ศาลหลักเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรเป็นศาลที่เก่าแก่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราญแต่ไม่ทราบเป็นที่แน่ชัดว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อปีใด มีข้อสันนิษฐานว่าสร้างในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรสร้างขึ้นจากหินศิลาแลงและมีรูปเศียรเทพารักษ์ (เจ้าหมื่นขุนศรีวรจักร) ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรได้ถูกทิ้งร้างผุพังตามกาลเวลา ในปัจจุบันศาลหลักเมืองกำแพงเพชรถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดกำแพงเพชรที่ชาวจังหวัดกำแพงเพชรให้ความนับถือเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจมาหลายชั่วอายุคน บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับ 1) ประวัติข้อมูลของศาลหลักเมืองกำแพงเพชร 2) การบูรณะและปรับปรุงศาลหลักเมืองกำแพงเพชร 3) การสักการะบูชาศาลหลักเมืองกำแพงเพชร และ 4) การบนบาน, แก้บน และขอขมาต่อศาลหลักเมืองกำแพงเพชร

คำสำคัญ: ศาลหลักเมือง, ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง, กำแพงเพชร, การสักการะศาลหลักเมือง

ประวัติข้อมูลของศาลหลักเมืองกำแพงเพชร[แก้ไข]

         ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรตั้งอยู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 101 ตำบลในเมือง อำเภอเมือง กำแพงเพชร 62000 บริเวณวัดพระแก้วมรกตกับพระราชวังเดิม (สระมน) ทางออกไปประตูสะพานโคม เส้นทางไปอำเภอพรานกระต่าย และจังหวัดสุโขทัย (องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร, ม.ป.ป.)
ภาพที่ 1 ศาลหลักเมืองกำพงเพชร.jpg

