พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ วัดบางกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         วัดบางสร้างขึ้นตั้งแต่ราว ปี พ.ศ.2420 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณ ปี พ.ศ.2430 โดยถือเป็นวัดที่อายุเก่าแก่อีกแห่งของจังหวัดกำแพงเพชร ภายในวัดมีพระพุทธที่ศักดิ์สิทธิ์และมีอายุเก่าแก่เป็นที่เคารพของชาวจังหวัดกำแพงเพชรหลายองค์ แต่ที่มีความเด่นและเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่คนกำแพงเพชร ได้แก่ หลวงพ่อสุโขทัย หลวงพ่อเพชร และพระกำแพงซุ้มกอ โดยแต่ละองค์มีประวัติความเป็นมาดังนี้
         1. หลวงพ่อสุโขทัย (หลวงพ่อใหญ่) พระประธานในอุโบสถ พระนามว่าหลวงพ่อสุโขทัย เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญของวัดบางเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามถึงที่สุดมีพุทธลักษณะงดงาม อ่อนช้อยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ข้อมูลว่า สุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดคือ สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งราชวงศ์พระร่วง ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง พระองค์ก็สามารถขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวางไปจนถึงมลายู หลวงพ่อสุโขทัยวัดบาง มีหลักฐานที่ไม่ชัดเจน 
         หลวงพ่อสุโขทัย วัดบางกำแพงเพชร เคยประดิษฐานที่วัดกุฏิพงษ์ ปัจจุบันคือธนาคารกรุงศรีอยุธยา เจ้าอาวาสองค์แรกซึ่งก่อนหลวงพ่อธรรมมาธิมุตตมุนี (หลวงพ่อผิว) อัญเชิญมาประดิษฐานตอนสร้างโบสถ์ ซึ่งไม่มีหลักฐานใดชี้ชัดว่ามาจากที่ใดกันแน่ อย่างไรก็ตามหลวงพ่อสุโขทัยก็ยังเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญและสวยงามของวัดบางเช่นเดียวกับหลวงพ่อเพชร
         2. หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ที่หล่อด้วยสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่พบในเมืองกำแพงเพชร เก่าแก่สมัยเชียงแสน ที่เรียกกันว่า สิงห์หนึ่ง ซึ่งนับว่าไม่ได้เห็นกันได้ง่ายนัก พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนได้รับอิทธิพลมาจาก พระพุทธรูปของอินเดียแบบปาละ  มีพุทธลักษณะที่อวบอ้วน พระพักตร์กลมสั้น พระหนุ (หะนุ) หรือคาง เป็นปุ่มยื่น เม็ดพระศกเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ พระอุระนูนใหญ่ จีวรบางแนบไปกับพระวรกาย และที่สำคัญที่สุดคือ ชายสังฆาฏิพาดสั้นอยู่เหนือ ราวพระอุระ ด้านซ้าย ประทับ ปางมารวิชัย แบบขัดสมาธิเพชร งดงามมาก 
         3. พระกำแพงซุ้มกอ จัดเป็นพระที่สุดยอด และเอกของเมืองกำแพงเพชร เป็นพระที่อมตะ ทั้งพุทธศิลป์ และพุทธคุณถูกจัดอยู่ในชุดเบญจภาคีที่สูงสุดของพระเครื่องเมืองไทย พระกำแพงซุ้มกอ เป็นพระที่ทำจาก เนื้อดินผสมว่านและเกสรดอกไม้ พุทธลักษณะของพระซุ้มกอนั้นองค์พระประติมากรรม ในสมัยสุโขทัย นั่งสมาธิลายกนกอยู่ด้านข้างขององค์พระนั่งประทับอยู่บนบัวเล็บช้าง ขอบของพิมพ์พระจะโค้งมนลักษณะคล้ายตัว ก.ไก่ คนเก่า ๆ จึงเรียกว่า “พระซุ้มกอ” 

คำสำคัญ : วัดบาง, หลวงพ่อเพชร, หลวงพ่อสุโขทัย, พระซุ้มกอ, พระพุทธรูป, กำแพงเพชร, จังหวัดกำแพงเพชร

ประวัติและที่ตั้งวัดบาง[แก้ไข]

         วัดบาง สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ราว พ.ศ.2420 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ประมาณ พ.ศ.2430 มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา ปีละ 21 รูป สามเณร 8 รูป (ข้อมูลที่เก็บเมื่อนานมาแล้ว) ทางวัดได้เปิดสอนพระปริยัติธรรม พ.ศ.2515 เมื่อปี พ.ศ.2501 ทางราชการได้ประกาศรวม "วัดกุฎีพงษ์" ซึ่งเป็นวัดร้างเข้าเป็นวัดเดียวกับวัดบางอีกด้วย (พระสังฆาธิการ, 2563) ผู้พัฒนาและทะนุบำรุง วัดบางกำแพงเพชร โดย พระธรรมาธิมุตนี (ผิว จ.นทสโร) เจ้าอาวาสองค์แรก และยังเป็นผู้ที่นำหลวงพ่อเพชรและหลวงพ่อสุโขทัย มาประดิษฐานในวัดบาง ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่
1 พระธรรมาธิมุตนี.jpg

ภาพที่ 1 พระธรรมาธิมุตนี (ผิว จ.นทสโร) เจ้าอาวาสองค์แรก (พระสังฆาธิการ, 2563)

พระพุทธรูปสำคัญที่ประดิษฐานในวัดบาง[แก้ไข]

