ไม้กวาดบ้านบ่อแก้ว ตำบลพานทอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร

จาก KPPStudies
ไบยังการนำทาง ไปยังการค้นหา

บทนำ[แก้ไข]

         บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และของที่ระลึก กรณีศึกษา ไม้กวาดบ้านบ่อแก้ว ตำบลพานทอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร โดยธรรมชาติของมนุษย์ได้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันที่อาศัยอยู่ในถ้ำเพื่อใช้เป็นที่กันแดดกันฝน แต่การอาศัยอยู่ในถ้ำนาน ๆ และมีลูกมีหลานจำนวนมากขึ้น จึงทำให้ที่อยู่อาศัยของมนุษย์ไม่สะดวก เนื่องจากภายในถ้ำมีพื้นที่จำกัด จึงได้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายนอกถ้ำขึ้น โดยการดัดแปลงนำเอาวัตถุดิบในท้องถิ่นมาทำการปลูกเป็นกระท่อมหรือบ้านเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งการดัดแปลงที่อยู่อาศัยนั้นก็ได้ดัดแปลงนำเอาวัตถุดิบในท้องถิ่นนำมาผูกเป็นกำ ๆ เป็นไม้กวาดสำหรับทำความสะอาดพื้น และบริเวณบ้านด้วย เนื่องจากระยะแรก ๆ ในการปลูกสร้างที่อยู่อาศัยมนุษย์ต้องอาศัยอยู่บนพื้นดิน การทำไม้กวาดสำหรับกวาดนั้นจึงใช้วัสดุที่มีลำต้นที่แข็งและเหนียว เช่น กิ่งไผ่, ต้นพืช, ก้านต้นพืช เป็นต้น ต่อมามนุษย์ได้ดัดแปลงที่อยู่อาศัยโดยการยกพื้นขึ้นโดยการใช้ฟากไม้ไผ่ และพื้นไม้ การใช้ไม้กวาดชนิดลำต้นแข็งทำความสะอาดพื้นบ้านไม้สะดวก จึงได้คิดค้นหาวัสดุอื่นนำมาทำไม้กวาดขึ้น ได้แก่ เส้นใยกาบมะพร้าว เส้นใบตาล ดอกหญ้าชนิดที่อ่อนและเหนียวจะใช้ปัดกวาดไม่หักและไม่หลุดง่าย รูปแบบของไม้กวาดจึงได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับวัสดุที่จะนำมาทำไม้กวาดด้วย ตลอดจนการปรับปรุงด้ามสำหรับจับถือให้สะดวกกับการใช้งานและสวยงามด้วยตามสมัยนิยมเช่น การใช้ไม้ไผ่, หวาย, ไม้กลึง และการประยุกต์นำเอาด้ามพลาสติกมาประกอบด้ามไม้กวาดด้วย
         ผลิตภัณฑ์กลุ่มไม้กวาดบ้านบ่อแก้ว ตำบลพานทอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร มีไม้กวาดทั้งแบบแข็งและแบบอ่อน สามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวตั้งแต่รายได้เสริมไปจนถึงรายได้หลักด้วยคุณภาพของไม้กวาดบ้านบ่อแก้วนั้นมีความแข็งแรงและความคงทนต่อการใช้งาน จึงทำให้ไม้กวาดของที่นี้จัดเข้ามาอยู่ในสินค้า OTOP ได้ไม่ยาก (กองอุตสาหกรรมในครอบครัว กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, มปป)

คำสำคัญ : ไม้กวาด, บ้านบ่อแก้ว

ความเป็นมาของไม้กวาดบ้านบ่อแก้ว[แก้ไข]