ภาพที่ 1 ศาลหลักเมืองกำพงเพชร

         กำแพงเพชรเป็นเมืองที่มีความรุ่งเรืองเจริญก้าวหน้ามาแต่โบราณกาล เท่าที่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ก็ปรากฏความรุ่งเรืองมาในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลิไท เคยเสด็จมาปกครองเมืองกำแพงเพชร และยังคงมีร่องรอยทางประวัติศาสตร์เหลืออยู่คือ อุทยานประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน (สันติ  อภัยราช, 2544, หน้า 91) สรุปได้ว่า กำแพงเพชร มีความเจริญก้าวหน้ามาแต่โบราณกาล ในสมัยกรุงสุโขทัยมีสมเด็จพระเจ้าลิไท ปกครองเมืองกำแพงเพชร
         ตามตำนานการสร้างหลักเมือง เล่าต่อ ๆ มาว่า ก่อนสร้างหลักเมืองได้ขุดหลุมกลางเมืองและป่าวประกาศหาคนชื่อ นายอินทร์ นายจันทร์ นายมั่น นายคง เมื่อหาได้แล้วก็นำมาไว้ที่ก้นหลุม และฝังเสาลงไปทับร่างบุคคลทั้งสี่ เพื่อให้เป็นผีเฝ้าหลักเมือง เป็นเทพารักษ์ประจำเมือง เป็นปีศาจคุ้มครองเมือง เป็นประเพณีสืบมานับได้ว่าบุคคลทั้งสี่เป็นผู้เสียสละอย่างสูงในการเสียสละชีวิต เพื่อพิทักษ์ปกป้องบ้านเมือง เป็นที่พึ่งทางใจมาตลอดแม้กระทั่งป้อมเมืองกำแพงเพชรยังมีชื่อว่า ป้อมเจ้าอินทร์ ป้อมเจ้าจันทร์ ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ นับว่าเป็นความเชื่อมาตั้งแต่สมัยโบราณ
         ศาลหลักเมืองจังหวัดกำแพงเพชร เป็นศาลที่เก่าแก่มานานกว่า 700 ปี สันนิษฐานว่าสร้างสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) เชื่อกันว่าพระเจ้าวรมันต์ (เหม่) ผู้เรืองอำนาจเป็นผู้ก่อสร้างขึ้น ทำด้วยศิลาแลงรูปกลมยาวประมาณ 2 เมตร ฝังโผล่พ้นดินขึ้นมาประมาณ 1 เมตร มีรูปเศียรเทพารักษ์อยู่บนยอดศิลาแลง (สำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร, ม.ป.ป.) จากหลักฐานดังกล่าว ทำให้เชื่อว่า ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรเก่าแก่มานาน 700 ปี และเชื่อกันว่าพระเจ้าวรมันต์เป็นผู้ก่อสร้างขึ้นด้วยศิลาแลงและมีเศียรเทพารักษ์อยู่บนยอดศิลาแลง
         ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร ปัจจุบันขึ้นทะเบียนเป็นศาลเจ้าตามกฎเสนาบดีว่าด้วยที่กุศลสถานชนิดศาลเจ้า พ.ศ.2463 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2528 โดยมีนายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชรเป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้า โดยตำแหน่งมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการกิจการทั่วไป และแต่งตั้งผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้า ให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจตรากิจการอันเกี่ยวกับศาลเจ้าทุกประการ (สำนักงานเทศบาลเมืองกำแพงเพชร, 2555) สรุปได้ว่า ปัจจุบันศาลหลักเมืองกำแพงเพชรขึ้นทะเบียนเป็นศาลเจ้าเมื่อ พ.ศ.2463 วันที่ 29 พฤษภาคม 2528 โดยมีนายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชรเป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้า และมีอำนาจหน้าที่ตรวจตราเกี่ยวกับ ศาลเจ้าทุกประการ
         ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมแวะสักการะขอพรเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย ของหายอยากได้คืน รวมทั้งเสริมสิริมงคลในเรื่องความมั่นคงของชีวิต ด้วยเชื่อกันว่าศาลหลักเมืองกำแพงเพชรนั้นเป็นสิ่งที่พ้องกับความมั่นคงไม่หวั่นไหวเสริมจิตใจให้เข้มแข็ง (สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร, 2561) สรุปได้ว่า ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่แวะมาสักการะขอพรเสริมสิริมงคลกับชีวิต และส่วนใหญ่ใครที่มาขอพรที่นี่ก็จะสมปรารถนา
         ดังนั้นจะเห็นได้ว่าจังหวัดกำแพงเพชรในสมัยกรุงสุโขทัยมีความเจริญมากและได้รับความสนใจจากเมืองหลวงสุโขทัยที่สั่งการให้สมเด็จพระเจ้าลิไทมาทำการปกครองเมืองในสมัยนั้น แต่ไม่สามารถระบุวันที่ทำการสร้างศาลหลักเมืองและอายุจริงของศาลหลักเมืองได้ มีเพียงวันการประมาณการจากขอสันนิษฐานทางประวัติศาสตร์เท่านั้นว่าได้ทำการสร้างในยุคสมัยสมเด็จของพระเจ้าลิไท ภายในศาลหลักเมืองกำแพงเพชรพบว่ามีเสาหลักเมืองที่สร้างจากศิลาแลงและรูปเศียรเทพารักษ์อยู่บนเสาหลักเมือง ในยุคปัจจุบันศาลหลักเมืองอยู่ในการดูแลของนายกเทศมนตรีจังหวัดกำแพงเพชรและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นศาลเจ้าเรียบร้อยและได้เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองจังหวัดกำแพงเพชรเรื่อยมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

การบูรณะและปรับปรุงศาลหลักเมืองกำแพงเพชร[แก้ไข]

