วัดถ้ำเทพพนม ณ โละโคะ เมืองสามหมอก

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         วัดถ้ำเทพพนม อยู่ในเขตพื้นที่อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า วัดถ้ำเทพพนมเป็นถ้ำขนาดใหญ่ มีหินงอกหินย้อยและมีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก มีสภาพคล้ายถ้ำเขาพนัง ถ้ำเทพพนมอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 17 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่วังเจ้า หมู่ 5 บ้านโละโคะ ประมาณ 1.5 กิโลเมตร (นุกูล นาคถนอม, ม.ป.ป)
ภาพที่ 1 เส้นทางและผังบริเวณ.jpg

ภาพที่ 1 เส้นทางและผังบริเวณที่ทำการอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า

(กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช, 2562)

         ถ้ำเทพพนมมีเรื่องเล่ามาตั้งเเต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้า-จุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) ว่าเเต่เดิมถ้ำเเห่งนี้เป็นที่อยู่ของเสือมาก่อน เนื่องจากป่าระเเวกนี้ถือว่าสมบูรณ์มาก เขตบริเวณถ้ำเทพพนมนี้จึงเหมาะเป็นที่พักของเสือ ผู้คนจึงเกรงกลัวเเละไม่กล้าเข้าใกล้บริเวณนี้ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ความไม่สงบสุข เเละมีระเบิดลงตลอดเวลา ทำให้เกิดการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ทั้งสัตว์ป่าเเละผู้คน ชาวบ้านจึงทยอยหาที่หลบภัย เเละชาวบ้านปกาเกอะญอ ได้ค้นพบถ้ำ ซึ่งคนสมัยนั้น ใช้ถ้ำเทพพนมเป็นที่หลบภัยเท่านั้น (เหตุด้วยความเชื่อ ว่าถ้ำนี้ มีเสือคุ้มครอง) ชาวบ้านจึงขอเเค่มาหลบภัย มิได้ต้องการมาบุกรุกหรือทำให้เกิดความเสียหาย เมื่อสงครามสงบลง ชาวบ้านเห็นว่า บริเวณนี้ เหมาะกับการตั้งรากฐานใหม่ ชาวบ้านปกาเกอะญอ จึงตั้งหมู่บ้านในบริเวณนั้นซึ่งขึ้นมา ห่างจากตัวถ้ำประมาณ 1.5 กิโลเมตร เพื่อไม่เป็นการรบกวนถ้ำ ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 มีพระสงฆ์องค์หนึ่งได้ธุดงค์มาถึงถ้ำเทพพนมเเละได้เห็นว่า  ณ ที่เเห่งนี้เป็นที่สงบร่มรื่น เหมาะเเก่การบำเพ็ญเพียร สงบเอื้อต่อการเจริญสมาธิภาวนา ทั้งเมื่อชาวบ้านพบท่านก็ได้ขอให้ท่านอยู่เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้แก่ชาวบ้าน ท่านจึงตัดสินใจที่จะอยู่เพื่อบำเพ็ญเพียรที่นี้เป็นหลัก เเต่ด้วยที่ถ้ำนี้มีผู้ดูเเลปกป้องถ้ำนี้อยู่เเล้ว (ความเชื่อของชาวบ้าน) ทำให้ท่านอยู่ในถ้ำไม่ได้ ชาวบ้านจึงขอให้ท่านเเค่เข้ามานั่งสมาธิสงบจิตใจเเค่เท่านั้น ท่านจึงออกมาสร้างวัด ที่ห่างจากถ้ำประมาณ 100 เมตร ตั้งเเต่นั้นมาถ้ำเทพพนมเลยเป็นที่พำนักของพระสงฆ์หรือผู้คนที่ต้องการมาพึ่งความสงบและละทางโลกเท่านั้น โดยมีชาวบ้านเล่าว่า เคยมีพระรูปหนึ่งมาขออาศัยอยู่ในถ้ำ 4 ปี เเล้วจะจากไป เเต่เมื่อครบ 4 ปี เห็นว่าจะอยู่ต่ออีกให้เป็น 5 ปี ก็ไม่สามารถอยู่ได้ พบเจอเเต่เรื่องเหลือเชื่อ จนทำให้ต้องออกจากถ้ำ ชาวบ้านจึงเชื่อกันว่า ถ้ำนี้หากพูดคำไหนต้องเป็นคำนั้น ตั้งเเต่นั้นมาคนจึงเชื่อกันว่าถ้ำเทพพนมนั้น เป็นที่ฝึกจิต หลอมใจ ให้เข้มแข็ง มีสติระลึกรู้ มีบทบริกรรม พุทโธ อยู่กับสายลมหายใจ การเจริญสติ ก่อให้เกิดสมาธิ
         ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2528 คณะทำงานเพื่อประเมินมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมแหล่งธรรมชาติอันควรอนุรักษ์ ประเภทถ้ำ ได้เดินทางไปประเมินมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ณ ถ้ำเทพพนม ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า จังหวัดกำแพงเพชร (หลวงปู่เย็น ณ บ้านโละโคะ, 2562) จากการประเมินของคณะกรรมการชุดดังกล่าวพบว่า ถ้ำเทพพนมมีอายุประมาณ 237 ปี (พ.ศ. 2325 -2562) (หลวงปู่เย็น ณ บ้านโละโคะ, 2562)
ภาพที่ 2 เป็นบรรยากาศหน้าถ้ำ.jpg

