เขานางทอง ตำบลเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         เขานางทอง มีคำกล่าวว่าในอดีตเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีประวัติความเป็นมาจากศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ศิลาจารึกหลักนี้ยังกล่าวถึงการประดิษฐานพระพุทธบาทในเมืองพานบนยอดเขานางทอง ตำนานเขานางทองกล่าวว่า นางทองเป็นผู้หญิงชาวบ้านเมืองพานที่สวยงามมาก ต่อมาถูกพญานาคกลืนเข้าท้อง พระร่วงเห็นจึงใช้อิทธิฤทธิ์ของตนช่วยนางทองออกมา นางทองเป็นหญิงที่โฉมงามและเป็นที่สบพระทัย นางทองจึงได้อภิเษกเป็นพระมเหสี อยู่มาวันหนึ่งนางทองได้ออกไปซักผ้าที่สระน้ำ จระเข้ที่พระร่วงทรงเลี้ยงหิวจึงได้คาบนางทองไปกิน พระร่วงไปช่วยไม่ทันจึงกลับตำหนักอย่างเศร้าใจและทำใจไม่ได้ จึงพาชาวบ้านอพยพราษฎรลงไปทางใต้เมืองพานจึงกลายเป็นเมืองล้างในยุคหนึ่ง ลักษณะทางสถาปัตยกรรมบนเขานางทองมีการวางผังโบราณสถานตามแนวยาว ด้านบนสุดเป็นเจดีย์ใหญ่ทรงดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ก่อด้วยอิฐศิลาแลง ส่วนบนเป็นศิลาแลง ถัดมาเป็นเจดีย์รายเล็ก 3 องค์ ถัดมาเป็นวิหาร 4 ด้าน ท้ายสุดคล้ายที่ตั้งบุษบก เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทสมัยเขานางทองเป็นเมืองโบราณทางประวัติศาสตร์ในสมัยพญาลิไท ท่านทรงเห็นความสำคัญของเมืองพานจึงสร้างรอยพระพุทธบาทบนยอดเขานางทอง วัฒนธรรมเขานางทองได้เริ่มตั้งเป็นเมืองสุโขทัย อาณาจักรที่ตั้งอยู่ได้นานเกือบ 2000 ปี ดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันและสร้างวัฒนธรรมไว้มากมายในยุคสุโขทัย บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับ 1) ความเป็นมาของเขานางทอง 2) ตำนานเขานางทอง 3) ลักษณะทางสถาปัตยกรรม และ 4) สมัยและวัฒนธรรมเขานางทอง

คำสำคัญ : ตำนานเขานางทอง,กำแพงเพชร,รอยพระพุทธบาทเขานางทอง

ความเป็นมาของเขานางทอง[แก้ไข]

