อัตลักษณ์การแต่งกายของชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         ผู้ไทดำหรือไทยทรงดำเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทหรือเมืองแถนหรือเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ในปัจจุบัน ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในแถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง ปัจจุบันอยู่ในเขตเวียดนามเหนือตอนเชื่อมต่อกับลาวและจีนตอนใต้ ผู้ไทดำหรือไทยทรงดำมีชื่อเดิมเรียกกันว่าไทดำ (Black Tai) หรือ ผู่ไต๋ดำ เพราะนิยมใส่เสื้อดำล้วน  ไทดำกลุ่มนี้ได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น  คนไทยภาคกลางเรียกกันว่า “ลาวทรงดำ” เพราะเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกับลาวและอพยพมาพร้อมกับลาวกลุ่มอื่น ๆ ต่อมาชื่อเดิมได้หดหายลง คำว่า “ดำ” หายไปนิยมเรียกกันในปัจจุบันว่า  “ลาวทรง” หรือ “ลาวโซ่ง” ซึ่งไม่ใช่คำเรียกที่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือเรียกชนกลุ่มนี้ว่าผู้ไทดำนั่นเอง ชาวไทดำหรือ ไทยทรงดำถือตนเองว่าเป็นชนชาติไท จึงนิยมเรียกตนเองว่า “ไทดำ” หรือ “ผู้ไต๋ดำ” (ทวีโรจน์  กล่ำกล่อมจิตต์ 2549:16-35)
         จากสงครามสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ 1) มาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ทำให้ไทดำ หรือไทยทรงดำถูกกวาดครัว มาอยู่เพชรบุรี ระยะแรกไทดำตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลหนองปรง อำเภอเขาย้อย (สมัยพระเจ้าตากสิน และรัชกาลที่ 1) ระยะที่สอง (สมัยรัชกาลที่ 3) โปรดฯ ให้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม ไทดำหรือไทยทรงดำ จึงมาตั้งถิ่นฐานที่ท่าแร้ง เมื่อปี พ.ศ. 2378 - 2381 เนื่องด้วยเหตุผล ทางสงครามเช่นกันสงครามครั้งนั้น พวกลาวพวน พวกลาวเวียง ซึ่งเป็นชนชาติไทยด้วยสาขาหนึ่งได้ถูกกวาดครัวมาด้วยกัน เมืองเพชรจึงประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยที่เรียกว่า “สามลาว” อันได้แก่ ไทดำ ลาวพวน และ ลาวเวียง ธรรมชาติของผู้ไทดำ หรือไทยทรงดำ ชอบอยู่ที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึงชอบภูมิประเทศที่เป็นป่าเขา เสมือนถิ่นดั้งเดิมของตน ลาวโซ่งกลุ่มนี้ มิชอบภูมิประเทศที่ท่าแร้ง เพราะโล่งเกินไป จึงได้อพยพย้ายถิ่นฐานบ้านเรือนไปเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่เคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่สะพานยี่หนทุ่งเฟื้อ วังตะโก บ้านสามเรือน เวียงคอย เขาย้อย ตามลำดับ
         จังหวัดกำแพงเพชร เป็นจังหวัดที่มีสภาพพื้นที่หลากหลายทางภูมิศาสตร์ จึงทำมีประชากรหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งคนไทยกลาง ไทยอีสาน ไทยเหนือ และชนเผ่าต่าง ๆ อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานโดยเฉพาะทางทิศตะวันตกของจังหวัดกำแพงเพชรพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นภูเขาที่อุดมสมบูรณ์ อีกทั้งมีน้ำตกที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกำแพงเพชร นั่นคือ น้ำตกคลองลาน ในเขตอำเภอคลองลาน 
         จิรัฎฐ์  เพ็งแดง และคณะ. (บทนำ : 2560) ชนชาติพันธุ์ไทดำเป็นอีกชนชาติหนึ่งที่ได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เป็นชาวไทดำกลุ่มหนึ่งที่ได้อพยพมาจากตำบลห้วยท่าช้าง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เพื่อแสวงหาแหล่งทำกินใหม่จึงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ริมคลองสวนหมาก ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ชาวไทดำกลุ่มนี้ได้นำเอาประเพณี และศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ ของชาวไทยดำมาด้วย ทั้งยังคงรักษาวัฒนธรรมของตนอย่างเหนียวแน่น และภาคภูมิใจในเชื้อชาติไทยดำ 