ภาพที่ 2 เป็นบรรยากาศหน้าถ้ำและพระพุทธรูปภายในถ้ำเทพพนม

(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, ศุภกร ซองผม และคณะ, 2562)

ภาพที่ 3 เป็นที่พักสงฆ์และเพดานถ้ำ.jpg

ภาพที่ 3 เป็นที่พักสงฆ์และเพดานถ้ำซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของค้างคาว

(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, ศุภกร ซองผม และคณะ, 2562)

         จากการสำรวจพื้นที่ภายในถ้ำเทพพนม พบว่า ภายในถ้ำมีลักษณะเป็นโพรงลึกกว้างขวางพอที่มนุษย์สามารถเข้าไปได้ ลักษณะของหินภายในนั้นเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นหินย้อยสีน้ำตาลออกขาวๆ ย้อยลงมาสลับกันเหมือลาวาซึ่งเกิดจากน้ำใต้ดินที่มีหินปูนเป็นส่วนประกอบละลายอยู่หยดลงจากรอยแตก    บนเพดาน ดังนั้น บรรยากาศภายในถ้ำจึงชื้นและเย็นยะเยือก เงียบสงบเหมาะสำหรับการปฏิบัติธรรมสำหรับพระสงฆ์และผู้ที่ต้องการบำเพ็ญเพียรเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นแล้วภายในถ้ำยังมีแสงส่องลอดเข้ามา ทำให้ถ้ำนั้นพอมีแสงสว่างอยู่บ้าง แต่ถ้าเดินลึกเข้าไปด้านในถ้ำจะมืดมากซึ่งต้องใช้ไฟฉายหรือตะเกียงช่วยส่องแสงให้ความสว่าง (ศุภกร ซองผมและคณะ, 2562)
ภาพที่ 4 ลักษณะของหินย้อยลง.jpg

ภาพที่ 4 ลักษณะของหินย้อยลง

(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, ศุภกร ซองผม และคณะ, 2562)

ภาพที่ 5 แสงที่ส่องเข้ามาในถ้ำ.jpg

ภาพที่ 5 แสงที่ส่องเข้ามาในถ้ำและบรรยากาศภายในถ้ำเทพพนม

(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, ศุภกร ซองผม และคณะ, 2562)

สภาพแวดล้อมถ้ำเทพพนม[แก้ไข]

         ถ้ำเทพพนมมีลักษณะโดยรอบเป็นภูเขาน้อยใหญ่มีต้นไม้ยืนต้น ไม้ผล เเละไม้ประดับ ปกคลุมอยู่โดยรอบ เมื่อขึ้นไปถึงหน้าถ้ำจะสามารถมองเห็น ต้นไม้ด้านล่างจากภูเขาลูกต่างๆ นอกจากนั้นบริเวณด้านหน้าถ้ำ จะเป็นพื้นที่โล่งกว้าง สำหรับเดินปฏิบัติธรรมหรือเดินจงกลม และภายในถ้ำก็เหมาะสำหรับการนั่งปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก
ภาพที่ 6 บันไดทางเข้าและบรรยากาศ.jpg

