เพลงกล่อมเด็กนครไตรตรึงษ์

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         เพลงกล่อมเด็ก เป็นบทเพลงที่จัดอยู่ในเพลงพื้นบ้านโดยมีจุดประสงค์ใช้ร้องกล่อมเด็ก หรือปลอบเด็ก เพื่อให้เด็กนอนหลับ การร้องเพลงกล่อมเด็กมักสืบทอดกันด้วยวิธีการจดจำจากรุ่นสู่รุ่น เป็นส่วนหนึ่งของวรรณกรรมมขุปาฐะ โดยใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดที่สำคัญส่วนเนื้อหาและท่วงทำนองจะแตกต่างกัน ตามลักษณะท้องถิ่นนั่น ๆ เช่น เพลงกล่อมเด็กในภาคเหนือเรียก “เพลงอื่อลูก” ภาคอีสานเรียก “เพลงนอนสาหล่า” “เพลงนอนสาเดอ” ภาคกลางเรียก “เพลงกล่อมเด็ก” “เพลงกล่อมลูก” ภาคใต้ เรียก “เพลงชาน้อง” “เพลงร้องเรือ” เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าท้องถิ่นใดล้วนมีลักษณะเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านที่มีบทบาทและหน้าที่แสดงเอกลักษณ์ของแต่ละชุมชน บทความมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ประวัติความเป็นมา 2) ฉันทลักษณ์เพลงกล่อมเด็ก 3) วิเคราะห์เพลงกล่อมเด็กตำบลไตรตรึงษ์ และ 4) การอนุรักษ์และรักษาเพลงกล่อมเด็ก

คำสำคัญ: เพลงกล่อมเด็ก, ตำบลไตรตรึงษ์, เพลงกล่อมเด็กไตรตรึงษ์

ประวัติความเป็นมาของเพลงกล่อมเด็[แก้ไข]

