ลูกปัดแก้วทวารวดี เมืองกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         ลูกปัด ในความหมายทางโบราณคดี หมายถึง วัตถุต่างๆที่เจาะรู สามารถนำมาร้อยได้ เช่น ลูกปัดหิน ลูกปัดดิน ลูกปัดแก้ว ลูกปัดที่ทำมาจากกระดูก เปลือกหอย หรือ ลูกปัดที่ทำมาจากโลหะอื่นๆเช่น ทอง ดีบุก สัมฤทธิ์ เป็นต้น ลูกปัดแก้วทวารวดี จังหวัดกำแพงเพชรลูกปัดโบราณถูกใช้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการขุดพบลูกปัดมากมายในแหล่งอารายธรรมเก่าแก่ทั้งหลาย ลูกโบราณที่ขุดพบนั้นทำมาจากวัสดุต่างๆลูกปัดสีต่าง ๆ นี้อายุไม่ต่ำกว่า 500 – 1,000 ปีขึ้นไปในยุคทวาราวดี ศรีวิชัย ลูกปัดจำนวนมากมายบอกเล่าถึงรสนิยม ความเชื่อ ภูมิปัญญา ศิลปะ กระบวนการผลิต เส้นทางการค้า เศรษฐกิจ อายุหรือสมัยที่ผลิตและอาจสื่อถึงนัยยะการเมืองอีกด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ลูกปัดเป็นมากกว่าเครื่องประดับหรือเครื่องรางของขลังตามความเชื่อของมนุษย์ ซึ่งคนโบราณได้สรรหาหินสีต่าง ๆ และหินแก้วศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่หายากยิ่งมาฝน กลึง เจาะ ทำเป็นลูกปัดคล้องคอและข้อมือ เพื่อป้องกันปัดเป่าภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น บันดาลโชคลาภ สวมใส่เพื่อเป็นสิริมงคล เป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น ยิ่งผู้ใดทำบุญเป็นเนืองนิตย์ ผู้นั้นก็จะพบแต่ความสุข ความเจริญ จากเคราะห์ร้ายก็จะกลายเป็นดี ข้าวของเงินทองไหลมาเทมา ผู้ใดมีลูกปัดอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าสีใดก็ตามบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ประวัติความเป็นมาของลูกปัดทวารวดี เมืองกำแพงเพชร 2) แหล่งค้นพบลูกปัดโบราณในจังหวัดกำแพงเพชร 3) วัสดุผลิตภัณฑ์ และ 4) ประเภทการใช้งาน

คำสำคัญ : ลูกปัดเเก้ว, ลูกปัดทวารวดี

ประวัติความเป็นมาของลูกปัดทวารวดี เมืองกำแพงเพชร[แก้ไข]