2 หลวงพ่อเพชร (ประดิษฐานอยู่ด้านในวิหาร).jpg

ภาพที่ 2 หลวงพ่อเพชร ประดิษฐานอยู่ด้านในวิหาร วัดบาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

         กรุงศรีอยุธยาราชธานี	       บทกวีกล่าวขานหลายสมัย
   มรดกตกทอดให้สืบไป	       หลวงพ่อเพชรยิ่งใหญ่ไว้บูชา
   เป็นพระพุทธเชียงแสนสุโขทัย     แรกพบเมืองเชียงใหม่ศึกพม่า
   มีสององค์เล็กใหญ่ตระการตา      มวลประชาศรัทธาขอพรชัย
   องค์น้องประดิษฐานวัดท่าหลวง   ดั่งทรัพย์ทรวงพิจิตรพิสมัย
   หลวงพ่อเพชรองค์พี่ขนาดใหญ่    อัญเชิญไว้วัดบางเมืองกำแพง
   ทรัพย์สมบัติโบราณทรงคุณค่า     ศักดิ์ศรีอโยธยาที่แข็งแกร่ง
   บารมีพ่อเพชรสุดสำแดง             ประชาชนร่วมแรงจิตบูชา
         วิหารหลวงพ่อเพชร อำนวยการสร้างโดยพระธรรมาธิมุตนี พร้อมด้วยคณะกรรมการ ในระหว่างดำเนินการท่านได้มรณภาพเสียก่อน เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2524 ต่อมาพระอธิการตุ่น อินทโชโต เจ้าอาวาส   วัดบาง พร้อมคณะกรรมการชุดใหม่ ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อ ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2526 แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2528
         หลวงพ่อเพชร วัดบาง มาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร พระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ที่งดงามที่สุด เมื่อราวสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ครองราชย์ที่อยุธยาระหว่าง พ.ศ.2034 - 2072) โอรสสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ตามหลักฐานว่าประดิษฐานที่วัดตอม่อ นอกกำแพงเมืองกำแพงเพชร ตามตำนานว่าขุนแผนได้ยกกองทัพไปเชียงใหม่ ซึ่งเชียงใหม่รุกรานเมืองเชียงทองหรือจอมทองในปัจจุบัน ขณะยกกองทัพผ่านเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตรสนิทสนมกับขุนแผนมาก จึงออกปากขอพระพุทธรูปที่มีศิลปะที่งดงามมาฝากด้วย เพื่อนำมาเป็นพระพุทธรูปประจำเมืองพิจิตร
         ลักษณะของหลวงพ่อเพชร (วัดบาง จังหวัดกำแพงเพชร) พระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยเชียงแสน สิงห์หนึ่ง สังเกตได้จากผ้าที่พาดมาด้านหน้า ผ้าจะอยู่เหนือราวนม ส่วนสิงห์สอง (หลวงพ่อเพชร จังหวัดพิจิตร) ผ้าที่พาดจะอยู่ใต้ราวนม และสิงห์สาม ผ้าจะอยู่ตรงหน้าตัก 
4 หลวงพ่อเพชร (สิงห์หนึ่ง).jpg

ภาพที่ 3 หลวงพ่อเพชร (สิงห์หนึ่ง)

         หลังจากชนะศึกเชียงใหม่แล้ว ขุนแผนได้นำพระพุทธรูปที่งดงามจากเชียงทองหรือจอมทองมาสององค์ มีลักษณะเหมือนพระคู่แฝด มีขนาดเท่ากันต่างเพียงความสูงไม่กี่นิ้วเท่านั้น และได้นางลาวทองมาเป็นบรรณาการพระพุทธรูปนี้ มีขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว สูงสามศอก 1 คืบ 1 นิ้ว
         เป็นพระพุทธรปูสมัยเชียงแสนสิงห์หนึ่งที่งดงามมาก ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร พระองค์อวบอ้วน พระอุระนูน ชายสังฆาฏิ อยู่บริเวณเหนือราวพระอุระ พระพักตร์กลมสั้น พระขนงโก่ง พระนาสกิงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุเป็นปมเส้น พระศกใหญ่ ฐานมีบัวรอง ทั้งบัวคว่ำและบัวหงาย งดงามอย่างที่สุดน่าอายุเกือบพันปี ขุนแผนได้ส่งข่าวไปยังเจ้าเมืองพิจิตรว่า ได้นำพระพุทธรูปที่ต้องการล่องลำน้ำปิงมา และฝากไว้ที่เจ้าเมืองกำแพงเพชร ทางพิจิตรจึงมารับหลวงพ่อเชียงแสน องค์น้องไปเรียกกันว่าหลวงพ่อเพชร ไปประดิษฐานไว้ที่วัดนครชุม ต่อมาได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดท่าหลวง เมื่อปี พ.ศ.2442 เป็นพระคู่เมืองพิจิตรในปัจจุบัน ส่วนหลวงพ่อเพชรองค์พี่ประดิษฐานยังวัดตอม่อมาช้านาน ซึ่งเป็นวัดร้าง หลวงพ่อผิว พระธรรมาธิมุตมุนี เจ้าอาวาสวัดบาง ได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดบาง แต่มิได้เปิดให้ผู้คนได้ชม เมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา หลวงพ่อเพชร วัดบาง หล่อด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ สามารถถอดออกเป็นชิ้นส่วนได้ มีแนวถอดให้เห็นหรืออาจถูกลักลอบทำลาย หลวงพ่อเพชร วัดบาง เป็นพระพุทธรูปที่ทรงคุณค่า และงดงามและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดองค์หนึ่งในเมืองกำแพงเพชร และอาจกล่าวได้ว่าเก่าแก่ที่สุด ในบ้านเมืองกำแพงเพชร (สันติ อภัยราช, 2563)
5 หลวงพ่อสุโขทัย (ประดิษฐานอยู่ด้านในอุโบสถ).jpg