         สำหรับโบราณสถานเขานางทองนั้น มีคำกล่าวว่าในอดีตเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาจากศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) ในสมัย  สมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) โดยกล่าวถึงชื่อเมืองต่าง ๆ เช่น ชื่อเมืองคณฑี เมืองพระบาง เมืองเชียงทอง เมืองบางขลัง และ เมืองบางพาน นอกจากนี้ในศิลาจารึกหลักนี้ยังกล่าวถึงการประดิษฐานพระพุทธบาทในเมืองพาน บนยอดเขานางทองอีกด้วย ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์สุโขทัยตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของเมืองบางพานแห่งนี้ นอกจากนี้ชื่อเมืองบางพานยังปรากฏในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 4 (จารึกวัดป่ามะม่วง) เมื่อครั้งที่พระมหาธรรมราชาลิไททรงอาราธนาพระมหาสามีสังฆราชจากลังกาให้มาจำพรรษาที่กรุงสุโขทัยในปี พ.ศ.1904 โดยพระมหาสามีสังฆราชได้เดินทางผ่านเมืองต่าง ๆ อาทิ เมืองเชียงทอง เมืองบางจันทร์ เมืองบางพานจนถึงเมืองสุโขทัย นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานในจารึกที่ฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชรที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกำแพงเพชรกับเมืองบางพานว่าได้มีการสร้างท่อปู่พระยาร่วง (คลองส่งน้ำ) โดยชักน้ำจากแม่น้ำปิง บริเวณเมืองกำแพงเพชร ส่งไปยังเมืองพาน แท่นศิลาจารึกที่รอบฐานพระอิศวร ได้กล่าวถึงพระยาศรีธรรมโศกราชเจ้าเมืองกำแพงเพชรได้สร้างรูปพระอิศวรนี้เมื่อ พ.ศ. 2043 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา ทั้งนี้เชื่อได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างเมืองกำแพงเพชรกับเมืองพานคงจะมีมาก่อนนานแล้ว (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2563)
         ปัจจุบันรอยพระพุทธบาทเก็บรักษาและจัดแสดงที่ห้องศิลปะสุโขทัย อาคาร-พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ทั้งนี้สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ได้ถ่ายโอนภารกิจการดูแลบำรุงรักษาโบราณสถานเขานางทองให้แก่ เทศบาลตำบลเขาคีริส ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน 2560 เป็นต้นมา และปัจจุบันได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร ให้สามารถจำลองรอยพระพุทธบาทเขานางทอง ณ โบราณสถานเขานางทองแห่งนี้ได้ แต่ยังไม่ได้หล่อฐานจริงของรอยพระพุทธบาทซึ่งเป็นแหล่งประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยว ที่มีคุณค่าของอำเภอพรานกระต่ายสืบเนื่องกันมาหลายยุคสมัย และในการจำลองรอยพระพุทธบาทเขานางทองจะทำให้ชาวอำเภอพรานกระต่ายได้มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองที่เป็นสักการะบูชาและยึดเหนี่ยวจิตใจกลับคืนมาเหมือนในอดีต และจะทำให้มีนักท่องเที่ยวและพุทธศาสนิกชนเข้ามาเยี่ยมชม และนมัสการรอยพระบาท (อำนวย ทองทิน, การสัมภาษณ์, 16 สิงหาคม 2563) 
         เมืองพาน คือ เป็นหมู่บ้านเรียกอีกอย่างว่า บ้านวังพาน เป็นหมู่บ้านติดต่อกับบ้านเขานางทอง เลยขุดคลองเจอซากโบราณสถานที่เก่าแก่มากมาย
         เมืองบางพาน คือ เมืองร้าง สันนิฐานว่าอยู่แถวเขตหมู่บ้านวังพานกับหมู่บ้านเขานางทอง จนปัจจุบันไม่มีเมืองบางพานอยู่แล้ว แต่ขุดพบหลักฐานว่าเป็นเมืองพานจากหลักฐานที่ได้มีการกล่าวถึงเมืองที่สำคัญ ๆ ตามหลักศิราจารึกมีด้วยกัน 2 เมือง คือ เมืองบางพานและเมืองพาน ซึ่งจากการสำรวจมาพบว่า เมืองบางพาน เป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีเมืองหนึ่งที่น่าศึกษาอยู่ในเขตอำเภอพรานกระต่าย เป็นเมืองที่สำคัญและเก่าแก่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีหรือก่อนหน้านั้น หลักฐานจากจารึกนครชุม ซึ่งจารึก เมื่อปี พ.ศ.1900 ในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท จารึกไว้ว่า "พิมพ์เอารอยตีนอันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมือง บางพาน เหนือจอมเขานางทอง" ซึ่งหมายถึงการนำรอยพระพุทธบาทจำลองมาประดิษฐานไว้ที่เขานางทองเมืองบางพาน แสดงว่าเมืองบางพานเคยเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
         จากจารึกฐานพระอิศวร ซึ่งจารึกในปีพุทธศักราช 2053 ได้กล่าวถึงเมืองบางพานไว้ว่า "ถนนถลา อันตรธานไปถึงบางพาน" อนึ่งท่อปู่พระยาร่วง ทำเอาน้ำไปถึงบางพานนั้น ก็ถมหายสิ้น" แสดงถึงเมืองบางพาน เจริญขนาดมีถนนพระร่วงตัดผ่าน และมีการขุดท่อทองแดง เอาน้ำจากเมืองกำแพงเพชรไปเลี้ยงเมืองบางพาน มาเกือบ 700 ปี แสดงถึงวิทยาการอันก้าวหน้ามากกว่าทุก ๆ เมือง เท่าที่มีหลักฐาน
         พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบันทึกถึงเมืองบางพาน ในหนังสือเที่ยวเมืองพระร่วงว่า "เมืองบางพานต้องถูกทิ้งร้างไป เพราะแม่น้ำเขินไป ไม่มีน้ำพอกิน ทำให้ต้องย้ายเมือง และทิ้งเมืองบางพาน   ให้ร้างไป" เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ท่ามกลางที่ราบลุ่มซึ่งเพาะปลูกได้ดี เคยเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ที่พญาลิไท นำมาประดิษฐานไว้
         อำเภอพรานกระต่าย ยังมีวัดที่เก่าแก่ และทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และ โบราณคดี จำนวนมาก อาทิ
              • วัดไตรภูมิ ตำบลถ้ำกระต่ายทอง
              • วัดอินทาราม ตำบลท่าไม้
              • วัดกุฏิการาม ตำบลพรานกระต่าย
         อำเภอพรานกระต่าย เป็นอำเภอที่เก่าแก่ และมีประชาชน ที่อยู่มาตั้งแต่สมัยโบราณมีภาษาวัฒนธรรม และเอกลักษณ์เป็นของตนเอง นับว่าเป็นอำเภอที่ทรงคุณค่าที่น่าศึกษาที่สุดอำเภอหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร (สันติ อภัยราช, 2559) 
