สุวรรณปรางทอง ไม้ผลเมืองกำแพงกับกล้วยภัสนันท์ กล้วยไม้สายพันธุ์กำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทคัดย่อ[แก้ไข]

         ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน สินค้าเกษตรยังคงมีความสำคัญทั้งต่อฐานะความเป็นอยู่ของคนในประเทศ สภาพสังคม ความกินดีอยู่ดีแล้ว ยังส่งผลต่อดุลการค้าระหว่างประเทศด้วย โดยเฉพาะกล้วยไม้ซึ่งเป็นไม้ตัดดอกที่ประเทศไทยส่งออกไปขายต่างประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, 2562) กล้วยไม้มีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่ในภาคกลาง ส่วนในจังหวัดกำแพงเพชรนั้น มีฟาร์มกล้วยไม้ที่มีชื่อเสียงในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ผลิตและจำหน่ายกล้วยไม้ตัดดอก กล้วยไม้หายาก เป็นแหล่งผลิตกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนล่างและเป็นศูนย์รวมพันธุ์กล้วยไม้กว่า 50 สายพันธุ์ สวนกล้วยไม้ภัสนันท์ ตั้งอยู่ที่ตำบลวังบัว อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร (Praphaporn Srilert, 2013) แต่เมื่อพูดถึงมะนาวพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะนาวมากถึง 108,779 ไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2561) มีผลผลิตรวมทั้งประเทศถึง 152,335 ตัน เนื่องจากมะนาวเป็นพืชพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือภายใต้ประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน ผู้คนในภูมิภาคนี้รู้จักและใช้ประโยชน์จากมะนาวมาช้านาน อีกทั้งภูมิปัญญาพื้นบ้านแต่โบราณได้ใช้มะนาวเป็นสมุนไพรบำบัดโรค ทำให้พันธุ์มะนาวเป็นที่ต้องการของท้องตลาดในประเทศทั่วไป โดยเฉพาะต้นมะนาวที่มีความแข็งแรงและให้ผลผลิตมาก

คำสำคัญ : สวนสุวรรณี, กล้วยไม้, กำแพงเพชร

จุดกำเนิดของสวนสุวรรณีปรางทองและสวนกล้วยไม้ภัสนันท์[แก้ไข]