         ลูกปัดเเก้ว เป็นเรื่องราวของวัตถุที่มีลักษณะเป็นเม็ด มีหลายรูปทรง เจาะรูเพื่อใช้ร้อยเข้าไปในเส้นด้ายหรือเชือก ซึ่งเป็นวัสดุที่ทนและไม่ขาดง่าย ลูกปัดเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นและใช้เมื่อหลายพันและหลายหมื่นปีมาแล้ว  มนุษย์ในสมัยแรกๆ  ทำลูกปัดจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น กระดูกสัตว์ เขี้ยว เปลือกหอย เมล็ดพืช เปลือกไม้ ยางไม้ ต่อมามนุษย์ทำลูกปัดจากวัสดุที่ทำขึ้นเอง เช่น ดินเผา แก้ว สำริด ทอง เป็นต้น ลูกปัดถูกใช้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการขุดพบลูกปัดมากมายในแหล่งอารายธรรมเก่าแก่ทั้งหลาย ลูกโบราณที่ขุดพบนั้นทำมาจากวัสดุต่างๆ
         ลูกปัดเกิดพร้อมพัฒนาการของมนุษย์ในทุกๆมุมโลก ลูกปัดจำนวนมากมายบอกเล่าถึงรสนิยม ความเชื่อ ภูมิปัญญา ศิลปะ กระบวนการผลิต เส้นทางการค้า  เศรษฐกิจ อายุหรือสมัยที่ผลิตและอาจสื่อถึงนัยยะการเมืองอีกด้วย ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ลูกปัดเป็นมากกว่าเครื่องประดับหรือเครื่องรางของขลังตามความเชื่อของมนุษย์ ความสำคัญของลูกปัดโบราณ รองอธิบดีกรมศิลปากร เขมชาติ เทพไชย กล่าวว่า “การค้นพบลูกปัดโบราณนั้นคนทั่วไปอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่นี่คือหลักฐานสำคัญที่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตได้หลายเรื่อง อาทิ เส้นทางการค้าโบราณ ที่ทำให้รู้ว่าในอดีตมีการเชื่อมโยงกัน เพราะลูกปัดมีทุกทวีป ลูกปัด เป็นเครื่องบ่งบอกถึงอารยธรรมโบราณ ลูกปัดเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญที่เชื่อมโยงยุคสมัย และช่วยเปิดมุมมองด้าน การสร้างสรรค์ศิลปะที่ส่งผลถึงโลกในยุคปัจจุบันให้นักโบราณคดีได้รับทราบ ลูกปัดโบราณเม็ดหนึ่งมีเรื่องราวมากมายให้ค้นหา ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การผลิต การค้า และวิถีชีวิตของผู้คนยุคโบราณ ดังนั้นเมื่อค้นพบแล้วก็ไม่ควรจะสูญหายไป ลูกปัดโบราณ วัตถุโบราณทุกชิ้น สำหรับนักโบราณคดี ในทางโบราณคดีถือว่ามีคุณค่าทุกชิ้น เพราะเปรียบเสมือนเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เสมือนหนังสือเล่มหนึ่งที่บอกเรื่องราว เสมือนตำราการเรียนรู้เล่มโตที่ให้เราได้ศึกษาแง่มุมต่าง ๆ ดังนั้น ทุกชิ้นที่ค้นพบล้วนแล้วแต่มีคุณค่าสูงมาก ๆ จนไม่สามารถประเมินค่าออกมาเป็นตัวเงินได้
         ลูกปัดโบราณจะไม่ใช่เพียงของเก่าเม็ดเล็กๆ ที่มีคุณค่าในแง่ของความเก่าเท่านั้น แต่มันมีคุณค่ามาก ลูกปัดเม็ดเล็กที่เดินทางผ่านกาลเวลามาจนถึงปัจจุบัน มีเรื่องราวมากมายแอบแฝงอยู่ ทำให้เราได้ศึกษาเรียนรู้อดีต ลูกปัดโบราณช่วยในการเชื่อมโยงภาพของการติดต่อสื่อสารกันระหว่างชุมชนในอดีตจากแหล่งที่ขุดค้นพบจากข้อมูลแวดล้อม  ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
         ลูกปัดเป็นเครื่องประดับที่ได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกมาทุกยุคทุกสมัย การค้นคว้าเรื่องราวของลูกปัดนั้นเชื่อว่ามีมายาวนานนับหมื่นปี ซึ่งลูกปัดในยุคนั้นทำมาจากเมล็ดพืช กระดูกสัตว์ เปลือกหอย และหินที่มีรูอยู่แล้วตามธรรมชาติ เมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการมากขึ้น การทำลูกปัดก็ซับซ้อนขึ้น สวยงาม แปลกตาเพิ่มขึ้นเช่นการตกแต่งลวดลายลงไปบนเนื้อหินมีค่า เช่นอาเกตและคาร์เนเลียน ที่ถูกเรียกว่า เอตช์คาร์เนเลียนของอินเดีย และซีบีทของทิเบต เมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว เชื่อว่ามีการผลิตลูกปัดแก้วเพื่อทดแทนลูกปัดจากหินมีค่า เช่น อาเกตและคาร์เนเลียนที่ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ซึ่งหินเหล่านี้เริ่มหายากและราคาแพง ทำให้ผู้คนในยุคนโบราณใช้ลูกปัดแก้วที่ถูกผลิตขึ้นมา สวมใส่แทนลูกปัดที่ทำจากหินมีค่า
         ก่อนมาเป็นลูกปัดแก้วที่แท้จริงนั้น พบหลักฐานการใช้แก้วหรือการผลิตแก้ว นับว่ามีอายุการค้นพบเท่ากับประวัติศาสตร์ของมนุษย์ซึ่งมีประวัติความเป็นมาและการพัฒนาควบคู่กันไป เป็นที่เข้าใจกันว่า เมื่อประมาณ 75,000 ปี มาแล้ว มนุษย์ได้รู้จักนำแก้วธรรมชาติที่เกิดจากภูเขาไฟ ที่เรียกว่า obsidian นำมาทำเป็นหัวธนู หรืออาวุธต่างๆ ต่อมาประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว มนุษย์ได้ค้นพบวิธีการผลิตแก้วโดยบังเอิญ ได้มีบันทึกกล่าวไว้ว่าชาวฟีนิเชียนได้ขนดินประสิวมาจากอียิปต์ ขณะเตรียมอาหารอยู่บนชายหาดริมแม่น้ำบีลัส ได้นำก้อนดินประสิวมาใช้แทนก้อนหินเพื่อทำเป็นฐานเตาไฟ เมื่อถูกความร้อน ก้อนดินประสิวเกิดการลุกไหม้และหลอมละลายผสมกับทรายในบริเวณนั้น เกิดของเหลวใสไหลออกมาซึ่งก็คือ แก้ว ส่วนในอียิปต์พบลูกปัดที่มีลักษณะกึ่งเคลือบ-กึ่งแก้วอายุประมาณ 6,000 กว่าปีมาแล้ว ซึ่งสันนิษฐานว่าพัฒนามาจากการผลิตแก้วน้ำเคลือบหรือฟายองซ์ (Faience) ซึ่งมีลักษณะเหมือนแก้ว โดยนำมาเคลือบลูกปัดดินเผา แต่ฟายองซ์นั้นผลิตในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าแก้ว และต่อมาจึงได้พัฒนาเป็นแก้วที่แท้จริง
         ลูกปัดสีต่าง ๆ นี้อายุไม่ต่ำกว่า 500 – 1,000 ปีขึ้นไปในยุคทวาราวดี ศรีวิชัย ซึ่งคนโบราณได้สรรหาหินสีต่างๆ และหินแก้วศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ที่หายากยิ่งมาฝน กลึง เจาะ ทำเป็นลูกปัดคล้องคอและข้อมือ เพื่อป้องกันปัดเป่าภัยอันตรายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น บันดาลโชคลาภ สวมใส่เพื่อเป็นสิริมงคล เป็นเสน่ห์แก่ผู้พบเห็น ยิ่งผู้ใดทำบุญเป็นเนืองนิตย์ ผู้นั้นก็จะพบแต่ความสุข ความเจริญ จากเคราะห์ร้ายก็จะกลายเป็นดี ข้าวของ เงินทองไหลมาเทมา ผู้ใดมีลูกปัดอยู่ในครอบครอง ไม่ว่าสีใดก็ (วิรัช สินจินา, 2556, ออนไลน์)
         ฉะนั้นในการจำแนกลูกปัดจึงมีหลายรูปแบบต่างๆหลายสี และมีความหมายแตกต่างกันไปดังนี้ 
             1. ลายนกยูง จะมีหลายสีเรียกอีกอย่างว่า สีนานาชาติจะทำการสิ่งใดจะสำเร็จผลทุกอย่าง
ภาพที่ 1 ลายนกยูง.jpg