         ตำนานเกี่ยวกับเขานางทองนั้นกล่าวว่า นางทองเป็นผู้หญิงสาวชาวบ้านเมืองพานที่สวยงามมาก ต่อมาถูกพญานาค กลืนเข้าไปในท้อง พระร่วงเจ้าผู้ครองนครเมืองพานได้พบเห็นจึงได้เข้าช่วยโดยใช้อิทธิฤทธิ์ของตน ล้วงนางทองออกมาจากคอของพญานาค เนื่องจากนางทองเป็นคนที่มีสิริโฉมงดงามจึงเป็นที่สบพระทัยของพระร่วง ต่อมานางทองจึงได้อภิเษกเป็นพระมเหสี และยังได้นางคำหญิงชาวบ้านอีกคนหนึ่งเป็นพระสนมเอกอีกองค์หนึ่งด้วย อยู่มาวันหนึ่งพระร่วงได้เสด็จไปเที่ยวในกรุงสุโขทัย หลังจากพระร่วงเสด็จไปพระมเหสีทอง  ได้ไปซักผ้าอ้อมที่สระน้ำซึ่งพระร่วงได้สร้างพระตำหนักแพหน้าพระราชวังในคลองใหญ่ไว้เป็นที่พักผ่อนพระอิริยาบถและซักผ้า ในวันนั้นขณะที่ซักผ้าอ้อมเสร็จและจะนำไปตาก (บริเวณที่ตากผ้าอ้อมนั้น ไม่มีต้นไม้ขึ้นเลย จะโล่งเตียนไปหมด เพราะพระร่วงสาปไว้สำหรับตากผ้าอ้อม) ระหว่างที่ตากผ้าอ้อมพระมเหสีทองก็กลัวว่าผ้าอ้อมจะไม่แห้งจึงทรงอุทานขึ้นเป็นทำนองบทเพลงเก่าว่า "ตะวันเอยอย่ารีบจร นกเอยอย่ารีบนอน หักไม้ค้ำตะวันไว้ก่อน กลัวผ้าอ้อมจะไม่แห้ง"  ผลปรากฏว่าตะวัน หรือดวงอาทิตย์ไม่ยอมเคลื่อน จนกระทั่งผ้าอ้อมแห้ง จึงได้โคจรต่อไป ที่คลองใหญ่หน้าพระราชวังแห่งนั้น พระร่วงได้เลี้ยงจระเข้ไว้ด้วย แล้วพอดีจระเข้ตัวนั้นเกิดหิวขึ้นมาจึงคาบพระมเหสีทองไป เพื่อเอาไปกินแต่ขณะนั้นเป็นเวลาที่พระร่วงกลับจากสุโขทัยพอดี พอกลับมาพระร่วงไม่เห็นนางทองจึงถามพวกนกพวกกวาง (สมัยนั้นเชื่อกันว่าสัตว์ทุกตัวพูดได้) ว่าพระมเหสีทองหายไปไหน พวกสัตว์ต่าง ๆ ก็บอกว่าพระมเหสีทองได้ถูกจระเข้คาบไปแล้ว พระร่วงได้ยินดังนั้นก็รีบตามไปทันที พระร่วงเดินทางไปทางไหนต้องการให้เป็นทางเดิน ก็ปรากฏเป็นทางเดิน ทาง-เกวียนตลอดทาง พระร่วงได้เดินทางผ่านนาป่าแดง คลองวัว และได้ขอน้ำกินแถว ๆ หมู่บ้าน (หมู่บ้านนาป่าแดงปัจจุบัน) พระร่วงพูดว่า "ข้าหิวน้ำจังเลย ขอน้ำกินหน่อยได้ไหม" คนในหมู่บ้านไม่ให้กินจึงพูดว่า "น้ำข้าไม่มี" พระร่วงเป็นคนที่วาจาศักดิ์สิทธิ์อยู่แล้ว พระร่วงจึงพูดว่า "เออ อย่างนั้นพวกมึงก็ไม่ต้องมีน้ำกินตลอดไป" จนป่านนี้นาป่าแดงจึงไม่ค่อยมีน้ำกินน้ำใช้กัน
         พระร่วงได้ตามจระเข้ที่คาบพระมเหสีทองทันที่คลองทองแดง (ใกล้ ๆ ศาลากลางจังหวัดในปัจจุบัน) พอเจอกันก็สายเสียแล้ว จระเข้ได้กินพระมเหสีทองไปแล้ว พระร่วงจึงสาปจระเข้ให้เป็นหินอยู่ตรงนั้นมาถึงทุกวันนี้ พระร่วงเสด็จกลับเข้าวังด้วยความสลดใจและไม่อาจลืมความรักความอาลัยในตัวพระมเหสีทองได้ จึงอพยพราษฎรลงไปทางใต้เพื่อไปตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองสังขบุรีแขวงเมืองอยุธยา เมืองพานจึงกลายเป็นเมืองร้างในยุคหนึ่งในปัจจุบันนี้มีราษฎรจากอำเภอพรานกระต่าย มาตั้งถิ่นฐานกันอยู่หลายสิบหลังคาเรือน
         เขานางทอง ตั้งอยู่ในเขต ตำบลเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เป็นเขาที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองบางพานและเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ที่สันนิฐานกันว่าพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พระยาลิไทย) ทรงสร้างไว้บนยอดเขา ตามหลักฐานในหลักศิลาจารึกหลักที่ 3 ศิลาจารึกนครชุม ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 52 - 57 ปรากฎข้อความดังต่อไปนี้  "พระยาธรรมิกราช ให้ไปพิมพ์เอารอยตีน…พระเป็นเจ็งเถิงสิงหล อันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฎบรรพต ประมาณเท่าใดเอามาพิมพ์ไว้ จุ่งคนทั้งหลายแท้…อันหนึ่งประดิษฐ์สถานไว้ในเมืองศรีสัชนา เหนือจอมเขา…อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองสุโขทัยเหนือเขาสุมนกูฎบรรพต อันหนึ่งประดิษฐานไว้ในเมืองบางพานเหนือจอมเขานางทอง" บนเขานางทองจึงมีการวางผังโบราณสถานตามแนวยาวมีบันไดขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านบนสุดเป็นเจดีย์ใหญ่ทรงดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ฐานเจดีย์กว้าง 12 เมตร ก่อด้วยอิฐศิลาแลง ส่วนบนเป็นศิลาแลง ถัดมาเป็นเจดีย์รายเล็ก 3 องค์ กว้าง 2 เมตรเท่ากันทุกองค์ ถัดมาเป็นวิหาร 4 ตอน ตอนแรกยาว 13 เมตร กว้าง 6 เมตร ตอนที่สองกว้าง 10 เมตร ยาว 21 เมตร (ปัจจุบันโบราณสถานเหล่านี้ทรุดโทรมมากแทบจะดูไม่ออกว่าเป็นอะไร) ส่วนด้านท้ายสุดคล้ายที่ตั้งบุษบก เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพฯ)  
         เมื่อไม่นานมานี้บริเวณคลองวังพาน (อยู่ใกล้กับวัดพานทองศิริมงคล) ได้มีการขุดลอกคลองโดยเครื่องจักรกลของทางราชการ ได้ขุดพบพระ เครื่องปั้นดินเผาเศษกระเบื้อง ตลอดจนเครื่องใช้ไม้สอย ภายในครัวเรือนของชาวเมืองโบราณเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญได้พบเสาไม้ตะเคียนซึ่งสันนิษฐานว่าหน้าจะเป็นศาลาที่ประทับของเจ้าผู้ครองนครในอดีต เป็นหลักฐานที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งของเมืองพานเขานางทองในปัจจุบันกำลังจะได้รับการบูรณะจากหน่วยงานของทางราชการให้เป็นแหล่งประวัติศาสตร์และการท่องเที่ยว (วีสปอร์ต กำแพงเพชร, 2563)
         สรุป ที่มาของตำนานเขานางทองเริ่มมาจากพระร่วงได้มาเจอนางทองที่เมืองบางพาน จึงพบรักและได้อภิเษกกัน และมาพักอาศัยบริเวรเขานางทอง วันหนึ่งพระร่วงได้ออกไปเที่ยวที่เมืองสุโขทัยกลับมาไม่พบนางทอง เลยถามพวกนกว่านางทองไปไหน พวกนกจึงบอกว่า จระเข้ที่พระร่วงทรงเลี้ยงไว้ ได้คาบนางทองไปแล้ว พระร่วงไปช่วยไม่ทัน นางทองถูกจระเข้กินก่อนไปถึง พระร่วงจึงสาปจระเข้ให้เป็นหิน จากนั้นพระร่วงทำใจไม่ได้จึงอพยพราษฎรลงไปทางใต้เพื่อไปตั้งเมืองใหม่ขึ้นที่เมืองสังขบุรีแขวงเมืองอยุธยาเมืองพาน จึงกลายเป็นเมืองร้างในยุคหนึ่ง ปัจจุบันราษฎรจากอำเภอพรานกระต่ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันอยู่ หลาย 10 หลังคาเรือน

