรมไทยทรงดำ. กรุงเทพฯ : บรรจบวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม. ศิลปวัฒนธรรม. เฮือนไทดำ เมืองแถง (เดียนเบียนฟู เวียดนาม). Retrieved : 11 May 2019, From https://www.silpa-mag.com/history/article_6000 สำนักงานสาธารณสุขอำเภอคลองขลุง. เขตการปกครองอำเภอคลองขลุง. Retrieved : 7 April 2019, From http://www.kkphc.com/index.php?page=page3272 จาก https://sites.google.com/site/praphenithiythrngda/house-1 หมู่บ้านโอทอปเพื่อการท่องเที่ยว. บ้านหนองจิก จังหวัดเพชรบุรี( 2551). Retrieved : 11 May 2019, From http://www.thaitambon.com/otopvillage/141206101022


1.5.2. วันเดือนปีที่สำรวจ 6 มีนาคม 2562 1.5.3. วันปรับปรุงข้อมูล 14 พฤษภาคม 2562 1.5.4. ผู้สำรวจข้อมูล อาจารย์วัชรัศน์ ศรีวิริยะกิจ 1.5.5. คำสำคัญ (tag) ไทยทรงดำ หมายถึง กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในบ้านวังน้ำ หมู่ 4 ตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร บ้านวังน้ำ หมายถึง ส่วนปกครองย่อย ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ของตำบลวังยาง อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร วัฒนธรรมชุมชน หมายถึง แบบแผนในการดำเนินชีวิตที่ดีงามที่ปฏิบัติต่อเนื่องกันมาในชุมชนและสังคม วัฒนธรรมมีพื้นฐานมาจากสิ่งแวดล้อม เช่น สภาพภุมิประเทศ ภูมิอากาศ ศาสนา และความเชื่อ