         สวนสุวรรณีปรางทองมีต้นกำเนิดจากคุณวิเชียร บุญเกิด ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจ ที่ได้ประสบความสำเร็จเกี่ยวกับการขยายพันธุ์ผลไม้หลายชนิด ทั้งผลไม้ดังในเมืองไทย รวมไปถึงผลไม้ดังจากต่างประเทศ และคุณลุง  ก็ยังผลิตพันธุ์ผลไม้ต่าง ๆ จำหน่าย ส่งออกในพื้นที่ต่าง ๆ จนเป็นที่รู้จักของบุคคลที่สนใจเป็นอย่างดี สวนสุวรรณีปรางทอง เป็นสวนที่มีพื้นที่ประมาณ 16 ไร่ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 161/2 หมู่ 1 ตำบลอ่างทอง อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร 62000 อาชีพหลัก ๆ ของคุณวิเชียร บุญเกิด คือการพัฒนาและขยายพันธุ์ผลไม้ส่งออกผลไม้   และเป็นวิทยากรให้ความรู้เกี่ยวกับการขยายพันธุ์ผลไม้ต่าง ๆ (วิเชียร บุญเกิด, การสัมภาษณ์, 13 ธันวาคม 2563) ส่วนสวนกล้วยไม้ภัสนันท์มีต้นกำเนิดจากนายธงชัย ชัยพงษ์รัตนา เจ้าของสวนกล้วยไม้ สวนกล้วยไม้ภัสนันท์ ตั้งอยู่ที่หมู่ 2 ตำบลวังบัว อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร 62120 แต่เดิมนั้นนายธงชัย ชัยพงษ์รัตนา ทำไร่อ้อยมาก่อน แต่เกิดปัญหาราคาอ้อยตกต่ำ และต้องใช้คนงานมากมาย เลยหันมาทำสวนกล้วยไม้แทน เริ่มต้นทำกล้วยไม้ในพื้นที่เพียง 5 ไร่ ก่อนที่จะเริ่มขยายสวนกล้วยไม้ออกไป 70 ไร่ ก็ได้รับนายไพรรัตน์ ทองฤทธิ์ มาช่วยดูแลสวนกล้วยไม้ ตั้งแต่เริ่มทำกิจการจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 31 ปี ปัจจุบันธุรกิจกล้วยไม้จะขายส่งออกนอกประเทศและส่งภายในประเทศด้วย สวนกล้วยไม้ภัสนันท์มีกล้วยไม้หลายสายพันธุ์ (ไพรรัตน์ ทองฤทธิ์, การสัมภาษณ์, 9 ธันวาคม 2563)
         การทำกล้วยไม้ดอกไม้เพื่อการส่งออก มีที่แห่งนี้เพียงแห่งเดียวของกำแพงเพชร ส่วนชื่อ ภัสนันท์ ได้มาจากชื่อของลูกสาว เมื่อปี 2527 ในสมัยนั้น เริ่มสนใจในวงการกล้วยไม้ ก็เลยไปศึกษาดูงานที่กรุงเทพแล้วหลังจากนั้น พอปี 2530 เป็นปีที่ลูกสาวเกิดพอดี ก็เลยเป็นที่มาของชื่อสวนกล้วยไม้ภัสนันท์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (ไพรรัตน์ ทองฤทธิ์, การสัมภาษณ์, 9 ธันวาคม 2563) 
2 สวนมะนาวและตัวอย่างสวนมะกรูดในสวนสุวรรณปรางทอง.jpg

ภาพที่ 1 สวนมะนาวและตัวอย่างสวนมะกรูดในสวนสุวรรณีปรางทอง

7 สวนกล้วยไม้ภัสนันท์.jpg

ภาพที่ 2 สวนกล้วยไม้ภัสนันท์

สวนกล้วยไม้ภัสนันท์ จังหวัดกำแพงเพชร[แก้ไข]

         สวนกล้วยไม้ภัสนันท์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนในสังคมหันมาอนุรักษ์กล้วยไม้ไทย เพื่อสืบสานกล้วยไม้ไทย เพื่อให้ทุกคนในรุ่นหลังได้ศึกษากล้วยไม้ไทยและเพื่อการค้าขายและการส่งออก กล้วยไม้ถือเป็นหนึ่งในสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของไทย โดยกล้วยไม้ไทยจัดเป็นกล้วยไม้เขตร้อน ได้แก่ กล้วยไม้สกุลหวาย ม็อคคาร่าและแวนด้า ซึ่งมีจังหวัดนครปฐม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานครฯ ราชบุรี นนทบุรีเป็นพื้นที่การผลิตหลัก การผลิตกล้วยไม้เพื่อส่งออกประมาณ 49% ส่วนอีก 51% เป็นการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ (เป็นกล้วยไม้ที่มีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานการส่งออก) มีจำนวนผู้ส่งออกกล้วยไม้ไทยประมาณ 115 ราย และเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยไม้ประมาณ 3,000 ราย คู่ค้าสำคัญดอกกล้วยไม้  ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน อิตาลี และคู่ค้าสำคัญต้นกล้วยไม้ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เนื่องจากดอกกล้วยไม้เป็นพืชที่มีอายุสั้นและบอบบาง ดังนั้น เวลาในการขนส่งจึงมีอุปสรรคปัญหามาก 
8 กล้วยไม้สกุลหวาย.jpg