ลักษณะทางสถาปัตยกรรม[แก้ไข]

         สถาปัตยกรรมเขานางทองอดีตมีพระเจดีย์แบบนี้มียอดเป็นรูปดอกบัวตูม หรือเรียกกันว่า ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ หรือทรงทนาฬ ตั้งอยู่เหนือเรือนธาตุสี่เหลี่ยมย่อไม้ยี่สิบ ที่เรือนธาตุลางองค์มีการจัดซุ้มพระพุทธรูปยืนทั้ง 4 ทิศ นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะพากันยกย่องว่า พระเจดีย์ทรงบัวตูม เป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้ที่ศิลปินสุโขทัยคิดแบบอย่างของตนขึ้น พระเจดีย์แบบนี้นิยมสร้างไว้ตามเมืองต่าง ๆ ในสมัยสุโขทัยเท่านั้น ไม่มีการสร้างต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาเลย ดังภาพที่ 1
2 เจดีย์ใหญ่ทรงดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์.jpg

ภาพที่ 1 เจดีย์ใหญ่ทรงดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ณ เขานางทอง

         ศิลาแลงกรุงสุโขทัย ราชธานีของคนไทยเมื่อประมาณ 700 ปีมาแล้ว โบราณสถานที่พบเห็นในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติ ในจังหวัดสุโขทัยทั้งสองแห่ง คืออุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติรามคำแหงสุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติศรีสัชนาลัย ต่างก่อสร้างด้วย ศิลาแลง
         ก้อนศิลาแลง มีลักษณะคล้ายหินลูกรังที่ถูกหลอมขึ้นรูป สีแดง น้ำตาลปนดำ เมื่อนำไปทำเป็นเสาจะทำเป็นรูปทรงกระบอก เมื่อทำเป็นส่วนต่าง ๆ ของอาคาร มักทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดต่างกัน ปัจจุบันพบทั่วไปตามโบราณสถานทุกแห่งที่สร้างในสมัยสุโขทัย จำนวนก้อนศิลาแลงที่พบมีจำนวนมากมายมหาศาล แต่เป็นที่น่าสังเกตและเป็นที่สงสัยกันมานานคือไม่ทราบแน่ชัดว่าแหล่งวัตถุดิบ ที่ใช้ทำศิลาแลงเพื่อการสร้างกรุงสุโขทัย นำมาจากที่ใด ดังภาพที่ 2
3 ภาพศิลาแลง.jpg

ภาพที่ 2 ภาพศิลาแลง ณ เขานางทอง

         เจดีย์รายเล็ก 3 องค์ กว้าง 2 เมตร เท่ากันทุกองค์ เจดีย์ราย คือ เจดีย์ที่มีขนาดเล็กสร้างเรียงรายรอบ ๆ บริเวณเจดีย์ประธาน โดยอยู่ถัดออกมาจากเจดีย์ประธาน เจดีย์ประจำมุม และเจดีย์ประจำทิศ คำว่า เจดีย์ราย เป็นศัพท์เรียกระบุตำแหน่ง ไม่ได้หมายถึงรูปแบบ ดังภาพที่ 3
4 เจดีย์รายเล็ก 3 องค์.jpg

ภาพที่ 3 เจดีย์รายเล็ก 3 องค์ ณ เขานางทอง

         วิหาร 4 ตอน วิหารสุโขทัย อาณาจักรสุโขทัย นิยมสร้างวิหารที่มีขนาดใหญ่กว่าโบสถ์เพื่อใช้เป็นที่ประกอบ พิธีอุปสมบท ประกอบสังฆกรรมของพระสงฆ์ ประดิษฐานพระพุทธรูปและใช้เป็นที่ประชุมเพื่อฟังธรรมของประชาชนวิหารมีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า วัสดุที่ใช้ในการสร้างวิหารได้แก่ ศิลาแลง อิฐ ไม้ ดังภาพที่ 4
5 วิหาร 4 ตอน.jpg

ภาพที่ 4 วิหาร 4 ตอน ณ เขานางทอง

         รอยพระพุทธบาท ในสมัยโบราณนั้น ไม่นิยมสร้างรูปเคารพที่เหมือนจริง เมื่อจะรำลึกถึงพระพุทธคุณของ องค์พระบรมศาสดา ซึ่งเป็นที่เคารพสูงสุด จึงไม่อาจเอื้อม ที่จะสร้างรูปเหมือน มักจะสร้างแต่เพียงสัญลักษณ์ ที่มีความหมาย ว่านี้คือพระพุทธองค์ นี้คือ ธรรมะ ที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน เพื่อให้คนรุ่นหลัง ๆได้เคารพบูชา ที่ตั้งบุษบก เป็นที่ ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทซึ่งปัจจุบันได้เก็บรักษาและจัดแสดงที่ห้องศิลปะสุโขทัย อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมดังภาพที่ 5 
6 ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท.jpg

ภาพที่ 5 ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ณ เทศบาลเขาคีริส

         บ่อน้ำ หมายถึง บ่อน้ำสำหรับดื่มกินหรือใช้ และเนื่องจากน้ำมีความสำคัญต่อชีวิต ซึ่งมีวิธีปฏิบัติในการขุด การสร้าง การใช้ การรักษาตลอดจนพิธีกรรมตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่นอีกด้วย โดยทั่วไปในเอกสารโบราณ พบว่ามีการเรียก น้ำบ่อ ว่า น้ำส้าง และ น้ำบ่อส้าง อีกด้วย แหล่งน้ำที่ขุดสร้างขึ้นเพื่อนำมาบริโภคใช้สอย เป็นของควบคู่กับวิถีชีวิตของมนุษย์มาแต่โบราณกาล ความผูกพันผนวกกับพื้นฐานทางวัฒนธรรมมักก่อให้เกิดเทคนิควิธี พิธีกรรมตามความเชื่อติดตามมา ดังภาพที่ 6
7 บ่อน้ำก่ออิฐ.jpg

ภาพที่ 6 บ่อน้ำก่ออิฐ ณ เขานางทอง

สมัยและวัฒนธรรมเขานางทอง[แก้ไข]