         เรื่องราวเฉพาะเกี่ยวกับเพลงกล่อมเด็กของตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร พบว่า มีมาดั้งเดิมแต่ครั้งอดีตโดยผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาช้านาน โดยเพลงที่ร้องกล่อมนั้นสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกของคนไทยในแถบภาคกลางสะท้อนความเป็นอยู่ ความเชื่อ วิธีคิดตลอดจนโลกทัศน์ของชาวบ้านไตรตรึงษ์ ได้เป็นอย่างดี บทเพลงกล่อมเด็กเป็นเพลงที่ใช้คำง่าย ๆ ไพเราะ ใช้ภาษาในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ มีเนื้อหาแสดงความรักและความผูกพันของแม่กับลูก สะท้อนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ทางวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกของคนไทยที่ให้เด็กนอนเปลสาย โดยแม่หรือคนในครอบครัวขับร้องเพลงกล่อมมีทั้งขู่ ทั้งปลอบ และร้องเล่านิทาน เพื่อให้เด็กเพลิดเพลินนอนหลับได้เร็วขึ้น บทเพลงที่ร้องนั้นช่วยกระตุ้นพัฒนาการและช่วยอบรมกล่อมเกลาเด็กมาแต่เยาว์วัย และสามารถช่วยให้เกิดความรักความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ได้เป็นอย่างดี อีกประการหนึ่งจะเห็นว่าในการดำเนินชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของสังคมไทยตั้งแต่เกิดจนตายมักจะเกี่ยวข้องกับบทร้องที่เป็นกาพย์กลอนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพลงกล่อมเด็ก เพลงการละเล่นของเด็ก เพลงทำขวัญนาค และเพลงกล่อมหอ เป็นต้น (สุวรรณี ทองรอด, 2551, หน้า 5) แสดงให้เห็นว่า เป็นประวัติที่มีมาแต่เนิ่นนานสืบทอดกันมารุ่นสู่รุ่นจึงไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนแต่งขึ้น ฉะนั้นผู้เขียนจึงค้นคว้าข้อมูลที่มีจากตำบลไตรตรึงษ์ แล้วได้รู้ว่ามีเพลงกล่อมเด็กมากถึง 28 เพลง แล้วแต่ละเพลงมีความแตกต่างกัน โดยแต่ละเพลงมีทั้งการขู่ให้กลัวการเพลินเพลินแล้วแต่สถานการณ์ เพื่อสอนให้รู้ถึงความหมายของเพลง
         ในด้านเพลงกล่อมเด็กที่ปรากฏในภาคกลางนั้น ถือว่าเป็นที่รู้จักแพร่หลาย และมีการบันทึกไว้เป็นหลักฐานมากกว่าภาคอื่น ๆ นับว่าสะดวกและเป็นประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าเป็นอย่างยิ่ง สำหรับในพื้นที่ภาคกลางนั้น จะเห็นได้ว่าวิถีชีวิตของผู้คนมีความเกี่ยวข้องและผูกพันกับ เพลงกล่อมเด็กมาช้านานจากหลักฐานที่ปรากฏพบว่าในพื้นที่ตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมริมแม่น้ำปิงที่มีวิถีชีวิตบทเพลงต่าง ๆ การละเล่นพื้นบ้านความเชื่อวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน รวมไปถึงบทเพลงกล่อมเด็กที่เคยมีผู้ศึกษาและเก็บข้อมูล ไปแล้วจำนวนหนึ่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 (พูนพงษ์ งามเกษม, ม.ป.ป. อ้างถึงใน สุวรรณี ทองรอด, 2551 หน้า 2) หากแต่สภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์และการไหล่บ่าของข้อมูลสารสนเทศยุคปัจจุบัน ทำให้เพลงกล่อมเด็กดั้งเดิมซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นค่อย ๆ เลื่อนหายไปจากสังคมไทย จากงานวิจัยเรื่อง “ความเชื่อและค่านิยมในการอบรมเลี้ยงดูเด็กไทยพื้นที่ 4 ภาค ของประเทศไทย” พบว่าเพลงกล่อมเด็กได้หายไปจากกระบวนการเลี้ยงดูเด็กไทย โดยอาจพบหลงเหลือบ้างในบางภูมิภาคแต่เนื้อร้องก็ผิดเพี้ยนไปมาก ส่วนในกรุงเทพมหานครแทบจะไม่พบ การกล่อมเด็กด้วยเพลงดั้งเดิมเลย จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอาจกล่าวได้ว่า แนวโน้มของผู้ที่ร้องเพลงกล่อมเด็ก หรือใช้เพลงกล่อมเด็กเป็นเครื่องมือในการเลี้ยงดูบุตรมีอัตราลดลงกว่าในสมัยก่อนมาก ทั้งนี้อาจมาจากปัจจัยภายนอก เช่น พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูบุตรคนรุ่นปัจจุบันไม่คุ้นเคยกับเนื้อร้องเพลิงกล่อมเด็กแบบดั้งเดิม ตลอดจนความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นต้น จึงทำให้น่าวิตกว่าหากไม่มีการสืบทอดเพลงกล่อมเด็กไปสู่คนรุ่นหนุ่มสาวในปัจจุบัน แล้วคนในรุ่นลูกหลานต่อไปอาจไม่รู้จักเพลงกล่อมเด็กแบบดั้งเดิมเลยก็เป็นได้ และอาจส่งผลกระทบต่อระบบความคิด ความเชื่อ และโลกทัศน์ของคนในชุมชนท้องถิ่น (สุวรรณี ทองรอด, 2551, หน้า 2) ผู้เขียนได้เลือกเพลงกล่อมเด็กของตำบลไตรตรึงษ์มา เพราะเป็นเพลงที่เข้าใจง่ายฟังสบายเพลิดเพลิน มีท่วงทำนองไพเราะและที่สำคัญเหมาะกับการกล่อมเด็ก ที่ผมเลือกทำงานวิจัยนี้เพราะอยากรักษาวัฒนธรรมของเพลงกล่อมเด็กเอาไว้ ด้วยเนื้อหาเพลงกล่อมเด็กมีให้ฟังทั่วประเทศไทย
         การศึกษาเพลงกล่อมเด็กของตําบลไตรตรึงษ์ จากการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 พบว่า มีเพลงกล่อมเด็กจํานวนทั้งสิ้น 28 เพลง ผลการศึกษาวิเคราะห์พบว่า เพลงกล่อมเด็กที่ปรากฏนั้นไม่มีรูปแบบคําประพันธ์ตายตัว มีสัมผัสคล้องจองมากบ้างน้อยบ้าง ส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายกับกลอนทั่วไป มีสัมผัสระหว่างวรรค ใช้ถ้อยคําเรียบง่าย ไม่มีทํานอง ตายตัว ในส่วนความยาวของเพลงแต่ละเพลงมีไม่เท่ากัน กําหนดแน่นอนไม่ได้ ผู้ร้องอาจขยายออกไป ได้เรื่อยๆ หรือตัดให้สั้นเข้าก็ได้ โดยมีคําเห่กล่อมแทรกเป็นระยะ เช่น เอย เอ๊ย เอเอ้ โอละเห่ เป็นต้น (สุวรรณี ทองรอด, 2551, ออนไลน์) ทั้งนี้เพลงกล่อมเด็กไตรตรึงษ์นั้น มีทำนองที่ไพเราะ ไม่มีรูปแบบคำประพันธ์ตายตัว ใช้ถ้อยคำที่เรียบง่าย มีสัมผัสคล้องจอง เหมาะสมกับเด็ก เพื่อทำให้นอนหลับ สมกับเป็นเพลงกล่อมเด็ก เพลงกล่อมเด็กนั้นทำให้ได้รู้ถึงของบทเพลงที่มีมาแต่เนิ่นนาน  ทำให้เหมาะสมแก่การรักษาต่อไป
         การศึกษาประวัติความเป็นมาของตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พบว่าเมืองไตรตรึงษ์เป็นท้องถิ่นที่ตั้งของเมืองโบราณที่มีอยู่จริงและเป็นเมืองสำคัญมาตั้งแต่สมัยทวารวดี คือ เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 15 และมีร่องรอยของความเจริญทั้งในสมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา จวบจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการปรากฏหลักฐานจากโบราณสถานอย่างชัดเจน เช่น เจดีย์วัดพระธาตุ เจดีย์วัดเจ็ดยอด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ได้เสด็จประพาสเมื่อ พ.ศ.2449 และมีพระราชวินิจฉัยถึงประวัติความเป็นมาและลักษณะของศิลปกรรมไว้ในจดหมายเหตุเสด็จประพาสต้นครั้งที่ 2 ในครั้งนั้น (สันติ อภัยราช, 2551, หน้า 26) ไตรตรึงษ์นั้นเป็นเมืองเก่า เป็นที่ตั้งถิ่นฐานสำคัญของเมืองโบราณ จึงได้รู้ประวัติอย่างเห็นได้ชัด มีทั้งร่องรอยการค้นพบต่าง ๆ เพราะฉะนั้นผู้เขียนจึงได้รวบรวมและศึกษาข้อมูลของเพลงกล่อมเด็กตำบลไตรตรึงษ์นี้ ว่ามีเรื่องราวของเพลงกล่อมเด็กที่สำคัญต่อตัวผู้เขียนและคนอื่น