         ตามที่คณะผู้วิจัยได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร (17 ธันวาคม 2559) จากนายเหมือน อินทร์พรหม และนายซ้อน ทองแก้ว ได้ให้ข้อมูลตรงกันว่ากลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เริ่มต้นจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาอยู่ในจังหวัดเพชรบุรี ได้ถูกกวาดต้อนให้ไปอยู่ที่ตำบลท่าแร้ง อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่ราบติดชายทะเลไม่เหมาะแก่การทำอาชีพเพาะปลูกที่เป็นอาชีพดั้งเดิมของชาวไทดำ จึงได้อพยพขึ้นมาอยู่ที่บริเวณ อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ชาวไทดำได้ลงหลักปักฐานกระจายกันอยู่ในตำบลหนองชุมพล ตำบลบางเค็ม ตำบลสระพัง ตำบลเขาย้อย ตำบลทับคาง ตำบลหนองปรง ตำบลหนองปลาไหล ตำบลห้วยโรง และตำบลห้วยท่าช้าง ซึ่งถือได้ว่าอำเภอเขาย้อยเป็นเมืองแม่ของชาติพันธุ์ไทดำเนื่องจากมีประชากรชาวไทดำคิดเป็นร้อยละ 80 ของพื้นที่และได้ ยึดถือประเพณีความเชื่อแบบดั้งเดิมไว้อย่างเคร่งครัด จนในปี พ.ศ.2508 ได้มีชาวไทดำสองครอบครัว คือ 1.ครอบครัว นายจันทร์ ยอดใส 2.ครอบครัว นายมัน  ยอดใส อพยพจากตำบลห้วยท่าช้าง จังหวัดเพชรบุรี มาแสวงหาที่ทำมาหากินใหม่ โดยเดินทางขึ้นมาทางเหนือมาพบแหล่งพื้นที่ทำกินใหม่ ที่ริมคลองสวนหมาก บริเวณตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ต่อมาไม่นาน ในปี พ.ศ.2509 นายต้น  เย็นตั้ง ได้อพยพมายังตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ตามคำแนะนำของนาย จันทร์ ยอดใส และ นายมัน ยอดใส และในปี พ.ศ.2511 ได้มีครอบครัวของนายแพ แตมพันธุ์ นายเลี้ยว ร้อยนาค นายเอก เหี้ยมหาญ นายต้น อินทร์พรหม นายพรม อุ่นเป็นนิจ นายมัน ทองแก้ว และนางสมัย พวงแต้ม ครอบครัวที่ได้กล่าวมานี้ได้มาตั้งอยู่ในชุมชนริมคลองสวนหมาก ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร ชาวไทดำกลุ่มนี้ได้ยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี การละเล่นและความเชื่อตามแบบอย่างที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมาเมื่อครั้งที่อยู่ตำบลห้วยท่าช้าง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี ไว้อย่างเคร่งครัด
         หากกล่าวถึงไทยดำ หรือ ไทยทรงดำ อัตลักษณ์ที่แสดงออกให้เห็นเด่นชัดว่านี่คือชนชาติไทยดำ คือการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีดำ จึงเป็นที่มาของชื่อชนเผ่านี้ 
         ธิดา  ชมพูนิช (2539, น.65) เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มมีความจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชนทุกหมู่  เหล่าชน แต่ละชาติย่อมมีรูปแบบการแต่งกายที่แตกต่างกัน นับว่าการแต่งกายเป็นเอกลักษณ์ของชนชาตินั้น ๆ ได้ ชาวลาวโซ่งเป็นชนชาติหนึ่งที่มีรูปแบบการแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองที่ชัดเจน ตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบันชาวไทยที่มีเชื้อสายโซ่งอย่างแต่งกายแบบดั้งเดิมอยู่มากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ที่มาอาศัยในเมืองไทยด้วยกันรูปแบบการแต่งกายที่เด่นชัดของชาวไทยโซ่งคือ เครื่องแต่งกายทุกชิ้น ไม่ว่าชายหรือหญิงตลอดจนเครื่องที่นอนหมอนมุ้งจะทำด้วยผ้าสีดำทั้งหมด
         ชาวไทยทรงดำที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดกำแพงเพชร ยังคงรักษาและหวงแหนอัตลักษณ์ที่แสดงออกให้เห็นถึงความเป็นชนชาติไทยดำ มิได้ปรับเปลี่ยนไปตามกระแสแห่งวัฒนธรรมประดิษฐ์ที่หลั่งไหลเข้ามา เพราะชาวไทยดำจะเห็นว่าวัฒนธรรมการแต่งกายนั้นหากผิดแปลกไปจากดั้งเดิมคือความไม่เคารพซึ่งบรรพบุรุษ 
         เพื่อเป็นการรักษาวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ดั้งเดิมที่สั่งสมกันมาของชาวไทยดำในจังหวัดกำแพงเพชร ผู้วิจัยจึงได้มีการศึกษาอัตลักษณ์การแต่งกายของชาวไทยดำเพื่อให้ทราบถึงการแต่งกายของชาวไทยดำที่ถูกต้องตามจารีตและแบบแผนดั้งเดิม 
         การแต่งกายของชาวไทยดำแบ่งออกเป็น 3 ลักษณะคือ 
             1. ชุดลำลองหรือชุดอยู่ที่บ้าน       
             2. ชุดทางการ  
             3. ชุดเพื่อประกอบพิธีกรรม โดยแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือ เพศชายและเพศหญิง