ภาพที่ 1 ลายนกยูง

ที่มา : ลูกบัว เปี่ยมสิริ, 2562, ออนไลน์

             2. ทวาหัวเทียน ที่หัวท้ายจะมีสีดำ ขาว น้ำตาล อยู่ยงคงกระพัน มีสติปัญญาดี
ภาพที่ 2 ทวาหัวเทียน.jpg

ภาพที่ 2 ทวาหัวเทียน

ที่มา : กาญจน์ กาญจนกิจ, 2557, ออนไลน์

             3. ลูกยอน้ำทิพย์ มีหลายสี มีตารอบด้าน รู้เหตุการณ์ข้างหน้า ค้าขายดี
ภาพที่ 3 ลูกยอน้ำทิพย์.jpg

ภาพที่ 3 ลูกยอน้ำทิพย์

ที่มา : ศรเงิน กลิ่นมะลิ, 2556, ออนไลน์

             4. อำพันทอง เงิน การงาน การค้า ทำให้เงินไหลมาไม่ขาดสาย
ภาพที่ 4 อำพันทอง.jpg

ภาพที่ 4 อำพันทอง

ที่มา : กรรณิกา เรืองอารีรัชต์, 2551, ออนไลน์

             5. หยกเขียว อยู่ร่มเย็นเป็นสุข สุขกายและใจ เป็นมหามงคลเพิ่มพูน
ภาพที่ 5 หยกเขียว.jpg

ภาพที่ 5 หยกเขียว

ที่มา : ธีรวัจน์ พิทักษ์รณชัย, 2558, ออนไลน์

             6. หยกเหลือง เมตตามหานิยม ค้าขายดี
ภาพที่ 6 หยกเหลือง.jpg

ภาพที่ 6 หยกเหลือง

ที่มา : ดวงจันทร์ ลาดี, 2562, ออนไลน์

             7. หยกขาว สีสะอาด ทำให้ร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บไข้ ดูไม่แก่ สดใส อายุยืน
ภาพที่ 7 หยกขาว.jpg