ฉันทลักษณ์และเพลงกล่อมเด็กไตรตรึงษ์[แก้ไข]

         สุวรรณี  ทองรอด (2551) เพลงบทเพลงกล่อมเด็กทั้ง 28 เพลง 

1. เพลงลิ้นทอง

เอ.. เฮ.. เฮย แม่จะกล่าวถึงเรื่องราวลิ้น ทองเอย
ชายมีเมียสอง รักเมียเอย ไม่เท่ากัน
เมียหลวงจะตีด้วยท่อนอ้อย.. เอย
เมียน้อยจะตีด้วยท่อนจันทร์.. เอย
รักเมียไม่เท่ากัน .. เอย
บาปนั้น เอย.. มาถึงตัว

2. เพลงนางประทุม

แม่จะขอกล่าวเรื่องราวเอย.. นางประทุมรูปสวยรวยละลุ่มเอย..
เจ้าเกิดในพุ่มบุษบา ฤๅษีเลี้ยงไว้เติบใหญ่ขึ้นมา
ฤๅษีไปป่านางก็ร้อยพวงมาลัย ลอยแก้ว..ลอยแก้ว..
นางแก้วก็พิษฐานไปเนื้อคู่อยู่ที่ไหน ให้พวงมาลัยสวมคอ..เอย
ให้มาร่วมฟูกร่วมหมอน มาร่วมที่นอนกับนาง

3. เพลงนางชะนี

โอ้ชะนีมือเหนียวเอย ..มือเหนี่ยวกิ่งพฤกษา พบเพื่อนแล้วก็พากันมากินผล.. เอ่ย
บ้างก็ห้อยโหนโยนราวแสวงหาลูกไม้ ฤาเอามาต้องกินลูกไม้ป่าเอย
ไม่ได้ทำไร่ทำนาก็เป็นเหมือนคน บ้างก็ขึ้นต้นไทรไกวตัวเอิง..เอย
ร้องเรียกหาผัวอยู่อลวน ฮือ มุนีฤาษีท่านประทาน อือ เอย
ให้เยาวมาลย์มากับผัวตน นางได้มากับผัว... เอิงเอย
นางมาคิดชั่วชาติที่แสนกล คิดฆ่าผัวตัวเสียเอิงเอย
หล่อนจะยอมเป็นเมียพวกโจร พอผัวสิ้นชีวิต คิดแล้วทางนี้เอย
ไอ้โจรมันก็หนีทิ้งไปกลางหน เลยเขาสาปตัวแม่นางโมรา
เศร้าโศกาอยู่กระสับกระสน เห็นพระอาทิตย์ระบายสี...เอย
สำคัญว่าเลือดสามี นางก็รํ่าบ่นตัวของแม่ชะนีเอย
ว่าเดิมทีเอ๋ยเป็นคน