         ศาลหลักเมืองแห่งนี้มีร่องรอยปรับปรุงหลายครั้ง แต่เดิมไม่ปรากฏแน่ชัดว่า อาคารศาลหลักเมืองทำด้วยอะไรแต่เขตปริมณฑลฝังด้วยศิลาแลง 4 เหลี่ยมจัตุรัสแต่ละด้านหันเกือบจะตรงกับทิศทั้งสี่ ก่อนมีการปรับปรุงขึ้นใหม่ เท่าที่ปรากฏหลักฐาน คือ เมื่อ พ.ศ.2472 หลวงมนตรีราชได้สร้างศาลขึ้นใหม่เป็นรูปศาลทรงไทย หันหน้าขนานไปกับถนนสายกำแพงเพชร-พรานกระต่าย (ซึ่งไม่ตรงกับทิศทั้งสี่) ต่อมาปรากฏว่า เศียรเทพารักษ์เดิมได้สูญหายไป ในปี พ.ศ.2488 หลวงปริวรรต วรวิจิตร (จันทร์ เจริญชัย) ข้าหลวงประจำจังหวัดสมัยนั้น ได้มอบหมายให้ นายฉกาจ กุลสุ (ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่) ปั้นเศียรเทพารักษ์ขึ้นใหม่ ด้วยดินจากยอดสูงสุดของเขาหลวง ดินจากใจกลางโบสถ์กลางเจดีย์เก่าทั้งในจังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย ศรีสัชนาลัย พิษณุโลกและตาก มาปั้นเป็นเศียรที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน (สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกําแพงเพชร, 2561) สรุปได้ว่า เมื่อ ปี พ.ศ.2472 หลวงมนตรีได้สร้างศาลขึ้นใหม่เป็นรูปศาลทรงไทย ต่อมาปรากฏว่า เศียรเทพารักษ์เดิมได้สูญหายไป ในปี พ.ศ.2488 และหลวงปริวรรต วรจิตร (จันทร์ เจริญชัย) ข้าหลวงประจำจังหวัดสมัยนั้น ได้มอบหมายให้ นายฉกาจ กุลสุ (ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่) จึงได้ปั้นเศียรเทพารักษ์ขึ้นใหม่
         ต่อมาปรากฏว่า กรมทางหลวงได้ปรับปรุงขยายถนนสายกำแพงเพชร-พรานกระต่าย ให้มีระดับสูงกว่าศาลหลักเมืองเดิมเป็นอันมาก ประกอบกับตัวอาคาร ศาลหลักเมืองเดิมคับแคบ ทรุดโทรมวางทิศไม่ตรงตามหลักโหราศาสตร์ คือไม่ตรงตามทิศทั้งสี่ นายเชาวน์วัด สุดลาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรในสมัยนั้น จึงได้มีการปรับปรุงศาลหลักเมืองขึ้นใหม่ (สันติ อภัยราช, 2544, หน้า 93) 
         ต่อมาในปี พ.ศ.2526 ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลหลักเมือง เนื่องจากศาลหลักเมืองฯ ทรุดโทรมมาก ขาดความเป็นสง่าราศี โดย นายเชาวน์วัศ สุลดาภา ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร จึงมอบหมายให้ นายประมวล รุจนเสรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร ปรับปรุงเป็นอาคารจัตุรมุข พร้อมเขตปริมณฑลกว้าง 17.5 x 17.5 เมตร สูงจากระดับเดิมประมาณ 19 เมตร หันหน้าเข้าหาทิศทั้งสี่ถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นหินอ่อนทรายล้างสีศิลาแลง โดยใช้เงินบริจาคของชาวเมืองกำแพงเพชรทั้งสิ้น (สันติ อภัยราช, 2544, หน้า 93) 
         เมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จและประกอบพิธีเชิญหลักเมืองและเศียรเทพารักษ์ขึ้นในวันที่ 5 พฤษภาคม 2527 ตรงวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช-สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ในการทรงเจิมเสาหลักเมือง เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2527 (สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกําแพงเพชร, 2561)
ภาพที่ 2 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร.jpg

ภาพที่ 2 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร ประกอบพิธีเจิมเสาหลักเมือง (Suthat Thapkoet, 2564)

ภาพที่ 3 ราชกิจจานุเบกษา.jpg

ภาพที่ 3 ราชกิจจานุเบกษา (ข่าวในพระราชสำนัก, 2527)

         ในปี พ.ศ.2550 นายเกียรติชัย ติรณศักดิ์กุล นายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นผู้จัดการศาลปกครองศาลหลักเมืองกำแพงเพชร ได้ประสานกรมศิลปากรบูรณะเสาหลักเมืองต้นเดิมและจัดสร้างเสาหลักเมืองจำลอง เพื่อให้ประชาชนได้ปิดทองและสรงน้ำแทนเสาหลักเมืองต้นเดิม ซึ้งรักษาไว้อยู่ในศาลหลักเมืองที่เห็นอยู่ปัจจุบัน พร้อมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโดยรอบ เพื่อให้กลมกลืนไปกับเมืองเก่าและวัดพระแก้ว(สำนักงานเทศบาลเมืองกำแพงเพชร, 2555)
ภาพที่ 4 เสาหลักเมือง.jpg

ภาพที่ 4 เสาหลักเมือง

ภาพที่ 5 รูปเคารพของศาลเจ้า.jpg

ภาพที่ 5 รูปเคารพของศาลเจ้าหมื่นขุนศรีรวรจักร (เจ้าพ่อหลักเมือง)

         เสาหลักเมืองเดิม และรูปเคารพของศาลเจ้าหมื่นขุนศรีรวรจักร (เจ้าพ่อหลักเมือง) ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ภายในเช่นเดิม แต่มิได้เปิดให้ประชาชนเข้ามาปิดทองหรือสรงน้ำพระในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทั้งนี้เพื่ออนุรักษ์และรักษาเสาหลักเมืองเดิมให้มีสภาพสมบูรณ์และอยู่คู่เมืองกำแพงเพชรต่อไป (สำนักงานเทศบาลเมืองกำแพงเพชร, 2555)
ภาพที่ 6 เสาหลักเมืองจำลอง.jpg

