ฐานข้อมูล เรื่อง ไทยทรงดำ บ้านท่าช้าง อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

ข้อมูลทั่วไป[แก้ไข]

ชื่อชาติพันธุ์[แก้ไข]

        ไททรงดำ

ชื่อเรียกตนเอง[แก้ไข]

         ไททรงดำ หรือ ลาวโซ่ง

ที่ตั้ง[แก้ไข]

ตารางที่ 1 ที่ตั้งของไททรงดำในจังหวัดกำแพงเพชร

อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน
คลองขลุง วังยาง บ้านวังน้ำ
ไทรงาม หนองไม้กอง บ้านสักขี
โค้งไผ่ บ้านหนองกระทิง
ขาณุวรลักษบุรี ป่าพุทรา บ้านวังเรียง บ้านคลองสีนวล
วังหามแห บ้านจิตมาส
โกสัมพีนคร โกสัมพี บ้านคลองเมือง*บ้านทุ่งธารทอง บ้านเขาชายรง
พรานกระต่าย เขาคีริส บ้านคุยป่ายาง
เมือง นครชุม บ้านคลองแม่ลายเหนือ
นิคมทุ่งโพธิ์ทะเล บ้านวังอ้อ
ลานกระบือ ช่องลม บ้านช่องลม บ้านปรือพันไถ
จันทิมา บ้านจันทิมา*
ประชาสุขสันต์ บ้านลานตาบัวบ้านดงอีบุก
คลองลาน คลองลาน หนองผักบุ้ง
คลองน้ำไหล บ้านทุ่งหญ้าคา บ้านท่าช้าง
โป่งน้ำร้อน บ้านโป่งน้ำร้อน

ชื่อที่ผู้อื่นเรียก[แก้ไข]

         ไททรงดำ หรือ ลาวโซ่ง

ภาษาที่ใช้พูดหรือเขียน[แก้ไข]

         มีผู้พูดทั้งหมด 763,700 คน อาศัยอยู่ระหว่างแม่น้ำแดงกับแม่น้ำดำ ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม 699,000 คน (พ.ศ.2545) อยู่ในแขวงคำม่วน ประเทศลาว 50,000 คน (พ.ศ.2538) อยู่ในจังหวัดเลย ประเทศไทย 700 คน (พ.ศ.2547) อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2428 ลาวโซ่ง ก็คือ คนไทดำกลุ่มแรกที่เข้ามาสู่ประเทศไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี นอกจากนี้ยังมีผู้พูดภาษานี้ในออสเตรเลีย จีน ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ภาษาไทดำอยู่ในตระกูลภาษาไท-กะได ภาษากลุ่มกัม-ไท สาขาเบ-ไท สาขาย่อยไท-แสก อัตราการรู้หนังสือภาษาแม่ราวร้อยละ 1-5 เป็นภาษาของชนกลุ่มน้อยที่สำคัญในเวียดนาม
         ชาวไททรงดำมีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ประดิษฐ์สิ่งของเครื่องใช้ด้วยตนเอง มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ปัจจุบันกำลังได้รับการสนับสนุนในการเรียนการสอนภาษาไททรงดำในอำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โรงเรียนที่เปิดสอนภาษาไททรงดำ ได้แก่ โรงเรียนเขาย้อยวิทยาและโรงเรียนวัดหนองปรง
1 พยัญชนะในภาษาไททรงดำ.jpg

ภาพที่ 1 พยัญชนะในภาษาไททรงดำ

2 พยัญชนะในภาษาไททรงดำ (ต่อ).jpg

ภาพที่ 2 พยัญชนะในภาษาไททรงดำ (ต่อ)