ภาพที่ 7 หยกขาว

ที่มา : ธีรวัจน์ พิทักษ์รณชัย, 2558, ออนไลน์

             8. ฟ้าแก่ ฟ้าอ่อน ฟ้าสวิง ร่ำรวยเงินทองพร้อมญาติมิตรการงานและการค้าดี
ภาพที่ 8 .jpg

ภาพที่ 8 ฟ้าแก่ ฟ้าอ่อน ฟ้าสวิง

ที่มา : กรรณิกา เรืองอารีย์รัชต์, 2551, ออนไลน์

             9. เหลืองตองอ่อน เสน่ห์แรงคนรักใคร่ คนรักซื่อตรง
ภาพที่ 9 เหลืองตองอ่อน.jpg

ภาพที่ 9 เหลืองตองอ่อน

ที่มา : กรรณิกา เรืองอารีย์รัชต์, 2551, ออนไลน์

             10. น้ำเงินเนื้อกษัตริย์ สีไพรินมีอำนาจวาสนา
ภาพที่ 10 น้ำเงินเนื้อกษัตริย์.jpg

ภาพที่ 10 น้ำเงินเนื้อกษัตริย์

ที่มา : กาญจน์ กาญจนกิจ, 2553, ออนไลน์

             11. ดำทึบ เสริมโชคลาภ กันภัย มนต์ดำ ผีสาง และผู้ที่คิดร้ายต่อเรา
ภาพที่ 11 ดำทึบ.jpg

ภาพที่ 11 ดำทึบ

ที่มา : กฤตธัช วัฒนมะโน, 2559, ออนไลน์

             12. ส้ม หรือส้มเงินแสนคือเรืองแสง ส่องสว่าง นึกคิดสิ่งใดสมความปรารถนาเป็นแสนเป็นล้าน
ภาพที่ 12 ส้ม หรือส้มเงินแสนคือเรือง.jpg

ภาพที่ 12 ส้มหรือส้มเงินแสนคือเรืองแสง

ที่มา : ดวงจันทร์ ลาดี, 2552, ออนไลน์

             13. ส้มมันปู มีเงินทองคงกระพัน กันพิษสัตว์ร้าย
ภาพที่ 13 ส้มมันปู.jpg

ภาพที่ 13 ส้มมันปู

ที่มา : ดวงจันทร์ ลาดี, 2552, ออนไลน์

             14. สีแดงอิฐ แคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพันป้องกันภัยอันตรายต่างๆ
ภาพที่ 14 สีแดงอิฐ.jpg

ภาพที่ 14 สีแดงอิฐ

ที่มา : กรรณิกา เรืองอารีย์รัชต์ , 2551, ออนไลน์

             15. แดง มีโชคลาภ มีอำนาจบารมี บริวารเกรง
ภาพที่ 15 แดง.jpg

ภาพที่ 15 แดง

ที่มา : ดวงจันทร์ ลาดี, 2559, ออนไลน์

             16. ม่วง คนเมตตา มหานิยม คนรักใคร่ นำทรัพย์สินมาให้มีคนอุปถัมภ์ตลอด ช่วยเสริมบารมี
ภาพที่ 16 ม่วง.jpg

ภาพที่ 16 ม่วง

ที่มา : ดนัย พรหมพฤกษ์, 2557, ออนไลน์

             17. สีน้ำผึ้ง ให้มีวาสนา สุขกายใจ สดชื่น มีเสน่ห์งามตา
ภาพที่ 17 สีน้ำผึ้ง.jpg

ภาพที่ 17 สีน้ำผึ้ง

ที่มา : ปวีณา ภู่เจริญวัฒน์, 2559, ออนไลน์

             18. แสลน ป้องกันภัย อุบัติเหตุ มีเสน่ห์ บริวารรักใคร่ซื่อสัตย์
ภาพที่ 18 แสลน.jpg

ภาพที่ 18 แสลน

ที่มา : กฤตธัช วัฒนมะโน, 2556, ออนไลน์

              19. เขี้ยวหนุมาน แก้วสารพัดนึก นึกคิดสิ่งใดได้ดั่งใจสมความปรารถนาทุกประการ
ภาพที่ 19 เขี้ยวหนุมาน.jpg

ภาพที่ 19 เขี้ยวหนุมาน

ที่มา : ธนพล เนตรสกุล, 2562, ออนไลน์

              20. อิฐไส้ดำ, อิฐหน้าดำ ป้องกันปืน ดาบ หลาว แหลน ธนู หน้าไม้และอาวุธต่างๆ อยู่ยงคงกะพัน
ภาพที่ 20 อิฐไส้ดำ , อิฐหน้าดำ.jpg