ภาพที่ 6 เสาหลักเมืองจำลอง

ภาพที่ 7 ศาลาสักการะ.jpg

ภาพที่ 7 ศาลาสักการะ

         พ.ศ.2556 นายชัยวัฒน์ ศุภอรรถพานิช นายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชร ได้บูรณะเสาหลักเมืองและศาลหลักเมืองใหม่อีกครั้ง และกลุ่มพ่อค้า ประชาชนได้ร่วมกันบริจาคก่อสร้างศาลาสักการะและระบบกระจายเสียงถวายศาลหลักเมืองกำแพงเพชร (สำนักงานเทศบาลเมืองกำแพงเพชร, 2555) อาคารศาลหลักเมืองที่ปรับปรุงขึ้นใหม่นี้ เป็นอาคารจตุรมุขพร้อมเขตปริมณฑล กว้าง 17.5*17.5 เมตร สูงจากระดับเดิมประมาณ 19 เมตร หันหน้าเข้าหาทิศทั้งสี่ ถูกต้องตามหลักโหราศาสตร์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นหินอ่อน ทรายล้างสีศิลาแลงสิ้นค่าก่อสร้างเฉพาะตัวอาคาร เป็นเงิน 960,000 บาท (สันติ  อภัยราช, 2544, หน้า 93)
         จากหลักฐานดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าถึงศาลหลักเมืองกำแพงเพชรจะเป็นที่เคารพบูชาของชาวกำแพงเพชรมาอย่างยาวนานแต่ก็ขาดการดูแล จึงเกิดเหตุการณ์เศียรเทพารักษ์สูญหายและทำให้ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรมีความทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรในสมัยนั้นเห็นถึงความทรุดโทรมจึงสั่งบูรณะปรับปรุงรวมถึงจัดตั้งให้มีหน่วยงานในจังหวัดดูแลศาลหลักเมืองร่วมถึงชาวเมืองกำแพงเพชรต่างก็ให้ความช่วยเหลือในการดูแลรักษาศาลหลักเมืองกำแพงเพชรกันด้วยความยินดีเพราะเป็น สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองกำแพงเพชรให้ความเคารพส่งผลให้ปัจจุบันศาลหลักเมืองกำแพงเพชรเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ทั้งชาวเมืองกำแพงเพชรและจังหวัดอื่น ๆ ให้ความเคารพกลายเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว

การสักการะบูชาศาลหลักเมืองกำแพงเพชร[แก้ไข]

         การสักการะบูชาศาลหลักเมืองกำแพงเพชรนั้นมีวิธีการและขั้นตอนการสักการะเหมือนกับการสักการะศาลหลักเมืองของจังหวัดอื่น ๆ แต่ที่ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรจะไม่มีการกำหนดตายตัวในการนำสิ่งต่าง ๆ มาสักการะ ใครอยากอธิษฐานอะไร แก้ไขปัญหาด้านไหน ให้นำสิ่งของที่มีความหมายในการช่วยเรื่องนั้น ๆ มาทำการสักการะบูชาศาลหลักเมืองกำแพงเพชร เช่น ถ้าต้องการให้การงานราบรื่น ไม่ติดขัดสิ่งใด ให้นำน้ำมันตะเกียงมาถวายสักการะ ส่วนการบนบานต่าง ๆ ก็สามารถแก้บนด้วยสิ่งใดก็ได้ตามแต่ผู้บนบานนั้น ๆ พึงจะแก้บนตามที่ตนได้บนบานเอาไว้ ของแก้บนที่เป็นที่นิยมของศาลหลักเมืองกำแพงเพชรจะมีดังนี้ ได้แก่ หัวหมู ไข่ต้มผลไม้มงคลต่าง ๆ เหล้าขาวโบราญ เหล้าแดง ส่วนผู้ที่ทำการบนบานสิ่งที่มีค่ามาก หรือขอตำแหน่งการงานใหญ่ ๆ มักจะแก้บนด้วยการจ้างลิเกแก้บน หรือ นางรำมารำแก้บนแก่ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรแทนการถวายสิ่งของตามบนปกติ (ธพัญชนก วงษ์ประดิษฐ์, การสัมภาษณ์, 26 สิงหาคม 2563)
ภาพที่ 8 ศาลาจำหน่าย ดอกไม้ ธูป เทียน.jpg