3 สระในภาษาไททรงดำ.jpg

ภาพที่ 3 สระในภาษาไททรงดำ

         ชาวไททรงดำ มีภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นของตนเอง ไททรงดำไม่ได้ไม่ได้จัดระบบการศึกษาขึ้นในชุมชนของตนเอง ไม่มีโรงเรียนสอนภาษาไททรงดำโดยตรง การสอนภาษาเป็นเพียงการถ่ายทอดในครอบครัวที่กระทำกันเองเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะสอนแต่เพียงภาษาพูดแก่ทารกที่เกิดใหม่จนสามารถพูดได้ แต่ไม่ได้เน้นด้านการอ่าน การเขียน ทำให้ในปัจจุบัน จำนวนไททรงดำที่สามารถอ่านเขียนหนังสือไททรงดำได้มีจำนวนน้อย เนื่องจากการถ่ายทอดภายในครอบครัวไม่มีประสิทธิภาพที่ดีพอ เพราะไททรงดำส่วนมากจะดิ้นรน เพื่อการดำรงชีวิต ใช้เวลาในการประกอบอาชีพมากกว่าที่จะสอนหนังสืออย่างจริงจัง ปัจจุบันจึงมีชาวไททรงดำที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป บางคนเท่านั้นที่ยังพอสามารถ อ่าน เขียนภาษาไททรงดำได้ ประกอบกับตำราที่เป็นภาษาไททรงดำมีให้อ่านน้อยมาก ส่วนมากจะมีเป็นตำนานเก่าๆ ตำรายาแผนโบราณและบทขับกล่อมตอบโต้กันระหว่างหญิงกับชาย เมื่อมีงานประจำปีหรือเทศกาลเดือนห้าเท่านั้น ไททรงดำที่ได้รับการศึกษาสูงๆ หลายคนพูดภาษาไททรงดำเกือบไม่ได้เลย แม้แต่ภายในกลุ่มชาวไททรงดำ บางชุมชนก็ไม่พูดภาษาไททรงดำด้วยกันแล้ว บางกลุ่มก็พูดผสมกันระหว่างภาษาไททรงดำกับภาษาไทยกลาง ภาษาไททรงดำนี้ ซึ่งลักษณะของภาษาไททรงดำนี้มีสำเนียงคล้ายกับภาษาลาวเวียงจันทร์ ไทยอีสาน ไทยเหนือและมีตัวหนังสือลาวและไทยเหนือรวมอยู่ด้วย
         ภาษาไททรงดำมีลักษณะไม่แตกต่างไปจากภาษาไทยกลาง กล่าวคือ มีลักษณะเป็นคำโดด พยางค์เดียว เช่น คำว่าอ้าย เอม แลง งาย ช่วง เสื้อ เสื่อ สาด เป็นต้น ถ้าจะมีคำหลายพยางค์ก็เอาคำโดดมาผสมกัน เช่น ซ่วงฮี-กางเกงขายาว ลุก-ลูกคนแรก กกแนน-บุญแต่ปางก่อน ผ้าฮ้าย-ผ้าขี้ริ้ว เฮื่อนฮ้าย-เรือนไม่ดี(ไม่เป็นมงคล) และไม่มีเสียงควบกล้ำ เช่น คำว่า ปลา ไททรงดำออกเสียงว่า ปา หรือโตปา, พร้อม ออกเสียงว่า ป้อม, กลางคืน ออกเสียงว่า กางกืน เป็นต้น คำบางคำไม่อาจจะเขียนวรรณยุกต์ในภาาษไทยกำกับการออกเสียงให้ตรงกับการออกเสียงในภาษาไททรงดำได้ เช่น คำว่า “ เจือ” ออกเสียงหนักเบาและเน้นสำเนียงแล้ว เมื่อใช้วรรณยุกต์สามัญแล้ว ก็แปลได้หลายความหมาย คำนี้ ชวน ในประโยคว่า “เจือกันมา” ชวนกันมา คำว่า เครือเถา ประโยคว่า “เจือเถาวัลย์ เจือกล้วย” แปลว่า เชื้อสาย ประโยคว่า “เจือผู้ท้าว” แปลว่า เชื่อ ในประโยคว่า “เหลือเจือ” แปลว่า เหลือเชื่อ หรืออย่างคำว่า “ปี” วรรณยุกต์สามัญออกเสียงสำเนียงต่างกัน จะมีความหมายได้หลายความหมาย ดังนี้ หมายถึง ปี (เวลา 12 เดือน) แปลว่า พี่ แปลว่า อ้วน (เน้นเสียงหนัก) แปลว่า ปลีกล้วย (เสียงต่ำลง) หรือ อย่างบางคำ เช่น คำว่า ลูกสะใภ้ ไม่อาจจะเขียนคำออกเสียงในภาษาไทยให้ตรงได้ จะเขียนได้อย่างใกล้เคียงก็เพียง ลุเป้า เท่านั้น 

ตัวอย่างคำที่ใช้เรียกสิ่งต่าง ๆ

จิ้น → ชิ้น กั๋น → กัน
สี → สี บั๋ง → บัง
เอ๋ม → แม่ ต้าง → ทาง
เต๋ง → ตอน, ยาม ลุ้น → หลัง
แบ๊น → แม่น สู → ท่าน
แก้น → แคน สม → พอ
ขึ่น → ขึ้น ต๊อย → ต่อย
คื้อ → คือ ตอ → ท่อ
เงิ้น → เงิน เผียง → ที่ราบ
เติ๋น → เตือน เสือ → เสือ
ไฟ้ → ไฟ ทั๊ว → ถั่ว
เต๊า → เต่า จอื้อ → ใจ
จั่ม → จ้ำ

ประวัติและความเป็นมาของชาติพันธุ์ไททรงดำ ณ หมู่บ้านท่าช้าง[แก้ไข]

         บ้านท่าช้างเมื่อ พ.ศ.2500 ยังมีสภาพป่าสมบรูณ์ มีชื่อเดิมว่า ปางยางและมีผู้คนมาจับจองที่ทำกินมาจากหลายจังหวัด เช่น นครสวรรค์ สุโขมัย นครปฐม สุพรรณบุรี เพชรบุรี พิจิตร พิษณุโลก และอุทัยธานี เมื่อคนไทยมารวมตัวกันอยู่ ณ หมู่บ้านท่าช้างจึงได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นมีหลวงตา ชื่อ ปั่น จำวัดอยู่ 3 ปี ก็ได้จากบ้านท่าช้างไป ต่อมา พ.ศ.2504 ชาวบ้านท่าช้างก็ได้จัดที่เรียนให้เด็กๆ ที่ศาลาวัดและขอครูมาจากโรงเรียนคลองน้ำไหล 1 ท่าน ชื่อ ครูบัว สอนอยู่ได้ 1 ปี ครูเก้าสอนอยู่ 3 ปี ครูสนามอยู่ได้ 6-7 ปี ครูสำเนียงอยู่หลายปี
4 เรือนไททรงดำปัจจุบัน.jpg

