ศิลปะในลวดลายผ้าปักชาวเขาเผ่าเย้าและผลิตภัณฑ์ผ้าปักชาวเขา

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         ผ้าปักชาวเขาเป็นภูมิปัญญาที่สะท้อนให้เห็นถึงฝีมือทางหัตถกรรมของชาวไทยภูเขาที่ขึ้นชื่อ การปักผ้าการทอผ้าเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวเขา โดยเฉพาะชาวเขาเผ่าเย้าที่มีวัฒนธรรมในการแต่งกายมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง โดยการแต่งกายนั้นมีที่มาจากความเชื่อในตำนานการบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่น จนในปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนประยุกต์ภูมิปัญญาเหล่านี้ออกมาพัฒนาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ผ้าปักชาวเขา และจัดจำหน่ายอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญๆในกำแพงเพชรหลายแห่ง ผลิตภัณฑ์ที่พบบ่อยและเป็นที่นิยมซื้อในกลุ่มนักท่องเที่ยวคือ ชุดชาวเขา และกระเป๋าใหญ่เหรียญจากผ้าปักชาวเขา
         จากการลงพื้นที่ศึกษาเกี่ยวกับลวดลายของผ้าปักชาวเขาเผ่าเย้าทำให้ทราบถึงชื่อและลักษณะของลวดลายผ้าปักต่างๆ รวมไปถึงรูปแบบของผลิตภัณฑ์จากผ้าปักที่มีจำหน่ายอยู่ในชุมชน

ความเป็นมาของผ้าปักชาวเขาเผ่าเย้า[แก้ไข]