ภาพที่ 8 ศาลาจำหน่าย ดอกไม้ ธูป เทียน

คำบูชาเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชรในศาลชื่อผู้จัดสร้างศาลหลักเมือง
         นะโมตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต สัมมา  สัมพุทธัสสะ  ( 3 จบ )
         ศรีโรเมเทพเทวานัง  พระหลักเมืองเทวานัง  ทีปะธูปะจะปุบผัง  สักการะวันทนัง
         สูปะพยัญชนะ  สัมปันนัง  โภชะนานัง  สาลีนัง  อุทะกังวะรัง  เตปิตุมะเห  อนุรักขันตุ
         อาโรคะเยนะ  สุเขนะจะ
         ข้าพเจ้าขอน้อมถวาย ดอกไม้ธูปเทียนบายศรี เครื่องตั้งสังเวยตามที่มีเพื่อการสักการะวันทา เจ้าพ่อหลักเมืองเจ้าขุนหมื่นศรีวรจักรและพระเทพเทวาทั้งหลาย ขอจงรับเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตัวข้าพเจ้าและครอบครัว ให้อยู่เย็นเป็นสุข ร่ำรวย มีความเจริญก้าวหน้า มั่นคงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน อุดมด้วยลาภยศสรรเสริญมีชัยชนะเหนือหมู่มารปลอดภัยอันตรายทั้งปวง สาธุ สาธุ สาธุ
ภาพที่ 9 คำบูชาเจ้าพ่อหลักเมือง.jpg

ภาพที่ 9 คำบูชาเจ้าพ่อหลักเมือง

คำบูชาเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชรในศาลชื่อผู้จัดสร้างศาลหลักเมือง
         นะโมตัสสะ  ภะคะวะโต  อะระหะโต สัมมา  สัมพุทธัสสะ  ( 3 จบ )
         ศรีโรเมเทพเทวานัง  พระหลักเมืองเทวานัง  ทีปะธูปะจะปุบผัง  สักการะวันทนัง
         สูปะพยัญชนะ  สัมปันนัง  โภชะนานัง  สาลีนัง  อุทะกังวะรัง  เตปิตุมะเห  อนุรักขันตุ
         อาโรคะเยนะ  สุเขนะจะ
         ข้าพเจ้าขอน้อมถวาย ดอกไม้ธูปเทียน บายศรี เครื่องตั้งเสวยตามที่มี เพื่อเป็นการสักการะวันทา พระหลักเมืองและเทพเทวาทั้งหลาย จงรับสิ่งที่ข้าพเจ้าได้ถวาย เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ตัวข้าพเจ้าและครอบครัว เทอญ
ภาพที่ 10 คำบูชาเจ้าพ่อหลักเมือง 2.jpg

ภาพที่ 10 คำบูชาเจ้าพ่อหลักเมือง 2

         จะเห็นได้ว่า จากการสัมภาษณ์ทำให้ทราบได้ว่าขั้นตอนและบทสวดสักการะบูชาศาลหลักเมืองกำแพงเพชรและศาลหลักเมืองที่อื่นนั้นเหมือนกันต่างกันที่สิ่งของต่างที่ใช้ถวายต่อศาลหลักเมืองกำแพงเพชรจะไม่มีกำหนดตายตัว แต่จะถวายสิ่งของที่มีความหมายสื่อถึงสิ่งหรือพรที่ผู้ถวายสักการะนั้นต้องการ และคำอธิษฐานจะต่างกันไปตามแต่ผู้ถวายสักการะแต่บทสวดบูชายังคงเหมือนกัน

การบนบาน แก้บน และขอขมาต่อศาลหลักเมืองกำแพงเพชร[แก้ไข]