ภาพที่ 4 หลวงพ่อสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ด้านในอุโบสถ วัดบาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

ประวัติหลวงพ่อสุโขทัย (หลวงพ่อใหญ่)[แก้ไข]

         หลวงพ่อใหญ่สมบัติทรงคุณค่า     บารมีสืบมาหลายสมัย
  ชากังราววัดบางประดับไว้		      เป็นศูนย์รวมจิตใจราษฎร
  พระมหากรุณาธิคุณ		              พระลิไทเกื้อหนุนดั่งพระพร
  หล่อพระพุทธบูชาเปรียบคำสอน           คลายทุกข์ร้อนราษฎรสุขร่มเย็น
  บารมีพ่อใหญ่สุดเกียรติก้อง	              ดุจดั่งทองที่ผ่องและส่องแสง
  วอนหลานรุ่นประชาชาวกำแพง            ผดุงรักษ์แข็งแกร่งให้สืบไป
         หลวงพ่อสุโขทัย พระประธานในอุโบสถ พระนามว่าหลวงพ่อสุโขทัย เป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญของวัดบางเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามถึงที่สุดมีพุทธลักษณะงดงามอ่อนช้อย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ข้อมูลว่า สุโขทัยมีความเจริญรุ่งเรืองมากที่สุดคือ สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แห่งราชวงศ์พระร่วง ไม่ว่าจะเป็นด้านการปกครอง พระองค์ก็สามารถขยายอาณาเขตอย่างกว้างขวางไปจนถึงมลายู หลวงพ่อสุโขทัยวัดบาง มีหลักฐานที่ไม่ชัดเจน มี 2 ประเด็น ดังนี้
         1. หลวงพ่อสุโขทัย (หลวงพ่อใหญ่) วัดบางใน กำแพงเพชร เคยประดิษฐานที่วัดเตาหม้อ ปัจจุบันคือตลาดศูนย์การค้า ซึ่งหลวงพ่อธรรมมาธิมุตตมุนี (หลวงพ่อผิว) อัญเชิญมาประดิษฐานตอนสร้างโบสถ์
         2. หลวงพ่อสุโขทัย(หลวงพ่อใหญ่) วัดบางกำแพงเพชร เคยประดิษฐานที่วัดกุฏิพงษ์ ปัจจุบันคือธนาคารกรุงศรีอยุธยา เจ้าอาวาสองค์แรกซึ่งก่อนหลวงพ่อธรรมมาธิมุตตมุนี (หลวงพ่อผิว) อัญเชิญมาประดิษฐานตอนสร้างโบสถ์ ซึ่งไม่มีหลักฐานใดชี้ชัดว่ามาจากที่ใดกันแน่อย่างไรก็ตามหลวงพ่อสุโขทัยก็ยังเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญและสวยงามของวัดบางเช่นเดียวกับหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปสุโขทัย ได้รับยกย่องว่าเป็นพุทธประติมากรรมที่งดงาม 1 ใน 3 รูปแบบของพระพุทธรูปไทย ได้แก่ สุโขทัย เชียงแสน และอู่ทอง พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปสุโขทัยมีความงามสมบูรณ์ลงตัว เป็นผลของพัฒนาการทางศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากลังกา โจฬะ และล้านนา ในยุคต้นสมัยสุโขทัย ต่อมาถูกคลี่คลายและพัฒนาเรื่อยมาผ่านการสร้างสรรค์และความศรัทธาในพุทธศาสนาของช่างฝีมือ จนได้พุทธลักษณะของสุโขทัยบริสุทธิ์ที่ปราศจากอิทธิพลของศิลปะอื่น โดดเด่นด้วยพระพักตร์เรียวรูปไข่ รัศมีเป็นเปลว ปราศจากไรพระศก พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่งเป็นสันงุ้มเล็กน้อย พระกรรณยาว พระโอษฐ์เล็กมีลักษณะคล้ายยิ้มน้อย ๆ องค์ประกอบของพระพักตร์และพระวรกายได้สัดส่วน แสดงความหมายของพระพุทธเจ้าที่เปี่ยมด้วยเมตตาแฝงไว้ด้วยความสงบอิ่มเอิบพระพุทธรูปสุโขทัยสำริดองค์นี้ สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง เป็นพระหมวดใหญ่ (พระ 3 หมวดสมัยสุโขทัย ได้แก่ หมวดตะกวน หมวดใหญ่ หมวดกำแพงเพชร) ซึ่งหมวดใหญ่ถือเป็นยุคทองของศิลปะสุโขทัย มีลักษณะอ่อนช้อย งดงาม มีชีวิตชีวา โดดเด่นตามแบบพุทธลักษณะสุโขทัยบริสุทธิ์ดังกล่าว อีกทั้งองค์นี้ยังมีสัดส่วนที่ดี เนื้อมวลสารสำริดสมบูรณ์ ไม่มีชำรุด ลักษณะการวางพระหัตถ์ การวางนิ้ว มุมปาก พระพักตร์ พระขนง พระโอษฐ์รับกันทั้งหมด พระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิเต็ม จึงจัดว่าเป็นพระพุทธรูปโบราณอายุเก่าแก่กว่า 700 ปี ที่เลอค่า หาได้ยากยิ่งและเป็นที่นิยมอันดับต้น ๆ ของนักสะสมเลยก็ว่าได้ (กาญจนา จันทร์สิงห์, 2563)
6 พระซุ้มกอ (ประดิษฐานอยู่ในศาลา).jpg