         เขานางทอง เป็นเมืองโบราณที่ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ที่อยู่ในสมัยนี้เพราะพระยาลิไททรงเห็นความสำคัญของเมืองพาน จึงมาสร้างรอยพระพุทธบาทบนยอดเขานางทอง
วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง
         เขานางทองได้เริ่มตั้งเป็นเมืองสุโขทัย อาณาจักรที่ตั้งอยู่ได้นานเกือบ 200 ปี สร้างแบบแผนการดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกัน ตลอดจนได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมไว้มากมาย ซึ่งอยู่ในยุคสมัยของสุโขทัย ดังนั้นทางวัฒนธรรมจึงได้รับวัฒนธรรมของสุโขทัยมาด้วย อาทิ
1. วัฒนธรรมทางด้านการศึกษา 
         ในสมัยกรุงสุโขทัยการจัดรูปแบบทางการศึกษาในช่วงแรกได้รับอิทธิพลจากคติพราหมณ์เข้ามา ต่อจากนั้นจึงรับคติธรรมทางพุทธศาสนาเป็นหลักเกณฑ์สำคัญ ของการจัดการศึกษาดังนั้น การศึกษาในสมัยสุโขทัยจึงมีลักษณะ หลายลักษณะดังนี้
         1.1 การศึกษาทางพุทธศาสนา สุโขทัยเป็นอาณาจักรที่มีความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เช่น พระเจ้าลิไท พระองค์ทรงผนวช และอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาหลายด้านที่สำคัญคือ การส่งพระสงฆ์ไปเผยแผ่พุทธศาสนาในดินแดนภาคเหนือ 
         1.2 การศึกษาในวิชาชีพ เป็นการเรียนตามกฎธรรมชาติ เรียนจากพ่อแม่ เรียนจากชุมชนที่ตัวอยู่ใกล้ เรียนจากการกระทำ การฝึกฝนศิลปหัตถกรรมต่าง ๆ การทำไร่ไถ่นา การปั้นเครื่องปั้น ดินเผา งานทางด้านจิตรกรรม ประติมากรรมหรือสถาปัตยกรรม เป็นต้น (ธิดาภรณ์ คำริน, 2559) แสดงให้เห็นว่า การศึกษาของสุโขทัยดังเดิมได้รับอิทธิพลมาจากคติพราหมณ์และเข้ามารับคติธรรมทางพุทธศาสนาของการจัดการศึกษาในสมัยสุโขทัยจึงมีหลายลักษณะอาทิ การศึกษาทางพุทธศาสนา และการศึกษาในวิชาชีพ
2. วัฒนธรรมทางด้านตัวอักษรไทย
         ศิลาจารึกหลักที่ 1 ปรากฏข้อความที่เกี่ยวข้องอักษรไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงตอนหนึ่งว่า “…1205 ศก ปีมะแม พ่อขุนรามคำแหงหาใคร่ใจในแลใส่ลายสือไทยนี้จึ่งมีเพื่อขุนผุ้นั่นใส่ไว้…” จากศิลาจารึกดังกล่าว จึงเป็นที่เชื่อกันว่าอักษรไทยพ่อขุนรามคำแหงซึ่งลง ศิลาจารึกปี พ.ศ. 1826 นี้เป็นอักษรไทยเก่าแก่ที่สุดที่ใช้ในประเทศไทย สรุปว่าอักษรพ่อขุนรามคำแหงดัดแปลงมาจากอักษรขอมหวัด เพราะมีรูปลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่จากการศึกษาของ นันทนา ด่านวัฒน์ ทางด้านอักขรวิทยาพบว่า อักษรต้นตระกูลของอักษรพ่อขุนรามคำแหง คืออักษรหราหมี อักษรคฤนห์ อักษรขอมหวัด เพราะปรากฏความคล้ายคลึงทางด้านอักขรวิทยาของอักษร   พ่อขุนรามคำแหงและอักษรใน ตระกูลทั้ง-สาม อักษรพ่อขุนรามคำแหงนั้นปรากฏใช้เฉพาะในรัชสมัยของพระองค์เท่านั้น (ธิดาภรณ์ คำริน, 2559) แสดงให้เห็นว่า พ่อขุนรามคำแหงได้ดัดแปลงอักษรขอมหวัด อักษรหราหมี อักษรคฤนห์ ที่คล้ายคลึงกับทางด้านอักขรวิทยาของ พ่อขุนรามคำแหง ตระกลู 3 มาก ในปี พ.ศ.1826 
8 ศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยสุโขทัย.jpg

ภาพที่ 7 ศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยสุโขทัย (ศิลปวัฒนธรรม, 2561)