ภาพที่ 3 กล้วยไม้สกุลหวาย

9 กล้วยไม้สกุลแวนด้า.jpg

ภาพที่ 4 กล้วยไม้สกุลแวนด้า

10 กล้วยไม้สกุลช้าง.jpg

ภาพที่ 5 กล้วยไม้สกุลช้าง

11 กล้วยไม้ฟิลิปปิน.jpg

ภาพที่ 6 กล้วยไม้ฟิลิปปิน

12 กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์.jpg

'ภาพที่ 7 กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์

สวนเกษตรสุวรรณีปรางทอง[แก้ไข]

         ความชำนาญของคุณวิเชียร บุญเกิดนั้นมีมากมายหลายด้าน แต่ด้านที่มีความโดดเด่นนั้นก็คือ การพัฒนาพันธุ์พืช การพัฒนาขยายพันธุ์ผลไม้ คุณลุงวิเชียรนั้นมีความชำนาญพิเศษโดยเฉพาะวิธีการพัฒนาพันธุ์ผลไม้ต่าง ๆ ที่ได้มีการตัดแต่งเพาะพันธุ์ผลไม้ แต่ละช่วงเวลาเพื่อจะทำให้พันธุ์ผลไม้มีความแข็งแรง และทนทานต่อฤดูกาล จะถูกจัดเก็บไว้ในพื้นที่ทำการเพาะพันธุ์นั้น และเมื่อถึงเวลาก็จะจัดจำหน่ายตามความต้องการของลูกค้า
4 แสดงตัวอย่างการลงพื้นที่.jpg