4. เพลงวัดโบสถ์ (1)

เอ เฮ้ย ฮา วัดเอ๋ยวัดโบสถ์..เอย มีต้นโตนดอยู่เจ็ดต้น ฮือ
พ่อขุนทองไปปล้น..เอย ป่านฉะนี้แล้วไม่เห็นมา
เขารํ่าลือมา..เอย ว่าขุนทองเอย..ตายแล้ว
เหลือแต่กระดูกให้ลูกแก้ว..เอย เมียรักเอยจะไปปลง ฮือ
ศพเอ๋ยพ่อขุนทอง คดข้าวใส่ห่อ เอย ถ่อเอ๋ยเรือมา ฮือ
ลุงอินนี้ถือถาด..เอย ยกกระบัตรเอยท่านถือธง
ถือท้ายเรือหงส์..เอย ปลงศพเอ๋ยพ่อขุนทอง
เรือไปล่มที่ท่าสิงห์..เอย ไปปีนขึ้นได้เอ๋ยที่ท่าทอง
เสียข้าวเสียของ..เอย เสียเงินเสียทอง เอ๋ยก็ไม่คิด
เสียปลาสลิด.. เอย ติดท้ายเรือไป

5. เพลงเจ้างามประเสริฐ

งามเอ๋ย เจ้างาม นะประเสริฐเอย ขวัญเจ้าแม่เถิดนะแม่ยามยาก
น้ำอ้อยหรือน้ำ ตาล เอย แม่มิได้พาน ฮือ หนอพบปะ.. เอย
ความยากนะ แม่คุณ ..เอย

6. เพลงเนื้อเย็น (1)

เนื้อเอ๋ยเนื้อเย็นเอย ไม่ไม่ให้ไปเล่นเอ๋ยในน้ำ
จระเข้เหรา มันจะพาเข้าถ้ำ ..เอย มันจะพาระกำ เอ๋ย แม่คุณ

7.เพลงเนื้อเย็น (2)

เอยหนอ เจ้าเนื้อ เย็นเอย แม่มิให้ลูกไปเล่น.. เอย
ในท้องคลองน้ำ มันมากนะ มันจะพาเจ้าลอยล่อง.. เอย
ท้องคลองนะแม่คุณ เอ เฮ้ เอ๋ย โอ เห่

8. เพลงแม่เนื้ออุ่น (1)

เนื้อ เอย หนอ เนื้อ อุ่น.. เอย เมื่อไรเจ้าจะมีบุญหนอ แม่จะได้พึ่ง ฮือ
เมื่อเจ้าตกยาก ฮือ ลงไป ไม่มีใครจะครวญถึง..เอย
เอวกลึงนะแม่คุณ เอ เฮ่ เอย โอ เห่

9. เพลงแม่เนื้ออุ่น (2)

แม่เนื้ออุ่นเอย.. เนื้อเจ้าละมุนเหมือนสำลี
แม่ไม่ให้ใครมาแตะต้อง กลัวจะหมองศรีเอย
คนดีนะแม่คุณ

10. เพลงแม่เนื้ออ่อน (1)

เนื้อเอยเนื้ออ่อนเอย ไม่หลับไม่นอนหรือจะคอยใคร
ญาติวงศ์หรือพงศาเอย.... ของแม่ จะมาหนอทางไหน เอย ..คอยใครเล่าแม่คุณ

11. เพลงแม่เนื้ออ่อน (2)

แม่เนื้ออ่อน เอย อ้อนแม่ เธอจะนอน ฮือ วันฮือ นอนหลับนอนไหล เอย
นอนไปหนอนาน ๆ ตื่นขึ้นมา แม่จะรับขวัญ เอิง เอย นอนวัน ฮือ นะ แม่คุณ

12. เพลงเจ้าร้อยชั่ง

เจ้าร้อยชั่ง..เอย แม่จะชั่งเจ้าด้วยน้ำรัก..เอย
ชั่งเอย.. เงินหนอชั่งทอง มาสักสองสามรับ..เอย
ยังไม่เท่าลูกรักเอย ของแม่คนเดียว เอ ..เฮ..เฮ้