3. วัฒนธรรมทางด้านวรรณกรรม
         วรรณกรรมที่เกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยมีจำนวนมากและหลายประเภท หากแต่มิได้ตกทอดมาถึงปัจจุบัน ที่หลงเหลือถึงปัจจุบันมีดังนี้
         3.1 ศิลาจารึก ศิลาจารึกมีประโยชน์ทางการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดีตลอดจนวิชาอักษรศาสตร์ นิติศาสตร์ สังคมศาสตร์และอื่น ๆ ศิลาจารึกที่พบในสมัยสุโขทัยมีประมาณ 30 หลัก ที่สำคัญมากได้แก่ ศิลาจารึกหลักที่ 1 หรือจารึกพ่อขุนรามคำแหง  กรมศิลปากรได้จัดไว้เป็นอันดับแรกของวรรณกรรม ซึ่งรวมคุณค่าทางภาษา ทั้งความรู้ด้านกฎหมาย ความรู้ทางการปกครอง ความรู้ทางด้านวัฒนธรรม ความรู้ทางด้านสถาปัตยกรรม และศิลปกรรม นับว่าวรรณกรรมประเภทนี้เป็นหลักฐานยืนยันเรื่องราวทางวัฒนธรรมสมัยสุโขทัย ได้เป็นอย่างดี
         3.2 ไตรภูมิพระร่วง ถือเป็นวรรณกรรมปรัชญาชิ้นแรกของไทย พระมหาธรรม-ราชาลิไททรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในปี พ.ศ.1888 นับเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่าทางปรัชญา สอนให้คนรู้จักความดีความชั่ว รู้จักใช้วิจารณญาณและสอนให้คนมีศีลธรรมรักษาความดีและมีความรับผิดชอบ
         3.3 สุภาษิตพระร่วง วรรณกรรมชิ้นนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าเกิดขึ้นในสมัยสุโขทัยหรือไม่ สุภาษิตพระร่วงนับว่าเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งวรรณกรรมหนึ่ง เพราะมีจุดประสงค์ที่จะสั่งสอนคน สอนให้รอบคอบ เป็นต้น เช่น “เมื่อน้อยให้เรียนวิชาให้หาสินเมื่อใหญ่ หรือ ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง” ดังนั้นสุภาษิตพระร่วงจึงมีอิทธิพลต่อความคิดของคนไทยเป็นอันมาก
         3.4 ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ บางคนเชื่อว่าตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แต่งในสมัยสุโขทัยเพราะมีเนื้อเรื่องและท้องเรื่องอ้างถึงสถานที่ต่าง ๆ ในเมืองสุโขทัย แต่บางคนก็เชื่อว่าเป็นวรรณกรรมที่แต่งในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น จุดประสงค์การแต่งเพื่อเป็นการแนะนำตักเตือนข้าราชการสำนัก ฝ่ายในให้มีกริยามารยาทที่เหมาะสมกับศักดิ์ศรีของตนเองและเพื่อเชิดชูเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังทรงคุณค่าทางด้านขนบธรรมเนียม ประเพณีของราชสำนักโดยเฉพาะประเพณีพราหมณ์ทั้ง 12 เดือน
4. วัฒนธรรมการแต่งกาย
         นายชิน อยู่ดี ได้ทำการศึกษาค้นคว้าการแต่งกายของประชาชนชาวสุโขทัยโดยอาศัยหลักฐานประเภทโบราณวัตถุสมัยสุโขทัย  ได้สรุปการแต่งกายสมัยสุโขทัยว่า (ชิน อยู่ดี, 2556)
         4.1 การแต่งกายของผู้หญิงในสมัยสุโขทัยจะไว้ผมยาว เกล้ามวย มีเกี้ยวหรือพวงมาลัยสวมรอบมวย มวยนั้นมีทั้งเกล้าอยู่กลางกระหม่อมและที่ท้ายทอย มีปิ่นปัก สวมเสื้อแขนยาวตัวคับ นุ่งผ้าถุง ผู้หญิงบางคนห่มผ้าสไบเฉียง ผ้าที่ใช้มีทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม สีของผ้ามีสี แดง ดำ ขาว เหลือง เขียว ผัดหน้า วาดคิ้ว สวมแหวน เจ้านายฝ่ายในมีกรองคอ พาหุรัด และทองพระกรทรงมงกุฎยอดแหลมหรือกรอบพักตร์
         4.2 การแต่งกายของผู้ชาย ผู้ชายสมัยกรุงสุโขทัยไว้ผมยาว มุ่นมวยไว้ที่กลางกระหม่อมก็มีไว้ที่ท้ายทอยก็มี สวมเสื้อผ้าผ่าอกแขนยาว และสวมกางเกงขายาวแบบชุดคนเมือง ทหารสวมเสื้อแขนสั้น ถ้าพระยาห้อยผ้าไว้ที่บ่า มีผ้าคาดพุงหรือเข็มขัด ชายบางคนนุ่งกางเกงขาสั้น เจ้านายนุ่งผ้าโจงกระเบนคาดเข็มขัด และมีผ้าประดับทับโจงกระเบนห้อยลงมา 2 ข้าง ผ้านี้จีบตามแนวเส้นนอน เวลาออกศึกนุ่งกางเกงขายาว มีผ้าโจงกระเบนทับอย่างเครื่องแต่งการละคร หมวกที่ผู้ชายใส่มีมงกุฎยอดแหลม หมวกทรงประพาสและหมวกรูปคล้ายฝาชี ซึ่งบางท่านเรียกว่าหมวกชีโบ
9 ภาพการแต่งกายในสมัยสุโขทัย.jpg

ภาพที่ 8 ภาพการแต่งกายในสมัยสุโขทัย (กรมศิลปากร, 2511)

         ลักษณะของการแต่งกายต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จากหลักฐานที่พบลักษณะการแต่งกายของชาวกำแพงเพชรในสมัยสุโขทัย มีลักษณะคล้าย การแต่งกายของพวกขอมหรือเขมรโบราณ
10 การแต่งกายชายหญิงของคนเมืองพานในสมัยก่อน.jpg

ภาพที่ 9 การแต่งกายชายหญิงของคนเมืองพานในสมัยก่อน (อารยธรรมขอม, 2555)