ภาพที่ 5 พระซุ้มกอ ประดิษฐานอยู่ในศาลา วัดบาง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

ประวัติพระซุ้มกอ (พระกำแพงซุ้มกอ)[แก้ไข]

         พระเครื่องสกุลกำแพงเพชร มีตำนานปรากฏชัดเจนจากการพบจารึกบนแผ่นลานเงินในกรุขณะรื้อพระเจดีย์องค์ใหญ่ของวัดพระบรมธาตุ เมืองนครชุม และเมื่อ พ.ศ.2392 สมเด็จพระพุฒาจารย์โต พรหมรังสีแห่งวัดระฆังฯ ซึ่งขึ้นมาเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร ก็ได้อ่านศิลาจารึกอักษรไทยโบราณ ที่วัดเสด็จ ฝั่งเมืองกำแพงเพชรมีอยู่ในจารึกได้กล่าวถึงพิธีการสร้างพระ อุปเท่ห์การอาราธนาพระ รวมถึงพุทธานุภาพอย่างมหัศจรรย์ของพระเครื่องสกุลกำแพงเพชรทั้งหลาย นอกจากนี้ในพระราชนิพนธ์ เรื่องเสด็จประพาสกำแพงเพชร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งเขียนในปี พ.ศ.2449 ก็ได้กล่าวถึงจารึกบน  แผ่นลานทอง อันมีข้อความเกี่ยวกับการขุดพบพระต่าง ๆ ตามกรุต่าง ๆ หลักฐานชิ้นสำคัญ อันเกี่ยวกับเมืองกำแพงเพชร ได้แก่ศิลาจารึกนครชุม ที่กล่าวถึงการสร้างเมือง โดยพระมหาธรรมราชาลิไท ในราวปี พ.ศ.1279 
         จากหลักฐานการศึกษา เทียบเคียงทั้งหลายมีข้อสันนิษฐาน ที่เชื่อถือได้โดยสรุปว่า พระซุ้มกอสร้างโดยพระมหาธรรมราชาลิไท เมื่อครั้งดำรงพระยศผู้ครองเมืองชากังราว ในฐานะเมืองหน้าด่านสำคัญของอาณาจักรสุโขทัย ก่อนที่จะได้ทรงรับสถาปนาเป็นกษัตริย์องค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์สุโขทัย ดังนั้นอายุการสร้างของพระซุ้มกอจนถึงปัจจุบัน จึงมีประมาณ 700-800 ปี (กาญจนา จันทร์สิงห์, 2563)

พระซุ้มกอที่ได้รับความนิยมมีทั้งหมด 4 พิมพ์[แก้ไข]

         1. พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกนก
         2. พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ไม่มีกนก
         3. พระซุ้มกอ พิมพ์กลาง
         4. พระซุ้มกอ พิมพ์ขนมเปี๊ยะ
7 พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกนก.jpg

ภาพที่ 6 พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่มีกนก (สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย, 2563)

8 พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ไม่มีกนก.jpg

ภาพที่ 7 พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ไม่มีกนก (สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย, 2563)

9 พระซุ้มกอ พิมพ์กลาง.jpg

ภาพที่ 8 พระซุ้มกอ พิมพ์กลาง (สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย, 2563)

10 พระซุ้มกอ พิมพ์ขนมเปี๊ยะ.jpg

ภาพที่ 9 พระซุ้มกอ พิมพ์ขนมเปี๊ยะ (สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย, 2563)

เนื้อของพระกำแพงซุ้มกอ[แก้ไข]

         1. เนื้อดินผสมว่านและเกสรดอกไม้ เป็นเนื้อที่ได้รับความนิยมสูงสุด
         2. เนื้อว่าน แบ่งเป็นเนื้อว่านล้วน ๆ และเนื้อว่านหน้าทองคำ เนื้อว่านหน้าเงิน
         3. เนื้อชิ้นเงิน
         4. เนื้อว่านและเนื้อชิ้นเงิน ปัจจุบันหาพบยาก
         • พิมพ์ใหญ่มีลายกนก เป็นพิมพ์ที่พบเห็นแพร่หลาย เป็นพระปางสมาธิ บนฐานบัว มีซุ้มลายกนกรอบองค์พระ เป็นพระดินเผา ผสมว่านและเกสรดอกไม้ ตามผิวจะมีจุดแดง ๆ เรียกว่า แร่ว่านดอกมะขาม ซึ่งเป็นวัตถุธาตุตะกูลเหล็กไหล จุดดำเรียกรา จับกระจายเป็นหย่อม ๆ
         • พิมพ์ใหญ่ไม่มีลายกนก คือพระซุ้มกอดำ เป็นเนื้อที่หายากมาก ราคาแพง พบที่กรุวัดบรมธาตุ, วัดพิกุล, และกรุนาตาคำ
         • พิมพ์กลาง มีลักษณะใกล้เคียงกับพิมพ์ใหญ่ลายกนก เพียงแต่บางและตื้นกว่า หายากมาก
         • พิมพ์ขนมเปี๊ยะ ความจริงก็เป็นพิมพ์ต่าง ๆ นั่นเอง เพียงแต่ไม่ได้ตัดขอบมนออก จึงดูคล้ายขนมเปี๊ยะ ส่วนพิมพ์อื่น ๆ ไม่ขอพูดถึง เพราะหาชมได้ยากมาก