ภาพที่ 4 เรือนไททรงดำปัจจุบัน

         ในด้านการปกครองเมื่อมาคนเข้าอยู่มาก กำนันสุคำ ปิ่งขอด ได้ตั้งให้พ่อพา ประสิทธิเขตกิจ เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านดูแลลูกบ้านท่าช้างและบ้านทุ่งหญ้าคา และเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นหมู่บ้านท่าช้างตั้งแต่นั้นมา จนถึง พ.ศ.2521 ได้เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกคือ นายเสาร์ เรืองทองสุข ได้ทำหน้าที่ 15 ปี ลำดับที่ 2 คือ นายสังเวียน อยู่อ้าง ทำหน้าที่ 2 ปี เสียชีวิต ลำดับที่ 3 นายเทียน ประสิทธิเขตกิจ ทำหน้าที่ 10 ปี และคนปัจจุบันคือ นายไพร เสนาพิทักษ์ อยู่ในวาระ 1 สมัย ปัจจุบันเกษียณอายุ ปัจจุบันชาวบ้านมีความคิดร่วมกับคณะกรรมการไทดำจะสืบทอดวิถีชีวิตและประเพณีไทดำ ให้แก่เด็กๆ นักเรียนในบ้านท่าช้าง เด็กๆและคนทั่วไปที่สนใจในวิถีชีวิตประเพณีของไทดำ อยากจะเผยแพร่วัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของบรรพบุรุษออกสู่สังคมภายนอก
         บ้านท่าช้างได้เริ่มต้นวัฒนธรรมไทดำ เมื่อ พ.ศ.2541 มีอาจารย์ริคม ฟูแก้ว ที่สอนอยู่โรงเรียนท่าช้างสมัยนั้นเป็นผู้ดำเนินการ ต่อมาในปี พ.ศ.2543 ประธานไทดำ นายปี ทองเย็น ได้ของบประมาณโดยตรงจากประธาน อบต.คลองน้ำไหล ท่านสุนทร ประสิทธิเขตกิจ ซึ่งท่านเป็นคนท่าช้าง ก็ได้ร่วมกันจัดงานไทดำทุกปี บางปีก็งบประมาณน้อย ชาวหมู่บ้านไททรงดำก็จะออกเรี่ยไรเงินเพื่อจัดงาน ซึ่ในปัจจุบันงานไททรงดำได้จัดผ่านมาแล้ว 15 ปี เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2555 นี้เอง นอกจากงานจะสามารถจัดขึ้นได้ทุกปีแล้ว พวกเราชาวบ้านท่าช้างยังได้เกิดความรักความสามัคคีที่มากขึ้นผ่านกิจกรรมต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว เราได้ร่วมสร้างจิตสำนึกในวิถีชีวิตประเพณีไทดำที่เป็นประเพณีหลักของเรา ได้สืบทอดวัฒนธรรมไทดำ ไปสู่ครู อาจารย์ เยาวชน เด็ก ๆ นักเรียนบ้านท่าช้าง โดยเฉพาะเด็กๆได้มีโอกาสเรียนภาษาไทดำ พูดและเขียนหนังสือไทดำ นอกจากนั้นแล้วคณะครูพร้อมเด็ก ๆ ยังได้ร่วมกันแต่งกายชุดไทดำทุกๆวันศุกร์ด้วย

ข้อมูลประชากรศาสตร์[แก้ไข]

         -

ข้อมูลเชิงภูมิศาสตร์[แก้ไข]

         -

วิถีชีวิต[แก้ไข]

อาชีพ[แก้ไข]

         1. การทอผ้าและหัตถกรรมการปักเย็บผ้ายังคงปรากฏให้เห็นในบางหมู่บ้าน โดยเฉพาะหมู่บ้านที่มีการรวมตัวกันของแม่บ้านไทดำเพื่อเสริมสร้างรายได้ให้แก่หมู่บ้านและครอบครัว
5 การทอผ้าในหมู่บ้าน.jpg

ภาพที่ 5 การทอผ้าในหมู่บ้าน

         2. การทำเครื่องจักสานยังปรากฏให้เห็นอยู่ในบางหมู่บ้านที่ผู้สูงอายุยังคงปฏิบัติกันอยู่ ทั้งที่เป็นการประกอบอาชีพและกิจวัตรประจำวัน นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มเพื่อทำเครื่องจักสานเป็นสินค้า OTOP ไทดำที่สำคัญเช่น “กะเหล็บ” ซึ่งหญิงไทดำใช้เหมือนกระเป๋าเก็บของที่จะพกติดตัวโดยจะสะพายควบคู่ไปกับการแต่งชุดไทดำเต็มยศในงานประเพณีต่างๆ พานสำหรับเครื่องเซ่น หรือ “พานเผือน” 
6 การทำเครื่องจักรสาน.jpg

ภาพที่ 6 การทำเครื่องจักรสาน

         3. การทำเกษตรกรรม เป็นอาชีพหลักของคนส่วนมากในชาวไททรงดำ เพื่อนำผลผลิตที่ได้ไปขายหรือนำมาเก็บไว้รับประทานเองในครัวเรือน 