         จากตำนานที่บันทึกไว้ในหนังสือเดินทางข้ามเขตภูเขา (เกีย เซ็น ป๊อง) ที่เย้าได้คัดลอกกันต่อๆ มาจนถึงทุกวันนี้ ระบุให้ลูกหลานเย้าปกปิดร่างกายของผันหูผู้ให้กำเนิดเย้าโดยใช้เสื้อลายห้าสีคลุมร่าง เข็มขัดรัดเอว ผ้าเช็ดหน้าลายดอกไม้ผูกที่หน้าผาก กางเกงลายปิดก้นผ้าลายสองผืนปิดที่ขา เชื่อกันว่าจากตำนานนี้เองทำให้เย้าใช้เสื้อผ้าคาดเอวผ้าโพกศีรษะและกางเกงที่ปักด้วยห้าสี สมัยก่อนเย้าการคมนาคมการค้าขายยังไปไม่ถึงบนดอย ส่วนใหญ่เย้านิยมใช้สีปักลายเพียง ๕ สีเท่านั้น คือ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีเขียวและสีขาว ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้เย้านิยมปักลายผู้เพิ่มมากขึ้นและใช้สีต่าง ๆ  เพิ่มขึ้นมากอีกด้วยการปักลายและการใช้สีสันในการปักลายใน แต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันบ้างตามความนิยมของแต่ละท้องถิ่น การปักลายเสื้อผ้าทุกวันนี้หญิงเย้าก็ยังคงแต่งกายตามแบบฉบับที่ระบุไว้ในตำนานได้อย่างเคร่งครัดผ้าที่เย้านำมาปักลายเป็นผ้าทอมือกล่าวกันว่าเย้าเคยทอผ้าใช้เอง แต่เมื่ออพยพเข้ามาอยู่ประเทศไทยแล้วค้นพบว่า ผ้าทอมือของไทลื้อที่มีถิ่นฐานอยู่ประเทศพม่าและประเทศไทย เหมาะแก่การปักลายจึงได้ซื้อผ้าทอมือของไทยลื้อมาย้อมและปักลายจนกลายเป็นความนิยมของเย้าไปถึงปัจจุบัน (อภิชาต ภัทรธรรม, 2552)
         เย้ามีการแต่งกายการใช้สีสันจะแตกต่างกันบ้างเพียงเล็กน้อย เมื่อแต่งกายตามจารีตประเพณีก็พอ  จะทราบได้ว่า  มีถิ่นฐานอยู่ในท้องที่ใดหรืออยู่ในกลุ่มใด  แต่มีบ้างที่กลุ่มที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงกันจะมีการลอก เลียนแบบซึ่งกันและกันบ้าง การปักลายเย้าจะจับผ้าและจับเข็มแตกต่างกับเผ่าอื่น  เย้าจะปักผ้าจากด้านหลังผ้าขึ้นมายังด้านหน้าของผ้าจึงต้องจับผ้าให้ด้านหน้าคว่ำลงเมื่อปักเสร็จแต่ละแถวแล้วก็จะม้วนและใช้ผ้าห่อไว้อีกชั้นเพื่อป้องกันสิ่งสกปรกต่าง ๆ การปักลายเสื้อผ้าเพื่อใช้ทำเป็นเครื่องแต่งกายและข้าวของใช้ตามจารีตประเพณีเย้า มีวิธีการปักลายสี่แบบ คือ การปักลายเส้น (กิ่ว กิ่ว) การปักลายขัด (โฉ่ง เกียม) การปักลายแบบกากบาท (โฉ่ง ทิว) และการปักไขว้ (โฉ่ง ดับ ยับ) การเรียกชื่อลายปักในการปักลายสตรีเย้าจะต้องจดจำชื่อและวิธีการปักลายไปพร้อม ๆ กันสำหรับการปักลายขัด (โฉ่ง เกียม) และลายกากบาท (โฉ่ง ทิว) ส่วนใหญ่จะเป็นลายเก่าที่ชื่อเรียกเหมือนกันแต่สำหรับลายไขว้  (โฉ่ง ดับ ยับ) นั้นเย้าอาจนำลักษณะเด่นของแต่ละลายปักเดิมมาปรับปรุงหรือปักเพิ่มเติมให้ลายปักใหม่อีกลายหนึ่ง และให้สีสันสวยงามตามใจตนเองชอบโดยอาจตั้งชื่อใหม่ก็ได้ นอกจากนี้สตรีเย้าบางคนที่มีความเฉลียวฉลาดอาจประดิษฐ์ลายปักใหม่ ๆ  ขึ้นมา  โดยจะนำส่วนประกอบของลายต่าง ๆ  มาประกอบเข้าด้วยกันหรือดัดแปลงเป็นลายปักใหม่แล้วตั้งชื่อเรียกใหม่แต่โดยทั่วไป แล้วจะเรียกชื่อที่คงลักษณะเด่นของลายเดิม เช่น ลายปักหมวกขององค์ผู้บริสุทธิ์ทั้งสาม (ฟามกุน) เป็นลายที่ปรับปรุงมาจากลาย (ฟามซิง) บางครั้งลายแบบปักไขว้แต่ละลายนี้มีลายละเอียดแตกต่างกันไป บางหมู่บ้านที่มีขนาดใหญ่แต่ละกลุ่มอาจเรียกชื่อที่ต่างกันด้วยและบ่อยครั้งพบว่าเย้าเรียกชื่ออย่างเดียวกันแต่เป็นลายปักแตกต่างกันก็มี แต่อย่างไรก็ตาม  ชื่อลายปักที่เย้าเรียกกันจะมีความหมายที่สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ คือ ความเชื่อวิธีการปักลายพืชผลทางการเกษตรถึงแม้เย้าจะปักลายตามความเชื่อนี้ แต่เย้าไม่ได้ถือว่าลายปักนั้นเป็นเครื่องรางของขลัง เป็นของศักดิ์สิทธิ์ การปักลายจึงเน้นที่ความสวยงามมากกว่าที่จะเป็นเครื่องรางของขลังนอกจากนี้เย้ายังเชื่อว่ากางเกงของผู้หญิงเป็นของต่ำไม่สมควรที่จะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์  แต่อาจเป็นไปได้ที่ว่าเย้าต้องการแสดงให้เห็นว่าเย้าเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อในเรื่องเทพยดาการปักของชาวเย้าที่แปลกไปจากเผ่าอื่น (มูลนิธิกระจกเงา, 2550)

ลายปักผ้าของชาวเขาเผ่าเย้า[แก้ไข]