13. เพลงบุญชู

โอละเห่ เอย เห่ เจ้าร้อยชั่ง หนอบุญชูเอย
บุญแม่ยังอยู่ลูกเอย จะครื้น เครง ฮือ
สิ้นบุญน้อยของแม่หนอหาไม่ เด็กเลี้ยงควายมันจะหนอ กุมเหง เอย
จะครื้นเครงเอย.. ก็ไม่มี

14. เพลงวัดนอก

วัดเอยวัดนอก.. เอย มีแต่ดอกเอ๋ยแคแดง
ตกตํ่าก็ยิ่งแพง.. เอย สาวน้อยจะห่ม.. เอย สีชมพู
เจ้าก็มีผัวแล้ว.. เอย จะแต่งไปให้เอย..หนอ.. ใครดู
แต่งตัวไปล่อชู้.. เอย เขารู้กันเสียเต็มใจ ..เอย

15. เพลงระลอก

เอ.. ระลอกเอยพัดมา ดังจ๊อก..เอย ระลอกก็ซัดเอย ให้แรง
พัดพ่อ พัดแม่ เอย ยังจะไว้..เอย เอาบุญใหญ่หน้าถ้าแข็ง เอย
มีเรี่ยว มีแรง.. เอย จะแทนคุณ ยังไม่ไว้เอาบุญเอย.. แทนคุณเอย
แม่เอย .. เอ เฮ้

16. เพลงแมวเหมียว

เอ.. เอ้.. เอ้ .. แมวเอ๋ยแมวเหมียว แยกเขี้ยวยิงฟัน
เสือปลาหน้าสั้น กัดกันเอย เอ.. เอ้

17. เพลงค้างคาว

โยนยาวเอ๊ย ค้างคาวกินกล้วย
มารับน้องไปด้วย ไปช่วยกันโยนยาวเอ๋ย เอ เฮ้

18. เพลงตุ๊กแก

ตุ๊กแกเอย.. นอนไม่หลับ
ตุ๊กแกกินตับ เสียทีหวา เอ เอ.. เอ้

19. เพลงคล้องช้าง

เอ.. เฮ้ย วันเอ๋ยวันนี้เอย แม่ว่าเอย..จะไปคล้องช้าง
ข้ามห้วยบึงบาง ข้ามเขาพนมทอง
คล้องช้างนี่มาได้เอย แม่ใส่ไว้เอย...ที่ในซอง
เกี่ยวหญ้านี่มากองเอย ช้างน้อยเอ๋ย..ก็ไม่กิน
ยกเอยงวงขึ้นพาดงาเอย น้ำตาก็ไหลเอ๋ย..อยู่ริน..ริน
ช้างน้อยก็ไม่กินเอย เพราะคิดถึงถิ่นเอย..มารดา

20. เพลงวัดโบสถ์ (2)

วัดเอ๋ยนะวัดโบสถ์.. เอย มีแต่ข้าวโพด เอย สาลี
เห็นลูกเขยตกยาก.. เอย แม่ยายก็พรากลูกสาวหนี
เหลือแต่ข้าวโพดสาลี.. เอย ตั้งแต่วันนี้ก็โรย ฮือ รา

21. เพลงนกกาเหว่า

นกเอ๋ยนกกาเหว่าเอย ไข่ให้เอ๋ยแม่กาฟัก
แม่เอ๋ยกาหลงรักเอย ฟักไข่เอ๋ยในอุทร
คาบเอ๋ยเอาข้าวมาเผื่อเอย แม่คาบเอาเหยื่อเอ๋ยมาป้อน
ช้อนน้ำมาให้ลูกกินเอย สอนบินเอยนะแม่คุณ
ปีกหางเจ้าก็ไม่กล้าแข็งเอย อย่าเพิ่งท้อแม่จะสอนบิน
พาลูกไปหากินเอย ตามฝั่งเอ๋ยแม่คงคา
ปีกบินก็เหยียบแต่ปลายไร่เอย ปากเจ้าก็ไซร้เอ๋ยจะหาปลา
นายพรานก็ยกปืนขึ้นส่องเอย ด้อมมองเอ๋ยจะยิงแม่กา
ยิงโป้งก็ตายคว่ำเอย มาตายตรงน้ำเสียแล้วนะแม่กา

22. เพลงนกเขา (1)

นกเขา เอย ขันตะเช้า เอ๋ยจนเย็น ขันให้มันหนอดัง ดัง เอย
แม่จะฟังแต่เสียงเล่น เอย เสียงเย็นนะ แม่ (พ่อ) คุณ