ครอบครัว[แก้ไข]

         ครอบครัวของชาวไททรงดำดำรงชีวิตแบบครอบครัวชาวอีสานทั่วไป มีความเชื่อ มีประเพณีวัฒนธรรมต่าง ๆ ในปัจจุบันประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นได้หายไปตามกาลเวลา แต่สำหรับชาวไททรงดำนั้น ยังคงรักษาความเชื่อ ประเพณีสืบทอดกันมาอย่างเคร่งครัด

การแต่งกาย[แก้ไข]

ภาพที่ 1 เสื้อใตผู้ชาย.jpg

ภาพที่ 7 การแต่งกายของชายไททรงดำ

เครื่องแต่งกายชาย
         กางเกงชายมี 2 แบบ ขายาว เรียก “ส้วงขาฮี” “ขาสั้น”เรียกว่า“ส้วงก้อม” (คำว่า ก้อม หมายถึงสั้นหรือพอดีตัว) ส้วงก้อม คล้ายกางเกงขาก๊วยของจีน
         เสื้อมี 2 แบบคือ เสื้อไท เป็นเสื้อคอตั้ง แขนยาวรัดเอว ปลายย้วยเล็กน้อย ติดกระดุมเงิน 2 ซุม ซุ่มละ 9 เม็ด เสื้อฮี เป็นเสื้อคอกลมแขนยาว ตัวยาวมาปิดก้น ความงามอยู่ด้านข้างโชว์ลายซึ่งเรียกว่า “คอกุด” เสื้อฮีชายใส่ได้ด้านเดียว
         เสื้อฮีใช้ในพิธีสำคัญ ผู้ชายจะนุ่งกางเกงขายาวสีดำ ที่เรียกว่า “ส้วงขาฮี” เสื้อผ้าฝ้ายย้อมครามตัวเสื้อเข้ารูปเล็กน้อย ผ่าหน้าตลอด ความยาวคลุมสะโพกด้านข้างผ้าขึงเอว คอเสื้อเป็นคอกลมติดกุ๊นรอบคอด้วยไหมสีแดง ตรงคอเสื้อมีกระดุมติดไว้ 1 เม็ด แขนเสื้อเป็นแขนกระบอกยาวปักตกแต่งรักแร้และด้านข้างของตัวเสื้อด้วยไหมสีต่างๆ ติดกระจกชิ้นเล็กๆ ตามลวดลายอย่างสวยงาม ซึ่งจะใช้ในงานพิธีสำคัญ เช่น งานตาย งานแต่งงาน งานเสน เป็นต้น 
ภาพที่ 2 เสื้อก้อมผู้หญิง.jpg

ภาพที่ 8 การแต่งกายของหญิงไททรงดำ

เครื่องแต่งกายของหญิง          
         หญิงจะมีผ้าซิ่นลายแตงโม ประกอบด้วยผ้า 3 ชิ้น คือ ตีนซิ่น ตัวซิ่น หัวซิ่น หญิงแต่ละวัยจะนุ่งไม่เหมือนกัน ดังคำกลอนของชาวไททรงดำว่า “สาวน้อยขอดซอยเอื้อมไหล่ สาวใหญ่ๆ นุ่งซิ่นต่อหัว สาวมีผัวนุ่งซิ่น 2 ซ้อน” เสื้อของผู้หญิงก็มีเสื้อก้อมกับเสื้อฮี เสื้อฮีผู้หญิงใช้เย็บนุ่งได้ 2 ด้าน ด้านมงคลมีลวดลายน้อย ด้านอวมงคลมีลวดลายมากและใช้คลุมหลังโลงศพเวลาตาย ปกติใช้เสื้อก้อมเป็นเสื้อแขนยาวคอตั้งติดกระดุม 9 เม็ด หรือ 1 เม็ด ตรงสาบเหนือสะดือจะเว้าประมาณ 1 นิ้วครึ่ง เพื่อโชว์หน้าท้องและเข็มขัดเงิน สีที่ใช้แต่งเสื้อฮีหรือทำหน้าหมอนจะมีสีหลัก 4 สี คือ แดงเลือดหมู สีส้ม สีเขียวและสีขาว
         ผ้าสไบสาวๆ ใช้ผ้าสี คนมีอายุจะใช้ผ้าเปียวหรือผ้าฮ้างนมสีดำ ซึ่งเป็นดอกสวยงาม การนุ่งผ้าซิ่นจะนุ่งหน้าสั้นหลังยาว สองชายพับมารวมตรงหน้าและพับตลบหลังทับกันตรงหน้าท้อง สะดวกในการเดินและทำให้เนื้อผ้าซิ่นไม่แยก เวลาทำงานหนักมักใช้สไบคาดเอว เน้นความเข้มแข็งทะมัดทะแมง หญิงไททรงดำขยัน เวลาตายจะนุ่งผ้าซิ่นให้ศพ 3 ผืนต้องเป็นซิ่นลาวและมีผ้าไหมปิดหน้า ถ้าไม่มีจะถูกผู้ใหญ่ในชุมชนตำหนิติเตียน
9 การแต่งกายของหญิงไททรงดำในอดีต.jpg