ภาพที่ 6 บันไดทางเข้าและบรรยากาศภายนอกวัดถ้ำเทพพนม

(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, ศุภกร ซองผม และคณะ, 2562)

ภาพที่ 7 บรรยากาศภายนอกถ้ำ.jpg

ภาพที่ 7 บรรยากาศภายนอกถ้ำ

(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, ศุภกร ซองผม และคณะ, 2562)

         ด้านซ้ายมือจะมีศาลาที่พักของสงฆ์ที่ธุดงค์ผ่านมาหรือองค์ที่ต้องการมาปฏิบัติธรรม ชาวบ้านจะนำน้ำดื่ม น้ำเปล่า ข้าวปลาอาหาร ของใช้ต่างๆที่จำเป็น และนำสังฆทานมาถวายเพื่อทำบุญ ส่วนด้านหลังศาลามีทางเดินหินลงไปข้างล่าง แต่ชาวบ้านเเถวนั้นไม่นิยมลงไป เนื่องจากชาวบ้านเล่าว่า ทางเดินนั้นเป็นทางเดินของเสือโพรงหากเดินลึกลงไปจะเป็นที่อยู่อาศัยของเสือ แต่ปัจจุบันพื้นที่บริเวณนั้นแห้งขอดเพราะป่าโดยรอบถูกทำลาย หลวงปู่เย็นเล่าว่า บางครั้งบางคราวพระลูกวัดและผู้ที่มาปฏิบัติธรรมจะเห็นเสื้อมาเดินหากินบริเวณวัด ให้ผู้คนได้เห็นรอยเท้า เเต่หลวงปู่เย็นกล่าวว่า เสือที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้จะไม่ทำอันตรายผู้คนหากไม่มีใครไปรบกวนเขา

การเดินทาง[แก้ไข]

         ถ้ำเทพพนมอยู่ห่างจากตัวเมืองกำเเพงเพชร 88 กิโลเมตร สามารถเดินทางโดยรถยนต์มุ่งหน้าไปทางจังหวัดตากโดยใช้เส้นทางสายเอเชียถนนพหลโยธิน เมื่อขับรถมาจนถึงอุทยานเเห่งชาติคลองวังเจ้า ผู้เดินทางไปถ้ำเทพพนมจะต้องแจ้งชื่อกับเจ้าหน้าที่อุทยาน เพื่อเป็นการบอกกล่าวและขออนุญาต เนื่องจากเส้นทางไปวัดถ้ำเทพพนมนั้นเป็นเส้นทางที่ค่อนข้างเสี่ยงอันตรายและยากลำบาก ซึ่งไม่เหมาะกับผู้ที่ไม่ชำนาญเส้นทาง 
         เจ้าหน้าที่จะเเจกใบประกอบการท่องเที่ยวเเละเเนะนำสถานที่ต่างๆ ถ้ำเทพพนมห่างจากจุดที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 17 กิโลเมตร ซึ่งในช่วง 5 กิโลกเมตรเเรก ถนนยังเป็นถนน 2 เลนแต่เริ่มสูงชัน มีทางโค้งที่ชันมากพร้อมกับเส้นทางขึ้นลงสลับกันตลอดเวลา บริเวณฝั่งซ้ายจะเป็นภูเขาสลับต้นไม้ ส่วนฝั่งขวา คือ เหวลึก เพื่อป้องกันอันตรายจากการตกเหว เจ้าหน้าที่อุทยานจึงนำที่กั้นถนนมากั้นขอบด้านขวาเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ที่สัญจรไปมา
ภาพที่ 8 บรรยากาศทางไปโละโคะ.jpg

ภาพที่ 8 บรรยากาศทางไปโละโคะ

(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, ศุภกร ซองผม และคณะ, 2562)

