วัดพระสี่อิริยบถและวัดนาค โบราณสถานสำคัญเมืองกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         จังหวัดกำแพงเพชรเป็นจังหวัดหนึ่งที่เต็มไปด้วยโบราณสานและสถาปัตยกรรมโบราณที่ผสมผสานมาจากหลายๆวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมจากขอม สุโขทัยหรือแม่แต่อยุธยา  เนื่องจากในสมัยโบราณจังหวัดกำแพงเพชร เป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของแต่ละราชธานี เมื่อเมืองหน้าด้านถูกตีแตกจึงถูกอีกราชอาณาจักรหนึ่งยึดครอง จึงเริ่มเกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม ความเชื่อของเมืองเจ้าอาณานิคมก็จะหลั่งไหลเข้ามาในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร(ทั้งจากสุโขทัยและอยุธยา) ทำให้วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมในจังหวัดกำแพงเพชรแตกต่างจากสถาปัตยกรรมในสุโขทัยและอยุธยานั่นเอง วัดนาควัชโสภณและวัดพระสี่อิริยบถก็เช่นเดียวกัน ทั้ง 2 วัดได้รับอิทธิพลจากการยึดครองและถ่ายทอดศิลปกรรมจากเจ้าอาณานิคมต่างๆ ผสมผสานจนกลายเป็นศิลปกรรมเฉพาะจังหวัดกำแพงเพชร
         วัดพระสี่อิริยาบถหรือวัดพระยืน เป็นวัดที่อยู่ในพื้นที่ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันวัดพระสี่อิริยาบถขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534 โดยก่อนหน้านี้วัดพระสี่อิริยาบถได้ขึ้นทะเบียนของกรมศิลปากรและขึ้นทะเบียนของ UNESCO ไว้ก่อนแล้ว หลังจากนั้นในปี 2478 วัดพระสี่อิริยาบถขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 และ 54 ตามลำดับ 
         เมื่อพิจารณายุคทางโบราณคดี พบว่า วัดพระสี่อิริยาบถอยู่ในยุคประวัติศาสตร์สมัย - สมัยสุโขทัย, สมัยอยุธยา, สมัยอยุธยาตอนต้นและสมัยอยุธยาตอนกลาง ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 – 21 ส่วนวัดช้างหรือวัดนาควัชรโสภณนั้น พบว่ามีอายุมากกว่า 700 ปี นอกจากนั้นยังได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมมาจากสมัยลพบุรีหรือขอม ปัจจุบันวัดนาควัชรโสภณ เป็นสถานะเป็นวัดอารามหลวงในจังหวัดกำแพงเพชร นอกจากนั้นยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (12 ธันวาคม 2534) เช่นเดียวกับวัดพระสี่อิริยาบถ ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจถึงที่มาที่ไปและความสำคัญของวัดโบราณทั้ง 2 วัด บทความวิจัยฉบับนี้จึงเกิดขึ้น โดยเริ่มที่วัดพระสี่อิริยาบถ

วัดพระสี่อิริยาบถ[แก้ไข]

ภาพที่ 1 แสดงรายละเอียด.jpg

ภาพที่ 1 แสดงรายละเอียดที่มาของวัดพระสี่อิริยาบถ

(ณัฐพล วรรณ์สุทธะ และคณะ, 2562)