การค้นพบพระกำแพงซุ้มกอ[แก้ไข]

         เมื่อ พ.ศ.2392 สมเด็จพระพุฒาจารย์โต วัดระฆัง ได้ไปเยี่ยมญาติที่เมืองกำแพงเพชร ได้พบศิลาจารึกที่วัดเสด็จ จึงทราบว่ามีพระเจดีย์ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ฝั่งเมืองนครชุมเก่า ท่านจึงชักชวนเจ้าเมืองออกสำรวจ ก็พบเจดีย์ 3 องค์ อยู่ใกล้ ๆ กัน แต่ชำรุดมาก จึงได้ชักชวนเจ้าเมืองทำการรื้อพระเจดียเก่าทั้ง 3 องค์ รวมเป็นองค์เดียวกัน เมื่อรื้อถอนจึงพบพระเครื่องซุ้มกอจำนวมาก หลวงปู่จึงนำเข้ากรุงเทพ ฯ ส่วนหนึ่ง พร้อมเศษอิฐหิน และบันทึกใบลาน แล้วนำมาสร้างพระสมเด็จของท่านจนขึ้นชื่อลือกระฉ่อน เพราะสร้างตามสูตรการสร้างพระซุ้มกอ ส่วนการสร้างเจดีย์ยังไม่ทันแล้วเสร็จ เจ้าเมืองก็ด่วนลาลับ ต่อมาพระยาตะก่า ขุนนางพม่าจึงปฏิสังขรณ์ต่อ จนเสร็จ จึงมีรูปลักษณ์เป็นเจดีย์พม่า
         พระกำแพงซุ้มกอ เป็นพระศิลปะสุโขทัยยุคต้น สร้างประมาณ พ.ศ.1900 สมัยพญาลิไท ขุดค้นพบหลายกรุ โดยครั้งแรกพบ ณ วัดพระบรมธาตุ โดยหลวงปู่โต ต่อมา พ.ศ. 2490 และ 2501 ก็พบอีก แต่ไม่มาก ปี 2505 และ 2509 พบจากกรุวัดพิกุลทอง วัดฤาษี วัดหนองลังกา และวัดซุ้มกอ (กาญจนา จันทร์สิงห์, 2563)

พระซุ้มกอ พิมพ์มีกนก[แก้ไข]

         ขุดค้นพบบริเวณฝั่งตะวันตกของลำแม่น้ำปิง จังหวัดกำแพงเพชร เป็นบริเวณทุ่งกว้างที่มีชื่อว่า "ลานทุ่งเศรษฐี " หรือโบราณเรียกว่า " เมืองนครชุมเก่า " บริเวณลานทุ่งเศรษฐีอันกว้างใหญ่นี้ ปรากฎซากโบราณสถานอยู่มากมาย เป็นชื่อวัดนับสิบกว่าวัดด้วยกัน พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์มีกนก ขุดพบที่กรุวัดมหาธาตุ กรุวัดพิกุล หรือหนองพิกุล กรุฤาษี กรุตาพุ่ม กรุนาตาคำ กรุลานดอกไม้ กรุวัดหนองลังกา เจดีย์กลางทุ่ง กรุคลองไพร
         ส่วนพระนามของพระซุ้มกอนั้น เป็นเอกลักษณ์ของซุ้มประภามณฑล ที่ครอบเศียรองค์พระ เป็นซุ้มโค้งงอเหมือน ก ไก่ เลยเรียกติดปากมาตั้งแต่โบราณว่า " พระซุ้มกอ " พระกำแพงซุ้มกอ สันนิษฐานว่า จะสร้างในสมัย พระมหาธรรมราชาลิไท แห่งสุโขทัย พระพุทธศิลปะขององค์พระจะสง่างาม มีความล้ำสัน นั่งขัดสมาธิราบอยู่บนบัลลังก์บัวเล็บช้าง ภายใต้ซุ้มเรือนกนก (กาญจนา จันทร์สิงห์, 2563)

พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์มีกนก[แก้ไข]

         เป็นพระที่ขุดพบมีจำนวนค่อนข้างน้อย เนื้อดินเผา เป็นพระที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่เหมือนพระเครื่องดินเผาทั่วไป เป็นพระดินเผาที่มีเนื้อค่อนข้างนิ่ม ละเอียด ไม่มีเม็ดกรวดเจือปน เนื้อขององค์พระจะดูค่อนข้างจะเปื่อยและยุ่ยง่าย เหมือนพระดินดิบ คือเหมือนพระที่ไม่ผ่านการเผามา มีว่านดอกมะขามสีแดงปรากฎให้เห็นทั่วองค์พระ (กาญจนา จันทร์สิงห์, 2563)

ตำหนิเอกลักษณ์ การสังเกตพระซุ้มกอ[แก้ไข]

         1. พระเกศเป็นเกศปลี ปลายแหลมสอบเข้า
         2. พระเนตรรี ลอยอยู่ในเบ้า
         3. พระนาสิกเป็นแท่งแหลม พระโอษฐ์เล็ก
         4. พระกรรณโค้งเป็นแบบหูบายศรีเบา ๆ
         5. ยอดองค์ใต้คอเป็นแอ่งกระทะเบา ๆ
         6. กนกข้างแขนขวาองค์พระเป็นเลข 6 ฝรั่ง
         7. สังฆาฏิเป็นลำเล็ก
         8. ซอกแขนลึก
         9. ชายจีวรยาวเข้าไปซอกแขน
         10. พระหัตถ์ขวากระดกขึ้นเล็กน้อย