         1. ลายดะเมาเซาเมี่ยน (ลายรอยเท้าเสือ)
ภาพที่ 1 แสดงลายดะเมาเซาเมี่ยน.jpg

ภาพที่ 1 แสดงลายดะเมาเซาเมี่ยน

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

         2. ลายเก (ลายธงปลาย, ลายธงชาติ)
ภาพที่ 2 แสดงลายเก.jpg

ภาพที่ 2 แสดงลายเก

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

         3. ลายฉ่งแฉ (ลายเสี้ยนหนาม)
ภาพที่ 3 แสดงลายฉ่งแฉ.jpg

ภาพที่ 3 แสดงลายฉ่งแฉ

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

         4. ลายซงเซต (ลายทิ้งขั้นตอน , ลายแบ่งตอน)
ภาพที่ 4 แสดงลายซงเซต.jpg

ภาพที่ 4 แสดงลายซงเซต

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

         5. ลายซบเปียง (ลายดอกฟักทอง)
ภาพที่ 5 แสดงลายซบเปียง.jpg

ภาพที่ 5 แสดงลายซบเปียง

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

         6. ลายซ่ม (ใช้เป็นลายบนผ้าพันหัว, ผ้าพันเอวและชายกางเกง)
ภาพที่ 6 แสดงลายซ่ม.jpg

ภาพที่ 6 แสดงลายซ่ม

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

         7. ลายญบ (ลายเกาะ, ลายจับ)
ภาพที่ 7 แสดงลายญบ.jpg

ภาพที่ 7 แสดงลายญบ

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

         8. ลายญ่านเปียง  (ลายดอกเงิน)
ภาพที่ 8 แสดงลายญ่านเปียง.jpg

ภาพที่ 8 แสดงลายญ่านเปียง

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

         9. ลายญิว  (ลายกั้น)
ภาพที่ 9 แสดงลายญิว.jpg

ภาพที่ 9 แสดงลายญิว

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

ภาพที่ 10 แสดงลายเญว.jpg

ภาพที่ 10 แสดงลายเญว

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

ภาพที่ 11 แสดงลายฟันโบ๋.jpg

ภาพที่ 11 แสดงลายฟันโบ๋

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

ภาพที่ 12 แสดงลายดะเมาดบ.jpg

ภาพที่ 12 แสดงลายดะเมาดบ

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

ภาพที่ 13 แสดงลายหล่มเซว.jpg

ภาพที่ 13 แสดงลายหล่มเซว

(ที่มา : นายอภิวัฒน์ ภูทอง)

ผลิตภัณฑ์ผ้าชาวเขาเผ่าเย้า[แก้ไข]

         เย้ามักจะอยู่บนไหล่เขาใช้พื้นดินเป็นพื้นบ้าน มุงหลังคาด้วยหญ้าคา ฝาบ้านเป็นไม้เนื้ออ่อน ภาษาคล้ายภาษาจีนกลางมาก บางคำคล้ายแม้ว หญิงนุ่งกางเกงสีน้ำเงินหรือปนดำ เนื้อผ้าหยาบด้านหน้าของกางเกงปักด้วยลวดลายเป็นดอกดวงละเอียดสวยงาม เสื้อเป็นเสื้อคลุมคอแหลมรูปตัววีสีดำหรือสีน้ำเงินเข้มยาวถึงข้อเท้า ผ่าด้านหน้าตลอด ติดไหมพรมสีแดงที่อกเสื้อรอบคอลงมาถึงหน้าท้อง เสื้อผ่าด้านข้าง ทั้ง 2 ข้าง ตั้งแต่เอวลงไป เวลาสวมชายผ้าด้านหน้าทั้งสองแฉกไขว้กันและพันรอบเอวไปผูกเงื่อนด้านหลัง ส่วนแผ่นหลังปล่อยไว้ อกเสื้อกลัดติดกันด้วยแผ่นเงินสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดหัวเข็มขัด ผมจะทาด้วยขี้ผึ้งเหนียวและพันด้วยผ้าสีแดงทับด้วยผ้าสีน้ำเงินปนดำ ชายทั้งสองข้างปักด้วยลวดลายดอกดวงที่งดงาม เวลาแต่งงานจะมีเครื่องประดับผมที่สวยงามแผ่นใหญ่คลุมบนผ้าโพกผมอีกทีเครื่องประดับทำด้วยเงิน ต่างหูเป็นวงกลม มีศรผ่ากลาง ห่วงคอมีตั้งแต่ 1 – 5 ห่วง มีกำไล ข้อมือ แหวน ชายนุ่งกางเกงสีดำหรือน้ำเงินเข้มคล้ายกางเกงจีน ขอบขากางเกงขลิบด้วยไหมสีแดง สวมเสื้อดำหรือน้ำเงินเข้ม (นิยมใช้ผ้าแพร) ผ่าอกไขว้ไปข้าง ๆ เล็กน้อย มีลวดลายติดอยู่เป็นแถบตามแนวที่ผ่าลงมาติดกระดุมเงินเป็นรูปกลม ๆ ที่คอตามแนวไปรักแร้ลงไปที่เอว เสื้อยาวคลุมเอวไม่สั้นเหมือนแม้ว เครื่องประดับ ใส่ต่างหูเงินเป็นรูปกลมตรงกลางมีลูกศรชี้ลงมา ไม่สวมกำไลมือและห่วงคอการโพกศีรษะของสตรีเย้ามี 2 แบบ 
             1. แบบหัวโต นิยมใช้สีหนักออกไปทางสีแดงมาก เรียกว่า เย้าแดง (เมี่ยนซิ)
             2. แบบหัวแหลม นิยมใช้สีหนักออกไปทางสีเขียว เรียกว่า เย้าขาว (เมี่ยน – แปะ)
         เครื่องแต่งกายในชีวิตประจำวันของชาวเย้าที่หมู่บ้านส่วนมากจะแต่งตัวคล้ายกัน จะแตกต่างกัน ก็เพียงการโพกศีรษะของสตรี ลายปักผ้าและสีของลายปัก ซึ่งผิดกับการแต่งกายของชาวเผ่าอื่นบางเผ่าที่แต่งตัวต่างกัน แม้ในแต่ละกลุ่มย่อย เช่น กะเหรี่ยง แม้ว มูเซอ และอีก้อ การแต่งกายของเย้าในชีวิตประจำวันในประเทศไทยจะแต่งตัวตามใจชอบตามวัยบ้างก็ยังแต่งชุดประจำเผ่า บ้างก็แต่งแบบคนไทยพื้นราบ