ภาพที่ 9 การแต่งกายของหญิงไททรงดำในอดีต

เครื่องแต่งกายของเด็ก
         เด็กเล็ก ๆ มักจะใช้ผ้าผืนหนึ่งปิดหน้าอก หน้าท้องมีสายโยงไปข้างหลังผูกมัดกันไว้ ผ้าชนิดนี้ คนจีนเรียกว่า “ผ้าเอี๊ยม” เด็กอาจนุ่งกางเกงใส่เสื้อก็ได้ แต่ส่วนมากมักไม่นุ่งกางเกง สวมแต่เสื้อ เพราะเกรงจะถ่ายอุจจาระเปื้อนกางเกงได้ เด็กไททรงดำมีหมวกแปลกกว่าเด็กชาติอื่น คือ ที่หมวกของเด็กไททรงดำมีชายสีดำยาว ซึ่งป้องกันความร้อนได้ดี ส่วนด้านหน้าก็ปักเป็นลวดลาย สวยงาม (เรียกหมวกว่า  “มู๊ ”) นอกจากนี้ยังมีสายสะพานสีดำ เรียกว่า “พานหลา” ซึ่งพันรอบตัว “มะหมันหงอ” คล้ายพญานาค 5 ตัว ห้อยอยู่ พญานาคนี้จะทำด้วยไม้หรือของแข็งอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วใช้ผ้าหุ้มและปักลวดลายสวยงาม เข้าใจว่าจะใช้พิทักษ์รักษาเด็กให้ปลอดภัยจากอันตรายที่ใกล้ๆ พญานาค จะมีกระเป๋าเล็กๆ เย็บติดไว้ เมื่อเวลาพาเด็กไปไหว้ผู้ใหญ่เขาจะใส่สตางค์หรือเครื่องเงินทองไว้ในกระเป๋านี้และอวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข สายสะพายนี้น่าชมเชยคนคิดริเริ่ม เพราะช่วยให้ปลอดภัยในการเดินทางและเบาแรงคนอุ้มด้วย ถ้าสังเกต ผ้าซิ่นของแม่ที่อุ้มลูกจะเห็นชายข้างหน้าสั้นกว่าข้างหลัง เป็นแบบที่สะดวกในการเดินทางมาก 

ที่อยู่อาศัย/ความเป็นอยู่[แก้ไข]

ภาพที่ 5 เรือนจำ.jpg

ภาพที่ 10 เรือนจำลองของชาวไททรงดำ

         เฮือน (เรือน) ไทดำแบบดั้งเดิมมีลักษณะที่โดดเด่นเป็น เอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม คือ มีหลังคาทรงโค้งรูปกระดองเต่า มุงหญ้าคายาวคลุมลงมาเกือบถึงพื้นดินแทนฝาเรือน เพื่อป้องกันลม ฝน และอากาศที่หนาวเย็น (ในอดีตชุมชนไทยดำตั้งอยู่ในแถบอากาศหนาว) ตัวเรือนยกใต้ถุนสูงเพื่อประโยชน์ในการเก็บสิ่งของเครื่องใช้ เป็นที่ประกอบการงาน เช่น ทอผ้า ตำข้าว เป็นคอกเลี้ยงสัตว์ มักมีแคร่ไว้นั่งนอนและเป็นที่รับแขกในเวลากลางวัน เสาเรือนทำด้วยไม้ทั้งต้น มีง่ามไว้สำหรับวางคาน ยอดจั่วประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นกิ่งคล้ายเขาควายไขว้กัน เรียกว่า “ขอกุด” พื้นเรือนทำด้วยไม้ไผ่ทุบเป็นชิ้นๆแผ่ออกติดกัน ภายในตัวบ้านเป็นพื้นที่โล่งแบ่งส่วนสำหรับที่นอน ครัว และเป็นส่วนที่บูชาผีเรือน เรียกว่า “กะล้อห่อง” มีชานแดดยื่นออกจากตัวบ้าน มีบันไดขึ้นเรือน 2 ทาง มียุ้งข้าวที่สร้างเป็นเรือนยกเสาสูงไว้ข้างที่พักอาศัย คนไทดำจะปลูกบ้านอยู่ใกล้ๆกัน
         ต่อมารูปแบบเรือนไทดำได้ เปลี่ยนแปลงไปตามความจำเป็นและความเหมาะสมตามยุคสมัย หญ้าคาที่นำมาทำวัสดุมุงหลังคาหายาก ไม่คงทน ทั้งยังเป็นวัสดุที่ง่ายต่อการติดไฟ เนื่องจากบ้านไทดำปลูกใกล้กันเป็นกลุ่ม หากเกิดไฟไหม้จะลุกลามไปบ้านอื่นๆได้รวดเร็ว ลักษณะบ้านและวัสดุที่ใช้จึงเปลี่ยนเป็นไม้เนื้อแข็ง หลังคาเป็นสังกะสี มีการแบ่งกั้นห้องตามลักษณะการใช้สอย