         บ้านบ่อแก้ว ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2506 ประชาชนส่วนใหญ่ย้ายถิ่นฐานมาจากจังหวัดอุดรธานี มาตั้งรกรากที่ลาดยาว แล้วย้ายมาตั้งหมู่บ้านชื่อว่า บ้านหนองตะโกน (บางคนก็ว่าบ้านทุ่งตะโกน) ประมาณ  ในปี พ.ศ. 2509 โดย นายสมบิน  ธนูทอง เป็นผู้นำย้ายมาตั้งอยู่ชายทุ่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่แคบประกอบกับมีบุคคลย้ายถิ่นฐานมาอีกหลายครอบครัวอยู่ได้ประมาณ 6 ปี ที่หนองตะโกนเกิดโรคระบาดจึงพากันย้ายหมู่บ้านใหม่มาอยู่ในบริเวณที่กว้างขวาง ชาวบ้านได้พากันไปขุดบ่อน้ำที่บริเวณหมู่บ้าน (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งอนามัยของหมู่บ้าน) เมื่อขุดลงไปได้พบน้ำสะอาดเหมือนแก้วเลยตั้งชื่อว่า บ่อแก้ว จึงนำชื่อบ่อแก้วนี้ไปตั้งเป็นชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านบ่อแก้ว” เดิมบ้านบ่อแก้วขึ้นอยู่กับตำบลหนองคล้า ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 ขึ้นอยู่กับตำบลหนองทอง และจากนั้นเมื่อแยกเป็นตำบลพานทองบ้านบ่อแก้วจึงขึ้นกับตำบลพานทอง ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2521 เป็นต้นมา
         ในสมัยก่อนพื้นที่เป็นป่า มีสัตว์ป่ามากมาย อาชีพแรกเริ่มของชาวบ้าน คือ การทำนา แต่ในปัจจุบัน นอกจากการทำนาแล้วยังทำสวนปลูกผลไม้ ปลูกส้ม ปลูกกล้วย และชาวบ้านบางรายมีรายได้เสริมอีกอย่างหนึ่งคือ การทำหัตถกรรมไม้กวาดทางมะพร้าว (สันติ อภัยราช, 2549)
         กลุ่มไม้กวาดบ้านบ่อแก้ว ตำบลพานทอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร เกิดจากการรวมกลุ่มกัน โดยประธานกลุ่ม คือ นางพัดษณา  จันมา อายุ 59 ปี เล่าว่า ตอนแรกตนได้เป็นลูกจ้างอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แล้วเห็นขายได้กำไรดี เลยคิดกลับมาที่บ้านบ่อแก้วเพื่อคิดจะลงทุนทำกันเองเลยรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มไม้กวาดบ้านบ่อแก้วขึ้นมา ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มทั้งหมด 8 คน โดยลงทุนซื้ออุปกรณ์เองและส่งสินค้าเอง ซึ่งปัจจุบันได้ขึ้นทะเบียนวิสาหกิจชุมชนและได้รับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนอีกด้วย (พัดษณา  จันมา, 2562)  
         วันที่ 31 ตุลาคม 2561 กลุ่มไม้กวาดบ้านบ่อแก้วได้ร่วมออกร้านจัดจำหน่ายในงานพิธีเปิดงานโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน  ณ บ้านบ่อแก้ว หมู่ที่ 5 ตำบลพานทอง ตามสโลแกน "ท่องเที่ยวเก๋ไก๋ กินข้าวกระติ๊บใหญ่ ชมไม้กวาดยักษ์" โดยโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี นั้น ถูกขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” จากการที่รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคมที่มุ่งสร้างรายได้และความเจริญ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกันภาครัฐ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๔ ในภูมิภาคทั่วประเทศ และมอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน เป็นผู้รับผิดชอบหลักส่งเสริมดำเนินงาน OTOP โดยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ยกระดับผลิตภัณฑ์ และพัฒนาช่องทางการตลาดที่หลากหลายเพื่อให้ขายสินค้าได้ อีกทั้งยังมุ่งปรับตัวสู่การค้าแบบสากล โดยต้องมีการเปลี่ยนผ่านยุคการผลักดันขายสินค้า OTOP ออกจากชุมชน สู่รายได้ตามความต้องการ (Demand Driven Local Economy) โดยการจำหน่ายสินค้าที่อยู่ในชุมชนจากการท่องเที่ยว มีการใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ แปลงเป็นรายได้ รวมทั้งทำให้มีคุณค่าเพียงพอ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมเยือน และใช้จ่ายเงินในทุกกิจกรรมของชุมชน ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้อยู่กับคนในชุมชนโดยรอบ เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง (กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย, มปป)
ภาพที่ 1 ออกร้านจำหน่ายในพิธีเปิดงาน.jpg

ภาพที่ 1 ออกร้านจำหน่ายในพิธีเปิดงานโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี

(ที่มา : สพอ.ไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร, 2561)

การทำไม้กวาดของบ้านบ่อแก้ว[แก้ไข]

1. ไม้กวาดอ่อน[แก้ไข]