23. เพลงนกเขา (2)

นกเขาฝอยเอย ข้ามมาหย่อย เอ๋ยนาหลัง
นกเขาครั่งเอย แม่จะขังเจ้าเข้าไว้ หนอในกรง
เก็บแต่ดอกจำปี หนอจำปา กาหลงเอ๋ยมาแซมผม เอย เจ้านอน เอเฮ้

24. นกขมิ้น

นกขมิ้นเหลืองอ่อนเอย ค่ำแล้วเจ้าจะนอนที่ไหนเอย
นอนไหนก็นอนได้ สุมทุมพุ่มไม้ก็เคยนอน

25. เพลงขนมลูกโยน

โยน โย้น โย้น ขนมลูกโยน โยนเข้ากอไผ่
ช้างงาเล็ก เจ็กงาใหญ่ เก็บดอกไม้
บูชาบาล ผัวทำงาน เมียเล่นชู้
จับไม้กระทู้ ไปล้อมรางเป็ด ไปล้อมรางไก่
แม่อีโหลง แม่อีไหล ตะพายข้าวแช่
ไม่บอกกับแม่ ว่าจะไปเมืองไหน ไปเมืองพลับ
ลูกเขยเลยจับ ไปรับพ่อตา พ่อตากูมาแล้วเหวย
ลูกเขยกูมาแล้ววา อ้ายแก้วกางกา กอดเมียกลางวัน
ลุกขึ้นไก่ขัน ตะวันแดงแจ๋

26. เพลงโยทิง

โยทิง โยนช้า ทำนาหนองไหน ทำนาหนองไอ้เข้โอ้
ขี่ช้างงาโตไปซดหญ้าก่อง ลูกโด่เต็มท้องออกลูกเป็นพัน
ขนมทอดมันขายอันละสิบเบี้ย ไปซื้อไก่เตี้ยมาแลกตุ่นโพ
ขโมยโอ๊กโอ๊กลักโถกูไป กูจับตัวได้เสียเมืองพริกที
หน้าแข็งเป็นฝีจมูกเป็นไฝ ไปตัดห่อไม้ หน่อไม้ไม่กลัว
ไปหักสายบัวเป็นหัวระประกาย ไอ้เชิงมันลาย จมูกมันงอน
ไอ้เมื่อมันนอนมันนอนใต้ไม้ ไอ้เมื่อมันไปไม่รู้ใต้ไม่รู้เหนือ

27. เพลงสู้ควาย

เล..เล่..เล อ้ายเลขุนปลัด ขนทรายเข้าวัด
นัดกันเล่นควาย ควายมึงควายกู
เข้าสู้ด้วยกัน ควายใครแพ้
ด่าแม่เจ้าของมัน เล..เล่..เล

28. เพลงโอ้ละทึก

โอ้ละเห่ เอ๋ยเห่ โอละทึก ฮือ ลุกแต่ดึก ฮือ เอย.. ทำขนมหม้อแกง
ไอ้ผัวก็ด่า นางเมียก็แช่ง เอิงเอย ขนมก็คาหม้อแกง
         พบว่าฉันทลักษณ์แบ่งเป็น กลอนแปด 14 เพลง กลอนดอกสร้อย 3 เพลง กลอนหก 1 เพลง กลอนสี่ 4 เพลง กลอนสุภาพ 6 เพลง รวมทั้งหมด 28 เพลง

การศึกษาวิเคราะห์เพลงกล่อมเด็กไตรตรึงษ์[แก้ไข]