         วัดพระสี่อิริยาบถหรือ “วัดพระยืน” เป็นวัดขนาดใหญ่อีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในบริเวณอรัญญิกเมืองกำแพงเพชรอยู่ถัดจากวัดพระนอนไปทางทิศเหนือ ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำและศาลาเช่นเดียวกับวัดพระนอน สิ่งก่อสร้างสำคัญที่เป็นแกนหลักของวัดประกอบไปด้วยวิหารตั้งอยู่ด้านหน้าวัด วิหารสร้างฐาน 2 ชั้น ฐานล่างหรือเรียกว่า “ฐานทักษิณ” สร้างเป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่สูงใหญ่ผนังด้านข้างใช้ศิลาแลงก่อเป็นลูกกรงที่เตี้ยๆเรียนแบบเครื่องไม้ชานชาลา ด้านหน้ามีแท่นซึ่งเดิมประดับสิงห์ปูนปั้นและทวารบาลรวม 8 แท่นส่วนฐานวิหารที่อยู่ด้านบนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุกเด็จทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ภายในวิหารยังปรากฏแท่นอาสนสงฆ์และแท่นประดิษฐานพระประธาน เสารับเครื่องบนเป็นศิลาแลงสี่เหลี่ยม ด้านหลังวิหารเป็นมณฑปขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว ทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะมณฑปเป็นแบบจัตุรมุข กึ่งกลางเป็นแท่งสี่เหลี่ยมเพื่อรับส่วนยอดหลังคา จากนั้นทำเป็นมุขยื่นออกมาทั้ง 4 ทิศ แต่ละด้านของแท่งสี่เหลี่ยมก่อผนังไว้ให้เว้าเข้าไปและประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ด้านหน้าตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปลีลา ด้านทิศเหนือพระพุทธรูปในอิริยาบถนอน ด้านทิศใต้เป็นพระพุทธรูปนั่งและด้านทิศตะวันตกเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถยืนซึ่งเหลือสภาพมากกว่าด้านอื่นๆ การที่ช่างก่อผนังให้เว้าเข้าไปมากเพื่อจะทำให้ดูคล้ายกับว่าพระพุทธรูปอยู่ลึกเข้าไปในห้องคูหา มณฑปประดิษฐานพระพุทธรูปสี่อิริยาบถแบบนี้สร้างกันมาก่อนที่กรุงสุโขทัยดังปรากฏที่วัดเชตุพน ที่ตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศใต้  ภายในกำแพงแก้วรอบมณฑปมีฐานเจดีย์รายหลายองค์ เจดีย์รายที่อยู่บริเวณมุมกำแพงแก้วทำเป็นรูปแบบเจดีย์ที่เรียกว่าเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆัง ส่วนเรือธาตุทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปส่วนยอดเป็นองค์ละครั้งแบบสุโขทัย สำหรับอุโบสถสร้างเป็นอาคารขนาดเล็กฐานเตี้ยอยู่ติดกับแนวกำแพงวัดทางด้านทิศใต้มีใบเสมาปักบนพื้นดินโดยรอบ เขตสังฆาวาสเป็นบริเวณทางด้านหลังของเขตพุทธาวาสพบฐานอาคารขนาดต่างๆที่เป็นฐานศาลากุฏิและบ่อน้ำภายในกำแพง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 - 21 หรือพุทธศักราช 1901 - 2100 สิ่งก่อสร้างสำคัญอยู่ในเขตพุทธาวาสประกอบด้วยวิหารที่ทำฐานย่อมุมทั้งด้านหน้า - ด้านหลัง ตั้งอยู่บนฐานรองรับขนาดใหญ่ที่เรียกว่าฐานไพที ชาญด้านหน้าฐานไพที่มีแท่นวางประติมากรรมซึ่งน่าจะเป็นรูปสิงห์และทวารบาล บนฐานชุกชีภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ด้านหลังของวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระสี่อิริยาบถคือ พระยืน เดิน(ลีลา) นั่งและพระนอน การสร้างวิหารขนาดใหญ่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของวิหารมากกว่าอุโบสถซึ่งมีขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ติดกำแพงวัดด้านทิศใต้ ส่วนเขตสังฆวาอยู่บริเวณด้านหลังถัดจากแนวมณฑปพระสี่อิริยาบถ (นันทนา ตันติเวสส, 2552, หน้า 69-72)
ภาพที่ 2 แสดงพื้นที่โดยรอบ.jpg

ภาพที่ 2 แสดงพื้นที่โดยรอบบริเวณวัดพระสี่อิริยาบถ

(ณัฐพล วรรณ์สุทธะ และคณะ, 2562)

ความหมายของพระสี่อิริยาบถคือ ปางในพุทธประวัติ[แก้ไข]