ปัจจุบันเรือนไทดำมีลักษณะผสม ผสานระหว่างเรือนแบบดั้งเดิมกับเรือนสมัยใหม่ บ้างก็ใช้วัสดุผสมของปูนกับไม้ บางบ้านก็เป็นรูปทรงสมัยใหม่ไม่มีเอกลักษณ์ของไทยดำอยู่เลย แต่ไม่ว่าลักษณะที่อยู่อาศัยของคนไทยดำจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทุกบ้านจะมีห้องสำหรับบูชาผีเรือน นับเป็นความน่าเสียดายว่าลักษณะที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มไทดำ แท้ๆกำลังจะสูญหาย แม้ที่ตำบลหนองปรงจะมีเรือนไทยดำแบบดั้งเดิมอยู่ แต่ก็เป็นเพียงเรือนที่สร้างจำลองไม่มีผู้อยู่อาศัย

ประเพณี[แก้ไข]

ความเชื่อ[แก้ไข]

วัฒนธรรมการเสนเฮือน
         คือ การเซ่นไหวผีบ้านผีเรือนของชาวไททรงดำ คำว่า “เสนเฮือน” เดิมคำว่าเสรเฮือนน่าจะเป็นเซ่นผีเฮือนแล้วกร่อนเป็น เซ่นเฮือนแล้วจึงกลายเป็น “เสนเฮือน”(เฮือน – เรือน) ในที่สุด การเสนเฮือนในปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ เสนเฮือนธรรมดาและเสนผีเรียกขวัญ เสนเฮือนธรรมดานั้นเมื่อบ้านใดกำหนดว่าจะเสนแล้ว บ้านนั้นมักเตรียมเลี้ยงสุกรแก่คนที่มางานเสนเฮือน ชาวไททรงดำจำแนกตามลักษณะการถือผีเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสายผีผู้น้อยและกลุ่มสายผีผู้ท้าว
11 หมอเสน (พ่อมด) ผู้ทำพิธี.jpg

ภาพที่ 11 หมอเสน (พ่อมด) ผู้ทำพิธี

12 อาหารสำหรับเซ่นไหว้.jpg

ภาพที่ 12 อาหารสำหรับเซ่นไหว้

         เสนผู้ท้าวหรือที่ชาวไททรงดำเรียกว่า เสนใหญ่ ชาวไททรงดำจะมีการฆ่าควายเพื่อนำมาใช้ในการทำพิธีกรรม ส่วน “เสนผู้น้อย” จะมีการฆ่าสุกร 1 ตัว สำหรับใช้ในงานเสน เมื่อได้กำหนดหมอผีที่ทำพิธีซึ่งต้องกำหนดวันล่วงหน้า โดยบ้านเสนจะไปรับญาติมิตรที่บอกงานเสนไว้ ซึ่งญาติมิตรเหล่านี้จะหาเหล้ามาช่วยงาน(ปัจจุบันอาจมีการช่วยเป็นเงินบ้าง) ส่วนเจ้าบ้านเสนนั้นจะมีการฆ่าสุกรเพื่อเซ่นผี ก่อนฆ่าจะมีการบอกผีเฮือนและพระภูมิเจ้าที่ก่อนและการชำแหละเนื้อสุกรนั้นต้องเอามาชำแหละในห้องผีเฮือน เมื่อจัดเสนเฮือนเสร็จแล้ว เจ้าของบ้านเสนจะนำหมูที่เหลือไปให้แม่ครัวปรุงอาหารเลี้ยงแขกต่อไป หมูที่ใช้ในพิธีเสน คือส่วนที่เป็นซี่โครงเจ็ดซี่ ข้อสันหลังเจ็ดข้อ นำไปใส่กระบะพร้อมด้วยเหล้า เมื่อถึงเวลาหมอผีจะเข้าไปในห้องผีเฮือน เริ่มพิธีบอกผีเฮือน สำหรับลูกเขย ลูกสะใภ้  หลานเขยหลานสะใภ้ที่เข้าพิธีจะต้องแต่งกายชุดพิเศษ จนกว่าจะยกเครื่องเซ่นไหว้และเลี้ยงแขกเสร็จงาน เมื่อเลี้ยงอาหารเรียบร้อยแล้วหมอผีจะเริ่มร้องขับกล่าวเชิญวิญญาณผีญาติเจ้าของเรือนนั้นที่เชื่อว่าอยู่เมืองสวรรค์ให้ลงมา ณ ห้องพิธีพร้อมกัน เพื่อเชิญกินอาหารที่จัดไว้ เมื่อผีทุกตนอิ่มแล้วจะเรียกลูกสะใภ้(ถ้ามี) มาแนะนำให้ผีทั้งหมดรู้จักว่าคนนี้ได้มาร่วมเป็นญาติกับเรา ขอให้ช่วยคุ้มครองให้เกิดสิริมงคล ส่วนผู้ที่มาลูกเขยนั้นเพียงแต่แนะนำเท่านั้น ประมาณบ่ายสองโมง หมอผีจะเชิญผีกินอาหารอีกครั้งหนึ่งสมมุติให้เป็นข้าวกลางวัน ต่อด้วยเชิญดื่มเหล้าเป็นชุดที่สาม แล้วจึงกล่าวเชิญวิญญาณกลับสู่สวรรค์  เมื่อหมดการเชิญวิญญาณแล้ว หมอผีจะกล่าวลาผีลงมาจากสวรรค์ก็เป็นอันเสร็จพิธี การเชิญผีตามลำดับญาติหมอเสนจะเชิญผีชั้นทวดลงมาเท่านั้น  บางรายญาติที่เสียชีวิตมากก็ต้องใช้เวลานานในการเชิญผีมาและเชิญผีกลับ
         เสนตังบั่งหน่อ คือ การที่คนรับเลี้ยงมด(คือ พ่อมด แม่มดหรือหมอมนต์ หมอบ้าน หมอเมือง ซึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีในการเสนเรือน) แสดงความเคารพด้วยการเซ่นไหว้ มดมี 2 ชนิด คือ มดดูแลรักษาบ้านกับมดชอบเที่ยวสนุก คนที่จะเสนตังบั่งหน่อคือ มดที่ชอบเที่ยว ชอบสนุก มีสุขภาพจิตและฐานะทางสังคมดีคือ มีเกียรติสูงกว่ามดอยู่กับบ้าน การจะเสน จะเสนหลังจากเสนหมูคือเสนเรือนหรือผีเรือนธรรมดาที่ทุกครอบครัวมี แต่เสนตังบั่งหน่อจะเสนเฉพาะที่มีมดเที่ยว มดชอบสนุกเท่านั้น ทำพิธีประมาณ 16.00 น. เสร็จพิธีประมาณไม่เกิน 20.00 น. เมื่อเสร็จพิธีแล้วจะมีการรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน พิธีเสนตังบั่งหน่อ คนไททรงดำหลายคนไม่รู้จัก เพราะการเสนชนิดนี้มีจำนวนน้อยครอบครัว บางบ้านก็ เสนตังบั่งหน่อโดยไม่มีการเสนเรือนก็มี การเริ่มทำพิธีจะเริ่มก่อนอาหารเย็น คนร่วมงานก็ไม่นิยมบอกคนจำนวนมากและจะทำเฉพาะญาติบ้านใกล้เรือนเคียงเท่านั้น
         เสนอตังบั่งหน่อ เป็นพิธีที่มีการเป่าปี่ ร่ายรำ กระแทกกระบอกไม้ไผ่(บั้งหน่อ) มีร่มขาว ร่มแดง มีพวงมาลัยคล้องคอเชิญชวนผู้มางานไปรำ มีคติว่าร่ายรำแล้วจะหายเจ็บหลัง เจ็บเอว เกิดความสวัสดิมงคลแก่ผู้ปฏิบัติ เป็นพิธีบวงสรวงที่สวยสดงดงามประเพณีหนึ่ง ผู้ประกอบพิธีคือ พ่อมด หมอเสนเฮือน(หมอเสน) ต้องแต่งตัวตามแบบประเพณี คือ มีเสื้อเฉพาะสวมตลอดพิธีและถือพัด ส่วนแขกที่มาร่วมงานจะใส่ชุดปกติ คือ ชุดไททรงดำ