เครื่องแต่งกายผู้ชาย[แก้ไข]

1. เสื้อไท[แก้ไข]

ภาพที่ 1 แสดงเสื้อไทชาวไทยทรงดำ.jpg

ภาพที่ 1 แสดงเสื้อไทชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

         เสื้อไท เป็นผ้าฝ้ายย้อมครามเข้ม เสื้อคอตั้ง ผ่าหน้า ติดกระดุมเงินจำนวนเป็นเลขคี่ (จำนวนของกระดุมเงินบ่งบอกถึงสถานะร่ำรวย) แขนกระบอก และเอวผายออก

2. เสื้อฮีชาย[แก้ไข]

ภาพที่ 2 แสดงเสื้อฮีชายชาวไทยทรงดำ.jpg

ภาพที่ 2 แสดงเสื้อฮีชายชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

         เสื้อฮี เป็นเสื้อแขนกระบอกคอกลมแขนยาว ทำจากผ้าฝ้ายย้อมครามเข้ม ตกแต่งลวดลายข้างลำตัวและด้านในบริเวณชายเสื้อ และสนกระจกเพื่อความสวยงาม มีกระดุมที่คอ 1 เม็ด

3. ส้วง (กางเกง)[แก้ไข]

ภาพที่ 3 แสดงส้วง.jpg

ภาพที่ 3 แสดงส้วง (กางเกง)ชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ. กำแพงเพชร

         ชาวไทยดำเรียกกางเกงว่า ผ้าส้วง มี 2 ประเภท คือ ส้วงฮี (กางเกงขายาว) เป็นผ้าฝ้ายย้อมครามเข้ม เย็บด้วยมือ ขายาว มีเชือกผูกเอว ลักษณะคล้ายกางเกงขาก๊วยแต่ขากางเกงจะมีขนาดเล็ก  และส้วงก้อม (กางเกงขาสั้น) เป็นผ้าฝ้ายย้อมครามเข้ม เย็บด้วยมือ มีลีกษณะคล้ายกับส้วงฮีแต่จะสั้นกว่า (3 ส่วน) ซึ่งในสมัยโบราณจะใส่ทั้งชายและหญิงในเวลาทำงาน

เครื่องแต่งกายของผู้หญิง[แก้ไข]

1. เสื้อก้อม[แก้ไข]

ภาพที่ 4 แสดงเสื้อก้อมชาวไทยทรงดำ.jpg

ภาพที่ 4 แสดงเสื้อก้อมชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

         เสื้อก้อม เป็นผ้าฝ้ายย้อมครามเข้ม เสื้อคอตั้ง แขนกระบอก ผ่าหน้า ติดกระดุมเงิน 11 เม็ด รัดรูป พับสาบสั้นประมาณ 1 นิ้วเพื่อให้เห็นเข็มขัด

2. เสื้อฮีหญิง[แก้ไข]

