โครงการการสร้างฐานข้อมูล นวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากการละเล่นพื้นบ้าน สำหรับผู้สูงอายุในจังหวัดกำแพงเพชร
จากผลการวิจัย พบว่า นวัตกรรมการละเล่นพื้นบ้านสำหรับผู้สูงอายุในจังหวัดกำแพงเพชร คือ “การแสดง
การละเล่นพื้นบ้าน” โดยเป็นการนำกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน จำนวน ๓ กิจกรรม มาถ่ายทอดให้กับผู้สูงอายุ
และมีการประยุกต์ให้มีลักษณะเป็นการแสดง โดยการละเล่นพื้นบ้านดังกล่าว คือ
๑) รำโทนพื้นบ้าน ซึ่งจะปรากฏอยู่ในเฉพาะพื้นที่ตำบลไตรตรึงษ์เท่านั้น จากการสืบค้นหลักฐานแล้วมีมาไม่ต่ำกว่า ๙๐ ปี
มีลักษณะเหมือนรำวงทั่วไป แต่เนื้อหา ทำนองเพลง และคำร้องจะมีการพูดถึงวิถีชีวิตคนพื้นถิ่น ภูมิศาสตร์ ความเป็นอยู่
โดยเลือกมา ๕ เพลง จาก ๒๐ เพลง ในการทำกิจกรรม
๒) ระบำ ก ไก่ มีมาไม่ต่ำกว่า ๙๐ ปี หรือมากกว่า ใช้ตัวอักษร ก ถึง ฮ ในการทำเนื้อร้องคล้ายเพลงพวงมาลัย
ของภาคกลาง มีการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิงในเนื้อเพลง
๓) รำคล้องช้าง มีการเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิงในเนื้อเพลงเช่นเดียวกับระบำ ก ไก่ โดยฝ่ายหญิงใช้ผ้าคล้องคอ
ฝ่ายชายขณะร้องและรำในเวที โดยสลับกันร้องและรำระหว่างหญิงชาย
การละเล่นพื้นบ้านดังกล่าวนั้นได้มีการนำมาถ่ายทอดให้กับผู้สูงอายุในจังหวัดกำแพงเพชร โดยก่อให้เกิดนวัตกรรม
ขึ้นมาใหม่เป็น “การแสดงการละเล่นพื้นบ้าน” โดยมีการประยุกต์รูปแบบการละเล่นพื้นบ้านโดยมีการแปลงท่ารำมาตรฐาน
ให้เป็นท่าเต้นที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการออกกำลังกาย ฝึกทักษะ สนุกนาน และเพื่อสุขภาพอนามัยที่ดี
นอกจากนี้ยังมีการนำเพลงพื้นบ้านมาปรับใส่เสียงเครื่องดนตรีให้มากขึ้น มีการร้องและบันทึกใหม่ มีการบันทึกเทปและส่งนวัตกรรมการละเล่นพื้นบ้านให้กับชมรมผู้สูงอายุในแต่ละอำเภอในจังหวัดกำแพงเพชรต่อไป
สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร. (2565). โครงการการสร้างฐานข้อมูล นวัตกรรม และการใช้ประโยชน์จากการละเล่นพื้นบ้าน สำหรับผู้สูงอายุในจังหวัดกำแพงเพชร. สืบค้น 3 เมษายน 2568, จาก https://acc.kpru.ac.th/main/?lang=TH&page_id=371
ข้อมูลอื่น ๆ
งานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านศิลปะและวัฒนธรรม ครั้งที่ ๑๕ ประจำปี ๒๕๖๘
เผยแพร่เมื่อ 29 มีนาคม 2568