===ศาสนา=== การนับถือศาสนาของชาวไททรงดำจะนับถือศาสนาพุทธเป็นส่วนมาก แต่จะมีความเชื่อเรื่องการนับถือผีมากกว่า เพราะเชื่อว่าเทพยดานั้นปกปักรักษาชีวิตซึ่งผีที่ชาวไททรงดำให้ความสำคัญได้แก่ 1.ผีแถน (ผีฟ้า) เป็นเหมือนเทพเจ้าสูงสุดของศาสนา เชื่อว่าผีแถนเป็นผู้สร้างโลกและสามารถทำลายโลกเมื่อใดก็ได้ตามที่ต้องการ 2.ผีบ้านผีเรือน เป็นผีที่คุ้มครองป้องกันบ้านเรือนให้ร่มเย็นเป็นสุขและอุดมสมบูรณ์ 3.ผีบรรพบุรุษ เป็นผีของปู่ ย่า ตา ยาย หรือ พ่อแม่ ที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว ซึ่งจะถูกอัญเชิญขึ้นมาไว้บนเรือน ณ ห้องผีเรือน/ห้องของบรรพบุรุษ และ 4.ผีป่า ผีขวางและผีอื่นๆ เป็นผีที่สถิตอยู่ตามป่า ภูเขา แม่น้ำ หรือสถานที่ต่างๆ ซึ่งหากคนทำให้ไม่พอใจก็อาจถูกลงโทษให้เจ็บป่วยได้เช่นกัน ในปัจจุบันชาวไททรงดำนับถือศาสนาพุทธ มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ประพฤติปฏิบัติตามแนวทางคำสอนของพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพุทธศาสนิกชนทั่วไป แต่ยังคงนับถือผี เพราะเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีของลูกหลานและเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง/ครอบครัวสืบไป

ประเพณีอื่น[แก้ไข]

พิธีแต่งงาน
         การแต่งงานของคนไทดำ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะใส่เสื้อผ้าฮี ฝ่ายชายจะพาฝ่ายหญิงไปบอกผีบรรพบุรุษที่บ้านว่าเป็นลูกสะใภ้ และฝ่ายหญิงก็จะพาฝ่ายชายไปบอกผีบรรพบุรุษเช่นกันว่าเป็นลูกเขย
พิธีศพ
         การตายของไทดำจะมีขั้นตอนหลักที่ขาดไม่ได้ คือ อาบน้ำแต่งตัวศพ ตั้งศพเพื่อสวดศพและร้องไห้หน้าโรงศพ เผาศพ เอาผีขึ้นเรือนทำ “แฮ้ว” หรือเรือนผู้ตาย บอกทางให้ผู้ตายไปสู่เมืองฟ้า และเซ่นไหว้ อำลาผี 