ภาพที่ 20 อิฐไส้ดำ , อิฐหน้าดำ

ที่มา : ประสงค์ เดชมังกร, 2554, ออนไลน์

         ผู้ที่เป็นเจ้าของ การบูชา ให้บูชาดังนี้
             - ธูป 5 ดอก
             - พวงมาลัยมะลิสด
             - น้ำสะอาด 1 แก้ว
         ทำก่อนนอนทุกคืน แล้วอธิษฐานเอาตามความปรารถนาจะเป็นผล การทำบุญตักบาตรทุกวันก็จะช่วยให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น อย่าลืมกรวดน้ำนึกถึงดวงวิญญาณของเจ้าของลูกปัดด้วย
         การดูแลรักษาลูกปัดสมัยทวามีคำแนะนำอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับการบูชา หากผู้ใดทำบุญอธิษฐานเป็นเนืองนิตย์ ผู้นั้นจะไม่ยกจนเข็ญใจ ไม่ไร้ทรัพย์อับปัญญา ไม่ว่าจะมีลูกปัดทวารวดีสีใดก็ตามให้เคารพสักการะด้วย ธูป เทียน ดอกไม้ และใส่บาตร กรวดน้ำให้ดวงวิญญาณราวดี
             1. ควรวางลูกปัดไว้ที่สูง
             2. ควรชำระล้างด้วยน้ำเย็นให้ไหลผ่านลูกปัดเพื่อให้เกิดพลังเย็น
             3. ระวังอย่ากระทบอะไรแรงๆเนื่องจากลูกปัดมีอายุมากเปราะบางแตกง่าย
             4. ทาลูกปัดด้วยน้ำมันจันหรือน้ำมันมะพร้าวรักษาผิวลูกปัดให้สวยสดไสอยู่เสมอ
         คำอธิฐานบูชาลูกปัดโบราณ
             ให้นึกถึงชื่อ-นามสกุล ของเรา ว่าขอรับลูกปัดนี้จงมาอยู่กับกายและใจ และอำนาจ อานุภาพของลูกปัด จงช่วยปกป้อง คุ้มครองตัวเราให้รอดพ้นจากภัยอันตรายต่างๆ และขอให้ตัวเราจงอยู่เย็นเป็นสุขมีโชคลาภเงินทองไหลมาเทมาสมดังความปรารถนาทุกประการ
              ถ้าท่านผู้ใดมีอยู่จะเป็นสีใดชนิดใดก็ตาม ให้บูชาด้วยธูปเทียน ดอกไม้ ใส่บาตร และกรวดน้ำให้ดวงวิญญาณของผู้เป็นเจ้าของ การบูชา ให้บูชาดังนี้ มีธูป 5 ดอก พวงมาลัยมะลิสด น้ำ 1 แก้ว ก่อนนอนทุกคืนให้เราตั้งจิตแล้ว อธิษฐานเอาตามความปรารถนาที่ควรจะได้จะเป็นตามวาสนาของตนเอง หารว่าเราต้องการทำบุญตักบาตร ให้นำข้าวสวยปากหม้อ ไข่ต้ม 2 ใบ กล้วยน้ำว้าหรือกล้วยหอม 9 ผล ตักบาตรทุกครั้งที่ประสบความสำเร็จด้วยจะยิ่งดี และกรวดน้ำนึกถึงวิญญาณของเจ้าของลูกปัดด้วยจะยิ่งดียิ่งๆขึ้น (นิภา แย้มวจี, 2559, ออนไลน์)

แหล่งค้นพบลูกปัดโบราณในจังหวัดกำแพงเพชร[แก้ไข]