         วัสดุและอุปกรณ์
             1. ดอกหญ้า
             2. เข็มเย็บกระสอบ
             3. เชือกไนล่อน
             4. ตะปู
             5. ค้อน
             6. ไม้ไผ่ลวกเขา
             7. น้ำมันยาง 
             8. ชันบด
             9. แปรงทาสี
ภาพที่ 2 วัสดุและอุปกรณ์ในการทำไม้กวาดอ่อน.jpg

ภาพที่ 2 วัสดุและอุปกรณ์ในการทำไม้กวาดอ่อน

         กระบวนการทำไม้กวาดดอกหญ้า
             1. นำเชือกไนล่อนมามัดกับไม้ไผ่ โดยไม้ไผ่มีขนาด 75 เซนติเมตร 
             2. นำดอกหญ้าที่ทำความสะดาดและตากแดดแห้งแล้วมาคัดเป็น 2 แบบ คือ ดอกหญ้าขนาดสั้น และดอกหญ้าขนาดยาว แล้วชั่งดอกหญ้าให้ได้ 2 ขีด 2 มิลลิเมตร 
             3. นำดอกหญ้าขนาดยาวหุ้มดอกหญ้าขนาดเล็กให้ได้ 12 ช่อ โดยจำนวนดอกหญ้าทั้งสองแบบเมื่อมารวมกันแล้ว ต้องไม่น้อยหรือมากเกินไป
             4. เมื่อเสร็จแล้วนำดอกหญ้ามัดกับไม้ไผ่ที่ทำไว้ในข้อ 2 โดยทำทีละช่อทีละข้าง แล้วใช้เข็มเย็บกระสอบร้อยเชือกไนล่อนรัดและถักไปเรื่อย ๆ จนหุ้มปลายดอกหญ้าหมด   
             5. นำตะปูมาตอกให้ติดกับด้ามไม้ไผ่ทั้ง 2 ด้าน 
             6. นำน้ำมันยางผสมกับชันบด แล้วนำมาทาบริเวณที่เต้าไม้กวาดทั้งสองด้าน (ตรงเชือกที่ถัก) แล้วตากแดดให้แห้ง 
         ซึ่งกระบวนการทำไม้กวาดดอกหญ้าสามารถอธิบายเป็นรูปภาพตั้งแต่กระบวนการ ที่ 1 – กระบวนการที่ 6 ได้ดังนี้
ภาพที่ 3 กระบวนการที่ 1.jpg

ภาพที่ 3 กระบวนการที่ 1 นำเชือกไนล่อนมามัดกับไม้ไผ่

ภาพที่ 4 กระบวนการที่ 2.jpg

ภาพที่ 4 กระบวนการที่ 2 นำดอกหญ้าที่ทำความสะดาดและตากแดดแห้งแล้วมาคัดเป็น 2 แบบ คือ ดอกหญ้าขนาดสั้น และดอกหญ้าขนาดยาว

ภาพที่ 5 กระบวนการที่ 3.jpg

ภาพที่ 5 กระบวนการที่ 3 นำดอกหญ้าขนาดยาวหุ้มดอกหญ้าขนาดเล็กให้ได้ 12 ช่อ

ภาพที่ 6 กระบวนการที่ 4.jpg

ภาพที่ 6 กระบวนการที่ 4 นำดอกหญ้ามัดกับไม้ไผ่ที่ทำไว้ในข้อ 2 โดยทำทีละช่อทีละข้าง แล้วใช้เข็มเย็บกระสอบร้อยเชือกไนล่อนรัดและถักไปเรื่อย ๆ จนเสร็จ

ภาพที่ 7 กระบวนการที่ 5.jpg

ภาพที่ 7 กระบวนการที่ 5 นำตะปูมาตอกให้ติดกับด้ามไม้ไผ่ทั้ง 2 ด้าน

ภาพที่ 8 กระบวนการที่ 6.jpg

ภาพที่ 8 กระบวนการที่ 6 นำน้ำมันยางผสมกับชันบด แล้วนำมาทาบริเวณที่เต้าไม้กวาดทั้งสองด้าน (ตรงเชือกที่ถัก) แล้วตากแดดให้แห้ง

         จากกระบวนการทำตั้งแต่กระบวนการที่ 1 – กระบวนการที่ 6 ทำให้ได้ไม้กวาดดอกหญ้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ของบ้านบ่อแก้ว ได้ดังภาพที่ 9
ภาพที่ 9 ไม้กวาดดอกหญ้าพร้อมจำหน่าย.jpg