ศิลปะการแสดง[แก้ไข]

         ชุมชนชาวไททรงดำ มีกิจกรรมอันเป็นวัฒนธรรมประเพณีของตนเอง ซึ่งแตกต่างจากสังคมรวมโดยทั่วไป เช่น งานชุมนุมไททรงดำ ทุกวันที่ 9-10 เมษายน ของทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกชาวไททรงดำในตำบลต่างๆ ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิด มีปฏิสัมพันธ์ทางด้านขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมร่วมกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีระหว่างชุมชน เกิดผลดีทางด้านการติดต่อสื่อสาร รวมถึงเด็กรุ่นใหม่จะได้เห็นการปฏิบัติทางวัฒนธรรมและเกิดทัศนคติที่ดีต่อวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวไททรงดำ
         การจัดงานไททรงดำมีผลต่อการสืบทอดวัฒนธรรม การรับประทานอาหาร ขั้นตอนการทอผ้า การแต่งตัวด้วยผ้าพื้นบ้านที่ปักลวดลายสวยงาม ส่วนใหญ่แล้วสมาชิกชาวไททรงดำมักจะทอเก็บไว้เพื่อใส่ในงานชุมนุมไททรงดำในแต่ละปี ในส่วนการแสดงและการละเล่นของชาติพันธุ์ไททรงดำนั้นนิยมการเล่นคอน ซึ่งเป็นการละเล่นที่มักจะเล่นในเดือน 5 ทั้งเดือน โดยทั่วไปการเล่นคอนนั้นหนุ่มๆมักไปเล่นในตำบลอื่นซึ่งมักจะรวมตัวกันประมาณ 5 –10 คน ในจำนวนนี้มักมีหมอแคน(คนเป่าแคน) หมอขับ(คนว่าแก้กัน) หมอลำ(หัวหน้าร้องเพลงเกี้ยวกัน) ไปด้วย การแต่งกายในขณะเล่นคอน โดยเฉพาะการทอดลูกช่วง ทั้งชายและหญิงนิยมสวมเสื้อฮีไม่เอาลายออก ระหว่างนี้จะมีการเอาเครื่องแต่งกายคือ สะใบ เสื้อฮี ผ้าซิ่น กางเกง มาอวดกัน มีการวิจารณ์ซึ่งกันและกัน หากใครสนใจของผู้ใดก็จะสอบถามกันถึงการผลิต การตกแต่งและยังมีการสนทนากันถึงเรื่องอื่นๆ ตลอดเวลาการเล่นคอนอีกด้วย
         นอกจากนั้นแล้ว ประเพณีการละเล่นที่สำคัญของชาวไทดำคือ “เล่นคอน-ฟ้อนแคน” “ขับไทดำ” และฟ้อนไทดำ ประเพณีเล่นคอน-ฟ้อนแคน มีจุดประสงค์เพื่อความบันเทิงและสร้างความสามัคคี เชื่อมโยงความสัมพันธ์กันในชุมชนในช่วงเทศกาลตรุษสงกรานต์ มีกิจกรรมได้แก่การจุดธูปบอกกล่าวเจ้าที่ ชาวบ้านรวมกลุ่มกันแบ่งฝ่ายชาย-หญิง มีการนำลูกคอนไปโยนเล่นเพื่อความสนุกสนานมีการขับร้อง จากนั้นเซิ้งแคนและร้องรำหยอกล้อกันไปตามจังหวะเพลง และจับกลุ่มพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสอบถามทุกข์สุขระหว่างกัน
         ซึ่งปัจจุบันไม่ค่อยปรากฏกันแล้ว ส่วนการขับไทดำ การฟ้อนแคน และฟ้อนไทดำยังคงมีอยู่ทุกงานเทศกาลหรือทุกกิจกรรมรื่นเริง 

ข้อมูลอื่น ๆ[แก้ไข]

สถานการณ์ปัจจุบันของชาติพันธุ์[แก้ไข]

         -

ข้อมูลอื่น ๆ[แก้ไข]

         -

ข้อมูลการสำรวจ[แก้ไข]

วันเดือนปีที่สำรวจ[แก้ไข]

         วันที่ 14 ธันวาคม 2560

วันที่ปรับปรุงข้อมูล[แก้ไข]

         -

ผู้สำรวจข้อมูล[แก้ไข]

         อาจารย์วีรวรรณ  แจ้งโม้
         นางสาวพรศิริ  แก้วดวงผาง
         นางสาวนฤมล  นวนทัด
         นางสาวธนารักษ์  จันทร์จอม
         นางสาวภูริตรา  แก้วคำทูล
         นาย ทรงพล  ใจเดช
         นางสาวน้ำเพชร  ดิษสงค์
         นางสาวจิตรลดา  คำอิ่น

คำสำคัญ (tag)[แก้ไข]

         ไททรงดำ, อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร, กลุ่มชาติพันธุ์