5. วัฒนธรรมทางด้านดนตรีและการฟ้อนรำ
         นายมนตรี ตราโมท ได้ศึกษาเรื่องดนตรีสมัยสุโขทัย โดยอาศัยหลักฐานประเภทศิลาจารึกและภาพประติมากรรม รวมทั้งหนังสือไตรภูมิพระร่วง โดยเฉพาะศิลาจารึกหลักต่าง ๆ ได้ระบุข้อความที่เกี่ยวกับดนตรีและการฟ้อนรำไว้หลายแห่ง เช่น ศิลาจารึกหลักที่ 1 ปรากฏข้อความว่า “…เมื่อจักเข้ามาเวียงเรียงกันแต่อรัญญิก พู้นเท้าหัวลานดมบงคมกลอง ด้วยเสียงพาทย์เสียงพินเสียงเลื่อนเสียงขับ ใครจักมักเล่น ใครจักมัก-หัว ใครจักมักเลื่อนเลื่อน…”
         ศิลาจารึกหลักที่ 8 ปรากฎข้อความว่า “…ดับหนทางแต่เมืองสุโขทัยมาเถิงเขานี้งามหนักหนาแก่กม สองขอก หนทางย่อมกัลปพฤษ์ใส่ร่มยล ดอกไม้ตามใต้เทียนประทีป เผาธูปหอมตลบทุกแห่งปลูกธงปฎาทั้งสองปลาก หนทางย่อมเรียงขันหมากขันพลูบูชาพิลม ระบำเต้นเล่นทุกฉัน…ด้วยเสียงอันสาธุการบูชา หยิบดุริยาพาทย์ พิณฆ้องกลองเสียงดัง สิพอดังดินจักหล่มอันไซร้…” (มนตรี ตราโมท, 2557)
         จากศิลาจารึกดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงการใช้เครื่องดนตรีและการฟ้อนรำ การเล่นสนุกสนานของชาวสุโขทัย นายมนตรี ตราโมท ได้กล่าวถึงวัฒนธรรมทางด้านดนตรีของสุโขทัย โดยแยกพิจารณา 2 ประการคือ
         5.1 เครื่องดนตรี ประกอบด้วยเครื่องดนตรีต่าง ๆ คือ สังข์ แตร บัณเฑาะว์ มโหระทึก ปี่ฉไนแก้ว ปี่สรไน กลองชนะ ฆ้อง กลอง ตะโพน ฉิ่ง กลับ ระฆัง กังสดาล และซอ
         5.2 เพลงร้องและเพลงดนตรี ในสมัยสุโขทัยมีทั้งการร้องและการขับ แต่ทำนองร้องและทำนองขับจะเป็นอย่างไรยากที่จะชี้ให้ชัดเจนได้ มีเพลงที่น่าจะเป็นเพลงสมัยสุโขทัย คือ เพลงเทพทองหรือเพลงสุโขทัย ทำนองเพลงนี้เดิมที่เดียวเป็นเพลงพื้นเมืองใช้ร้องว่าแก้กันระหว่างผู้หญิงผู้ชาย    ส่วนอีก 2 เพลงน่าจะเป็นสมัยสุโขทัย คือเพลงพระทองกับเพลงนางนาค
6. วัฒนธรรมทางด้านประติมากรรมและจิตรกรรม
         วัฒนธรรมทางด้านประติมากรรมและจิตรกรรมเป็นงานประณีตศิลป์ ซึ่งแสดงถึงความสามารถและความเข้าถึงแก่นของคำสั่งสอนของพุทธศาสนาของช่างศิลป์
         6.1 ประติมากรรม ประติมากรรมในสมัยสุโขทัยส่วนใหญ่ ได้แก่การสร้างพระพุทธรูป ซึ่งนิยมสร้างพระพุทธรูปปั้นและหล่อด้วยสัมฤทธิ์ การสร้างพระพุทธรูปเป็นแบบลอยตัวและภาพนูนสูงติดฝาผนัง นอกจากพระพุทธรูปแล้วยังมีการหล่อเทวรูปสัมฤทธิ์ เช่น เทวรูปพระนารายณ์ เทวรูปพระอิศวร เทวรูปพระหริหระ เป็นต้น 
         งานประติมากรรมที่เด่นที่สุดในสมัยสุโขทัยส่วนใหญ่ คือ พระพุทธรูปจะเห็นได้ว่า พระพุทธรูปที่สวยงามในศิลปะแบบสุโขทัยเป็นพระพุทธรูปที่ ตรัสรู้แล้ว ดังนั้น ระบบกล้ามเนื้อต่าง ๆ จึงมีการผ่อนคลายและพระองค์จะอยู่ในความสงบแท้จริง พระพักตร์สงบมีรอยยิ้มเล็กน้อย พระพุทธรูปที่สำคัญ คือ พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ใน พระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกเป็นพระพุทธรูปสำคัญและ มีความงามมากที่สุดองค์หนึ่งในงานประติมากรรมไทยสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) พระพุทธชินสีห์ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัด-บวรนิเวศวิหารกรุงเทพมหานครเดิมประดิษฐานอยู่ที่พระวิหารวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก แต่ในสมัยสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ (ในรัชกาลที่ 3) โปรดให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานครเป็นพระพุทธรูปซึ่งมีรูปลักษณะงดงาม สันนิษฐานว่า  สร้างขึ้นในคราวเดียวกับพระพุทธชินราชพระศรีศากยมุนี ประดิษฐานอยู่ใน พระวิหารวัดสุทัศนเทพวรารามกรุงเทพมหานคร เดิมเป็นพระประธานในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก-มหาราชโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานคร เมื่อ พ.ศ.2351 
         6.2 จิตรกรรม จิตรกรรมที่เราพบในสมัยสุโขทัยทั้งภาพลายเส้นและลายเขียนฝุ่น ภาพลายเส้นในสมัยสุโขทัย โดยเฉพาะภาพจำหลักลายเส้นลงเส้นในแผ่นหินชนวนวัดศรีชุม เมืองสุโขทัยเป็นภาพชาดกจะเห็นได้ว่าเส้นลายดังกล่าวเป็นภาพที่อิทธิพลของ ศิลปะศรีลังกาอยู่มากมาย เช่น ภาพเทวดาต่าง ๆ แต่คนไทยสมัยสุโขทัยน่าจะมีส่วนร่วมในการสลักภาพเหล่านี้ด้วย ภาพสลักที่วัดศรีชุมเป็นเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาเป็นชาดกต่าง ๆ สีที่ใช้ในโครงงานระบายสีแบบดำ แดง ที่เรียกว่าสีเอกรงค์
7. วัฒนธรรมด้านสถาปัตยกรรม  
         การที่อาณาจักรสุโขทัยรับนับถือพุทธศาสนาจากลังกาจึงได้รับอิทธิพลเข้ามา สถาปัตยกรรม สุโขทัยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบดังนี้
         7.1 สถาปัตยกรรมรูปทรงอาคาร สามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบใหญ่ คือ
              7.1.1 อาคารโอ่โถงหรืออาคารที่มีผนัง มีหลังคาซ้อนเป็นชั้น ๆ ผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยม    ผืนผ้า ทางด้านหน้าต่อเป็นมุขที่ยืน มีบันไดขึ้นสองข้างทางมุข ตัวอย่าง เช่น วิหารที่วัดสวนแก้วอุทยานน้อย เมืองศรีสัชนาลัย
              7.1.2 อาคารที่ก่อด้วยแลงหรือรูปทรงอาคาร หลังคาใช้เรียงด้วยแลงซ้อนเหลี่ยมกันขึ้นไปจนถึงชั้นสูงสุดที่ไปบรรจบกันที่ตอนอกไก่ ตัวอย่างเช่น วิหารวัดกุฏิราย เมืองศรีสัชนาลัย 
              7.1.3 อาคารสี่เหลี่ยม มีหลังคาที่เป็นชั้นแหลมลดหลั่นกันไปถึงยอดประมาณ 3 ชั้น ที่เรียกว่า “มณฑป” มณฑปนี้จะเป็นแบบมณฑปที่มีผนังและมณฑปโถง ตัวอย่างเช่น มณฑปวัดศรีชุม เมืองสุโขทัย (มณฑปที่มีผนัง ) และหอเทวลัยมหาเกษตรพิมาน เมืองสุโขทัย (มณฑปโถง)
         สถาปัตยกรรมในเมืองสุโขทัย ส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานสำหรับอาคารที่เป็นปราสาทราชวัง และบ้านเรือนของประชาชนจะสร้างด้วยไม้ จึงไม่เหลือร่องรอยให้เห็นในปัจจุบัน
         7.2 สถาปัตยกรรมรูปแบบสถูปหรือเจดีย์ มีทั้งทรงกลมแบบลังกา เจดีย์ทรงกลมฐานสูง เจดีย์ย่อเหลี่ยมแบบมีซุ้มจระนำ เจดีย์แบบห้ายอด เจดีย์ทรงปรางค์ ยอดเป็นเจดีย์ทรงกลมสถาปัตยกรรมสมัยสุโขทัย และเจดีย์ทรงดอกบัวตูม จากลักษณะสถาปัตยกรรมเจดีย์ต่าง ๆ เหล่านี้จะเห็นได้ว่าลักษณะเจดีย์ที่สำคัญที่พบมากมี 2 แบบ คือ
              7.2.1 เจดีย์ทรงกลมแบบลังกา หรือ เจดีย์ดอกบัวคว่ำ เป็นแบบที่สร้างสมัยแรก เช่นที่วัด   ตะกวน วัดช้างล้อม วัดสระศรี เมืองสุโขทัย
              7.2.2 เจดีย์ทรงดอกบัวตูม นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ศิลปะพากันยกย่องว่า พระเจดีย์ทรงบัวตูม เป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัยแท้
         กล่าวได้ว่าสมัยสุโขทัยเป็นสมัยเริ่มแรกของวัฒนธรรมไทยแทบทุกด้าน วัฒนธรรมสมัยสุโขทัยได้เป็นแบบอย่างของวัฒนธรรมไทยสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นสมัยสุโขทัยจึงจัดว่าเป็นสมัยทองแห่งความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมที่สำคัญสมัยหนี่งของไทย (นิรุตย์ กึ่ม ชอบพิมาย, 2558)