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม[แก้ไข]

11 หลวงพ่อเพชร (ประดิษฐานอยู่ด้านในวิหาร).jpg

ภาพที่ 10 หลวงพ่อเพชร ประดิษฐานอยู่ด้านในวิหาร

หลวงพ่อเพชร (วัดบาง)[แก้ไข]

         หลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปปางสมาธิ น้ำหนักประมาณ 2 ตัน หน้าตักกว้าง 56 นิ้ว สูง 91 นิ้ว มีอักษรจารึกไว้ด้านหน้าว่า จุลศักราช 1257 และด้านหลัง ร.ศ.114 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ.2438 อายุ 120 ปี หล่อด้วยโลหะแบบโบราณ ซึ่งทางร้านทองที่มาดูบอกว่ามีทองคำแท้อยู่เป็นบางส่วน ผสมกับโลหะอื่น ๆ พระพุทธรูปสมัยเชียงแสนได้รับอิทธิพลมาจาก พระพุทธรูปของอินเดียแบบปาละ มีพุทธลักษณะที่อวบอ้วน พระพักตร์กลมสั้น พระหนุ (หะนุ) หรือคางเป็นปุ่มยื่น เม็ดพระศกเป็นก้นหอยขนาดใหญ่ พระอุระนูนใหญ่ จีวรบางแนบไปกับพระวรกาย และที่สำคัญที่สุดคือ ชายสังฆาฏิพาดสั้นอยู่เหนือ ราวพระอุระ ด้านซ้าย ประทับ ปางมารวิชัย แบบขัดสมาธิ    งดงามมาก มีขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว สูงสามศอก 1 คืบ 1 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนสิงห์หนึ่งที่งดงามมาก ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร พระองค์อวบอ้วน พระอุระนูน ชายสังฆาฏิ อยู่บริเวณเหนือราวพระ
         อุระ พระพักตร์กลมสั้น พระขนงโก่ง พระนาสกิงุ้ม พระโอษฐ์เล็ก พระหนุเป็นปมเส้น พระศกใหญ่ ฐานมีบัวรอง ทั้งบัวคว่ำและบัวหงาย งดงามอย่างที่สุดน่าอายุเกือบพันปี
12 พระซุ้มกอ (พิมพ์กลาง).jpg

ภาพที่ 11 พระซุ้มกอ (พิมพ์กลาง) (พระอาจารย์ตุ่น, การสัมภาษณ์, 28 กันยายน 2563)

13 พระซุ้มกอ (พิมพ์ใหญ่).jpg

ภาพที่ 12 พระซุ้มกอ (พิมพ์ใหญ่) (พระอาจารย์ตุ่น, การสัมภาษณ์, 28 กันยายน 2563)

พระซุ้มกอ (พระกำแพงซุ้มกอ)[แก้ไข]

         พระกำแพงซุ้มกอ จัดเป็นพระที่สุดยอดและเอกของเมืองกำแพงเพชร เป็นพระที่อมตะ ทั้งพุทธศิลป์ และพุทธคุณถูกจัดอยู่ในชุดเบญจภาคีที่สูงสุดของพระเครื่องเมืองไทย พระกำแพงซุ้มกอ เป็นพระที่ทำจากเนื้อดินผสมว่านและเกสรดอกไม้ และทำจากเนื้อชิน ก็มีพุทธลักษณะของพระซุ้มกอนั้นองค์พระประติมากรรม ในสมัยสุโขทัย นั่งสมาธิลายกนกอยู่ด้านข้างขององค์พระนั่งประทับอยู่บนบัวเล็บช้าง ขอบของพิมพ์พระจะโค้งมนลักษณะคล้ายตัว ก.ไก่ คนเก่า ๆ จึงเรียกว่า “พระซุ้มกอ” พระกำแพงซุ้มกอที่ค้นพบมีด้วยกัน 5 พิมพ์ ประกอบด้วย พิมพ์ใหญ่ แยกออกเป็น 2 ประเภท คือ มีลายกนกและไม่มีลายกนก พระที่ไม่มีลายกนกส่วนใหญ่มักจะมีสีดำ หรือสีน้ำตาลแก่ซึ่งเรามักจะเรียกว่า “พระกำแพงซุ้มกอดำ” พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก พิมพ์เล็กพัดโบก พิมพ์ขนมเปี๊ยะ
         พระกำแพงซุ้มกอ ทั้งมีลายกนกและไม่มีลายกนกเป็นพระที่มีศิลปะของสุโขทัยปนกับศิลปะศรีลังกา โดยเฉพาะไม่มีลายกนกจะเห็นว่าเป็นศิลปะศรีลังกาอย่างเด่นชัด พระกำแพงซุ้มกอ เนื้อขององค์พระ ใช้ดินผสมกับว่านเกสรดอกไม้ จึงทำให้เนื้อของพระซุ้มกอมีลักษณะนุ่มมัน ละเอียดเมื่อนำสาลีหรือผ้ามาเช็ดถูจะเกิดลักษณะมันวาวขึ้นทันที
         ลักษณะของเนื้อที่เด่นชัดอีกประการหนึ่ง คือ ตามผิวขององค์พระจะมีจุดสีแดง ๆ ซึ่งเราเรียกว่า   “ว่านดอกมะขาม” และตามซอกขององค์พระจะมีจุดดำ ๆ ซึ่งเราเรียกว่า “ราดำจับอยู่ตามบริเวณซอกของพระ”
      	  พระกำแพงซุ้มกอ นั้นนอกจากเนื้อดินยังพบเนื้อชินและชนิดที่เป็นเนื้อว่านล้วน ๆ ก็มีแต่น้อยมาก
      	  พระกำแพงซุ้มกอ ที่ขุดค้นพบนั้นจะปรากฏอยู่ตามบริเวณวัดบรมธาตุ วัดพิกุล วัดฤาษีและตลอดบริเวณลานทุ่งเศรษฐี
      	  พระกำแพงซุ้มกอ ที่ไม่มีลายกนกที่มีสีน้ำตาลนั้นจัดเป็นพระที่หาได้ยากมาก เพราะส่วนใหญ่จะมีสีดำ
      	  พระกำแพงซุ้มกอ เป็นพระพุทธคุณนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะพระกำแพงซุ้มกอ มีครบเครื่องไม่ว่าเรื่อง เมตตา มหานิยม แคล้วคลาด ตลอดจนเรื่องโชคลาภ จนมีคำพูดที่พูดติดปากกันมาแต่โบราณกาลว่า “มีกูแล้วไม่จน” ประกอบกับพระกำแพงซุ้มกอ ถูกจัดอยู่หนึ่งในห้าของชุดเบญจภาคี ความต้องการของนักนิยม พระเครื่องจึงมีความต้องการสูงเพราะทุกคนต้องการแต่พระกำแพงซุ้มกอทั้งนั้น ราคาเช่าหาจึงแพงมาก และหาได้ยากมากด้วย
      	  พระกำแพงซุ้มกอ ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์ไหนก็ตามหรือจะเป็นเนื้อดินเนื้อว่าน ตลอดจนเนื้อชิน พุทธคุณเหมือนกันหมด แล้วแต่ว่าท่านจะหาพิมพ์ไหนมาได้
         พระกำแพงซุ้มกอ จึงจัดว่าอยู่ในพระอมตะพระกรุอันทรงคุณค่าที่ควรค่าแก่การหา และนำมาเพื่อเป็นศิริมงคล เป็นอย่างมากทีเดียว (สันติ อภัยราช, การสัมภาษณ์, 28 กันยายน 2563)
14 หลวงพ่อสุโขทัย (ประดิษฐานอยู่ด้านในอุโบสถ).jpg