         เมืองไตรตรึงษ์เป็นอีกหนึ่งชุมชนโบราณที่มีการตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณริมแม่น้ำปิงตอนล่างที่มีลักษณะใกล้เคียงกับการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณบริเวณภาคกลางในวัฒนธรรมทวารวดี คือ ตั้งถิ่นฐานใกล้แหล่งน้ำมีคูน้ำและคันดินล้อมรอบ 1-3 ชั้น ผังเมืองจะมีรูปร่างแตกต่างกันไป แต่มักจะขนานกับทางน้ำ เมื่อพิจารณาร่วมกับหลักฐานทางด้านเอกสารประวัติศาสตร์อย่างตำนานจามเทวีที่กล่าวถึงช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 พระนางจามเทวีกษัตริย์แห่งเมืองละโว้ได้อพยพผู้คนจากเมืองละโว้ขึ้นมาเมืองหริภุญชัย โดยใช้เส้นทางแม่น้ำปิงเป็นเส้นทางคมนาคมหลัก ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานประเภทโบราณวัตถุที่พบมีความคล้ายคลึงกับโบราณวัตถุที่พบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ ตะเกียงดินเผา ลูกปัดแก้ว หรือ ลูกปัดหินเป็นต้น 
         เมืองไตรตรึงษ์ เป็นอีกชุมชนโบราณที่มีพัฒนาการมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย โดยเอกสารประเภทตำนานและพงศาวดาร อาทิ พงศาวดารโยนก ตำนานสิงหนวัติกุมาร ตำนานท้าวแสนปม ได้กล่าวถึง เมืองไตรตรึงษ์ในฐานะเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาใกล้กับเมืองกำแพงเพชรทางด้านทิศใต้ นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงโดยทางอ้อมของการมีอยู่และการตั้งถิ่นฐานของชุมชนริมแม่น้ำปิงอย่างตำนานจามเทวี รวมทั้งยังมีข้อมูลที่ได้จากการดำเนินขุดค้นในบริเวณเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ภาชนะดินเผาก้นกลม และตะเกียงดินเผาแบบโรมันที่คล้ายคลึงกับที่พบที่ชุมชนโบราณบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี นอกจากนี้ยังพบลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว สีเหลือง ส้ม เขียว ฟ้า น้ำเงิน ดำ และสีน้ำตาลแดง แวดินเผาที่มีลักษณะคล้ายกับที่เมืองจันเสน อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งสามารถเทียบเคียงอายุสมัยจากโบราณวัตถุที่มีลักษณะร่วมกันว่าอยู่ในช่วงของวัฒนธรรมทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16)) จากหลักฐานที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า เมืองไตรตรึงษ์มีการอยู่อาศัยตั้งแต่ช่วงสมัยก่อนสุโขทัย โดยสันนิษฐานว่ามีการเข้ามาอยู่อาศัยตั้งแต่สมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16)  (พีรพน  พิสณุพงศ์, 2540, ออนไลน์)
ภาพที่ 21 ลูกปัดหินคาร์เนเลียน.jpg

ภาพที่ 21 ลูกปัดหินคาร์เนเลียน (สีส้ม) และลูกปัดหินโมรา (สีดำ-ขาว)

ที่มา : พิพิธภัณฑ์กำแพงเพชร พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านหนองกอง ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพที่ 22 1-2 ลูกปัดหิน 3 ลูกปัดแก้ว.jpg

ภาพที่ 22 1-2 ลูกปัดหิน 3 ลูกปัดแก้ว

ที่มา : พิพิธภัณฑ์กำแพงเพชร พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านหนองกอง ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพที่ 23 ลูกปัดแก้ว.jpg

ภาพที่ 23 ลูกปัดแก้ว

ที่มา : พิพิธภัณฑ์กำแพงเพชร พบที่บริเวณอำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพที่ 24 ลูกปัดแก้ว.jpg

ภาพที่ 24 ลูกปัดแก้ว

ที่มา : พิพิธภัณฑ์กำแพงเพชร พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านหนองกอง ตำบลนาบ่อคำ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพที่ 25 ลูกปัดแก้ว ศิลปะทวารวดี.jpg

ภาพที่ 25 ลูกปัดแก้ว ศิลปะทวารวดี

ที่มา : พิพิธภัณฑ์กำแพงเพชร พบที่วัดไตรตรึงษ์ (วัดเจ็ดยอด) อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร

ภาพที่ 26 ลูกปัดแก้ว ศิลปะ ทวารวดี.jpg

ภาพที่ 26 ลูกปัดแก้ว ศิลปะ ทวารวดี

ที่มา : พิพิธภัณฑ์กำแพงเพชร พบที่ตำบลหัวถนน อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร

วัสดุผลิตภัณฑ์[แก้ไข]