ภาพที่ 9 ไม้กวาดดอกหญ้าพร้อมจำหน่าย และใช้งาน

         ราคาของไม้กวาดดอกหญ้า
             ราคาส่งมี 2 ราคา คือ
                   1. ด้ามละ 30 บาท ขนาด 1 ขีดครึ่ง มัดละ 10 ด้าม 
                   2. ด้ามละ 35 บาท ขนาด 2 ขีด 2 มิลลิเมตร มัดละ 10 ด้าม

2. ไม้กวาดแข็ง[แก้ไข]

         วัสดุผลิตภัณฑ์
             1. แส้มะพร้าว
             2. ลวด
             3. ครีมตัดลวด
             4. ตะปู
             5. ค้อน
             6. เลื่อย
             7. เชือกพลาสติก
             8. ไม้ไผ่ลวกเขา
             9. น้ำมันเบนซิน
             10. น้ำมันยางมะตอย
             11. แปรงทาสี
ภาพที่ 10 วัสดุและอุปกรณ์.jpg

ภาพที่ 10 วัสดุและอุปกรณ์ในการทำไม้กวาดแข็ง

         กระบวนการผลิต/ขั้นตอนการใช้งาน
             1. นำไม้ไผ่ขนาด 1 เมตร 15 เซนติเมตร ที่เหลาและทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว มาเลื่อยตรงหัวไม้ไผ่ โดยห่างจากหัวไม้ไผ่ประมาณข้อนิ้วมือ เลื่อยทั้งสองด้านให้กว้างพอดีกับไม้ไผ่เล็กที่จะแทงเข้าไปในไม่ไผ่ใหญ่ เพื่อดามตัวแส้มะพร้าว
             2. นำไม้มาตอกไม้ไผ่เล็กที่ตัดไว้แล้วเข้าไปในไม้ไผ่ที่เลื่อยไว้ โดยตอกให้ทะลุถึงอีกด้านหนึ่ง แล้วใช้ลวดมัดยึดไว้ให้แน่น   
             3. นำแส้มะพร้าวที่ใช้ลวดมัดทำสำเร็จไว้แล้วที่และใช้ค้อนทุบให้แบน มามัดติดกับไม้ไผ่เล็กที่ใช้ดาม โดยมัดไว้ทั้งสองข้าง โดยใช้เชือกพลาสติกมัด
             4. นำแส้มะพร้าวที่ใช้ลวดมัดทำสำเร็จไว้และทุบแล้ว มาวางบนไม้ไผ่เล็กที่ใช้ดามแล้ว โดยแต่ละด้านใช้แส้มะพร้าวข้างละ 3 กำ และใช้เชือกพลาสติกมัดและถักจนเสร็จ
             5. ตอกตะปูไปตรงกลางไม้ไผ่ แต่ให้หัวตะปูโผล่มาหน่อยเพื่อที่จะได้นำลวดมาพันได้ โดยพันทั้งหมด 3 รอบ ดึงให้ตึงและลวดต้องพันให้อยู่เหนือตะปู เมื่อเสร็จแล้วก็ตอกตะปูเข้าไป 
             6. พลิกกลับอีกด้านทำเหมือนกับข้อที่ 5 แต่ทำตรงปลายแส้มะพร้าวแต่ไม่ต้องล่างมากให้เผื่อไว้ตัด เมื่อเสร็จแล้วใช้เลื่อยตัดส่วนปลายออกซึ่งห่างจากลวดประมาณ 2 เซนติเมตร
             7. นำน้ำมันยางมะตอยที่ต้มผสมกับน้ำมันเบนซิน มาทาลงบนแส้มะพร้าวและลวด แล้วตากให้แห้ง 
             ซึ่งกระบวนการทำไม้กวาดแข็งสามารถอธิบายเป็นรูปภาพตั้งแต่กระบวนการ ที่ 1 – กระบวนการที่ 7 ได้ดังนี้
ภาพที่ 11 กระบวนการที่ 1.jpg

ภาพที่ 11 กระบวนการที่ 1 นำไม้ไผ่ขนาด 1 เมตร 15 เซนติเมตร ที่เหลาและทำความสะอาดเรียบร้อยแล้ว มาเลื่อยตรงหัวไม้ไผ่ โดยห่างจากหัวไม้ไผ่ประมาณข้อนิ้วมือ เลื่อยทั้งสองด้านให้กว้างพอดีกับไม้ไผ่เล็กที่จะแทงเข้าไปในไม่ไผ่ใหญ่ เพื่อดามตัวแส้มะพร้าว