ภาพที่ 13 หลวงพ่อสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ด้านในอุโบสถ

หลวงพ่อสุโขทัย (หลวงพ่อใหญ่)[แก้ไข]

         พระพุทธรูปสุโขทัย ได้รับยกย่องว่าเป็นพุทธประติมากรรมที่งดงาม 1 ใน 3 รูปแบบของพระพุทธรูปไทย ได้แก่ สุโขทัย เชียงแสน และอู่ทอง พุทธศิลป์ของพระพุทธรูปสุโขทัยมีความงามสมบูรณ์ลงตัว เป็นผลของพัฒนาการทางศิลปะที่ได้รับอิทธิพลจากลังกา โจฬะ และล้านนา ในยุคต้นสมัยสุโขทัย ต่อมาถูกคลี่คลายและพัฒนาเรื่อยมาผ่านการสร้างสรรค์และความศรัทธาในพุทธศาสนาของช่างฝีมือ จนได้พุทธลักษณะของสุโขทัยบริสุทธิ์ที่ปราศจากอิทธิพลของศิลปะอื่น โดดเด่นด้วยพระพักตร์เรียวรูปไข่ รัศมีเป็นเปลว ปราศจากไรพระศก พระขนงโก่ง พระนาสิกโด่งเป็นสันงุ้มเล็กน้อย พระกรรณยาว พระโอษฐ์เล็กมีลักษณะคล้ายยิ้มน้อย ๆ องค์ประกอบของพระพักตร์และพระวรกายได้สัดส่วน แสดงความหมายของพระพุทธเจ้าที่เปี่ยมด้วยเมตตาแฝงไว้ด้วยความสงบอิ่มเอิบ

บุคคลที่เกี่ยวข้อง[แก้ไข]

         เจ้าอาวาสวัดบางองค์แรก หลวงพ่อผิว พระธรรมาธิมุตมุนี 
         เจ้าอาวาสวัดบางองค์ที่สอง พระอาจารย์ตุ่น พระครูวิเชียรคุณโชติ อินทโชโต

วิธี / ขั้นตอน / กระบวนการในการสักการะ[แก้ไข]