         วัตถุดิบที่ใช้ทำลูกปัดโบราณ จากหลักฐานที่มีข้อมูลแยกได้ดังนี้ 
         1. กระดูก เปลือกหอย ซึ่งรวมทั้ง เขา งา ปะการัง เขี้ยว และฟัน เปลือกหอย จัดได้ว่าจัดได้ว่าเป็นวัตถุดิบที่เก่าแก่ ซึ่งคนภาคใต้ในสมัยโบราณรู้จักนำมาทำเป็นเครื่องประดับและลูกปัด โดยนำเปลือกหอยมาขัดฝน เจาะรู เพื่อใช้ร้อยประดับ พบในแหล่งโบราณคดีเช่น ถ้ำเขาหินตก ถ้ำสุวรรณคูหา ถ้ำปากอม และถ้ำเบื้องแบบส่วนกระดูก ฟัน เขี้ยว และเขาสัตว์ มีการพบร่องรอยการขัดฝนทำเป็นเครื่องประดับในรูปของจี้ ห้อยแขวน หรือลูกปัดทรงกระบอก ที่พบหลักฐานในแหล่งโบราณคดีชุมชนโบราณพุนพิน (เขาศรีวิชัย) เครื่องประดับที่ทำด้วยงาช้างพบที่ชุมชนโบราณคลองท่อม ปะการังพบที่ชุมชนโบราณสทิงพระ โดยนำมาตัดเป็นแท่งๆ แต่ยังไม่พบหลักฐานการนำมาใช้เป็นเครื่องประดับ
         2. หิน-แร่ประกอบหิน ตามหลักฐานจากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในภาคใต้ พบว่า มีการใช้หินเป็นวัตถุดิบในการทำเครื่องประดับ มี 2 รูปแบบคือ นำมาขัดฝนเป็นกำไล และเม็ดลูกปัด หินที่ใช้ทำมักจะเป็นหินสีเทาดำที่ง่ายต่อการขัดฝน เช่น หินแอนดิไซด์ หินชนวน หินดินดาน และ แร่ประกอบหินตระกูลควอตซ์ สีขาวขุ่น รวมทั้งอำพัน และชาร์ต เมื่อมาถึงสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ มีแร่ประกอบหินที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบอีกหลายชนิด เช่น พลอย ทับทิม อำพัน แก้วตาแมว ที่มีในชุมชน ส่วนหินคาร์เนเลี่ยนและควอตซ์แก้วผลึก เป็นวัตถุดิบที่นำมาจากดินแดนอื่นเช่นอินเดีย ยังมีหิน-แร่ประกิบหินเช่นพวกพลอยม่วงหรืออะเมทิสต์ ควอตซ์ที่มีลายในเนื้อ เช่น อะเกตหรือโอนิกซ์แร่ประกอบหินสีเขียว เช่น เพรส เนไฟรต์ เซอร์เพนทีน ควอตซ์สีน้ำผึ้ง เช่น ซิทรีน ควอตซ์เนื้อละเอียด แจสเพอร์เนื้อสีแดง โอปอเนื้อวาวแบบเทียนไข หรือยางสน และออบซิเดี่ยน คล้ายแก้วสีดำ วัตถุดิบที่เป็นหิน-แร่ประกอบหิน ใช้ทำเครื่องประดับในสมัยแรกเริ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น กำไล หัวแหวน ตุ้มหู แหวน หรือ จี้สำหรับห้อยคอ แต่ที่พบมากที่สุด คือ ลูกปัด 
         3. ดินเผา – แก้วหลอม ดินเผาที่ใช้ทำเครื่องประดับของคนโบราณในภาคใต้ พบหลักฐานน้อยมาก ส่วนใหญ่ จะพบเป็นวัตถุขนาดเล็กๆ เช่น ลูกกระสุน แว และ ตุ้มถ่วงแห เป็นส่วนมาก มักจะเป็นดินเนื้อละเอียดและเผาแกร่ง ส่วนลูกปัดแก้วหลอม ทำเป็นเครื่องประดับในรูปแบบ กำไล ตุ้มหู แหวน หัวแหวน จี้ และลูกปัด สามารถทำลูกปัดให้มีสีและลวดลายต่างๆคล้ายเนื้อหิน และลวดลายใหม่ๆขึ้นอีกด้วย 
         4. โลหะหลอม เครื่องประดับที่ทำจากโลหะหลอมทำมาจาก ทอง ทองแดง เงิน ตะกั่ว ดีบุก เหล็ก รวมถึงโลหะผสมอีกชนิดหนึ่งคือ สำริด ลูกปัดที่ทำจากทอง พบในหลายแหล่งโบราณในภาคใต้ เช่น แหล่งชุมชนโบราณคลองท่อม,แหล่งชุมชนโบราณท่าชนะ,แหล่งชุมชนโบราณสามแก้ว,แหล่งชุมชนตะกั่วป่า แหล่งชุมชนโบราณไชยาฯลฯ เครื่องประดับทำด้วยทองที่พบอยู่ในรูปแบบของแหวน จี้ ตุ้มหู และ เม็ดลูกปัด ส่วนเงินพบน้อยมาก ตะกั่วและสำริด เป็นโลหะที่นิยมมาทำเป็นเครื่องประดับในรูปแบบของตุ้มหู แหวน ลูกปัด และลูกกระพรวน นอกจากนี้ยังพบแม่พิมพ์หินทราย สำหรับหล่อตุ้มหูสำริดด้วย ส่วนเหล็กที่ทำเป็นเครื่องประดับพบจากแหล่งชุมชนโบราณท่าเรือเรียกว่า ลูกปัดฮีมาไทต์รูปทรงกระบอก (ธวัชชัย วิภีษณพราหมณ์, 2562, ออนไลน์)