ภาพที่ 12 กระบวนการที่ 2.jpg

ภาพที่ 12 กระบวนการที่ 2 นำไม้มาตอกไม้ไผ่เล็กที่ตัดไว้แล้วเข้าไปในไม้ไผ่ที่เลื่อยไว้ โดยตอกให้ทะลุถึงอีกด้านหนึ่ง แล้วใช้ลวดมัดยึดไว้ให้แน่น

ภาพที่ 13 กระบวนการที่ 3.jpg

ภาพที่ 13 กระบวนการที่ 3 นำแส้มะพร้าวที่ใช้ลวดมัดทำสำเร็จไว้แล้วที่ไม่ต้องทุบมามัดติดกับไม้ไผ่เล็กที่ใช้ดาม มัดไว้ทั้งสองข้าง โดยใช้เชือกพลาสติกมัด

ภาพที่ 14 กระบวนการที่ 4.jpg

ภาพที่ 14 กระบวนการที่ 4 นำแส้มะพร้าวที่ใช้ลวดมัดทำสำเร็จไว้และใช้ค้อนทุบให้แบนมาวางบนไม้ไผ่เล็กที่ใช้ดามแล้ว โดยแต่ละด้านใช้แส้มะพร้าวฝั่งละ 3 กำ และใช้เชือกพลาสติกมัดและถักจนเสร็จ

ภาพที่ 15 กระบวนการที่ 5.jpg

ภาพที่ 15 กระบวนการที่ 5 ตอกตะปูไปตรงกลางไม้ไผ่ แต่ให้หัวตะปูโผล่มาหน่อย เพื่อที่จะได้นำลวดมาพันได้ โดยพันทั้งหมด 3 รอบ ดึงให้ตึงและลวดต้องพันให้อยู่เหนือตะปู เมื่อเสร็จแล้วก็ตอกตะปูเข้าไป

ภาพที่ 16 กระบวนการที่ 6.jpg

ภาพที่ 16 กระบวนการที่ 6 พลิกกลับอีกด้านทำเหมือนกับข้อที่ 5 แต่ทำตรงปลายแส้มะพร้าว แต่ไม่ต้องล่างมากให้เผื่อไว้ตัด เมื่อเสร็จแล้วใช้เลื่อยตัดส่วนปลายออก ซึ่งห่างจากลวดประมาณ 2 เซนติเมตร

ภาพที่ 17 กระบวนการที่ 7.jpg

ภาพที่ 17 กระบวนการที่ 7 นำน้ำมันยางมะตอยที่ต้มผสมกับน้ำมันเบนซินมาทาลงบนแส้มะพร้าวและลวด แล้วตากให้แห้ง

         จากกระบวนการทำตั้งแต่กระบวนการที่ 1 – กระบวนการที่ 6 ทำให้ได้ไม้กวาดดอกหญ้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ของบ้านบ่อแก้ว ได้ดังภาพที่ 18
ภาพที่ 18 ได้ไม้กวาดแข็งพร้อมจำหน่าย.jpg

ภาพที่ 18 ได้ไม้กวาดแข็งพร้อมจำหน่าย และใช้งาน

         ราคาของไม้กวาดแข็ง
             ราคาส่งขึ้นอยู่กับราคาต้นทุนอุปกรณ์ในแต่ละช่วง เช่น ถ้าราคาต้นทุนถูกจะอยู่ที่ราคา 280 บาท ถ้าราคาต้นทุนสูงจะอยู่ที่ราคา 300 บาท

บทสรุป[แก้ไข]

         กลุ่มไม้กวาดบ้านบ่อแก้วเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นความสำคัญและอยากให้ชุมชนบ้านบ่อแก้วมีรายได้จึงรวมกลุ่มกันจัดทำไม้กวาดออกจำหน่าย ทำให้ปัจจุบันไม้กวาดกลายเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของบ้านบ่อแก้ว ตำบลพานทอง อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร
ภาพที่ 19 การลงพื้นที่สำรวจข้อมูล.jpg

ภาพที่ 19 การลงพื้นที่สำรวจข้อมูลไม้กวาดบ้านบ่อแก้ว