         พระคาถาบูชาหลวงพ่อเพชร วัดบาง กำแพงเพชร วิธีสักการะบูชาองค์ท่านด้วยพระคาถาบูชา ดังนี้
คาถาหลวงพ่อเพชร วัดบาง
                          (ตั้งนะโม 3 จบ)
  นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
  นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
  นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
         กาเยนะ วาจายะ เจตะสา วา วะชิรัง นามะ
          ปะฏิมัง อิทธิปาฏิหาริยะกะรัง พุทธะรูปัง
    อะหัง วันทามิ สัพพะโส สะทา โสตถี ภะวันตุ เม
(คำแปลพระคาถาบูชาหลวงพ่อเพชร)
         ข้าพเจ้าขอนมัสการองค์หลวงพ่อเพชร พระองค์ผู้ทรงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ ด้วยกาย วาจา และใจขอความสุขความเจริญจงมีแก่ข้าพเจ้าตลอดทุกเมื่อเทอญแล้วขอพรอันประเสริฐตามที่ปรารถนาในสิ่งที่ดีงามเพื่อความสงบสุขของชีวิตและครอบครัว สาธุ สาธุ สาธุ
         พระคาถาบูชาหลวงพ่อสุโขทัย วัดบาง กำแพงเพชร วิธีสักการะบูชาองค์ท่านด้วยพระคาถาบูชา ดังนี้ 
พระคาถาบูชาหลวงพ่อสุโขทัย
                                              (ตั้งนะโม 3 จบ)
                     นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
                     นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
                     นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
  นะโมพุทธัสสะ นะโมธัมมัสสะ นะโมสังฆัสสะ นะมามิหังนะโมพุทธัสสะ นะโมธัมมัสสะ
                                       นะโมสังฆัสสะ นะมามิหัง
(คำแปลพระคาถาบูชาหลวงพ่อสุโขทัย)
         ขอนอบน้อมต่อองค์พระสัมมาสัมพระพุทธเจ้า ขอนอมน้อมต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ขอนอบน้อมต่อพระสงฆ์สาวกพระพุทธองค์ ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อหลวงพ่อสุโขทัย ด้วยกาย วาจา ใจ
         พระคาถาบูชาพระซุ้มกอ วัดบาง กำแพงเพชร วิธีสักการะบูชาองค์ท่านด้วยพระคาถาบูชา ดังนี้ 
คาถาอาราธนาพระซุ้มกอกำแพงเพชร (บทสวดย่อ)
                        (ตั้งนะโม 3 จบ)
  นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
                      อุนะอุ อุนะอุ อุนะอุ
คาถาอาราธนาพระซุ้มกอกำแพงเพชร (บทสวดแบบยาว)
                         (ตั้งนะโม 3 จบ)
  นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
  นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
  นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
                     อิติ สิทธิ พุทธัง สมาธิ
                     อิติ สิทธิ ธัมมัง สมาธิ
                     อิติ สิทธิ สังฆัง สมาธิ
                     อิติ สิทธิ สุตตัง สมาธิ
                    อิติ สิทธิ วิเนยยัง สมาธิ
                   อิติ สิทธิ อะภิธัมมัง สมาธิ
                อิติ สิทธิ นะโมพุทธายะ สมาธิ
                  อิติ สิทธิ ปาระมิตตา สมาธิ
                  อิติ สิทธิ มังรักขันตุ สมาธิ 
         มีกูไว้แล้วไม่จน คือถ้อยคำประจำองค์พระซุ้มกอ ซึ่งหมายถึง พระซุ้มกอสุดยอดทางโชคลาภ เมตตามหานิยม ใครมีไว้แล้วจะร่ำรวย เป็นมหาเศรษฐี เจริญรุ่งเรือง ในชีวิต (พระอาจารย์ตุ่น, การสัมภาษณ์, 28 กันยายน 2563)  

บทสรุป[แก้ไข]

         วัดและพระพุทธรูปถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของบุคคลที่นับถือศาสนาพุทธ ทุกวัดล้วนมีที่มาและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งบางวัดอาจถูกลืมเลื่อนไปว่าวัดเหล่านี้มีความสำคัญขนาดไหน จึงได้เก็บรวบรวมข้อมูล เรื่องราวและความเป็นมาของวัดบางกำแพงเพชร ซึ่งมีเรื่องราวที่ยาวนานและมีพระพุทธรูปที่สำคัญอยู่ 2 องค์ และมีพระเครื่องที่อยู่ในกลุ่มพระเบญจภาคี คือ พระซุ้มกอ อยู่ด้วย วัดบางถือว่าเป็นวัดที่สำคัญอีกวัดหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งพระพุทธรูปที่สำคัญที่กล่าวมาข้างต้นนั้น คือ หลวงพ่อสุโขทัย (หลวงพ่อใหญ่) และหลวงพ่อเพชร (พระคู่แฝดพี่ของหลวงพ่อเพชรจังหวัดพิจิตร) ซึ่งหลวงพ่อสุโขทัยเป็นพระพุทธรูปสำคัญของวัดบาง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามถึงที่สุด มีพุทธลักษณะงดงามอ่อนช้อย และหลวงพ่อเพชร พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ที่หล่อด้วยสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุด เท่าที่พบในเมืองกำแพงเพชร เก่าแก่สมัยเชียงแสน ที่เรียกกันว่า สิงห์หนึ่ง ซึ่งนับว่าไม่ได้เห็นกันได้ง่ายนัก พระซุ้มกอจัดเป็นพระที่สุดยอด เป็นเอกลักษณ์ของเมืองกำแพงเพชร เป็นพระที่อมตะ ทั้งพุทธศิลป์ และพุทธคุณถูกจัดอยู่ในชุดเบญจภาคีที่สูงสุดของพระเครื่องเมืองไทย 

บรรณานุกรม[แก้ไข]

    กาญจนา จันทร์สิงห์. (2563). ประวัติพระซุ้มกอ. เข้าถึงได้จาก http://www.dopratae.com/บทความ/ประวัติ-พระซุ้มกอ-(พระกำแพงซุ้มกอ)-จ.กำแพงเพชร/54/
    พระสังฆาธิการ. (2563). พระธรรมาธิมุตมุนี (ผิว จนฺทสโร). เข้าถึงได้จาก https://sangkhatikan.com/monk_view.php?ID=14477
    สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย (2563). เข้าถึงได้จาก https://www.samakomphra.com 
    สันติ อภัยราช. (2563). รายการโทรทัศน์วัฒนธรรม เทศบาลเมืองกำแพงเพชร. เข้าถึงได้จาก http://sunti-apairach.com/03N/03NZD.htm