         ประชาชนจำนวนมากนิยมมาบนบานศาลกล่าวต่อเจ้าพ่อหลักเมืองเพื่อขอในสิ่งที่ตนต้องการ เมื่อได้ตามเจตนาจึงนำ หัวหมู ไก่ต้ม ไก่นึ่ง สุรา น้ำดื่ม ข้าวสุก มาแก้บน กลายเป็นประเพณีและสิ่งยึดเหนี่ยวที่สำคัญของชาวกำแพงเพชร (องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร, ม.ป.ป.) การบนบานต่าง ๆ ก็สามารถแก้บนด้วยสิ่งใดก็ได้ตามแต่ผู้บนบานนั้น ๆ พึงจะแก้บนตามที่ตนได้บนบานเอาไว้ ของแก้บนที่เป็นที่นิยมของศาลหลักเมืองกำแพงเพชร ได้แก่ หัวหมู ไข่ต้ม ผลไม้มงคลต่าง ๆ เหล้าขาวโบราญ เหล้าแดง ส่วนผู้ที่ทำการบนบานสิ่งที่มีค่ามาก หรือขอตำแหน่งการงานใหญ่ ๆ มักจะแก้บนด้วยการจ้างลิเก หรือ นางรำมารำแก้บนแก่ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรแทนการถวายสิ่งของตามปกติ คำกล่าวแก้บนนั้นไม่มีคาถาหรือบทพูดตายตัวเพียบแค่เรานำสิ่งของที่เราได้บนเอาไว้มาถวายแล้วพูดต่อศาลหลักเมืองว่าตนได้มาแก้บนตามคำบนบานที่ได้ขอต่อศาลหลักเมืองไว้ ก็เป็นการเรียบร้อย (ธพัญชนก วงษ์ประดิษฐ์, การสัมภาษณ์, 26 สิงหาคม 2563)
         ผู้เฒ่าผู้แก่ยืนยันถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อหลักเมืองกำแพงเพชรว่า เจ้าพ่อหลักเมืองมีนามว่า ขุนศรีวรจักร มีทหารเอกชื่อ ทหารใจ เมื่อมีผู้มาแก้บน (ใช้บน) นอกจากจะแก้บนด้วยหัวหมู น้ำพริกดำ ข้าวสุก เหล้าและน้ำ แล้วยังนิยมแก้บนด้วยลิเก ซึ่งเรื่องที่แสดงไม่ได้คือ เรื่องเกี่ยวกับกองทัพพม่าเข้าตีเมืองกำแพงเพชร ผู้แสดงที่แสดงเป็นแม่ทัพพม่าขณะเข้าตีเมืองกำแพงเพชร จะเป็นลมล้มทั้งยืนแน่นิ่ง ทำอย่างไรก็ไม่ฟื้น จนกระทั่งมีผู้จุดธูปขอขมาต่อเจ้าพ่อหลักเมืองจะไม่แสดงเรื่องนี้อีก นักแสดงผู้เป็นแม่ทัพพม่าเข้าตีเมืองกำแพงเพชร จึงฟื้นหายเป็นปกติ
         ทุกวันนี้มีผู้นิยมนำหัวหมู ไก่ต้มหรือนึ่ง น้ำพริกหรือน้ำจิ้ม เหล้า (เดิมต้องเป็นเหล้าขาว) น้ำดื่ม ข้าวสุก มาแก้บนเป็นจำนวนมาก เมื่อวางสิ่งของที่ต้องการแก้บนต่อหน้าเจ้าพ่อหลักเมืองเรียบร้อยแล้ว ผู้บนจะจุดธูปเทียนบอกความเชื่อ เดิมต้องแก้บนก่อน 11.00 น. เพราะเจ้าพ่อจะต้องไปเฝ้าพระอิศวร ปัจจุบันมีความเชื่อใหม่ว่าควรจะเป็นเวลาเที่ยงวัน (สันติ อภัยราช, การสัมภาษณ์, 1 ตุลาคม 2564)
         ในวันที่ 15 เมษายนของทุกปี เรียนว่า “วันพญาวัน” ซึ่งประชาชนจำนวนมากมาชุมนุมพร้อมกันที่ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรมักเรียกประชาชนที่มาร่วมกันว่า “ลูกช้าง” ทุกคนที่มาชุมนุมจะบนบานศาลกล่าวขอพรต่าง ๆ และประชาชนที่ยังไม่ได้แก้บนต้องแก้บนให้เสร็จสิ้นในวันนี้ นอกจากนี้ พราหมณ์จะทำพิธีบวงสรวงประจำปีเสร็จแล้วทำพิธีสรงน้ำเจ้าพ่อหลักเมือง และนิมนต์พระสงฆ์มาถวายภัตตาหารเพลด้วย(สำนักงานเทศบาลเมืองกำแพงเพชร, 2555) ดังนั้นวันที่ 15 เมษายนของทุกปีจะเป็นวันพิธีบวงสรวงประจำปี มีการสรงน้ำเสาหลักเมืองและถวายภัตตาหารเพลตามศาสนาพุทธ รวมถึงนิยมมาแก้บนกับศาลหลักเมืองกำแพงเพชรให้เสร็จภายในวันนี้ของปี
         การขอขมาองค์ศาลหลักเมืองหากใครทำการล่วงเกินศาลหลักเมือง ลืมแก้บนที่ตนทำการบนบานไว้ หรือรู้สึกว่าชีวิตไม่สมหวังมีอุปสรรค ต้องมาทำการขอขมากับศาลหลักเมืองกำแพงเพชร โดยการนำบายศรีมาถวายขอขมาต่อศาลหลักเมือง เพื่อเป็นการขออภัยต่อองค์ศาลหลักเมืองและเพื่อปัดเป่าอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (ธพัญชนก วงษ์ประดิษฐ์, การสัมภาษณ์, 26 สิงหาคม 2563)
ภาพที่ 11 คำขอขมาองค์หลักเมือง.jpg