การแต่งกายประเพณีของสตรีเย้า บุรุษ และเด็ก[แก้ไข]

         เครื่องแต่งกายสตรี ใช้เครื่องแต่งกายทั้งหมด 5 ชิ้น มีดังนี้
         1. โพกศีรษะชั้นใน (ก้องจู๊ด) ผ้าโพกศีรษะชั้นในนีร้วบผมให้เป็นระเบียบผ้าโพกศีรษะชั้นใน บางหมู่บ้านอาจจะใช้สีแตกต่างกัน เช่น สีแดง สีดำ ขนาดยาวประมาณ 75 เซนติเมตร กว้าง 40 เซนติเมตร รวบผมก่อนใช้ผ้าโพกศีรษะปัจจุบันนี้สตรีเย้าบางคนไม่ค่อยนิยมใช้ผ้าโพกศีรษะชั้นใน
         2. ผ้าโพกศีรษะชั้นนอก (ก้องเป้า) อาจจะแตกต่างกันบ้างในแต่ละหมู่บ้านบางหมู่บ้าน เช่น บ้านปางค่า  หมู่บ้านป่ากลาง นิยมใช้ผ้าทอมือเส้นฝ้ายขนาดกลางหรือขนาดใหญ่สีดำทั้งผืนปักลายที่ปลายทั้ง 2 ด้าน การโพกศีรษะทำโดยการพันผ้าด้านกว้างครึ่งผืนก่อนแล้วพับครึ่งอีกครั้งหนึ่งนำปลายข้างหนึ่งแนบไว้เหนือหู แล้วพันรอบศีรษะจนเกือบสุดผ้านำส่วนปลายผ้าที่มีลายปักอีกด้านหนึ่งเสียบข้างหูใน
         3. เสื้อ (ลุย) ใช้ผ้าสีดำอาจจะเป็นผ้ามันหรือผ้าทอมือย้อมสีดำความยาวจะวัดจากไหล่ถึงข้อเท้า ความกว้างวัดจากครึ่งแขนด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ด้านหลังจะต่อผ้าตรงกลางหลังเสื้อผ่าหน้าตลอด ตัดผ้าเว้าลงมาเป็นแขนเสื้อ และตัวเสื้อเย็บด้านข้างทั้งสองจากแขนลงมาถึงเอวต่อแขนเสื้อยาวลงมาถึงข้อมือ ข้อมือกว้างพอประมาณ
         4. ส่วนตกแต่งเสื้อ คอเสื้อ ใช้ผ้าสีขาว สีแดง น้ำเงิน จะใช้สีใดสีหนึ่งหรือสองสีก็ได้ กว้างประมาณ 5 เซนติเมตร ยาวครึ่งหนึ่งของรอบคอเย็บติดกับคอเสื้อเพื่อป้องกันเหงื่อ ผ้าชิ้นนี้เรียกว่า ลุย จ้าง กบ
         สาบเสื้อ ใช้ผ้าดำปักลายกว้างเท่ากับผ้ารอบคอเย็บติดตัวเสื้อต่อจากผ้ารอบคอ ยาวลงมาต่ำกว่าเอวนิดหน่อย เรียกผ้าผืนนี้ว่า ลุย แลง  