         นักวิชาการได้เสนอข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับวัดพระสี่อิริยาบถ ถึงแนวคิดหรืออคติที่มาของการสร้างพระพุทธรูปสี่อิริยาบถไว้หลากหลายเช่น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์เสนอว่า น่าจะหมายถึง กิจวัตรและการพักผ่อนของพระพุทธเจ้าในรอบ 1 วันคือ
         นั่ง หมายถึง การประทับนั่งในตอนเช้าก่อนเสด็จออกบิณฑบาต 
         ยืน หมายถึง การประทับยืนในตอนเพลหรือแสดงโอวาท 
         นอน หมายถึง การไสยาสน์ในตอนบ่ายและก่อนรุ่งแจ้ง 
         เดิน หมายถึง การเสด็จพระดำเนินจงกรมเพื่อผ่อนคลายความเมื่อยล้าในเวลาหลังเที่ยงคืน
         ทิศที่ตั้งพระนอนการมีการวางตำแหน่งที่แตกต่างระหว่างกำแพงเพชร-สุโขทัย ซึ่งแสดงถึงการรับอิทธิพลของวัฒนธรรมและความเชื่อจากการเป็นเมืองในอาณานิคมของสุโขทัย แม้พระพุทธรูปสี่อิริยาบถของทั้งวัดแห่งนี้และวัดพระเชตุพน เมืองสุโขทัย จะมีลักษณะโดยรวมเหมือนกันแต่ก็มีข้อที่แตกต่างกันคือ ตำแหน่งของพระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัยกับพระพุทธรูปไสยาสน์อยู่สลับทิศกัน นั่นคือที่วัดพระเชตุพนพระพุทธรูปไสยาสน์อยู่ด้านทิศใต้ พระพุทธรูปประทับนั่งอยู่ด้านทิศเหนือ ส่วนที่วัดแห่งนี้มีพระพุทธรูปไสยาสน์อยู่ด้านทิศเหนือ พระพุทธรูปประทับนั่งอยู่ด้านทิศใต้ นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานถึงเหตุที่วางตำแหน่งสลับกันเช่นนี้ว่า อาจเกิดจากคติความเชื่อที่แตกต่างกันโดยอาจเป็นไปได้ว่า ผู้สร้างชาวกำแพงเพชรในเวลานั้นมีความเชื่อแบบชาวกรุงศรีอยุธยา (ซึ่งในช่วงเวลานั้นได้ขึ้นมามีอำนาจเหนือกำแพงเพชรแล้ว) ที่เชื่อว่าทิศตะวันตกเป็นทิศอัปมงคลจึงไม่นิยมสร้างให้พระเศียรของพระพุทธรูปหันไปทางทิศตะวันตกต่างจากความเชื่อของสุโขทัยที่ไม่เคร่งครัดในเรื่องนี้และด้วยเหตุที่ท่าทางของพระพุทธรูปไสยาสน์ที่ถูกจำกัดว่าต้องทำตามคติแบบสีหไสยาสน์ (ตะแคงขวา) เท่านั้น ดังนั้นที่วัดพระสี่อิริยาบถจึงต้องย้าย พุทธรูปใสยาสน์มาอยู่ทางทิศเหนือเพื่อให้พระเศียรหันไปทางทิศตะวันออกแทน อย่างไรก็ตามอาจเป็นไปได้ ว่าการที่พระพุทธรูปไสยาสน์ในชุดของวัดพระสี่อิริยาบถซึ่งสื่อถึงปางปรินิพพานและมีความหมายสื่อไปในทางที่ไม่เป็นมงคล ดังนั้น จึงอาจมีคติไม่สร้างพระพุทธรูปปางปรินิพพานเข้าหาตัวเมืองจึงจำเป็นต้องหันออกไปนอกเมืองทำให้ตำแหน่งของพระพุทธรูปไสยาสน์ต้องสลับที่กันนั่นเอง (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2561, หน้า 104-105)
ภาพที่ 3 แสดงพุทธรูปในบริเวณวัดพระสี่อิริยาบถ.jpg

ภาพที่ 3 แสดงพุทธรูปในบริเวณวัดพระสี่อิริยาบถ

(ณัฐพล วรรณ์สุทธะ และคณะ, 2562)

ภาพที่ 4 แสดงบริเวณวัดพระสี่อิริยาบถ.jpg

ภาพที่ 4 แสดงบริเวณวัดพระสี่อิริยาบถ

(ณัฐพล วรรณ์สุทธะ และคณะ, 2562)

ภาพที่ 5 แสดงบริเวณด้านหลังพระประธาน.jpg

ภาพที่ 5 แสดงบริเวณด้านหลังพระประธานในบริเวณวัดพระสี่อิริยาบถ

(ณัฐพล วรรณ์สุทธะ และคณะ, 2562)

ลักษณะสิ่งปลูกสร้างและสถาปัตยกรรม[แก้ไข]