ภาพที่ 5 แสดงเสื้อฮีหญิงชาวไทยทรงดำ.jpg

ภาพที่ 5 แสดงเสื้อฮีหญิงชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

         เสื้อฮีหญิง เป็นเสื้อคอสามเหลี่ยม แขนกระบอก แขนยาว ลำตัวใหญ่ ด้านนอกมีการตกแต่งลวดลาย บริเวณอกทั้งข้างซ้ายและข้างขวา และขลิบลายที่ปลายแขน ด้านในของเสื้อ มีการตกแต่งลวดลายที่สวยงาม เวลาสวมใส่จะใส่ด้านที่มีลวดลายน้อยไว้ด้านนอก และจะสวมใส่ด้านที่มีลวดลายมากในกรณีที่เสียชีวิตเท่านั้น

3. ผ้าซิ่น[แก้ไข]

ภาพที่ 6 แสดงผ้าซิ่นหญิงชาวไทยทรงดำ.jpg

ภาพที่ 6 แสดงผ้าซิ่นหญิงชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

         ผ้าซิ่น ไทยดำเรียกว่า ซิ่นตา หรือ ซิ่นลายแตงโม เนื่องจากวิธีการทอจะใช้เส้นยืนเป็นเส้นด้ายสีแดงและใช้เส้นพุ่งเป็นสีครามเข้ม มีลวดลายสีครามเป็นริ้วตามตัว ผ้าซิ่นจะมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ 
         1. หัวซิ่น เป็นส่วนบนสุดของซิ่น เป็นผ้าฝ้ายพื้นสีครามเข้ม มีความกว้างประมาณ 9 นิ้ว
         2. ตัวซิ่น เป็นซิ่นลายริ้วสีฟ้าสลับสีครามเข้มยาวตามลำตัว
         3. ตีนซิ่น เป็นแถบผ้ากว้างประมาณ 1 นิ้วครึ่ง มีลายขิดสีฟ้า เรียกว่าลายก้านกาง
         การนุ่งซิ่นของหญิงชาวไทยดำจะนุ่งแบบหน้าสั้นหลังยาว โดยการนุ่งป้ายพับหัวซิ่นทั้งซ้ายและขวามาทบกันไว้ตรงกลางเป็นรูปสามเหลี่ยม ทำให้เดินได้สะดวก

4. ผ้าเปียว[แก้ไข]

ภาพที่ 7 แสดงผ้าเปียวชาวไทยทรงดำ.jpg

ภาพที่ 7 แสดงผ้าเปียวชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

         เป็นผ้าแถบหรือผ้าสไบ ทำจากผ้าฝ้ายย้อมครามเท่านั้น ปักชายทั้งสองข้างด้วยลายดอกเปียว และถักขอบชายผ้าสลับสี 3 สีได้แก่ สีแดง สีส้ม และสีขาว มีขนาดกว้าง 18 นิ้ว ยาว 72 นิ้ว จะใช้พาดบ่าแต่เมื่องานรื่นเริง เช่น เทศกาลสงกรานต์ผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานจะใช้คล้องคอ ในการเล่นลูกช่วงหากผู้หญิงถูกใจฝ่ายชายก็จะใช้ผ้าที่คล้องคอของตนคล้องให้กับฝ่ายชาย
         การแต่งกายของชาวไทยทรงดำทั้งชายและหญิงจะแต่งกายตามวาระโอกาสหรือกิจกรรมที่เข้าร่วมมีลักษณะดังนี้
         1. ชุดลำลองหรือชุดอยู่บ้าน
             ผู้ชาย ใส่กางเกงขาสั้น (ส้วงก้อม) ไม่นิยมสวมเสื้อ หรืออาจมีผ้าขาวม้าพาดบ่า
             ผู้หญิง ห่มผ้าแถบ (ผ้าเปียว) และนุ่งซิ่นลายแตงโม
ภาพที่ 8 แสดงชุดลำลองหรือชุดอยู่บ้านชาวไทยทรงดำ.jpg

ภาพที่ 8 แสดงชุดลำลองหรือชุดอยู่บ้านชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

         2. ชุดทางการ
             ผู้ชาย สวมเสื้อไท ใส่กางเกงขาสั้น (ส้วงก้อม) หรือกางเกงขายาว (ส้วงฮี)
ภาพที่ 9 แสดงชุดทางการของผู้ชายชาวไทยทรงดำ.jpg

ภาพที่ 9 แสดงชุดทางการของผู้ชายชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