         จากการสัมภาษณ์ คุณแม่สุขศรี สิทธิ พบว่า เพลงกล่อมเด็กของตําบลไตรตรึงษ์จํานวน 28 เพลง มีเนื้อหาใกล้เคียงกับเพลงกล่อมเด็กของภาคกลาง ทั้งนี้คุณแม่สุขศรี สิทธิ ได้แบ่งประเภทเนื้อหาตามลักษณะและมุมมองหลากหลายกันออกไป และได้จําแนกประเภทเนื้อหาตามลักษณะของเพลงกล่อมเด็กที่ปรากฏดังต่อไปนี้
         เรื่องราวเกี่ยวกับวรรณกรรมนิทาน ในบางบทเพลงนั้นได้เค้าโครงเรื่องมาจาก เรื่องราวจักร ๆ วงศ์ ๆ หรือเรื่องเล่า - นิทานพื้นบ้าน โดยเนื้อหาดังกล่าว พบว่ามีจํานวน 4 เพลง ได้แก่  
            1) เพลงลิ้นทอง 
            2) เพลงนางประทุม
            3) เพลงนางชะนี
            4) เพลงวัดโบสถ์ (1)
         นอกจาก 4 เพลง นี้แล้ว ยังมีเพลงเกี่ยวกับการแสดงความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก เป็นการแสดงถึงความเอื้ออาทร การเอาอกเอาใจ การดูแลเอาใจใส่ รวมถึงการปลอบใจเด็กเพื่อให้รู้สึกอุ่นใจ สังเกตคําที่ใช้เรียกแทนตัวลูกในบทกล่อม มักจะใช้คําว่า เจ้าเนื้ออ่อน เจ้าเนื้อนิ่ม เจ้าเนื้อเย็น แม่เนื้ออุ่น เจ้างาม เจ้าร้อยชั่ง เจ้าประเสริฐ เป็นการบ่งบอกถึงความเอ็นดูรักใคร่และทะนุถนอม โดยเนื้อหาดังกล่าว พบว่ามีจํานวน 8 เพลง ได้แก่
            1) เพลงเจ้างามประเสริฐ 
            2) เพลงเนื้อเย็น (1) 
            3) เพลงเนื้อเย็น (2) 
            4) เพลงแม่เนื้ออุ่น (1) 
            5) เพลงแม่เนื้ออุ่น (2) 
            6) เพลงแม่เนื้ออ่อน (1)
            7) เพลงแม่เนื้ออ่อน (2)
            8) เพลงเจ้าร้อยชั่ง
         เพลงกล่อมเด็กเกี่ยวกับการขู่เพื่อให้เด็กเกิดความกลัว เป็นการอบรมหรือสั่งสอนเด็กในทางอ้อมที่ใช้จิตวิทยาการบอกถึงสัตว์ที่น่ากลัว ดุร้าย มีเขี้ยวเล็บ เช่น แมวเหมียว ค้างคาว ตุ๊กแก เป็นต้น เพื่อขู่ให้เด็กเชื่อฟังและนอนหลับในที่สุด โดยเนื้อหาดังกล่าว พบว่ามีจํานวน 3 เพลง ได้แก่ 
            1) เพลงแมวเหมียว
            2) เพลงค้างคาว 
            3) เพลงตุ๊กแก
         นอกจากการปลอบขวัญแล้วยังมีเพลงที่ทําให้เกิดความเพลิดเพลิน เป็นการใช้ท่วงทํานองและเนื้อหาที่เป็นการปลอบประโลม ในขณะเดียวกันก็เกิดความสนุกสนาน เมื่อฟังแล้วเกิดความเพลิดเพลิน โดยหยิบยกสิ่งที่เห็นได้ทั่วไปในธรรมชาติหรือในชีวิตประจําวัน เช่น การละเล่นพื้นบ้าน ช้างน้อย นก กาเหว่า นกเขา นกขมิ้น เป็นต้น โดยเนื้อหาดังกล่าว พบว่ามีจํานวน 8 เพลง ได้แก่
            1) เพลงคล้องช้าง 
            2) เพลงวัดโบสถ์ (2) 
            3) เพลงนกกาเหว่า 
            4) เพลงนกเขา (1) 
            5) เพลงนกเขา (2)  
            6) เพลงนกขมิ้น 
            7) เพลงสู้ควาย 
            8) เพลงโยทิ้ง (สุวรรณี ทองรอด, 2551, ออนไลน์)
         ดังนั้นผู้เขียนจึงได้รู้ว่าบทเพลงกล่อมเด็กนั้น หากเป็นการร้องกล่อมในเวลากลางคืนจะแตกต่างจากการร้องกล่อมทั่วไปในเวลากลางวัน นั่นคือ การร้องกล่อมในเวลากลางคืนจะไม่นิยมใช้เพลงที่จังหวะช้าเนิบ เสียงเย็น ๆ เสียงโหยหวนและเสียงนุ่มนวล โดยมาจากความเชื่อเกี่ยวกับการห้ามร้องเพลงในเวลากลางคืน ซึ่งบางถิ่นเชื่อว่าเป็นการเรียกสิ่งชั่วร้าย ภูตผีปีศาจเข้าบ้าน

การรักษาและอนุรักษ์วัฒนธรรมเพลวกล่อมเด็กไตรตรึงษ์[แก้ไข]