         กำแพงวัดพระสี่อิริยาบถ มีลักษณะเป็นศิลาแลงปักตั้งล้อม 4 ด้าน มีทางเข้าปูด้วยศิลาแลง มีศาลาโถงปลูกคร่อมทางเดินเป็นศาลากว้าง 6 เมตร ยาว 11 เมตร เป็นเสา 4 แถว 5 ห้อง ต่อจากศาลาหน้าวัดมีประตูเข้าไปในบริเวณวัดแล้วถึงฐานศิลาแลงใหญ่ ยกฐานสูงประมาณ 2 เมตร มีเสาลูกกรงเป็นศิลาแลงเหลี่ยมและมีทับหลังลูกกรงเตี้ย ๆ สูงประมาณ 60 เซนติเมตร อยู่โดยรอบ ฐานนี้มีบันไดขึ้นด้านหน้า 2 บันได ด้านข้าง 2 บันไดและด้านหลังอีก 2 บันได บนฐานวิหารกว้าง 17 เมตร ยาว 29 เมตร ย่อมุขเด็จทั้งหน้าและหลังเสาวิหารที่อยู่บนฐานเป็นเสา 4 แถว 5 ห้อง 2 แถว หน้าและหลัง 2 ห้อง รวม 7 ห้อง ที่ฐานชุกชี มีรอยตั้งพระพุทธรูปนั่งด้านหลังวิหารมีบันไดลงติดต่อกับมณฑปพระอิริยาบถ โดยรอบมณฑปกำแพงแก้วเตี้ย ๆ เหลือแต่ฐาน มีประตูเข้าด้านข้าง 2 ข้าง และด้านหลังมณฑปกว้าง 29 เมตร เป็นมณฑปสี่หน้า ด้านหน้ามีพระพุทธรูปปางลีลา ด้านข้างเหนือมีพระพุทธรูปนั่ง พระพุทธรูปปูนปั้นทั้ง 3 ด้าน 
ภาพที่ 6 แสดงรูปแบบสันนิฐานของวัดพระสี่อิริยาบถ.jpg

ภาพที่ 6 แสดงรูปแบบสันนิฐานของวัดพระสี่อิริยาบถ

(ณัฐพล วรรณ์สุทธะ และคณะ, 2562)

         วัดพระสี่อิริยาบถมีลักษณะสถาปัตยกรรมรวมทั้งหมด 6 แบบ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีหลังคาเป็นจั่วแบบจัตุรมุข และกลุ่มที่มีหลังคาเป็นทรงมณฑป ซึ่งแต่ละแบบก็มีข้อเด่นข้อด้อยต่างกันไป แต่ข้อสรุปร่วมกันที่สำคัญก็คือ การสร้างสรรค์ลักษณะสถาปัตยกรรมของมณฑปพระสี่อิริยาบถนั้น           มีความสัมพันธ์กันกับตัวพระพุทธรูปสี่อิริยาบถอย่างสอดคล้องส่งเสริมกัน แต่วัดนาควัชรโสภณ หรือ วัดช้าง นั้น  มีสถาปัตยกรรมสมัยลพบุรีหรือขอม ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างที่สำคัญภายในวัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง) ทั้งหมด 4 อย่างคือ เจดีย์ใหญ่ที่ประดิษฐานอยู่กลางลานฐานทักษิณสลักเป็นรูปช้างครึ่งตัวยืนอยู่โดยรอบทั้งหมด 68 เชือก หัวหันออกมาจากฐาน มีกำแพงแก้วประมาณ 3 ศอกล้อมอยู่โดยรอบ เจดีย์ด้านบนเหลือเพียงฐานแปดเหลี่ยมและหน้ากระดานกลม 2. ฐานของโบสถ์เก่าเหลือเป็นแท่นศิลาและองค์พระพุทธรูปปูนปั้น 3. มณฑปเก่า เป็นบันไดนาค 7 เศียร บันไดสูงขึ้นไปยอดมณฑป 4. เจดีย์เก่า เหลือแต่พื้นฐานและพระพุทธรูป อยู่ในความดูแลอนุรักษ์โดยกรมศิลปกร ซึ่งมีรายละเอียดในส่วนอื่นๆ ดังนี้
ภาพที่ 7 ทางเข้าวัดก่อนที่จะถึงบริเวณโบสถ์.jpg

ภาพที่ 7 ทางเข้าวัดก่อนที่จะถึงบริเวณโบสถ์

(ณัฐพล วรรณ์สุทธะ และคณะ, 2562)

วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)[แก้ไข]