             การแต่งกายชุดทางการของฝ่ายหญิงนั้น ผู้หญิงจะสวมสวมเสื้อก้อม นุ่งซิ่นลายแตงโม มีผ้าเปียวพาดบ่า การแต่งกายแบบนี้จะแต่งายไปในงานทางการเช่น การกินเสนเรือน
ภาพที่ 10 แสดงชุดทางการของผู้หญิงชาวไทยทรงดำ.jpg

ภาพที่ 10 แสดงชุดทางการของผู้หญิงชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

         3. ชุดเพื่อประกอบพิธีกรรม
             ผู้ชาย (ลูกเขย และหลานเขย) สวมเสื้อฮี ใส่กางเกงขาสั้น (ส้วงก้อม) หรือกางเกงขายาว  (ส้วงฮี) การแต่งกายเช่นนี้จะทำให้ทราบสถานะของผู้สวมใส่หากอยู่ในพิธีกรรมจะสามารถเรียกใช้ได้หรือขอความช่วยเหลือได้
ภาพที่ 11 แสดงชุดเพื่อประกอบพิธีกรรม.jpg

ภาพที่ 11 แสดงชุดเพื่อประกอบพิธีกรรมของผู้ชายชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

             ผู้หญิง (ลูกสะใภ้ และหลานสะใภ้) จะสวมสวมเสื้อฮี นุ่งผ้าซิ่นลายแตงโม
ภาพที่ 12 แสดงชุดเพื่อประกอบพิธีกรรม.jpg

ภาพที่ 12 แสดงชุดเพื่อประกอบพิธีกรรมของผู้หญิงชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร

ข้อห้ามของการแต่งกายของชาวไทยดำในตำบลโป่งน้ำร้อน[แก้ไข]

         1. ลักษณะการนุ่งซิ่นจะนุ่งแบบหน้าสั้นหลังยาว โดนพับหัวซิ่นจากทางซ้ายและขวามาทบกันเป็นสามเหลี่ยมไว้ตรงกลาง
ภาพที่ 13 แสดงการนุ่งผ้าซิ่นผู้หญิงชาวไทยทรงดำ.jpg

ภาพที่ 13 แสดงการนุ่งผ้าซิ่นผู้หญิงชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ที่ถูกต้อง

         2. สตรีที่สามีเสียชีวิตจะเลาะตีนซิ่นออก เป็นการไว้ทุกข์เป็นเวลา 1 ปี
ภาพที่ 14 แสดงการนุ่งผ้าซิ่นผู้หญิงชาวไทยทรงดำ.jpg

ภาพที่ 14 แสดงการนุ่งผ้าซิ่นผู้หญิงชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ที่เลาะชายซิ้นออก

         3. ชาวไทดำทั้งชายและหญิงจะสวมใส่เสื้อฮีด้านที่มีลวดลายไม่มากไว้ด้านนอก และสวมเสื้อฮีด้านที่มีลวดลายสวยงามไว้ด้านใน และจะกลับเสื้อฮีด้านในเฉพาะคลุมโลงศพเท่านั้น
ภาพที่ 15 แสดงการนุ่งเสื้อฮีของผู้ชายและผู้หญิง.jpg

ภาพที่ 15 แสดงการนุ่งเสื้อฮีของผู้ชายและผู้หญิงชาวไทยทรงดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร ที่เลาะชายซิ้นออก

บทสรุป[แก้ไข]