การใช้งาน[แก้ไข]

         1. ใช้เป็นเครื่องประดับ โดยร้อยเชือกหรือวัสดุอื่นๆ อบเป็นพวงติดกันผูกไว้ที่ข้อมือ เป็นสายพันรอบเอว และร้อยคล้องคอ เจาะติดจมูก ใส่เป็นต่างหู พันไว้รอบศีรษะ ร้อยไว้รอบผม แล้วแต่ความนิยมของแต่ละท้องถิ่น และบางครั้งใช้เป็นเครื่องบอกฐานะทางสังคมของคนโบราณ
         2. ใช้เป็นเครื่องรางของขลัง บางครั้งใช้ประกอบพิธีกรรมเพราะในความหมายของคำว่า ลูกปัดในภาษาไทยอาจหมายถึง ปัดรังควาน หรือ ปัดเสนียด จัญไร หรือสิ่งชั่วร้าย เมื่อเทียบกับความหมายในภาษาอังกฤษ คำว่า BEAD มาจากคำว่า BEDE ในสมัยกลางแปลว่า การสวดมนต์ ซึ่งน่าจะเกี่ยวกับพิธีกรรมทางพราหมณ์และพุทธสายมหายาน เช่นเดียวกับในธิเบต
         3. ใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาโรคบางอย่างได้ ในทวีปยุโรป เชื่อกันว่าลูกปัดช่วยถนอม สายตา ลูกปัดอำพันใช้แก้โรคปวดท้องได้ 
         4. ใช้แทนเงินตรา ในการแลกเปลี่ยนทางการค้าเพราะลูกปัดมีขนาดที่เหมาะสม ง่ายต่อ การนำติดตังไปยังที่ต่างๆ เพื่อการแลกเปลี่ยนสินค้าในทวีปเอเซีย ยุโรป และแอฟริกา พบลูกปัดจำนวนมากอยู่ร่วมกับสินค้าอื่นๆ โดยเฉพาะในยุคที่มนุษย์เริ่มมีความสัมพันธ์ทางการค้า (ธวัชชัย วิภีษณพราหมณ์, 2562, ออนไลน์)

บทสรุป[แก้ไข]

         ลูกปัดโบราณเมืองกำแพงเพชร เป็นเรื่องราวของวัตถุที่มีลักษณะเป็นเม็ด มีหลายรูปทรง เจาะรูเพื่อใช้ร้อยเข้าไปในเส้นด้ายหรือเชือก ซึ่งเป็นวัสดุที่ทนและไม่ขาดง่ายเป็นสิ่งที่มนุษย์ทำขึ้นและใช้เมื่อหลายพันและหลายหมื่นปีมาแล้ว มนุษย์ในสมัยแรกๆ ทำลูกปัดจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น กระดูกสัตว์ เขี้ยว เปลือกหอย เมล็ดพืช เปลือกไม้ ยางไม้ ต่อมามนุษย์ทำลูกปัดจากวัสดุที่ทำขึ้นเอง เช่น ดินเผา แก้ว สำริด ทอง เป็นต้น ลูกปัดถูกใช้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ เนื่องจากมีการขุดพบลูกปัดมากมายในแหล่งอารายธรรมเก่าแก่ทั้งหลาย ลูกโบราณที่ขุดพบนั้นทำมาจากวัสดุต่างๆ ลูกปัดมีหลายรูปแบบต่างๆหลายสี และมีความหมายแตกต่างกันไป แหล่งค้นพบลูกปัดโบราณในจังหวัดกำแพงเพชรคือเมืองไตรตรึงษ์ ซึ่งพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผา ภาชนะดินเผาก้นกลม และตะเกียงดินเผาแบบโรมันที่คล้ายคลึงกับที่พบที่ชุมชนโบราณบ้านคูเมือง อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี นอกจากนี้ยังพบลูกปัดหินและลูกปัดแก้ว สีเหลือง ส้ม เขียว ฟ้า น้ำเงิน ดำ และสีน้ำตาลแดง วัตถุดิบที่ใช้ทำลูกปัด ได้แก่ กระดูก เปลือกหอย ซึ่งรวมทั้ง เขา งา ปะการัง เขี้ยว และฟัน เปลือกหอย หิน-แร่ประกอบหิน ดินเผา – แก้วหลอม และโลหะหลอม โดยสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องประดับ เครื่องรางของขลัง เครื่องมือในการรักษาโรคบางอย่างได้ และใช้แทนเงินตราได้อีกด้วย