         ไหมพรมแดง (ลุย กวาน) ใช้เส้นไหมสีแดงยาวตั้งแต่ 5 – 10 เซนติเมตร เย็บติดกับตัวเสื้อตรงรอยต่อระหว่างตัวเสื้อกับสาบเสื้อด้วยด้ายสีดำรอบคอทั้งสองข้างยาวลงมาต่ำกว่าเอวเล็กน้อย ตัดไหมพรมให้พองฟูเป็นก้อนกลม เย้าแต่ละหมู่บ้านอาจจะมีขนาดพู่ไม่เท่ากัน ความยาวของพู่ไม่เท่ากัน สีไหมพรมบางหมู่บ้านอาจจะออกสีส้มแดง  
         ปลายแขนเสื้อ ใช้ผ้าชิ้นเล็ก ๆ สีขาว แดง น้ำเงิน ดำสลับกันเป็นชั้น ๆ อย่างน้อย 3 ชั้น มากที่สุด 11 ชั้น นิยมกันคือ 7 ชั้น ตรงกลางเป็นสีขาวบางหมู่บ้านอาจจะใช้สีแตกต่างกัน  
         ชายผ้าแขนเสื้อ ต้องม้วนกลับขึ้นมาแล้วเย็บด้วยเส้นด้ายถักหรือใช้เส้นด้ายสีแดงพันรอบด้วยเส้นลวดเงินเป็นช่วง ๆ  เพื่อกันเส้นด้ายหลุดออกจากกัน  
         ชายผ้าที่เหลือจากติดแถบผ้าที่หน้าอกและคอจะมีแถบผ้าสีน้ำเงินกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร เย็บติดพู่ไหมพรมติดลูกปัด เย้าจะนิยมใช้พู่ไหมพรมสีแดงเล็ก ๆ ยาวประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร ร้อยลูกปัดช่วงด้านบน 3 – 5 ลูก ติดบริเวณชายเสื้อ
         5. ผ้าคาดเอว ใช้ผ้าทอมือสีดำ ลักษณะเหมือนผ้าโพกศีรษะมีปักลายที่ปลายทั้ง 2 ด้าน การผูกผ้า คาดเอวจะเริ่มจากหน้าหรือหลังก็ได้ แต่ต้องให้ปลายทั้ง 2 ข้างผูกกันไว้ข้างหลังเพื่อให้เห็นปัก
         6. กางเกง (โฮว) การตัดเย็บกางเกงสตรีเย้าใช้ผ้า 5 ชิ้น ประกอบด้วย
             ผ้าปักลาย 2 ผืน โดยใช้ผ้าทอมือสีดำจะปักเกือบเต็มผืนเหลือด้านข้างไว้ พอที่จะเย็บต่อกันด้านล่างเหลือไว้สำหรับพับ ด้านบนเหลือไว้ประมาณครึ่งคืบของผู้ใช้ แล้วจึงเย็บต่อกัน  
             ผ้าต่อขากางเกงใช้ผ้าสามเหลี่ยม 2 ผืน ชนิดเดียวกันกับผ้าที่ใช้ปักลายหรือตัดปลายออกเป็นสี่เหลี่ยมคางหมูก็ได้  
             ผ้าแถบสีเอว นิยมใช้ผ้าสีอ่อน เป็นผ้าอะไรก็ได้กว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ใช้ต่อทำเอว

เครื่องแต่งกายบุรุษเย้า ตามประเพณี[แก้ไข]