         เครื่องแต่งกายของชาวไทยดำแบ่งตามเพศได้ ดังนี้
         1. เครื่องแต่งกายของผู้ชาย ประกอบด้วย
             1. เสื้อไท เป็นผ้าฝ้ายย้อมครามเข้ม เสื้อคอตั้ง ผ่าหน้า ติดกระดุมเงินจำนวนเป็นเลขคี่ (จำนวนของกระดุมเงินบ่งบอกถึงสถานะร่ำรวย) แขนกระบอก และเอวผายออก
             2. เสื้อฮีชาย เสื้อฮี เป็นเสื้อแขนกระบอกคอกลมแขนยาว ทำจากผ้าฝ้ายย้อมครามเข้ม ตกแต่งลวดลายข้างลำตัวและด้านในบริเวณชายเสื้อ และสนกระจกเพื่อความสวยงาม มีกระดุมที่คอ 1 เม็ด
             3. ส้วง (กางเกง) ชาวไทยดำเรียกกางเกงว่า ผ้าส้วง มี 2 ประเภท คือ ส้วงฮี (กางเกงขายาว) เป็นผ้าฝ้ายย้อมครามเข้ม เย็บด้วยมือ ขายาว มีเชือกผูกเอว ลักษณะคล้ายกางเกงขาก๊วยแต่ขากางเกงจะมีขนาดเล็ก และส้วงก้อม (กางเกงขาสั้น) เป็นผ้าฝ้ายย้อมครามเข้ม เย็บด้วยมือ มีลักษณะคล้ายกับส้วงฮี แต่จะสั้นกว่า (3 ส่วน) ซึ่งในสมัยโบราณจะใส่ทั้งชายและหญิงในเวลาทำงาน
         2. เครื่องแต่งกายของผู้หญิง ประกอบด้วย
             1. เสื้อก้อม เป็นผ้าฝ้ายย้อมครามเข้ม เสื้อคอตั้ง แขนกระบอก ผ่าหน้า ติดกระดุมเงิน 11 เม็ด รัดรูป พับสาบสั้นประมาณ 1 นิ้วเพื่อให้เห็นเข็มขัด
             2. เสื้อฮีหญิง เป็นเสื้อคอสามเหลี่ยม แขนกระบอก แขนยาว ลำตัวใหญ่ ด้านนอกมีการตกแต่งลวดลาย บริเวณอกทั้งข้างซ้ายและข้างขวา และขลิบลายที่ปลายแขน ด้านในของเสื้อ มีการตกแต่งลวดลายที่สวยงาม เวลาสวมใส่จะใส่ด้านที่มีลวดลายน้อยไว้ด้านนอก และจะสวมใส่ด้านที่มีลวดลายมากในกรณีที่เสียชีวิตเท่านั้น
             3. ผ้าซิ่นไทยดำ เรียกว่า ซิ่นตา หรือ ซิ่นลายแตงโม เนื่องจากวิธีการทอจะใช้เส้นยืนเป็นเส้นด้ายสีแดงและใช้เส้นพุ่งเป็นสีครามเข้ม มีลวดลายสีครามเป็นริ้วตามตัว ผ้าซิ่นจะมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ
                   1. หัวซิ่น เป็นส่วนบนสุดของซิ่น เป็นผ้าฝ้ายพื้นสีครามเข้ม มีความกว้างประมาณ 9 นิ้ว
                   2. ตัวซิ่น เป็นซิ่นลายริ้วสีฟ้าสลับสีครามเข้มยาวตามลำตัว
                   3. ตีนซิ่น เป็นแถบผ้ากว้างประมาณ 1 นิ้วครึ่ง มีลายขิดสีฟ้า เรียกว่าลายก้านกาง
             การนุ่งซิ่นของหญิงชาวไทยดำจะนุ่งแบบหน้าสั้นหลังยาว โดยการนุ่งป้ายพับหัวซิ่นทั้งซ้ายและขวามาทบกันไว้ตรงกลางเป็นรูปสามเหลี่ยม ทำให้เดินได้สะดวก
             4. ผ้าเปียว เป็นผ้าแถบหรือผ้าสไบ ทำจากผ้าฝ้ายย้อมครามเท่านั้น ปักชายทั้งสองข้างด้วยลายดอกเปียว และถักขอบชายผ้าสลับสี 3 สีได้แก่ สีแดง สีส้ม และสีขาว มีขนาดกว้าง 18 นิ้ว ยาว 72 นิ้ว จะใช้พาดบ่าแต่เมื่องานรื่นเริง เช่น เทศกาลสงกรานต์ผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานจะใช้คล้องคอ ในการเล่นลูกช่วงหากผู้หญิงถูกใจฝ่ายชายก็จะใช้ผ้าที่คล้องคอของตนคล้องให้กับฝ่ายชาย
         การแต่งกายของชาวไทยทรงดำทั้งชายและหญิงจะแต่งกายตามวาระโอกาสหรือกิจกรรมที่เข้าร่วม มี 3 ลักษณะดังนี้