สรุป[แก้ไข]

         จากการศึกษาเรื่องเขานางทอง ตำบลเขาคีริส อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ความเป็นมาเขานางทอง พบว่า ในอดีตเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีประวัติความเป็นมาจากศิลาจารึกหลักที่ 3 (จารึกนครชุม) ในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ศิลาจารึกหลักนี้ ยังกล่าวถึงการประดิษฐานพระพุทธบาทในเมืองพานบนยอดเขานางทอง ตำนานเขานางทอง พบว่า ในตำนานได้กล่าวว่านางทองเป็นผู้หญิงชาวบ้านเมืองพานที่สวยงามมาก ต่อมาถูกพญานาคกลืนเข้าท้อง พระร่วงเห็นจึงใช้อิทธิฤทธิ์ของตนช่วยนางทองออกมา ลักษณะทางสถาปัตยกรรมบนเขานางทอง พบว่า มีการวางผังโบราณสถานตามแนวยาว ด้านบนสุดเป็นเจดีย์ใหญ่ทรงดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ ก่อด้วยอิฐศิลาแลง ส่วนบนเป็นศิลาแลง ถัดมาเป็นเจดีย์รายเล็ก 3 องค์ ถัดมาเป็นวิหาร 4 ด้านท้ายสุดคล้ายที่ตั้งบุษบก เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท สมัยและวัฒนธรรมเขานางทอง พบว่า เป็นเมืองโบราณทางประวัติศาสตร์ในสมัยพญาลิไท ท่านทรงเห็นความสำคัญของเมืองพานจึงสร้างรอยพระพุทธบาทบนยอดเขานางทอง วัฒนธรรมเขานางทองได้เริ่มตั้งเป็นเมืองสุโขทัย อาณาจักรที่ตั้งอยู่ได้นานเกือบ 2000 ปีดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกันและสร้างวัฒนธรรมไว้มากมายในยุคสุโขทัย

บรรณานุกรม[แก้ไข]

    กรมศิลปากร. (2511). ภาพการแต่งกายในสมัยสุโขทัย. เข้าถึงได้จาก https://sites.google.com/a/longwittaya.ac.th/chud-thiy2/kar-taeng-kay-smay-pra-wati-sa-str/smay-sukhothay
    กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2563). แหล่งข้อมูลประวัติเขานางทอง. เข้าถึงได้จาก https://www.thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/
    ชิน อยู่ดี. (2556). การแต่งกาย. พิษณุโลก: สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยนเรศวร.
    ธิดาภรณ์ คำริน. (2559). ศิลปวัฒนธรรมสมัยกรุงสุโขทัย. เข้าถึงได้จาก https://sites.google.com/site/sukhothaipkkpp/silp-wathnthrrm-smay-krung-sukhothay
    นิรุตย์ กึ่ม ชอบพิมาย. (2558). ภูมิปัญญาสมัยสุโขทัย. เข้าถึงได้จาก https://sites.google.com/site/sukhothaipkkpp/silp-wathnthrrm-smay-krung-sukhothay-/ 
    มนตรี ตราโมท. (2557). ดนตรีไทย. กรุงเทพมหานคร: สำนักหอสมุดแห่งชาติ.
    วีสปอร์ต กำแพงเพชร. (2563). ตำนานเขานางทอง. เข้าถึงได้จาก https://www.thailandtourismdirectory.go.th/th/info/attraction/detail/itemid/ 
    ศิลปวัฒนธรรม. (2561). ศิลาจารึกหลักที่ 1 สมัยสุโขทัย. เข้าถึงได้จาก https://www.silpa-mag.com/history/article_2203
    สันติ อภัยราช. (2559). สารคดีโทรทัศน์ วัฒนธรรม จังหวัดกำแพงเพชร : ตอน อำเภอพรานกระต่าย. กำแพงเพชร: ม.ป.พ.
    อารยธรรมขอม. (2012). การแต่งกายชายหญิงของคนเมืองพานในสมัยก่อน. เข้าถึงได้จาก https://sites.google.com/site/sciencemath5012559/xanacakr-khxm