         1. เสื้อ ใช้ผ้าสีดำมาตัดเป็นตัวเสื้อปักลายที่ตัวเสื้อและที่กระเป๋า ลักษณะของเสื้อนำผ้า 4 ชิ้น มาเย็บตัวเสื้อเย็บต่อตะเข็บกลางหลัง ด้านหน้าเปิด ตัดผ้าเป็นวงแขนเย็บด้านข้างเข้าด้วยกันต่อแขนยาวถึงข้อมือ เป็นเสื้อคอกลมแล้วเอาผ้าชิ้นหนึ่งตัดเฉียงจากอกเสื้อด้านซ้ายป้ายไปทางด้านขวา มีการตกแต่งที่ชายเสื้อ ชายแขนเสื้อเป็นแถบผ้าเล็ก ๆ เป็นสีเหมือนเสื้อของสตรี กระดุมเสื้อป้ายจะติดกระดุมเงินรังดุมใช้ด้ายสีแดงหรือดำถักเป็นห่วง
         2. กางเกง เป็นกางเกงจีนขายาวทรงกระบอกสีดำติดด้ายถักเป็นทางสีแดงสมัยใหม่นี้นิยมแต่งแบบคนไทยพื้นเมือง

เครื่องแต่งกายเด็ก[แก้ไข]

         นิยมแต่งกายแบบพื้นราบ เพราะหาซื้อง่ายและสะดวก แต่ก็มีเครื่องแสดงเอกลักษณ์ของเย้าอยู่ โดยการใส่หมวกตามประเพณี ซึ่งจะแตกต่างกันระหว่างเด็กหญิงและเด็กชาย
         1. หมวกเด็กหญิง ใช้ผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้าเป็นผ้าทอสีดำเป็นด้านกว้างติดกันเป็นวงกลม รวบส่วนบนเย็บติดกันเป็นหมวก ชายด้านล่างใช้ไหมพรมถัก (ทาง) ติดหรือใช้ไหมแดงพันลวดเงินเป็นช่วง ๆ  ติดถัดขึ้นมาปักลายเป็นแถวประมาณ 2 – 3 แถว ติดพู่ไหมพรมสีแดงเป็นวงกลมรอบตรงรอยเย็บและข้างหูด้านละ 1 อัน
         2. หมวกเด็กชาย หมวกเด็กชายประกอบด้วยผ้าพื้นดำ 6 – 8 ชิ้น เป็นรูปสามเหลี่ยมหรือใช้แดงครึ่งหนึ่ง นำผ้าสามเหลี่ยมมาเย็บต่อกันเป็นหมวก ด้านล่างตกแต่งด้วยด้ายถักและผ้าดำปักลาย 1 – 2 แถว มาเย็บติด นิยมใช้ผ้าแดงตัดเป็นรูปกลีบดอกไม้เย็บติดด้านบนของหมวกด้านบนสุดติดพู่ไหมพรมสีแดงเป็นก้อนกลม  บางหมู่บ้านจะติดข้างหูอีกข้างละ 1 อัน หรือติดข้าง ๆ หมวกอีก ประมาณ 7 – 8 อัน (บ้านจอมยุทธ, ม.ป.ป.)

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ชาวเขาเผ่าเย้า

ตารางที่ 1 แสดงผลิตภัณฑ์ผ้าชาวเขาเผ่าเย้า.jpg

ตารางที่ 1 แสดงผลิตภัณฑ์ผ้าชาวเขาเผ่าเย้า

(ที่มา : นายนายสาโรจน์ มหึมา)

บทสรุป[แก้ไข]

         จากการศึกษาลายผ้าปักชาวเขาเผ่าเย้า จะพบว่าลวดลายหลักๆที่เป็นเอกลักษณ์ร่วมกันคือ การใช้ลวดลายที่มาจากพืชผลทางการเกษตรและธรรมชาติ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตเกษตรกรของคนในท้องถิ่น และการใช้สีพื้น 5 สี เป็นหลักในการปักผ้า โดยสีของผ้านั้นไม่ได้มีการบังคับแม้ในปัจจุบันจะมีการใช้ด้ายสำเร็จรูปในการปักผ้า เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการจัดจำหน่าย แต่ก็ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าพื้นเมืองได้อยู่ แม้ภาพรวมของสินค้าจะดูมีมูลค่าสูงแต่ถ้าชุมชนสามารถนำเสนอประวัติความเป็นมาของผ้าและลายปักได้ รวมไปถึงกรรมวิธีในการปักผ้า จะช่วยให้มูลค่าของผ้านั้นสูงขึ้นหรืออาจทำให้กลุ่มลูกค้ารู้สึกว่าผลิตภัณฑ์จากผ้าปักชาวเขานั้นมีคุณภาพและคุณค่าที่เหมาะสมกับราคาได้มากยิ่งขึ้น