             1. ชุดลำลองหรือชุดอยู่บ้าน ชาวไทดำบ้านโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีลักษณะดังนี้
                   - ผู้ชาย ใส่กางเกงขาสั้น (ส้วงก้อม) ไม่นิยมสวมเสื้อ หรืออาจมีผ้าขาวม้าพาดบ่า
                   - ผู้หญิง ห่มผ้าแถบ (ผ้าเปียว) และนุ่งซิ่นลายแตงโม
             2. ชุดทางการ ชาวไทดำบ้านโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีลักษณะดังนี้
                  - ผู้ชาย สวมเสื้อไท ใส่กางเกงขาสั้น (ส้วงก้อม) หรือกางเกงขายาว (ส้วงฮี)
                  - ผู้หญิง จะสวมสวมเสื้อก้อม นุ่งซิ่นลายแตงโม มีผ้าเปียวพาดบ่า การแต่งกายแบบนี้จะแต่งไปในงานทางการเช่น การกินเสนเรือน
             3. ชุดเพื่อประกอบพิธีกรรม
                  - ผู้ชาย (ลูกเขย และหลานเขย) สวมเสื้อฮี ใส่กางเกงขาสั้น (ส้วงก้อม) หรือกางเกงขายาว (ส้วงฮี) การแต่งกายเช่นนี้จะทำให้ทราบสถานะของผู้สวมใส่หากอยู่ในพิธีกรรมจะสามารถเรียกใช้ได้หรือขอความช่วยเหลือได้
                  - ผู้หญิง (ลูกสะใภ้ และหลานสะใภ้) จะสวมสวมเสื้อฮี นุ่งผ้าซิ่นลายแตงโม
         ข้อห้ามของการแต่งกายของชาวไทยดำในตำบลโป่งน้ำร้อน มีดังนี้ 
              1. ลักษณะการนุ่งซิ่นจะนุ่งแบบหน้าสั้นหลังยาว โดนพับหัวซิ่นจากทางซ้ายและขวามาทบกันเป็นสามเหลี่ยมไว้ตรงกลาง
             2. สตรีที่สามีเสียชีวิตจะเลาะตีนซิ่นออก เป็นการไว้ทุกข์เป็นเวลา 1 ปี
             3. ชาวไทดำทั้งชายและหญิงจะสวมใส่เสื้อฮีด้านที่มีลวดลายไม่มากไว้ด้านนอก และสวมเสื้อฮีด้านที่มีลวดลายสวยงามไว้ด้านใน และจะกลับเสื้อฮีด้านในเฉพาะคลุมโลงศพเท่านั้น
         จากการลงเก็บข้อมูลเรื่องการแต่งกายของชาวไทยดำนั้น การแต่งกายของชาวไทยดำรวมทั้งข้าวของเครื่องใช้ จำพวกเสื้อผ้า  ผ้าปูที่นอน หรือกระทั้งมุ้ง จะเป็นสีดำแท้ที่จริงแล้ว เป็นการยอมผ้าด้วยสีครามเข้มจนมองออกเป็นสีดำ เป็นภูมิปัญญาด้านเครื่องนุ่งห่มของชาวไทยดำที่สั่งสมและตกทอดกันมา ผู้หญิงของชาวไทยดำจะต้องทอผ้าเป็น เย็บเสื้อได้ นอกจากนี้ชาวไทยดำยังใช้เสื้อผ้าเป็นเครื่องแสดงสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจด้วย เช่น หากเสื้อมีกระดุมมากแสดงถึงสถานะทางเศรษฐกิจที่ดี รวมถึงการแสดงสถานนะอื่นเช่นการเลาะชายซิ่นออกเมื่อสามีเสียชีวิต 
         จะเห็นได้ว่าการแต่งกายของชาวไทยดำ บ้านโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลานจังหวัดกำแพงเพชร ยังคงรักษาประเพณีดั้งเดิมของตนไว้ และยังคงความภาคภูมิในความเป็นชาติพันธุ์ไทยดำ เราสามารถเห็นการแต่งกายดั้งเดิมของชาวไทยดำได้ในงานพิธีกรรมหรืองานทางการต่าง ๆ ของชาวไทยดำที่ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชรได้จัดขึ้น ในฐานะที่เราเป็นคนนอกที่มองเห็นวัฒนธรรมของชาวไทยดำ มิควรที่จะปรับเปลี่ยน แต่ควรช่วยกันอนุรักษ์และส่งเสริม เพราะเป็นภูมิปัญญาและคติคำสอนที่ดีของแต่ละสังคมให้ดำรงอยู่บนรากเหง้าที่แท้จริง