ภาพที่ 11 คำขอขมาองค์หลักเมือง

คำขอขมาองค์หลักเมืองกำแพงเพชร
         นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ( 3 จบ )
         อิติสุคะโต อะระหังพุทโธ นะโมพุทธายะ
         พระเสื้อบ้าน ทรงเมือง พระเสื้อบ้าน ทรงเมืององค์พระหลักเมือง นายอิน นายจัน นายมั่น นายคง ดวงวิญญาณบรรพบุรุษ ขมามิหัง ลูกกราบขอขมาลาโทษ ที่เคยสบประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตั้งแต่อดีตชาติจนถึงปัจจุบันในวันนี้ด้วยกาย วาจา ใจ ก็ดี รู้หรือไม่รู้ ก็ดี ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็ดี ระลึกได้หรือระลึกไม่ได้ ก็ดีโปรดอภัยโทษ อโหสิกรรมให้ลูก ขอให้ปราศจากทุกข์ โศก โรคภัยคิดทำกิจการงานใด ขออย่าได้ขัด ได้คล่อง ขอให้สัมฤทธิ์ผลดังใจปรารถนาเทอญ
         ผู้เขียนจึงสรุปได้ว่าการแก้บนต่อสิ่งที่บนบานต่อศาลหลักเมืองกำแพงเพชรนั้นจะใช้สิ่งของมีค่า จำนวนและการแสดงที่มากขึ้นตามสิ่งที่ขอต่อศาลหลักเมืองกำแพงเพชร แล้วถ้าสิ่งที่ขอต่อศาลหลักเมืองกำแพงเพชรสัมฤทธิ์ผลแต่ผู้ทำการบนบานลืมมาแก้บน มาแก้บนไม่ทันตามที่ให้คำหมั่นกับศาลหลักเมืองกำแพงเพชรไว้หรือกระทำล่วงเกินต่อศาลหลักเมืองกำแพงเพชรจะมีบทสวดคำขอขมาต่อศาลหลักเมืองกำแพงเพชร และต้องมาทำการแก้บนให้แล้วเสร็จก่อน วันพญาวัน ซึ่งตรงกับวันที่ 15 เมษายนของทุกปี

บทสรุป[แก้ไข]