         ต่อจากนั้นอีก 6 กิโลเมตร ถนนเริ่มเป็นเลนเดียวเเละมีป้ายเตือน ให้ขับขี่ด้วยเกียร์ต่ำเเละบีบเเตร  ตลอดการขับขี่ เพื่อที่รถที่สวนไปมาจะได้ยินเสียงเเตร ให้ชะลอความเร็วพร้อมทั้งหยุดรถ เพื่อรอรถสวนไป เพราะทางโค้งค่อนข้างเยอะเเละทางชันมาก ทั้งยังเป็นถนนเลนเดียว จึงทำให้ไม่สามารถมองเห็นรถที่มาจาก  ฝั่งตรงข้ามได้
ภาพที่ 9 บรรยากาศทางไปโละโคะ.jpg

ภาพที่ 9 บรรยากาศทางไปโละโคะ

(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, ศุภกร ซองผม และคณะ, 2562)

         จากทางลาดยางกลายเป็นทางปูนคอนกรีตที่ไม่ได้ทำเต็มถนนเเต่เป็นเพียงทำเเค่พอที่รถยนต์จะขับขึ้นมาได้เท่านั้น จากการสอบถามชาวบ้านเเถวนั้นว่า ทำไมถึงไม่ทำถนนให้มันเต็มพื้น ชาวบ้านเล่าทางนี้มันลาดชันมาก เมื่อก่อนเป็นทางลูกรัง เมื่อยามฤดูฝนถนนนี้จะเเฉะ ไม่สามารถขึ้นหรือลงเขาได้ ถนนนี้สร้างขึ้นโดยคนในพื้นที่ร่วมมือร่วมใจช่วยกันทำเพื่อป้องกันอันตรายเเละความสะดวกสบายในการเดินทางทั้งคนในชุมชนเเละนักท่องเที่ยว
ภาพที่ 10 ทางเข้าไปยังวัดถ้ำเทพพนม.jpg

ภาพที่ 10 ทางเข้าไปยังวัดถ้ำเทพพนมและบรรยากาศทางไปวัดถ้ำเทพพนม

(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, ศุภกร ซองผม และคณะ, 2562)

         จากนั้นจะพบกับป้ายวัดถ้ำเทพพนมทางด้านซ้ายมือ และทางแยก ซึ่งเส้นทางที่ไปวัดถ้ำเทพพนมนั้น เป็นเส้นทางลูกรัง เต็มไปด้วยหลุมและบ่อ เมื่อถึงวัดถ้ำเทพพนม เราจะพบต้นไม้ไม่ง่าจะเป็นไม้ดอก ไม้ประดับตลอดข้างทางและมีทางเดินที่เป็นหินแผ่นใหญ่ๆ ให้ผู้แสวงบุญสามารถเดินไปจนเจอวัดถ้ำเทพพนมได้
ภาพที่ 11 บรรยากาศระหว่างเดินทาง.jpg

ภาพที่ 11 บรรยากาศระหว่างเดินทางไปยังวัดถ้ำเทพพนม

(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, ศุภกร ซองผม และคณะ, 2562)

ภาพที่ 12 บรรยากาศอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า.jpg

ภาพที่ 12 บรรยากาศอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า

(วุฒิชัย ตรุษลักษณ์, ศุภกร ซองผม และคณะ, 2562)

         โดยสรุป ถ้ำเทพพนมีลักษณะเป็นโพรงขนาดใหญ่ที่มนุษย์สามารถเข้าเข้าไปอยู่อาศัยได้ ภายในถ้ำมีหินย้อยซึ่งเกิดโดยธรรมชาติ มีหินปูนเป็นส่วนประกอบ มีอุโมงค์หรือช่องที่แสงสามารถรอดเข้ามาได้ในช่วงกลางวัน แต่หากเข้าไปลึกมากๆ จำเป็นต้องมีเทียนและไฟฉายในการนำทาง ภายนอกถ้ำเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ไปด้วยไม้ยืนต้น ไม้ดอกและไม้ประดับนานาชนิด มีพื้นที่โล่งกว้างเหมาะสำหรับการเดินจงกลมนอกจากนั้นแล้ว ในอดีตยังมีการสันนิษฐานว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่อยู่อาศัยของเสือด้วย จากการเดินทางที่ยากลำบากและสถานที่ที่อยู่ห่างไกล ธรรมชาติโดยรอบจึงยังคงความอุดมสมบูรณ์ไว้ได้อย่างมาก นอกจากนั้นยังหากไกลจากผู้คนจึงเหมาะแก่การใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมเป้นอย่างยิ่ง