ภาพที่ 8 แสดงตัวอย่างการลงพื้นที่เพื่อบรรยายภายในสวนสุวรรณปรางทอง

5 สวนมะนาวและสวนมะกรูด.jpg

ภาพที่ 9 สวนมะนาวและสวนมะกรูดตัวอย่างในสวนสุวรรณปรางทอง

         ซึ่งมะนาวคือ ไม้ผลที่เป็นจุดเด่นที่สุดของสวนสุวรรณีปรางทอง ซึ่งมีเทคนิคที่ทำให้มะนาวดกและลำต้นแข็งแรง นั้นมีวิธีการหรือเทคนิคดังนี้
              1. มะนาวพันธุ์นี้ ต้องปลูกในบ่อซีเมนต์มาตรฐานทั่วไป เพื่อง่ายต่อการให้น้ำและทำให้ดินซึมซับน้ำไว้ได้นาน สร้างความชุ่มชื่นให้แก่ต้นมะนาว
              2. บ่อซีเมนต์ที่ใช้จะต้องเจาะก้นบ่อให้ทะลุ เพื่อให้รากแก้วแทงลงดินเพื่อยึดโคนต้นไว้กันไม่ให้ต้นล้ม และยังช่วยหาอาหารได้ดีอีกด้วย ทำให้ต้นมีอายุยืนยาว นอกจากนี้บ่อซีเมนต์ยังช่วยควบคุมความสูงของต้นมะนาว ทำให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว และตัดแต่งกิ่ง ยังลดปริมาณการให้ปุ๋ยอีกด้วย
              3. สำหรับเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกน้อย การปลูกในบ่อซีเมนต์สามารถปลูกได้หลายต้น ดีกว่าปลูกลงดิน เราสามารถจัดการเรื่องน้ำได้ง่าย ต้นมะนาวจะไม่แย่งอาหากันเอง โดยเฉพาะพันธุ์แป้นผลดกพิเศษ จะให้ผลดกถ้าปลูกในบ่อซีเมนต์
         โดยธรรมชาติของมะนาว ชอบที่โปร่ง ไม่ชอบน้ำขัง ต้องให้น้ำสม่ำเสมอ ระยะการปลูกแล้วแต่พื้นที่ปลูกมากหรือน้อย แต่ต้องมีระยะห่างประมาณ 3.5*3.5 เมตร ก็ให้ผลผลิตดี และต้องมีการตัดแต่งกิ่งโดยเฉพาะหลังการเก็บเกี่ยวและควรให้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยชีวภาพ ระยะแรกของการปลูก ควรจะรดน้ำสม่ำเสมอ วันละ 2 ครั้ง คือ เช้าและเย็น จะมีการแตกใบใหม่ขึ้นและรดวันละครั้งถ้ามีแดดไม่จัด หรือถ้ามีฝน หากต้องการให้ต้นตอแข็งแรง เพื่อให้รากแก้วยึดดินไม่ให้ต้นล้ม จะใช้ต้นตอจากต้นส้มโอน้ำกร่อยหรือต้นส้มเวอร์คา เป็นพันธุ์นำเข้าจากต่างประเทศ กิ่งพันธุ์ 1 ต้น ใช้ต้นตอประมาณ 3 ต้น โดยนำมาเสียบยอดเท่านั้น ทำให้มะนาวมีอายุได้ถึง 10 ปี ซึ่งเท่าที่สังเกตมะนาวพันธุ์อื่น ส่วนมากจะมีอายุได้เพียง 6 ปี (วิเชียร บุญเกิด, การสัมภาษณ์, 13 ธันวาคม 2563)
         นอกจากนี้ยังพบว่าคุณลุงวิเชียรจะมีความสนใจศึกษาพันธุ์ไม้ผล พันธุ์ใหม่พันธุ์ดีอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะละมุดพันธุ์สาลี่ที่พบลูกดกมาก ในการพูดคุยสอบถามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้รวมทั้งได้สังเกตการไม้ผลที่ปลูก มีแปลงที่สะอาดมีการปฏิบัติที่ดี เนื่องด้วยคุณลุงวิเชียรมีประสบการณ์ในการทำสวนผลไม้กว่าสามสิบปี จึงเป็นสวนผลไม้ตัวอย่าง ในทุก ๆ ปีมีทั้งนิสิต นักศึกษา นักเรียน รวมทั้งเกษตรกร ผู้นำชุมชนและท้องถิ่นได้มาศึกษาหาความรู้เป็นประจำ เมื่อวันเสาร์ที่ 19 มกราคม 2562  ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 2 เวลา 12.30 น. ที่ผ่านมา คุณลุงวิเชียรได้รับรางวัล Dara variety award เกียรติยศความสำเร็จของบุคคลที่มีความโดดเด่น (ผู้บริหารองค์กรดีเด่น สาขา-เกษตรกรดีเด่น) (วิเชียร บุญเกิด, การสัมภาษณ์, 13 ธันวาคม 2563)

ความสำคัญของพืชเกษตรที่มีต่อประเทศไทย[แก้ไข]