         ความเป็นมาของศาลหลักเมืองกำแพงเพชร พบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 700 ปีก่อน ในสมัยกรุงสุโขทัยตอนพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) เคยเสด็จมาปกครองเมืองกำแพงเพชร การสร้างหลักเมืองได้ขุดหลุมกลางเมืองและหาคนชื่อ นายอินทร์ นายจันทร์ นายมั่น นายคง เมื่อหาได้แล้วก็นำมาไว้ที่ก้นหลุม และฝังเสาลงไปทับร่างบุคคลทั้งสี่ เพื่อให้เป็นผีเฝ้าหลักเมือง เป็นเทพารักษ์ประจำเมือง ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรขึ้นจากหินศิลาแลงและมีรูปเศียรเทพารักษ์ (เจ้าหมื่นขุนศรีวรจักร) ปัจจุบันศาลหลักเมืองกำแพงเพชรได้ขึ้นทะเบียนเป็นศาลเจ้าโดยมีนายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชรเป็นผู้จัดการปกครองศาลเจ้า ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรปัจจุบันเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและประชาชนชาวกำแพงเพชรเข้าไปสักการะบูชาจำนวนมาก การบูรณะและปรับปรุงศาลหลักเมืองกำแพงเพชร พบว่า มีการบูรณะหลายครั้งตามหลักฐานที่ปรากฏเมื่อ พ.ศ.2472 ได้สร้างศาลขึ้นใหม่เป็นรูปศาลทรงไทย เพราะศาลหลักเมืองเดิมคับแคบ ทรุดโทรมและวางทิศไม่ตรงตามหลักโหราศาสตร์ ในปี พ.ศ.2488 ปรากฏว่าเศียรเทพารักษ์เดิมได้สูญหายไป   จึงได้ปั้นเศียรเทพารักษ์ขึ้นใหม่ ในปี พ.ศ.2526 ได้มีการปรับปรุงเป็นอาคารจัตุรมุขโดยได้ใช้เงินบริจาคของชาวเมืองกำแพงเพชรและในปี พ.ศ.2527 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ประกอบพิธีเจิมเสาหลักเมือง ในปี พ.ศ.2550 กรมศิลปากรได้บูรณะเสาหลักเมืองต้นเดิมและจัดสร้างเสาหลักเมืองจำลอง เพื่อให้ประชาชนได้ปิดทองและสรงน้ำแทนเสาหลักเมืองต้นเดิม เสาหลักเมืองจำลองตั้งให้สักการะปิดทองในศาลารายชื่อ ในปี พ.ศ.2556 นายกเทศมนตรีเมืองกำแพงเพชรและชาวเมืองกำแพงเพชร ได้ร่วมกันปรับปรุงให้เป็นอาคารจัตุรมุขมีความถูกต้องตามโหราศาสตร์ตามที่ควรเป็นและมีความแข็งแรงและสวยงามมากขึ้น ในส่วนการสักการะบูชาศาลหลักเมืองกำแพงเพชร พบว่า หลักเมืองกำแพงเพชรจะใช้สิ่งของ  ที่ใช้ในการถวายต่อศาลหลักเมืองกำแพงเพชรจะไม่มีกำหนดตายตัวแต่จะถวายสิ่งของที่มีความหมายสื่อถึงสิ่งหรือพรที่ผู้ถวายสักการะนั้นต้องการ และคำอธิษฐานจะต่างกันไปตามแต่ผู้ถวายสักการะ การบนบาน แก้บน และขอขมาต่อศาลหลักเมืองกำแพงเพชร พบว่า ตามความเชื่อของชาวกำแพงเพชรที่มาบนบานกับศาลหลักเมืองกำแพงเพชร แล้วเกิดผลทำสำเร็จมักจะมีผู้มาแก้บน (ใช้บน) นอกจากจะแก้บนด้วยหัวหมู น้ำพริกดำ ข้าวสุก เหล้าและน้ำ แล้วยังนิยมแก้บนด้วยลิเก ซึ่งเรื่องที่แสดงที่เล่นไม่ได้คือ เรื่องกองทัพพม่าเข้าตีเมืองกำแพงเพชร และชาวกำแพงเพชรจะมี “วันพญาวัน” เป็นวันพิธีบวงสรวงประจำปีมีการสรงน้ำเสาหลักเมืองและถวายภัตตาหารเพลตามศาสนาพุทธ รวมถึงนิยมมาแก้บนกับศาลหลักเมืองกำแพงเพชรให้เสร็จภายในวันนี้ของปีส่วนวิธีการและสิ่งของที่ใช้ในการแก้บน จะใช้สิ่งของมีค่า จำนวนและการแสดงที่มากขึ้นตามสิ่งที่ขอต่อศาลหลักเมืองกำแพงเพชร ทำให้ศาลหลักเมืองกำแพงเพชรเป็นที่นิยมในการมาสักการบูชาและบนบานเพราะง่ายต่อการสักการระบูชา บนบาน และแก้บน

บรรณานุกรม[แก้ไข]

ข่าวในพระราชสำนัก. (2527, 1 พฤษภาคม). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 101 ตอนที่ 57, หน้า 1342.
สันติ  อภัยราช. (2544). ตามรอยเสด็จ ประพาสต้น พระพุทธเจ้าหลวง ณ เมืองกำแพงเพชร. กำแพงเพชร: หจก.ศรีสวัสดิ์การพิมพ์.
สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดกำแพงเพชร. (2561). พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร. เข้าถึงได้จาก https://kamphaengphet.mots.go.th/news_view.php?nid=412
----------. (2561). ศาลหลักเมือง. เข้าถึงได้จาก https://kamphaengphet.mots.go.th/news_view.php?nid=400
สำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร. (ม.ป.ป.). ศาลหลักเมืองจังหวัดกำแพงเพชร. เข้าถึงได้จาก http://www.kamphaengphet.go.th/kp/index.php/site_content/9-gallery/118-thecitypillarshrine
สำนักเทศบาลเมืองกำแพงเพชร. (2555). ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร [แผ่นพับ]. กำแพงเพชร: ปริญญาการพิมพ์.
องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร. (ม.ป.ป.). จังหวัดกำแพงเพชร. กำแพงเพชร: หจก.ศรีสวัสดิ์การพิมพ์.
Suthat Thapkoet. (2564, 1 ธันวาคม). ภาพประวัติศาสตร์ที่หายไปจากประวัติศาสตร์กำแพงเพชร. [Facebook]. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=4378858442223526&set=oa. 268809026793953