         วัดนาควัชรโสภณ พระอารามหลวงชั้นตรี ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2511 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2513 ผูกพัทธสีมา เมื่อ พ.ศ. 2513 โดยสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อุฏฐายีมหาเถระ) เป็นประธานสงฆ์ ในพรรษากาล 2560 มีพระภิกษุ 21 รูปสามเณร 43 รูป อารามิกชน 10 คน มีพระเทพวัชราภรณ์ (เฉลิม วีรธมโม) เป็นเจ้าอาวาสพระครูโสภณวัชรคุณ (สุขกรีรตนโชโต) พระครูวัชรธรรมโกวิท (เพลินชัย)     พระมหาบรรจง ชุติวณโณ,ดร. และพระครูปลัดเกิดชัย คุตตธมุโมเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส มีนายจันทร์ รอดพันธ์ และ นายวิวัฒน์ ยามา เป็นไวยาวัจกร
         วัดนาควัชรโสภณ ได้รับการยกย่องให้เป็นวัดอุทยานการศึกษา และเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อปี พ.ศ.2538 และในปีพุทธศักราช 2539 เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกฐานะวัดนาควัชรโสภณ ขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2539 

ประวัติความเป็นมา[แก้ไข]

         วัดนาควัชรโสภณ เดิมชื่อ วัดช้าง สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยตอนปลาย ประมาณหลังพุทธ-ศตวรรษที่ 19 เป็นวัดที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่หน้าเมืองด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงข้ามกับวัดเจ้าเมืองกำแพงเพชรเป็นวัดอยู่ในกลุ่มอรัญญิกด้านทิศตะวันออก รูปแบบสภาพแวดล้อมทั้งหมดได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสมัยลพบุรีหรือขอม นอกจากนี้ยังพบร่องรอยของถนนพระร่วงตัดผ่านหน้าวัดนี้ด้วย วัดช้างนับเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาประมาณ 700 ปีเศษลักษณะสภาพโดยทั่วไปของกลุ่มโบราณสถานจะถูกล้อมรอบด้วยคูน้ำกว้างประมาณ 10 เมตร ยาวประมาณ 509 เมตร เนื้อที่ตั้งวัด 62 ไร่ การคมนาคมสะดวก บริเวณวัดสะอาดร่มรื่น สวยงาม (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2561)
         วัดช้าง เป็นวัดที่ร้างจากพระสงฆ์มาประมาณ 400 - 500 ปี ในปี พ.ศ. 2509 พระวิชัย ปสนุโน ได้จาริกธุดงค์มาปักกลดจำพรรษาอยู่ ณ บริเวณ เจดีย์โบราณสถานวัดช้าง โดยในช่วงดังกล่าวได้ปฏิบัติธรรมและเทศนาอบรมสั่งสอนพุทธศานิกชนแถบถิ่นนี้เป็นอย่างดี จนทำให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและได้อุปัฏฐากบำรุงท่านเป็นลำดับ ต่อมา จ.ส.อ.ศักดิ์ และนางสังเวียน เดชานนท์ มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินมอบถวายให้สร้างวัดและภายหลังมีผู้ซื้อที่ดินถวายเพิ่มเติมอีก รวมเป็นเนื้อที่ทั้งสิ้น 76 ไร่ 1 งานเศษ จากนั้นจึงเริ่มสร้างเสนาสนะที่พักอาศัย สาธารณูปการที่จำเป็นต่าง ๆ มีการศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสามเณรที่มาอยู่จำพรรษาที่วัดช้างแห่งนี้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ภาพที่ 8 ตำหนักสมเด็จพระญาณสังวร.jpg

ภาพที่ 8 ตำหนักสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช

(ณัฐพล วรรณ์สุทธะ และคณะ, 2562)

         ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)ได้ขออนุญาตสร้างวัด และเริ่มก่อสร้างอุโบสถ โดยได้รับความอุปถัมภ์จากพระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม กรุงเทพมหานคร และได้สร้างตำหนักทรงธรรมสังฆราชานุสรณ์ เพื่อเตรียมรับเสด็จสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อุฏฐายีมหาเถระ) ซึ่งได้เสด็จมาทรงยกช่อฟ้าอุโบสถ ในพ.ศ. 2513
         สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (จวนอุฏฐายี) ได้ประทานชื่อจากวัดช้าง (เดิม) เป็น “วัดนาค วัชรโสภณ” และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศตั้งเป็นวัด เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2513 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2513 จึงนับได้ว่า “วัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง)” เป็นวัดของคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุต แห่งแรกในจังหวัดกำแพงเพชร
         พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เป็นพระสุปฏิปันโน รักษาข้อวัตรปฏิบัติตามแนวพระ-กัมมัฏฐานสายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ชาวจังหวัดกำแพงเพชรให้ความเคารพนับถือท่านเป็นอันมากนอกจากการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาแก่ประชาชนโดยทั่วไปแล้ว ท่านยังได้จัดให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมสำหรับพระภิกษุสามเณรอีกด้วย ในขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาด้านสาธารณูปการต่าง ๆ ภายในวัดอีกทั้งได้ขยายวัดและสำนักสงฆ์ออกไปสู่ตำบล และอำเภออื่นอีกหลายแห่ง
         ด้านคณะสงฆ์ พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ได้รับความเมตตาจากพระเถระผู้ใหญ่ให้การอุปถัมภ์สนับสนุน อาทิ พระธรรมจินดาภรณ์ (ทองเจือ จินฺตเถโร) วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมาราม, พระอริยเมธี (ปฐม อุดมดี) และพระราชมุนี (โฮม โสภโณ) วัดปทุมวนาราม ร่วมกับคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และอุบาสก อุบาสิกา ได้ร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างวัดและสำนักสงฆ์ขึ้นในเขตพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชรอีกหลายแห่ง จนสามารถตั้งเป็นเขตการปกครองคณะสงฆ์จังหวัดกำแพงเพชร - พิจิตร (ธรรมยุต) โดยพระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺ-โน) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนาควัชรโสภณ ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร - พิจิตร (ธรรมยุต) เป็นองค์ปฐม
         วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2529 พระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ได้มรณภาพลงด้วยโรคกลัวน้ำ รวมสิริอายุ 56 ปี 3 เดือน ต่อมา พระมหาสมจิตต์ อภิจิตฺโต กรรมการเลขานุการ มูลนิธิปริยัติศึกษา ญสส. ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นศิษย์ของพระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) ที่ไปพำนักจำพรรษาอยู่  ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร โดยความอุปถัมภ์สนับสนุนจากพระเถระผู้ใหญ่ อาทิ พระ-พรหมมุนี (วิชมัย ปุญฺญาราโม) วัดบวรนิเวศวิหาร และ นายวัลลภ เจียรวนนท์ กรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้พาคณะญาติโยมผู้มีจิตศรัทธามาช่วยกันก่อสร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรม อาคารที่พักพระภิกษุ-สามเณร อาคารหอสมุด และตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เพื่อพัฒนาวัดให้เป็นสถานที่ศึกษา และปฏิบัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรและเปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้น เพื่ออบรมเยาวชนให้ได้รับความรู้ด้านศีลธรรม หลักธรรมตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา ตลอดจนจริยธรรมอันดีงาม และได้ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา วชิรกุญชร มัธยม เพื่อการศึกษาวิชาสามัญศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรอีกด้วย และในช่วงเดียวกันนี้ พระครูโสภณธรรมวัชร์ (เฉลิม วีรธมฺโม) ได้มาดำรงตำแหน่งรักษาการ เจ้าอาวาสวัดนาควัชรโสภณ และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 พร้อมกับดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอจังหวัดกำแพงเพชร - พิจิตร (ธรรมยุต) สืบต่อจากพระครูนาควัชราธร (วิชัย ปสนฺโน) เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดนาควัชรโสภณ ที่ได้มรณภาพลง
ภาพที่ 9 หอสวดมนต์และอาคารเรียน.jpg

ภาพที่ 9 หอสวดมนต์และอาคารเรียน

(ณัฐพล วรรณ์สุทธะ และคณะ, 2562)

         ปัจจุบัน วัดนาควัชรโสภณและวัดพระสี่อิริยาบถ ใช้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกนักธรรม แผนกบาลี แผนกสามัญศึกษา ศูนย์การศึกษาโบราณสถาน สถาปัตยกรรม ในจังหวัดกำแพงเพชร โดยเฉพาะวัดนาควัชรโสภณ (วัดช้าง) ยังเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์สำหรับเยาวชนแห่งแรกและแห่งเดียวในจังหวัดกำแพงเพชรด้วย