         กล้วยไม้ เป็นพืชเศรษฐกิจที่นำเข้าประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ประเทศไทยเป็นทั้งผู้ผลิตและส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกรายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2555 สัดส่วนของการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกถึงร้อยละ 66 ของมูลค่าดอกไม้ทั้งหมดที่ส่งออกของไทย ฟาร์มกล้วยไม้ตัดดอกส่วนใหญ่มักจะอยู่ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ เนื่องจากมีข้อได้เปรียบทางด้านการขนส่ง (เริงชัย ตันสุชาติ และคณะ, 2555, หน้า 1) ส่วนในจังหวัดกำแพงเพชร มีฟาร์มกล้วยไม้ที่มีชื่อเสียงในเขตจังหวัดกำแพงเพชร ผลิตและจำหน่ายกล้วยไม้ตัดดอก กล้วยไม้หายาก เป็นแหล่งผลิตกล้วยไม้ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือตอนล่าง และเป็นศูนย์รวมพันธุ์กล้วยไม้กว่า 50 สายพันธุ์ สวนกล้วยไม้ภัสนันท์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลวังบัว อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร (Praphaporn Srilert, 2013) จากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรรายงานตัวเลขการส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกในปี 2562 ว่า มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเปรียบเทียบจากปี 2561 ถึงร้อยละ 9.84 (จาก 48,960 เป็น 53,780 ตัน ตามลำดับ) โดยมีประเทศที่ส่งออกหลัก 10 ประเทศคือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เวียดนาม จีน อินเดีย เนเธอร์แลนด์ อิตาลี บราซิล เยอรมนีและออสเตรเลีย ตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะกล้วยไม้ตัดดอกซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทีส่งออกหลักของไทยพบว่า ในปี 2562 การส่งออกกล้วยไม้ตัดดอกมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 13.27 และร้อยละ 5 สำหรับการส่งออกต้นกล้วยไม้ (กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, 2562)
         แต่เมื่อพูดถึงมะนาวพบว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะนาวมากถึง 108,779 ไร่ (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2561) มีผลผลิตรวมทั้งประเทศถึง 152,335 ตัน เนื่องจากมะนาวเป็นพืชพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือภายใต้ประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน ผู้คนในภูมิภาคนี้รู้จักและใช้ประโยชน์จากมะนาวมาช้านาน อีกทั้งภูมิปัญญาพื้นบ้านแต่โบราณได้ใช้มะนาวเป็นสมุนไพรบำบัดโรค เช่น โรคเลือดออกตามไรฟันเพราะมีวิตามินซีสูง รวมถึงการแก้อาการเจ็บคอเพราะมะนาวว่าอุดมไปด้วยกรดซิตริก กรดมาลิค และกรดเอสคอร์บิก ซึ่งเป็นกรดผลไม้กลุ่มหนึ่งช่วยในการกระตุ้นเซลล์ทำให้เซลล์ผิวที่เสื่อมสภาพหลุดลอกช่วยขจัด รอยแผลเป็นให้จางลง อีกทั้งยังมีสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ รวมถึงธาตุอาหารอย่างเช่นฟอสฟอรัส แคลเซียม แมกนีเซียม แหล่งเพาะปลูกมะนาวของไทยจะอยู่ในภาคกลางเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาได้แก่ภาคเหนือ ผลผลิตมะนาวของไทยจะใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศกว่าร้อยละ 90 มีการส่งออกเป็นส่วนน้อย โดยมีการส่งออก 216 ตัน ในปี 2556 ในจำนวนนี้ส่งออกไปประเทศลาวมากที่สุดจำนวน 106.6 ตัน ส่วนการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนอื่น ๆ ไม่มีข้อมูลปรากฏ มะนาวจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่นอกจากจะมีตลาดผู้บริโภคภายใน ประเทศรองรับแล้ว มะนาวกำลังจะก้าวเป็นสินค้าดาวเด่นของไทยในตลาดการค้าเสรีอาเซียนได้ในอนาคต เพราะประเทศภายในภูมิภาคอาเซียนต่างมีข้อจำกัดในการเพาะปลูกมะนาว (สมพร อิศวิลานนท์, 2559)

บรรณานุกรม[แก้ไข]

    กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ. (2562). สินค้ากล้วยไม้. เข้าถึงได้จาก https://www.ditp.go.th/contents_attach/539560/539560.pdf
    เริงชัย  ตันสุชาติและคณะ. (2555). การวิเคราะห์ห่วงโซ่มูลค่าของธุรกิจกล้วยไม้ตัดดอกในจังหวัดเชียงใหม่. (รายงานการวิจัย). เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยแม่โจ้.
    สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. (2561). มะนาว : เนื้อที่ยืนต้น เนื้อที่ให้ผล ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ ปี 2561. เข้าถึงได้จาก http://www.oae.go.th/assets/portals/1/fileups/prcaidata/files/1_%20lemon%2061.pdf
    สมพร  อิศวิลานนท์. (2559). ทำกินถิ่นอาเซียน : มะนาว..ในตลาดอาเซียน. เข้าถึงได้จาก https://www.komchadluek.net/news/lifestyle/226677 
    Praphaporn Srilert. (2013). กล้วยไม้เศรษฐกิจ. เข้าถึงได้จาก https://www.blogger.com/profile/17416212687080837898