         จากการสัมภาษณ์ คุณแม่สุขศรี สิทธิ พบว่า ด้วยเรื่องราวของเพลงกล่อมเด็กที่มีมาแต่ช้านานเป็นที่สืบทอดต่อมากันเป็นรุ่น ๆ ซึ่งมีการใช้กันน้อยมากแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ร้องกันทุกบ้าน ในตอนนี้มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาไม่ว่าจะเป็นยูทูป อื่นๆ เป็นต้น ได้ทำให้คนในยุคนี้ได้ลืมเพลงกล่อมเด็กลงไปผู้เขียนจึงอยากให้มีการใช้เพลงกล่อมเด็กกันมากขึ้นจึงทำบทความนี้ขึ้นมาเพื่อรักษาและอนุรักษ์เพลงกล่อมเด็กไตรตรึงษ์นี้ไว้ ดังนั้ผู้เขียนจะนำข้อมูลที่หามาได้ทั้งหมดไปสืบทอดไปยังรุ่นสู่รุ่นเพื่อรักษาวัฒณธรรมของเพลงพื้นบ้านให้สืบทอดต่อไป

บทสรุป[แก้ไข]

         จากการศึกษาเรื่องเพลงกล่อมเด็กนครไตรตรึงษ์ จังหวัดกำแพงเพชร บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ประวัติความเป็นมา พบว่า เรื่องราวเฉพาะเกี่ยวกับเพลงกล่อมเด็กของตำบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมืองจังหวัดกำแพงเพชร มีมาดั้งเดิมแต่ครั้งอดีตโดยผูกพันกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนมาช้านาน โดยเพลงที่ร้องกล่อมนั้นสามารถสะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกของคนไทยในแถบภาคกลางสะท้อนความเป็นอยู่ ความเชื่อ 2) ฉันทลักษณ์เพลงกล่อมเด็ก พบว่า ฉันทลักษณ์แบ่งเป็นกลอนแปด 14 เพลง กลอนดอกสร้อย 3 เพลง กลอนหก 1 เพลง กลอนสี่ 4 เพลง กลอนสุภาพ 6 เพลง รวมทั้งหมด 28 เพลง 3) วิเคราะห์เพลงกล่อมเด็กตำบลไตรตรึงษ์ พบว่า เนื้อหามีความใกล้เคียงกันกับเพลงกล่อมเด็กของภาคกลางทั้งนี้ได้แบ่งประเภทเนื้อหาตามลักษณะและมุมมองอันหลากหลายกันออกไป และได้จําแนกประเภทเนื้อหาตามลักษณะของเพลงกล่อมเด็ก และ 4) การอนุรักษ์และรักษาเพลงกล่อมเด็ก พบว่า จากการสัมภาษณ์ ครูสุขศรี สิทธิ ว่าด้วยเรื่องราวของเพลงกล่อมเด็กที่มีมาแต่ช้านานเป็นที่สืบทอดต่อมากันเป็นรุ่น ๆ ซึ่งมีการใช้กันน้อยมากแตกต่างจากเมื่อก่อนที่ร้องกันทุกบ้าน ในตอนนี้มีสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาไม่ว่าจะเป็นยูทูป อื่นๆ เป็นต้น ดังนั้นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมริมแม่น้ำปิงที่มีวิถีชีวิตบทเพลงต่าง ๆ และปรากฏนั้น ไม่มีรูปแบบคำประพันธ์ตายตัว มีสัมผัสคล้องจองมากบ้างน้อยบ้าง ส่วนใหญ่มีลักษณะคล้ายกับกลอนทั่วไป มีสัมผัสระหว่างวรรค ใช้ถ้อยคำเรียบง่าย ไม่มีทำนองตายตัว ในส่วนความยาวของเพลงแต่ละเพลงมีไม่เท่ากัน กำหนดแน่นอนไม่ได้ ผู้ร้องอาจขยายออกไปได้เรื่อย ๆ ทั้งนี้ ได้รู้และเข้าใจในเนื้อหาเพื่อนำมาศึกษาและอนุรักษ์ให้สืบทอดต่อไป
ภาพที่ 1 คุณแม่สุขศรี สิทธิ.jpg

ภาพที่ 1 คุณแม่สุขศรี สิทธิ

ภาพที่ 2 หนังสืออ่านเพิ่มเติม.jpg

ภาพที่ 2 หนังสืออ่านเพิ่มเติม

บรรณานุกรม[แก้ไข]

สันติ อภัยราช. (2551). นครไตรตรึงษ์. กำแพงเพชร: สภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชร
สุวรรณี ทองรอด. (2551). การศึกษาวิเคราะห์เพลงกล่อมเด็กตําบลไตรตรึงษ์ อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร (รายงานวิจัย). โรงพิมพ์: กำแพงเพชร